ประจักษ์แจ้ง ความมั่นคงสถาบันพระศาสนา

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

ผู้เขียน : กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

ทำไมยุติกรรมการปฏิรูปพุทธศาสนา

เป็นการจบสิ้นภารกิจ แล้วรายงานความเห็นต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมาเพื่อประกอบการพิจารณาขอชี้แจงว่าไม่ได้เป็นการยุบคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา เพราะยุบคือการยกเลิก อันนี้เราจบสิ้นภารกิจ ก็คือจบไป

ถามว่าทำไมจบสิ้นภารกิจทั้งๆที่ดูเหมือนว่ายังจะมีต่อ ก็ต้องประเมินผลงานของคณะกรรมการที่ทำมา เรียกว่าผลงานมีมาก และผลงานที่ทำได้เปิดประเด็นไปสู่สังคม ทำให้สังคมมีการตื่นตัวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพุทธบริษัทและพุทธศาสนิกชนขณะนี้มีความตื่นตัวในประเด็นที่จะปฏิรูปศาสนากันมาก เราได้บรรลุเป้าหมายเกินความคาดหมายและถือว่าได้จบภารกิจ โดยวิเคราะห์ศึกษาถึงสาเหตุต่างๆ และกำหนดแนวทางการปฏิรูปออกมา 4 ข้อคือ

1.เรื่องศาสนสมบัติของวัดและของพระภิกษุสงฆ์ โดยจะต้องมีการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องตามหลักวิชา แล้วต้องให้มีผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบเหมือนระบบบัญชีของมูลนิธิ เสร็จแล้วส่งไปให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเผยแพร่สู่สาธารณะที่สามารถตรวจสอบเรื่องศาสนสมบัติของวัดเพื่อความโปร่งใส

ส่วนของพระภิกษุสงฆ์ก็ต้องสรุปหลักเกณฑ์ว่า ถ้าภิกษุนั้นต้องการถือเงินไว้เป็นของตน อันนี้แยกระหว่างพระธรรมวินัยกับเรื่องทางโลก ถ้าทรัพย์สินดังกล่าวจะถือไว้ส่วนตน หากได้รับมาเป็นจำนวนมากเกินกว่าข้อยกเว้นของกรมสรรพากรที่ยกเว้นว่าไม่ต้องเสียภาษี ทรัพย์สินส่วนนั้นก็ต้องมาเสียภาษี พระภิกษุบางรูปซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานก็อาจจะต้องเปิดเผยทรัพย์สินด้วย

2.ปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา จะต้องมีองค์กรที่คอยตรวจสอบดูแลในส่วนนี้ มีทั้งส่วนสงฆ์แล้วก็อาจจะต้องมีส่วนของฆราวาสที่จะต้องติดตามตรวจสอบ 3.เรื่องการทำให้พระวินัยวิปริต และการประพฤติปฏิบัติวิปริตจากพระธรรมวินัย ก็เป็นทำนองเดียวกัน ต้องมีองค์กร หรือองค์กรสงฆ์เองก็ต้องดูแลเรื่องนี้ และ 4.ฝ่ายอาณาจักรที่ต้องเข้าไปสนับสนุนและปกป้องกิจการของฝ่ายศาสนจักร อย่างที่ผมเรียนว่าทั้งหมดนี้จะต้องมีฝ่ายอาณาจักรเข้ามาดำเนินการด้วย

ผมขอยืนยันว่าแม้คณะกรรมการชุดนี้ทำงานมาได้ 1 เดือนกว่า แต่สามารถทำให้สังคมตื่นตัวลุกขึ้นมาปกป้องพระพุทธศาสนากันอย่างกว้างขวาง แม้จะมีแรงเสียดทานจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกระทั่งเรียกร้องให้ยุบคณะกรรมการชุดนี้ก็ตาม การตัดสินใจยุติบทบาทในครั้งนี้ก็เพื่อลดแรงเสียดทาน สร้างความสบายใจให้กับประธาน สปช.

การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้อาจจะมีประสิทธิภาพมากไปจนกระทบกับผลประโยชน์ กระทบต่อสิ่งที่เขาเคยได้ประโยชน์ ไม่ว่าลาภยศสักการะอะไรต่างๆทั้งหลาย เมื่อเขาเห็นว่าอาจจะกระทบกระเทือนต่อเขา เขาก็ต้องออกมาคัดค้าน ขัดขวาง เป็นเรื่องธรรมดา การประชุม 5 ครั้งที่ผ่านมามีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายฝ่ายเข้ามาให้ข้อมูล พบว่ามีปัญหาที่สั่งสมมานานแล้วต้องเสนอให้ประธาน สปช. ปฏิรูปโดยเร่งด่วน

สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าสังคมอยากจะให้ตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อที่จะให้พระที่ดีอยู่แล้ว ปฏิบัติชอบอยู่แล้ว ท่านจะได้รับความสบายใจด้วย ผมเชื่อว่าการยุติบทบาทครั้งนี้จะทำให้ปกป้องพระพุทธศาสนาร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมได้มากขึ้น สถานการณ์หลังจากนี้เรามองว่าจะเริ่มต้นเข้าสู่การมีส่วนร่วมของประชาชน พุทธศาสนิกชนทั้งประเทศจะได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันผลักดันการปฏิรูปให้เกิดขึ้น

เมื่อเราจบแล้ว อยากจะเรียกร้องไปยังอีกฝ่ายหนึ่งที่ออกมาแสดงความคัดค้านว่าเรื่องการปฏิรูปเป็นเรื่องของพระสงฆ์ที่ต้องปฏิรูป ขอให้เสนอแนวทางปฏิรูปออกมาว่าจะปฏิรูปอะไรบ้างเพื่อให้สังคมรับรู้

บทบาท มส. และ พศ. เป็นอย่างไร

เท่าที่ดูบทบาทของมหาเถรสมาคม (มส.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จะพบว่าอยากจะรักษาแต่อำนาจ หวงแต่อำนาจ ไม่ยอมปฏิรูป ทั้งๆที่เป็นที่มาของปัญหาทั้งนั้น ดังนั้น ทั้ง 2 องค์กรควรจะไปทบทวนว่าจะต้องปฏิรูปอะไรบ้าง ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปแล้ว ถ้าท่านบอกว่าไม่ใช่เรื่องของฆราวาสที่จะไปว่าเรื่องคณะสงฆ์ ท่านก็ว่าของท่านออกมา ไม่ใช่บอกว่าพอคณะเราปฏิบัติสิ้นสุด จบแล้วก็เฉยไปอะไรแบบนี้ ต้องเรียกร้องให้คณะสงฆ์ที่ว่านี้บอกว่าจะปฏิรูปอย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่มีจำนวนมหาศาลเกินคาด ซึ่งมันไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่ใช่แนวทางตามพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ พระศาสดาไม่ได้สอนอย่างนี้ พระภิกษุไม่ใช่มีหน้าที่ที่จะต้องมาทำอย่างนี้ มีแต่จะต้องละ เลิกกิเลส ไปศึกษาพระธรรมเพื่อที่จะหลุดพ้น แล้วก็เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ไม่ใช่ไปสะสมสมบัติ ลาภยศสรรเสริญกันแล้วก็หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องพวกนี้ ผมคิดว่ามันเป็นความเสื่อม แต่เสื่อมต่อพระภิกษุบางรูปที่ปฏิบัติไม่ชอบเท่านั้นเอง พระพุทธศาสนาของเรานั้น พระธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว

เราจะต้องหาทางให้พระธรรมวินัยเป็นที่ยึดเหนี่ยว นำมาปฏิบัติในประเทศไทยกันให้ได้ในแวดวงของกิจการพระพุทธศาสนา นี่คือการปฏิรูป ส่วนจะมีการปรับปรุงโครงสร้างของ มส. หรือไม่อย่างไรนั้น ในชั้นนี้ยังไม่มองตรงนั้น ผมจะมองในส่วนล่างลงมา คือตัว มส. ยังเป็นคณะสงฆ์อยู่ ผมว่ายังโอเค แต่ในส่วนล่างลงมา การกระจายอำนาจไปสู่เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด จะเป็นพระภิกษุเป็นรูปๆเท่านั้นเอง

อยากจะให้เจ้าคณะจังหวัดเป็นรูปของคณะสงฆ์คล้ายๆกับ มส. แต่ว่าคลุมจังหวัด ที่มามาจากเจ้าอาวาสในจังหวัดนั้นๆคัดเลือกกันเองมาเป็นกรรมการของจังหวัด ไม่ใช่เป็นเจ้าคณะจังหวัดดูแลเป็นอำนาจเดี่ยว อำนาจพระรูปเดียว มันไม่ใช่คณะสงฆ์ คือไม่ได้ปรับปรุงโครงสร้างของ มส. โดย มส. ก็ว่าไป คล้ายกับการกระจายอำนาจ แทนที่ มส. มีอำนาจจะตั้งคนโน้นก็ลงไป เป็นพระรูปหนึ่ง เป็นเจ้าคณะจังหวัดมีอำนาจเลยก็ไม่ใช่ อำนาจแต่ละจังหวัดต้องกระจายให้กับคณะสงฆ์ที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ อำเภอก็เหมือนกันต้องกระจายไป

ผมขอบอกว่า อำนาจของ มส. ขณะนี้ยิ่งกว่าอำนาจของฝ่ายอาณาจักร ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหา เรียกว่าเป็นแบบอำนาจจากรวมศูนย์ แล้วก็ไม่เป็นคณะสงฆ์ ไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย โดยพระธรรมวินัยเรื่องต่างๆของสงฆ์เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ ไม่ใช่ให้อำนาจพระภิกษุบางรูปมาตัดสินได้ อย่างอันนี้ให้เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล มีอำนาจเด็ดขาดไม่ได้ ไม่ถูกต้อง และก็ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับเขา

การแก้ปัญหาตรงนี้ขึ้นอยู่กับ มส. จะทำหรือไม่ ถ้าไม่ทำก็ต้องเรียกร้องให้ทำ ยังไงฝ่ายอาณาจักรต้องทำอยู่แล้ว อันนี้มันต้องแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ขอย้ำว่าในส่วนของ มส. ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา แต่ในส่วนล่างลงมาที่เป็นเรื่องของภูมิภาค เรื่องของจังหวัด ตรงนี้ต้องแก้ และเรื่องของวัดด้วย วัดก็ต้องไม่ใช่เจ้าอาวาสรูปเดียว ต้องเป็นคณะสงฆ์ภายในวัดมีส่วนร่วมในการดูแลวัด คือต้องมีคณะกรรมการวัด คณะสงฆ์ประจำวัด คณะสงฆ์ประจำอำเภอ คณะสงฆ์ประจำจังหวัด แต่ไม่ใช่ให้ มส. ตั้ง ต้องเลือกกันเอง โดยทั้งหมด มส. เป็นผู้กำกับอีกครั้ง

ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้มันก็จะกระจายอำนาจไป และเป็นไปตามพระธรรมวินัย รวมทั้งเป็นหลักของความยุติธรรม ตรงนี้ในระดับเจ้าคณะก็วิ่งเต้นตำแหน่งกัน และเมื่อวิ่งเต้นตำแหน่งมา ต้องขอบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ วิ่งเต้นตำแหน่งมาแล้วมีการใช้อำนาจโดยมิชอบ เช่น โยกย้ายเจ้าอาวาสอะไรต่างๆ แล้วก็ไม่มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลในการใช้อำนาจเหล่านี้ ซึ่งการใช้อำนาจเหล่านี้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยอาศัยกฎหมาย ไม่ใช่พระธรรมวินัย ดังนั้น ต้องถูกตรวจสอบได้
พ.ร.บ.สงฆ์ควรปฏิรูปอย่างไร
การที่เราเสนอในส่วนแรกนี้เป็นเรื่องรายงานปัญหา ส่วนจะต้องปฏิรูปหรือไม่คงเป็นเรื่องต่อไปอีกระดับหนึ่ง แต่โดยส่วนตัวผมเห็นว่าต้องปฏิรูป เพราะที่มาของปัญหามาจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งการปฏิรูปจะปฏิรูปโดยฝ่ายสงฆ์ฝ่ายเดียวไม่ได้ ปัญหาของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์คือให้สงฆ์ดูแลแต่ฝ่ายเดียว การปฏิรูปจะต้องจัดรูปแบบให้พุทธศาสนิกชน พุทธบริษัท 4 มีส่วนร่วมในการดูแลกิจการพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นเรื่องของสงฆ์อย่างเดียว มันเป็นไปไม่ได้ และที่เป็นอยู่มันผิดพระธรรมวินัย

จะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านอีก

ไม่มีปัญหา การออกมาต้านเพราะเขาเสียประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็ต้องมองฝ่ายที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยนั้นก็มีพลังที่เข้มแข็งมาก แล้วเป็นพลังที่มีความชอบธรรมมากกว่า ผมเชื่อว่าพลังนี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปได้ ส่วนโอกาสที่การปฏิรูปจะสำเร็จในยุค คสช. หรือไม่ก็สุดแล้วแต่ ทั้งหมดต้องดูความตื่นตัวของชาวพุทธในประเทศ ถ้ามีการตื่นตัว มีการเรียกร้องต่างๆ ผมเชื่อว่า คสช. ก็ต้องดำเนินการ

มุมมองที่มีต่อวัดพระธรรมกาย

เป็นปัญหาที่ครบองค์ประกอบที่พูดไปข้างต้นนี้ 4 ข้อ วัดพระธรรมกายหรือธัมมชโยต้องติดตามกันต่อไป ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หยุดนิ่งแล้ว กระบวนการตรวจสอบโดยรัฐและประชาชนกำลังทำหน้าที่กันไป ผมเชื่อว่าจะเกิดความชัดเจน และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ในส่วนของตัวเองก็คงต้องติดตาม เพราะเป็นห่วงประชาชนเรื่องเงินทองต่างๆที่ไปฝากไว้ที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ต้องติดตามเอาเงินของประชาชนกลับคืนมา

เรื่องนี้คงมีผลอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างแน่นอน แต่ที่อยากจะเร่งรัดคือเรื่องเงินเป็นอันดับแรกสุด ต้องเอาเงินทุกบาททุกสตางค์ที่มีการยักย้ายถ่ายเทกันไปในระบบทั้งหลายเอากลับคืนมาให้ประชาชนให้ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องแรกสุดที่ต้องทำ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เขาก็อาจจะมีการวิ่งเต้น โดนแรงเสียดทานอะไรบ้าง แต่ทั้งหมดผมเชื่อว่าเขายังต้องทำงานได้ ถ้าพุทธศาสนิกชนหรือประชาชนทั้งหมดยังติดตามข่าวสาร เร่งรัดตรวจสอบกันอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เรื่องเดินหน้าไปได้

ส่วนที่มีการมองว่าวัดแห่งนี้เป็นผู้มีอิทธิพลต่อวงการสงฆ์ไทยนั้น ผมคิดว่าฝ่ายคนกระทำผิดอาจจะกระทำผิดได้โดยประชาชนไม่รู้ แต่ตอนนี้สังคมรู้กันหมดแล้ว และเป็นการกระทำผิดกฎหมายด้วย การใช้อิทธิพลก็คงใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนผิดเป็นถูกได้อย่างเดิม ผมมั่นใจว่ากรณีของธัมมชโยจะได้ข้อยุติในเร็วๆนี้ขอย้ำว่ากรณีของวัดพระธรรมกายและธัมมชโยจะต้องเกิดภายในอีกไม่นาน และจะส่งผลให้สังคมต้องทบทวนว่าเราปล่อยให้เกิดเรื่องนี้ถึงขนาดนี้ได้อย่างไร แล้วจะนำไปสู่การปฏิรูปได้

รัฐบาลมีส่วนแก้ปัญหานี้หรือไม่

เขาคงทำไปตามสถานการณ์ เพราะภารกิจของรัฐบาลก็เยอะ แต่กรณีนี้เป็นกรณีที่ประชาชนให้ความสนใจกันทั้งประเทศในขณะนี้ รัฐบาลคงไม่นิ่งนอนใจ คงจะมีบทบาทในการดำเนินการให้บรรลุผลตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดก็ต้องคอยติดตาม จะปล่อยปละละเลยไม่ได้ในกรณีนี้ เพราะเป็นกรณีสาธารณะที่สำคัญ ส่งผลกับการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ผมมั่นใจว่าฝ่ายอาณาจักรสามารถจัดการกับวัดพระธรรมกายรวมทั้งสึกธัมมชโยได้อย่างแน่นอน

แต่เรื่องพระลิขิตปี 2542 ยังไม่จบ และเรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนก็กำลังคืบหน้า คงไม่ใช่ยุค คสช. ที่จะดำเนินการกับวัดพระธรรมกายกับธัมมชโยได้ คือยุคไหนก็ต้องจัดการจนได้ภายใต้กฎหมายที่เป็นอยู่ แต่อย่าลืมว่าพวกที่ได้ประโยชน์คือพวกที่ได้สมณยศ ได้ลาภสักการะ ได้เงินได้ทอง ได้อำนาจ และที่ได้รวยในระบบปัจจุบันนี้เขาจะไม่ชอบผม แต่พระภิกษุโดยพื้นฐานหลายแสนรูป รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกาหลายล้านคนเขาเห็นด้วย โดยเฉพาะพระภิกษุหลายแสนรูปที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่ถูกต้อง ผมมั่นใจว่าสุดท้ายแล้วธรรมะจะต้องชนะอธรรมและเกิดการปฏิรูปขึ้นแน่นอ 

ขอย้ำว่าผมไม่เป็นห่วงม็อบจะออกมาต่อต้านคัดค้านอีก เพราะทางโน้นต่อไปจะกลายสภาพเป็นฝ่ายรับ แล้วก็ต้องฟัง ฝ่ายภาคประชาสังคมเขาเคลื่อนไหวเรียกร้องก็ต้องทำแล้วล่ะ ตอนนี้จะมาก่อม็อบไม่ได้แล้ว มันต้องเป็นการตรวจสอบ หลักใหญ่ก็คือ ถ้าอันไหนเป็นไปตามพระธรรมวินัยไปแตะต้องไม่ได้ แต่ถ้าอันไหนไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย แต่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายต้องถูกตรวจสอบได้ แล้วการใช้อำนาจรัฐต้องมีการตรวจสอบ ถ่วงดุล

อยากฝากอะไรกับพุทธศาสนิกชน

ผมคิดว่าเรื่องการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่จะสามารถทำได้ บรรลุผลได้ เว้นแต่พุทธศาสนิกชน พุทธบริษัท 4 ทั้งหลายทั้งหมดในประเทศต้องร่วมไม้ร่วมมือกันคนละไม้ละมือถึงจะผลักดันให้การปฏิรูปครั้งนี้สำเร็จได้ ซึ่งตอนนี้มีการตื่นตัวอย่างกว้างขวางแล้ว เชื่อว่าเป็นโอกาสดีที่สุดแล้วที่เราจะสะสางสิ่งที่มีปัญหาออกไป แล้วก็จรรโลงสิ่งที่ดีของพระธรรมวินัยไว้ ต้องใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด

ผมเชื่อว่าการปฏิรูปพระพุทธศาสนาครั้งนี้จะไม่เสียของเพื่อกลับไปสู่พระธรรมวินัย เรียกว่าต้องยึดพระธรรมวินัย การปฏิรูปจะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับพวกเรา ผมคนเดียวไม่ได้ และผมจะยังคงเคลื่อนไหวตรวจสอบเรื่องนี้ในฐานะ สปช. ร่วมกับประชาชน และประชาสังคมต่อไป
www.facebook.com/thaihistory

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ