ปัญญา(ช่วยชาติไทย) โดย สมเด็จพระสังฆราช
อ ธิ บ า ย เ รื่ อ ง ปั ญ ญ า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ปัญญาเป็นรัตนของนรชน นี้เป็นพระพุทธสุภาษิต เพราะนรชน คือคนเรามีรัตนะคือปัญญา ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เป็นพิเศษกว่าสัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์และสามารถอบรมปัญญาให้มากขึ้นได้ด้วย ฉะนั้นคนเราจึงมีความฉลาด สามารถเปลี่ยนภาวะจากความเป็นคนป่า มาเป็นคนเมืองมีความเจริญด้วยอารยธรรม วัฒนธรรม มีบ้านเมือง มีระเบียบ การปกครอง มีศาสนา มีเครื่องบำรุงความสุข ทางกายทางใจต่างๆ สิ่งทั้งปวงเหล่านี้สัตว์เดรัจฉานทั้งปวงหามีไม่ ทั้งนี้ด้วยอำนาจของปัญญานี้เอง พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจของปัญญา แต่ปัญญาที่เป็นรัตนะของนรชนดังกล่าวมานี้ พึงทราบว่าจะต้องเป็นปัญญาที่ชอบ มีลักษณะของความฉลาดรู้ ความจัดเจน การวินิจฉัยถูกต้อง สามัญสำนึกดี มีเหตุผลในสิ่งทั้งหลาย ปัญญาที่ชอบดังกล่าวเป็นผลที่สืบมาจาก ปัญญาที่มีพื้นฐานอันได้มาแต่กำเนิดของนรชน อันเรียกว่า สหชาติปัญญา และจากการศึกษาอบรมที่ถูกชอบ อันสหชาติปัญญานั้นมีพลังอำนาจที่ทำให้ประจักษ์ เรียนรู้ เข้าใจและตระหนัก เป็นพลังใจทางปัญญาของบุคคล ถ้าอบรมศึกษาในทางที่ผิด ก็จะเพิ่มความรู้ในทางฉลาดแกมโกง ในทางทำความชั่วร้าย ในทางเบียดเบียนต่างๆ ฉะนั้นจึงตรัสสอนไม่ให้ประมาทปัญญา คือใช้ปัญญา พิจารณาอบรมศึกษาให้เข้าถึงความจริง ตามเหตุและผลในสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้บรรลุถึงความชอบในทุกๆสิ่ง รวมเข้ากันใน มรรคมี องค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าๆ ได้ทรงปฏิบัติมา จนได้ตรัสรู้พระธรรม และทรงสั่งสอนไว้นั้นเอง คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ (รวมเข้าเป็นปัญญาสิกขา) สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ (รวมเข้าเป็นจิตตสิกขาหรือสมาธิ) มรรคมีองค์ ๘ นี้ ก็เท่ากับ ปัญญา ศีล สมาธิ นั่นเอง อันแสดงว่าปัญญาเป็นหัวหน้า แต่ที่แสดงไว้เป็นข้อปฏิบัติโดยทั่วไปเป็นลำดับว่า ศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธเจ้าได้ตรัสรับรองไว้ด้วยว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นหัวหน้า เพราะว่าเมื่อมี สัมมาทิฏฐิ ก็ย่อมรู้เห็นทุกๆอย่าง ว่าผิดหรือถูกอย่างไร และเมื่อมีความเพียรความชอบ ความระลึกชอบเข้าประกอบ ก็จะทำให้มีความเพียร มีสติ ละทุกสิ่งที่ผิด ทำทุกสิ่งที่ถูกให้เกิดขึ้น จนถึงเป็นความถูกต้องสมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยสมาธิเป็นหลัก เป็นที่ตั้งแห่งทุกๆ ข้อ เพราะจิตที่ไม่มีสมาธิย่อมดิ้นรนกระสับกระส่าย ไม่อาจที่จะใช้ปัญญาอบรมปัญญา ที่มีอยู่ให้เจริญขึ้นได้ เหมือนอย่างไฟฉายที่แกว่งไปแกว่งมา ไม่อาจจะส่องอะไรให้มองเห็นชัดเจนได้ จึงต้องทำจิตให้สงบด้วยสมาธิเป็นหลัก ก็จะปฏิบัติให้มรรคทุกข้อแวดล้อมเข้ามา |
[พระรูปเมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร (พระรูปฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)] ปั ญ ญ า สู ง สุ ด เรื่องกัมมัฏฐานสำหรับแก้นิวรณ์ เก็บจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจากที่มาต่างๆ และข้อที่ตรัสกำชับไว้ให้มีเป็นประจำ ในการปฏิบัติแก่นิวรณ์ทุกข้อ หรือในการปฏิบัติกรรมฐานทุกคราว คือโยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย ได้แก่การใช้ปัญญาพิจารณาให้ทราบ ตระหนักแน่ถึงเหตุผลในการปฏิบัตินั้นๆ ตามเป็นจริง เมื่อใช้ปัญญาดังนี้ จึงจะไม่ปฏิบัติผิดทาง ทั้งจะไม่หลงตัวลืมตัว การใช้ปัญญาจึงเท่ากับเป็นการใช้เกราะป้องกันอันตราย อันอาจจะเกิดขึ้นจากความหลงถือเอาผิดดังกล่าว และการใช้ปัญญาก็เป็นการศึกษาธรรมนั่นเอง การฝึกหัดปฏิบัติสมาธิอย่างขาดโยนิโสมนสิการ หรือขาดการใช้ปัญญา ก็เท่ากับไม่เป็นการศึกษาธรรม อาจหลงไปผิดทาง เช่น หลงติดอยู่ในนิมิตที่พบเห็นสมาธิ หรืออำนาจบางอย่างที่ได้จากสมาธิ ทำให้กัมมัฏฐาน (ที่ถูก) หลุด หรือหลุดจากกัมมัฏฐานได้ง่าย พระพุทธเจ้าตรัสไว้อีกด้วยว่า “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก” การใช้ปัญญาอบรมเพิ่มเติมปัญญาให้ส่องสว่างยิ่งขึ้นโดยลำดับ จึงเป็นเหตุให้มอง สัจจะ คือให้รู้แจ้งเห็นจริง ให้บรรลุสุข ประโยชน์ตั้งแต่ขั้นต้น จนถึงขั้นสูงสุด เพราะปัญญาขั้นสูงสุด คือปัญญาที่สมบูรณ์เต็มที่ ย่อมทำให้จิตประภัสสรคือผุดผ่องสว่างเต็มที่ ทำให้รู้แจ้งเห็นจริง และบรรลุประโยชน์สูงสุด เหมือนดังพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนไว้ว่า “อย่าประมาทปัญญา” คือให้ใช้ปัญญานั่นเอง การที่ฝึกฝนใช้ปัญญาจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ย่อมปฏิบัติตนไปในทางที่ถูกที่ควรตลอดเวลา โดยปราศจากกิเลสตัณหา เป็นไปโดยอัตโนมัติ (ที่มา : “รวมธรรมะ” : จัดพิมพ์เนื่องในงานฉลอง ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทรา- บรมราชชนนี วันที่ ๑ มกราคม - ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓, หน้า ๒๑๘-๒๒๑) ข้อมูลที่ http://www.dhammajak.net/forums/ หมายเหตุ : บทความเรื่องดังกล่าวนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ เมื่อครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๓ อันเนื่องมาจากการที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำริว่า “หลักการทำสมาธิเบื้องต้น” ของ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างง่ายสำหรับผู้ที่มีความสนใจทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แสดงพระราชดำรินี้ พร้อมทั้งทรงอาราธนา สมเด็จพระญาณสังวร ให้เรียบเรียงและอธิบายเพิ่มเติมเรื่อง “ปัญญา” “นิวรณ์และกัมมัฏฐานสำหรับแก้” เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติจิตใจ โดยใช้ปัญญาสำหรับป้องกันกับแก้ “การหลงตัวลืมตัว” ซึ่งจะเป็นไปเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข และประสบผลสำเร็จด้วยดี |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ