คืนอำนาจให้ประชาชน


‘ปาฐกถา 14 ตุลา’ ประจำปี 2554 โดย รสนา โตสิตระกูล ในวันที่14 ตุลาคม 2554 ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เนื้อหาในปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปีนี้ แม้แง่มุมจะไม่ได้เท้าความไกลถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 แต่โดยเนื้อหา แก่นแท้แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ไม่แตกต่าง ในแง่มุมของปีนี้ สืบสาวจากนโยบายไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล ควบรวมไปถึงปัญหาปากท้อง ต่อการตั้งคำถามถึงประชาธิปไตยทางด้านเศรษฐกิจ อันโยงใยถึงประชาธิปไตยทางด้านการเมืองอย่างแยกกันไม่ออก กับหัวข้อ คืนอำนาจ ‘ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ’ ให้ประชาชน ศึกษากรณีฐานทรัพยากรพลังงาน
         
       สำหรับผู้ปาฐกถาของสมาชิกวุฒิสภา รสนา โตสิตระกูล เป็นผู้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมจากฐานราก ตั้งแต่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน โดยมีผลงานชิ้นโบแดงในการยับยั้งการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และการฟ้องร้องเรียกคืนบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
      
       มาถึงวันนี้กับบทบาทสมาชิกวุฒิสภาของเธอ อุดมการณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ยังคงชัดเจน และบัดนี้ยิ่งฉายภาพชัดเจนให้เราได้เห็นถึงหนทางแห่งประชาธิปไตยนั้น
      
       มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การต่อสู้โชกโชน คลี่ข้อมูลซับซ้อนพร้อมข้อสงสัยกรณีธุรกิจพลังงาน นำสู่การผูกขาดการค้า โยงใยถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นงูกินหางสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมือง ปิดท้ายด้วยปลายเปิดเป็นคำถามสู่หนทางแห่งการต่อสู้สู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
      
       กระจายอำนาจเศรษฐกิจ
       ปลดปล่อยประชาชนพ้นระบบประชานิยมอุปถัมภ์
        
       “ดิฉันเชื่อว่า การสนับสนุนชุมชนให้มีความเข้มแข็งจากทางเศรษฐกิจและพึ่งตนเองได้นั้น เป็นวิธีลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตย” รสนาเริ่มปาฐกถา
      
       โดยบุคคลที่มีแนวคิดนี้คือ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่ได้กล่าวถึงเรื่องการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจให้ประชาชนเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตยทางการเมือง เพราะคนส่วนน้อยที่คุมอำนาจเศรษฐกิจในมือจะใช้อำนาจทุนกับระบบการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการเมืองอันชอบธรรม
      
       ระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ หมายถึง ราษฎรส่วนมากของสังคม ต้องไม่ตกเป็นทาสของกลุ่มคนจำนวนน้อย ที่อาศัยอำนาจผูกขาดเศรษฐกิจของสังคม
        
       “ที่สำคัญของแนวคิดนี้คือ ฐานเศรษฐกิจสำคัญของประชาชนนั้น ต้องเป็นของประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ โดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดูแล ผู้จัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ในรูปของสวัสดิการ ที่เรียกว่า การประกันความสุขสมบูรณ์แก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งในภายหลังอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นำมาสานต่อเป็นแนวคิด ‘ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ”
      
       นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการให้สหกรณ์ชาวนาถือหุ้นใหญ่ บริษัท ข้าวไทย จำกัดเพื่อชาวนาได้มีอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ทว่าในไม่สามรถเป็นจริงได้จากการถูกรัฐประหารไปก่อน จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาลใดสานต่อนโยบายการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
      
       “นโยบายเรื่องข้าวอย่าง ประกันราคา หรือจำนำข้าว ดิฉันคิดว่าผลประโยชน์จะไปอยู่ที่บรรดาโรงสีขนาดใหญ่ที่กักตุนข้าวเปลือกจำนวนมากของชาวบ้านไว้เสียมากกว่า”
        
       อาจถือได้ว่าเป็นเล่ห์กลทางการเมืองในการผ่องถ่ายงบประมาณ จำนวนมหาศาลของประเทศไปสู่กลุ่มทุน โดยอาศัยชาวบ้านเป็นข้ออ้างในการผ่านงบประมาณจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดความชอบธรรมในการเข้ามาผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยที่ประชาชนเหล่านั้นไม่มีพื้นที่ทางการเมืองอย่างแท้จริง 
       อาจกล่าวได้ว่า พรรคไทยรักไทยของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้ส่งเสริมมิติในทางการเมือง ที่สามารถนำเอานโยบายมาเป็นจุดขายของพรรคการเมืองที่โดนใจประชาชนทุกกลุ่ม จนสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างถล้มทลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
      
       “แต่นโยบายข้อหนึ่งของพรรคไทยรักไทย ซึ่งหลายคนอาจลืมไปแล้ว คือการยกเลิกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งออกโดยพรรคประชาธิปัตย์ แล้วถูกต่อต้านโดยบรรดาสหภาพรัฐวิสาหกิจ และประชาชนอีกหลากหลายกลุ่ม
       
       “แต่เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว สัญญาที่หาเสียงไว้ก็ลืมเลือนไป ตรงกันข้ามกลับเป็นว่าภารกิจแรกๆ ของรัฐบาลคือการเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจปตท.ทันที”
       
       หลังแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสำเร็จ เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รัฐบาลได้รีบนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยมีการซื้อขายหุ้นในวันที่ 6 ธันวาคม ทั้งที่ในปีนั้นเกิดเหตุการณ์ 11 กันยา เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเกิดความซบเซาทั่วโลก แต่การแปรรูปปตท. ครั้งนั้นก็มีการเร่งขาย ทำให้หุ้นปตท.ขายหมดในเวลา 1 นาที 17 วินาที โดยที่ประชาชนที่ไปเข้าคิวรอซื้อตั้งแต่เช้ามืดไม่ได้รับโอกาสในการได้ซื้อหุ้น หากเป็นนักการเมืองในสังกัดรัฐบาลที่ได้หุ้นไปเป็นจำนวนมาก
       
       “จากนั้นมีรัฐมนตรีหลายท่านร่ำรวยจากหุ้น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจเป็นคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้บอกว่าร่ำรวยจากหุ้นปตท. ซึ่งหนังสือพิมพ์ลงข่าวระบุว่าร่ำรวยขึ้นมา 976 ล้านบาท ภายในหนึ่งปี”
      
       เหตุการณ์นี้ทำให้รสนานึกถึงคำพูดของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่ได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารประชาชาติว่า ตลาดหลังทรัพย์นั้นเป็นแหล่งที่จัดให้มีการซื้อขายหุ้นของบริษัทธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการออม บริษัทต่างๆ สามารถได้เงินจากตลาดหุ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเงินที่ได้มาในการลงทุนต่ำ แต่อาจารย์ป๋วยก็ตั้งข้อสังเกตข้อหนึ่งว่า สินค้าดีๆ จะมีคนนำมาขายหรือ สมมติว่ามีบริษัท ก. ค้าขายกะปิมา 20 ปี ได้กำไรทุกปี เจ้าของก็ร่ำรวย แล้วเรื่องอะไรจะขายหุ้นในบริษัทเพื่อมาแบ่งกำไรกับคนอื่น!?
      
       “ดิฉันเองก็คิดอย่างนั้น บริษัทดีๆ อย่างรัฐวิสาหกิจ ปตท. ได้กำไรทุกปี ทำไมจะต้องไปขายหุ้น หากจะกู้เงิน สถาบันการเงินทุกแห่งยินดีให้กู้ ใช้หนี้หมด กำไรทั้งหมดก็ตกเป็นของปตท. ทำไมต้องขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แล้วเอาเงินไปแบ่งกับคนอื่น ยิ่งเป็นที่ประหลายใจมาก เมื่อได้พบว่าหุ้น 48 เปอร์เซ็นต์ ที่รัฐบาลขายให้เอกชนตั้งแต่ปี 2544 - 2550 เป็นเม็ดเงินเพียง 28,083 ล้านบาทเท่านั้น แต่ปตท.นั้นได้กำไรถึง 718,513 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินปันผลกำไรถึง 344,866.24 ล้านบาท”
      
       แปลไทยเป็นไทยได้ว่า ให้คนมาลงทุน 2 หมื่นล้าน แล้วได้เงินส่วนแบ่งไป 3 แสนล้าน ซึ่งหากไม่ฟั่นเฟือน รสนาคิดว่าคงต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลแน่นอน กระบวนวิธีการโกงด้วยการแปรรูปนั้น ออกแบบให้เม็ดเงินถูกกอกโกยเข้ากระเป๋าบรรดารัฐมนตรีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แทนที่จะเข้าคลังหลวง ซึ่งวิธีการนั้นก็คือการบอกขายราคารัฐวิสาหกิจในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อให้พวกตนสามารถฉกฉวยมูลค่าสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจก้อนโตมาเป็นของตนได้
      
       เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลไทยรักไทยในสมัยที่สอง ยิ่งได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นกว่าเก่า ยังคงกลืนคำสัญญาที่ให้ไว้กับเครือข่ายไตรภาคีระหว่างกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสหภาพ กฟผ. โดยทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กฟผ.ทันที
      
       “ดิฉันเองกับเพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคก็ได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีการเพิกถอนการแปรรูปนั้น และสามารถหยุดยั้งไว้ได้ จากนั้นก็ได้ดำเนินการต่อเนื่อง ฟ้องเพิกถอนการแปรรูป ปตท. แต่ปรากฏว่าศาลในครั้งนั้นตัดสินว่า ยังไม่ให้มีการเพิกถอนเนื่องจากเกรงว่า จะก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ก็ได้มีคำตัดสิน ให้คืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนจะต้องคืนให้แก่แผ่นดิน”
      
       นี่ผลงานการต่อสู้ตามระบบของ รสนา โตสิตระกูล
      
       พลังงาน : ฐานประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจใหญ่ของประชาชน
      
       พลังงานเป็นต้นทุนของเศรษฐกิจภาคการผลิต เป็นต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนทุกคน หากการดำเนินการด้านพลังงานขาดความเป็นธรรม หรือถูกเอาเปรียบจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยิ่งทวีช่องว่างยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้
      
       จากเอกสารแถลงการณ์นโยบายของคณะรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ข้อหนึ่งระบุว่า ประเทศไทยยังคงการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ในสัดส่วนถึง 55 เปอร์เซ็นต์
      
       “ซึ่งดิฉันมองว่า ประเทศไทยเรานั้นสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า เพราะอันที่จริง 55 เปอร์เซ็นต์ ที่นำเข้านั้น เรานำส่งเข้ามาเพื่อกลั่นแล้วส่งขายด้วย ทุกคนอาจจะไม่เคยรู้เลยว่า เราเป็นประเทศส่งออกพลังงานด้วย”
      
       ปี 2551 ประเทศไทยส่งออกพลังงานทั้งหมด เทียบเป็นเงินไทยได้ ประมาณ 290,190 ล้านบาท สูงกว่ายางพาราและข้าวเสียอีก และจากการสำรวจในปี 2552 ขององค์กร Energy Information Administration พบว่า ประเทศไทยขุดน้ำมันดิบขาย ได้เป็นอันดับที่ 35 จาก 224 ประเทศ และขายก๊าซธรรมชาติอยู่ในอันดับที่ 23 จาก 224 ประเทศ
      
       “มากกว่าประเทศที่ได้ชื่อว่าส่งออกน้ำมันมหาศาลอย่างบรูไนเสียอีก เราส่งออกมากกว่าโบลิเวีย พม่า คูเวต บางประเทศกลุ่มสมาชิกโอเปก อาจจะไม่ได้เทียบเท่าสมาชิกระดับซาอุดิอาระเบีย แต่เราก็ไม่ธรรมดา อยู่ในระดับกลางๆ ของประเทศที่ขุดพลังงานออกมาขาย”
      
       แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยดูจะไม่มีกำไรจากการส่งออกพลังงาน แถมยังจะออกไปในแนวขาดทุนจนต้องออกมาตรการเก็บเงินชดเชยนั้น มีเงื่อนงำไม่ชอบมาพากลมากมายซ่อนปมอยู่
      
       “ประเทศไทยเราได้ส่วนแบ่งเพียง (ค่าภาคหลวง) 5-15 เปอร์เซ็นต์ รายได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยไม่มีส่วนแบ่งกำไรเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน อย่างที่มาเลเซียได้ส่วนแบ่ง 68 เปอร์เซ็นต์ กัมพูชาได้ประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พม่าได้อยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์
      
       “เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานชี้แจงว่า การขุดเจาะน้ำมันในประเทศเรานั้น ต้องลงทุนมากกว่าด้วยลักษณะเฉพาะทางธรณีวิทยา แต่ก็ขัดแย้งกับข้อมูลกำไรข้างต้นของบริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) ที่สูงถึง 74 - 81 เปอร์เซ็นต์ บอกได้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ (รวมค่าภาคหลวงแล้ว)”
      
       นอกจากนี้เงื่อนไขทางการค้าอื่นๆ ก็ดูเหมือนจะไม่ทำให้รัฐได้กำไรมากมาย ทั้งที่เป็นการถลุงทรัพยากรของประเทศ ซึ่งในระบบประชาธิปไตยนั้นถือว่าเป็นของทุกคน นี้เองคือต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เมื่อรัฐบาลเข้ามาสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง อันนำมาซึ่งความชอบธรรมมากกว่ามาด้วยรัฐประหาร
      
       “แต่ทุกรัฐบาลไม่มีความเปลี่ยนแปลง ไม่มีความแตกต่าง ทุกคนเน้นไปสู่การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ แล้วสิ่งที่ตัวเองต้องการก็คือ ทรัพยากรของคนทั้งชาติ” 
       
       

       ขาดแคลนอย่างตั้งใจ 
       ขาดทุนเข้าหลวง กำไรเข้ากระเป๋า(ใคร?)
      
       หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 2549 รัฐบาลทักษิณจำต้องหยุดพักครึ่งเวลา ทำให้ยุทธศาสตร์พลังงานต้องหยุดพักไป เกิดเหตุการณ์หลายอย่าง การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ถูกแปรรูป หากจำกันได้สมัยนั้นนพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ออกมาประกาศว่า ต้องชะลอเมกะโปรเจกต์ เพราะการหยุดยั้งการแปรรูป กฟผ.ในตอนนั้นทำให้ไม่มีเงินเข้าไปปั่นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลคือเมกะโปรเจกต์หลายอันหยุดชะงักลง
      
       “แต่มาบัดนี้เมื่อเรามีรัฐบาลเพื่อไทยโดย คุณยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีสโกแกนหาเสียงว่า ‘ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ’ ก็จะเป็นภาคสองต่อจากภาคแรกที่ได้พักครึ่งไว้”
      
       จากการแถลงนโยบายของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ จะเห็นได้ว่าพลังงานเป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย เพราะเราจะเห็นว่าในทุกมิติจะมีเรื่องพลังงาน ตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนคลังสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติ ,กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ที่ดึงเงินทุนสำรองของประเทศไปใช้ รวมไปถึงแลนด์บริดจ์ภาคใต้
      
       “และจักรกลในการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ ปตท. เพราะว่ารัฐบาลพูดหลายครั้งว่า กองทุนความมั่งคั่งจะให้ปตท.บริหาร คลังน้ำมันสำรองก็ให้ปตท.ดูแล”
      
       โดยนโยบายหลายตัวที่ปตท.ได้บริหารนั้น ตั้งแต่มาตรการลอยตัวแอลพีจี เอ็นจีวี ทำบัตรเครดิตพลังงานให้รถแท็กซี่สาธารณะ และคูปองพลังงานเพื่อครัวเรือน แน่นอนว่าคงเป็นไปอยู่ในรูปแบบของขาดทุนเข้ารัฐ กำไรเข้ากระเป๋าเอกชน (ใครไม่รู้) เช่นเคย
      
       “ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือรัฐต้องควักกระเป๋า มันไม่ใช่ของฟรี เราทุกคนต้องควักเงิน เหล่านี้เป็นภาระของรัฐ แต่กำไรไปปตท. หุ้น 48 เปอร์เซ็นต์นี้ มันเป็นสิ่งที่แฝงเร้นเกาะกินตลอดเวลา”
      
       เพราะฉะนั้นตอนนี้จึงต้องสังเกตว่า ทำไมขาดทุนจึงต้องมาอยู่ที่รัฐ ทำไมต้องชดเชย ทำไมรัฐไม่ปล่อยให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ในมุมมองของรสนาแล้ว ดูเหมือนรัฐบาลจะปล่อยให้มีการกระทำการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของการผูกขาดการค้านั่นเอง
      
       “แต่บริษัท ปตท. ในฐานะที่รัฐถือหุ้นอยู่ 55 เปอร์เซ็นต์ เลยไม่ตกอยู่ในภายใต้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า สามารถผูกขาดทุกอย่างได้ เพราะฉะนั้นเมื่อถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่น 5 โรง คุณก็สามารถกำหนดราคาเท่าไหร่ก็ได้”
      
       นั่นเองที่นำมาซึ่งราคาค่าพลังงานที่ถูกรัฐบาลบริหารให้ขาดแคลนอย่างจงใจ ตั้งแต่ราคาน้ำมันในประเทศไทยซึ่งอิงจากราคาน้ำมันนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ น่าแปลกที่ราคาหน้าโรงกลั่นของไทยนั้นประกอบไปด้วยราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์ บวกค่าขนส่ง ค่าระวังภัย ค่าเสื่อมโทรม ค่าปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งเหล่านี้ล้วนไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะโรงกลั่นตั้งอยู่ในประเทศไทย
      
       “คนไทยซื้อราคาตอนนี้ 22 บาท แต่สิงคโปร์ซื้อในราคา 18 บาท เขาบอกว่าอันนี้คือแรงจูงใจที่ต้องให้ แต่มัน 20 ปีมาแล้ว เราเชิญชวนให้มาตั้งโรงกลั่นในประเทศไทย จนบัดนี้เราส่งออกน้ำมันปีละ 29,000ล้านบาท เรายังจะให้แรงจูงใจแก่คนเหล่านี้อยู่ เพราะอะไร?”
      
       ราคาน้ำมันในปัจจุบันจึงไม่ใช่ราคาที่เกิดจากกลไกตลาดเสรี แต่เกิดจากกลไกตลาดเทียมที่ผู้มีอำนาจผูกขาดเป็นผู้กำหนด
      
       “การผูกขาดของปตท.นั้น ทำให้กลไกทุกอย่างไม่เกิด ธุรกิจน้ำมัน ก๊าซแอลพีจี ก๊าซเอ็นจีวี เอทานอล ดิฉันบอกได้เลยว่า พลังงานทดแทนไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เพราะว่าถูกคุมกำเนิดโดยบริษัท ปตท. เขาไม่ต้องการให้เกิดอยู่แล้ว เป็นไปได้อย่างไรที่ เอทานอลที่ทำจากกากน้ำตาล มันสำปะหลัง ราคาจะเท่ากับปิโตรเลียมที่เก็บมาเป็นล้านๆ ปี” รสนาตั้งคำถาม
      
       การที่รัฐบาลบอกว่าจะลอยตัวแอลพีจีและจะชดเชยนั้น เท่ากับยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว แรกคือ ปตท. จะได้กำไรแน่นอน (48 เปอร์เซ็นต์ เข้ากระเป๋าเอกชนก็ต้องได้กำไรด้วย) อีกอย่างคือสามารถผ่องถ่ายเงินจากหลวง ไปซื้อเสียงล่วงหน้าได้ โดยถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะมันถูกเรียกว่า ‘นโยบาย’
      
       อีกนโยบายที่น่ากลัวคือ ผลักดันให้ใช้แก็สเอ็นจีวีแทนแอลพีจี โดยโยนบทร้ายให้แอลพีจีมากมายโดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานประกาศว่า ภายในสิ้นปีนี้ รถแท็กซี่ทั้งหลายจะต้องเปลี่ยนเป็นเอ็นจีวี
      
       “เรียกร้องให้แท็กซี่เปลี่ยนจากแอลพีจีมาเป็นเอ็นจีวี แต่ปรากฏว่าเอ็นจีวีไม่มีปั๊ม”
      
       เพราะเอ็นจีวีควรจะตั้งปั๊มตามแนวท่อ และการจะเอาก๊าซจากตามแนวท่อได้ ควรจะเป็นรถที่วิ่งตามระยะอย่างขนส่งมวลชน ไม่ใช่รถแท็กซี่ หรือรถบ้านที่วิ่งกันทั่วไป ทำให้ต้องไปสร้างปั๊ม ผลคือปั๊มขาดทุน 200 ล้าน แต่ธุรกิจก๊าซก็ยังกำไร 40,000 ล้านบาทอยู่ อย่างไรก็ตามรัฐกลับเอา 200 ล้านบาทมาเป็นเหตุผลว่า รัฐต้องชดเชย และต้องขึ้นราคา
      
       “สิ่งที่เกิดขึ้นอีกอันหนึ่งที่ท่านควรจะทราบก็คือว่า ก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้กับรถมันมีความร้อนสูงมาก เพราะฉะนั้นรถที่มีความร้อนสูงกว่าแอลพีจี มันจะเกิดความเสื่อมเร็ว เอ็นจีวีคือก๊าซดิบที่นำมาอัดนำมาควบแน่นเข้าไป แล้วก็เอามาใส่ก๊าซ ถังก๊าซเนี่ย เอ็นจีวีความดันสองร้อยเท่า ถ้าระเบิดมันจะแรงมาก”
      
       และเหตุผลง่ายๆ ที่รัฐผลักให้ทุกคนหันมาใช้เอ็นจีวีที่อันตรายกว่า ก็เพราะว่าหากใช้แอลพีจีกับการขนส่งนั้นจะได้มูลค่าเพิ่มเพียง 2 เท่า ขณะที่หากนำไปใช้กับปิโตรเคมีแล้วจะได้มูลค่าเพิ่มถึง 9 - 20 เท่า 
       
       

       คืนเศรษฐกิจพลังงาน คืนอำนาจประชาธิปไตยให้ประชาชน
      
       ปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวไว้ว่า เศรษฐกิจเสรีต้องไม่ใช่เสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่ รสนาย้ำคำนี้อีกครั้ง พร้อมชี้ให้เห็นภาพของธุรกิจพลังงานที่อยู่ในมือหมาจิ้งจอกผ่านคำว่า เศรษฐกิจเสรี
      
       “เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่า หลายท่านอาจไม่เคยตั้งคำถาม เราต้องตั้งคำถามกับรัฐอย่างจริงจังว่า เราจะปล่อยให้องค์กรของรัฐผูกขาดเช่นนี้ต่อไปอีกหรือไม่”
      
       ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปบ้านเมือง เพื่อคืนประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจของประชาชน เพราะไม่ใช่เพียงประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการคือการที่ประชาธิปไตยทางการเมืองได้ส่งต่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจของประชาชนทุกคน
      
       “ธุรกิจพลังงานที่เป็นอยู่ในเวลานี้ กำลังต้อนประชาชนเข้ามุม และล้วงกระเป๋า เอาเปรียบเรา จนเศรษฐกิจของบ้านเมืองไม่สามารถที่จะพัฒนาได้ ในการที่จะได้ทั้งสิทธิเสรีภาพ ได้ประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ประชาธิปไตยทางการเมืองจะไม่มีความหมายใดๆ ถ้าเราไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ”
      
       ปัจฉิมกถา 14 ตุลา 
      
       ในปี 2554 นี้ เป็นหน้าที่ของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มองถึงประชาธิปไตยทางด้านทรัพยากรพลังงานว่า ในยุคทุนนิยมน้ำมันและพลังงานมันเปรียบเสมือนเลือกดองระบบ ทุนนิยมที่ขาดเลือดก็เปรียบเสมือนร่างกายที่ขาดโลหิต เพราะฉะนั้นระบบทุกนนิยมจึงพยายามที่จะควบคุมเส้นโลหิตและควบคุมเม็ดเลือด เพื่อให้ตัวเองเติบโต มันเป็นทุนสามานย์ ตั้งแต่ระดับโลกลงมาถึงระดับประเทศ
      
       “ทุนสามานย์นั้นมันแปลว่า ไม่ประชาธิปไตย ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม และไม่สมดุล”
      
       รศ.ดร.ณรงค์ย้ำว่า ทฤษฎีทุนสามานย์ของโลกนี้อยู่ภายใต้ทฤษฎีโจรร้องให้จับโจร โดยเฉพาะกิจการปตท. ก็เป็นรูปธรรมของทุนสามานย์ในสังคมไทย
      
       “ผมบอกว่าทุนสามานย์ เริ่มจากความไม่โปรงใส คุณรสนาก็ชี้ให้เห็นจำนวนหุ้นมหาศาลขายได้ไงนาทีเดียวหมด ถ้าไม่ตกลงกันไว้ก่อน แล้วมันตกลงกันยังไงละครับ ก็ไม่มีใครรู้เพราะมันไม่โปร่งใส และไม่ประชาธิปไตย มันจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ในเมื่อคนจองหุ้น เข้าแถวยาวเหยียด แต่ไม่มีสิทธิ์จะจองครับ ถูกจำหน่ายจ่ายแจกไปแล้วกับคนที่ตกลงกันไว้”
      
       ความไม่เป็นธรรมที่ รศ.ดร.ณรงค์บ่งชี้ ก็คือ 1. การผูกขาด 2.มีอำนาจรัฐค้ำอยู่ข้างหลัง โดยอำนาจรัฐบวกอำนาจทุนสามานย์ที่มากกว่าบริษัทอื่นทั่วไป และไปจำกัดควบคุมพลังงานทดแทนได้อีก จึงไม่มีความสมดุล เพราะฉะนั้นปตท.จึงเป็นทุนสามานย์โดยสมบูรณ์
      
       “ทุนสามานย์ไม่ใช่ตัวคน แต่มันเป็นพฤติกรรม กำลังเพิ่มความเข้มข้นในสังคมไทย มันบ่มเพาะสังคมให้ยอมรับความสามานย์ด้วยความตะกละที่โหดร้าย โกงได้ แต่ขอให้มีผลงาน มันจึงนำไปสู่ภาวะที่เราเรียกว่า โกงมโหฬาร แต่โอ้อวดผลงานหน่อมแน้ม และกำลังสร้างความสับสนให้คนไทย”
      
       รศ.ดร.ณรงค์ ทิ้งท้ายไว้ว่า การลดบทบาททุนสามานย์ต้องเกิดจากขบวนการอภิวัฒน์ของประชาชน ปัญญาชน ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่างต้องรวมกัน
      
       “วันนี้ผมยืนอยู่ที่นี่ อนุสรณ์สถานของคนที่ลุกขึ้นสู้ ภายใต้นักศึกษาและปัญญาชนสิบสี่ตุลา พิราบเหลืองวันนี้อยู่ที่ไหน นักศึกษาปัญญาชนอยู่ที่ไหน ทำอย่างไรพวกท่านจะลุกขึ้นมาสืบสานเจตนาสิบสี่ตุลาคม รวมร่างรวมตนกับคนยากคนจนทั้งหลาย เพื่อเป็นกระบวนการปฏิรูป กระบวนการอภิวัฒน์ กำจัดพวกทุนสามานย์ สร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และสร้างประชาธิปไตยทางการเมืองที่แท้จริง”



ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000131955

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ