ภูเขาไกรลาสและห้วงสมุทรสีทันดร


"ภูเขาไกรลาสและห้วงสมุทรสีทันดร"
ขอขอบพระคุณ : หนังสือ INDIA ความเร้นลับของปฐพีชมพูทวีป
โดย : ทีมงานต่วย'ตูน / หาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ


เรื่องราวของเทพเจ้าฮินดู ตามที่ปรากฎในพระคัมภีร์นับว่าเป็นเรื่องที่แปลก โดยเทพแต่ละองค์ประทับอยู่ ณ ที่ต่างๆกัน เช่น ท้าวจตุโลกบาล นั้นก็ประทับอยู่ ณ สวรรค์ชั้นแรกนามว่า จาตุมหาราชิกา ส่วน พระอินทร์ นั้นพระคัมภีร์กล่าวว่าสถิตอยู่ใน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยมีที่ประทับที่ ภูเขาพระสุเมร ซึ่งบางทีก็เรียกว่าภูเขาเมรุ (Mt.Meru) อันเป็นชื่อภูเขากลางจักรวาล มี ทะเลสีทันดร ล้อมรอบ อยู่ในระหว่างเขาสัตบริภัณฑ์คือภูเขาทั้ง 7 คือ ภูเขายุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัสนะ เนมิธร วินตกะ และอัศกัณ ซึ่งภูเขาเมรุนี้บ้างก็เชื่อว่าคือ ยอดเขาศักกะมารดา หรือ ยอดเขาเอฟเวอเรสต์ ที่รู้จักกันดีนี่เองส่วน พระพรหม ในไตรภูมิกล่าวว่า อยู่ใน พรหมโลก ซึ่งมี 16 ชั้น แต่เป็นที่ประทับของพรหมประเภทต่างๆ ที่มีแต่จิตหรือมีรูปด้วย ส่วนพระพรหมนั้นอยู่ต่างหาก ณ พรหมพฤนทา
พระนารายณ์ หรือ พระวิษณุมหาเทพ นั้น ทรงประทับหลับสนิทบนขนดของพระยาอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร คือทะเลน้ำนม บ้างก็ว่าทรงไสยาสน์อยู่ ณ สะดือทะเล
แต่ พระศิวะ นั้น ประทับอยู่ ณ เขาไกรลาส บนโลกมนุษย์ของเรานี่เอง จึงจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ
เขาไกรลาส นั้นอยู่ ณ ที่ใดกันเล่า? ภูเขานี้บางทีก็กล่าวว่าเป็นที่อยู่ของ ท้าวกุเวร และเป็นสวรรค์ของพระศิวะ มีลักษณะที่พรรณากันว่า สีขาวอย่างเงินยวง บางทีก็เรียกกันว่าผาเผือกตั้งอยู่บน ภูเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นยอดสูงสุดในตอนใต้ของ ทะเลสาบมานัส อันเป็นเทือกเขาตอนที่กั้นแดนทางเหนือของภารตวรรธ ซึ่งชาวฮินดูนับถือกันมาก ถือกันว่าเป็นที่สถิตแห่งเทพและประชาบดีหรือฤาษีสำคัญๆ
แต่ถ้าไปเปิดแผนที่ดู เราจะไม่พบที่ตั้งของเขาไกรลาสเลย ทั้งนี้เพราะว่าภูเขาหิมาลัยนั้นเป็นเทือกเขาที่ใหญ่ที่สุดในโลก และก็มียอดเขาที่สูงที่สุดในโลกตลอดจนสูงติดอันดับมากมายหลายยอดตั้งแต่ศักกะมารตาหรือเอฟเวอเรสต์ที่สูง 29,028 ฟุต ยอดเขาไกรลาสสูงเป็นลำดับที่ 32 ของโลกคือสูง 22,020 ฟุต และสูงเป็นที่ 19 ในหมู่ยอดเขาในเทือกเขาหิมาลัย
การที่ชื่อเขาไกรลาสหาไม่ค่อยจะพบก็เพราะว่ามันมีชื่อเป็นทางการว่า กังติ-สู-ชาน (Kangti-ssu-shan) ในปัจจุบันอยู่ในเขต ทิเบต หรืออีกชื่อหนึ่งคือ กัวลา มาน ฮาตา (Gurla mand hata) ตั้งอยู่ในเขต พื้นที่ไกรลาส (Kailasrange) เหนือขึ้นไปจาก ยอดเขานันทาเทวี ราว 100 ไมล์ ซึ่งมีช่องเขาเป็นเส้นทางไปได้จากอินเดีย บางทีเขาลูกนี้เรียกกันว่า ภูเขาเงิน อยู่ทางตะวันตกของธิเบต เพราะภูเขาไกรลาสมิได้มีลักษณะขรุขระหากแต่มนราบยามเมื่อหิมะที่จับขาวโพลนต้องแสงอาทิตย์ จึงดูประดุจแผ่นเงินหรือหน้าผาสีขาว ซึ่งพวกอารยันนับถือมาตั้งแต่สมัยโบราณว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ มีทะเลสาบ มานัสโรวา (Manasrowar) ซึ่งเป็นที่นับถือ กล่าวกันว่าพระศิวะประทับอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ครั้งสร้างโลก ซึ่งชาวอินเดียนับล้านๆ คนที่นับถือได้พยายามหาทางที่จะไปให้ถึงเพื่อทำการสักการะบูชาให้ได้
ทั้ง ภูเขาไกรลาส และ ทะเลสาบมานัส ได้ถูกกล่าวถึงในมหากาพย์ รามายณะ และ มหาภารตะ ในรามายนะกล่าวถึงทะเลนี้ว่า "ทะเลสาบมานัสอันศักดิ์สิทธิ์นี้ แม้แต่ใครได้ถูกต้องสัมผัสหรือนำเอามาล้างร่างกายหรือได้อาบน้ำในทะเลสาบนี้ ผู้นั้นจะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ และถ้าใครได้ดื่มน้ำในทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์นี้ ก็จะได้ขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ใกล้ที่สถิตของพระศิวะ"
แต่ก็มีชาวฮินดูบางพวกเชื่อว่าภูเขาลูกนี้คือ ภูเขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนของโลกและมีทะเลขวางอยู่ และเป็นที่ประทับของพระศิวะที่ผู้นับถือลัทธิพราหมณ์กล่าวว่า ณ กึ่งกลางทะเลสาบนี้ มี ต้นชมพู่ (Jumbu) ศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์ไม่อาจมองเห็น ซึ่งมีสายน้ำไหลออกมาจากผลของต้นไม้นี้เกิดเป็นน้ำในทะเลสาบขึ้น เป็นสายน้ำอันมีคุณวิเศษทำให้อายุยืนยาว
สายน้ำในทะเลสาบนี้เองที่ไปเป็น ต้นน้ำคงคา อันศักดิ์สิทธิ์ที่ถ้ำน้ำแข็งใกล้ วิหารคงโคตรี (Gangotri) นอกจากนั้นน้ำในแม่น้ำทางตะวันออกคือ แม่น้ำนลินี หลาทินี ปาพนี และแม่น้ำทางด้านตะวันตกคือ แม่น้ำจักษุ แม่น้ำสีดา แม่น้ำสินธุ ก็ล้วนเป็นแม่น้ำที่มีต้นน้ำมาจากที่เดียวกัน ดังนั้นบริเวณที่เป็นทะเลสาบมานัสและภูเขาไกรลาส (ไกลาส) จึงยึดถือกันว่าเป็นบริเวณที่จะต้องไป นมัสการ หรือ ธุดงค์ อันเรียกว่า ไกรลาสยาตรา (Kailasyatra) ซึ่ง พราหมณ์สวามี นาวะนันทะ (Navananda) กล่าวไว้ว่า การธุดงค์ไปจนถึงภูเขาไกรลาสและ เดินประทักษิณ ให้ครบ 39 รอบเป็นการเคารพบูชาอย่างสูงสุด และการเดินทางไปจะต้องเดินทางในเดือนกันยายนหรือตุลาคมเท่านั้น
แต่ภูเขาไกรลาสและทะเลสาบมานัสนั้นอยู่ไกลหนักหนา ผู้ที่จะทำการไกรลาสยาตราจะต้องเดินทางไปจากอินเดียผ่านเข้าไปทาง ช่องเขาลิปูเลค (Lipu lakh) ซึ่งมีทางเดียวคือต้องเดินทางไปจากอุตระประเทศของอินเดียเข้าไปสู่ธิเบต โดยการไกรลาสยาตรากว่าจะเดินด้วยเท้าไปถึงก็กินเวลาถึง 7 วันจึงจะถึงช่องเขาอันอยู่ในระดับสูง 17,600 ฟุต ช่องเขานี้จะผ่านเข้าไปยังที่อยู่ของ ชาวบูเตีย (Bhutia)
ตลอดระยะทาง นักธุดงค์จะต้องท่องคำว่า "ไกรลาสยาตราไกฟาโฮ" ไปตลอดเพื่อให้จอมเทพทรงรับรู้ว่า ณ บัดนี้ขบวนธุดงค์ได้เดินทางมาทำการสักการะแล้ว
เมื่อผ่านช่องเขาลิปูเลคไปแล้ว ก็จะเริ่มมองเห็นยอดเขาไกรลาส โดยจะเห็นภูเขาที่มีเมฆหมอกปกคลุม นานๆสักครั้งจึงจะเห็นถนัด จากนั้นนักธุดงค์จะต้องเดินทางผ่าน ช่องเขากัวลา (Gurla pass) ช่องเขานี้บางทีก็เรียกว่า กาฬบรรพต เพราะเป็นภูเขาหินสีดำไม่มีหิมะจับทั่ว จึงมีความน่ากลัว มีเมฆหมอกที่ลอยผ่านช่องเขาพื้นที่สูงๆต่ำๆ ล้วนเต็มไปด้วยหิมะ ทางเดินของพวกไกรลาสยาตรานั้น ตั้งแต่เริ่มพ้นเขตอินเดียก็ต้องลุยไปตามหิมะโดยตลอด เสบียงจะต้องเป็นเฉพาะพืชแห้ง ไม่มีเนื้อสัตว์ บรรทุกหลังลาหรือม้า หรือไม่ก็สะพายเดินฝ่าหิมะอันขาวสล้างกันไป
เมื่อพ้นช่องเขากัวลาไปแล้ว ทางขวามือถือทะเลสาบ "รัคสาสทาล" (Raksastal) ซึ่งมีพื้นน้ำสีเทาดูเปล่าเปลี่ยวแห้งแล้ง ซึ่งตลอดทางมีภูเขาขวางอยู่ทำให้ต้องเดินเลียบภูเขานี้ไปเมื่อพ้นภูเขาตอนนี้จะเห็นความกระจ่าง เขียวสดใส สะอาด ดูกว้างใหญ่อยู่ตรงหน้านั่นคือทะเลสาบมานัสโรวาอันศักดิ์สิทธิ์คณะธุดงค์จะเอามือทั้งสองประสานกันไว้เหนือหัว เปล่งเสียงว่า "พูช" (Poosh) อันแปลว่า "ไม่" หมายถึงจะทำร่างกายจิตใจให้ไม่มีอกุศลจิตใดๆ
บางคนจะลงกราบอย่างปลื้มปิติเต็มกลั้น แต่บางคนจะวิ่งตรงไปยังชายทะเลสาบเพื่อที่จะได้สัมผัสกับน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อไปถึงชายฝั่งจะทำการเคารพโดยใช้หน้าผากจรดพื้นชายฝั่งตรงกันข้ามกับทะเลสาบไปทางใต้ราว 16 ไมล์ ยอดเขาไกรลาสขาวสล้างด้วยหิมะจะแลดูเด่นตระหง่านอยู่


บริเวณริมทะเลสาบจึงมีกองหินอันเปรียบเสมือนสถูป ที่ผู้เดินทางมาทำการบูชาสร้างขึ้นอยู่มากมาย พวกไกรลาสยาตราจะนำว่าวที่มีรูปวงล้อออกมาชักขึ้นไปบนท้องฟ้าเป็นการบูชาด้วยครับ
จากนั้นนักธุดงค์จะทำการอันควรบูชาต่างๆ ณ ชายทะเลสาบมานัสโรวา บ้างก็จะพักอยู่ชั่วขณะแล้วก็จะเดินทางต่อผ่านหุบเขาเข้าไปสู่ที่กว้างหรือทะเลทรายอันดำมืด อันมีชื่อว่า รัคสาสทาล (Raksastal) แปลว่าทะเลสาบปีศาจ บริเวณนี้อยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 14,950 ฟุต ซึ่งนับเป็นทั้งทะเลทรายและทะเลสาบที่สูงที่สุดในโลก ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์นี้กว้างราว 2 ไมล์
เมื่อนักธุดงค์ไกรลาสยาตราเดินทางมาถึงเชิงเขาไกรลาส ก็เตรียมพร้อมทำการทักษิณาวรรตรอบภูเขาไกรลาส ซึ่งจะต้องไปพักที่วัดทางพุทธศาสนาชื่อ วัดตารเชน (Tarchen) ซึ่งตั้งอยู่ ณ เชิงเขามีลักษณะเป็นวัดทิเบตเล็กๆ มีเต็นต์ตั้งไว้ให้คณะนักธุดงค์ได้พัก
จากวัดนี้ หัวหน้าไกรลาสยาตราจะกองสัมภาระไว้และเตรียมทำพิธีเดินเวียนรอบภูเขาไกรลาส ซึ่งถ้าเดินได้ครบ 108 รอบจะได้ไปอุบัติใน นิรวนา(Nirvana) บนสรวงสวรรค์ นักแสวงบุญบางคนสามารถเดินรอบเขาไกรลาสซึ่งมีเส้นรอบวงยาว 32 ไมล์ได้ครบหนึ่งรอบในวันเดียว 108 รอบก็เดิน 108 วัน แต่หลายๆคนกว่าจะเดินครบหนึ่งรอบก็ใช้เวลา 2-3 วัน
ในขณะที่เดินจงกรมไปรอบภูเขาไกรลาสนั้นก็มีข้อห้ามมากมาย เช่น ห้ามพูดปดหรือนอนลงบนพื้น แต่การทำความเคารพนั้นนอนกราบได้ บางคนเคร่งมากทำความเคารพแบบกราบไปทุกก้าวที่เดิน ดังนั้นการเดินรอบเขาไกรลาสจึงใช้เวลานานมาก
ถ้าจะว่ากันโดยรูปร่างของภูเขาไกรลาสนี้ นักธุดงค์กล่าวว่า นี่คือรูปทรงของ "วิศวะลึงค์" (Vishwalinga) หรือ ศิวลึงค์ของโลก ผู้ที่ได้เห็นเพียงครั้งเดียวจะประสบความสุข แสงสว่างของภูเขาก็คือแสงสว่างของพระเป็นเจ้า บางทีถ้าอากาศดี จากภูเขาไกรลาสมองไปทางทิศตะวันออกจะเห็นเนปาลและบางส่วนของอินเดีย ดังโศลกของ พระโควินทะ (Govinda) ว่า "จากที่นี้ เราจะมองเห็นจักรวาล ซึ่งรับพลังที่แผ่ท่วมท้นไปอย่างเงียบๆ จากทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์และจากภูเขาไกรลาสอันอ้างว้าง"
เรื่องราวของ ป่าหิมพานต์ ซึ่งกล่าวกันว่าอยู่ทางทิศเหนือของอินเดีย คือบริเวณภูเขาหิมาลัยนั้น ในไตรภูมิกล่าวว่ามีสระน้ำอยู่ถึง 7 สระ (หมายถึงทะเลสาบ) ซึ่งมี สระวินทุ มานสะ อโนดาต เป็นต้น ได้กล่าวไว้ว่ามานสะเป็นแหล่งน้ำอยู่ที่เขาไกรลาส เป็นที่กำเนิดของหงส์และหงส์จะไปยังสระนี้ทุกปี
มานสะ กับ มานัส คือแห่งเดียวกัน ถึงแม้ที่ราบอันพอจะเป็นทะเลสาบนั้นมีมากมายกว่า 7 แห่ง แต่ที่เขาไกรลาสนั้นก็มีเพียงทะเลสาบมานัสหรือมานสะเท่านั้นที่เป็นทะเลาสาบที่ชาวฮินดูนับถือ
ยังมีชื่อทะเลที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเรื่องราวที่เกี่ยวกับเทพเจ้าของชาวฮินดู นั่นก็คือชื่อของทะเลสำคัญชื่อว่า "สีทันดร" ที่ปรากฎอยู่ในไตรภูมิ กล่าวว่าทะเลนี้ล้อมรอบเขาพระสุเมรุอยู่ โดยที่เขาสัตบริภัณฑ์ล้อมรอบอยู่อีกทีหนึ่ง
เขาสัตบริภัณฑ์ คือหมู่เขาทั้ง 7 ซึ่งกล่าวว่าเป็นภูเขาที่มีรูปเป็นวงกลมล้อมรอบห้วงสมุทรสีทันดรอยู่ถึงเจ็ดชั้น คือ ภูเขายุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัส เนมินธร วินตกะ และ อัสกัณ
ชื่อของทะเลสีทันดรนี้มีกล่าวถึงอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่อง กล่าวถึงลักษณะของน้ำในทะเลสีทันดรว่าใสสะอาด ซึ่งลักษณะของทะเลหรือที่ตั้งดูคล้ายกันกบแชมบาราหรือนิรวนาอันเป็นสวรรค์ที่อยู่บนพื้นดิน ซึ่งกล่าวว่ามีภูเขาล้อมรอบอยู่ถึงสองชั้น มีทะเลสาบล้อมอาณาจักรทั้ง 8 อันมี รุทระจักริณ เป็นใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ล้วนแล้วไปด้วยทอง ใครได้เข้าไปอยู่แล้วไม่ตาย
เรื่องราวของ อาณาจักรแชมบารา (Shambara) หรือบางแห่งเรียกว่า แชมบาฮารา อันมีกล่าวอยู่ในคัมภีร์สำคัญของธิเบตกล่าวว่าอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยนี้เอง
เรื่องราวของอาณาจักรอันมีน้ำล้อมรอบนี้ เชื่อถือกันมากทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งก็ดูตรงกับตำแหน่งของเขาพระสุเมรุ อันกล่าวว่าเป็นที่อยู่หรือที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นภูเขาที่มองไม่เห็น ถ้าเป็นที่พำนักของพระศิวะดังกล่าวกันแล้ว สีทันดรก็คือทะเลที่อยู่โดยรอบของอาณาจักรพระรุทระหรือพระอิศวรศิวะมหาเทพ ซึ่งก็มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่เห็นได้และมีอยู่จริง ท่ามกลางภูเขาอันมียอดปกคลุมด้วยหิมะล้อมไว้ คือทะเลสาบมานัสโรวา แต่กึ่งกลางของทะเลสาบก็หามีอาณาจักรใดไม่ หรืออาจจะซ่อนอยู่ในอีกมิติหนึ่งก็เป็นได้
แต่ก็มีเรื่องเล่าว่า ผู้ที่เดินทางไปนมัสการไกรลาสยาตราได้มีอะไรที่ดลใจให้ปีนขึ้นไปบนเนินเขาสูงสักลูกหนึ่งใกล้ทะเลสาบมานัส ได้ไปเห็นว่ามีที่ๆหนึ่งเต็มไปด้วยผู้คนและกษัตริย์ เมื่อลงมาแล้วก็เล่าให้ผู้อื่นฟัง พอกลับขึ้นไปอีกครั้งก็ไม่ปรากฎภาพนั้น
จากการนับถือพระเป็นเจ้านี่แหละครับ จึงได้มีผู้เชื่อว่าถ้าได้ตั้งความเพียร บูชาพระผู้เป็นเจ้าจนพระองค์พอพระทัยแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จลงมาประทานพร จึงเกิดมีผู้บำเพ็ญตบะตั้งความเพียร บูชาพระเป็นเจ้ากันขึ้นมากมาย
ขอขอบพระคุณ : หนังสือ INDIA ความเร้นลับของปฐพีชมพูทวีป
เขียนโดย : ทีมงานต่วย'ตูน / ราคาเล่มละ 250 บาท
สำนักพิมพ์ : พี.วาทิน พับลิเคชั่น


อินเดีย..ต้นธารแห่งอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ ที่หลั่งไหลไปสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชีย ร่วมติดตามค้นหารากเหง้าแห่งความเป็นภรตวรรษ ศูนย์กลางการก่อเกิดศาสนา ภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรมหลายหลาก อันนำมาซึ่งวิถีที่แตกต่างของผู้คนนานาเชื้อชาติบนผืนแผ่นดินเดียว

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง