พระปิยมหาราชกับสภาวะแวดล้อมของบ้านเมือง
สมเด็จพระปิยมหาราชกับสภาวะแวดล้อมของบ้านเมือง
แสดงเมื่อ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 14:47:57
สมเด็จพระปิยมหาราชกับสภาวะแวดล้อมของบ้านเมือง
[ บทความ ศาสตราจารย์ ดร. ปิยนาถ บุนนาค หนังสือ 23 ตุลา ปีการศึกษา 2521 หน้า 26-29 ]
[ บทความ ศาสตราจารย์ ดร. ปิยนาถ บุนนาค หนังสือ 23 ตุลา ปีการศึกษา 2521 หน้า 26-29 ]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งพระราชวงศ์จักรีซึ่งชาวไทยทั้งหลายถวายพระนามด้วยความเคารพรักอย่างสุดซึ้งว่าสมเด็จพระปิยมหาราชนั้น ทรงมีความสนพระทัยในกิจการด้านสาธารณูปโภค อันจะยังประโยชน์ให้แก่พสกนิกรของพระองค์มาก พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่และสนับสนุนกิจการด้านนี้เสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกิจการคมนาคม ดังจะเห็นได้จากข้อความในคำกราบบังคมทูลของเจ้าพระยายมราช ผู้อำนวยการกรมสุขาภิบาลซึ่งทูลเชิญสมเด็จพระศรีสวรินทราทรงเปิดสะพานสอุทัยเจษฏทิศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2452 ความตอนหนึ่งว่า “...การสร้างสะพานก็ดี การทำถนนหนทางปลูกต้นไม้ให้มีร่มเงาก็ดี การขุดคลองน้ำก็ดี อันนับว่าเป็นถาวรวัตถุสาธารณทานเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระบำเพ็ญอยู่เป็นนิตย์โดยทรงพระราชดำริว่าเป็นประโยชน์อันใหญ่หลวงอาจย่นมรรคาไกลให้ใกล้ได้ ทั้งเป็นที่เจริญตาเจริญใจอาศัยร่มเงาเดินไปมา ได้ความสุขและงดงามแก่บ้านเมือง ดังได้ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งหลายเช่นสะพานเฉลิมเผ่าต่าง ๆ และถนนราชดำเนิน...”
ในด้านการคมนาคมทางน้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนการขุดคลองมากถึงกับทรงมีพระดำริว่าในพระราชอาณาจักรเขตสยามคลองเป็นสิ่งสำคัญในปีหนึ่งควรจะให้มีคลองใหม่ขึ้นสักสายหนึ่งจะทำให้บ้านเมืองเจริญ ถึงจะออกพระราชบัญญัติปีละพันชั่งหรือสองพันชั่งก็ไม่เสียดาย และปรากฏว่าพระองค์ได้ทรงทำตามจริง ๆ เช่น โปรดฯ ให้มีการขุดคลองสวัสดิเปรมประชากร คลองประเวศฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังโปรดฯ ให้มีการขุดซ่อมคลองเก่า ซึ่งพอมาถึงรัชสมัยของพระองค์ก็ชำรุดทรุดโทรมตื้นเขิน และสกปรก เช่นคลองแสนแสบ คลองโอ่งอ่าง คลองผดุงกรุงเกษม คลองบ้านสมเด็จ คลองมหานาค คลองตลาด คลองบางลำภู คลองเหล่านี้เมื่อได้รับการขุดลอกคลอง ก็ทำให้น้ำในคลองใสสะอาดและใช้เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งได้
นอกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระบรมราชโองการให้รัฐบาลของพระองค์ดำเนินการจัดการคมนาคมทางน้ำดังกล่าวแล้ว ประชาชนทั่วไปก็มีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านนี้ด้วย เช่นผู้มีฐานะมั่งคั่งก็สามารถขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแต่มีข้อแม้ว่าคลองที่ขุดขึ้นนั้นจะต้องเปิดให้ราษฏรทั่วไปสัญจร ไปมาได้หรือในบางกรณีประชาชนหลายฝ่ายก็ร่วมมือกันขุดคลองเมื่อเห็นว่าคลองเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก ดังเช่นในบริเวณคลองสำเพ็งแต่เดิมราษฏรได้ใช้คลองสำเพ็งเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งโดยสะดวก แต่ต่อมาชาวบ้านแถบนั้นได้ปลูกเพิงและทำเฉลียงเรือนยื่นลงมาในคลองก็ทำให้คลองคับแคบและยังเทขยะมูลฝอยลงมาในคลองอีก ก็ยิ่งทำให้คลองแคบและตื้นเขินมากยิ่งขึ้นและทำให้คลองนั้นสกปรกมากด้วย ซึ่งเป็นผลทำให้เรือแล่นไปมาลำบาก ราษฏรขาดแคลนน้ำใช้และยิ่งเมื่อเกิดอัคคีภัย ราษฏรก็ยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นเพราะไม่มีน้ำช่วยดับเพลิงประกอบกับเป็นย่านที่แออัด เพลิงก็จะลุกไหม้อย่างรวดเร็วเป็นอาณาบริเวณกว้าง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก นอกจากนี้การที่คลองสกปรกมีกลิ่นเหม็นนับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และในฤดูฝนเมื่อฝนตกลงมามากไม่มีทางระบายน้ำออกเป็นผลให้ตำบลสำเพ็งในส่วนที่ใกล้คลองมีน้ำท่วมตลอดเวลา ยิ่งเพิ่มความสกปรกและเป็นผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงมีกลุ่มบุคคลทั้งขุนนาง ประชาชนชาวไทยและชาวจีนเห็นว่าสมควรรีบแก้ไขเรื่องนี้โดยด่วนจึงเข้าชื่อยื่นเรื่องราวขอออกทุนทรัพย์ ขุดซ่อมคลองนี้เองโดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกับทั้งขออำนาจเจ้าพนักงานของกรมพระนครบาลบังคับให้ชาวบ้านที่ปลูกอาคารลงมาในลำคลองให้รื้อถอนไปให้เรียบร้อยเสียโดยเร็ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตและโปรดให้รัฐบาลให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการครั้งนี้จนกระทั่งการขุดซ่อมคลองสำเพ็งเรียบร้อยลง
เมื่อมีการขุดคลองและการขุดซ่อมคลองดังกล่าวแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาคลองด้วย เพราะไม่เช่นนั้นคลองต่าง ๆ ก็จะกลับตื้นเขินสกปรกเป็นผลร้าย ต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะเป็นผลต่อมาถึงสภาวะแวดล้อมของบ้านเมืองทำให้บ้านเมืองสกปรกไม่น่าดู ดังนั้นเมื่อรัฐบาลและราษฏรช่วยกันขุดและซ่อมคลองต่าง ๆ พร้อมทั้งทำประตูน้ำในคลองบางแห่งเพื่อให้เรือเดินได้ตลอดปีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็โปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติรักษาคลองและทำนบขึ้น โดยมีบทบัญญัติลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ด้วย เช่น ห้ามทิ้งขยะมูลฝอยลงในแม่น้ำลำคลอง ถ้าฝ่าฝืนก็ถูกปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำคุก เป็นต้น และในคลองบางแห่งที่มีประตูน้ำ รัฐบาลก็จะกำหนดอัตราเก็บเงินเรือผ่านเข้าออกในลำคลองเหล่านี้เพื่อนำเงินมาใช้ในการดูแลรักษาคลองให้ใช้ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดข้อบังคับกันที่ริมคลองให้เป็นถนนหลวง ห้ามผู้ใดปลูกสร้างสิ่งใดลงในเขตที่กันเป็นถนนหลวงนั้น ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินไปมาทางบก ถ้าใครฝ่าฝืนรัฐบาลก็กำหนดอัตราค่าปรับไว้ด้วย นอกจากนี้ ถ้าใครจะทำสะพานข้ามคลองหรือจะทำสะพานท่าน้ำก็ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้การกระทำดังกล่าวก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนคนอื่น
ด้วยความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายใต้พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทำให้กรุงเทพมหานครในตอนนั้นมีแม่น้ำลำคลองที่ใสสะอาดเป็นจำนวนมากมายหลายสาย ซึ่งมีผลต่อสภาพแวดล้อมของบ้านเมืองทำให้บ้านเมืองสวยงามร่มเย็นสมกับที่มีผู้นิยมเรียกกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นว่าเป็น “เวนิสตะวันออก”
ส่วนทางด้านการคมนาคมทางบกนั้น เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นระยะ ที่ประเทศไทยกำลังปรับปรุงประเทศเป็นแบบสมัยใหม่เพื่อเตรียมพร้อมในการตั้งรับการ คุกคามของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตก ก็ปรากฏว่าการจัดการคมนาคมทางบก คือ การสร้างถนนหนทาง สะพาน ทางรถไฟ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสนองนโยบายดังกล่าว
ในด้านการสร้างถนนปรากฏว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนเป็นจำนวนมากมายหลายสายในทิศทางต่าง ๆ รอบบริเวณความเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ในการตัดถนนต่าง ๆ นี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราโชบายให้รัฐบาลรับไปปฏิบัติ คือ ให้รีบจัดการตัดถนนในที่ที่เจริญเป็นย่านธุรกิจการค้าขาย เพระว่าประการแรก ถ้ายิ่งปล่อยที่บริเวณนั้นไว้ยังไม่ได้ตัดถนน ก็ยิ่งจะทำให้การตัดถนนลำบากเพราะจะติดอาคารบ้านเรือนของประชาชนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพราะปรากฏว่าในบริเวณดังกล่าวมักมีถนนแคบ ๆ หรือมีถนนน้อยเกินไป ทำให้การไปมาค้าขายลำบาก เป็นเหตุขัดขวางความเจริญ ที่น่าจะมีได้อีก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงรีบจัดการตัดถนนในบริเวณที่เจริญโดยเร็ว
ประการที่สอง เพราะว่า บริเวณดังกล่าวมักเกิดเพลิงไหม้เนื่องมาจากมีอาคารบ้านเรือนเบียดเสียดกัน เมื่อเกิดเพลิงไหม้ในที่หนึ่งก็จะลุกลามขยายเป็นอาณาบริเวณกว้างขวางอย่างรวดเร็ว และเจ้าพนักงานจะเข้าไปทำการดับเพลิง ก็เป็นไปได้ยากเพราะทางเดินแคบมาก และการที่บ้านเรือนแออัดคับแคบก็ทำให้รัฐบาลบำรุงการสุขาภิบาลได้ยาก ซึ่งเป็นผลให้บริเวณนั้นสกปรกรกรุงรัง มีเชื่อโรคเป็นอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของประชาชนในบริเวณนั้นและแก่ผู้ที่ไปมาค้าขายซึ่งเป็นทางนำไปสู่การแพร่เชื้อโรคด้วย ตัวอย่าง เช่น ระหว่าง พ.ศ.2434-2435 รัฐบาลได้ตัดถนนในแขวงสำเพ็งให้เป็นถนนใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณ 3 วา และได้ตั้งชื่อตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อกันไม่ให้ประชาชนเรียกชื่อตามใจชอบ ได้แก่ ถนนยุพราช (หรือเยาวราช) ถนนราชวงศ์ ถนนจักรวงศ์ ถนนอนุวงศ์และถนนบูรพา (บูรพา)
ในด้านขั้นตอนของการตัดถนนนั้น เมื่อรัฐบาลเห็นว่าที่บริเวณใดเหมาะสมในการตัดถนนแล้วก็จะดำเนินการตัดถนน โดยเริ่มด้วยการกรุยทางโดยใช้หลักปักตลอดระยะทางที่กะเป็นถนนขณะเดียวกัน ก็ออกประกาศให้สถานที่นั้นเป็นบริเวณที่จะตัดถนนเพื่อให้ประชาชนอพยพบ้านเรือนออกจากบริเวณนั้นและห้ามผู้ใดปลูกอาคารล้ำเข้าไปไหนในบริเวณที่ปักกรุยนั้น แล้วเริ่มทำถนนถมอิฐหรือศิลาก้อนลงบนถนน หลังจากนั้นก็ทำบาทวิถีให้คนเดินแล้วทำรางน้ำและท่อระบายน้ำเพื่อเป็นทางระบายน้ำไม่ให้น้ำขังที่ถนนเพื่อไม่ให้ถนนชำรุดเร็ว และเป็นการป้องกันน้ำท่วมด้วย นอกจากนี้รัชกาลที่ 5 ก็มักโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นไม้ที่ขึ้นง่ายไว้ที่ขอบริมถนนราชดำริห์ ทั้งนี้เพราะอาจทรงตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ที่ขอบริมถนนคือรากของต้นไม้จะช่วยยึดขอบถนนเพื่อทำให้ถนนมั่นคงแข็งแรง และต้นไม้ยังช่วยระบายอากาศให้ความร่มเย็นและเพิ่มความงามแก่บ้านเมืองด้วย นอกจากนี้ก็เป็นเพราะได้ทอดพระเนตรเห็นแบบอย่างการปลูกต้นไม้สองฝั่งถนนตามประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่พระองค์เสด็จเยือนใน พ.ศ.2440 ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือถนนราชดำเนิน ถนนสามเสน เป็นต้น
อย่างไรก็ดีในกรณีที่ถนนกว้างไม่ถึง 12 วาก็ไม่โปรดให้ปลูกต้นไม้ที่ขอบถนน เพราะต้นไม้เกะกะกีดขวางตึกข้างถนน แต่โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นไม้ตรงกลางจัตุรัสแทน เช่น ในบริเวณถนนทหารบก ถนนทหารเรือ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2444 ส่วนถนนที่อยู่ในย่านชุมนุมชน ย่านธุรกิจเป็นการยากที่จะถนนให้กว้างใหญ่เพราะมีความจำเป็นของการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ทางการประกอบธุรกิจ กล่าวคือ มักมีอาคารร้านค้าปลูกอยู่ริมบาทวิถีทีเดียว แต่รัชกาลที่ 5 ก็โปรดให้การปลูกอาคารร้านค้านั้นให้เป็นระเบียบไม่รุกล้ำเข้าไปในเขตถนน เช่น ถนน ในบริเวณสำเพ็ง ดังที่กล่าวมาแล้ว
นอกจากนี้มีภาพตั้งถังขยะ และส้วมเป็นระยะตามถนนด้วย ข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งของการตัดถนนในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ มักโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนคู่ไปกับการขุดคลองไปตามริมถนนเช่น การขุดคลองราชดำริห์คู่ไปกับการตัดถนนราชดำริห์ คลองสาธรคู่ไปกับถนน สาธร เป็นต้น
ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญของการตัดถนนมากทีเดียวกล่าวคือ ถ้าพระองค์ประทับอยู่ในประเทศไทยก็จะทรงงานอย่างใกล้ชิด ทรงพิจารณาและพระราชทานคำแนะนำเพื่อให้การทำถนนดีขึ้น เช่น ปลูกต้นไม้ริมถนนและทำทอระบายน้ำ บางครั้งก็ไม่ทรงสามารถเสด็จมาดูงานด้วยพระองค์เองได้ ก็จะ โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปดูงานแทน แล้วกลับมากราบบังคมทูลรายงานให้ทรงทราบ เช่น ครั้งหนึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) ไปดูลานทำถนนบริเวณสามเสน เป็นต้น การที่ทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการดังกล่าวนี้ ทำให้งานดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชจริยาวัตรจนถึงบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ
นอกจากการขุดคลองและการสร้างถนนแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญของการสร้างสะพานเช่นเดียวกับการสร้างถนนถึงกับทรงกล่าวว่าถ้าไม่สร้างสะพาน การตัดถนนก็ไม่เป็นประโยชน์เต็มที่ ทั้งนี้เพราะเมืองไทยในขณะนั้นโดยเฉพาะกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง จึงจำเป็นต้องสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างถนนต่อถนนซึ่งมีคลองกั้น
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดการคมนาคมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 คือ รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ทำถนน สร้างสะพาน หรือขุดคลองผู้เดียวยังมีประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจเป็นในรูปของหมู่คณะหรือเอกชน ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะทรงพิจารณาหลักเกณฑ์ข้อเสนอต่าง ๆ ของผู้ขออนุญาตในที่ประชุมเสนาบดีถ้าเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ขัดต่อระเบียบของทางการและไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนก็มักจะทรงอนุญาตเพราะเป็นการทุ่นรายจ่ายของรัฐบาลซึ่งต้องใช้งบประมาณในการป้องกันประเทศ การปรับปรุงการปกครองแบบอื่น ๆ นอกจากนี้ การที่ปล่อยราษฏรทำเองโดยรัฐบาลช่วยเหลือจะทำให้ราษฏรเหล่านั้นตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ตนเองทำซึ่งให้ประโยชน์แก่สาธารณประโยชน์และแก่ตนเองด้วย
จากการจัดการคมนาคมทางบกและทางน้ำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดังกล่าวโดยสังเขปข้างต้นนี้ จะเห็นว่าการดำเนินการจัดการคมนาคมเป็นไปอย่างมีระบบระเบียบตามขั้นตอนและได้รับการร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่ายนับแต่องค์พระมหากษัตริย์ รัฐบาลและประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ นั้นทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านนี้มาก ดังนั้น ในรัชกาลที่ 5 รัฐบาลภายใต้การนำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะมีการวางผังเมืองที่คำนึงถึงสภาวะแวดล้อมที่ดีของบ้านเมืองคือการทำให้บ้านเมืองมีความสะอาดร่มเย็นสวยงามด้วยถนนที่ตัดขึ้นอย่างเป็นระเบียบ แม่น้ำลำคลองที่มีน้ำใสสะอาดและลึก ต้นไม้นานาชนิดที่เขียวชอุ่มให้ความสดชื่นและช่วยในการระบายอากาศ ประชาชนก็น่าจะมีการดำเนินชีวิตที่มีความสงบสุขร่มเย็น ดังข้อความตอนหนึ่งซึ่งศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินทร์ แห่งแผนกวิชาผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เขียนไว้ในบทความของท่านตอนหนึ่งว่า
“...ในราว พ.ศ.2443 หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 5 พระนครธนบุรีขยายตัวมาถึงคลองผดุงกรุงเกษมมีพื้นที่ประมาณ 13.3 ตารางกิโลเมตร ประชากรหกแสนคนพระนครในยุคนี้เป็นชุมนุมชนที่เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามและมีชื่อว่าเป็นเมืองที่สะอาดสะอ้านที่สุดแห่งหนึ่งในภาคพื้นเอเชียในด้านผังเมืองก็ปรากฏว่า มีถนนที่กว้างขวางอยู่หลายสายไม่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง ทั้งสถานีรถไฟหัวลำโพงก็ตั้งอยู่นอกเมือง...”
ปรากฏว่าการจัดการคมนาคมอย่างมีแบบแผนและแผนการโดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อม ดังในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ คงจะไม่ได้รับการปฏิบัติตามในสมัยต่อมาจึงทำให้ชาวไทยในสมัยปัจจุบันนี้ ต้องประสบปัญหาต่าง ๆ เช่นปัญหาน้ำท่วม การจราจรติดขัดและอากาศ เป็นพิษ เป็นต้น
ทรงพระเจริญ พระมิ่งขวัญปวงชนประชา
ตอบลบ