ประวัติศาสตร์ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม” ที่ยิ่งใหญ่

“7 พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม” ณ อุทยานราชภักดิ์ บนเนื้อที่ 222 ไร่ ภายในพื้นที่ของกองทัพบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามภูมิทัศน์ที่เป็นมงคล...

“หลังติดเขา หน้าติดทะเล”…เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวที่เข้ามากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล และระลึกถึงพระมหากษัตริย์แห่งสยามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช , สมเด็จพระนเรศวรมหาราช , สมเด็จพระนารายณ์มหาราช , สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช , พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ ทั้งในยามรบและยามสงบ

“พล.ท.สุทัศน์ จารุมณี” ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ มองว่า “อุทยานราชภักดิ์” เปรียบเหมือน “ไอคอน” ที่ส่งข้อมูลไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์ บ่งบอกถึงภูมิหลัง ความเป็นมาของประเทศไทย จนมาถึงปัจจุบันนี้ และจะไปอย่างไรในอนาคต ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่ชาวโลกจะรู้จักประเทศไทยอย่างแท้จริง

“อุทยานราชภักดิ์” ผ่านการออกแบบโดยกรมศิลปากร ที่กำหนดให้พระบรมราชานุสาวรีย์ต้นแบบอยู่ในพระอิริยาบถทรงยืน ความสูงเฉลี่ยไม่เกิน 13.9 เมตร แววพระเนตรสมจริง เหมือนมีชีวิต เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองยุคนั้นๆ ส่วนพระพักตร์บ่งบอกพระชนมายุ นอกจากนี้กรมศิลปากรได้กำหนดจุดยืนและเล็งกล้องผ่านแนวสมมุติไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยให้สายพระเนตรทั้ง 7 พระองค์ มาบรรจบที่เดียวกัน นั่นเท่ากับว่าใครที่มายืนที่จุดดังกล่าวจะอยู่ในสายพระเนตรของทุกพระองค์

ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ 6 บริษัทเอกชนที่ “ชำนาญ” หล่อด้วยโลหะสำริด โดยทุกขั้นตอนผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เช่น การตกแต่งผิว การขึ้นโครงสร้างเบื้องต้น เป็นต้น ซึ่งกว่าจะได้ “7 พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม” ที่ยิ่งใหญ่ ต้องผ่านกระบวนการที่ “ละเอียด” ในทุกขั้นตอน และแต่ละพระองค์มีความ “ยาก” ต่างกันออกไป!!!

“ชำนาญ ปฏิมากรรม” เจ้าของโรงหล่อ ซ.ปฏิมากรรม อินดัสตรี จ.นครปฐม ซึ่งรับหน้าที่จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ยอมรับว่า องค์ประกอบทุกส่วนมีความยาก เพราะมีขนาดใหญ่ น้ำหนัก 26 ตัน เขาเลือกใช้วัสดุเป็นเนื้อบรอนซ์นอก หล่อออกมาเป็นชิ้นงานเล็กๆคล้าย “จิ๊กซอว์” ก่อนประกอบเป็นตัวพระองค์ท่าน

“ส่วนที่ยากที่สุด คือ พระพักตร์ ที่ต้องแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ เพราะท่านทรงเป็นนักประดิษฐ์ตัวอักษรไทย และยังทรงเป็นนักวางแผนการรบ เราจึงต้องศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เข้าถึงความรู้สึกของพระองค์ท่านในขณะนั้น”  

ส่วน “ถวัลย์ เมืองช้าง” เจ้าของโรงหล่อ เอเชีย ไฟน์อาร์ท จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้ควบคุมการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” กล่าวว่า วัสดุในการหล่อเป็นสำริดนำเข้าจากออสเตรเลียที่โรงงานใช้มากว่า 30 ปีแล้ว โดยเขาเลือกใช้เทคนิคตัดเป็น “จิ๊กซอว์” เช่นกัน ทุกขั้นตอนต้องดำเนินการด้วยความ “ละเอียด” ผิวเนื้อต้อง “เนียน” เป็นเนื้อเดียว ใช้มือลูบไม่สะดุด แต่สิ่งที่เน้นมากที่สุด คือ “พระพักตร์” และ “แววพระเนตร” ที่ต้องดูสมจริง ได้อารมณ์

“ถวัลย์” ระบุว่า เขาได้จำลองเหตุการณ์ช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่กลางสนามรบกับพม่า ขณะที่พระองค์ท่านสั่งให้ทหารที่อยู่แนวหน้าบุกโจมตีข้าศึก การจับพระแสงทวนมีลักษณะแม่นยำ เหนียวแน่น มั่นคง 2 พระบาทจิกแน่นบนพื้นพสุธา แววพระเนตรขึงขัง ได้อารมณ์ คิ้วสองข้างขมวดเป็นปม พระพักตร์ย่น เหมือนจะบอกถึงข้าศึกเป็นนัยๆว่า...
“เข้ามาสิ เข้ามา”!!!

ส่วน “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ความยากอยู่ตรงที่ลวดลาย “ฉลองพระองค์” ที่พระภูษาเป็นผ้าไหมลายไทย ตรงนี้ค่อนข้างละเอียด ขั้นตอนนี้เขาเลือกใช้วิธี “แกะและปั้น” เพื่อเก็บรายละเอียดให้ครบถ้วน ส่วนพระพักตร์ไม่ยากเพราะเป็นอิริยาบถสบายๆ โดยจำลองเหตุการณ์ช่วงพระองค์ท่านได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งดาราศาสตร์ไทย”

ขณะที่ “กมลนันท์ สังเกต” เจ้าของโรงหล่อ ร๊อคคลา ไฟน์อาร์ท จ.ลพบุรี ที่คร่ำหวอดงานด้านพิพิธภัณฑ์ในแถบยุโรปมากว่า 20 ปี ตัดสินใจทิ้งงานจากต่างประเทศ เมื่อรู้ว่าโรงหล่อของเธอได้รับเลือกให้ หล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” โดยเธอเลือกใช้สำริดจากเยอรมัน หล่อให้หนา 10-18 มิลลิเมตร พระองค์ท่านจึงค่อนข้างหนากว่าทุกพระองค์

“พระองค์ท่านมีความยากตรงเครื่องทรงที่มีลักษณะพิเศษ เช่น พระมงกุฎจะสูงมาก โดยปกติของพระองค์อื่นจะสูงแค่ 13.50 เมตร แต่ของพระองค์ท่านเมื่อรวมเครื่องทรงแล้วอยู่ที่ 19.90 เมตร”

ด้าน “อเนก หงส์มณี” เจ้าของโรงหล่อ ปฎิมา ไฟน์อาร์ท(พุทธรังสี) จ.ปทุมธานี ที่แม้จะผ่านงานหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” มาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เขายอมรับว่า “หิน” โดยเขาเลือกใช้โลหะสำริดจากออสเตรเลีย หล่อเป็นชิ้นงานขนาดใหญ่ และนำมาประกอบเข้าด้วยกัน ทุกชิ้นมีความยากเท่ากันหมด เพราะต้องรักษารายละเอียดให้ตรงตามต้นแบบอย่างครบถ้วนที่สุด ทั้งอารมณ์ พระพักตร์ และลักษณะการยืน

“ยากที่สุด คือ การเชื่อมต่อส่วนที่ข้อพระหัตถ์ พระแสงดาบ ฝักดาบ ต้องให้ได้จังหวะตามที่ปฎิมากรออกแบบไว้ ซึ่งพอเป็นของใหญ่จะประกอบยาก กว่าจะได้มุมและองศาที่ดีต้องใช้เวลาพอสมควร”

ส่วน “รุ่งทิพย์ ทองศรี” เจ้าของโรงหล่อ พุทธปฏิมา พรหมรังสี จ.ปทุมธานี กล่าวว่า เธอใช้โลหะบรอนซ์ คือ โลหะที่เป็นส่วนผสมของทองแดง รวมถึงดีบุกกับซินิคอลผสมกัน ซึ่งนำเข้ามาจากออสเตรเลีย เพื่อหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ความยากอยู่ที่ความสูงเกือบ 17 เมตร อีกทั้ง “เครื่องทรง” ของพระองค์ที่มีความละเอียด ตั้งแต่งานปั้นตั้งต้นแบบ งานขัดแต่ง และต้องเก็บรายละเอียดเรื่องอารมณ์ให้เหมือนงานที่ออกแบบไว้

ณ “อุทยานราชภักดิ์” วันนี้ เจ้าหน้าที่ต่างเร่งช่วยกันแต่งองค์ และเก็บรายละเอียด “7 พระบรมราชานุสาวรีย์” ให้สวยงามและสมบูรณ์ที่สุด เพื่อรองรับงานสำคัญ “พิธีบวงสรวงและมหามังคลาภิเษกพระบรมราชานุสาวรีย์” ที่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาเป็นประธานในวันพุธที่ 19 สิงหาคม นี้ ณ มณฑลพิธีอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์แห่งแรก” ที่ประเทศไทยสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนยกย่อง และประกาศเกียรติคุณองค์พระมหากษัตริย์ไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลก และอนุชนรุ่นหลังสืบไป

จิตตราภรณ์ เสนวงค์
SCOOP@NAEWNA.COM

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ