เรื่องความมั่นคงพระศาสนา ๒


หมายเหตุอะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ
"..กรณีแม่ชีทศพรและวัดพิชัยญาติ.."




"ใช้วัดเป็นสถานที่ในการเผยแพร่คำสอนที่ขัดหลักทางพระพุทธศาสนา ถือว่าไม่ถูกต้องเป็นคำกล่าวของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ย้ำให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของการให้แม่ชีทศพรใช้วัดพิชยญาติการาม เป็นสถานที่เผยแพร่คำสอนอันพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนผ่านสาธารณชนว่า "ผิดไปจากหลักพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าราวฟ้ากับดิน"

ความจริงเรื่องนี้ก็มีข้อสงสัยมาตั้งแต่ต้นแล้ว เริ่มตั้งแต่แม่ชีเข้ามาอาศัยในวัดพิชัยญาติเมื่อหลายปีก่อน แล้วเริ่มสอนในแนวทางดูกรรมแก้กรรม หรือพูดให้เท่ห์ว่าแสกนกรรม ถ้าเราแยกเอาคำพูดของแม่ชีก็จะได้เนื้อหาเป็น 2 ส่วน คือ 1.การแสดงฤทธิ์ และ 2.แนวทางแห่งการแก้กรรม

ในการแสดงฤทธิ์นั้น แม่ชีสามารถลืมตาอ้าปากเล่าเรื่องกรรมเก่าของบุคคลที่เข้ามาถามได้อย่าชำนิชำนาญราวกับเห็นด้วยตา ถ้าเป็นภาษาพระก็เรียกว่ามีจักษุทิพย์ ส่วนนี้แม่ชีจะแสดงเป็นเบื้องต้น ที่นี้เมื่อคนเชื่อก็จะเข้าสู่กระบวนการของการ "แก้กรรมซึ่งเมื่อบุคคลนั้นๆ เชื่อเรื่องที่แม่ชีทำนายแล้ว การยินยอมให้แม่ชีชี้นำแก้กรรมก็ง่ายตามไปด้วย แต่ผลของการแก้กรรมของแม่ชีนั้นยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าได้ผลจริงหรือไม่

คำถามก็คือว่า รู้ได้อย่างไรว่าแม่ชีมีทิพยจักษุจริง

ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าแม่ชีมีหูทิพย์ตาทิพย์จริง ก็จะไปสู่กระบวนการขั้นต่อไปว่า การอวดภูมิเช่นนั้นต่อสาธารณชนนั้น ถูกหรือไม่ตามพระธรรมวินัย เช่นกรณีของพระภิกษุ มีพระพุทธบัญญัติ "ห้ามมิให้แสดงอุตริมนุสธรรม" ไม่ว่ากรณีใดๆ คือจะมีจริงหรือไม่มีจริงก็ห้ามแสดงทั้งสิ้น แต่กรณีแม่ชีทศพรนั้นมีการอ้างว่า "แม่ชีไม่ใช่นักบวช คือไม่ใช่พระภิกษุหรือภิกษุณี หรือสามเณร และกฎหมายก็ไม่ได้รับรองสถานภาพของแม่ชีว่าเป็นนักบวชไว้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม่ชีจึงไม่เข้าข่ายการต้องอาบัติหรือปรับโทษตามพระธรรมวินัยหรือตามกฎหมายคณะสงฆ์ ดังนั้น แม่ชีจึงสามารถอวดอุตริมนุสธรรมได้ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า พระพรหมโมลีใช้แม่ชีซึ่งไม่มีสถานะอะไรมาทำงานแทนพระสงฆ์วัดพิชัยญาติ เปรียบไปก็เหมือนการใช้แรงงานเถื่อน ซึ่งผู้ใช้นั้นมีความผิดในข้อหา "ขายชาติ"เป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่กรณีพระพรหมโมลีอาจจะต้องเปลี่ยนเป็นข้อหา "ขายศาสนา" แทน

ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่า แม่ชีมิได้มีทิพยจักษุดังที่อ้าง ก็จะเป็นกระบวนการลวงโลกทันที ซึ่งมีทั้งพระมหาเถระระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ มีฐานะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และดำรงตำแหน่งใหญ่โตถึงเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นหัวหน้า

ต่อคำถามที่ว่า รู้ได้อย่างไรว่าแม่ชีมีทิพย์จักษุจริง นั้น ความจริงแล้วเป็นเรื่องแรกเลยที่จะต้องพิสูจน์ให้ประจักษ์ชัด ก่อนจะอนุญาตให้ใช้ธรรมาสน์ของวัดพิชัยญาติแสกนกรรมแก่แม่ชี แต่พระพรหมโมลีก็บกพร่องอย่างแรง เมื่อไม่ยอมกระทำการพิสูจน์ให้กระจ่าง จะเพราะสาเหตุอันใดก็ไม่ทราบ แต่กลับปล่อยให้แม่ชีเข้ามาใช้ธรรมาสน์ของวัดพิชัยญาติทำการสอนมาตั้งหลายปี จนกระทั่งวันนี้มีความพิรุธปรากฏต่อสาธารณชน ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียต่อวงการคณะสงฆ์อย่างหนัก เพราะพระพรหมโมลีมียศเป็นถึงรองสมเด็จและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ซึ่งทรงอิทธิพลสูงสุดในวงการคณะสงฆ์ไทยอีกด้วย การปล่อยให้แม่ชีทำการสอนโดยไม่พิสูจน์เสียก่อนนั้น ก็เท่ากับการปล่อยให้ประชาชนลองผิดลองถูกเอาเอง แต่เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ผู้คนนำมามอบให้แก่แม่ชีด้วยความเชื่อศรัทธานั้น แม่ชีก็นำไปถวายพระสงฆ์ทั้งที่วัดพิชัยญาติและวัดอื่นๆ จนพระที่รับเงินทองของแม่ชีไปแล้วพูดไม่ออก การที่พระมหาเถระและพระสงฆ์ทั่วไป ยอมรับจตุปัจจัยที่บอกบุญโดยแม่ชีทศพร จึงทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าแนวทางการสอนของแม่ชีทศพรนั้นถูกต้องแล้ว มิเช่นนั้นคงไม่ได้รับการยอมรับจากพระพรหมโมลี และมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ความมีชื่อเสียงของแม่ชีนั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากการอิงอาศัยพระมหาเถระคือพระพรหมโมลี รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. อันมีพระธรรมโกศาจารย์ เป็นอธิการบดี องค์ปัจจุบัน ยกย่องกันออกหน้าถึงกับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่แม่ชีทศพรเมื่อสองปีที่ผ่านมา แต่วันนี้กลับปรากฏว่าแม่ชีมิได้สอนถูกต้องตามพระธรรมวินัยเลย จึงไม่ทราบว่าสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อนุมัติปริญญาระดับด๊อกเตอร์ให้แก่แม่ชีทศพรได้อย่างไร เป็นที่อับอายขายขี้หน้าอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ เราเคยเตือนพระพรหมโมลีเมื่อ 7 ปีมาแล้ว ตอนที่แม่ชียังไม่หยั่งรากกว้างขวางเหมือนในปัจจุบัน (อ่านมุมมองของพระมหานรินทร์ วันที่ 28 .. 2548) แต่วันนั้นพระพรหมโมลีหน้ามืดเกินกว่าที่จะฟังใคร และสุดท้ายก็มาถึงวันนี้ วันที่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมต้องออกมาพูดว่า "ใช้วัดเป็นสถานที่ในการเผยแพร่คำสอนที่ขัดหลักทางพระพุทธศาสนา ถือว่าไม่ถูกต้อง"

คำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนั้น ถือว่าเป็นคำถามตรงต่อพระพรหมโมลี ในฐานะเจ้าอาวาสวัดพิชัยญาติ ว่าอนุญาตให้แม่ชีมาสอนผิดหลักพระธรรมคำสอนในวัดพิชัยญาติได้อย่างไร และทำไม เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว พระพรหมโมลีและคณะสงฆ์วัดพิชัยญาติกลับเมินเฉย ไม่ดำเนินการใดๆ ให้กระจ่างต่อสาธารณชนว่าแม่ชีสอนผิดหรือถูก

ความเป็นพระผู้ใหญ่ระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ดูแลสังฆมณฑล และได้รับความไว้วางใจจากมหาเถรสมาคมไห้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ถือว่าเป็นอะไรที่มากกว่ามาก มิใช่แค่อ้อมแอ้มว่าเคยเตือนแม่ชีแล้วว่าสอนไม่ถูก ดังนี้เท่านั้น แต่ทั้งตัวพระพรหมโมลีและบริวารรวมทั้งแม่ชีทศพรด้วย ต้องสำรวมระวังพยายามประคับประคองตัวเองให้ "ไม่ผิดเลย" ทั้งนี้เพราะท่านเป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์ทั้งประเทศ ต้องเป็นตัวอย่างทั้งด้านพฤติกรรมส่วนตัวและพฤติกรรมต่อสาธารณชน แต่ภาพของแม่ชีทศพรที่ปรากฏต่อสาธารณชนผ่านสื่อกลับมิได้เป็นเช่นนั้น มีการแก้กรรมด้วยวิธีลามกอนาจารสนุกสนานเฮฮา ไม่ต่างไปจากตลกคาเฟ่ ซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ เมื่อได้ชมก็เรียกร้องให้หยุดการเผยแพร่เทปวิดีโอดังกล่าว เพราะจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อผู้คนในสังคม นี่แค่จิตสำนึกพื้นฐานสังคมไทยก็รับไม่ได้แล้ว นับประสาอะไรกับเรื่องภูมิจิตภูมิธรรมอันสูงส่งกว่านั้น

มีคำกล่าวว่า "เลือกนายกรัฐมนตรี มิใช่เลือกสังฆราช" ความหมายว่า นายกรัฐมนตรีนั้นเป็นผู้นำในทางการเมือง ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาสารพัด อาจจะมีทั้งปัญหาสีขาว สีดำ และสีเทา เข้ามาเกี่ยวข้อง การจะหานักการเมืองที่บริสุทธิ์สะอาดเหมือนพระสงฆ์นั้นยากยิ่ง แต่สำหรับพระสงฆ์นั้น ต้องตั้งบรรทัดฐานในด้านความบริสุทธิ์สะอาดเอาไว้ก่อน แม้ว่าจะเก่งกาจเพียงใด แต่ถ้าไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว ก็หมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าสงฆ์โดยปริยาย

ประวัติของพระพรหมโมลีอีกส่วนหนึ่งซึ่งน่าสนใจก็คือ ท่านเคยเป็นประธานศาลสงฆ์ในการนิคหกรรมพระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกายเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งตอนนั้นวัดพระธรรมกายมีปัญหาว่าด้วยคำสอนผิดแนวไปจากพระไตรปิฎก คือสอนว่าพระนิพพานเป็นอัตตา ซึ่งปรากฏว่าจนป่านนี้ศาลสงฆ์โดยพระพรหมโมลียังไม่ยอมพิพากษาออกมาว่าวัดพระธรรมกายสอนผิดหรือถูก อาศัยแต่การยกคำร้องของศาลฎีกาว่าด้วยการคืนทรัพย์สินและความสมานฉันท์ ปล่อยเรื่องให้หายไปตามสายลม นั่นถือว่าเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงแล้ว แต่วันนี้กลับมีเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่า เมื่อเกิดกรณีแม่ชีทศพรขึ้นในวัดพิชัยญาติของพระพรหมโมลีเอง ถ้าหากพระพรหมโมลีไม่สามารถจะสะสางปัญหานี้ให้กระจ่างได้อย่างโปร่งใส ก็อย่าหวังว่าจะไปดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ เพราะจะไม่ต่างไปจากพระที่ไม่ยอมล้างเท้าก่อนขึ้นธรรมาสน์ สอนไปใครจะเชื่อ สั่งไปใครจะทำ พูดไปใครจะนับถือ ถึงเป็นใหญ่เป็นโตก็จะเจอแต่พวกประจบสอพลอตอแหลไปวันๆ ไม่ต่างไปจากนักการเมือง ถ้าหมดอำนาจวาสนาเมื่อใดก็อาจจะกลายเป็นคนอนาถา ไม่มีแม้แต่ข้าวจะกิน หมือนอดีตพระสังฆาธิการระดับสูงในกรุงเทพฯบางรูปในอดีต อย่าเล่นกับกรรมนะท่าน แค่ที่มันเสื่อมเสียทุกวันนี้ก็มิใช่เพราะท่านเลินเล่อกับกรรมดอกหรือ

เชื่อแน่ว่าต่อไป พระพรหมโมลีอาจจะได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งนั่นท่านจะเป็นแคนดิเดทสมเด็จพระสังฆราชไปในทันที

แต่เมื่อมีมลทินเกิดกับตัวท่านในวันนี้ ขอเรียนถามพระพรหมโมลีว่า จะตอบคำถามท่านรัฐมนตรีข้างต้นโน้นว่าอย่างไร ?


ด้วยความเคารพอย่างสูง



อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม
วัดไทยลาสเวกัส
4
พฤษภาคม 2554




ยืนยันพันเปอร์เซ็นต์
แก้กรรมฉบับวัดพิชัยญาติผิดหลักพุทธศาสนา
สำนักพุทธฯเล็งออกหนังสือแก้กรรมของชีทศพร


นิพิฏฐ์ย้ำ "ใช้วัดเป็นสถานที่ในการเผยแพร่คำสอนที่ขัดหลักทางพระพุทธศาสนา ถือว่าไม่ถูกต้อง"

อา..พระเดชพระคุณพระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดพิชัยญาติ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ว่าไงฮะ

ถูกหรือไม่ถูก ?



Bestseller
"เกิดแต่กรรม" โดยแม่ชีทศพร (ธนพร) หนังสือขายดีเมื่อหลายปีก่อน บัดนี้กลายเป็นหนังสือบ่อนทำลายพระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว



มส.เล็งปั๊มหนังสือแก้กรรมแจง ปชช.ทำความเข้าใจ “นิพิฏฐ์” แนะ “แม่ชีทศพร” แก้กรรมตัวเอง

วันนี้ (2 .). ดร.อำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีแม่ชีทศพร เทวาพิทักษ์ หรือแม่ชีใหญ่ หรือนางมาลินี ชัยปกรณ์ ที่มีพฤติกรรมและวิธีแก้กรรมไม่เหมาะสมนั้น ว่า ตนมองว่าเรื่องนี้น่าจะจบแล้ว เพราะแม่ชีได้กล่าวขอโทษไปแล้ว เชื่อว่าแม่ชีจะปรับวิธีการสอนใหม่ แต่ก็จะให้เจ้าหน้าที่คอยติดตามตรวจสอบหลังจากนี้ว่าได้ปรับเปลี่ยนไปคำไปในทิศทางใด รวมทั้งในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันเกิดของแม่ชีทศพรด้วย ซึ่งในการไปทำบุญมีผู้มาปฏิบัติธรรมจำนวนมาก
ดร.อำนาจ  กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามกรณีหลายฝ่ายเสนอว่าให้ พศ. ทำความเข้าใจและให้ความรู้เรื่องการกรรมและการแก้กรรมนั้น เมื่อเกิดกรณีนี้ พศ.กำลังมีแนวคิดรวบรวมความรู้และบทความ คำสอนเกี่ยวกับกรรมและการแก้กรรมที่ถูกต้อง ทำเป็นหนังสือและจัดพิมพ์เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบวิธีการแก้กรรมและเข้าใจเรื่องกรรม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะพิมพ์แจกจ่ายประมาณ 4-5 พันเล่ม ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแม่ชีรายอื่นๆ ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ในส่วนของบทบาท วธ. คงจบแล้ว เพราะได้ทำหน้าที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นและปัญหาได้รับการแก้ไขไปแล้ว แต่ก็ยังยืนยันว่า การใช้วัดเป็นสถานที่ในการเผยแพร่คำสอนที่ขัดหลักทางพระพุทธศาสนา ถือว่าไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ถ้าแม่ชีรับปากว่าจะปรับเปลี่ยนแต่ท้ายที่สุดยังเหมือนเดิม ก็ต้องปล่อยให้เป็นอำนาจของคณะสงฆ์ และเจ้าคณะปกครองต้องดำเนินการกันเอง ส่วนกรณีที่กระแสวิพากษ์เรื่องแม่ชีว่าจะเป็นทำลายชื่อเสียงนั้น โดยส่วนตัวมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่ชีทศพร ถือว่าเป็นกรรม ดังนั้นแม่ชีต้องแก้กรรม โดยทบทวนและปรับคำสอนใหม่ หากยังมีกระแสเรื่องนี้ วธ. พร้อมพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องการแก้กรรมไม่ว่าแม่ชีและส่วนอื่นๆ.


ข่าว : เดลินิวส์



สรุปเรื่องข้อมูล พระพรหมโมลีและเรื่องธรรมกาย ภัยต่อความมั่นคงของชาติ (สถาบันพระศาสนา)
        การที่ศาลอาญาพิจารณาให้ "ถอนฟ้อง" ได้ในครั้งนี้ นับเป็นกรณีที่แปลกประหลาด เพราะว่าเป็นการขอถอนฟ้องโดยผู้ฟ้องคืออัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดได้บอกเหตุผลแก่ศาลว่า เหตุที่ต้องขอถอนฟ้องพระธัมมชโยนั้น เพราะ
1. พระธัมมชโยได้คืนเงินให้แก่ทางวัดพระธรรมกายครบถ้วนทุกบาททุกสตังค์แล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงไม่มีเหตุผลที่จะฟ้องร้องเอาผิดอีกต่อไป
2. เรื่องพระธรรมคำสอน ได้รับความคิดเห็นสนับสนุนจากผู้รู้และมียศตำแหน่งในทางพระพุทธศาสนาสำคัญ 3 ท่าน คือ 1.อธิบดีกรมการศาสนา 2.ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 3.เจ้าคณะภาค 1 ซึ่งทั้งสามท่านยืนยันว่า พระธัมมชโยมิได้สอนสั่งนอกพระไตรปิฎกแต่อย่างใด ทั้งจำเลยยังได้ช่วยเหลือกิจการคณะสงฆ์ไทยเป็นอันมาก ทั้งในด้านการศึกษา การเผยแผ่ และสาธารณูปการ รวมทั้งการสาธารณสงเคราะห์ด้วย ซึ่งผลงานของวัดพระธรรมกายนั้นเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล มิใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น
3. ถ้าฟ้องร้องต่อไปให้สิ้นสุดกระบวนการ ก็จะเป็นการสร้างความแตกแยกในศาสนจักรและประชาชนคนไทยในชาติ
       นั่นเป็นเหตุเป็นผลที่ทางอัยการสูงสุดได้สืบเสาะหาในการอ้างต่อศาลเพื่อขอถอนฟ้องพระธัมมชโย ซึ่งก็เป็นการประจานตัวเองของอัยการว่า "นอกจากจะดำรงตำแหน่งอัยการแล้ว ยังรับจ็อบเป็นทนายช่วยแก้ต่างให้แก่พระธัมมชโยอีกต่างหากด้วย" และต่อไปนี้เป็น "มุมมองของพระมหานรินทร์" ต่อประเด็นที่อัยการขอถอนฟ้อง ประมวลเหตุผลที่อัยการได้อ้างมานั้น เราท่านจะเห็นว่า เป็นเหตุผลที่น่าฟัง แต่ก็ยังไม่สนิทใจ ก่อนอื่นต้องขอพูดคุยในเรื่องอำนาจหน้าที่ของอัยการเสียก่อน อัยการมีอำนาจหน้าที่ในการ "ยื่นฟ้อง" หรือ "สั่งฟ้อง" ต่อศาล เมื่อเห็นว่าจำเลยมีความผิดจริงตามหลักฐานพยานที่ปรากฏ แต่การยื่นหรือสั่งฟ้องต่อศาลของอัยการนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์หาเหตุผลว่ามีน้ำหนักเอาผิดจำเลยได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อเห็นว่าจำเลยทำผิดจริง มีหลักฐานพยานชัดเจน และเข้าข่ายคดีอาญา อัยการก็จะทำเรื่อง "สั่งฟ้อง" หรือ "ยื่นฟ้อง" ต่อศาล เพื่อขอให้พิจารณาตัดสินคดี และเมื่อยื่นฟ้องไปแล้ว ก็จะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาจะพิจารณาไต่สวนประมวลความผิดและตัดสินลงโทษหรือยกโทษให้แก่จำเลยซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการหักล้างกันในชั้นศาลเป็นประการสุดท้ายด้วย  นั่นเป็นนิยามของคำว่า "สั่งฟ้อง" หรือ "ยื่นฟ้อง" แต่สำหรับคดีพระธัมมชโยครั้งนี้ อัยการมีคำสั่งฟ้องหรือยื่นฟ้องไปนานแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างสืบพยานในศาลซึ่งทราบว่าเหลือพยานอีกเพียง 2 ปาก คดีก็จะสิ้นสุดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว ทว่า ก่อนที่คดีจะเดินทางไปจนสิ้นสุดกระบวนการอยู่แล้ว จู่ๆ อัยการก็ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาว่า "ขอถอนฟ้อง" ซึ่งมิใช่การสั่งไม่ฟ้อง  ตรงนี้ดูให้ดีนาท่านผู้อ่าน พระธัมมชโยนั้นถูกฟ้องโดยอัยการสูงสุดไปหลายปีดีดักแล้ว เพราะตอนนั้นอัยการพิจารณาจากพยานหลักฐานทุกประการแล้ว ก็ประชุมกันลงมติว่า "สมควรฟ้องศาลเพื่อเอาผิดพระธัมมชโย" แต่ต่อมา เมื่อดำเนินคดีไปได้หลายปีจวนจะจบแล้ว อัยการเกิดกลับใจกลับไปบอกศาลเสียใหม่ว่า "ไม่ติดใจเอาความกับพระธัมมชโยแล้ว" ตามเหตุผลที่ได้ยกมาอ้างข้างต้น
 ดังนั้น การถอนฟ้อง จึงมิใช่การไม่ฟ้อง หากแต่เป็นการไม่ฟ้องโดยได้ฟ้องไปแล้ว

    การถอนฟ้องพระธัมมชโยในครั้งนี้ มิใช่การตัดสินจากศาลอาญาว่า "พระธัมมชโยไม่ผิด" หากแต่เป็นการรอมชอมของอัยการก่อนศาลจะตัดสิน ซึ่งถ้าหากอ่านตามรูปการที่ว่า "คดีอาญายอมความไม่ได้" การถอนฟ้องครั้งนี้ก็ต้องนับว่าเป็นคดีมหัศจรรย์ หรือคดีทรงอิทธิพลแห่งยุคทีเดียว  นั่นเป็นบทบาทและหน้าที่ของอัยการสูงสุด และทีนี้ก็จะเข้าสู่ข้ออ้างในการขอถอนฟ้องของอัยการ 3 ข้อข้างต้น ตามข้อแรกนั้น อัยการอ้างต่อศาลว่า "พระธัมมชโยได้คืนเงินให้แก่ทางวัดพระธรรมกายครบถ้วนทุกบาททุกสตังค์แล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงไม่มีเหตุผลที่จะฟ้องร้องเอาผิดอีกต่อไป"
     ตรงนี้มีข้อวินิจฉัยใน 2 ประเด็น คือ
1. การที่พระธัมมชโยได้เบียดบังเงินวัดไปจัดซื้อจัดจ้างเป็นการส่วนตัวนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งครั้งแรกนั้นอัยการได้วินิจฉัยว่า "ผิด" จึงสั่งฟ้อง แต่เมื่อฟ้องไปได้เกือบสิ้นสุดคดีความแล้ว อัยการกลับอ้างว่า "พระธัมมชโยได้คืนเงินให้แก่วัดแล้วทุกบาททุกสตังค์ จึงไม่น่าจะฟ้องเพื่อเอาผิดอีก" เหตุผลก็คือ เพราะคืนเงินที่โกงมานั้นแล้ว ข้อสงสัยในประเด็นนี้ก็คือว่า ถ้าอัยการเห็นว่าการโกงเงินวัดนั้นเป็นความผิด เมื่อพระธัมมชโยได้โกงไป ก็แสดงว่าได้กระทำความผิดไปแล้ว แล้วอัยการก็สั่งฟ้อง แต่ตอนหลังพระธัมมชโยได้ขอไถ่โทษโดยการ "คืนเงินวัด" คำถามจึงมีว่า เมื่อมีการทำผิดนั้นครบถ้วนสมบูรณ์แล้วถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ ? และการคืนเงินให้แก่วัดพระธรรมกายถือว่าเป็นการไถ่ถอนความผิดได้หรือไม่ ?
     ยกตัวอย่างเช่นว่า ถ้ามีการปล้นธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งโจรได้เงินไป 10 ล้านบาท ตอนหลังโจรถูกจับได้ และถูกส่งฟ้องศาลในคดีอาญา ต่อมาโจรนั้นสำนึกผิด ได้นำเอาเงินมาคืนให้แก่เจ้าทุกข์คือธนาคาร และอัยการก็เห็นว่าจำเลยได้คืนเงินแล้ว จึงเห็นสมควรถอนฟ้องต่อศาลอาญา การกระทำเช่นนี้มีเหตุผลสมกันในวิจารณญาณของอัยการสูงสุดหรือไม่ ?

     ซึ่งตรงนี้ ถ้าศาลยินยอมให้ถอนคดีออกไปได้ ก็ถือเป็นมาตรฐานได้ว่า ต่อไปถ้ามีพระรูปไหนโกงเงินวัดไป แล้วถูกดำเนินคดี ก็แก้ตัวง่ายๆ เพียงหาเงินมาคืนให้ อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้อง ศาลก็สั่งปล่อยตัว ก็หมดมลทิน และอาจจะนำไปเทียบเคียงกับคดีโกงอื่นๆ ได้ด้วย โดยไม่ต้องมีการปรับไหมอะไรทั้งสิ้น
2. อัยการอ้างอิงพาดพิงถึงพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงมีพระสังฆราชวินิจฉัยไว้เป็น 2 ประเด็น คือ
      2.1 พระธัมมชโยได้สอนสั่งพระธรรมวินัยระบุว่า พระไตรปิฎกบกพร่อง ก่อให้เกิดความแตกแยกในคณะสงฆ์เป็นสองฝ่าย ถือเป็นการทำลายพระพุทธศาสนา เป็นอนันตริยกรรม  2.2 การเบียดบังทรัพย์สินของวัดไปเป็นสมบัติส่วนตัว พระธัมมชโยถ้าหากไม่มีเจตนาจะลักขโมยก็ต้องรีบคืนทรัพย์สินให้แก่วัดพระธรรมกายในทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ มิเช่นนั้นก็เข้าข่ายอาบัติปาราชิกข้อที่ 2 ต้องสิ้นสุดจากความเป็นพระ
      ซึ่งตามประเด็นในพระลิขิตทั้งสองข้อนั้นก็แบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เกี่ยวกับการทำลายพระธรรมคำสอน เป็นการสร้างความแตกแยกในคณะสงฆ์ ที่เรียกว่าสังฆเภท เป็นโทษขั้นอนันตริยกรรม ระดับเดียวกับข้อหาหนักอื่นๆ คือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ และทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงเสียพระโลหิต พระธัมมชโยโดนคดีทางพระธรรมวินัยในข้อนี้ ซึ่งนับว่าสาหัสมาก ซึ่งส่วนที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัยในข้อนี้ ต้องชี้ว่า "มิใช่อำนาจหน้าที่ของอัยการจะยื่นฟ้องต่อศาล" หากแต่เป็นอำนาจของ "ศาลสงฆ์" เท่านั้น ที่จะต้องพิจารณาไต่สวน ซึ่งคณะสงฆ์ได้ตั้งให้พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) วัดยานนาวา อดีตเจ้าคณะภาค 1 เป็นประธานในการสอบสวน ซึ่งได้สั่งปิดคดีไปหนหนึ่ง จนถึงพระพรหมโมลี (วิลาส) ถูกปลดจากกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะภาค 1 ส่งผลให้พระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 แทน และรับหน้าที่ประธานศาลสงฆ์สืบมา แม้กระทั่งวันนี้ศาลสงฆ์ก็ยังไม่สามารถลงมติได้ว่า "พระธัมมชโยผิดหรือถูก"
     ดังนั้น การอ้างเอาผู้รู้ทางพระพุทธศาสนา เช่น อธิบดีกรมการศาสนา ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือแม้แต่เจ้าคณะภาค 1 ซึ่งเป็นประธานศาลสงฆ์ มารับรองความบริสุทธิ์ของพระธัมมชโยในประเด็นเกี่ยวกับพระธรรมวินัย จึงน่าจะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของอัยการ อาจจะอ้างได้ก็เพียงเหตุผลเทียบเคียงเพื่อเพิ่มน้ำหนักหรือความชอบธรรมให้แก่จำเลยเท่านั้น เพราะอัยการไม่มีอำนาจสั่งฟ้องศาลในกรณีที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย และเพราะคณะสงฆ์ไทยก็มีศาลสงฆ์ไว้พิจารณาคดีนี้อยู่แล้ว จึงต้องแยกประเด็นให้ขัดเจนว่าอัยการฟ้องได้หรือไม่ได้ในประเด็นไหน ในข้ออ้างของอัยการเกี่ยวกับพยานบุคคลลำดับที่ 3 คือ เจ้าคณะภาค 1 ว่าได้รับรองว่าพระธัมมชโยมิได้สอนนอกกรอบพระธรรมวินัยแต่อย่างใด หากแต่ได้สอนถูกต้องตามกระบวนการในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น ตรงนี้มีประเด็นให้วินิจฉัยอีกข้อหนึ่ง คือว่า
     เจ้าคณะภาค 1 นั้น ตามกฎนิคคหกรรมซึ่งเป็นกฏหมายสำหรับชำระคดีความทางสงฆ์ กำหนดให้เจ้าคณะภาค 1 เป็นประธานศาลสงฆ์ในคดีพระธัมมชโยโดยตำแหน่ง ซึ่งน่าแปลกใจว่า ประธานศาลสงฆ์ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีความของพระธัมมชโย กลับไปแสดงตัวเป็นพยานให้พระธัมมชโยในคดีอาญา ถามว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ? คือตัวเองเป็นผู้พิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัยนี้ แต่กลับไปเป็นพยานยืนยันช่วยเหลือพระธัมมชโยในอีกศาลหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องเดียวกันคือพระธรรมวินัย ในขณะที่ศาลสงฆ์ของตัวเองนั้นทำเป็นเก้ๆ กังๆ สืบสวนเนินนาบเนิ่นช้า จนป่านนี้ก็ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาจากศาลสงฆ์ว่าพระธัมมชโยผิดหรือไม่ผิด นับเป็นความวิปริตในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยสมัยปัจจุบัน
      ตามที่อัยการอ้างว่า "จำเลยที่ 1 กับพวกได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000 บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว" จึงขอถอนฟ้อง ตรงนี้ต้องขอวิจารณ์ว่า คำอ้างของอัยการสมเหตุสมผลหรือไม่ ?
     1. ที่อัยการสั่งฟ้องพระธัมมชโยไปนั้น เพราะมีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชออกมากระนั้นหรือ คือหมายความว่า แต่เดิมนั้นพระธัมมชโยกระด้างกระเดื่องต่อสมเด็จพระสังฆราช อัยการจึงสั่งฟ้อง หากแต่บัดนี้พระธัมมชโยกลับใจประพฤติตัวเสียใหม่แล้ว มิกระด้างกระเดื่องอีกต่อไป อัยการจึงเห็นสมควรถอนฟ้อง
     แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่า ตรงนี้มิใช่อำนาจหน้าที่วินิจฉัยของอัยการเลย เพราะอัยการมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวพันเฉพาะคดีอาญาเท่านั้น มิได้เกี่ยวพันกับพระธรรมวินัยหรือพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนที่ระบุว่า "ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืนต่อพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช พระภิกษุสามเณรรูปนั้นมีความผิดเป็นคดีอาญา" ดังนั้นการอ้างว่า พระธัมมชโยปฏิบัติตามพระลิขิตทุกประการจึงขอถอนฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น หรือแม้แต่จะอ้างพระลิขิตเพื่อฟ้องก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
     2. ในพระลิขิตระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า พระธรรมชโยได้เผยแพร่คำสอนนอกพระไตรปิฎก เป็นการทำลายพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ไทย ทั้งยังเป็นการสร้างความแตกแยกให้แก่คณะสงฆ์ไทย เป็นถึงระดับอนันตริยกรรม ตามข้อนี้แสดงว่า พระธัมมชโยเป็นตัวก่อการสร้างความแตกแยกให้แก่ประชาชนในชาติ และทำลายสถาบันศาสนา อัยการเห็นเช่นนั้นตามพระลิขิตจึงสั่งฟ้อง แต่บัดนี้ อัยการเองนั่นแหละกลับพลิกสำนวนเสียใหม่ว่า การดำเนินคดีกับพระธัมมชโยเสียอีกที่เป็นการสร้างความแตกแยกในชาติและศาสนา จึงมีคำถามต่อมาว่า ถ้าหากอัยการพิจารณาเห็นว่า การดำเนินคดีต่อพระธัมมชโยเป็นการสร้างความแตกแยกจริง เหตุไฉนจึงได้ดำเนินการฟ้องร้องพระธัมมชโยต่อศาล หรือว่าตอนนั้นมันมิได้พิจารณากันในจุดนี้ ซึ่งอัยการอาจจะมองไม่เห็น หรือพิจารณาไม่รอบคอบ จึงสั่งฟ้องไป บัดนี้เห็นภัยใหม่เกิดขึ้นจึงขอถอนฟ้อง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ฟ้องไปถึงภูมิปัญญาในการทำงานเพื่อบ้านเมืองของอัยการสูงสุดเองว่าสมบูรณ์หรือบกพร่องเช่นใด
      สรุปประเด็นนี้ชัดๆ ก็คือว่า อัยการอ้างเหตุผลขัดกันเอง คือแรกนั้นสั่งฟ้องเพราะเห็นว่าพระธัมมชโยเป็นตัวการทำลายชาติและศาสนา แต่ต่อมากลับเปลี่ยนใจใหม่ว่า การดำเนินคดีกับพระธัมมชโยเป็นการทำลายชาติและศาสนา ดังนั้น การยุติคดีต่อพระธัมมชโยจึงเป็นการรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีในชาติ เอ่อ ยังงี้ก็มีด้วย

       ก็ดังที่ผู้เขียนได้สาธยายมาตามลำดับ คือว่า อัยการอ้างเอาพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชมาเป็นตัวหลักในการช่วยพระธัมมชโยให้พ้นจากการดำเนินคดี ทั้งๆ ที่อัยการไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาในพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชเลย อำนาจหน้าที่ของอัยการก็คือ พิจารณาดูว่า พฤติกรรมการเบียดบังทรัพย์สินของวัดพระธรรมกายไปนั้นเป็นคดีอาญาหรือไม่ แล้วก็สั่งฟ้อง ก็แค่นั้น ส่วนพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้นจะจริงหรือไม่จริง ก็มิใช่ประเด็นหลักที่จะนำมาอ้าง และเมื่อจะอ้างก็อ้างขัดกันอีก เพราะทีแรกก็อ้างว่าพระธัมมชโยผิดตามพระลิขิต จึงสั่งฟ้อง แต่ต่อมาก็อ้างว่า พระธัมมชโยได้ปฏิบัติตามพระลิขิตแล้ว จึงไม่ควรฟ้อง เพราะถ้าฟ้องก็จะเป็นการสร้างความแตกแยกในชาติ ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นการสร้างสมานฉันท์ในชาติมากกว่า เพราะการสั่งลงโทษคนผิดนั้นถือเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ต้องตัดสินโดยไม่มีการลูบหน้าปะจมูก และในกฎหมายอาญาก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่า "ถ้าพระหรือบุคคลใดมีอิทธิพลทางการเมืองหรือการศาสนามาก ก็ให้ใช้หลักรัฐศาสตร์ในการตัดสินคดี" ดังนี้เลย ยกเว้นก็แต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์
      ประเด็นสุดท้ายที่อัยการนำมาอ้างขอถอนคดีจากศาลอาญาก็คือ "ขณะนี้ บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักร โดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั้งในและต่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ และไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้" ซึ่งประเด็นนี้ต้องวินิจฉัยกันยืดยาว
       คืออัยการเห็นว่า เวลานี้บ้านเมืองต้องการความสามัคคี การดำเนินคดีกับพระธัมมชโยจึงเป็นการขัดต่อความสามัคคีของคนในชาติ ทั้งยังเป็นการสร้างความแตกแยกในศาสนจักร ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงขอถอนฟ้อง ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องรัฐศาสตร์ มิใช่นิติศาสตร์
       คำถามต่ออัยการก็คือว่า คดีความเช่นใดที่อัยการเห็นว่าถ้าฟ้องแล้วจะเป็นการสร้างความแตกแยกให้แก่คนในชาติ ทั้งยังเป็นการเสียหายต่อศาสนจักร ถ้าเอาคดีพระธัมมชโยเป็นตัวอย่าง ก็ขอถามว่า คดีหลวงพี่เล็กใบ้หวยถือเป็นคดีที่สร้างความแตกแยกให้แก่ประเทศชาติและประชาชนไปจนถึงพระภิกษุสามเณรไหม คดีสันติอโศกด้วยใช่หรือไม่ แล้วทำไมสันติอโศกจึงถูกลงโทษ ขณะที่คดีธรรมกายกลับรอด นี่เป็นดับเบิ้ลแสตนดาร์ดหรือเปล่า ? เอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องล่ะ
       การสอนสั่งนอกพระไตรปิฎกในประเด็นที่ว่า "พระนิพพานเป็นอัตตา" ของพระธัมมชโยและสาวกธรรมกายนั้น พระธัมมชโยยอมรับหรือยังว่าตัวเองสอนผิด และขอสอนใหม่ ซึ่งต้องมีกระบวนการละทิ้งมิจฉาทิฐิในทางสงฆ์ แต่ถามว่า ที่อัยการอ้างมานั้นพระธัมมชโยได้ผ่านกระบวนการรับรองจากทางศาลสงฆ์แล้วหรือไม่ หรือแม้แต่การที่อัยการอ้างเอาเจ้าคณะภาคหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าศาลสงฆ์มาเป็นพยานช่วยในจุดนี้นั้นมันฟังขึ้นหรือไม่ ?

      บทบาทของอัยการที่ออกมาจึงกลายเป็นว่า "อัยการมีใจเอนเอียงเข้าข้างพระธัมมชโย ฝักใฝ่ช่วยเหลือให้พระธัมมชโยหลุดคดี" จึงสู้อุตส่าห์เสาะหาเหตุผลเพื่อช่วยเหลือพระธัมมชโยให้รอดคดีอาญา ตามพฤติกรรมของอัยการที่ปรากฏชัดแล้ว
นี่เป็นข้อสงสัยของผู้เขียนต่อกระบวนการทางยุติธรรมของประเทศไทยในวันนี้
      อย่างไรก็ตาม คดีธรรมกายนั้นนับว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่พระสงฆ์ไทยต้องศึกษา จะได้รู้ว่า นอกจากเรื่องพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก และนิติศาสตร์แล้ว ยังมีรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ
       การวินิจฉัยคดีความของอัยการและศาลไทยในวันนี้ มิได้ใช้แต่ประมวลกฎหมายอาญาแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ดูอย่างอัยการสิ อ้างมั่วตั้วไปหมด ขนาดประธานศาลสงฆ์ก็ยังถูกอ้างเป็นพยานช่วยเหลือจำเลยให้พ้นโทษ ! และศาลอาญาก็เชื่อเช่นนั้นด้วย นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลกโดยแท้
       ยุทธวิธีในการบริหารคดีของหลวงพี่ธัมมชโยตั้งแต่เริ่มแรกในศาลสงฆ์และศาลอาญานั้นนับว่าคลาสสิกยิ่งนัก เป็นอะไรที่เรียกว่า "เคสสตั๊ดดี้" หรือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งกว่าคดีสันติอโศก คือสันติอโศกนั้นดึงดันจะให้ศาลตัดสินให้สิ้นสุด แพ้หรือชนะไปว่ากันที่ศาลอาญา เรียกว่าเป็นการดับเครื่องชน ได้เป็นได้ เสียเป็นเสีย พังเป็นพัง ดับเป็นดับ แลกกันหนัก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ใครดีใครอยู่ ซึ่งรู้ผลไปแล้ว แต่กับกรณีธรรมกายนี้ใช้วิธี "หนอนบ่อนไส้" ใช้คนเข้าประกบคณะผู้พิจารณาคดี ถ่วงคดีไว้ให้เนิ่นช้า ให้หมดอายุความ หรือถึงที่สุดก็ขอให้ศาลสงฆ์วินิจฉัยสั่ง "ไม่ฟ้อง" หรือวินิจฉัยว่า "ผิดเพียงเล็กน้อย" โดยอธิบายว่า "วัดพระธรรมกายยังไม่มีความรู้ในด้านพระอภิธรรมปิฎกอย่างเพียงพอ จึงต้องให้วัดพระธรรมกายตั้งสำนักเรียนพระอภิธรรมขึ้นมา จะได้ไม่สอนสั่งผิดแบบแผนคณะสงฆ์ไทยในพระไตรปิฎกอีกต่อไป" ซึ่งอ่านยังไงมันก็เป็นการช่วยเหลือกันดีๆ นี่เอง เพราะมีอย่างหรือ คนที่ประกาศตัวเองเป็นเจ้าลัทธิ อุตริตำหนิพระไตรปิฎกของคณะสงฆ์ไทยซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงขวนขวายสร้างไว้คู่ชาติไทย แต่เมื่อถูกนำตัวขึ้นศาลสงฆ์แล้ว กลับถูกตำหนิเพียงแค่ว่า "ศึกษาพระอภิธรรมไม่กระจ่าง ต้องเรียนใหม่" เอ่อ แล้วนี่ถ้ามีพระสงฆ์ไทยรูปอื่นๆ อุตริสอนนอกพระธรรมวินัยเหมือนธัมมชโยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คงมิต้องเปิดโรงเรียนพระอภิธรรมเพื่อไถ่โทษทุกคดีหรือ
     เมื่อพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) อดีตเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งเป็นประธานศาลสงฆ์สอบสวนพระธัมมชโยเป็นศาลแรกนั้น ท่านมีมติให้ตำหนิพระธัมมชโยในเรื่องความอ่อนด้อยในวิชาพระอภิธรรม จึงสั่งให้พระธัมมชโยไปเรียนพระอภิธรรมให้ลึกซึ้ง จะได้เข้าถึงหัวใจของพระไตรปิฎกว่างั้น ทั้งๆ ที่พระเณรไทยทั่วประเทศก็แทบไม่มีใครเรียนพระอภิธรรมจนจบหลักสูตรเลย เพราะในหลักสูตรภาคบังคับของคณะสงฆ์ไทย คือนักธรรมชั้นตรี โท และเอก นั้น ไม่มีวิชาพระอภิธรรมสอน ซึ่งตรงนี้ถ้าจะว่าพระธัมมชโยบกพร่องเพราะไม่ได้เรียนพระอภิธรรม ก็ต้องตำหนิคณะสงฆ์ไทยหรือมหาเถรสมาคมเสียเองแหละว่า ไม่สั่งไม่สอน แล้วจะให้เขาตรัสรู้ได้อย่างไร จึงต้องถามด้วยว่า ถ้าใช้พระอภิธรรมเป็นหลักในการวินิจฉัยพระธรรมวินัย ในเมื่อพระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เรียนอภิธรรม ทำไมมหาเถรสมาคมจึงไม่บังคับให้พระสงฆ์ไทยทุกรูปต้องเรียนพระอภิธรรม จะได้ไม่สั่งผิดสอนผิดเหมือนพระธัมมชโย ตรงนี้กลับกลายเป็นความบกพร่องของระบบการศึกษาและการปกครองของคณะสงฆ์ไทยเสียเอง ต้องชอกช้ำระกำใจเมื่อทำอะไรเขาไม่ได้ จำใจต้องปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยจระเข้ลงหนอง ไปตามเวรตามกรรม  เหตุการณ์ต่อมาก็คือว่า ทางวัดพระธรรมกายเล่นหัวหมอ เมื่อศาลสงฆ์ของหลวงพ่อวิลาศ วัดยานนาวา พิพากษาออกมาเช่นนี้ ก็ถือว่าผิดเพียงเล็กน้อย ธัมมชโยรอดตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีผู้คนไม่พอใจได้ขอฟ้องต่อ ทีนี้วัดพระธรรมกายก็หัวหมอ ประกาศว่า "คดีที่สิ้นสุดไปแล้วนั้นจะฟื้นขึ้นมาใหม่ไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ใครรื้ออธิกรณ์ก็ต้องอาบัติ" ยันกันไปยันกันมา จนท้ายที่สุด พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ส่งผลให้ตำแหน่งประธานผู้พิพากษาคดีนี้สิ้นสุดไปด้วย พระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการาม ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 และประธานศาลสงฆ์สืบต่อจากนั้น โดยมีมติมหาเถรสมาคมออกมาว่า "คฤหัสถ์สามารถฟ้องร้องพระสงฆ์ในทางพระธรรมวินัยได้" เทคนิกของทีมงานกฏหมายและพระธรรมวินัยขอวัดพระธรรมกายในการช่วยเหลือพระธัมมชโยก็คือ "ตัดตอนคดีไม่ให้สิ้นสุด" หรือถ้าจะสิ้นสุดก็ให้ "ผิดเบาและรื้อฟื้นไม่ได้"
     มาจนถึงข่าววันนี้ที่อัยการขอถอนฟ้อง ทั้งๆ ที่ข่าวก็ระบุว่า เหลือพยานอีกเพียง 2 ปาก ศาลอาญาก็จะพิพากษาแล้ว แต่ธัมมชโยยังขยันวิ่งล็อบบี้อัยการสูงสุด ขอให้ถอนฟ้องก่อนคำพิพากษาจะออกมาในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า นับว่าเป็นกลยุทธ์สุดยอดทีเดียว  แต่..แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่พระธัมมชโยและคณะวัดพระธรรมกายแสดงออกมานี้ ส่อแสดงให้เห็นว่า พระธัมมชโยและคณะวัดพระธรรมกายนั้น กลัวการซักฟอก กลัวคำพิพากษา ไม่กล้าฟังว่าตัวเองผิดยังไง จึงจำเป็นต้องหาทางตัดตอนคดีเสียแต่ตอนนี้ ซึ่งน่าเสียดายจริงว่า ถ้าท่านแน่ใจว่าท่านเป็นอัจฉริยะบุคคลแห่งยุค ระดับศาสตราจารย์เจ้าลัทธิ ผู้วางแผนสร้างวัดพระธรรมกายให้ยิ่งใหญ่ระดับโลกจริงแล้วไซร้ เหตุใดจึงไม่กล้าท้าพิสูจน์ในลัทธิธรรมกายของท่านว่ามันเป็นของจริงหรือของปลอม เหตุใดเล่า ในเมื่อจะค้าจะขายเป็นบุญเป็นพระประจำตัวหรือแม้แต่พระปลดหนี้ พวกท่านกลับประโคมโน้มน้าวว่าดีวิเศษอย่างโน้นอย่างนี้ วิชาธรรมกายเป็นสิ่งใหม่ในโลก หลวงพ่อสดตรัสรู้ด้วยตนเอง และต้องผ่องถ่ายเป็นวิชาลึกลับภายในสำนักวัดปากน้ำผ่านยายชีจันทร์สู่ธัมมชโยเท่านั้น แต่ในเมื่อต้องการท้าพิสูจน์ผ่านศาลว่าสิ่งที่ท่านอุตริสอนนั้นถูกหรือผิดตามหลักการในพระไตรปิฎก ท่านเสียเองที่รีบกลับคำว่า "ผมสอนผิด จะขอสอนใหม่ตามพระไตรปิฎกของคณะสงฆ์ไทย" ซึ่งเป็นการยอมรับอย่างเลี่ยงไม่ได้ว่า ทฤษฎีธรรมกายที่เคยอวดอ้างสรรพคุณมาทั้งหมดนั้นเหลวไหลไร้สาระ คือโกหกหลอกลวง เพราะท่านเองยอมรับว่าสอนผิด และขอสอนใหม่ แต่ถ้ามิเป็นจริงก็เป็นสิ่งที่ยินยอมกระทำไปด้วยใจคดโกง หลอกอัยการให้หลงเชื่อเพื่อให้ตนเองพ้นบ่วงคดีอาญาเป็นลิงหลอกเจ้าเท่านั้นเอง ซึ่งในสายตาของผู้รู้เมื่อรู้เห็นเช่นชาติเช่นนี้แล้ว เขาก็เห็นเป็นเพียง "คนกระจอก" กับ "คดีกระจอก" เท่านั้นเอง

ข้อมูล  พระมหานรินทร์ นรินฺโท วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา                   สมเกียรติ กาญจนชาติ  ผู้สรุปข้อมูล
22 สิงหาคม 25491:30 P.M. Pacific Time.


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง