ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน


ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน คือ ประวัติศาสตร์ของชุมชน
  สัมภาษณ์พิเศษ: รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม
  โดย ขวัญชนก โชติช่วง
http://www.ilovetogo.com/FileUpload/Webboard/091015045428942.jpg
    “ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาจากระดับบนสู่ระดับล่าง ทำให้เกิดการทำลายกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ทำให้คนในท้องถิ่นไม่รู้จักตัวเอง”
    อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นมิติเวลาที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของสิ่งต่าง ๆ  ดังเช่น ความเป็นมาของผู้คนในชุมชนที่อาจมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ก็ได้  แต่เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดียวกันหลายชั่วคน ก็จะเกิดสำนึกร่วมขึ้นเป็นคนในท้องถิ่นเดียวกัน  การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่จากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นหัวใจของการทำงานที่สำคัญของ รศ.ศรีศักร  วัลลิโภดม ผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา  ที่เป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนความเป็นตัวตนและพัฒนาการของคนในพื้นที่จากอดีตสู่ปัจจุบัน
    ทำไมถึงควรศึกษาประวัติศาสตร์จากชุมชนมากกว่าวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศ
    เรื่องนี้เป็นที่โต้แย้งกันมานานแล้ว เพราะเมื่อก่อนเราศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับประเทศโดยไม่ได้มองคนระดับท้องถิ่น กระแสของการศึกษาประวัติศาสตร์ระดับท้องถิ่นเองก็มีหลากหลายกลุ่มหลากหลายแนวคิด ผมเองก็เป็นหนึ่งทางด้านการเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น  หนึ่งในกลุ่มเดียวกับผมที่ศึกษาด้านนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสันก็คือ รศ.ดร.ธิดา  สาระยา
    วิธีการทำงาน การค้นคว้าหาข้อมูลและหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอย่างไร
    ที่จริงแล้วผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์   ผมเป็นนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาด้านชาติพันธุ์ (ethnography)  งานการศึกษาของนักมานุษยวิทยาต่างกับนักโบราณคดีอย่างหนึ่งคือนักโบราณคดีเน้นการศึกษาอดีตที่ไกลมากในยุคประวัติศาสตร์  แต่นักมานุษยวิทยาเน้นการศึกษาด้านสังคมปัจจุบันโดยใช้คนเป็นตัวตั้ง และถ้าจะศึกษาสังคมปัจจุบันต้องย้อนกลับไปศึกษาถึงสังคมของคนที่อยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สังคมไม่ใช่ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม
    ฉะนั้นวิธีการศึกษาของผมในฐานะเป็นนักมานุษยวิทยา ผมจึงมองแบบประวัติศาสตร์ท้องถิ่นว่าเป็นเรื่องคนในท้องถิ่นนั้นที่สัมพันธ์กับพื้นที่ เน้นการศึกษาที่ต่อเนื่อง  ซึ่งความเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผมต้องศึกษาย้อนหลังขึ้นไปถึงบรรพบุรุษของพ่อแม่ปู่ย่าตายายจนถึงในระดับที่นับเรียงลำดับไม่ได้แล้วว่าคนในท้องถิ่นนี้เขาอยู่กันมากี่ชั่วคน การศึกษาแบบนี้ทำให้เข้าถึงคน เข้าใจคน แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงจะมองไม่เห็นในระดับนี้ จะเห็นแต่สมัยที่หมดไปแล้วคือ เป็นสมัยอยุธยา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนกลาง...อะไรทำนองนั้น
    ประวัติศาสตร์ที่นักมานุษยวิทยาอย่างพวกผมศึกษาอยู่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ตาย เพราะคนในท้องถิ่นจะมีความสัมพันธ์ที่สืบเนื่องต่อ ๆ กันมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน  ทำให้เข้าใจปัจจุบันได้  นี่คือหัวใจของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในความคิดของผม
    ส่วนวิธีการศึกษาและเก็บข้อมูลของเราก็คือ คุณต้องลงพื้นที่ เพราะงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบนี้ไม่ใช่งานเอกสาร เพราะชีวิตของคนในท้องถิ่นบางอย่างไม่ได้มีการเขียนบันทึกไว้ มีแต่อยู่ในความทรงจำของคนในท้องถิ่นที่เราจะได้ข้อมูลเหล่านี้จากการเข้าไปสัมภาษณ์ เข้าไปสังเกตการณ์ เข้าไปสัมผัสกับพื้นที่จริง
    ประสบการณ์ลองผิดลองถูกกับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
    ในระยะแรก การศึกษาแบบนี้ก็มีจุดอ่อนเหมือนกันเพราะว่าเราเข้าไปในฐานะที่เป็นคนนอกทำให้เห็นความเป็นไปในท้องถิ่นได้ไม่มากเท่ากับคนในพื้นที่ ถึงแม้จะเข้าไปสัมผัสเป็นเวลานานแค่ไหนก็ตาม  ดังนั้นแนวการทำงานจึงเปลี่ยนบทบาทจากเดิมเราจะนำอาจารย์และนักศึกษาลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ ไปเก็บข้อมูล แล้วรวบรวมเรียบเรียงเขียนขึ้นโดยตีความจากความเข้าใจของเราเอง ซึ่งการศึกษาแบบนี้ก็ได้ผลในระดับหนึ่งที่ยังเป็นภาพนิ่งเท่านั้น  แต่ถ้าต้องการให้การศึกษายกระดับขึ้นกว่านี้ เราก็เปลี่ยนมาให้ชาวบ้าน ให้คนในท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรม เจ้าของประวัติศาสตร์มาศึกษาประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นของตัวเอง จึงจะแลเห็นภาพเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลง โดยเราทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งทำให้เกิดความครบถ้วนในเนื้อหา เป็นฐานความรู้ที่รวมสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำให้สามารถมองว่าในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน
    ด้วยวิธีการศึกษาแบบนี้จะทำให้คนในท้องถิ่นรับรู้ว่าต่อไปในอนาคต เขาจะต้องพัฒนาตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นได้อย่างไร  ซึ่งเป็นการนำหลักคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ว่า “เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา” มาประยุกต์ใช้นั่นเอง
    ความยากในแต่ละพื้นที่
    การศึกษาประวัติศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการและขั้นตอนการทำงาน เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน  ความคิดของแต่ละกลุ่มคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนเข้าใจได้เร็ว บางคนเข้าใจช้า  เราต้องทำหน้าที่วิเคราะห์ ตีความ แยกหมวดหมู่ข้อมูลแต่ละประเภท
    ประวัติศาสตร์ที่ได้จากชุมชนไม่มีการบิดเบือนไปจากเดิมบ้างหรือ
    ไม่มีใครพูดถึงความจริงที่เกิดขึ้นในอดีตได้ 100%  แต่ว่าสิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่นี้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด   ถ้าใกล้ความเป็นจริงแล้วคนในท้องถิ่นเข้าใจ  จะดีกว่าที่คนนอกเป็นผู้เขียน เพราะเขียนยังไง ตีความแล้วก็ยังไม่เข้าใจ แล้วคนนอกก็ใช้สื่อกันเอง  แบบนี้จะใช้ประโยชน์ใด ๆ ไม่ได้เลย
    การสร้างเครือข่ายการทำงานวิจัยด้านนี้
    ใช้วิธีฝึกกลุ่มคนที่จะเข้าไปศึกษาในพื้นที่ ในลักษณะที่เป็นพี่เลี้ยงไม่ใช่เป็นพระเอก
    โดยแต่ละคนต้องมีแนวคิด มีทฤษฎี มีกรอบวิธีการคิดที่ช่วยให้มองอะไรได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล  คือศึกษาวิธีการต่าง ๆ ให้รู้พอสมควรอย่างยืดหยุ่น  และเมื่อลงพื้นที่แล้วต้องรู้จักปรับเปลี่ยน จัดการไปตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่
    ทำอย่างไรถึงจะให้ชาวบ้านรู้จักทำวิจัยผ่านประวัติศาสตร์ของชุมชนได้เหมือนอย่างนักวิชาการ
    มนุษย์ทุกคนมีสำนึกในประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือสำนึกอดีตอยู่แล้ว คนต่างจากสัตว์เดรัจฉานตรงที่คนมีความทรงจำ  ความทรงจำเป็นเรื่องของอดีต แล้วคนก็รู้จักอธิบายความเป็นมาของตัวเองด้วยอดีต  ซึ่งวิธีสร้างความทรงจำในอดีตของคนในแต่ละพื้นที่ไม่ใช่ความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เราเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เป็นความจริงที่เขาจินตนาการขึ้นมาเพื่อที่จะอธิบายตัวเขาเองโดยเอาเหตุการณ์บางอย่างในอดีตมาปรุงแต่งให้เกิดเป็นตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ  แล้วนำมาใช้สื่อกันเองระหว่างคนในพื้นที่
    มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องมีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ในทุกคนที่เป็นมนุษยชาติ แต่รูปแบบจะแตกต่างกันไปเท่านั้นเอง
    ความตื่นตัวที่ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาศึกษาอดีตของตัวเองมีมากน้อยแค่ไหน
    ผมว่าองค์ประกอบของการศึกษาความเป็นประวัติศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่นมีอยู่แล้ว  ไม่ว่าจะเป็นในรูปของกิจกรรม  ความเป็นมาของแต่ละหมู่บ้าน หรือแม้กระทั่งการกำหนดชื่อหมู่บ้าน ห้วยหนองคลองบึงต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นแล้วเป็นเจ้าของร่วมกัน
    ความเป็นไปได้ที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ
    ผมไม่ทราบ เพราะว่ามีความหลากหลายในเรื่องการตีความประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อย่างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในมุมมองที่ผมศึกษา ผมมองว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ที่มีชีวิตได้เพราะคนในท้องถิ่นเป็นผู้ทำให้มีชีวิต เป็นความทรงจำ ไม่ได้สิ้นไปตามยุคสมัย
    ยกตัวอย่างต้นแบบในพื้นที่ที่ได้เข้าไปศึกษา
    เป็นตัวอย่างประวัติศาสตร์ที่สร้างโดยคนท้องถิ่นเองอย่างเช่น วิถีชุมชน “ตลาดร้อยปี...สามชุก” จ.สุพรรณบุรี ที่ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง หากมองในแง่ประวัติศาสตร์ตลาดแห่งนี้มีคุณค่ามาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกความเจริญในอดีตของสามชุก ที่สำคัญยังบอกถึงรากเหง้าและความเป็นตัวตนของตลาดสามชุกอีกด้วย เพราะเขาสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นขึ้นมาจากจิตวิญญาณของคนสามชุก บวกกับความมีอัธยาศัยไมตรีของผู้คนที่นี่ ทำให้เกิดตลาดมีชีวิตขึ้นมาโดยไม่ได้พึ่งรัฐเลย
    เมืองโบราณจันเสน  อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์  เป็นชุมชนโบราณนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการขุดค้นพบ บริเวณเมืองโบราณนี้ได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก หลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานของชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงรากฐานของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในท้องถิ่น นำไปสู่ความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชนในการช่วยกันเก็บรักษาสิ่งของ และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ให้คนทั่วไปได้ทราบ ผ่านการจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสน”
    ชุมชนหนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี  ที่อยู่ร่วมกันได้เพราะชุดภูมิปัญญาของการจัดการ เช่น การจัดการเรื่องการทำขนมและอาหาร การจัดการเรื่องผ้าพื้นบ้านหรือการจัดการเรื่องวิถีความเชื่อ หม้อยาย เป็นการจัดการในระดับความสัมพันธ์ที่ร้อยรัดทุกชีวิตเข้าด้วยกัน  นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดจากรุ่นไปสู่รุ่นเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต มีจิตวิญญาณไม่ตายด้านเหมือนกับศิลปการแสดงเชิงธุรกิจ  ชุมชนหนองขาวกำลังเผชิญกับการรุกรานทางวัฒนธรรมภายนอกแต่ก็ไม่ยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียว เรียกว่า ปรับตัวเพื่อการรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมของตนเอาไว้
    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นรู้จักตัวเองผ่านประวัติศาสตร์ของตนเอง
    คือได้เข้าไปช่วยสร้างพลังท้องถิ่น (empowerment) ให้คนในท้องถิ่นมีสติปัญญา มีความเชื่อมั่น มีศรัทธาในตนเอง ท่ามกลางกระบวนการพัฒนาประเทศแบบรวมศูนย์เพราะวิธีการที่รัฐปฏิบัติต่อคนในท้องถิ่นอยู่ในขณะนี้ก็คือการทำให้คนในท้องถิ่นเป็นคนชายขอบมากขึ้น…วิธีการสร้างพลังท้องถิ่น เป็นการเคลื่อนไหวจากข้างล่าง จากนักวิชาการที่เข้าใจที่ไปร่วม แต่ไม่สามารถจะต้านพลังจากข้างนอกที่ทับถมเข้ามาตามกระแสเศรษฐกิจการเมืองซึ่งจะนำไปสู่ความวิบัติ
    กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้คือการปลูกฝัง เหมือนเวลาพื้นที่ราบจากการถูกทำลาย เมื่อว่างเว้นไปมันก็จะผุดออกมาเป็นหญ้าแพรก  ซึ่งถ้าเราไม่ทำ มันก็ไม่เกิด เปรียบเหมือนกับเมื่อมันราบไปแล้ว เอาปูนซีเมนต์มาราด หญ้าแพรกก็ผุดไม่ได้
    การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีส่วนช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนอะไรบ้างในแง่ระบบการศึกษาของประเทศ
    ในกระบวนการทางสังคมระบบการศึกษามี 2 แบบคือ (1) การเรียนรู้ (learning) และ (2) การปลูกฝังวัฒนธรรม (cultivation) และการอบรมทางสังคม (socialization)
    การเรียนรู้ ก็คือการเรียนในระบบโรงเรียน  มหาวิทยาลัย  ส่วนการปลูกฝังวัฒนธรรมหรือการอบรมทางสังคม เป็นการปลูกฝังให้กลุ่มคนที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นได้เรียนรู้อดีตของตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาไทย
    ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ชุมชนท้องถิ่นเขาศึกษาจากการอยู่รวมกัน เป็นมิติในเรื่องความเชื่อแบบองค์รวมของคนท้องถิ่น  ทำให้คนในท้องถิ่นรู้จักตัวเองว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน แล้วปัจจุบันเป็นอย่างไร อยู่ในตำแหน่งไหนของบ้านเมือง  ในขณะที่ ณ เวลานี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาจากระดับบนสู่ระดับล่าง ทำให้เกิดการทำลายกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ทำให้คนในท้องถิ่นไม่รู้จักตัวเอง
    ขณะนี้การบริหารบ้านเมืองเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก  นโยบายด้านการศึกษาเน้นผลิตคนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย  แต่ในอดีตนั้นจะใช้วิธีสอนให้คนเป็นคน ปลูกฝังให้คนอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมเพื่อที่จะอยู่รอดร่วมกัน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่เป็นกลุ่มจึงมีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน มนุษย์อยู่ในพื้นที่ที่ต้องมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ใช้พื้นที่เพื่อการทำมาหากิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดโยงจนเกิดเป็นเรื่องราวของท้องถิ่นที่เรียกว่า “วัฒนธรรม”
    ตอนนี้ระบบการศึกษาไทยทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
    บ้านเมืองในขณะนี้ถึงเป็นเช่นนี้ไง คนก็ไม่รู้จักตัวเองแล้วเป็นเหยื่อของการพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เริ่มเป็นปัจเจก ไม่ได้อยู่รวมเป็นกลุ่มก้อนเหมือนเมื่อก่อน  ชุมชนที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นบ้านจัดสรรเกิดใหม่ คอนโดมิเนียม ที่ไม่ได้สร้างความเป็นชุมชน ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม  เพราะฉะนั้นประเทศเราถึงเกิดเป็นประเทศที่เป็นรัฐไร้สังคม (state without society) ซึ่งอันตรายมาก  การบริหารงานบ้านเมืองแบบรวมศูนย์ไปที่ส่วนกลางทั้งหมด เกิดการฉ้อฉล การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกลุ่มคน การทำผิดศีลธรรมประเพณี
    สังคมไทยที่ดีในความหมายของอาจารย์เป็นอย่างไร
    เราต้องกลับไปทบทวนในสิ่งที่ผมกล่าวไว้ในตอนต้น เพราะสิ่งเหล่านี้คือความเป็นมนุษย์  แต่ถ้าเรายังสอนให้คนเป็นทรัพยากร เน้นแต่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนเกินไป บอกได้เลยว่านี่คือส่วนหนึ่งที่จะทำลายสังคมไทย
    พวกเราทำงานกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เรามีมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ให้เราสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เท่าที่เราสามารถทำได้  เพราะอย่างน้อยเราเกิดมา เราก็ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่าที่เราทำได้...ไม่ต้องไปคิดมาก
    ประวัติศาสตร์ที่เราได้รับรู้จากท่านอาจารย์เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต การหันกลับไปมองอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจะทำให้มองเห็นแนวโน้มของสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต  การเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงภายในแบบนี้นี่เอง... เมื่อนำมาวิเคราะห์รวมกับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากข้างนอก ดังเช่นจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองจากภาครัฐ ก็คือ การทำความเข้าใจที่จะนำไปสู่การควบคุมการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยได้
แหล่งที่มาของข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ