ธรรมจักขุ โดย สมเด็จพระสังฆราช


ธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรม
›››››
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]
 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ปัญญาในธรรมนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าธรรมจักขุ หรือธรรมจักษุ แปลว่าดวงตาเห็นธรรม ดังเช่นดวงตาเห็นธรรมที่เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะ เมื่อฟังปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าจบลง ดังที่มีแสดงไว้ในท้ายพระสูตร ที่ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนะ แปลว่ายังจักรคือธรรมให้เป็นไป คือกลิ้งล้อธรรมไปในโลกเป็นครั้งแรก ดังที่มีแสดงไว้ว่าธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรมบังเกิดผุดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่ายงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สพฺพนฺตํ นิโรธธมมํ สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ความรู้ที่ผุดขึ้นแก่ท่านดั่งนี้เรียกว่าธรรมจักษุ หรือธรรมจักขุ ที่ท่านพระอาจารย์ได้แสดงว่าสำเร็จเป็นโสดาบันบุคคล ธรรมจักขุหรือธรรมจักษุดังกล่าวจึงเป็นมรรค หรือโสดาปัติมรรค สืบถึงโสดาปัตติผล ท่านผู้ได้บรรลุถึงก็เป็นโสดาบันบุคคล
ความรู้ในทุกขสัจจะ
พิจารณาความในธรรมจักษุนี้ก็จะกล่าวได้ว่า ท่านพระโกณฑัญญะได้เกิดความรู้ขึ้น ในทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์นั้นเอง นำความรู้ในสัจจะอีก ๓ ข้อ คือความรู้ในสมุทัยสัจจะสภาพที่จริงคือสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ นิโรธสัจจะสภาพที่จริงคือนิโรธความดับทุกข์ มรรคสัจจะสภาพที่จริงคือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะท่านพระโกณฑัญญะได้ฟังปฐมเทศนา
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ด้วยญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือพระองค์ได้ตรัสรู้ด้วยพระญาณที่มีวนรอบ ๓ คือวนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยเป็นสัจญาณรู้สัจจะคือความจริงว่า นี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี้เป็นนิโรธความดับทุกข์จริง นี้เป็นมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง วนไปโดยเป็นสัจญาณดั่งนี้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ รอบหนึ่ง โดยเป็นกิจญาณคือเป็นกิจที่ควรทำควรปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ว่าทุกข์ควรกำหนดรู้จัก สมุทัยควรละ นิโรธควรกระทำให้แจ้ง มรรคควรปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ดั่งนี้รอบหนึ่ง โดยเป็นกตญาณ คือความหยั่งรู้ว่าได้ทำกิจเสร็จแล้ว คือได้กำหนดรู้จักทุกข์แล้ว ได้ละสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ได้ทำให้แจ้งนิโรธความดับทุกข์แล้ว ได้อบรมปฏิบัติมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ให้มีให้เป็นขึ้นสมบูรณ์แล้ว ดั่งนี้รอบหนึ่ง จึงเป็นญาณที่วนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สามรอบดั่งนี้ และสามสี่หน หรือสี่สามหนก็เป็น ๑๒ จึงเรียกว่ามีอาการ ๑๒
พระอาจารย์ได้แสดงว่า อาการทั้งสิบสองนี้ไม่ใช่ ๑๒ ญาณ คือไม่ใช่ญาณคือความหยั่งรู้ ๑๒ หน ๑๒ อย่าง แต่ว่าเป็นญาณอันเดียวที่บังเกิดขึ้นในขณะเดียว
ในข้อนี้หากจะคิดสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะอริยสัจจ์ท่านก็มีถึง ๔ และวนไป ๓ รอบ ก็ตั้ง ๓ รอบ และจำแนกออกโดยอาการทั้งหมดก็เป็น ๑๒ ข้อสงสัยนี้ถ้ามาเทียบกับวาจาที่พูดที่แสดงก็อาจจะน่าสงสัย เพราะในการพูดการแสดงนั้น จะพูดคำเดียวให้คลุมไปถึงญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดังกล่าวหาได้ไม่ ต้องพูดมากคำ จำแนกแจกแจงออกไป พระพุทธเจ้าเองทรงแสดงปฐมเทศนา ก็ทรงแสดง ต้องใช้พระวาจาแสดงหลายถ้อยคำ มากถ้อยคำ
แต่ว่าเมื่อเป็นเรื่องของญาณคือความหยั่งรู้ซึ่งไม่ใช่วาจา แต่เป็นความรู้ของจิตใจแล้ว ความรู้นั้นอาจจะรู้ได้ฉับพลันทันที หนเดียวครอบไปหมด ทั้งวนรอบ ๓ ทั้งอาการ ๑๒ ไม่ต้องถึงความรู้ทางปัญญา แม้ความรู้ทางตาก็ดูหนเดียวครอบได้ อย่างการดูนาฬิกา ดูที่หน้าปัทม์นาฬิกา ดูหนเดียวเท่านั้นก็เห็นทั้งหมด เห็นเครื่องหมาย ที่แสดงถึงนาที วินาที ถึงชั่วโมง และเข็มสั้นเข็มยาวที่ชี้อยู่ตรงไหน มองแพล็บเดียวก็เห็นได้หมด และเพราะเห็นได้หมดแพล็บเดียวนั้น จึงบอกเวลาได้ ว่าเวลาเท่านั้นโมง เท่านั้นนาที เท่านั้นวินาที ถ้าหากว่าไม่สามารถจะเห็นทีเดียวได้หมดแล้ว คือต้องแยกดูชั่วโมงครั้งหนึ่ง เป็นโมงๆ ไป นาทีครั้งหนึ่ง วินาทีครั้งหนึ่ง โดยไม่รวมกันแล้ว ก็รู้เวลาไม่ได้ จะรู้เวลาได้จะต้องเห็นพร้อมกัน และตาที่มองนั้นก็เห็นได้ เห็นได้พร้อมกัน แล้วก็รู้ได้
ฉะนั้น พระอาจารย์จึงแสดงว่า ญาณที่เป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมนั้น จะต้องเห็นพร้อมกัน ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา และญาณที่เห็นอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นั้นก็ต้องเห็นพร้อมกันทีเดียว จึงจะเป็นโพธิคือความตรัสรู้ หรือว่าเป็นญาณะความหยั่งรู้ เป็นปัญญาความรอบรู้ที่เป็นโพธิคือความตรัสรู้ ต้องเห็นพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๔
แม้ธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรมของท่านพระโกณฑัญญะ ท่านก็ฟังอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นข้อๆ ไป ว่าทุกข์คืออย่างไร สมุทัยคืออย่างไร นิโรธคืออย่างไร มรรคคืออย่างไร แล้วจึงแสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ซึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้ด้วยพระญาณที่เป็นอันเดียวกัน คือแว็บเดียว ครั้งเดียวคราวเดียว รวมกันทั้งหมด ดั่งที่ได้กล่าวเทียบว่าเหมือนอย่างดูหน้าปัทม์นาฬิกาเห็นคราวเดียวทั้งหมด และเพราะเห็นคราวเดียวทั้งหมดดั่งนี้จึงเป็นตรัสรู้ ถ้าแยกเห็นก็ยังไม่ตรัสรู้ แต่ถ้ารวมเห็นจึงตรัสรู้ เหมือนอย่างดูนาฬิกาต้องเห็นทั้งหมดจึงจะรู้เวลา ถ้าไม่เช่นนั้นก็รู้เวลาไม่ได้
ภูมิของโสดาปัติมรรค
เพราะฉะนั้น แม้ธรรมจักษุที่บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา หรือจะแปลให้สั้นเข้าอีกก็อาจจะแปลได้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดก็ต้องดับเป็นธรรมดา ก็เป็นความรู้ในอริสัจจ์ทั้ง ๔ เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เป็นทุกขสัจจะข้อเดียว แต่ว่าสำหรับที่แจ่มกว่าทั้งหมดนั้น ก็คือทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ สำหรับในภูมิของโสดาปัติมรรคโสดาปัติผล ซึ่งทำให้ท่านผู้บรรลุเป็นโสดาบัน คือทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์แจ่มกว่าข้ออื่น ข้ออื่นนั้นยังไม่แจ่มชัดนัก เพราะเป็นภูมิพระโสดาบันบุคคล ต่อเมื่อเป็นภูมิของพระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ จึงจะแจ่มจรัสเต็มที่ทั้ง ๔ อริยสัจจ์ เป็นโพธิคือความตรัสรู้ที่สมบูรณ์ทั้ง ๔ อริยสัจจ์ ตัดกิเลสได้ทั้งหมด
ฉะนั้น แม้จะแจ่มในแค่ทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ก็เป็นข้อสำคัญ
เพราะว่านำเข้าสู่อริยภูมิ ซึ่งเป็น นิยตฐานะ คือเป็นฐานะที่แน่นอน ไม่มีถอยหลัง กลับกลอก กลับเป็นบุถุชนอีก มีจะเดินก้าวหน้าไปสู่เบื้องหน้า ที่ท่านแสดงว่าอย่างช้าก็อีก ๗ ชาติ ก็จะเป็นอรหันตบุคคล ซึ่งเป็นอริยบุคคลชั้นสูงสุด
รู้แต่ทำไมยังไม่สำเร็จ
และหากจะมีปัญหาอีกว่า ทุกๆ คนที่ศึกษาพระพุทธศาสนาก็ย่อมจะได้ทราบ ตามคำสั่งสอนดั่งกล่าว ว่าทุกสิ่งมีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ดับไปเป็นธรรมดา ก็เรียกว่ามีความรู้เหมือนกัน แต่ทำไมยังไม่สำเร็จ ในข้อนี้ก็ตอบได้ว่า เพราะความรู้ที่รู้นั้นเป็นความรู้จำ จำตามที่ท่านสั่งสอนเอาไว้ แสดงเอาไว้ ยังไม่ใช่เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นแก่ตนเอง และก็หากว่าจะมีคำถามแย้งขึ้นว่า ตนเองนั้นก็รู้เหมือนกันว่าทุกสิ่งที่เกิดก็ต้องดับ เหมือนอย่างรู้ว่าชีวิตนี้ที่เป็นอยู่นี้ เกิดมาก็ต้องแก่มาโดยลำดับจนบัดนี้ และในที่สุดก็ต้องตาย เมื่อเป็นดั่งนี้ยังไม่เรียกว่ารู้อีกหรือ
ก็ตอบได้ว่า ก็รู้เหมือนกัน แต่ยังเป็นความรู้ที่หยาบ คือรู้ว่าเกิดมาก็ต้องตาย แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทุกคนยังไม่ตาย ความตายยังอยู่ข้างหน้า ความเกิดนั้นก็เกิดมาแล้ว มีอายุเท่านั้นเท่านี้ในบัดนี้ ความตายยังอยู่ข้างหน้า แล้วยังไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ แล้วก็ยังไม่อยากตาย ยังอยากที่จะเจริญอายุไปยืนยาว แล้วก็ถือว่าความมีอายุยืนนั้นเป็นพร คือเป็นสิ่งที่ต้องการ จึงมีให้พรว่า อายุ วัณโณ สุขัง พลัง กันอยู่เป็นประจำ ในเมื่อทำบุญสุนทานพระก็ให้ศีลให้พร ยถา สัพพี ..ก็ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง
เพราะฉะนั้น ในบัดนี้จึงยังเป็นอยู่ เกิดก็เกิดมาแล้ว จนถึงอายุเท่านี้แล้ว ก็เกิดมานานปี น้อยหรือมากต่างกัน แล้วก็จะอยู่ต่อไปอีก ก็อยากจะให้อยู่นานๆ ไม่อยากให้ตาย ก็แปลว่าเดี๋ยวนี้เป็นอยู่ไม่ตาย
ทุกคนจึงมีความรู้อยู่กับความเป็น เกิดนั้นเกิดมาแล้ว ตายก็ยังไม่มาถึง จึงเหมือนอย่างว่าไม่รู้เกิดไม่รู้ตาย รู้จักเกิดตามที่จำได้ว่าเกิดมาแล้ว รู้ตายก็คือว่า คิดว่าจะตายข้างหน้า ยังไม่รู้ว่าตายเมื่อไร แล้วยังไม่อยากตาย คนเราจึงอยู่กับความเป็น คือความเป็นอยู่เหมือนอย่างไม่เกิดไม่ตาย
ต้องรู้เกิดดับในปัจจุบัน
( เริ่ม ๑๘๐/๑ ) เพราะปรกติก็ไม่ได้นึกถึงเกิด ไม่นึกถึงตาย นึกแต่เรื่องเป็นอยู่ จะทำโน่น จะทำนี่ อะไรกันต่างๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงยังไม่เรียกว่ารู้เกิดรู้ดับ จะเรียกว่ารู้เกิดรู้ดับนั้น จะต้องรู้เกิดรู้ดับปัจจุบัน เหมือนอย่างว่า รู้ว่าเกิดเดี๋ยวนี้ตายเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ว่าเกิดเมื่อวานนี้ ตายพรุ่งนี้ หรือว่าเกิดเมื่อนั่นเมื่อนี่ ตายเมื่อนั่นเมื่อนี่ แต่รู้ว่าเกิดเดี๋ยวนี้ตายเดี๋ยวนี้ รู้ว่าเกิดดับบัดนี้พร้อมกันทีเดียว เป็นความรู้เกิดพร้อมกับดับ ไม่ใช่ว่าบัดนี้ยังไม่ดับ หรือบัดนี้ได้เกิดมาแล้ว แต่รู้ว่าเกิดบัดนี้ดับบัดนี้ รู้เกิดดับเป็นปัจจุบันพร้อมกัน และก็รู้ครอบโลกด้วย คือรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นสัตว์เป็นสังขารอะไรก็ตาม ต่างก็เกิดดับพร้อมกันดั่งนี้อยู่ตลอดเวลา
ความรู้ที่ผุดขึ้นเป็นปัจจุบันธรรม จึงจะเป็นญาณที่หยั่งรู้ เป็นปัญญารอบรู้ที่เป็นโพธิคือความตรัสรู้ และในขั้นโสดาบันบุคคลนั้น ก็จะต้องได้ญาณอย่างนี้ขึ้นมา ผุดขึ้นมาจากการฟังธรรมปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ความรู้ที่ทุกคนสามัญชนหรือบุถุชนรู้กันอยู่นี้ จึงยังไม่ใช่เป็นญาณปัญญาที่เป็นตัวโพธิดังกล่าว เป็นความรู้ที่สักแต่ว่ารู้ โดยที่ปัจจุบันนั้นทุกคนก็ต่างอยู่กับเรื่องความเป็นอยู่ รู้เป็นอยู่ เหมือนอย่างกับว่าไม่เกิดไม่ตายอยู่ด้วยกัน นึกกันได้ว่าจะทำอะไร ทำอะไร แล้วต้องการจะให้มีอายุไปยืนนาน เหมือนอย่างว่าไม่ตายกันอยู่ทุกวัน คนสามัญทั่วไปซึ่งเป็นอยู่ดั่งนี้ จึงยังไม่สำเร็จแม้เป็นโสดาบัน
จะเป็นโสดาบันนั้นจะต้องรู้เป็นปัจจุบันธรรมดังกล่าว และความรู้ที่เป็นปัจจุบันธรรมดังกล่าวดั่งนี้แหละ จึงจะเป็นเรียกว่า เป็นอริยสัจจ์แม้ในข้อทุกข์นี้แจ่มแจ้งชัดเจนขึ้น
เพราะฉะนั้น อริยสัจจ์ข้อที่ ๑ นี้ จึงเป็นข้อสำคัญ แม้เพียงข้อเดียวเมื่อแจ่มแจ้งขึ้น ก็นำให้บรรลุมรรคผลในชั้นที่ ๑ ได้ แต่แม้เช่นนั้น การที่หัดพิจารณาปฏิบัติเรื่อยๆ ไป ก็ย่อมเป็นประโยชน์ จะทำให้ปฏิบัติใกล้เข้าไปทุกที
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และทำความสงบสืบต่อไป
https://docs.google.com/viewer?a=v&pid=explorer&chrome=true&srcid=0B_nOh0gPsWNSNDVmZjVjYTktODRmZC00NjQ1LWI5NGYtNWU1NzUxYmVlYmI1&hl=en_US&pli=1
โครงการเพื่อสมเด็จพระสังฆราช  


สมเด็จพระสังฆราช ตรัสชัดพระต้องถือธรรมะเป็นใหญ่ ไม่ยึดติดกับอำนาจ เงินทอง สมณศักดิ์ ยอมสละชีวิตรักษาธรรมะได้ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง