แม่ทัพธรรม พระศาสนา






ประวัติ
สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2479 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายจันทร์และนางเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์ ท่านสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด จากนั้น ได้เข้าพิธีบรรพชา เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2491 ณ วัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด โดยมี พระวินัยบัณฑิต เป็นพระอุปัชฌาย์ กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2499 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธัมมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังอุปสมบท ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบได้ประโยคเปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 สมเด็จพระวันรัต ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี ได้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ส่วนภาระหน้าที่พิเศษ ยากที่จะหาผู้ใดทำหน้าที่นี้ได้ในยุคปัจจุบัน คือ การที่ได้รับมอบหมายจากเถรสมาคมเป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติของไทย) และให้ความเห็น ก่อนที่จะประกาศใช้ ในแต่ละปี นอกจากนี้ยังเดินหมุดและคำนวณปฏิทินปักขคณนาสำหรับวันลงอุโบสถให้กับคณะสงฆ์ธรรมยุตด้วย
วิทยฐานะ
  • พ.ศ. ๒๔๙๑ สำเร็จวิชาสามัญศึกษา (ป.๔) จากโรงเรียนวัดคิริวิหาร ตำบลชำราก อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  • พ.ศ. ๒๔๙๕ สอบได้ประโยค น.ธ. เอก ในสนามหลวงสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
  • พ.ศ. ๒๕๑๕ สอบได้ประโยค ป.ธ.๙ ในสนามหลวงสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์
  • เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
  • เป็นกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร
  • เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
  • เป็นผู้อำนวยการศึกษา สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
  • เป็นเจ้าคณะขาบบวร-เขียวบวร
  • เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)
  • เป็นกรรมการเถรสมาคมธรรมยุต
  • เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต)
  • เป็นอนุกรรมการฝ่ายการปกครอง ของมหาเถรสมาคม
  • เป็นพระอุปัชฌาย์
  • เป็นกรรมการสนามหลวง แผนกบาลี
  • เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง
  • เป็นกรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของมหาเถรสมาคม
  • เป็นรองประธานกรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของมหาเถรสมาคม
  • เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย
  • กรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของมหาเถรสมาคม
  • ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม
หน้าที่
  • เป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติของไทย) และให้คำแนะนำ ก่อนประกาศใช้ในแต่ละปี
  • เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๖๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • เป็นกรรมการชำระอรรถกถา ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
  • เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นผู้แสดงพระธรรมเทศนา ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล, งานพระราชพิธีฯ ในบางโอกาส
  • เป็นผู้ถวายการสอนพระธรรมวินัยแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ในคราวทรงทรงผนวช เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
  • เป็นกรรมการกองตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นหัวหน้ากองตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นประธานคณะกรรมการตำราและวิชาการ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • สนองงานถวายเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ ที่ได้รับพระบัญชาในบางโอกาส
งานพิเศษ
  • พ.ศ. ๒๕๔๑ - ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค ๓ (ธรรมยุต) ในจังหวัดสิงห์บุรี, อุทัยธานี,ลพบุรี
  • พ.ศ. ๒๕๔๑ - ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค ๗ (ธรรมยุต) ในจังหวัดเชียงใหม่
  • พ.ศ. ๒๕๔๓ - ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค ๑๒ (ธรรมยุต) ในจังหวัดจันทบุรี,ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค ๑๓ (ธรรมยุต) ในจังหวัดปราจีนบุรี
  • พ.ศ. ๒๕๔๕ - ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค ๘ (ธรรมยุต),รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี (ธรรมยุต)
ลำดับสมณศักดิ์
  • พ.ศ. 2517 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระอมรโมลี
  • พ.ศ. 2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะ ชั้นราช ที่ พระราชสุมนต์มุนี
  • พ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะ ชั้นเทพ ที่ พระเทพกวี
  • พ.ศ. 2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมกวี
  • พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมมุนี
  • พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระวันรัต
  • พรปีใหม่ จาก สมเด็จพระวันรัต 
ปีที่ผ่านมาสังคมไทยเผชิญกับภาวะแห่งความทุกข์มามาก ทุกข์เพราะภัยพิบัติยังไม่มากเท่าทุกข์อันเนื่องมาจากความเสื่อมของสังคม


สมเด็จพระวันรัต นามเดิม จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เป็นพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม และแม่กองธรรมสนามหลวง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏเมื่อปี พ.ศ.2552
  
 สมเด็จพระวันรัต เป็นพระนักปกครอง เป็นพระนักการศึกษา ได้รับวางไว้วางใจจากพระผู้ใหญ่ให้คอยดูแลสอดส่องความประพฤติของพระในเขตการปกครอง ขณะเดียวกันก็เป็นพระนักค้นคว้า เมื่อมีเวลาก็จะเขียนหนังสือนิทานธรรมะ เช่น หนังสือ "คติชีวิตจากชาดก" และ "มองคนละมุม" เพื่อเผยแพร่แก่ฆราวาสทั่วไป

 เปรียบกับคนธรรมดาก็เหมือนกัน มือหนึ่งถือหวายคอยกระหนาบคนทำผิด อีกมือถือชอล์กสอนสั่งให้การศึกษาแก่นักเรียน  

ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากปีขาลเข้าสู่ปีเถาะ "มติชน" ถือโอกาสเข้ากราบขอพร และนำโอวาทมาฝากในวาระดีถีขึ้นปีใหม่

@ ปีใหม่นี้มีธรรมะอะไรที่จะช่วยให้คนไทยดำเนินชีวิตต่อไปอย่างราบรื่น

ปีใหม่นี้อยากให้คิดถึงสิ่งเป็นประโยชน์กับตัวเอง ถึงจะปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แต่ก็อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อประโยชน์กับตัวเองเป็นเบื้องต้น แล้วก็อำนวยผลให้เกิดประโยชน์กับคนอื่น บุคคลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิด ตลอดจนสังคมที่เราอยู่ ก็จะมีประโยชน์จนถึงประเทศชาติ จะมีความสุขทั่วหน้ากัน

@ สำหรับเยาวชนมีแนวทางป้องกันอย่างไรที่จะไม่ให้เสื่อมถอยไปจากศีลธรรม

 เยาวชนก็จะมีเพื่อนเป็นใหญ่ เพื่อนจะใหญ่ที่สุด เพื่อนว่าอย่างไรจะเชื่อเพื่อนมากว่าผู้ใหญ่ อาตมาขอฝากไปยังเยาวชนว่าขอให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ อย่างน้อยๆ ก็พ่อ-แม่ในบ้าน ท่านตักเตือนอย่างไรก็ขอให้เชื่อฟังบ้าง อย่าเชื่อเฉพาะเพื่อน เพราะว่าคนที่ปรารถนาดีกับเราที่สุดไม่มีใครเกินพ่อ-แม่ ถึงจะว่าอย่างไรจะด่าอย่างไร ไม่มีความปรารถนาไม่ดีกับลูก

@ ปัจจุบันยาเสพติดระบาดเข้าไปถึงในชุมชน ใครใช้ธรรมใดที่จะดึงเยาวชนให้หนีออกห่าง


การอบรมคน ครั้งเดียวไม่มีประโยชน์ ต้องอบรมให้ยั่งยืน เพราะแม้จะผ่านการอบรมไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังอยากจะทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ แล้วที่นี้คนเราเมื่อทำอะไรแล้ว มันก็มีหลงว่าเป็นสิ่งดี ความไม่ดีเมื่อทำบ่อยๆ มันก็นึกว่าดี
อาตมา อยากจะเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่งว่า มีผู้ชายอยู่สองคน คนหนึ่งปฏิบัติดี คนหนึ่งปฏิบัติไม่ดี เมื่อตายไปแล้วคนหนึ่งไปเกิดในสวรรค์เป็นเทวดา คนหนึ่งไปตกในนรก คนที่ตนนรกท้ายที่สุดไปเกิดเป็นหนอนอยู่ในหลุมขี้ วันหนึ่งคนที่เกิดเป็นเทวดา นึกถึงเพื่อนก็อยากจะรู้ว่าเพื่อนตอนนี้ไปอยู่ที่ไหน ก็ส่องตาทิพย์ มีจริงหรือเปล่าไม่ทราบ แต่เป็นนิทานเล่ากันมา มองดูก็รู้ว่าเพื่อนไปเกิดอยู่ในหลุมขี้ ก็อยากไปชวนเพื่อนให้ทำดี จะได้ไปเกิดในสวรรค์บ้าง จึงไปหาเพื่อนไปคุยกับเพื่อนให้ทำดีจะได้พ้นจากหลุมขี้ ไปเกิดบนสวรรค์มีอาหารทิพย์มีอะไรทุกอย่างพร้อม

เพื่อนที่อยู่ในหลุมขี้ก็บอกว่าอยู่ตรงนี้ก็สบายแล้ว มีอาหารพร้อมทุกอย่างเหมือนกัน ถึงเวลาก็มีคนนำอาหารมาใส่ให้ทุกวัน อันนี้มันก็อยู่ที่มุมมองของคน ว่าคนอยู่ที่ตรงไหนก็จะมองว่าตรงนี้ดี คนติดยาก็จะมองตรงนั้นว่าดี สูบแล้วสบายใจ จะไปชวนให้เลิกอย่างไร ก็ไม่อยากเลิก

 ที่นี้ถ้าเยาวชนไปมั่วสุมเสพยาเสพติดจะทำอย่างไร จริงๆ จะต้องเอาขึ้นจากหลุมขี้นะ ไม่ใช่ไปสอนอยู่ในหลุมขี้ ก็ต้องมีการย้ายที่ออกมา แล้วจัดการอบรมกัน เหมือนที่เอาทหารไปเข้าค่ายอบรม แล้วก็สอนให้รู้โทษของยาเสพติดให้จริงจังก่อน

@ กับสังคมโดยภาพรวมจะมีหลักธรรมข้อใดเป็นที่ช่วยได้บ้าง?


เรื่องสามัคคีนี่พูดกันเหลือเกิน ทุกคนรู้ว่าถ้าเราสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติเจริญ พระก็พูด คนก็พูด แต่พูดไปก็เท่านั้นเพราะมันไม่ทำ เพราะมีประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่คือปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ ก็รู้ว่าทำอย่างไรบ้านเมืองจะเจริญ ถึงจะอยู่เย็นเป็นสุข แต่ว่ามันไม่เอา มันเอาแต่ว่าทำอย่างไรจะร่ำรวย อยู่อย่างสบายคนอื่นไม่เกี่ยว แล้วคนที่คิดอย่างนี้ก็คือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนั่นแหละ แล้วใครจะเป็นคนไปว่า เป็นคนไปเตือนเขา

@ ในยุคที่มีอินเตอร์เน็ต ทางพระใช้สื่อเหล่านี้เป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง?

 พระเอาธรรมไปให้ เอาแต่หนีไม่อ่าน ไม่ต้องเด็กๆ เลยที่ไม่สนใจธรรม ผู้ใหญ่ยังหนี ทุกวันนี้พระก็ใช้สื่อที่ทันสมัยเหล่านี้ พระก็มีสถานีโทรทัศน์ของพระด้วย ยังมาชวนอาตมาไปออกอากาศด้วย แต่อาตมาไม่ใช่นักพูด อาตมาพูดในหลักธรรม ก็ไม่ฟังเปิดหนีหมดมันต้องมีตลกแบบวัดสวนแก้ว

@ จะมีธรรมอะไรที่เข้าใจง่ายๆ สำหรับเยาวชนนำไปศึกษาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต

ศีล 5 ข้อมันง่ายอยู่แล้ว คนเกิดมาทุกคนต่างมีศีลอยู่แล้ว พอพูดว่าศีลรู้สึกมันไกลตัว แต่จริงๆ ศีลมันมีอยู่ในตัวคนปกติอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องรักษาความปกติของมันไว้ให้ได้ อย่างถ้าเราเกิดไปทำร้ายร่างกายคนอื่นถือเป็นเรื่องผิดปกติ นั่นคือผิดศีล ไปชิงสมบัติคนอื่นมาถือว่าไม่ปกติ สำส่อนทางเพศ ไม่รู้จักพ่อแม่พี่น้อง ไปหลวกลวงกันทางวาจา หรือเอาของมึนเมาใส่ตัวให้เสียสติสัมปชัญญะ เป็นความไม่ปกติของคน นั่นหละผิดศีล 5 ถามว่าเรารักษาได้หรือเปล่า ถ้าทำได้ก็เป็นการถือศีล 5 แล้ว

@ ภาวะปัจจุบันถือว่าศีลธรรมเสื่อม?

ศีลธรรมไม่ได้เสื่อมหรอก แต่ว่าคนเสื่อมจากศีลธรรม คนเสื่อมจากพระศาสนา ก็ต้องช่วยกันดึงคนให้กลับมาอยู่ในศีลในธรรม ไม่ใช่หน้าที่ของคนเพียงใดคนหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ของสมเด็จพระวันรัต แต่ทั้งหมดต้องช่วยกัน ชาวบ้านต้องช่วยกัน พระมีแค่ 2-3 แสนรูป ชาวบ้านมีตั้ง 60 กว่าล้านคนต้องช่วยกัน อย่าไปผลักภาระให้พระอย่างเดียว (หัวเราะ) พระเป็นสังคมเล็ก พระเป็นจุดศูนย์รวมของชาวบ้านให้คำแนะนำ แต่ชาวบ้านต้องดูแลต้องตักเตือนกันมันถึงจะช่วยได้

@ ประเทศชาติจะไปรอดหรือไม่ถ้าคนขาดศีลธรรม?

ต้องรอดสิ ต้องมีคนคอยช่วยกันประคองไป คนไม่ดีที่มีอำนาจก็ต้องมีอันเป็นไป อาตมาหวังว่าคนจะดีขึ้น ถ้าคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวน้อยลงไป เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความคิดความเห็นเหมือนกันหมด เหมือนอย่างนิทานเรื่องหนึ่งที่อาตมาเขียนไว้ในหนังสือ "มองคนละมุม" เล่าถึงเศรษฐีที่มีลูก 7 คน แต่ลูกทั้ง 7 ไม่ขอรับสมบัติของพ่อเพราะมองว่าสมบัติมีโทษ คนมีเงินมีทองไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ คนที่มองอย่างนี้ก็ยังมีอยู่

@ หลักธรรมข้อคิดในการดำเนินชีวิตในปีใหม่มีอย่างไรบ้าง?

 เป็นธรรมดาที่ทุกคนย่อมปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งนั้น แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ความสุขนั้นคือ "ผล" และจะได้ "ผล" ตามที่ต้องการ ก็ต้องสร้าง "เหตุ" ที่จะนำผลนั้นมาให้ เพราะฉะนั้นถ้าอยากได้ความสุขก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าความสุขมันเกิดได้เพราะอะไร ถ้าทำได้เช่นนั้นก็จะได้ผลที่ต้องการ แต่ก็ต้องไม่ใช่ความสุขของตนเองที่ไปสร้างทุกข์ให้กับคนอื่นด้วย จึงจะเป็นความสุขที่ยั่งยืน

นอกจากตัวเองจะได้ความสุขจากผลของการกระทำของตัวเอง ความสุขนั้นจะส่งผลแก่สังคมที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงประเทศชาติด้วย

ข้าพเจ้า สมเกียรติ กาญจนชาติ ได้เข้ากราบเรียนเรื่อง โครงการที่ได้ทำถวาย สมเด็จพระสังฆราช เมือ วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ ณ.วัดบวรนิเวศ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง