บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย
บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยใน Wall Street Journal ระบุนักลงทุนต่างชาติยังจะสนใจประเทศไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของรัฐบาลหลังน้ำท่วม
บทความในนสพ. Wall Street Journal วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย โดยเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจที่กำลังโตในเอเชีย เช่น จีน เวียตนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และลงความเห็นว่า แม้อัตราการโตของเศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ในระดับ 5% ขึ้นไป แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการโตของเศรษฐกิจเหล่านั้นแล้ว นับว่าประเทศไทยยังด้อยกว่ามาก และว่านักลงทุนต่างชาติยังจะสนใจประเทศไทยต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของรัฐบาลหลังน้ำท่วม
รูปภาพ ASSOCIATED PRESS
Patrick Barta เขียนบทความลงในนสพ. Wall Street Journal วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย โดยเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจที่กำลังโตในเอเชีย เช่น จีน เวียตนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และลงความเห็นว่า แม้อัตราการโตของเศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ในระดับ 5% ขึ้นไปนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการโตของเศรษฐกิจเหล่านั้นแล้ว นับว่าประเทศไทยยังด้อยกว่ามาก
Thailand In The News
Download: MP3 | Windows Media
Right click (Control click for Mac) and choose Save Link/Target As
นักเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญนั้น ส่วนหนึ่งเป็นภัยธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งมาจากการเมือง ส่งท้ายด้วยอุทกภัยในขณะนี้
เหตุการณ์ที่เริ่มต้นมาจากคลื่น Tsunami ในปี ค.ศ. 2004 ตามด้วยการก่อรัฐประหาร และการประท้วงที่มีมาจนกระทั่งถึงปีที่แล้วที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 คน ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติเกิดความหวั่นไหว บวกเข้ากับผู้วางนโยบายที่ขาดความสนใจต่อโครงการที่จำเป็นจะต้องทำเพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ
ในปี ค.ศ. 2010 มีเงินลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศไทย 5.8 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ 13.3 พันล้านดอลล่าร์เข้าไปในอินโดนีเซีย
Patrick Barta ผู้เขียนบทวิเคราะห์ ให้ความเห็นต่อไปว่า การลงทุนจากต่างประเทศที่ประเทศไทยได้รับมาจากบริษัทธุรกิจที่มีกิจการอยู่ในประเทศอยู่แล้ว เช่น บริษัท Ford Motor การลงทุนจากต่างประเทศใหม่ๆ หันไปให้ความสนใจกับเศรษฐกิจที่กำลังโตมากกว่า
ในอีกด้านหนึ่ง นาย Frederic Neumann นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร HSBC ในฮ่องกง กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แรงงานในประเทศไทย ได้ค่าแรงแท้จริงเพิ่มขึ้นน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานในอินโดนีเซีย เวียตนาม และจีน
เวลานี้แรงงานจีนในภาคอุตสาหกรรมได้ค่าแรงงานโดยเฉลี่ย 400 ดอลล่าร์ต่อเดือน เทียบกับ 250 ดอลล่าร์ต่อเดือนในประเทศไทย ซึ่งเมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว สภาพการณ์กลับกัน
สำหรับอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ นอกจากจะทำให้ผู้คนเกือบ 400 คนต้องเสียชีวิตแล้ว อาจทำให้สภาพเศรษฐกิจทรุดโทรมลงมากขึ้นไปอีก
เวลานี้นักเศรษฐศาสตร์ประมาณว่า ความเสียหายจากอุทกภัยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 9.7 พันล้านดอลล่าร์ หรือราวๆสามแสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดกันว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้บ้างในปีหน้า เพราะจะต้องมีการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูบูรณะประเทศ และของบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ เช่น Toyota และ Honda ในการซ่อมแซมโรงงาน
นักเศรษฐศาสตร์ Frederic Neumann ของธนาคาร HSBC ในฮ่องกง ให้ความเห็นว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยในช่วงหลังน้ำท่วม จะเป็นเครื่องบ่งชี้อนาคตของประเทศ
ถ้ามีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างมั่นคงแน่วแน่ มีการทำความสะอาดถนนหนทาง และการบูรณะและก่อสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่า จะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก น้ำท่วมครั้งนี้ก็จะเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปและดึงดูดการลงทุนใหม่ๆได้
แต่ถ้าไม่มีการตอบสนองต่อหายนะภัย และเงินทุนละลายหายไปตามช่องทางต่างๆ ในขณะที่รัฐบาลหันไปให้ความสนใจกับนโยบายระยะสั้นแล้วละก็ จะเป็นหนุนเนื่องภาพประทับใจที่มีอยู่แล้วในหมู่นักลงทุนนานาชาติให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า บางทีประเทศไทยอาจจะไม่มีบรรยากาศที่เป็นมิตรกับธุรกิจมากที่สุดอีกต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ