อาเซียน กับ การจัดการพิบัติภัย
โดยสมเกียรติ อ่อนวิมล | Somkiat Onwimon เมื่อ 15 ตุลาคม 2011 เวลา 21:16 น.
โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล
คณะกรรมการจัดการพิบัติภัยอาเซียน (ASEAN Committee on Disaster Management - ACDM) ตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2546/2003 เป็นกลไกที่เกิดขึ้นในรูปแบบของกรรมการผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 พัฒนามาเป็นกรรมการเต็มรูปแบบ ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐสมาชิกาอาเซียนในระดับหัวหน้าหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพิบัติภัยต่างๆ ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติและที่เกิดโดยมนุษย์ กรรมการ ACDM มีหน้าที่รับผิดชอบประสานจัดการงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในอาเซียนในเรื่องการช่วยเหลือและฟื้นฟูเหตุวินาศภัยต่างๆที่เกิดขึ้นในภูมิภาค
คณะกรรมการจัดการภิบัติภัยอาเซียน (ACDM) ได้จัดทำ “โครงการจัดการพิบัติภัยในภูมิภาคอาเซียน” หรือ “ASEAN Regional Programme on Disaster Management - ARPDM “ เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือในช่วงปี 2004-2010 กำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ กำหนดงานและกิจกรรมเร่งด่วนตามลำดับก่อนหลัง เพื่อลดพิบัติภัย
นอกจากนั้น ARPDM ยังเป็นที่ประสานความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อินเดีย, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย) และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ (The United States Department of Agriculture Forest Service, the Pacific Disaster Centre, the United Nations Office for Coordination of Humanitarian Affairs (OCHA), UN High Commissioner for Refugees (UNHCR), UNICEF, IFRC, Asian Disaster Preparedness Centre (ADPC), etc.) ที่เป็นพันธมิตรร่วมงานกับอาเซียนในรูปแบบต่างๆอีกด้วย
ARPDM มี 29 กิจกรรม โดยกำหนด 5 กิจกรรมแรกที่มีความสำคัญเป็นหลักนำก่อนเรื่องอื่นคือ :
- กำหนดแผนปฏิบัติการในยามเกิดพิบัติภัยในอาเซียน / Establishment of the ASEAN Response Action Plan;
- งานพัฒนาการศึกษาอบรมเพื่อความรู้ความชำนาญในการจัดการพิบัติภัย / Refresher Courses/ Expertise Development;
- เครือข่ายการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเรื่องพิบัติภัยในอาเซียน เช่นการสร้างแหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต - ASEAN DISCNet (http://www.pdc.org/osadi/) และการจัดพิมพ์จดหมายข่าว ADMN / ASEAN Disaster Information Sharing and Communication Network (ASEAN DISCNet), i.e. Development of ACDM Website and NDMO Websites; and Publication of ASEAN Disaster Management Information Network (ADMIN) Newsletter;
- เป็นพันธมิตรร่วมกับองค์ที่เกี่ยวข้องและองค์กรเอกชน รณรงค์รับความช่วยเหลือด้านการเงินและทรัพยากรอื่นๆ / Partnerships with Relevant Organisations and NGOs; and Mobilising Financial Support and Resources; (http://www.pdc.org/iweb/pdchome.html)
- งานวันจัดการพิบัติภัยอาเซียน; และโครงการสร้างความตระหนักรู้และการศึกษาสาธารณะเรื่องการจัดการพิบัติภัย / ASEAN Day for Disaster Management; and Enhancing Disaster Management Public Education and Awareness Programmes.
งานสำคัญเร่งด่วนของ ARPDM คือการสร้างกรอบการทำงานบริหารจัดการพิบัติภัยในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้กรอบการดำเนินงานนี้จะมีการพัฒนาความตกลงในภูมิภาคว่าด้วยการจัดการพิบัติภัย และการทำงานในภาวะฉุกเฉิน, พัฒนามาตรฐานการทำงานช่วยเหลือในยามเกิดพิบัติภัยตามความตกลง, เสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของคณะทำงานในแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อช่วยเหลือแบบฉุกเฉินฉับพลันในยามเกิดพิบัติภัย และ จัดกิจกรรมซ้อมรับมือพิบัติภัยในอาเซียนอย่างสม่ำ่เสมอ
ถึงปี 2554/2011 อาเซียนบรรลุความตกลง ในเอกสารที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ:
1. Agreement on Disaster Management and Emergency Response, Vientiane, 26 July 2005
ตวามตกลงเรื่องการจัดการพิบัติภัยและการปฏิบัติการยามฉุกเฉินฉับพลัน, เวียงจันทน์, 26 กรกฎาคม 2005
2. ASEAN Declaration on Mutual Assistance on Natural Disasters, Manila, 26 June 1976
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือช่วยเหลือในยามเกิดพิบัติภัยทางธรรมชาติ, มะนิลา, 26 มิถุนายน 1976
3. Declaration on Action to Strengthen Emergency Relief, Rehabilitation, Reconstruction and Prevention on the Aftermath of Earthquake and Tsunami Disaster of 26 December 2004
ปฏิญญาว่าด้วยปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการบรรเทาพิบัติภัย, การฟื้นฟูบูรณะและการป้องกันหลังเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ซึนามิ, 26 ธันวาคม 2004
ในอดีตงานใหญ่ของอาเซียนในการช่วยเหลือพิบัติภัยทางธรรมชาติได้ทำมาแล้วเป็นที่ประจักษ์ เช่น เหตุคลื่นยักษ์ซึนามิในมหาสมุทรอินเดีย (2004), ภัยแผ่นดินไหวในอินโดนีเซีย (2006),
เหตุพายุไซโคลนนากีสในพม่า (2008 - http://www.asean.org/CN.htm) ไปจนถึงวินาศภัยคลื่นยักษ์ซึนามิที่ญี่ปุ่น (2011)
ในอาเซียนสัปดาห์นี้ (12 ตุลาคม 2554) รัฐสมาชิกอาเซียนคือฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว ต้องพบกับภัยจากพายุและน้ำท่วม ส่วนประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับพิบัติภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อุทกภัยในรอบศตวรรษ เป็นภัยอันเกิดจากพายุและฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วม ผู้คนพลเมืองอาเซียนทั้งเสียชีวิต ทั้งสูญบ้านเรือน เสียทรัพย์สิน โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ นับเป็นการเกิดวินาศภัยโดยพลังทำลายของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่มาก โดยแต่ละประเทศต่างก็บริหารจัดการกันเองในประเทศและประสานความร่วมมือกับอาเซียนผ่าน ACDM และมิตรประเทศคู่เจรจาอีกหลายประเทศ ซึ่งความช่วยเหลือกำลังเริ่มปรากฏและทยอยเข้าสู่ประเทศที่ประสพภัยทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกมากเช่นกัมพูชา
สำหรับประเทศไทยนั้นแม้รัฐบาลไทยจะแถลงว่ามีความพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือจัดการพิบัติภัยได้เองด้วยทรัพยากรของไทยเองที่มีอยู่ แต่รัฐบาลไทยได้แสดงความขอบคุณมิตรประเทศที่แสดงความประสงค์จะส่งความช่วยเหลือมาให้ โดยที่รัฐบาลไทยยินดีรับนำ้ใจจากอาเซียนและประเทศคู่ร่วมเจรจาและองค์การพันมิตรระหว่างประเทศต่างๆ
ประเทศไทยได้พัฒนาเศรษฐกิจมาถึงระดับที่ประชาชนในประเทศโดยเฉลี่ยมีรายได้ปานกลางขั้นสูงตามการจัดระดับของธนาคารโลกแล้ว ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินการคลังก็สะท้อนความพร้อมของไทยในกาช่วยประชาชนของไทยด้วยกันเองได้แน่นอน
แต่การบริหารจัดการพิบัติภัยของไทยเท่าที่ปรากฏในสัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงถึงความไม่พร้อมเพราะขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการ อีกทั้งพลเมืองก็ยังขาดการพัฒนาจิตสำนึกระวังพิบัติภัยดังที่ปรากฏในหมู่ประชาชนที่ตกอยู่ในภยันตราย...ปัญหานี้เองที่อาเซียนในภาพรวมจะมีบทบาทสำคัญทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่จะช่วยฝึกฝนอบรมให้การศึกษาในเรื่องการจัดการพิบัติภัยทั้งในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ อาสาสมัคร และในหมู่พลเมืองทั่วไป
http://www.asean.org/19599.htm
http://www.asean.org/CN.htm
บทความโดย สมเกียรติ อ่อนวิมล
15 ตุลาคม 2554
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ