ความมั่นคงของสถาบันพระศาสนา ที่มีปัญหา ชาวพุทธต้องศึกษาด้วยปัญญา


เส้นทางขนาน !

ระหว่างกรมการศาสนากับสำนักพุทธฯ

อีกตัวอย่างหนึ่งของการตั้งหน่วยงานซ้ำซ้อน





ทำเนียบอธิบดีกรมการศาสนา (บางส่วน)




กรมการศาสนา
เป็นชื่อที่พระสงฆ์องค์เณรรู้จักมักจี่ดีที่สุด เพราะตั้งมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีชื่อตามลำดับว่า กรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมบัณฑิต กรมกัลปนา และกรมการศาสนาเป็นอันดับสุดท้าย ซึ่งบางยุคก็ถูกพระเณรขนานให้อีกนามหนึ่งว่า "กรมกินศาสนา"

ในปี พ.ศ.2545 มีการปฏิรูประบบราชการ พร้อมกับการก่อตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นมา ปรากฏว่างานเกี่ยวกับการพระพุทธศาสนา อันเคยอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนานั้น ถูกโอนไปเป็นงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหมด กรมการศาสนาถูกโยกไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่เพียงเป็นเจ้าพิธีงานพระราชพิธี งานพระราชกุศล และศาสนพิธีประจำกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ นอกนั้นก็เป็นงานพื้นๆ ที่เขียนไว้อย่างสวยหรูว่า "ดำเนินการให้การอุปถัมภ์ ประสานงาน และควบคุมดูแลการเผยแผ่ศาสนาที่ทางราชการรับรอง" ฯลฯ

นับตั้งแต่ตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นในในปี พ.ศ.2545 นั้น กรมการศาสนาถูกลดบทบาทเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาลงอย่างหมดรูป ถึงกับนายปรีชา กันธิยะ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา ได้อาสาสมัครเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนานั้น "ด้อยกว่า" ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ







แต่บทบัญญัติก็เป็นเพียงบทบัญญัติ "บทบาทของอธิบดี" นี่สิถือว่ามีอำนาจมากกว่า เมื่อ ดร.สด แดงเอียด ได้ก้าวขึ้นครองตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา ในปี พ.ศ.2550 แทน ดร.ปรีชา กันธิยะ ซึ่งถูกโยกไปเป็นหัวหน้าผู้ตรวจการประจำกระทรวงวัฒนธรรม ดร.สด ได้พลิกบทบาทกรมการศาสนา จากตัวสำรองของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขึ้นมาอยู่ในระดับที่เรียกว่า "สูสี" หรือบางบทบาทก็ดูล้ำหน้ากว่าสำนักพุทธฯด้วยซ้ำไป




ดร.สด แดงเอียด
เจ้าพิธีประจำวัดสระเกศ ระหว่างปี พ.ศ.2550-2554


ทั้งนี้ เพราะ ดร.สด สามารถนำเอากรมการศาสนาไปผูกติดกับวัดสระเกศ อันมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช งานศาสนพิธีเกี่ยวกับวันสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา หรืออื่นใด จะมีชื่อ "วัดสระเกศ+กรมการศาสนา" จัดร่วมกันทุกครั้ง เหมือนป๋าท่องโก๋ จนกรมการศาสนาในสมัยนายสด แดงเอียด เป็นอธิบดี ถูกขนานนามว่า "กรมวัดสระเกศ" หรือ"กรมภูเขาทอง" อีกชื่อหนึ่ง



ปรีชา กันธิยะ รีเทิร์น


แต่เมื่อ ดร.สด เกษียนอายุราชการลงในเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา และนายปรีชา กันธิยะ ได้โอกาสกลับมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนาเป็นรอบที่สอง และเมื่อถึงงานวันมาฆบูชาต้นปี พ.ศ.2555 ก็ปรากฏว่า เมื่อตัวบุคคลเปลี่ยน งานก็เปลี่ยน




มาฆบูชา 2555 ที่วัดสระเกศ
ไร้เงากรมการศาสนา


ที่ว่า "งานก็เปลี่ยน" นั้น เพราะปรากฏว่า ในงานวันมาฆบูชา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา มีเพียงภาพของ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมี นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เป็นผู้อำนวยการ ไปร่วมงานวันมาฆบูชาที่วัดสระเกศอย่างพร้อมพรั่ง ส่วนกรมการศาสนาของ นายปรีชา กันธิยะ นั้น ก็หายหน้าไปอย่างไร้ร่องรอย โน่น..หนีไปจัดงานมาฆบูชาที่วัดช่องนาลมเกลือ จังหวัดชลบุรี แบบนี้ภาษาชาวบ้านเขาว่า "เมียหลวงหนีเมียน้อย" เป็นเรื่องแปลกแต่จริง อา..หรือว่ากรมการศาสนากับสำนักพุทธฯนั้น จะไม่กินเส้นกัน ดังคำกล่าวโบราณว่า "ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ"

เพราะภาพที่ปรากฏว่า เหมือนกันกับว่า "ถ้าที่ไหนมีสำนักพุทธฯ ก็ไม่มีกรมการศาสนา" และ "ถ้าที่ไหนมีกรมการศาสนาก็ไม่มีสำนักพุทธฯ" เรื่องนี้มิใช่บทบัญญัติในทางกฎหมาย แต่เป็นการชิงบทบาทการนำในด้านศาสนาในประเทศไทยขององค์กรใหญ่ทั้งสองดังกล่าว

ก็ดังที่กล่าวแล้วว่า "บทบัญญัติทางกฎหมาย" นั้น ไม่สำคัญเท่ากับบทบาทของอธิบดี ที่จะนำเอากรมการศาสนาก้าวขึ้นมาเทียบเท่าหรือสูงส่งกว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพราะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทุกวันนี้ก็ไม่ได้ดีเด่นอะไร ทำงานไล่วัวไล่ควายไปวันๆ เจอพระตุ๊ดเณรแต๋วก็แหวออกมาที แบบนี้ไม่เห็นต้องกลัวอะไร กลัวก็แต่ว่า "ดร.ปรีชา กันธิยะ"อย่าได้มองฐานะ "อธิบดี" ของตนเองว่า "ต่ำต้อย" กว่าตำแหน่ง "ผอ.สำนักพุทธฯ" สิ ศรีปราชญ์เคยกล่าวไว้มิใช่หรือว่า "สูเราเจ้าข้าอยู่ฟ้าเดียวกัน"งานพระศาสนาในโลกนี้มีอีกตั้งเยอะ ไม่ได้เป็น ผอ.สำนักพุทธฯ ก็ใช่ว่าจะสู้กันด้านผลงานไม่ได้ เพราะความคิดเช่นนั้น มันเป็นต้นเหตุแห่งความกลัว ไม่กล้าทำอะไร แต่หากลองย้อนมองดูท่านอธิบดีคนก่อน คือคุณสด แดงเอียด สิ จะได้คำตอบว่า ทำไมกรมการศาสนาทำได้ แบบว่าสำนักพุทธฯยังอายเลย






อย่างเช่น รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระศาสนา หรือเสมาธรรมจักร น่ะ ถ้าทำให้ดีก็จะมีศักดิ์และสิทธิ์ แต่ปัจจุบันแจกกันเปรอะ ใครขอมาก็ให้ๆ เพิ่มรางวัลกันเป็นร้อยๆ ตัว นี่อีกไม่กี่สิบปีก็คงมีครบทุกวัดแล้วกระมัง ดูก็ไม่ต่างไปจากรางวัลปลอบใจดาราตกรอบ ทั้งๆ ที่รุ่นก่อนๆ นั้นถือกันว่ามีความเข้มขลังมาก เพราะมีบุคคลคุณภาพระดับโลกหรือระดับประเทศ เช่น พระธรรมโกศาจารย์ (หลวงพ่อพุทธทาส) พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทะ) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) เป็นต้น

ซึ่งในปีแรกนั้นกำหนดจำนวนไว้ที่ 10 รางวัลเท่านั้น แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 200 ตัวต่อปี แถมยังมีการกำหนดโควต้าให้แต่ละจังหวัดได้รับกันด้วย ถ้าแจกครบ 50 ปี ก็จะครบ 20,000 ตัวพอดี คงมีครบทุกครัวเรือนเหมือนยาสามัญประจำบ้านกันล่ะ แบบนี้แหละที่เรียกว่าขาดความขลัง ทางกรมการศาสนาควรรีบแก้ปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ อย่าให้รางวัลอันดีงามเช่นนี้กลายเป็นของโหลในสายตาของปัญญาชนอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภาพการทำงานของกรมการศาสนาและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในวันนี้ ย่อมฟ้องให้เห็นถึงปัญหาอันเกิดจากการตั้งหน่วยงานซ้ำซ้อนขึ้นมา แบบว่าแก้ปัญหาหนึ่งก็เพิ่มปัญหาขึ้นมาอีกหนึ่ง เห็นแล้วก็สงสารประเทศไทย



ะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม
12 มีนาคม 
255
5



10 ล้าน !

งบประมาณแสวงบุญอินเดียของกรมการศาสนา


อา..สมัยก่อนก็ว่ากันแต่ว่ามุสลิมได้งบไปแสวงบุญที่เมกกะ ตะทีชาวพุทธไม่เคยได้ ทั้งๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นเป็นชาวพุทธ บัดนี้มีงบประมาณสำหรับชาวพุทธเราแล้ว ว่าแต่ชาวพุทธกลุ่มไหนเอ่ยที่จะโชคดีได้รับเงินอุดหนุนก้อนนี้ เพราะชาวพุทธไทยเรานั้นมีถึง 60 กว่าล้านคน ถ้าจะหว่านผลให้ทั่วถึงก็คงต้องรอถึง 100 ปีเป็นอย่างต่ำ และอยากรู้ด้วยสิว่าบริษัทไหนจะได้กินโควต้าเงินจำนวนนี้ เพราะมีข่าวหนาหูว่า มีการฮั้วระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัททัวร์ (รวมทั้งสายการบินไปอินเดีย) บีบให้ชาวพุทธต้องจ่ายหนักโดยไม่จำเป็น ยิ่งได้ข่าวว่า พระผู้ใหญ่ในอินเดียบางรูป เป็นหุ้นส่วนบริษัททัวร์ระดับวีไอพีในอินเดียด้วยแล้ว ยิ่งเศร้าใจฮ่ะ !





ที่มา : กรมการศาสนา
12 มีนาคม 
255
5

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ