เปลี่ยนยอดพระเจดีย์พุทธคยาเป็นทองคำ 200 กิโล ตอบโจทย์อะไรแก่พระพุทธศาสนาและคนไทย ?



หุ้มทอง 200 โล !

ธรรมยุตยึดยอด "พุทธคยา"
มหานิกายยึดครอง "ลุมพินี"
รัฐบาลไทยกู้ "2.2 ล้าน" สร้างทางรถไฟ

สวนทางพระนิพพานกันไกลเลยลิบฮ่ะ !!





เปลี่ยนยอดพระเจดีย์พุทธคยาเป็นทองคำ 200 กิโล
ตอบโจทย์อะไรแก่พระพุทธศาสนาและคนไทย ?




ไม่มีใครสะกิดใจเลยหรือไรว่า ทำไม ? คนไทยขนเงินไปอินเดีย-เนปาล ปีละหลายร้อยล้าน ขณะที่รัฐบาลไทยจะทำอะไรก็ต้องเอาโครงการไปเถียงกันในรัฐสภาเพื่อ "ขอกู้" เพราะไม่มีเงิน ย้อนหลังไปในปี 2540 ตอนนั้นเศรษฐกิจประเทศไทยล้มละลาย คณะสงฆ์จึงลงมติว่า "พระไทยที่จะเดินทางไปเมืองนอก ต้องให้วัดในต่างประเทศหรือญาติโยมเป็นผู้ออกค่าเดินทางให้ ไม่งั้นไม่อนุมัติ" ทั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยเหลือประเทศชาติในคราวยากจน แต่ปัจจุบันประเทศไทยน่าจะรวยกว่าใครในโลก เพราะคณะสงฆ์ไทยทั้งสองนิกาย ต่างอวดร่ำอวดรวยกันใหญ่ ระดมเงินทองไปโปะไว้ที่ลุมพินีบ้าง พุทธคยาบ้าง ทั้งๆ ที่ประเทศชาติผู้มีอันจะกินระดับโลก เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ซึ่งเป็นชาวพุทธเช่นกันนั้น เขายังไม่ทำอะไรจนเวอร์เหมือนคนไทยเราเลย

วันวาน เจ้าคุณวีรยุทธ (พระราชรัตนรังษี) และเจ๊หน่อย (สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ระดมทุนทั่วประเทศไทย นำไปบูรณะลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คงได้เงินไปหลายร้อยล้าน วันนี้ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร และ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณ แห่งสถาบันพระปกเกล้า ก็เข้ายึดยอดพระมหาเจดีย์พุทธคยา ขออนุญาตระดมทุนจากทุกภาคส่วนในประเทศไทย ใช้ทองคำหนักถึง 200 กิโลกรัม ทำยอดฉัตรใหม่ ทั้งสองนี้เป็นโครงการเสนอหน้าขอทำเองทั้งสิ้น ไม่มีใครเขาขอร้องเลย

ปัจจุบัน ราคาทองคำอยู่ที่บาทละ 25,000 บาท โดยประมาณ โดยกิโลกรัมหนึ่งจะแบ่งเป็นทองคำได้จำนวน 65 บาท ทองคำหนัก 200 กิโลกรัม จึงเท่ากับ 13,000 บาท คิดเป็นราคาสุทธิทั้งสิ้น 325,000,000 บาท (สามร้อยยี่สิบหน้าล้านบาท) ถ้ารวมทั้งค่าช่างและรายจ่ายจิปาถะอื่นๆ ลำพังยอดฉัตรพระเจดีย์พุทธคยาตามโครงการนี้อาจจะทะลุไปถึง 400-500 ล้านบาทเลยทีเดียว

ถามว่า กิจกรรมเหล่านี้เป็นการทำบุญด้วยสติปัญญาจริงหรือ หรือว่าเป็นความล้าหลังคลั่งชาติ คิดเพียงอยากจะเอาความเป็นไทยไปไว้ในสถานที่ที่มิใช่สมบัติของพุทธศาสนิกชนตามกฎหมาย ประทานโทษเถิด เราไม่อยากจะบอกหรอกว่า นี่คือการโกหกหลอกลวงคนไทยทั้งชาติ






สองมาตรฐานในวัดบวรนิเวศวิหาร

ภาพข้างต้นนี้คือ พระอุโบสถแบบพอเพียง ตามแนวดำริของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งประกาศว่าจะสร้างเพียง 9 แห่งทั่วประเทศไทย ในปี 2556 นี้ ทั้งนี้จะใช้งบประมาณการสร้างเพียงแห่งละไม่เกิน 2 ล้านบาท แต่สมเด็จพระวันรัตกลับระดมทุนเอาทองคำ ไปโปะยอดพระเจดีย์พุทธคยามูลค่าถึง 400-500 ล้านบาท นั่นก็เท่ากับว่าวัดบวรนิเวศวิหารนั้นใช้ระบบ"ดับเบิ้ลแสตนดาร์ต" สมเด็จพระสังฆราชบอกว่า "แค่สองล้านก็พอ" สมเด็จพระวันรัตกลับบอกว่า "ไม่พอหรอก ร้อยล้านก็ยังไม่พอ" เห็นความคิดแนวผลาญพล่าศรัทธาสาธุชนคนไทยของ "สมเด็จพระวันรัต" ซึ่งจะมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไปแล้วก็รู้สึกสิ้นศรัทธามหาชนไปไม่เหลือเลยจริงๆ ได้เป็นสังฆราชวันไหน ก็อาจจะประกาศเปลี่ยนพระเจดีย์พุทธคยาให้เป็นทองคำทั้งองค์ก็เป็นได้









ทองไทยไปอินเดีย



ด้วยพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไทย จึงผุดโครงการหุ้มทองคำยอดฉัตรมหาเจดีย์พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย มหาเจดีย์พุทธคยา ประดิษฐานอยู่ข้างต้นพระศรีมหาโพธิ์และแท่นวัชรอาสน์ สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็น  1  ใน 4 สังเวชนียสถาน โครงการนี้ใช้ทองคำแท้ถึง 200 กิโลกรัม

พลังศรัทธามาจากอะไร นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการบอกว่า สมัยพุทธกาลพระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว จะไปเฝ้าได้อย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนพระอานนท์ ชนเหล่าใดจาริกไปยังสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ชนเหล่านั้นมีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จะได้สู่สุคติสรวงสวรรค์ นั่นขนาดแค่ไปจาริกด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ส่วนในสถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่คนปฏิบัติบูชามากสูงสุดมา 2,000 กว่าปี ถ้าเราทำการถวายพระพุทธเจ้า โดยทำอามิสบูชาในสถานที่แห่งนี้ จึงควรแล้ว”

ด้วยพลังศรัทธา มีกลุ่มคนดำเนินการเงียบๆ มาประมาณ 2-3 ปีแล้ว “เบื้องต้นเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการใดๆ เมื่อชัดเจนแล้วเราจึงค่อยเข้าไปขอความร่วมมือ อย่างการเก็บทองที่กรมธนารักษ์ การติดต่อกระทรวงการต่างประเทศช่วยประสานงาน และมีกระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย” นายปรีชาบอก

การระดมทองจำนวนมหาศาลย่อมต้องมีขั้นตอนละเอียดอ่อนและโปร่งใส และที่สำคัญการดำเนินการใดๆ กับพุทธสถานที่เป็นมรดกโลก ต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย และได้รับอนุญาตจากกลุ่มผู้ดูแลรับผิดชอบหลายฝ่าย พลังศรัทธาจะเดินสู่เป้าหมายปลายฝันได้อย่างไร

คณะกรรมการดำเนินงาน ประกอบด้วยพุทธศาสนิกชนทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์เช่น สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร พระอาจารย์กฤษฎา สิริวฑฺฒโน วัดเมตตาพุทธาราม พุทธคยา ประเทศอินเดีย ฝ่ายฆราวาสมี นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น

ข้อกังวลเรื่องการระดมทองและเงิน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้รับหน้าที่ประธานฝ่ายการเงินบอกว่า เงินค่าดำเนินการกับเงินบริจาคจะแยกออกเป็นสองส่วน

“เงินดำเนินการมาจากผู้มีจิตศรัทธา ปัจจุบันมีประมาณ 2 ล้าน ใช้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มลงมือ ส่วนเงินรับบริจาคซื้อทอง เราจะนำไปซื้อทองโดยตรง ไม่เอามาปนกันอย่างเด็ดขาด เพื่อสนองศรัทธาของผู้บริจาคอย่างแท้จริง”

เมื่อรับมา “เรามีใบรับชัดเจน เพื่อจะได้เอาไปพิสูจน์ทราบได้ เรามีเหมือนใบเกียรติบัตรให้เลย ถ้าเป็นเงินก็มีใบอนุโมทนาบัตรให้ เพียงแต่เงินที่บริจาคนี้ไม่สามารถนำเอาไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ตัวเลขรับประกันได้ว่าโปร่งใส

และการบริจาคของพุทธศาสนิกชน “เราไม่ได้เรียกร้องให้บริจาคอย่างไม่มีอะไรสิ้นสุด ถึงเวลาเพียงพอเราก็พอ อย่างทองได้ประมาณ 150 บาท ถึง 200 เราก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับเพิ่ม ไม่ใช่รับมาไม่มีวันจบวันสิ้น เงินเหลือแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เรามีเจตนารมณ์ชัดเจน”

การรับบริจาคนับตั้งแต่เปิดรับมาตั้งแต่วันมาฆบูชาที่ผ่านมา “ถ้าเป็นทองรายย่อย เราได้ประมาณ 70 กก.แล้ว เจตนาของสมเด็จพระวันรัตท่านไม่อยากให้รายใหญ่มาทีเดียวแล้วเสร็จ อยากให้รายย่อยมาร่วมกันมากๆ จะได้เฉลี่ยรับบุญกัน”

และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสอย่างแท้จริง “เราติดต่อกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้มาเป็นสักขีพยานในการชำระเงินส่วนนี้ และทาง สตง.ก็รับตรวจสอบให้แล้ว เพื่อเป็นพุทธบูชา”

ระยะเวลาของโครงการ แม้จะไม่อาจระบุได้ชัดเจนว่าวัน เดือนและปีใด แต่นายพิศิษฐ์บอกว่า ประมาณเทศกาลลอยกระทงปี พ.ศ.2556 หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ทุกอย่างจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างแน่นอน  อย่างน้อยที่สุดก็มีทองขึ้นไปหุ้มยอดพระมหาเจดีย์แล้วในบางส่วน

การระดมทั้งเงินและทองจำนวนมาก ถ้าเหลือจะเอาไปทำอะไร

“อาจจะไปพัฒนาอะไรบางอย่างในบริเวณพุทธคยา อาจจะเป็นห้องน้ำ หรือวัดเมตตา หรือนำไปใช้ในการเรียนการสอนพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม ถ้าได้ครบเราจะปิดโครงการทันที ไม่ใช่รับบริจาคอย่างไม่มีวันสิ้นสุด” นายพิศิษฐ์ย้ำ
 
ยอดฉัตรที่จะนำทองไปหุ้มความกว้างประมาณ 3 เมตร สูงประมาณ 5-7 เมตร คณะผู้ดำเนินการจะพากันไปวัดอย่างละเอียดอีกครั้งในปลายเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นสู่ขั้นตอนการทำคือ นำทองที่ได้มาหลอมแล้วตีให้เข้ารูป ก่อนนำขึ้นไปหุ้มเป็นพุทธบูชา

เกี่ยวกับความสำคัญของพุทธสถาน ศ.ดร.บวรศักดิ์บอกว่า ในพระไตรปิฎกฑีฆนิกาย ในอรรถกถาพุทธวงศ์ ระบุว่าที่ตรงนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะว่าเป็นจอมดินตามคติของพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นพื้นดินที่โผล่ขึ้นจากพื้นน้ำเป็นครั้งแรกในภัทรกัป จึงเรียกว่าสะดือโลก เมื่อภัทรกัปสูญสลาย แผ่นดินตรงนี้จะเป็นที่สุดท้าย

แล้วยังเป็นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้วทั้ง 5 พระองค์

พลางฉายภาพพุทธสถานแห่งนี้ในอดีตว่า สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างมหาวิหาร พระศรีมหาโพธิ์อยู่ตรงกลาง มีวิหารรอบ ต่อมาพังทลายไป คนที่สร้างเจดีย์รูปอย่างที่เห็นคือ พระเจ้าหุวิชกะ สร้างถวายเป็นพุทธบูชาเมื่อ พ.ศ.694 หลังจากนั้นมีการบูรณะ

เรื่อยมา จนกระทั่งฮินดูเข้ามายึดครอง และอิสลามมาครองต่อ จนกระทั่งมีพราหมณ์มหันต์ เข้ามาตั้งวิหารฮินดูอยู่ใกล้ๆ แล้วก็ฮุบพื้นที่ไป
 
ครั้นอังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย เซอร์คันนิงแฮมเข้ามาซ่อมแซม โดยพื้นที่ยังเป็นของฮินดู จนกระทั่งพระธรรมปาละของลังกาไปต่อสู้เรียกร้อง จนตั้งคณะกรรมการโพธิสมาคมเข้ามาดูแล และเป็นสถานที่ของพุทธศาสนา

เรื่องการขออนุญาตจากทางการอินเดีย อาจารย์บวรศักดิ์ยืนยันว่าได้ดำเนินการขออนุญาตครบถ้วน ถูกต้องแล้ว ทั้งจากกระทรวงวัฒนธรรมของรัฐบาลกลางอินเดีย คณะกรรมการมรดกโลกของอินเดีย กรมศิลปากรอินเดีย และคณะกรรมการของมหาโพธิสมาคม ครบถ้วนถูกต้องหมดทุกหน่วยงาน

สำหรับคนมีศรัทธาร่วมบุญ ในวันที่ 28 มีนาคม 2556 นี้ ตั้งแต่เวลา 15.30-17.30 น. สมเด็จพระวันรัต ประธานโครงการจะเปิดรับทอง ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธี สามารถร่วมบริจาคได้โดยตรง

ส่วนข้อสงสัยว่าเมื่อนำทองไปประดิษฐานแล้ว เรื่องความปลอดภัยจะดำเนินการอย่างไร นายปรีชาบอกว่า เนื่องจากพุทธคยาเป็นมรดกโลก มีเจ้าหน้าที่ดูอย่างเข้มงวด อีกทั้งพระมหาเจดีย์สูงมาก ไม่มีใครขึ้นไปได้ง่ายๆ

สืบไปแม้จักเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราย่อมถือว่าได้ถวายเป็นพุทธบูชาไปแล้ว.
 http://www.alittlebuddha.com/

ข่าว : ไทยรัฐ30 มีนาคม 2556

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ