ประวัติศาสตร์พฤติกรรมล้มล้างพระธรรมวินัย

กรณีการ "สั่งเปลี่ยนสีจีวร" ถือว่าเป็นเรื่องรุนแรงระดับ "กระทบพระธรรมวินัย" และใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต และไม่สามารถกระทำได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ พูดง่ายๆ ว่า ถึงออกกฎหมายมาก็ไม่มีผล เพราะ พรบ.คณะสงฆ์ระบุไว้ชัดเจนว่า "มหาเถรสมาคม หรือสมเด็จพระสังฆราช จะออกกฎ ระเบียบ คำสั่ง ที่ขัดหรือแย้งต่อพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง มิได้" ดังนั้น การที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีบัญชาให้พระสงฆ์ในเขตหนเหนือซึ่งอยู่ในการปกครองของตนเอง ให้เปลี่ยนสีจีวรเหมือนกันทุกวัดและทุกรูปนั้น ถือว่าสั่งการขัดแย้งกับ พรบ.คณะสงฆ์เสียเอง ถ้าจะเอาเรื่องถึงโรงถึงศาลก็ได้ แต่เมื่อไม่มีการบังคับอย่างเข้มงวดเหมือนกรณีอื่นๆ ก็จึงไม่มีปฏิกิริยาอะไรที่รุนแรง แต่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ก็ได้กระทำการที่ "กระทบต่อพระธรรมวินัย"ไปแล้ว ผลงานของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์แล้ว และประวัติศาสตร์นี่แหละที่..ไม่สามารถลบได้

พอตำแหน่ง "เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ" ว่าง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้เสนอให้"พระวิสุทธิวงศาจารย์" (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) เจ้าคณะภาค 7 ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน เหมือนเมื่อคราวที่ตนเองได้เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ก็ยกเก้าอี้เจ้าคณะภาค 7ให้แก่เจ้าคุณวิเชียร แบบว่าเลื่อนกันขึ้นกินตำแหน่งและรักษาอำนาจไว้แต่เฉพาะภายในวัดปากน้ำเท่านั้น ซึ่งถือว่าน่าเกลียดแล้ว เพราะไม่เปิดกว้างให้พระเถรานุเถระผู้มีสติปัญญารูปอื่นๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองคณะสงฆ์เลย และต่อมา พระวิสุทธิวงศาจารย์ ก็เสนอให้ "พระพรหมเสนาบดี" (พิมพ์ ญาณวีโร ป.ธ.7) วัดปทุมคงคา ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 7

ปัญหาสำหรับเจ้าคุณวิเชียรและเจ้าคุณพิมพ์นั้น มิใช่อยู่ที่ "ความรู้ความสามารถ"เพราะเป็นถึงเปรียญเอก อายุพรรษาก็ปูนเถระ แต่ปัญหานั้นอยู่ที่ "มิใช่พระในท้องถิ่น"คือมิใช่คนในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน หากแต่เจ้าคุณวิเชียร เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนเจ้าคุณพิมพ์นั้นเป็นคนจังหวัดสมุทรสาคร กรณีนี้มีความหมายว่า เป็นการแต่งตั้งจากส่วนกลาง ใช้คนภาคอื่นไปปกครองพระสงฆ์ในต่างจังหวัด หากมองโดยผิวเผินก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วถือว่า เสียหายมาก เพราะ

1. พระต่างถิ่น ไม่รู้ไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ พูดง่ายๆ ว่า "อู้คำเมืองไม่ได้แม้แต่คำเดียว" หรือได้ก็ปะล่อมปะแล่ม ฟังแปร่งๆ หู ไปอยู่ปกครองบ้านเมืองเหนือ ก็ทำให้เสียหาย ถึงไม่ทำลายก็ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ

2. ทำให้เห็นว่า พระในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ไม่มีความรู้ความสามารถจะปกครองตัวเองได้ จึงต้องแต่งตั้งคนในภาคอื่นมาปกครอง ทำนองกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจากส่วนกลางไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย

3. ทั้งสองประการข้างต้นนี้ ชี้ให้เห็นด้วยว่า"วัดปากน้ำล้มเหลว" ในการปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ ซึ่งแต่เดิมมานั้นยังอิงอาศัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ถึงจะผลัดเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยนานหลายสิบปี และวัดปากน้ำก็ได้เข้าไปมีอำนาจปกครองภาคเหนือนานหลายสิบปีเช่นกันนั้น ถึงปัจจุบันยังวางมือไม่ได้ ต้องควบคุมอำนาจไว้ในวัดปากน้ำต่อไป เพราะหากจะให้เห็นว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์และพระวัดปากน้ำเก่งจริง ก็ต้องทำให้ผู้คนเขาเห็นว่า สามารถปล่อยมือจากคณะสงฆ์หนเหนือ ให้พระสงฆ์ในหนเหนือปกครองดูแลกันเอง มิใช่ว่าผ่านไปร้อยปี ก็ยังต้องสั่งงานจากวัดปากน้ำ หรือมีอะไรก็ต้องวิ่งเข้าวัดปากน้ำ เหมือนดามขาไว้ไม่ให้วิ่งได้จนโต ซึ่งความจริงแล้ว พระสงฆ์ในเขตหนเหนือหลายรูปก็มีความรู้ความสามารถ "ทัดเทียม" หรืออาจจะมากกว่าพระวัดปากน้ำด้วยซ้ำไป แต่เพราะความ "หวงอำนาจ" ของวัดปากน้ำ จึงกระทำการไปดังกล่าว กรณีเจ้าคณะใหญ่หนใต้ แสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่า พระสงฆ์ส่วนกลาง จะรับเฉพาะตำแหน่งที่ไม่มีปัญหา หากตำแหน่งใดมีปัญหา ก็จะโยนให้พระในทิ้งถิ่นรับไป ไม่กล้าสู้

ต่อมา เมื่อพระวิสุทธิวงศาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เสนอต่อมหาเถรสมาคม ให้พระปิฎกโกศล (นิกร มโนกโร ป.ธ.9) ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 7 ก็ยิ่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาดว่า วัดปากน้ำบ้าอำนาจ

เพราะพระมหานิกรนั้นเป็นเพียงพระราชาคณะชั้นสามัญ อายุพรรษายังน้อย ไม่อยู่ในท้องถิ่น แถมเป็นเพียง "เลขานุการเจ้าคณะภาค 7" จึงไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 7 ซึ่งต้องปกครองจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นจังหวัดใหญ่อันดับสองของประเทศไทย ซึ่งรองเจ้าคณะภาคในเขต 7 นั้น ควรจะมีสมณศักดิ์ชั้นราชขึ้นไป และอายุพรรษาก็ควรพ้น 60 ด้วย จึงจะเหมาะสม เพราะจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน มิใช่โรงเรียนฝึกงานของใคร จะได้ให้เด็กๆ ที่ไหนก็ได้มาเป็นเจ้าเป็นนาย ลองผิดลองถูก คนที่คิดและทำเช่นนั้นก็คือคนที่ดูถูกคน

ความจริงแล้ว หากวัดปากน้ำไม่หวงอำนาจและไม่ใจร้อน ก็ควรรอเวลาให้พระมหานิกรโตขึ้นกว่านี้อีกหน่อย เป็นชั้นราชหรือชั้นเทพ มีอายุพรรษามากขึ้น ก็จะลดแรงเสียทานลง แต่ถึงกระนั้น ความเป็นพระต่างถิ่น ไม่อยู่ในพื้นที่ ก็ยังคงเป็นปัญหาหลักในการบริการการปกครองท้องถิ่นอยู่นั่นเอง เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ

สิ่งที่พึงมุ่งหวังตามหลักของนักรัฐประสาสนศาสตร์ก็คือว่า เมื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ลุกจากเก้าอี้เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ก็ควรจะเริ่มต้น "คืนอำนาจให้คณะสงฆ์หนเหนือได้พิจารณาหาผู้นำ" ได้เองแล้ว หรืออีกทางหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ แล้วให้พระวิสุทธิวงศาจารย์ขึ้นเป็นแทน พร้อมกับเลื่อนพระพรหมเสนาบดีขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 7 ก็ควรหยุดประเพณีเก่าๆ ได้แล้ว ควรผลักดันให้พระในเขตภาค 7 เข้ามาต่อแถวเพื่อเริ่มบริหารกันเอง ส่วนเจ้าคุณวิเชียรกับเจ้าคุณพิมพ์นั้นก็ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ การกระจายอำนาจก็จะค่อยเป็นค่อยไป พอพ้นพระพรหมเสนาบดีแล้ว การปกครองทิ้งถิ่นก็มั่นคง ผู้ปกครองส่วนกลางที่เข้าไปช่วยก็ไม่ต้องมีปลิโพธกังวลอะไร เพราะได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ สามารถปล่อยวางได้

แต่วัดปากน้ำกลับยังมีพฤติกรรมสืบทอดอำนาจ จึงยัดชื่อ "พระมหานิกร" เข้ามากินตำแหน่งรองภาค 7 อีก มันตอกย้ำว่าวัดปากน้ำยังมีความคิด "ยึดครอง" คณะสงฆ์ภาค 7 ไว้ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ ถึงบุคคลากรของวัดปากน้ำจะมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนก็ตาม ก็ยัง "ยัดเยียด" ให้พระสงฆ์ในเขตภาค 7 ต้องยอมรับ โดยอาศัยมติมหาเถรสมาคมเป็นยันต์กันผี เหมือนที่เคยทำมา

เรา-อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม จึงขอกราบเรียนไปยังสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  พระวิสุทธิวงศาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และพระพรหมเสนาบดี เจ้าคณะภาค 7 ว่า ขอได้โปรดพิจารณาเสียใหม่ อย่าให้วงจรอุบาทว์มันยืดยาวต่อไปอีกเลย ขอนิมนต์ "ถอนชื่อพระมหานิกร" ออกจากตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 7 เสียเถิด จะสวยงาม ดีกว่ามีคนโห่ไล่ในตอนลงพื้นที่เป็นไหนๆ

เพราะหลวงพ่อทั้งสองก็รู้ดีว่า พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น เจ้าที่แรง ถ้ามิใช่พระผู้ใหญ่และมีบารมีจริงๆ ก็อยู่ยาก เพราะมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ขนาดพระต่างถิ่นไปอยู่ที่นั่นนานหลายสิบปี ยังถูกต่อต้านไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการปกครอง ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอฝางและเจ้าอาวาสวัดสวนดอก เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน ยิ่งการใช้ "บารมีส่วนตัว" ของหลวงพ่อวิเชียร ไปอุ้มมหานิกรเอาไว้ ก็ยิ่งอันตราย เพราะนอกจากจะอุ้มไม่ได้แล้ว ความเสียหายน่าจะจำกัดอยู่เฉพาะที่"มหานิกร" ก็ลามปามไปถึงพระผู้ใหญ่ และอาจจะถึงกับ "ต่อต้านวัดปากน้ำ" ได้ ในอนาคต อย่าคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้

ทางออกที่สวยงามนั้นมีแน่ คือว่า ถ้าวัดปากน้ำมั่นใจว่ามีบุคคลากรเหมาะสมสำหรับการปกครองในเขต 7 ก็ขอให้ "ส่งตัว"เข้าไปอยู่ประจำในสามจังหวัดเหล่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าเต็มใจในการเป็นคนเหนืออย่างแท้จริง ยิ่งได้พระจากสามจังหวัดที่เข้ามาศึกษาที่วัดปากน้ำแล้วส่งกลับไปประจำในเชียงใหม่-ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ก็จะยิ่งดี เพราะแสดงถึงความเสียสละ แต่ขออย่าได้ทำแบบมหานิกรนี่อีกเลย มันไม่สวย บอกแล้วไงว่า

"คณะสงฆ์ภาค 7 มิใช่โรงเรียนฝึกงาน หรือบันไดไต่เต้าทางการเมืองของใคร"

ะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม 
11 เมษายน 2558

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ