พระพิฆเนศ



ประวัติพระพิฆเนศ



พระพิฆเนศวร
 (ภาษาสันสกฤต : คเณศ) หรือ พระพิฆเนศ หรือ พระพิฆเณศ หรือ พระวิฆเณศวร หรือ พระพิฆเณศ หรือ พระคเณศ หรือ คณปติ เป็นเทพในศาสนาพราหมณ์นับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง เป็นหัวหน้านำคณะข้ามความขัดข้อง (ผู้เป็นใหญ่เหนือความขัดข้อง)

ประวัติศาสตร์ ก่อนหน้านั้นในสมัยสุโขทัย ยังไม่ปรากฎหลักฐานในการนับถือพระพิฆเนศ แม้ว่ากษัตริย์ในราชวงค์พระร่วงจะได้ อิทธิพลทางพุทธศาสนาในลัทธิลังกาวงค์เข้ามา แต่กระนั้นก็ยังสนับสนุนศาสนาพราหมณ์เป็นอย่างดี ทั้งศาสนาพราหมณ์ก็ยังช่วยส่งเสริมการปกครองในราชสำนัก เพื่อถวายความรู้วิทยาการนักรบแห่งกษัตริย์ ทั้งยังมีการประกอบพิธีกรรมตามพระเวท และสร้างเทวรูปต่างๆ ด้วย ประเพณีโบราณของลัทธิพราหมณ์-ฮินดู อันเชื่อสืบต่อกันมาว่า พระพิฆเนศ หรือ คณปติ นั้นเป็นเทพองค์แรกที่ต้องได้รับการบูชา ก่อนเทพทุกพระองค์ในศาสนาพราหมณ์ และในทุกพิธีกรรม (ยกเว้นงานศพ) จึงเชื่อว่าจะมีการกล่าวบูชาพระพิฆเนศในเมืองไทยตั้งแต่ยุคสมัยนั้นแล้ว

ส่วนในสมัยอยุธยานั้น ลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นชื่อราชธานี (อยุธยา-อโยธยา) หรือพระนามของกษัตริย์ที่ขึ้นต้นด้วยพระนามด้วย สมเด็จพระรามาธิบดี ก็ถือเป็นพระนามที่ได้รับอิทธิพลมาจาก มหากาพย์รามายณะ (รามเกียรต์) แทบทั้งสิ้น ในยุคนี้ ศาสนาพราหมณ์ได้แพร์หลายในหมู่บุคคลชั้นสูงและในราชสำนัก จึงมักใช้พราหมณ์ เป็นโหราจารย์ในพิธีกรรมต่างๆเสมอมา

 ส่วนสมัยพระเจ้าประสาททอง ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการรื้อย้ายเทวสถานพระอิศวร และพิธีล่มศักราช ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ด้วย

 ส่วนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังมีการจัด พิธีเตรียมยัมปวาย และมีบันทึกไว้ว่า เคยจัดข้าวของจาก อยุธยาไปทำพิธีที่เทวสถานเมืองนครศรีธรรมราช และทรงโปรดให้มีการหล่อรูปพระพิฆเนศวร และทรงนับถือเป็นพระบรมครูช้าง นอกจากนี้ยังได้เกิดวิทยาการแขนงต่างๆ อันมีพื้นฐานจากแขนงวิชาอุปเวทและอาถรรพเวท เกิดขึ้นอีกด้วย

 ส่วนวรรณคดียุคนี้ในยุคนี้ เน้นหนักไปทางเทพ 3 พระองค์คือ พระศิวะเทพ  พระวิษณุเทพ พระพรหม

พระพิฆเนศวรกับประเทศไทย

ในประเทศไทยจะ เห็นได้ว่ามีการบูชาเทพองค์ต่างๆในศาสนาพราหมณ์อยู่มากมาย รวมทั้งองค์พระพิฆเณศ ซึ่งอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ดูได้จากการพบรูปสลักพระพิฆเณศในเทวสถานตามเมืองต่างๆ ทั่วทั้งประเทศไทย โดยมีหลักฐานการค้นพบองค์เทวรูปบูชาพระพิฆเณศที่เก่าแก่ในสมัยที่ขอมเรือง อำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นต้นว่าองค์เทวรูปบูชานั้นสลักจากหิน ค้นพบทางแถบจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ
คนไทยถือว่าองค์พระพิฆเนศวรเป็นที่เคารพสักการะในฐานะองค์บรมครูแห่ง ศิลปวิทยาการ 18 ประการ โดยคนไทยยอมรับในองค์พระพิฆเนศวรให้เป็นเทพแห่งศิลปะทั้งมวล และเป็นเทพองค์สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งทางศาสนาพราหมณ์ได้ สถาปนาพระพิฆเนศวร เป็นเทพพระองค์แรกที่ต้องบูชาก่อนเริ่มพิธีใดๆ เป็นการคารวะในฐานะบรมครูผู้ประสาทปัญญาและความสำเร็จ สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวงให้หมดสิ้นไป กิจการทุกอย่างจึงสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี หน่วยงานราชการกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงได้ถือเอาพระพิฆเนศวรเป็นสัญลักษณ์
พระพิฆเนศวรเป็นโอรสของพระศิวะและพระอุมาเทวี มีรูปกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง ทุกคนเคารพนับถือท่านในฐานะที่ท่านเป็น "วิฆเนศ" นั่นคือ เจ้า (อิศ) แห่งอุปสรรค (วิฆณ) เพราะเจ้าแห่งอุปสรรค ที่สามารถปลดปล่อยอุปสรรคได้ และอีกความหมายถึง ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จในทุกศาสตร์สรรพสิ่งหรือเทพเจ้าแห่งการเริ่ม ต้นใหม่ทั้งปวง เมื่อพิจารณาความหมายในทางสัญญะ รูปกายที่อ้วนพีนั้นมีความหมายว่า ความอุดมสมบูรณ์ เศียรที่เป็นช้างมีความหมาย หมายถึงผู้มีปัญญามาก ตาที่เล็กคือ สามารถมอง แยกแยะสิ่งถูกผิด หูและจมูกที่ใหญ่หมายถึง มีสัมผัสพิจารณา ที่ดีเลิศ พระพิฆเนศวรมีพาหนะคือ หนู ซึ่งอาจเปรียบได้กับความคิด ที่พุ่งพล่าน รวดเร็ว ดังนั้น มนุษย์จึงต้องมีปัญญากำกับเป็นดั่งเจ้านายในใจตน

ลักษณะของพระพิฆเนศวร

มีรูปกายเป็นมนุษย์อ้วนเตี้ย ท้องพลุ้ย มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว (ถูกขวาน ปรศุรามหักเสียงา) สีกายสีแดง (บางแห่งว่าผิวเหลือง นุ่งห่มแดง) มีสี่กร พระหัตถ์หน้าขวาถืองาช้าง พระหัตถ์ซ้ายถือขันน้ำมนต์ เป็นกระโหลกศีรษะมนุษย์ พระหัตถ์หลังขวาถือ ตรี พระหัตถ์ซ้ายถือบาศ (บ่วง) พาหนะคือ หนู




ในคราวที่พระศิวะเทพทรงไปบำเพ็ญสมาธิเป็นระยะเวลานานนั้น พระแม่ปารวตีจึงต้องอยู่องค์เดียวโดยลำพังจึงทรงเกิดความเหงาและประสงค์ที่จะมีผู้มาคอยดูแลพระองค์และป้องกันคนภายนอกที่จะเข้ามาก่อความ วุ่นวายในพระตำหนักใน จึงทรงเสกเด็กขึ้นมาเพื่อเป็นพระโอรสที่จะเป็นเพื่อนในยามที่องค์ศิวเทพเสด็จออกไปตามพระกิจต่างๆ มีอยู่คราวหนึ่งเมื่อพระนางทรงเข้าไปสรงในพระตำหนักด้านในนั้นองค์ศิวเทพได้กลับมาและเมื่อจะเข้าไปด้านในก็ถูกเด็กหนุ่มห้ามไม่ให้เข้า เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นใครและในลักษณะเดียวกันศิวเทพก็ไม่ทราบว่าเด็กหนุ่มนั้นเป็นพระโอรสที่พระแม่ปารวตีได้เสกขึ้นมา

เมื่อพระองค์ถูกขัดใจก็ทรงพิโรธและตวาดให้เด็กหนุ่มนั้นหลีกทางให้ พลางถามว่ารู้ไหมว่ากำลังห้ามใครอยู่ ฝ่ายเด็กนั้นก็ตอบกลับว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าเป็นใครเพราะตนกำลังทำตามบัญชาของพระแม่ปารวตี และทั้งสองก็ได้ทำการต่อสู้กันอย่างรุนแรง จนเทพทั่วทั้งสวรรค์เกิดความวิตกในความหายนะที่จะตามมา และในที่สุดเด็กหนุ่มนั้นก็ถูกตรีศูลของมหาเทพจนสิ้นใจและศีรษะก็ถูกตัดหายไป

ในขณะนั้นเองพระแม่ปารวตีเมื่อได้ยินเสียงดังกึกก้องไปทั่วจักรวาล ก็สด็จออกมาด้านนอกและถึงกับสิ้นสติเมื่อเห็นร่างพระโอรสที่ปราศจากศีรษะ จากนั้นเมื่อทรงได้สติก็ทรงมีความโศกาอาดูรและตัดพ้อพระสวามีที่มีใจโหดเหี้ยมทำร้ายเด็กได้ลงคอ โดยเฉพาะเด็กนั้นเป็นพระโอรสของพระนางเอง

เมื่อได้ยินพระนางตัดพ้อต่อว่าเช่นนั้นองค์มหาเทพก็ทรงตรัสว่าจะทำให้ เด็กนั้นกลับพื้นขึ้นมาใหม่แต่ก็เกิดปัญหา เนื่องจากหาศีรษะที่หายไปไม่ได้ และยิ่งใกล้เวลาเช้าแล้วต่างก็ยิ่งกระวนกระวายใจเนื่องจากหากดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วก็จะไม่สามารถชุบชีวิตให้เด็กหนุ่มฟื้นขึ้นมาได้ เมื่อเห็นเช่นนั้นพระศิวะจึงบัญชาให้เทพที่มาช่วยเอาศีรษะสิ่งที่มีชีวิตแรกที่พบมา และปรากฎว่าเหล่าเทพได้นำเอาศีรษะช้างมาให้ ซึ่งพระศิวะทรงนำศีรษะมาต่อแทนให้ และได้ชุบชีวิตให้ใหม่พร้อมยกย่องให้เป็นเทพที่สูงที่สุด โดยขนานนามว่า พระพิฆเนศ ซึ่งแปลว่า เทพผู้ขจัดปัดเป่าอุปสรรค และยังทรงให้พรว่าในการประกอบพิธีการต่างๆทั้งหมดนั้นจะต้องทำพิธีบูชาพระพิฆเนศก่อนเพื่อความสำเร็จของพิธีนั้นๆ



ตำนานพระพิฆเนศ

เชื่อกันว่า ลัทธิการบูชาพระคเณศนั้น น่าจะมาจากชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดีย ซึ่งเป็นลัทธิการบูชาสัตว์ หรือลัทธิแห่งชัยชนะเหนือธรรมชาติ ชนพื้นเมืองของอินเดีย เชื่อกันว่าหนูเป็นสัญลักษณ์ของความมืด พระคเณศทรงขี่หนูจึงหมายถึงชัยชนะของแสงอาทิตย์ที่ขจัดความมืดให้สิ้นสุดลง พระคเณศอาจจะมีต้นกำเนิดมาจากการเป็นเทพประจำเผ่าของคนป่า ที่อาศัยอยู่ในป่าเขาอันกว้างใหญ่ของอินเดีย คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับฝูงช้างอันน่ากลัวจึงเกิดการเคารพในรูปของช้าง เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองและพัฒนาต่อมาเป็นเทพชั้นสูงของชาวอารยันต่อมาได้พัฒนาเป็นเทพผู้ขจัดซึ่งอุปสรรค มีความเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าของเทพที่มีเศียรเป็นสัตว์ทั้งหลาย จนกระทั่งมีการรจนาปกรณ์ให้เป็นโอรสของพระศิวะเทพและพระนางปราวตีในเวลาต่อมาแต่ในแง่ของคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ได้บรรยายจุดกำเนิดของพระคเณศไว้หลากหลายตำนานตามความเชื่อในแต่ละลัทธิ พอจะสรุปเป็นหลักๆได้ดังนี้

ตำนานที่ 1. พิฆเนศวรปราบอสูรและรากษส

อสูรและรากษสได้ทำการบวงสรวงพระศิวะจนได้คำพรจากพระศิวะหลายประการ ยังให้เหล่าอสูรกลุ่มนี้ฮึกเหิมก่อความเดือดร้อนเป็นอันมาก พระอินทร์จึงทรงนำเทวดาทั้งหลายไปเข้าเฝ้าอ้อนวอนต่อพระศิวะ ขอให้พระองค์สร้างเทพแห่งความขัดข้องขึ้น เพื่อขัดขวางความพยายามของอสูรและรากษส พระองค์จึงทรงแบ่งส่วนกายหนึ่งให้เกิดบุรุษร่างงามจากครรภ์ของพระนางปราวตีและตั้งพระนามว่าวิฆเนศวร เพื่อทำหน้าที่ขวางทางอสูร รากษส และคนชั่วมิให้ทำการบัดพลีเพื่อขอพรจากพระศิวะ ทั้งยังเป็นผู้เปิดทางอำนวยความสะดวกต่อเทวดาและคนดีเพื่อเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ

ตำนานที่ 2. ปราวตีนำเหงื่อไคลปั้นเป็นลูก

ครั้งหนึ่ง ชยาและวิชยา พระสหายของนางปราวตีได้แนะนำว่าปกติพระนางมักจะต้องใช้บริวารของพระศิวะอยู่เป็นประจำ ถ้าหากพระนางจะมีบริวารเป็นของตนเองก็คงจะดีไม่น้อย พระนางเห็นด้วย จนวันหนึ่งขณะที่ทรงสรงน้ำอยู่ตามลำพังก็ทรงนึกถึงคำพูดของพระสหายจึงได้นำเอาเหงื่อไคลออกมาสร้างบุรุษรูปงาม สั่งให้ไปยืนเฝ้าทวาร มิให้ใครเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นอย่างนี้มาหลายเพลา จนวันหนึ่งพระศิวะได้เสด็จมา ฝ่ายลูกก็ป้องกันแข็งขัน โดยไม่รู้ว่านั่นคือพ่อพระศิวะโกรธก็เลยสั่งให้ภูติและคณะของตนเข้าสังหารทวารบาลพระองค์นั้น บ้างก็ว่าพระศิวะพุ่งตรีศูลตัดเศียรลูก บ้างก็ว่าพระวิษณุเทพที่มาช่วยรบนั้นใช้จักรตัดเศียร ความทราบถึงพระนางปราวตีจึงเกิดศึกใหญ่ระหว่างเทพและเทพีขึ้นบนสวรรค์ฝ่ายฤาษีนารอดอดรนทนไม่ได้ จึงได้เป็นทูตสันติภาพขอเจรจากับนางปราวตีเพื่อสงบศึก นางบอกว่าจะสงบศึกก็ต่อเมื่อลูกของนางฟื้นเท่านั้น

พระศิวะจึงสั่งให้เทวดาเดินทางไปทิศเหนือ ให้เอาศีรษะของสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกที่พบมาต่อกับโอรสของนางปราวตี ปรากฏว่าเทวดาได้เศียรของช้างซึ่งมีงาเพียงข้างเดียวมา เมื่อพระคเณศฟื้นขึ้นมา ทราบความจริงว่า พระศิวะคือพระบิดาก็ตรงเข้าไปขอโทษเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พระศิวะพอใจมากประสาทพรให้พระคเณศมีอำนาจเหนือภูติผีทั้งหลายและทรงแต่งตั้งให้เป็นคณปติ

ตำนานที่ 3. ขวางทางคนชั่วไปเทวาลัยโสมนาถและโสมีศวร

พระนางปราวตีทรงเอาน้ำมันที่ใช้ในการสรงน้ำมาผสมกับเหงื่อไคลปั้นเป็นรูปคนแต่มีเศียรเป็นช้างจากนั้นได้เอาน้ำจากพระคงคาปะพรมให้มีชีวิตขึ้น เพื่อทำการขัดขวางแก่คนชั่วที่จะไปบูชาศิวะลึงค์ที่เทวาลัยโสมนาถและเทวาลัยโสมีศวรเพราะคนเหล่านี้หวังจะไปล้างบาปเพื่อมิให้ตกนรกทั้งเจ็ดขุม ด้วยเหตุนี้ การที่วันคเณศจาตุรถี นิยมเอารูปปั้นพระคเณศมาจุ่มน้ำหรือนำเทวรูปปูนชิ้นเล็ก ๆมาทิ้งตามแม่น้ำคงคา ชะรอยจะมาจากความเชื่อที่ว่าน้ำจากแม่พระคงคาจะทำให้พระคเณศมีชีวิตขึ้นมานั่นเอง

ตำนานที่ 4. พระคเณศ กฤษณะอวตาร

พระนางปราวตีมเหสีของพระศิวะไม่มีโอรส พระศิวะจึงทรงแนะนำให้พระนางทำพิธีปันยากพรต (พิธีบูชาพระวิษณุเทพ ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือนมาฆะ) มีระยะเวลากำหนด 1 ปีเต็มและเมื่อครบกำหนด พระนางจะได้โอรสซึ่งเป็นพระกฤษณะอวตารไปจุติ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามคำตรัสของพระศิวะ ทวยเทพทั้งหลายมาร่วมอวยพรในกลุ่มเทพเหล่านี้มีพระศนิ (พระเสาร์) รวมอยู่ด้วย เมื่อพระศนิเหลือบมองพระกุมารทันใดนั้นเศียรกุมารก็ขาดจากพระศอกระเด็นไปยังโคโลกซึ่งเป็นวิมานของพระกฤษณะพระวิษณุจึงเสด็จไปยังแม่น้ำบุษปุภัทรเห็นช้างนอนหัวไปทางทิศเหนือจึงตัดเศียรช้างกลับมาต่อให้กับเศียรกุมารที่หายไป ตำนานนี้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สร้างโดยกลุ่มที่นับถือพระกฤษณะเป็นใหญ่

ตำนานที่ 5. ศิวะ-อุมาแปลงกายเป็นช้างเข้าสมสู่

ครั้งหนึ่งพระศิวะและพระนางปราวตีได้เสด็จมายังแถบภูเขาหิมาลัยได้เห็นช้างสมสู่กันก็บังเกิดความใคร่ พระศิวะจึงได้แปลงเป็นช้างพลาย ส่วนนางปาราวตีแปลงกายเป็นช้างพังร่วมสโมสรจนมีลูกเป็นพระคเณศ

พระคเณศ นั้นเป็นโอรสของพระศิวะ กับ พระอุมา และ เป็นพี่น้องกับสกันทกุมาร (ขันธกุมาร) ซึ่งประวัตินั้นค่อนข้างแปลกๆ พอๆ กันของเทวบุตรทั้ง 2 องค์นี้ โดยพระคเณศจะมีคุณลักษณะแห่งความเป็นนักปราชญ์ ส่วนสกันทกุมารจะมีคุณลักษณะแห่งความห้าวหาญ ตรงไปตรงมาแบบทหาร

ประวัติการกำเนิดของพระคเณศนั้นก็มีความแตกต่างกันตามปุราณะ ซึ่งกล่าวแตกต่างตามแต่ละคัมภีร์ อาทิเช่น พระคเณศนั้นถือกำเนิดมาจากความปรารถนาของพระอุมา เมื่อครั้นพระศิวะเจ้าเสด็จไปทำสมาธิจิตที่เขาไกรลาสเป็นเวลานาน เนื่องด้วยพระลักษมี (บ้างว่าเป็นเทพนารีองค์อื่น) ได้เสด็จมาเข้าเฝ้าเยี่ยมเยียนพระอุมา และ ได้กล่าวกับพระอุมาว่าเมื่อคราวมหาเทพศิวะไม่อยู่กับพระองค์นั้น พระองค์ก็เปรียบดั่งสตรีที่ไม่มีบุรุษปกปักรักษาป้องกันในเวลาปฎิบัติกิจส่วนพระองค์

ฉะนั้นพระอุมาจึงควรสร้างเทวบุตรขึ้นมาเพื่อปกป้อง และ คอยเฝ้าคุ้มกันเมื่อพระอุมาปฏิบัติกิจ เมื่อพระอุมาเห็นด้วยกับความคิดของพระลักษมี จึงได้ใช้ฤทธิ์แห่งศักติ ลูบพระวรกายแบ่งภาคออกเป็นทารกที่อ้วนท้วมสมบูรณ์ เปี่ยมไปด้วยกำลังวังชา และ เติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อครั้นเวลาผ่านไป พระศิวะออกจากสมาบัติก็เสด็จกลับมาหาพระอุมา เมื่อถึงหน้าทวารทางเข้าก็ได้พบกับเด็กคนหนึ่งมายืนขวางทาง ไม่ให้พระศิวะเข้าไปข้างในเนื่องจากไม่มีคำสั่งจากพระมารดา จึงทำให้พระศิวะทรงพิโรธมาก ตรัสสั่งให้นันทิ และ เหล่าเหล่าบริวารเข้าต่อกรกับพระคเณศ

แต่ทั้งนันทิและเหล่าบริวารทั้งหลายก็พ่ายแพ้พระคเณศอย่างง่ายดาย พระนารายณ์ พระพรหมา และ เหล่าเทวดาต่างก็เสด็จมาช่วยพระศิวะต่อกรกับพระคเณศ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไป จนพระนารายณ์ทูลให้พระศิวะทรงใช้ตรีศูลเพื่อสังหารพระคเณศเสีย พระศิวะจึงได้ฟังพระวิษณุตรัสดังนั้นก็ทรงปฏิบัติตาม โดยพุ่งตรีศูลไปตัดเศียรพระคเณศขาดกระเด็นมอดไหม้ไป เสียงแห่งการสังหารพระคเณศนั้นดังกึกก้องไปทั้งสรวงสรรค์ ทำให้พระอุมาตกใจว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น จึงเสด็จออกมาดู เมื่อมาเห็นเทวบุตรคเณศอยู่ในสภาพไร้เศียร ก็พิโรธด้วยอำนาจแห่งศักติจนสั่นสะเทือนไปสามโลก ว่าทำไมเหล่าเทวาจึงต้องมารุมทำร้ายเด็กน้อย ไร้เดียงสา และ สังหารกุมารคเณศของพระองค์ด้วย ด้วยความโกรธแห่งพระศักติผู้เป็นบารมีอำนาจของจักรวาล

พระอุมาได้แบ่งภาคออกเป็นพันๆ ภาคเพื่อจะสังหารเหล่าเทวดาทั้งหลาย และ ทำลายจักรวาลให้สูญสิ้นไป โดยแบ่งภาคเป็นภาคต่างๆ เช่น สตี , ปรรพตี , กาลี , ทุรคา , โครี , จัณฑี , ชคันมาตา , จัฑิกา , ไภรพี , สยามา ฯลฯ ทำให้สั่นสะเทือนปานจักรวาลจะล่มสลาย พื้นโลก สวรรค์ บาดาล นรก เริ่มแตกร้าว เหล่าเทวดาพากันหวาดกลัวไปตามๆ กันเพราะอิทธิฤทธิ์แห่งมารดาจักรวาลนั้นมหาศาลนัก เมื่อพระองค์ทรงเป็นโยนีผู้ให้กำเนิดจักรวาลอันความพิโรธโกรธกริ้วของพระอุมาย่อมทำลายจักรวาลลงได้ภายในพริบตา เมื่อพระนารายณ์เห็นเช่นนั้นจึงทรง เข้าไปขอขมาพระอุมา โดยทูลว่าการกระทำในครั้งนี้เหล่ามหาเทพ และ เทวดาทั้งหลายนั้นไม่ทราบมาก่อนจริงๆ ว่าพระคเณศคือเทวบุตรอันถือกำเนิดจากทิพย์ศิวา ศักติของพระอุมา ที่ทำไปเช่นนั้นก็เพื่อช่วยในการรักษาเกียรติแห่งพระศิวะเจ้า

พระอุมาก็ยังหาความคลายพิโรธลงเท่าใดไม่ แต่ก็ตรัสกับมหาเทพทั้ง 3 และเหล่าเทวดาว่าให้คืนชีวิตและเศียรให้แก่เทวบุตรของพระองค์ในทันที พระเป็นเจ้าทั้งสามก็รับปากจะคืนให้ แต่ติดที่ว่าฤทธิ์แห่งตรีศูลพระศิวะทำให้เศียรของพระคเณศนั้นมลายหายไป แล้วนี่พระอุมายังยื่นคำขาดอีกว่าถ้าเทวบุตรไม่กลับคืนชีพ พร้อมมีเศียร พระอุมาก็เหมือนคนหมดทุกสิ้นทุกอย่างแล้วในจักรวาล เพราะความหวังและสิ่งที่รักยิ่งของมารดาทั้งหลายคือบุตร ฉะนั้นก่อนพระอาทิตย์อัสดงคตให้หาเศียรมาต่อให้พระคเณศให้จงได้ มิฉะนั้นพระอุมาจะทำลายจักรวาลทั้งปวงให้สิ้นไป

เหล่าเทวดาต่างจนปัญญาที่จะหาเศียรมาต่อให้พระคเณศ ด้วยจะฆ่าสิ่งมีชีวิตเพื่อเอาเศียรมาต่อให้พระคเณศก็ไม่เป็นการสมควรที่เหล่าเทวดาจะกระทำกัน พระนารายณ์จึงตรัสข้อเสนอว่าอันพระเวทเปรียบกล่าวไว้ ว่าสิ่งมีชีวิตใดเมื่อเวลานอนแล้วหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกก็เปรียบดั่งเสียชีวิตแล้ว ฉะนั้นให้เหล่าเทวดา แยกย้ายกันไปหาสัตว์ที่นอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก เมื่อเหล่าเทวาได้รับบัญชาแล้วก็รีบแยกย้ายกันออกค้นหาเหล่าเทวดาต่างก็รีบหากันตั้งแต่เช้าจน พระอาทิตย์จะตกดินแล้วก็ไม่พบอย่างที่พระนารายณ์ตรัสไว้ จนเกือบถึงเส้นยาแดงผ่าแปด ก็มาพบช้าเผือกเชือกหนึ่งนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตกพอดี จึงตรงเข้าไปตัดหัวของช้างเผือกนั้นเพื่อนำมาต่อให้พระคเณศ

เมื่อพระศิวะทรงต่อเศียรให้พระคเณศ และ ชุบชีวิตให้แล้ว พระคเณศก็กลับมามีชีวิตดังเดิมทำให้พระอุมาหายพิโรธ โดยพระศิวะกล่าวว่าอันเศียรช้างที่หามาได้นี้หาใช่ช้างธรรมดาอันที่จริงคือ ปางหนึ่งของช้างเอราวัณที่ถูกสาปให้ไปเกิดเป็นช้างเผือกในโลกมนุษย์ เมื่อใดถูกตัดเศียรแล้วก็จะพ้นคำสาปและกลับคืนสู่อินทราโลก ฉะนั้นเศียรที่ได้มานี้จึงประเสริฐเปี่ยมไปด้วยกำลัง และ สติปัญญา และเมื่อเป็นการไถ่ความผิด เหล่าเทวดาก็ต่างให้พรพระคเณศต่างๆ นานา โดยพระศิวะให้พรว่าขอให้พระคเณศจงอยู่เหนืออุปสรรคทั้งปวง เป็นเทพเจ้าแห่งความสมดุล และ ความสำเร็จสมปรารถนาทั้งปวง พระนารายณ์ให้พรว่าขอให้เป็นเทพเจ้าแห่งปัญญา และ การรจนาคัมภีร์ความรู้ทั้งปวง

พระพรหมาก็ให้เช่นกันโดยให้ว่าอันผู้ใดจะประกอบการมงคลใดๆ ก็ตามแต่จะต้องท่องมนตร์ โอม อันเป็นเครื่องหมายอมตะแห่งพระคเณศ และ กล่าวบูชาอัญเชิญพระคเณศมาเป็นเทพองค์แรกในการประกอบมงคลทั้งหลายทั้งปวง โดยพระคเณศจะเป็นใหญ่เหนือคณะเทพเจ้าทั้งปวง นี่ก็คือประวัติพระคเณศ และยังมีข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้างในหลายคัมภีร์ บ้างก็ว่าพระนารายณ์เป็นผู้ตัด ด้วยวาจาสิทธิ์ เมื่อครั้นพระศิวะมีเทวโองการเชิญพระนารายณ์มาโสกันต์ (โกนผมไฟ) พระคเณศ แต่เนื่องจากพระนารายณ์เพิ่งเหนื่อยกลับมาจากการปราบอสูร จึงทำให้เพลียแล้วทรงบรรทมเหนือไวกูณฑ์พอมีเทวโองการประโคมสังข์มาด้วยความงัวเงีย ก็บ่นพึมพรำออกมาว่า " ลูกหัวหายเราจะหลับให้สบายเสียสักหน่อยก็ไม่ได้ " ด้วยวาจาสิทธิ์เศียรพระคเณศก็หายไปในพริบตา บ้างก็ว่าเศียรขาดเนื่องจากพระศนิ ( พระเสาร์ ) เพราะพระเสาร์เคยถูกภรรยาสาปให้ห้ามมองใบหน้าใครได้เพราะพระศนินั้นช่วงหนึ่งเคยแต่เฝ้าภาวนา ถึงแต่พระนารายณ์ไม่เอาใจใส่ในนาง จึงสาปพระศนิว่าถ้ามองผู้ใดผู้ที่ถูกมองจะเกิดอัปมงคล หรือ หัวขาดหายไป

ครั้นพระศนิมาร่วมในงานโกนผมไฟ พระศนิได้แต่ก้มหน้าไม่กล้ายลโฉมพระคเณศ ทำให้พระศิวะทรงกริ้ว หาว่าพระศนิทรงดูหมิ่นโอรส พระศนิไม่ทราบว่าจะขัดพระบัญชา ได้อย่างไรจึงจำต้องมองไปที่หน้าพระคเณศ ด้วยฤทธิ์แห่งคำสาปเศียรพระคเณศก็ขาดหายไปในพริบตา ส่วนเรื่องการต่อเศียรพระคเณศนั้นก็คล้ายๆ กัน แต่มีแทรกเกี่ยวกับตอนของพระศนิว่า เมื่อมองเศียรพระคเณศแล้วเศียรขาด ด้วยความพิโรธพระศนิ พระอุมาเลยทราบพระศนิว่าให้เป็นบาปเคราะห์ เมื่อใดพระศนิเสด็จโคจรเข้าเรือนชนมจันทร์ใครเมื่อใด (ชนมจันทร์ คือ เรือนที่พระจันทร์ในดวงกำเนิดสถิตอยู่ ซึ่งมีคุณภาพเท่าลัคนา หรือ ถ้าพระจันทร์มีกำลังมากกว่าจะถือว่าเรือนที่พระจันทร์สถิตเป็นลัคนาเลยก็ได้) โทษทุกข์จะเกิดขึ้นกินเวลา 7ปีครึ่งมนุษย์จะรังเกียจภัยนี้ และจะให้พระศนิถูกประณามเป็นดาวเคราะห์แห่งทุกข์โทษ แต่เมื่อพระศนิหาเศียรมาต่อให้พระคเณศได้แล้ว

พระศนิขอให้พระอุมาประทานอภัยถอนคำสาปแช่งให้ตน แต่พระอุมาตรัสว่าคำสาปนั้นเป็นวาจาสิทธิ์จึงไม่สามารถถอนได้ แต่จะให้พรแก้แก่พระศนิว่า เมื่อมนุษย์ผู้ใดอดทน และ ใช้สติปัญญาฟันผ่าช่วงที่พระศนิเยือนเรือน 7 ปีครึ่งได้ผู้นั้นจะได้พรอันประเสริฐจากพระศนิ ให้เป็นผู้พัฒนาและเข้มแข็งขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้นเข้าใจสัจธรรมแห่งโลกมากขึ้นแล้วผู้มีปัญญาจะเข้าใจในวิถีแห่งพระศนิเอง เรื่องนี้ก็มีกล่าวในตำราโหราศาสตร์เช่นกันเมื่อ ดาวเสาร์เคลื่อนตัวเข้าสู่เรือนที่ 12 , 01 , 02 นับจากที่พระจันทร์กำเนิดสถิต ซึ่งเรียกว่า เสต-สาติ (ของโหราศาสตร์ภารตะ) ว่าให้โทษร้ายถึง 7 ปีครึ่งนี่เป็นบทหนึ่งที่ว่านิทานโบราณสอดแทรกวิชาโหราศาสตร์ไว้ด้วย

ความสำคัญแต่ละส่วนของพระวรกาย


เนื่องจากพระพิฆเนศมีพระวรกายที่ไม่เหมือนเทพอื่นๆนั้น ได้มีการอธิบายถึงพระวรกายของพะองค์ท่านดังนี้


1. พระเศียรของท่านหมายถึงวิญญาณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิต 

2. พระวรกายแสดงถึงการที่เป็นมนุษย์ที่อยู่บนพื้นปฐพี

3. ศีรษะช้างแสดงถึงความเฉลียวฉลาด

4. เสียงดังที่เปล่งออกมาจากงวงหมายถึงคำว่า โอม ซึ่งเป็นเสียงแสดงถึงความเป็นสัจจะของสุริยจักรวาล

5. หระหัตถ์บนด้านขวาทรงเชือกบ่วงบาศน์ที่ทรงใช้ในการนำพามนุษย์ไปสู่เส้นทางแห่งธรรมะและหลุดพ้นพร้อมทรงขจัดอุปสรรคในระหว่างทาง

6. พระหัตถ์บนซ้ายทรงเชือกขอสับที่ใช้ในการป้องกันและพันฝ่าความยากลำบาก

7. มือขวาล่างทรงงาที่หักครึ่งซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นปากกาในการเขียนมหากาพย์มหาภารตะให้มหาฤษี เวทวยาสมุนีและเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเสียสละ

8. อีกมือทรงลูกประคำที่แสดงว่าการแสวงหาความรู้จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

9.ขนมโมณฑกะหรือขนมหวานลัดดูในงวงเป็นการชี้นำว่ามนุษย์จะต้องแสวงหาความ หวานชื่นในจิตวิญญาณของตนเองเพื่อที่จะได้มีจิตเอื้อเพื้อเผื่อแผ่ให้กับคน อื่นๆ

10. หูที่กว้างใหญ่เหมือนใบพัดหมายความว่าท่านพร้อมที่รับฟังสิ่งที่เราร้องเรียนและเรียกหา

11. งูที่พันอยู่รอบท้องท่านแสดงถึงพลังที่มีอยู่โดยรอบ

12. หนูที่ทรงใช้เป็นพาหนะแสดงถึงความไม่ถือองค์และพร้อมที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่เล็กและเป็นที่รังเกียจของมนุษย์ส่วนมาก
การสักการบูชาขอพร พระพิฆเนศ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นอาชีพใด ประชาชนทุกชนชั้นวรรณะ ก็สามารถขอพรจากพระองค์ท่านได้ไม่จำกัด เพราะท่านเป็นมหาเทพที่ใจดี มีปัญญาลึกล้ำ แก้ไขปัญหาได้เก่ง จนได้รับการขนานนามให้เป็น "เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ"
วิธีบูชาพระพิฆเนศ วันที่เริ่มต้นครั้งแรกควรเริ่มบูชาในวันอังคาร หรือวันพฤหัสบดี เพื่อถวายตัวเป็นผู้ศรัทธา หรือลูกศิษย์ของพระพิฆเนศ วันต่อไปให้สักการะตามปกติ จะเป็นฤกษ์ยามใดถือเป็นมงคลทั้งสิ้น ของที่ใช้ในการสักการบูชาได้แก่ น้ำสะอาด นม น้ำมะพร้าว แต่ถ้ามีเครื่องสังเวยควรใช้ผลไม้และขนมต่างๆ เช่น อ้อย กล้วยสุก มะพร้าว ... เลือกถวายได้ตามศรัทธา และกำลังทรัพย์ แต่ถ้าสามารถถวายได้ทุกวันก็จะเป็นการดี
วันและเดือนที่เหมาะแก่การบูชาพระพิฆเนศ หลังจากที่ถวายตัวเป็นผู้ศรัทธาในวันอังคาร หรือวันพฤหัสบดีแล้ว ก็สามารถบูชาได้ทุกวัน ทุกเดือน โปรดเข้าใจไว้ว่าไม่มีวันใดที่ไม่เหมาะแก่การบูชาพระพิฆเนศเลย ผู้ศรัทธาสามารถกราบไหว้ สักการะบูชาองค์พระพิฆเนศได้ทุกวัน ทุกเดือน และขอพรได้ตลอดเวลา
เครื่องสังเวยพระพิฆเนศ ห้ามใช้เนื้อสัตว์ทุกชนิด (สามารถใช้ขนมที่มีส่วนผสมของไข่ได้บ้าง แต่ถ้าเลือกได้ก็ควรเลี่ยง) ให้ถวายผลไม้ที่สุกแล้วเป็นหลัก อ้อย น้ำอ้อย นมวัว ขนมโมทกะ (หรือ ขนมต้มแดง ต้มขาว ของไทย) หรือขนมหวานลาดูป (ชาวอินเดียนิยมถวาย) ตลอดจนข้าวสาร เกลือ พืช ผัก งา สมุนไพร ธัญพืชและเครื่องเทศทุกชนิด ก็สามารถใช้ถวายได้

เทศกาลคเณศจตุรถี

เทศกาลคเณศจตุรถี นับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบูชาพระพิฆเนศ จะกระทำในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 และวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของพระพิฆเนศ เชื่อกันว่าพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรอันประเสริฐสูงสุด แก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่าน เทศกาลนี้มีการจัดพิธีกรรมบูชาและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วอินเดียและ ทั่วโลก มีการจัดสร้างเทวรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่โตมโหฬาร เพื่อเข้าพิธีบูชา จากนั้นจะแห่องค์เทวรูปไปทั่วเมืองและมุ่งหน้าไปสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สาย ต่างๆ ถนนหนทางทั่วทุกหนแห่งจะมีแต่ผู้คนออกมาชมการแห่องค์เทวรูปนับร้อยนับพัน องค์ ผู้ศรัทธาทุกคนแต่งชุดส่าหรีสีสันสวยงาม ขบวนแห่จะไปสิ้นสุดที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำสรัสวตี ฯลฯ แล้วทำพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเล
เทศกาลคเณศจตุรถีและพิธีกรรมต่างๆ กระทำกันมาแต่โบราณ มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย และหนึ่งในพิธีกรรมที่กระทำกันก็คือ "เอกวีสติ ปัตรบูชา" หรือการบูชาด้วยใบไม้ 21 ชนิดเป็นเวลา 21 วัน


ผลที่ได้จากการบูชาพระพิฆเนศ

1. การบูชาพระพิฆเณศนั้น นับเนื่องในอานิสงส์สำคัญหลายประการด้วย หากเป็นผู้ที่ศึกษาฮินดูแท้ๆ การบูชาพระพิฆเณศย่อมเป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดบรรลุธรรม ตามหลักโมกษะนั่นแล ด้วยว่า พระพิฆเณศแท้ที่จริงย่อมเป็นพลังงานบริสุทธิ์ พลังแห่งปัญญาอันพิสุทธิ์ การเข้าถึงพระพิฆเณศในแง่แห่งความสูงสุดทางจิตวิญญาณจึงหมายถึง การชำระมลทินภายในจิตใจให้สิ้นไป คงเหลือแต่สภาพจิตที่บริสุทธิ์ เป็นจิตแท้ดังเดิม เพื่อก้าวไปสู่การรวมเป็นหนึ่งกับพระเป็นเจ้า
2. อานิสงส์ประการต่อมาคือ การบูชาพระพิฆเณศเพื่อปัญญาและการหยั่งรู้ พระพิฆเณศตามตำนานเป็นเทพแห่งปัญญาโดยชัดเจน จากเรื่องราวการเดินทางรอบโลกแข่งกันระหว่างพระพิฆเณศกับพระขันธกุมาร ทันทีที่พระอิศวรบัญชาว่าใครเดินทางรอบโลกครบ 7 รอบก่อนจะให้ผลมะม่วงแก่ผู้นั้น เมื่อพระขันธกุมารทรงนกยูงออกไปก่อน ในขณะที่พระพิฆเณศเลือกการทักษิณาวัตรพระอิศวรและพระอุมาซึ่งมีฐานะเป็นบิดา มารดาของตนแล้วกล่าวตามเนื้อหาพระคัมภีร์ว่า ผู้ใดที่ทักษิณาวัตรบิดามารดาของตนเอง ย่อมเท่ากับผู้นั้นได้เวียนรอบโลก เพราะว่าคุณของบิดามารดายิ่งใหญ่กว่าแผ่นดิน นี่คือการชี้คุณลักษณะพิเศษของปัญญา
ไม่เพียงเรื่องนี้เท่านั้น ปัญญาญาณของพระพิฆเณศยังกล่าวไว้ในเรื่องการเขียนมหาภารตะว่า พระฤๅษีวยาสเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวนี้แก่พระพิฆเนศขอให้เป็นผู้เขียน ในการเขียนนั้นพระพิฆเณศกล่าวว่าอย่าให้สะดุด ต้องบอกกล่าวทีเดียวให้จบ พระฤๅษีก็แก้ว่าย่อมได้ แต่ตนจะใช้โศลกที่เข้าใจยาก เป็นปรัชญาลึกซึ้ง ต้องตีความหมายก่อนเขียน และหากพระพิฆเนศไม่เข้าใจตรงไหนก็ให้หยุดถาม ทั้งนี้ พระฤๅษีเองจะได้พักเหนื่อยด้วย แสดงว่าความสามารถในการเขียน การจำ ของพระพิฆเนศนั้นนับว่าเป็นยอด ด้วยเหตนี้ ผู้ที่นับถือพระพิฆเณศและหมั่นพิจารณา ในคุณข้อนี้ย่อมเป็นผู้ได้มาซึ่งปัญญาแห่งเทวะ ประกอบด้วยคุณความดี คึอ ความกตัญญูต่อบิดามารดา และจากเนื้อเรื่องที่กล่าวมา พระพิฆเนศยังถือว่าเป็นเทพแห่งการเขียนอ่าน ซึ่งก็คือปัญญา ดังนั้น นักเรียนนักศึกษาทั้งหลายจืงควรให้ความนับถือพระพิฆเณศเป็นพิเศษ
การนับถือพระพิฆเนศ เพื่ออานิสงค์เรื่องปัญญาความรู้นั้น ควรที่ต้องรับถือควบคู่กับ พระแม่สรัสวดี เทวีแห่งปัญญา พรหมจรรย์ และความบริสุทธิ์ ทั้งพระนางยังเป็นเทวีแห่งศิลปวิทยาการอีกด้วย การนับถือคตินี้ จะเห็นได้ชัดจากภาพมี 3 เทพประทับอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นไตรภาคีระหว่าง พระพิฆเนศ พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวดี ผู้ใดประสงค์ความมีปัญญา ประกอบด้วยความสำเร็จ ความร่ำรวย ความฉลาด ก็หารูปภาพเหล่านี้มาบูชาเอาเถิด (ในลักษณะตรีเทวะ หรือ ไตรภาคี หรือ ตรีเอกานุภาพ เช่น พระตรีมูรติ ก็เป็นตรีเอกานุภาพ)
3. ถัดจากเรื่องปัญญา การบูชาพระพิฆเนศที่สำคัญที่สุดคือ อำนาจแห่งการขจัดอุปสรรค ดังที่กล่าวมา พระพิฆเนศคืออำนาจแห่งอุปสรรคและเป็นอำนาจแห่งการขจัดอุปสรรคด้วยในตัว ดังนั้น ผู้ที่บูชาพระองค์ย่อมทำกิจการงานราบรื่นหรือหากมีอุปสรรคอันใด พระองค์ท่านย่อมบำราศเสียซึ่งอุปสรรคนั้นๆ
4. เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ด้วยว่าศีรษะช้างของพระพิฆเนศนั้น เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคล ช้างหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความยิ่งใหญ่ สิริมงคล ด้วยเหตุนี้ พระพิฆเณศจึงเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในพระหัตถ์ของพระพิฆเนศนั้นมักถือขนมโมทกะอยู่ตลอดเวลา อันเป็นสื่อถึงอาหารการกินที่พร้อมเสมอ หมายความว่า พระองค์จะประทานความอิ่มหนำสำราญแก่ผู้บูชาพระองค์ ความอุดมสมบูรณ์จึงพึงบังเกิดแก่บุคคลนั้นไม่รู้สิ้น ชีวิตของผู้ที่มีพระองค์เป็นสรณะจะหอมหวานอยู่เสมอ
5. เป็นผู้ป้องกันภูติผีปีศาจและคุณไสยมนต์ดำทั้งปวง จากคติเรื่องพระพิฆเณศเป็นยมทูต เป็นเจ้าแห่งภูตผีปีศาจ ซึ่งคตินี้น่าจะรับจากการที่พระศิวะ ซึ่งอยู่ในฐานะบิดา ทรงมีภาคภูเตศวร และอีกประการหนุ่งทรงเป็นมหาโยคีที่อาศัยตามป่าช้าเพื่อปฏิบัติกรรมฐาน นั่งสมาธิเข้าฌานสมาบัติให้แก่กล้า และในภาคนี้ พระศิวะเองก็เป็นเจ้าแห่งภูติผี มีภูติผีทั้งหลายแวดล้อมพระองค์ พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งความตาย คุณสมบัติต่างๆ ของพระศิวะถูกถ่ายทอดสู่พระพิฆเนศผู้เป็นศิวะบุตร ด้วยเหตุนี้ พระพิฆเนศจึงทรงอำนาจยิ่งใหญ่ในโลกวิญญาณ โดยพระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งภูติผีปีศาจทั้งหมด ทรงเป็นใหญ่เหนือใครในโลกวิญญาณ ดวงวิญญาณทุกดวงย่อมอยู่ในอาณัติแห่งพระองค์ และผู้บูชาพระองค์ย่อมปลอดภัยจากการคุกคามของภูติผีปีศาจ ทั้งคุณไสยมนต์ดำทั้งปวง เพราะพระองค์คือผู้บริสุทธิ์ คือเจ้าแห่งอำนาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้น ผู้อยู่ใต้บารมีของพระองค์ย่อมพ้นจากภัยทั้งหลายที่มองไม่เห็นเหล่านี้
6. อำนาจแห่งความเป็นที่รัก เนื่องจากพระพิฆเณศเป็นเทพที่บังเกิดจากพระแม่อุมาเทวี ในเบื้องต้นพระพิฆเณศย่อมเป็นที่รักแห่งนางที่สุด ภายหลังจากการต่อสู้กับพระศิวะด้วยควาเข้าใจผิดจนบานปลายทำให้ศีรษะพระพิฆ เณศหลุดไป ยังความไม่พอใจแก่พระแม่อุมา ต่อเมื่อได้มีการต่อศีรษะใหม่และมีการขอขมาพระแม่อุมา ในเหตุการณ์ดังกล่าว ทวยเทพทั้งหลายต่างมาประชุมพร้อมกัน พร้อมทั้งให้พรแก่พระพิฆเณศ พระพิฆเณศจึงเป็นที่รักของทวยเทพทั้งหลายในสากลจักรวาล พระพิฆเณศจึงเป็นผู้ประทานความเป็นที่รักแก่ผู้บูชาพระองค์อีกประการหนึ่งด้วย

พระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

เอกสารประวัติและคำสวดสรรเสริญเทพเจ้า
ที่ระลึกงานเทวาภิเษกพระพิมพ์ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ 2545
โดย : ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา



http://www.karaikudi.com/pillayarpatti.htm

พระคเณศ หรือ พระพิฆเนศ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ที่หมู่บ้านปิลไลยาร์ปัตติ ห่างจากเมืองกะไลกุดิ ศิวะดังไค รัฐทมิฬนาดู อินเดียใต้ 12 กม. บนเส้นทางระหว่างเมืองกะไลกุดิ-มทุไร หมู่บ้านปิลไลยาร์ปัตติ ได้ชื่อมาจากเทวาลัยพระวินายกะ หรือ เทวาลัยพระคเณศแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งนี้ชาวทมิฬจะเรียกพระคเณศว่า ปิลไลยาร์ (Pillaiyar) เทวาลัยแห่งนี้เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนจำนวนมาก ผู้ที่มากราบไหว้บูชาจะได้รับพรให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาจนเป็นที่เลื่องลือ มีผู้ให้สมญานามท่านว่า กัลปกะ วินายักกา หมายถึง ผู้ประทานสิ่งที่ต้องการเสมือนต้นกัลปพฤกษ์ เพราะคนเชื่อว่า ขอสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น
เทวาลัยแห่งนี้มีมีหลักฐานคือจารึกบนหิน 14 หลัก มีอายุตั้งแต่ พ.ศ. 943-1781 สถานที่แห่งนี้เดิมทีมีชื่อว่า "เอกกัตตูร์" "ติรุวีนไกกุดี" "มรุตันกุดี" "ราชานารายณปุรัม" ก่อนที่จะมาเรียกกันว่า ปิลไลยาร์ปัตติ
ราวปี พ.ศ.1827 สถานที่แห่งนี้ตกเป็นสมบัติของพวกนาคะรถะร์ หรือพวกเฉตติย์ นัตตุกโกฏไต พระนามเดิมของพระคเณศที่เทวาลัยแห่งนี้คือ "เทศี วินายกะ ปิลไลยาร์"
เทวาลัยแห่งนี้สร้างโดยวิธีสลักโขดหินขึ้นจนเป็นเทวาลัย ไม่ใช่โดยวิธีก่อสร้างทั่วไป โดยพระราชาราชวงศ์ปาณฑยะยุคต้นๆ เทวรูปพระกัลปกะ วินายกะ และพระศิวลึงก์ ก็สลักจากหินเป็นก้อนๆโดยประติมากรชื่อ "เอกัฏตูร์ กูน เปรุปรนัน" ซึ่งได้เซ็นชื่อเป็นภาษาทมิฬไว้ อักษรที่ใช้เซ็นชื่อเป็นอักษรที่ใช้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7 ถึงพุทธศตวรรษที่ 10 ลักษณะที่แตกต่างไปจากพระคเณศองค์อื่นๆคือ งวงหันไปทางด้านขวาของเทวรูป ซึ่งลักษณะอย่างนี้หายากยิ่งเหมือนสังข์ทักษิณาวรรต ลักษณะอีกประการหนึ่งก็คือเทวรูปพระคเณศองค์นี้หันพระพักต์ไปทางทิศเหนือ อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่าเทวาลัยแห่งนี้เก่าแก่คือ มีร่องรอยของการบูชาต้นไม้ ต้นไม้ประจำเทวาลัยแห่งนี้คือไม้มรุธัม ต้นไม้ดังกล่าวที่ตายแล้วยังได้รับการกราบไหว้จนทุกวันนี้



Pillayar Patti Temple เทวาลัยพระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศที่มีนามว่า Pillayar Patti


ที่มา:
เอกสารประวัติและคำสวดสรรเสริญเทพเจ้า ที่ระลึกงานเทวาภิเษกพระพิมพ์ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ 2545 โดย : ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา


บทสวดมนต์และคาถาบูชาพระพิฆเนศ

บทสวดมนต์และคาถา สำหรับบูชาพระพิฆเนศนั้นในแบบดั้งเดิมโบราณ มีเป็นร้อยๆ กว่าบท..
และแบบสมัยใหม่ที่มีการดัดแปลงความหมายให้เหมาะสม ก็มีอีกหลายพันบทตามแต่ละประเทศ ลัทธิ และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป (เช่นในประเทศไทย ก็มีการประพันธ์บทสวดพระพิฆเนศขึ้นมาใหม่หลายบทเช่นกัน)

สามารถเลือกสวดบทใดๆได้ตามความสะดวก หรือเท่าที่จำได้
ควรเริ่มต้นจากการสวดบทเดียว จากนั้นให้ท่องจำและศึกษาเพิ่มเติมจนสามารถสวดได้หลายๆ บทในแต่ละบทสวด จะสวดบูชาแค่รอบเดียวหรือสวด 3 , 5 , 7 , 9 จบก็สามารถทำได้แต่ชาวฮินดูไม่มีการกำหนดตายตัวว่า มนต์บทใดจะต้องสวดกี่รอบสามารถเลือกสวดมนต์บทใดๆ ก่อน-หลัง ได้ด้วยตนเอง จากนั้นจึงขอพร

ชาวพุทธสามารถตั้งนะโม จบแล้วค่อยสวดมนต์บูชาเทพทางพราหมณ์ได้แต่ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์จะเริ่มสวดบูชาพระพิฆเนศเป็นอันดับแรกแล้วต่อด้วยการสวดบูชาเทพองค์อื่นๆที่นับถือเพิ่มเติม




คาถา บทสวดบูชาพระพิฆเนศที่มีผู้นิยมใช้มากที่สุด อันได้แก่

โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา (เป็นบทสวดหลัก)

โอม กัง คณปัตเย นะมะฮา
(บทสวดของอินเดียเหนือ)

โอม พิไลยาร์ พิไลยาร์ นะโม นะมะฮา
(บทสวดของอินเดียใต้)

โอม เหรัมภะ ยะนะมะฮา
(หมายถึง ขอบูชามหาเทพผู้ยิ่งใหญ่)

โอม เอกทันตะ ยะนะมะฮา
(หมายถึง ขอบูชาเทพผู้มีงาข้างเดียว)

โอม กัง คณปติ ชารานัม กะเนชา
(หมายถึง ขอบูชาเทพผู้ทรงเป็นเกราะกำบังข้าพเจ้า)

โอม วักกระตุณฑา ฮัม
(หมายถึง ขอนมัสการเทพผู้มีงวงยาวโค้ง)

โอม ชยะคเณศา / ชยะคเณศา / ชยะคเณศา เทวา
ออกเสียงตาม ไจยกาเนช มนตรา ได้ว่า - โอม ไจย กาเนชา ไจย กาเนชา ไจย กาเนชา เดวา
(หมายถึง ขอชัยชนะจงมีแด่องค์พระพิฆเนศ)

โอม ศรี มหา คณาธิ ปัตเย นะมะฮา

โอม พระพิฆเณศวร สิทธิประสิทธิเม มหาลาโภ
ทุติยัมปิ พระพิฆเณศวร สิทธิประสิทธิเม มหาลาโภ
ตะติยัมปิ พระพิฆเณศวร สิทธิประสิทธิเม มหาลาโภ (บทสวดของไทย)

โอม นะโม พระคเณศายะ / นะโมนะมะ คันธะมาละ
สิทธาหะนัง กะพะมะนะ / สัมมาอะระหัง วันทามิ (บทสวดของศิลปากร)

โองการพินทุ นาถัง อุปปันนัง
พรหมมะโน จะอินโท พิฆเณศวรโต มหาเทโว
อะหัง วันทามิ สัพพะทา / สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิการิยัง ประสิทธิเมฯ
(บทสวดของไทยและที่ปรากฎ ณ ศาลพระพิฆเนศ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์)

มหาเทวะ มหาสลัม มหาวะศะการัม
พระพิฆเณวา สะวะลัม พรหมมานัง
วิญญานัง โอม ทูปัง ทีปัง / มะนะสะการัม บุปผัง ญะลา ผลังนิล
(บทสวดของพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ)

โอมปารวตี ปัตตเย ฮารา ฮารา ฮารา มหาเทวา
คาชะนะนัม ภูตะคณาธิเสวะตัม / กะปิตะชัมพู ผะละจารุภักษะณัม
อุมาสุตัม โศกะวินาศะ การะกัม / นะมามิ วิฆเนศวะระ ปาทะปังกะชัม
ฟังสำเนียงต้นตำรับได้ที่นี่ >>> คเณศา มนตรา (บทสวดดั้งเดิมของอินเดียโบราณ)

ความหมาย : พระพิฆเนศทรงเป็นสิ่งสูงสุด ทรงมีเศียรเป็นช้าง 
ทรงมีสาวกมากมาย พระองค์ทรงโปรดผลมะขวิดและผลหว้า (บางตำราว่าผลชมพู่)
พระองค์ทรงเป็นบุตรแห่งพระแม่ปารวตี 
ทรงเป็นผู้ทำลายความทุกข์ยากและความเจ็บปวด 
ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการ เทพผู้ทรงมีพระบาทดั่งดอกบัว

วักกระตุณดะ มหากายา
สุริยาโกติ สมาปราภา / นิรวิกนัม คุรุเมเดวา
สารวการ เยสุ สารวาดา
(บทอัญเชิญพระพิฆเนศ นิยมสวดกันมาก โดยเฉาพะในขณะถวายเครื่องสังเวยบูชา)

ความหมาย : ขอน้อมบูชามหาเทพ ผู้มีงวงอันโค้งยาว งดงามยิ่ง
พระองค์มีพระวรกายอันแข็งแกร่ง
บารมีของพระองค์ได้แผ่ออกดั่งแสงอาทิตย์เจิดจ้านับล้านดวง
ขอพระพิฆเนศวรโปรดประทานความผาสุขและชี้นำข้าพเจ้าไปสู่สิ่งที่ดีงามด้วยเถิด

โอม เอกทันตายะ วิดมาเฮ
วักระตุณทายะ ดีมาฮี / ตันโน ดันติ ประโจตะยาต
(บทสวดคเณศาคายตรี)
คลิก ฟังสำเนียงต้นตำรับได้ที่นี่ >>> คเณศา คายตรี

ความหมาย : เราพร่ำสวดสรรเสริญแด่พระพิฆเนศผู้ยิ่งใหญ่
เราทำสมาธิเพื่อน้อมระลึกถึงท่าน ผู้ซึ่งมีงาข้างเดียว ขอพระองค์โปรดนำทางเราไปสู่สิ่งที่ดีงามด้วยเถิด

โอม ตัด ปุรุษยา วิดมาเฮ
วักระตุณทายะ ดีมาฮี / ตันโน ดันติ ประโจตะยาต
(บทสวดพระพิฆเนศ จาก คัมภีร์คณปติอุปนิษัท)

ความหมาย : เราพร่ำสวดสรรเสริญแด่พระพิฆเนศผู้ยิ่งใหญ่
เราทำสมาธิเพื่อน้อมระลึกถึงท่าน ผู้ซึ่งมีงวงอันโค้งสวยงาม ขอพระองค์โปรดนำทางเราไปสู่สิ่งที่ดีงามด้วยเถิด

โอม ตัต การาตายะ วิดมาเฮ
ฮาสติ มุกขายะ ดีมาฮี / ตันโน ดันถิ ประโจตะยาต
(บทสวดพระพิฆเนศ จาก นารายณ์อุปนิษัท)

โอม กัง กันนะปัตเย นะโมนะมะห์
ศรี สิทธิวินายัก นะโมนะมะห์
อัสตะ วินายัก นะโมนะมะห์
กันนะปติ บัปปา โมรายา
บทสวดบูชาองค์ สิทธิวินายัก พระพิฆเนศองค์สำคัญของโลก
และบูชาเทวรูป อัสตะวินายัก พระพิฆเนศที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ 8 แห่ง ณ ประเทศอินเดีย
เพลงบูชามีความยาวค่อนข้างมาก สามารถเปิดฟังขณะถวายของหรือทำสมาธิ
ดาวน์โหลดบทสวดได้ที่นี่ - ขนาดไฟล์ 13 MB)

โอม ศรี คเณศายะ นมัช
โอม นมัส ศรี อาทยา / เวทา ประทิปาทยา
ชัช ชัย สวะ-สัมเวทยา / อาธัม-รูปา
(บทสวดโดยนักพรตและฤาษี)

โอม ตัดสัต โอม มหาเดวา
มหาณัม มหาวัสสกาลัม / มหาพิฆเนศวรา
พรหมมานัง วิญญานัง / นมัสสามิ นะโม นะมะ
โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา
หริโอม ศรีคณปตเย นะมะฮา
สิทธิสวาหะ
หริโอม ศรีคณปตเย นะมะฮา
โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา

โอม ศรีม ฮรีม กลัม / คเณศวรายะ
พรหมรูปายะ จารเว / สรวะ สิทธิ ปรเทศายะ
วิฆเนศายะ นะโม นะมะฮา

โอม ศรีม กัม สุภัคยะ กันปัตเย
วาร วารดะ สารวาจานัม เม วาษามะเน สวาหะ
(ลักษมีคเณศมนตรา)
สวดเพื่อขอประทานความสำเร็จในการค้าและการติดต่อเรื่องธุรกิจ - บทนี้สวดขอพรได้ทั้งพระแม่ลักษมีและพระพิฆเนศ

โอม ศรีม ฮรีม กรีม กลัม กันปัตเย
สารวะ การยะ สิทธิ คุรุ คุรุ สวาหะ
(ศริประ คณปติ มนตรา)

โอม กัม กลัม หะริทรา กันปัตเย วาร วารัดดะ
สารวจัน รทายัม สตัมไภย สตัมไภย สวาหะ
(หริทรา คณปติ มนตรา)

โอม วักกระตุณทาย กันดาษไตร
กรีม ฮรีม ศรี กัม คณปัตเย วาร วารัดดะ
สารวาจัน เม วาษามะเน สวาหะ
(ไตรโลคยา โมหัน คเณศ มนตรา)

โอม นะมะหะ อุชชิสตะ
คเณศายะ หัสติ / พิชะสิ ลิเขสวาหะ


******************


บทสวดบูชาพระพิฆเนศแบบโบราณ 17 บท สามารถเลือกบทใดบทหนึ่ง หรือจะสวดบูชาทั้ง 17 บทเรียงต่อกันก็จะเป็นสิริมงคล

1. โอม สุมุ-ขายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงมีพระพักตร์งดงามดั่งดวงจันทร์
2. โอม เอกทันตะ ยะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงมีงาข้างเดียว
3. โอม กาปิ ลายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงมีผิวกายสีแดง
4. โอม คัชกรัณ กายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงมีใบหูกว้างใหญ่
5. โอม ลัมโพ ทะรายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงมีท้องอันใหญ่โต
6. โอม วิกฏายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงประทานความผาสุข
7. โอม วิฆนะ รายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งอุปสรรคทั้งปวง
8. โอม วินายะ กายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงเป็นเทพเจ้าสูงสุด
9. โอม ธูมระ เกตะเว นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงมีกายดั่งเปลวไฟร้อนแรง
10. โอม คณาธยักษากะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งคณะบริวารแห่งพระศิวะเทพ
11. โอม ภาละ จันทรายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงมีพระขันทร์เสี้ยวเป็นมงกุฎ
12. โอม คชานะ นายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงมีพระพักตร์เป็นช้าง
13. โอม วักระ ตุณ ดายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงมีงวงอันใหญ่โค้ง
14. โอม ศุรปะ กรณายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงมีใบหูอันกว้างใหญ่
15. โอม เหรัมภายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงอำนาจสูงสุด
16. โอม สกันทะ ปูรวชายะ นมัช
ขอน้อมบูชาต่อเทพผู้ทรงเป็นน้องชายพระขัณฑกุมาร
17. โอม มหาคณะปัตเย นมัช
ขอน้อมบูชาต่อพระพิฆเณศผู้ยิ่งใหญ่
บทสวดขอพรพระพิฆเนศ บท
(สวดพร้อมคำขอพรภาษาไทย)

โอม พูตายะ นะมะฮา
ขอพระพิฆเนศวรโปรดประทานความบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
โอม ภัคตะวิฆนะ วินาศิเน นะมะฮา
ขอพระพิฆเนศวรโปรดทำลายความทุกข์ร้อนแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

โอม วิฆะณะราชายะ นะมะฮา
ขอพระพิฆเนศวรโปรดขจัดอุปสรรคทั้งปวงอันจะเกิดแก่ชีวิตของข้าพเจ้าด้วยเถิด

โอม ศุธิปริยายะ นะมะฮา
ขอพระพิฆเนศวรโปรดประทานสติปัญญาในการประกอบอาชีพแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

โอม ศริษายะ นะมะฮา
ขอพระพิฆเนศวรโปรดประทานทรัพย์สมบัติและความอุดมสมบูรณ์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

โอม สธิรายะ นะมะฮา
ขอพระพิฆเนศวรโปรดประทานความมั่นคงแก่ชีวิตข้าพเจ้าด้วยเถิด

โอม สมาหิตายะ นะมะฮา
ขอพระพิฆเนศวรโปรดประทานสุขภาพพลานามัยที่ดีแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

โอม สมุยายะ นะมะฮา
ขอพระพิฆเนศวรโปรดประทานความสงบสุขแก่ชีวิตข้าพเจ้าด้วยเถิด
บทลงท้าย เมื่อเสร็จสิ้นการสวดบูชาหรือประกอบพิธีกรรม

มนต์กราบขอขมาลาโทษต่อองค์เทพทุกพระองค์
เพื่อขอขมาต่อเทพ หากมีสิ่งใดบกพร่องติดขัดระหว่างการบูชา
โอม กษะมา ปะนัม สะมะระ ปะยาม

มนต์ลาเครื่องสังเวย
ยกเครื่องสังเวยต่างๆ ถาดผลไม้ ขนม น้ำ นม ฯลฯ ขึ้นจรดหน้าผากหรือเหนือศีรษะแล้วกล่าวว่า
โอม ปราสดัม ศิรสา กฤนาม



บทแผ่เมตตา
สามารถเลือกมาสวดเป็นบทต่อท้ายเมื่อเสร็จสิ้นพิธีการบูชา (บทสวดเหล่านี้ใช้ได้กับเทพทุกพระองค์)


โอม การายะ มนตรา
(บทสวดเครื่องหมายโอม)
โอม การัม พินทุสัมยุกตัม
นิตยัม ทะยายันติ โยคินา
กามะทัม โมกะษะทัม ไจวะ
โอม การายะ นะโม นะมะ


ความหมาย : อักขระโอม อันศักดิ์สิทธิ์ ย่อมปรากฎพร้อมเครื่องหมายพินทุ
อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จดั่งใจปรารถนาทุกประการ ชี้นำเหล่าโยคีไปสู่โมกษธรรมอันสูงสุดและช่วยทำลายพันธนาการทั้งหลาย
ข้าพเจ้าขอน้อมสักการะแด่เครื่องหมายโอมอันศักดิ์สิทธิ์นี้
คายตรี มนตรา
(บทสวดแด่องค์พระแม่คายตรี พระพรหม และสุริยะเทพ)

โอม บูร์ บูวาส สวาฮา
ตัธ สาวิธูเร วาเรนยัม
บฮาร โก เดวาสยา ดีมาฮี
ดิโย โยนาฮา ปราโจดะยาธ
ความหมาย : โอม ขอนอบน้อมแด่เทพผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง
พระองค์ทรงประทานความสว่างสดใสไปทุกหนแห่ง
พระองค์ทรงประทานปัญญาและเป็นผู้ขจัดบาปแก่สรรพชีวิต
ขอประทีปแห่งพระองค์จงส่องสว่างไปชั่วกาลนานด้วยเทอญ
ศานติ มนตรา
(บทแผ่เมตตาของศาสนาพราหมณ์)

ทุกสรรพชีวิตในโลกนี้ ทั้งมนุษย์ สัตว์ และพืช
ต่างถือกำเนิดมาจากน้ำมือของพระผู้เป็นเจ้า (พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ พระกฤษณะ ฯลฯ)
การมอบความเมตตาและสื่อสันติภาพไปยังสรรพชีวิตทั้งหลาย ถือเป็นการให้เกียรติสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมา

ศานติมนตรา คือคำแผ่เมตตาของศาสนาพราหมณ์ เมื่อสวดมนต์และขอพรแล้ว ควรสวดศานติมนตราพร้อมคำแปลเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และความห่วงใยไปยังทุกๆสรรพชีวิตบนโลกนี้

โอม ศานติ อันตะริกษัม ศานติ
ปฤถิวี ศานติ
อาปาศะ ศานติ
โอสะธะยะษะ ศานติ
วนัสสะปัตตะยะษะ ศานติ
วิศศะเวเทวะ ศานติ
พรหมมะ ศานติ
สะระวะ ศานติ
ศานติ เรวะ ศานติ
โอม ศานติ ศานติ ศานติฮีฯ


ความหมาย : ขอความสงบจงเกิดแก่ผืนดิน ขอความสงบจงเกิดแก่ผืนน้ำ
ขอความสงบจงเกิดแก่พืชพรรณ
ขอความสงบจงเกิดแก่สรรพชีวิต
ขอความสงบจงเกิดแก่พรหม
ขอความสงบจงเกิดแก่เหล่าเทวะ
ขอความสงบจงเกิดแก่ทุกๆสิ่ง
ขอจงมีแต่ความสงบ ความสงบ และความสงบเท่านั้น

(ศานติมนตรานี้ สามารถกล่าวอย่างสั้นๆได้ว่า โอม ศานติ..ศานติ..ศานติ อันหมายถึง ขอความสงบสุขจงบังเกิด)


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง