#ประวัติศาสตร์ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำนานทหารแกล้ว ขุนอิงคยุทธฯ วีรชนคนกล้าปัตตานี







 http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/103145
"ขึ้นชื่อว่าเป็นทหารพรานต้องทำได้ทุกอย่าง เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน ในฐานะข้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทหารพรานทุกคนพร้อมจะอุทิศชีวิตและปฏิบัติทุกอย่างเพื่อทำให้ผืนแผ่นดินปลายด้ามขวานปรากฏสันติสุขอีกครั้ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพ่อของแผ่นดิน” นี่คือความตั้งใจในการลงมาปฏิบัติภารกิจใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ของ พ.อ.คมกฤช




อนุสาวรีย์ขุนอิงคยุทธบริหาร

“ขุนอิงคยุทธบริหาร” ที่ได้สู้รบกับทหารญี่ปุ่นจนกระทั่งถึงแก่ความตายเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 ที่ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกในพื้นที่จังหวัดปัตตานี พันเอกขุนอิงคยุทธบริหาร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 42 ในขณะนั้นได้นำกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เข้าทำการต่อสู้ขัดขวาง ผู้บังคับกองพันได้ทำการสู้รบอย่างห้าวหาญเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใต้บังคับ บัญชา และถูกกระสุนปืนของทหารญี่ปุ่นได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังบัญชาการรบจนกระทั่งเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น

         เหตุการณ์ครั้งนั้นได้มีกำลังพลเสียชีวิตพร้อมกับพันเอกขุนอิงคยุทธบริหาร จำนวน 26 นาย เป็นทหารกองพันทหารราบที่ 42 จำนวน 12 นาย ตำรวจปัตตานี 4 นาย ยุวชนทหารปัตตานี 5 นาย พลเรียนผู้รักชาติ 5 นาย
ประวัติ พันเอก ขุนอิงคยุทธบริหาร (ค่ายอิงคยุทธบริหาร)
พัน เอกขุนอิงคยุทธบริหาร เป็นผู้ซึ่งได้คุมกำลังทหารเพื่อต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นที่บุกเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ปัตตานี จนเสียชีวิตในที่รบ มีนามเดิม ว่า ทองสุก อิงคกุล เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๓ ที่ตำบลราชวงศ์ อำเภอป้อมปราบ กรุงเทพฯ เป็นบุตรนายบุญเฮง กับนางสุ่น อิงคกุล ได้สมรสกับนางสาวสะอิ้ง ทิมรัตน์ มีธิดา ๔ คน
ประวัติการรับราชการทหารของท่าน มีดังนี้
* พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๔๖๙ รับราชการประจำกรมทหารราบที่ ๑๕
* พ.ศ. ๒๔๗๐ ประจำกรมทหารพรานในกองพลทหารราบที่ ๓
* พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๔๗๒ ประจำกองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์
* พ.ศ. ๒๔๗๓ ประจำ ร.๒ รอ.พัน ๓
* พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นนายทหารฝึกหัดราชการแผนก
* พ.ศ. ๒๔๗๔ ประจำ ร.๒ รอ.พัน ๒ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๔
* พ.ศ. ๒๔๗๕ ประจำกองพันทหารราบที่ ๕
* พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นรอง ผบ.ก ร.พัน ๕ ร้อย ๔
* พ.ศ. ๒๔๗๖ ประจำ ร.พัน ๕ (พระนคร) ๑ เมษายน ๒๔๗๖
ก่อน เสียชีวิตได้มาประจำเป็น ผบ.พัน กองพันทหารราบที่ ๔๒ กรมผสมที่ ๕ และจังหวัดทหารบกสงขลา (ส่วนแยกปัตตานี) ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เดิมมี บรรดาศักดิ์เป็นขุน แต่ในต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นช่วงที่ข้าราชการพากันยกเลิกบรรดาศักดิ์ ท่านก็เลิกใช้ "ขุน" นำหน้าชื่อ เหลือเพียง พ.ต. ที่เป็นยศทหารเท่านั้น เช่นเดียวกับ จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ก็เลิกใช้ "หลวง" ลักษณะเด่น ของ พ.ต.อิงคยุทธบริหาร คือเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง เป็นผู้ที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเคารพยำเกรง เป็นผู้ที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารีแต่เด็ดขาด ทหารในปกครองของท่านจะมีระเบียบวินัย เป็นที่รักของประชาชนที่อยู่ใกล้
เมื่อมาตั้ง กองพันอยู่ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิกไม่กี่เดือน พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหารได้เริ่มสังเกตความเคลื่อนไหวของคนญี่ปุ่น ที่มาเปิดร้านที่ถนนปัตตานีภิรมย์ หน้าวัดตานีนรสโมสร ซึ่งครั้งแรกมีเพียงร้านทำฟันเพียงร้านเดียว ต่อมามีร้านขายถ้วยชาม ร้านถ่ายรูป จึงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคอยสืบและติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าของร้านเหล่า นี้
ก่อนทหารญี่ปุ่นจะบุกปัตตานี ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหารได้รับการติดต่อสื่อสารว่า ญี่ปุ่นจะบุกที่โรงฆ่าสัตว์ ซึ่งอยู่ที่ถนนนาเกลือใกล้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แต่ความจริงแล้วทหารญี่ปุ่นได้บุกปัตตานีที่บริเวณคอกสัตว์ ซึ่งอยู่ใกล้ปากทางเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปัจจุบัน ผู้รับสารฟังผิดจาก "คอกสัตว์" เป็น "โรงฆ่าสัตว์" จึงทำให้ พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหารนำกำลังทหารมุ่งหน้าไปที่โรงฆ่าสัตว์ถนนนาเกลือ ซึ่ง จะต้องเดินทางผ่านสะพานเดชานุชิต และก่อนที่เดินทางไปถึงสะพานเดชานุชิต จะต้องผ่านถนนหนองจิกบริเวณที่อยู่ใกล้คอกสัตว์ ด้วยไม่คิดว่าศัตรูจะอยู่แถวนั้นจึงไม่ทันระมัดระวัง ช่วงที่เดินทางผ่านทางนั้น กองกำลังทหารที่มี พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหารเป็นนายกองจึงถูกซุ่มโจมตีด้วยปืนกล
พ.ต.ขุนอิง คยุทธบริหาร ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังคงตะโกนสั่งการให้ทหารสู้รบต่อไป จนตัวเองมาเสียชีวิตที่สุขศาลา (โรงพยาบาลในสมัยนั้น) ในวันต่อมา คือ วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้รับการเลื่อนยศเป็น พันเอก ในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามใหม่แก่ค่ายทหารที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ว่า "ค่ายอิงคยุทธบริหาร" เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของ พ.อ.ขุนอิงคยุทธบริหาร
ที่มา : หนังสือเรื่อง บุคคลสำคัญของปัตตานี โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๔๕)

ศาลาจัตุรมุข ค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นที่รวมประดิษฐานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่มีพ่อค้า ประชาชนจากทั่วประเทศ ได้ทำพิธีจัดสร้างและอัญเชิญมาไว้ยังค่ายแห่งนี้ เพื่อช่วยปกป้องบ้านเมืองให้คงอยู่ต่อไป สืบ เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ๓ จังหวัดชายแดนที่เกิดขึ้น

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงที่ญี่ปุ่นจะเข้าบุกเอเซียบูรพาผ่านดินแดนไทยนั้น ที่กองพันทหารราบที่ 42 (ร. พัน 42) จังหวัดปัตตานี มีผู้บังคับกองพันร่างเล็กแต่ใจทะแกล้ว คือ ขุนอิงคยุทธบริหาร วีรกรรมของท่านนั้นเป็นที่กล่าวขวัญมาจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2511 กองพันทหารราบที่ 42 กองพันทหารราบที่ กรมผสมที่ และจังหวัดทหารบกสงขลาก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อค่ายเป็น ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตามชื่อวีรบุรุษคนกล้าของค่าย
ขุนอิงคยุทธฯเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีความรักชาติเข้มข้นท่านหนึ่ง คราใดที่ท่านกล่าวถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษไทย หรือพูดถึงการเสียกรุงศรีอยุธยา แม้ต่อหน้าที่ประชุมนายทหาร นายสิบ พลทหาร ท่านจะต้องหลั่งน้ำตาออกมาโดยไม่รู้สึกตัวทุกครั้ง เรื่องใดที่เกี่ยวกับชาติ เอกราช อธิปไตย ศักดิ์ศรีหรือเกียรติศักดิ์แล้ว ท่านสามารถเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ความเด็ดขาดเข้มแข็งของกองพันเป็นยอมรับและวางใจของผู้บังคับบัญชาว่ากองพันนี้จะยอมสู้แค่ตาย หรือสู้จนคนสุดท้าย อุดมคติของท่านคือ
ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้  
ข้าพเจ้าไม่รู้จักว่าความอ่อนแอคืออะไร 
แม้ว่าท่านจะอายุเกิน 40 ปีแต่ท่านก็ยังนำทหารวิ่งทุกวันอาทิตย์จากบ่อทองไปถึงสถานีโคกโพธิ์โดยไม่หยุดเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 8 กิโลเมตร มีความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจสมเป็นผู้บังคับกองพันนักรบอย่างแท้จริง ตอนเช้าบริหารร่างกายด้วยการเล่นบารเดี่ยว บาร์คู่ ตกเย็นขี่จักรยานเสือหมอบตระเวณดูการฝึกของทหาร ตกกลางคืนออกตรวจดูทหารตามกองร้อยต่างๆแทบทุกคืน บางคืนก็ออกไปสังเกตุการณ์การจารกรรมของพวกญี่ปุ่นที่พยายามแทรกซึมเข้ามาในเมืองปัตตานีแล้วจะลอบทำจารกรรมกองพัน รวมทั้งสำรวจพื้นที่
ถ้าประเทศไทยมีผู้บังคับกองพันที่แข็งแกร่งเช่นนี้ กองทัพไทยน่าจะมีประสิทธิภาพที่น่าเกรงขามมิใช่น้อย สามารถปกป้องประเทศจากอริราชศัตรูและเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินรัฐประศาสโนบายของประเทศได้อย่างดี
ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่ปัตตานีในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 นั้นก็ได้มีเหตุการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้นที่ ร. พัน 42 1 คืนก่อนหน้า ทั้งกองพันเกิดความชุลมุนวุ่นวายทั้งการลำเลียงทหารกองหนุนจากทุกสารทิศเพื่อมาเตรียมรับศึก หากเรือรบญี่ปุ่นจะบุกเข้าไทยขึ้นมาจริงๆ นอกจากนี้ยังมีลางบอกเหตุต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ยามที่ ร. พัน 42 อยู่ในความเงียบสงัดก็ได้ยินเสียงยามรักษาการณ์เคาะระฆังขึ้น 2  ครั้ง ทันใดนั้นเสียงม้ากองร้อยที่ 4 ก็ส่งเสียงร้องเอ็ดอึงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน วัวผอมบักโกรกอีก 50 ตัวก็ทะลายคอกออกมาวิ่งส่งเสียงร้องจนสับสนอลหม่านไปทั้งกองพัน แล้วยังมีเหตุฟ้าผ่ายอดเจดีย์บนเขาในกองพันในเดือนพฤศจิกายน 2484 ก่อนวันเกิดเหตุการณ์สำคัญที่จะเล่าต่อไปด้วย พระเจดีย์นี้เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนในตำบลบ่อทองมาก แทบทุกปีราษฎรจะนิมนต์พระขึ้นไปทำบุญตักบาตรกัน บางทีมีงานสมโภชเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่  เมื่อฟ้าผ่ายอกเจดีย์ด้วนไป ราษฎร์พากันโจษขานว่าเห็นทีกองพันนี้จะอยู่ไม่ได้เสียแล้ว หรือไม่ตัวผู้บัญชาการคือขุนอิงคยุทธฯจะต้องสิ้นชีพ แต่ตัวขุนอิงคยุทธฯก็ไม่หวาดหวั่น เตรียมการบูรณะและเฉลิมฉลอง 7 วัน 7 คืน ยังไม่ทันได้ทำญี่ปุ่นก็บุกขึ้นฝั่งที่ปัตตานีเสียก่อน
ก่อนจะเล่าต่อไปขอเรียนให้ทราบก่อนว่าในปีพ.ศ. 2484 นั้นเป็นสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในระยะคาบลูกคาบดอกนั้น เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยพร้อมด้วยนายพล นายพันได้เข้าพบจอมพล ป. เพื่อขอให้ไทยแสดงท่าทีให้ชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งในสี่ข้อ คือ
1. ทำสัญญาร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่น โดยประกาศสถานะสงครามทันที
2. ทำสัญญาเป็นพันธมิตรเฉยๆ โดยไม่ประกาศสถานะสงคราม
3. ยอมให้ญี่ปุ่นผ่านไปโดยไม่ต้องทำสัญญา ในการนี้ญี่ปุ่นยอมให้สัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะเคารพเอกราชและอธิปไตยของไทย
4. (ข้อนี้ จอมพล ป. บอกว่าจำไม่ได้)
ซึ่งจอมพล ป. ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาคำขาด (Altimatum) ของทางญี่ปุ่น
มีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์หนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่ออกความเห็นคัดค้าน ต้องการให้ไทยรักษาความเป็นกลางตามที่ได้ประกาศไปแล้วอย่างเคร่งครัด ถ้าประเทศใดจะมาย่ำยีล้ำแดนเรา จะต้องสู้ตายเพื่อรักษาเกีรยติศักดิ์ คงไว้ซึ่งรัฐประศาสโนบายแห่งชาติของไทยเอาไว้
แต่จอมพล ป. ปฏิเสธด้วยเห็นว่ากำลังทางทหารของไทยเทียบไม่ได้กับญี่ปุ่น ที่สามารถเอาชนะรัสเซีย จีน หากรักษาความเป็นกลางก็มีแต่จะย่อยยับเหมือนเบลเยี่ยมหรือสวีเดนและประเทศเล็กๆอื่นๆที่ย่อยยับมาแล้ว ความเป็นกลางที่แท้จริงมันไม่มีหรอก แม้แต่ฮิตเล่อร์กับสตาลินทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน แต่แล้วฮิตเล่อร์ก็รุกรานรัสเซีย จะรักษาความเป็นกลาง หรือจะสู้กันให้ย่อยยับไปข้างหนึ่งนั้น ไม่ยากเย็นอะไร แต่ควรจะต้องรอบคอบ เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร เรามีแต่ทางเสีย ที่ดีที่สุดนั้นคือ
ให้มันผ่านไป แล้วจะเอาอย่างไรค่อยแก้ไขกันทีหลังดีกว่า"
"การประกาศไปเช่นนั้น ก็ทำอย่างลิ้นของนักการเมือง หรือนักการฑูต โลกของการเมืองเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ แต่ข้อสำคัญคือ
เราจะทำอย่างไรให้ชาติไทยของเราพ้นจากมหาภัยสงคราม หรือถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ให้ได้รับผลร้ายแก่ประเทศขาติและบ้านเมืองน้อยที่สุด"
เวลานี้สถานการณ์ของบ้านเมืองคับขันแล้ว ภาคใต้กำลังยิงกันอยู่ ทหารญี่ปุ่นเต็มเมืองไทยไปหมดแล้ว ผมได้ขอร้องไปยังอังกฤษให้เขาช่วย เขาก็บอกมาว่า
ช่วยไม่ไหว เพราะในเวลานี้เขาก็แย่เต็มทีแล้ว ขอให้ประเทศไทยช่วยตัวเองไปก่อน
เขาว่ามาอย่างนี้ผมก็ว่าทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไป เพื่อความปลอดภัยของชาติเป็นใหญ่ ผมบอกตรงๆว่า สู้ไม่ไหว ใครจะว่าผมเป็นคนอ่อนแอก็ตามแต่ใจ แต่ความอ่อนแอของผมไม่ทำให้ชาติไทยแหลกราญ ผมก็มีความภูมิใจแล้ว
ส่วนอาจารย์ปรีดี  ยังคงโต้แย้งจอมพล ป. อย่างหนักถึงกับกล่าวว่า การรักษาเกียรติภูมิของชาติไว้นั้น แม้ว่าเราจะได้รับความย่อยยับอัปปางแต่ก็ควรกระทำอย่างที่ท่านนายกอ้างว่า ประเทศเล็กๆ เช่นเบลเยี่ยม สวีเดน ลุคแซมเบอร์ก ฯลฯ รักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดถึงกับย่อยยับไปนั้น เรื่องพรรค์นี้เป็นธรรมดาของโลก แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายกกล่าวว่า เราจะปลอดภัยนั้น ท่านนายกฯมีญาณพิเศษออะไร ถ้าสมมติว่าฝ่ายอักษะแพ้ เรามิต้องแพ้ไปด้วยหรือ เราไม่แหลกราญในวันนี้ เราก็ต้องแหลกราญในวันหน้า ตามหลักจิตวิทยาว่าเราต้องสู้ เพราะคนสู้ยังดีกว่าคนหนี ท่านายกฯเป็นทหารไม่รู้จักจิตวิทยาข้อนี้หรือ เรื่องสู้ได้หรือไม่ได้มาตอบกันง่ายๆแบบเด็กๆ โดยไม่พยายามหาลู่ทางดูให้ทั่วก็มาบอกว่าสู้ไม่ไหวอย่างนี้ แสดงว่าไปไม่ไหวแน่ๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง สำเร็จลงด้วยการต่อสู้ เพราะคนสู้นั้นมันมีทางออกของมันเอง แต่คนไม่สู้นั้นจะหาทางออกไม่ได้เลย...
อย่างไรก็ดี ผลจากการประชุมสถานการณ์ภาวะคับขันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันก็ลงเอยด้วย การทำตามที่จอมพล ป. เป็นผู้ตัดสินใจ คือเลือกข้อ 3 ให้ญี่ปุ่นผ่านไปโดยไม่ต้องทำสัญญาและไม่ประกาศสภาวะสงคราม นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังให้คำมั่นปฏิญญาอีกด้วยว่าจะเคารพบูรณะภาพ และอธิปไตยของไทย เพราะเป็นคำขาด หรือ “Altimatum” อันเดียวเท่านั้นที่จอมพล ป. เห็นว่าควรจะเลือกเพื่อปกป้องเอกราช อธิปไตย ความปลอดภัยของปวงชน
ผลจากการไม่ลงรอยทางความคิดในวันนั้น ผลักดันพวกคนรักชาติที่เห็นตรงกันว่า จอมพล ป. กำลังดำเนินนโยบายผิดพลาด หันมาหาอาจารย์ปรีดีเพื่อดูว่าจะมีความคิดเห็นทำอย่างไรต่อไป
ย้อนกลับมายังกองพันทหารราบที่ 42 จังหวัดปัตตานี แม้จะมีเรื่องวุ่นวายโกลาหลเกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 เป็นขณะเดียวกับที่กองทัพเรือญี่ปุ่นได้บุกขึ้นฝั่ง ส่วนหนึ่งของตำรวจและยุวชนได้เกิดการปะทะกับทหารญี่ปุ่น เสียงปืนชนิดต่างๆดังสนั่นหวั่นไหว
ตีสามของคืนนั้น หลวงสุนาวินวิวัฒน์ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี ก็โทรศัพท์มาแจ้งว่า ฮัลโหล ฮัลโหล ร. พัน  42 ใช่ไหมครับ นี่หลวงสุนาวินวิวัฒน์พูด กรุณาเรียนผู้บังคับกองพันด้วยว่า มีข้าศึกไม่ทราบว่าชาติใด ยกพลขึ้นที่ปัตตานีเวลานี้ ตำรวจและยุวชนกำลังต้านทานอยู่ ส่งกำลังมาช่วยด่วน!”
จ.ส.อ. เครือ นาคประเสริฐ นายทหารเวรหลังจากรายงานขุนอิงคยุทธผู้บังคับกองพันทราบ ก็เรียกพลแตรเดี่ยวทันที ทันทีที่เสียงแตรเดี่ยวกังวานกึกก้องทั่วบริเวณกองพันก็เต็มไปด้วยบรรยากาศเคร่งเครียด เพราะเป็นสัญญาณให้รู้ว่าสถานการณ์ร้ายแรงได้อุบัติขึ้นแล้ว กรูกันออกจากที่พักในกองพันอย่างเร่งรีบทุกนาย เช่นกันกับขุนอิงคยุทธที่รีบปั่นจักรยานคู่ชีพไปยังกองรักษาการณ์อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ฟังสิบโทสอน ผู้ช่วยกองรักษาการณ์รายงานอย่างร้อนรนนั้น เสียงแผดดังของปืนก็แหวกอากาศมาตลอดเวลา
ขุนอิงคยุทธฯเคยกล่าวเสมอๆว่า "ถ้าข้าศึกบุก ต้องตีให้ตกทะเลไป" "ถ้าใครขี้ขลาดตาขาว ก็ควรลาออกจาอาชีพทหารเสียดีกว่า" อย่าลืม "ชาติ, เกียรติ, วินัย, กล้าหาญ, เสียสละ, สามัคคี"
......... เหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร กรุณาอ่านในตอนต่อไป


ที่มา: เรียบเรียงใหม่จากหนังสือ "เหตุการณ์ทางการเมือง ๔๓ ปีแห่งระบอบประชาธิปไตย โดย วิเทศกรณีย์ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รวมข่าว จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์รวมการพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 29 เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง