#ประวัติศาสตร์วัดช้างให้

ประวัติความเป็นมา
                          วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม หรือวัดราษฎร์บูรณะ หรือวัดช้างให้ ตั้งอยู่ที่ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธ์ิ จังหวัดปัตตานี เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ถ้าหากจะถือตามประวัติตำนานเมืองปัตตานีก็คงจะสร้างมาหลายร้อยปีแล้ว แต่จะสร้างมาเมื่อใดและใครเป็นคนสร้างก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่จากหลักฐานที่ปรากฎทำให้ทราบว่าเป็นวัดร้างและถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลานาน ซึ่งตรงกับการบอกกล่าวของคนเฒ่าคนแก่ก็ทราบว่าเป็นวัดร้างมาก่อน และมีสิ่งที่หลักฐานที่ปรากฏแสดงให้แน่ใจว่าเคยเป็นวัดมาก่อน คือศิลาก้อนใหญ่ปักอยู่ ๔ ทิศในท่ามกลางวัดร้าง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องหมายลูกนิมิตบอกให้รู้ว่าที่ตรงนี้เป็นเขตพัทธสีมาและอุโบสถเก่า โดยใช้เครื่องหมายคือศิลาเป็นิมิตก็ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ ยังไม่มีผู้ใดกล้าทำลายหรือรื้อถอนแต่อย่างใด ในส่วนของสถูปศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตพัทธสีมาที่ชาวบ้านเรียกว่า "เขื่อนหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" หรือ "เขื่อนท่านเหยียบน้ำทะเลจืด" (คำว่าเขื่อนเป็นภาษาคนพื้นเมืองทางภาคใต้ หมายถึงสถูปที่บรรจุอัฐิของผู้มีบุญ) ก็มีมาก่อนแล้วซึ่งสถูปแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดปัตตานีและใกล้เคียง มีผู้คนไปกราบไหว้บนบานอยู่เนืองนิจใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือวัตถุสิ่งของถูกขโมย หรือศูนย์หายก็พากันไปบนบาน ณ ที่สถูปแห่งนี้
                             ในส่วนของประวัติวัดตามหนังสือตำนานเมืองปัตตานีซึ่งพระศรีบุรีรัฐพิพิธ (สิทธิ์ ณ สงขลา) ได้รวบรวมไว้ว่า ... สมัยนั้นพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรี ปรารถนาจะหาที่ชัยภูมิที่ดีสร้างเมืองให้ เจ๊ะสิตี ผู้เป็นน้องสาวครอบครอง เมื่อโหรหาฤกษ์ยามได้เวลาท่านเจ้าเมือง ก็เสี่ยงสัตย์อธิษฐานปล่อยช้างตัวสำคัญคู่บ้านคู่เมืองออกเดินป่าหรือเรียกว่าช้างอุปการเพื่อหาชัยภูมิดีสร้างเมืองเจ้าเมือง ก็ยกพลบริวารเดินตามหลังช้างนั้นไปเป็นเวลาหลายวัน วันหนึ่งช้างได้เดินหยุดอยู่ ณ ที่ป่าแห่งหนึ่ง (บริเวณวัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม) แล้วเดินวนเวียนร้องขึ้น ๓ ครั้ง พระยาแก้มดำถือเป็นนิมิตที่ดีที่จะสร้างเมือง ณ ที่ตรงนี้ แต่เมื่อน้องสาวตรวจดูแล้วก็ไม่พอใจ ท่านเจ้าเมืองก็อธิษฐานให้ช้างเดินหาที่ใหม่ต่อไป ช้างได้เดินรอนแรมอีกหลายวันเวลาตกเย็นวันหนึ่งก็หยุดพักพลบริวาร ทางน้องสาวถือโอกาสออกจากที่พักเดินเล่น บังเอิญขณะนั้นมีกระจงสีขาวผ่องตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้านางไป นางอยากได้กระจงตัวขาวตัวนั้นจึงชวนพวกพี่เลี้ยงวิ่งไล่ล้อมจับกระจง กระจงได้วิ่งวกไปวนมาบนเนินทรายขาวสะอาดริมทะเล (ในปัจจุบันคือบริเวณตำบลกรือเซะ) ทันใดนั้นกระจงก็หายไป นางเจ๊ะสิตีรู้สึกชอบที่ตรงนี้มากจึงขอให้พี่ชายสร้างเมืองให้ เมื่อพระยาแก้มดำปลูกสร้างเมืองให้น้องสาวและมอบพลบริวารให้ไว้พอสมควรเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ชื่อเมืองนี้ว่าเมืองปะตานี (ปัตตานี) ในขณะพระยาแก้มดำเดินทางกลับมาถึงภูมิประเทศผ่านบริเวณ ที่ช้างบอกให้แต่ครั้งแรกก็รู้สึกเสียดายสถานที่ จึงตกลงใจหยุดพักแรมทำการแผ้วถางป่า และสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นเป็นวัดให้ชื่อว่า “วัดช้างให้” หลังจากสร้างวัดเรียบร้อยแล้ว พระยาแก้มดำก็ได้กราบนิมนต์สมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) หรือที่ชาวไทรบุรีเรียกว่า "ท่านลังกา" ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่เมืองไทรบุรีมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด)หรือท่านลังกามาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว แต่ท่านก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดช้างให้กับเมืองไทรบุรี แต่ท่านก็ได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ไว้ว่า ....ถ้าท่านมรณภาพลงเมื่อใดก็ให้นำสรีระของท่านกลับมาฌาปนกิจที่วัดช้างให้...  ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) มรณภาพลูกศิษย์ก็ได้นำสรีระของท่านกลับมาที่วัดช้างให้เพื่อฌาปนกิจเสร็จแล้ว ก็ฝังอัฐิของท่านไว้ที่วัดช้างให้ อีกส่วนหนึ่งนำกลับไปฝังไว้ที่เมืองไทรบุรี (รัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย) หลังจากกาลมรณภาพของสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) วัดช้างให้ก็ทรุดโทรมและเสี่อมลงเพราะไม่มีพระอยู่จำพรรษาจนกลายสภาพเป็นวัดร้าง อยู่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พระครูมนูญสมณการ วัดพลานุภาพ ได้ชักชวนชาวบ้านเข้าไปพัฒนาวัดช้างให้เพื่อให้สะดวกกับการที่พระจำพรรษา โดยทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ และสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้น โดยให้พระช่วง พร้อมพระอนุจร มาอยู่จำพรรษาในปีนั้น เมื่อพระช่วงมาอยู่ก็ได้ดำเนินการสร้างถาวรวัตถุเพิ่มขึ้นประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง และกุฏิ ๓ หลัง อยู่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระช่วงได้ลาสิกขา ทำให้วัดช้างใหขาดเจ้าอาวาสและผู้นำลงอีกช่วงหนึ่ง  นายบุญจันทร์ อินทกาศ (กำนันตำบลป่าไร่ในขณะนั้น) พร้อมด้วยชาวบ้านได้พากันไปหาพระครูภัทรกรณ์โกวิท (พระอธิการแดง ธมฺมโชโต) เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับวัดช้างให้  โดยขอให้ท่านจัดพระที่มีอายุพรรษาพอสมควรไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านจึงได้ขอให้พระทิม ธมฺมธโร หรือพระครูวิสัยโสภณ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างตามที่ชาวบ้านขอ พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  ตอนที่ท่านมาอยู่วัดช้างให้ในช่วงแรก ๆ ท่านก็ไป ๆ มา ๆ กับวัดนาประดู่ เพราะกลางวันต้องกลับไปสอนนักธรรมพระภิกษุสามเณร เมื่อท่านมาอยู่วัดช้างให้ได้ประมาณ ๕-๖ เดือน ก็เกิดสงครามมหาบูรพาทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี เพื่อผ่านไปประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ จนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเวลาต่อ รถไฟสายใต้ที่วิ่งจากหาดใหญ่ไปสถานีสุไหงโก-ลก ทหารญี่ปุ่นขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลาย ๆ เที่ยว ทำให้ชาวบ้านพากันแตกตื่นและหวาดกลัวภัยสงครามไม่เป็นอันทำมาหากิน ในขณะนั้นวัดช้างให้ก็อยู่ในสภาพเดิมยังมิได้บูรณะจัดการก่อสร้างสิ่งใดเพิ่มเติม สภาพพื้นที่ของวัดช้างให้ซึ่งตั้งติดอยู่กับทางรถไฟ เพื่อผ่านไปยังจังหวัดยะลา นราธิวาส และชายแดนมาเลเซีย พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ต้องรับภาระหนักต้องจัดหาที่พักหาและอาหารมาเลี้ยงดูผู้คนที่มาขอพักอาศัยพักแรม ในระหว่างเดินทางไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง พระระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) ก็ได้เริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างถาวรวัตถุในวัด อาทิ ศาลาการเปรียญ อุโบสถ หอฉัน หอระฆัง ตลอดถึงสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทวด สถูปที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด กำแพงวัด ซื้อที่ดินขยายอาณาเขตของวัดไปทางทิศตะวันตก และซื้อที่ดินตรงข้ามกับวัดซึ่งตั้งอยู่คนละฟากทางรถไฟ จนวัดช้างให้เจริญวัฒนาจากวัดร้างที่ไร้พระภิกษุจำพรรษากลายเป็นวัดที่คนทั่วโลกต่างรู้จักดั่งเช่นปัจจุบัน วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๐ ตามพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๔ ตอน ๑๕ หน้า ๔๕๑-๒๕๒ เขตวิสุงคามสีมา ยาว ๘๐ เมตร กว้าง ๔๐ เมตร 

โบราณสถาน/โบราณวัตถุ
สถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
                              สถูปหรือมณฑปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด เป็นสถูปศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตพัทธสีมาที่ชาวบ้านเรียกว่า "เขื่อนหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" หรือ "เขื่อนท่านเหยียบน้ำทะเลจืด" (คำว่าเขื่อนเป็นภาษาคนพื้นเมืองทางภาคใต้ หมายถึงสถูปที่บรรจุอัฐิของผู้มีบุญ) ซึ่งมีมาก่อนแล้วซึ่งสถูปแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดปัตตานีและใกล้เคียง มีผู้คนไปกราบไหว้บนบานอยู่เนืองนิจใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือวัตถุสิ่งของถูกขโมย หรือศูนย์หายก็พากันไปบนบาน ณ ที่สถูปแห่งนี้ สำหรับสถูปหรือมณฑปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด องค์ปัจจุบันที่เห็ฯนี้ พระครูวิสัยโสภณ  (ทิม ธมฺมธโร) และพระครูธรรมกิจโกศล (พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว) ได้ปรึกษาหารือกันและตกลงให้รื้อและขุดของเก่าขึ้นมาเพื่อสร้างใหม่ แต่เมื่อทำการขุดลงไปก็ได้พบกับหม้อทองเหลืองที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดซึ่งห่ออยู่ในผ้า สภาพของหม้อทองเหลืองนั้นเริ่มผุพังไปเท่ากาลเวลา ทำให้ใครไม่มีใครกล้าแตะหรือเอามือจับต้อง เพราะต้องการรักษาสภาพเดิมเอาไว้  จึงมีมติว่าให้สร้างสถูปสวมครอบลงบนสถูปเดิมเหมือนดังเช่นในปัจจุบัน สำหรับมณฑปหรือสถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ทวด คั้งอยู่ด้านหน้าของวัด ติดกับทางรถไฟ ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนมีลวดลายสวยงาม ประดับด้วยสีทองเหลืองอร่ามสวยงาม ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป  มณฑปหรือสถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดมีรูปปั้นช้างหันหน้าเข้าหามณฑป ทั้ง ๒ ข้าง จากประวัติของวัดช้างให้ซึ่งมีหลวงพ่อทวดหรือที่ชาวเมืองเมืองไทรบุรีเรียกว่า "ท่านลังกา" หลวงพ่อทวดช่วงที่เป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านก็ยังเดินไปมาระหว่างวัดช้างให้กับไทรบุรีอยู่เสมอ  และเมื่อหลวงพ่อทวด มรณภาพที่เมืองไทรบุรี ลูกศิษย์ได้นำศพกลับมาที่วัดช้างให้ แต่ในการนำศพกลับมาต้องพักแรมในระหว่างทางเป็นเวลาหลายวัน กว่าจะถึงวัดช้างให้ ในการพักแรมเมื่อตั้งศพ ณ สถานที่ใด ที่นั้นก็จะเอาไม้แก่นปักหมายไว้ทุก ๆ แห่งเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งถึงวัดช้างให้ สถานที่ตั้งศพพักแรมตามระหว่างทางนี้กลายเป็นสถานที่สักการะเคารพของคนในถิ่นนั้น บางแห่งก็ก่อเป็นเจดีย์ไว้ บางแห่งก่อเป็นสถูปไว้ และถือเป็นสถานที่ศํกดิ์สิทธิ์สำคัญ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ พระครูวิสัยโสภณ  (ทิม ธมฺมธโร) และลูกศิษย์ได้เดินทางไปบูชาสถานที่ต่าง ๆ แต่ละแห่งก็มีสภาพเหมือนกันกับสถูปที่วัดช้างให้(เขื่อนท่านลังกา) เมื่อครั้งยังไม่ได้ตบแต่งสร้างขึ้นใหม่ และก็ได้สอบถามชาวบ้านในสถานที่นั้น ๆ ต่างก็บอกเล่าให้ฟังว่าเป็นสถานที่ตั้งศพหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เมื่อนำศพมาพักแรมที่นี้และมีน้ำเหลืองไหลตกลงพื้นดินก็ทำเครื่องหมายไว้บางแห่งก็ก่อเป็นรูปเจดีย์ก็มี บางแห่งมีไม้แก่นปักไว้แล้วพูนดินให้สูงขึ้นถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้ประจำบ้านประจำเมือง บางแห่งเรียกว่า "สถูปลังกา" บางแห่งเรียกว่า "สถูปหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด"
วิหารสมเด็จหลวงพ่อทวด 
                   วิหารสมเด็จหลวงพ่อทวด เป็นวิหารที่ประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่อทอง ซึ่งมีขนาดเท่องค์จริง รูปแบบการก่อสร้างเป็นแบบก่ออิฐถือปูนทรงไทยสวยงาม
รูปหลวงพ่อทวดเท่าองค์จริง
วิหารพระครูวิสัยโสภณ
                          วิหารพระครูวิสัยโสภณ หรือจะเรียกว่าวิหารยอดก็ได้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบอาคารทรงไทยประยุกต์ ฐานบนของวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่และเจดีย์บริวาร หลังคาวิหารประกอบเครื่องยอดชนิดยอดทรงมณฑปแบบไทย ต่อเชื่อมด้วยวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างต่อเชื่อมด้วยอาคารรูปทรงอย่างเดียวกันกับพระวิหารเป็นอาคารมุจเด็จเมื่อประกอบกันเข้าแล้วจะเป็นอาคารมีหลังคาแบบจตุรมุข 
พระอุโบสถ
                                   พระอุโบสถของวัดช้างให้หลังปัจจุบันตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ลักษณะของพระอุโบสถหลังนี้ เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น ๓ ชั้น ซ้อนกันชั้นละ ๓ ตับ มีมุขลดทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละ ๑ ห้อง โดยมีเสาสี่เหลี่ยม ๔ ต้น รองรับโครงหลังคา ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษาประธานภาพตรงกลางเป็นพระอิศวรทรงช้างเอราวัณด้านล่างจารึกตัวเลข ๒๔๙๙  อีกด้านเป็นรูปพระพญาครุฑ ฐานพระอุโบสถยกพื้น ๒ ชั้น ชั้นแรกอยู่ในแนวเดียวกับเสารองรับชายคา ตามตำนานเล่าว่าวัดช้างให้ตั้งขึ้นเมื่อ ๓๐๐ ปีมาแล้ว มีตำนานเล่าว่าพระยาแก้มดำเจ้าเมืองไทรบุรีได้เสาะหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาวจึงได้ปล่อยให้ช้างเสี่ยงทายออกเดินทางไปในป่า ช้างอุปการเสี่ยงทาย ได้มาหยุดลงที่แห่งหนึ่งหลังจากรอนแรมมาหลายวันแล้วเปล่งเสียงร้องขึ้นสามครั้ง  พระยาแก้มดำจึงเห็นเป็นศุภนิมิตและคิดว่าจะใช้บริเวณนั้นสร้างเมืองให้ แต่น้องสาวของพระยาแก้มดำกลับไม่ชอบ  พระยาแก้มดำจึงให้สร้างวัดขึ้นบริเวณนี้แทนแล้วตั้งชื่อว่าวัดช้างให้ แล้วจึงนิมนต์ท่านลังกาหรือที่รู้จักกันดีว่าหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ในอดีตวัดช้างให้นั้นกลายเป็นวัดร้างอยู่หลายครั้งจนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เจ้าคณะตำบลทุ่งพลาได้มอบหมายพระช่วงมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้  ท่านจึงได้ชักชวนชาวบ้านมาแผ้วถางผ่าสร้างกุฏิ  ศาลาการเปรียญพร้อมเสนาสนะอื่น ๆ  และเรียกชื่อว่าวัดราษฎร์บูรณะ  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔  พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร)  เจ้าอาวาส รูปที่ ๕ ได้ทำการบูรณะวัด และได้สร้างพระอุโบสถหลังนี้ขึ้นแทนหลังเก่าที่ทรุดโทรมเหลือเพียงเนินดินเท่านั้น ท่านได้กำหนดวางศิลาฤกษ์อันเป็นรากฐานของอุโบสถแห่งใหม่ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๙๕ แล้วขุดดินลงรากก่อกำแพงหน้าอุโบสถสืบต่อมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ งานก่อสร้างสำเร็จลงเพียงแค่กำแพงอุโบสถโดยรอบเท่านั้นงานก่อสร้างหยุดชะงักลง เพราะหมดทุนที่จะใช้จะจ่ายต่อไป มีการเล่ากันว่าครั้งนั้นหลวงพ่อทวดได้เข้าฝันเป็นนิมิตให้สร้างพระเครื่องเป็นรูปภิกษุชราขึ้นแทนองค์ท่าน และหลังจากพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) นิมิตว่าได้พบกับหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเล วันหนึ่งท่านได้เก็บเอาก้นเทียนที่ตกอยู่ริมเขื่อน (สถูป) มาคลึงเป็นลูกอมแล้วแจกจ่ายให้กับเด็กวัดไป เมื่อเด็กได้อมลูกอมสีผึ้งนี้ไว้ในปากแล้วนึกสนุกก็ลองแทงฟันกันด้วยมีดพร้าหรือของมีคม แต่เป็นที่อัศจรรย์คือแทงฟันกันไม่เข้า จนเรื่องทราบพระครูวิสัยโสภณ  (ทิม ธมฺมธโร) ท่านก็ตกใจเพราะเกรงเป็นอันตรายกับเด็กจึงเรียกเด็กมาอบรมสั่งสอนห้ามไม่ให้ทดลองกันต่อไป และก็เป็นที่มาของพระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นแรกที่ออกมาในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. ๒๔๙๗  เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปจนมีผู้ศรัทธาร่วมสร้างพระอุโบสถจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ จนเป็นที่มาของการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดที่ได้รับความศรัทธา และความนิยมเป็นอย่างสูงในปัจจุบัน       
หอระฆัง
ภาพสืบค้นจาก :  https://pantip.com/topic/37676042
                              หอระฆังของวัดช้างให้ ประดิษฐานอยู่ ๒ จุดคือบริเวณข้างพระอุโบสถ และสำนักงานมูลนิธิสมเด็จหลงพ่อทวดและพระครูวิสัยโสภณ

ปูชนียบุคคล
                           ตำนานที่เล่าขานสืบต่อมาจากคนเฒ่าคนแก่บอกว่าวัดช้างให้หมายความว่าที่ดินวัดนี้ช้างบอกให้ เป็นวัดโบราณแห่งหนึ่ง มีอายุประมาณ ๓๐๐ กว่าปี มีลำดับเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้คือ
๑. สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด (ไม่สามารถระบุปีได้)
๒. พระช่วง (๒๔๘๐-๒๔๘๓)
๓. พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) (๒๔๘๓-๒๕๑๒)
๔. พระครูใบฎีกาขาว ธมฺมรกฺขิโต (๒๕๑๓-๒๕๒๑)
๕. พระไพศาลสิริวัฒน์ (สวัสดิ์ อรุโณ) (๒๕๒๑-๒๕๔๓)
๖. พระสุนทรปริยัติวิธาน (สายันต์ จนฺทสโร) (๒๕๔๓-ปัจจุบัน
สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
                               สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงพ่อทวด เป็นที่รู้จักของชาวไทยทุกภูมิภาค ในฐานะพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิ ปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้าจนได้สมญาว่า “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ประวัติอันพิสดารของท่านมีเล่าสืบกันมาไม่รู้จบสิ้นยิ่งนานวันยิ่งซับซ้อนและขยายวงกว้างออกไป กลายเป็นความเชื่อความศรัทธาอย่างฝังใจ หลวงพ่อทวดเป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ย ของเศรษฐีชื่อปาน เกิดในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๑๒๕ ณ บ้านสวนจันทร์ (บ้านเลียบ) ตำบลดีหลวง (ปัจจุบันเป็นตำบลชุมพล)  อำเภอสทิงพระ (จะทิ้งพระ) จังหวัดสงขลา ตอนเยาว์วัยมีชื่อว่าปู ขณะท่านเกิดมีเหตุอัศจรรย์คือเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนหนึ่งว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้วนายหูบิดาของท่าน ก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ (เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบในปัจจุบัน) เมื่อท่านเกิดมาแล้วก็มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นกับท่านเรื่อยมา เช่น ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาของท่านต้องออกไป เกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ซึ่งท้องนาแห่งนั้นห่างจากบ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร ที่นาแห่งนั้นมีดงตาลและมะเม่าเป็นจำนวนมาก (ปัจจุบันตั้งเป็นสำนักสงฆ์นาเปล) ในสมัยนั้นมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลไว้กับต้นมะเม่าสองต้นและก็ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น พอถึงเวลาที่มารดาของท่านจะมาให้นม ก็ได้เห็นงูจงอางตัวใหญ่หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกันพันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมากจึงเรียกนายหูซึ่งอยู่ไม่ไกลนักมาดูและช่วยไล่งูจงอางนั้น แต่งูจงอางตัวนั้นก็ไม่ไปไหน นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่านายหูและนางจันทร์ จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใด ๆ และปรากฏว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปูนั้น เมือกแก้วนั้นปรากฎมีแสงแวววาว และต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว (ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ) เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องเข้าก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอาจากนายหูและนางจันทร์ บิดามารดาของท่านจึงจำต้องยอมให้ลูกแก้วนั้นแก่เศรษฐีปานซึ่งเป็นนายเงิน แต่ลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิประจำตัวท่าน เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วก็เกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกัน บ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปูและยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสและต่อมาก็มีฐานะดีขึ้น ๆ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิมเมื่อท่านมีอายุได้ ๗ ขวบ (ปี พ.ศ. ๒๑๓๒) บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือที่วัดกุฎ๊หลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านขณะนั้นมีท่านสมภารจวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้ อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านให้เป็นลูกแก้วประจำตัวท่าน ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดเวลาของท่าน ต่อมาท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจโดยนำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาครองเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยังหรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ซึ่งห่างจากวัดดีหลวงไปทางทิศเหนือประมาณ ๔ กิโลเมตร ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วจนจบความของสมเด็จพระชินเสน หลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้นโดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นสำนักเรียนและมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสี เป็นเจ้าอาวาส และได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบกาลที่วัดเสมาเมือง ท่านได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญามากและได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากสมเด็จพระเอกาทศรศในครั้งสุดท้ายในราชทินนามที่ สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ สุดท้ายเมื่อท่านมีอายุได้ ๘๐ ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน และต่อจากนั้นท่านได้ท่องเที่ยวธุดงค์ไปยังเมืองไทรบุรี และมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้จนกระทั่งมรณภาพที่เมืองไทรบุรีเมื่อวันที่ ๖ มีนาคมปี พ.ศ. ๒๒๒๕ สิริรวมอายุได้ ๙๙ ปี
ประวัติการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด
                             วัดช้างให้กำเนิดพระเครื่องหลวงพ่อทวด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งหลวงพ่อทวดได้เข้าฝันเป็นนิมิตแก่นายอนันต์ คณานุรักษ์ ให้สร้างพระเครื่องรางเป็นรูปภิกษุชราขึ้นแท่นองค์ของท่าน นายอนันต์นมัสการ ได้ปรึกษาพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) และเตรียมงานสร้างพระเครื่องในวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗  ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เวลาเที่ยงตรงได้ฤกษ์พิธีปลุกเสกเบ้าและพิมพ์พระเครื่องหลวงพ่อทวดเรื่อย ๆ ทุกวัน จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ พิมพ์พระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นแรกได้ ๖๔,๐๐๐ องค์ ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจจะพิมพ์ให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่เพราะมีเวลาจำกัดในการพิธีปลุกเสก ก็ต้องหยุดพิมพ์พระเครื่อง เพื่อเอาเวลาเตรียมงานพิธีปลุกเสกพระเครื่องหลวงพ่อทวดตามเวลาที่หลวงพ่อทวดกำหนดให้ปฏิบัติ และแล้ววันอาทิตย์ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงตรงได้ฤกษ์พิธีปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ฃพ่อทวดวัดช้างให้ ณ เนินดินบริเวณอุโบสถเก่า โดยมีพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) เป็นอาจารย์ประธานในพิธี และนั่งปรกได้อาราธนาอัญเชิญพระวิญญาณหลวงพ่อทวด พร้อมวิญญาณหลวงพ่อสี หลวงพ่อทอง และหลวงพ่อจัน ซึ่งหลวงพ่อทั้ง ๓ รูปนี้สิ่งสถิตอยู่รวมกับหลวงพ่อทวดในสถูปหน้าวัด ขอให้ท่านประสิทธิ์ประสาทความศักดิ์สิทธิ์ความขลังแด่พระเครื่องฯ นอกจากนั้นก็มีหลวงพ่อสง โฆสโก เจ้าอาวาสวัดพะโคะ พระอุปัชฌาย์ดำ วัดศิลาลอย พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้อาวุโส ณ วัดช้างให้ร่ายพิธีปลุกเสกพระเครื่องสมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พิธีเสร็จสิ้นลงในเวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันนั้น พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) พร้อมด้วยพระภิกษุอาวุโสและคณะกรรมการวัดนำทีมโดยนายอนันต์ คณานุรักษ์ ได้ร่วมกันทำการแจกจ่ายพระเครื่องหลวงพ่อทวด ให้แก่ประชาชนผู้เลื่อมใสซึ่งมาคอยรอรับอยู่อย่างคับคั่งจนถึงเวลาเที่ยงคืน ปรากฏว่าในวันนั้นคือวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ กรรมการได้รับเงินจากผู้ใจบุญโมทนาสมทบทุนสร้างอุโบสถเป็นจำนวนเงิน ๑๔,๐๐๐ บาท หลังจากนั้นมาด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารหลวงพ่อทวด ได้ดลบรรดาลให้พี่น้องหลายชาติหลายภาษาร่วมสามัคคีสละทรัพย์โมทนาสมทบทุนเพื่อสร้างอุโบสถ ดำเนินไปเรื่อย ๆ มิได้หยุดหยั่งจนถึงวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้จัดพิธียกช่อฟ้าและวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๑  ได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์
พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร)
                                 พระครูวิสัยโสภณ นามเดิมชื่อ ทิม นามสกุล พรหมประดู่ เกิดวันที่  ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ปีชวด ณ บ้านนาประดู่ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรของนายอินทอง นางนุ่ม พรหมประดู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน เมื่ออายุได้ ๙ ขวบ บิดามารดาได้นำไปฝากให้อยู่กับพระครูภัทรกรณ์โกวิท (แดง ธมฺมโชโต) เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านเพื่อให้เรียนหนังสือ และได้เข้าเรียนทีโรงเรียนวัดนาประดู่ เรียนได้เพียงชั้น ป. ๓ แล้วออกจากโรงเรียน แต่ก็ยังอยู่กับพระครูภัทรกรณ์โกวิท (แดง ธมฺมโชโต) เพื่อเรียนหนังสือสวดมนต์ จากนั้นก็สึกออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา จนอายุได้ ๒๐ ปีได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดนาประดู่  ในวันที่  ๗ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๗๖  มีพระครูพิบูลย์สมณวัตร เจ้าคณะใหญ่เมืองหนองจิก เจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร พระอารามหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพุฒ ติสฺสโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนาประดู่ ๒ พรรษา แล้วย้ายไปอยู่ที่สำนักวัดมุจลินทวาปีวิหาร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ครั้นต่อมาได้กลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมวัดนาประดู่ในระหว่างที่เป็นครูสอนนั้นได้จัดการสร้างกุฏิขึ้น ๑ หลังโดยร่วมกันสร้าง กับพระครูธรรมกิจโกศล (พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว) วิทยฐานะสอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสนามหลวงวัดพลานุภาพ จังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗  และได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็งจึงบวชเป็นพระภิกษุที่วัดนาประดู่ โดยจำพรรษาที่วัดนาประดู่ ๒ พรรษา แล้วอาจารย์ทิม จึงย้ายไปอยู่ที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม และต่อมาก็ได้ย้ายกลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดนาประดู่ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระอาจารย์ทิม ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) ซึ่งในตอนแรกยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างวัดช้างให้กับวัดนาประดู่เพราะ"อาจารย์ทิม"ท่านยังคงเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดนาประดู่ด้วย ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานี รถไฟสายใต้จากหาดใหญ่ไปสุไหงโก-ลก ต้องขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลาย ๆ เที่ยวและหลาย ๆ ขบวน ทำให้ประชาชนขวัญเสียหวาดกลัวภัยสงคราม ท่านพระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม ต้องรับภาระหนักคือต้องจัดหาอาหารและที่พักแก่ผู้ที่เดินทางผ่านวัดไม่เว้นแต่ละวัน นับเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาตั้งแต่ต้น เมื่อครั้งที่ท่านไปอยู่ที่วัดช้างให้ใหม่ ๆ นั้น วัดช้างให้อยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้างทรุดโทรม ท่านได้ริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดให้เป็นที่น่าเคารพบูชา ได้ดำริที่จะสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ โดยท่านได้ร่วมกับนายอนันต์ คณานุรักษ์ จัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดได้เงินจากผู้มีจิตศรัทธาที่มาเช่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดได้นำเงินมาสร้างพระอุโบสถ และปรับปรุงบริเวณวัดช้างให้         
หน้าที่ตำแหน่งและสมณะศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๔  เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมวัดนาประดู่
พ.ศ. ๒๔๘๔ ย้ายไปเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้)
พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้)
พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นกรรมการสงฆ์อำเภอโคกโพธิ์
พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระครูวิสัยโสภณ
พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับเลื่อนสมณะศักดิ์ในนามเดิม เป็นพระครูชั้นโทพัดยศขาว ฝ่ายวิปัสสนา
พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้รับตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์
                    พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม) ได้เริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่หลอดอาหารตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ แม้ว่า พระครูวิสัยโสภณแห่งวัดช้างให้ได้มรณภาพไปนานแล้ว แต่สิ่งที่ท่านสร้างไว้ อาทิ พระอุโบสถ วิหารสำหรับประดิษฐานหลวงปู่ทวด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาเคารพสักการะ สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ทวดที่ติดกับทางรถไฟสายใต้ กุฏิสำหรับเป็นที่อาศัยของพระเณร กุฏิเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ศาลาการเปรียญ ตลอดถึงวัตถุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวัดช้างให้ โรงเรียนวัดช้างให้หลังคาทรงเรือนไทยเป็นตึก ๒ ชั้น ติดกับทางรถไฟหน้าวัด พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางวัดช้างให้ ล้วนสำเร็จด้วยความมุมานะของท่านทั้งสิ้น พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร)  เป็นผู้สร้างตำนานพระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม (Wat Changhairachburanaram)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๓ ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
จังหวัด
ปัตตานี
ละติจูด
6.668636
ลองจิจูด
101.169031
ข้อมูลจาก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ