ประวัติศาสตร์ สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ
เก้าอี้อาถรรพ์ "ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ"
|
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น เป็นชื่อของหน่วยงานพิเศษ จะเป็นกระทรวงก็ไม่ใช่ ทบวงหรือกรมก็ไม่เชิง คือว่า แต่เดิมมานั้น กิจการพระศาสนาอยู่ในการกำกับดูแลของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรสงฆ์ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อปกครองคณะสงฆ์ ทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติ เหมือนๆ กับเป็นรัฐบาลผสมสองพรรค โดยให้มีหัวหน้ารัฐบาลเพียงตำแหน่งเดียว คือสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของคณะสงฆ์ไทย ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นไปตามอำนาจของกฎหมายคณะสงฆ์ที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งตราขึ้นในสมัยที่จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ที่คณะราษฎรโดยนายปรีดี พนมยงค์ ตราขึ้นนั้นทิ้งเสีย
ถามว่า ทำไมต้องมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ?
ตอบว่า เพราะคณะสงฆ์เป็นบุคคลพิเศษ เป็นผู้ที่ประชาชนชาวไทยให้การเคารพนับถือ แม้จะไม่อยู่เหนือกฎหมาย แต่ก็ได้รับสิทธิพิเศษมากมายหลายประการ การปกครองคณะสงฆ์ อันเป็นองค์รวมของพระภิกษุและสามเณร ซึ่งมีจำนวนมากถึง 300,000 รูป/องค์ นั้น จะใช้กฎหมายสามัญ เช่น ทะเลาะเบาะแว้งกันก็ให้ตำรวจคุมตัวไปสอบสวน ถ้าพูดไม่ถูกหูก็อาจถูกซ้อมได้ ดังนี้ จึงไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นปัญหามวลชนกระทบกระเทือนถึงรัฐบาลง่ายๆ ดังนั้น จึงสมควรให้มีองค์กรพิเศษปกครองดูแลกันเอง โดยรัฐบาลเป็นผู้ถวายความอุปถัมภ์ ท่านอยากได้อะไรก็หาไปถวายเป็นสังฆทาน งานคณะสงฆ์ก็เรียบร้อย งานรัฐบาลก็ราบรื่น เราอยู่กันมาอย่างนี้ตั้งแต่ปี 05
กล่าวถึงภาคปฏิบัติการ การทำงานนั้นจะให้คณะสงฆ์คิดเองเออเองเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับหลายฝักหลายฝ่าย โดยเฉพาะเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินงานนั้นๆ ให้สัมฤทธิ์ผล ก็ต้องอาศัยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินงานให้ เพราะพระสงฆ์นั้นมีแต่พระคุณ ไม่มีพระเดช ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงตั้งกองสนองงานคณะสงฆ์ขึ้นมาคณะหนึ่ง ตั้งชื่อว่ากรมสังฆการี ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการศาสนา ให้สังกัดอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ และระบุไว้ด้วยว่า อธิบดีกรมการศาสนาดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ซึ่งไม่ต้องตีความให้เปลืองน้ำลาย ใครได้เป็นอธิบดีกรมการศาสนาก็มีหน้าที่จะต้องไปสนองงานมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นรัฐบาลของคณะสงฆ์ ซึ่งก่อนหน้านั้นประชุมกันที่ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู แต่ตอนหลังมาท่านย้ายไปประชุมที่หอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ในพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ครั้นมาถึง พ.ศ.2544 สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านมีวิสัยทัศน์ยาวไกล สั่งให้ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เสียใหม่ เรียกว่า ปฏิรูประบบราชการ งานในกระทรวงไหนที่ซ้ำซ้อนกัน ก็ให้ย้ายหรือยุบไปรวมกับหน่วยงานที่มีเนื้องานเหมือนๆ กัน ไม่ต้องวิ่งโน่นทีนี่ทีให้เสียเวลา เข้าตำราของฝรั่งที่ว่า Onestop Service
กล่าวทางพระสงฆ์ไทย สมัยนั้นมีปัญหาประทุขึ้นมาเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งจะตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีข้อความกำหนดให้ตั้งกระทรวงใหม่ใช้ชื่อว่า "กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม" โดยให้มีคณะกรรมการผสมมาจากตัวแทนของศาสนา 5 ศาสนาๆ ละ 1 ท่าน คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ซิกซ์ และฮินดู มีอำนาจหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ ดำเนินการและประเมินผล เกี่ยวกับงานของทุกศาสนาในประเทศไทย ไม้เว้นแม้แต่ศาสนาพุทธ
จุดนี้เองที่ทำให้พระหนุ่มเณรน้อยและพุทธศาสนิกชนทนไม่ไหว ได้รวมตัวกันประท้วง ไม่ขอเข้าร่วมกระทรวงบ้าบอนี่ แถมด้วยการเรียกร้องให้ตั้ง "กระทรวงพระพุทธศาสนา" ขึ้นมาปกครองพระสงฆ์เองเสียเลย รัฐบาลเข้าไก่เขี่ย เอ๊ย ไกล่เกลี่ย รอมชอมและยอมความกันได้ตรงที่
1. ไม่ตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนา เพราะว่ามันจะใหญ่เกินไป ประเดี๋ยวเกิดมีการเรียกร้องให้พระสงฆ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงนี้เป็นการเฉพาะอีก มันจะยุ่งไปกันใหญ่
2. ให้มีการตั้งองค์กรพิเศษดูแลงานคณะสงฆ์ โดยไม่ต้องขึ้นต่อกระทรวงไหน แต่จะไม่ขึ้นอะไรเลยก็ไม่ได้ เพราะต้องติดต่อกับราชการ จึงตกลงกันว่า ให้ตั้งเป็น "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" อยู่ในสังกัดนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีอาจจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่งดูแลแทน เพราะว่าไม่ค่อยว่าง หรือบางเวลาอาจจะลงมาทำงานเอง ก็สุดแท้แต่ พณฯ ท่านจะเห็นสมควร
ก็สรุปได้ว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถือกำเนิดเป็นตัวตนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2545 มีสำนักงานถาวรอยู่ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ส่วนกรมการศาสนาเก่าในกระทรวงศึกษานั้นยังมิได้ยุบ แต่ถูกโยกเข้าไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ทำงานเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ให้แก่ศาสนาทุกศาสนา โดยอธิบดีกรมการศาสนาไม่ได้เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมเหมือนเก่า ตำแหน่งเลขาธิการมหาเถรสมาคมนี้ถูกยกให้เป็นของ "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" แทน
ผู้กำกับการดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยการมอบหมายของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 45 มาถึงปี 49 มีจำนวน 4 ท่าน ได้แก่
1. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี
2. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 3. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี 4. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี
ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น มีทั้งสิ้น 3 ท่าน ได้แก่
1. นายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 3 ตุลาคม 2545 ถึง 30 กันยายน 2546 2. พล.ต.ท.อุดม เจริญ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 ถึง 30 กันยายน 2547 3. นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2547 ถึง 17 ตุลาคม 2548
นับจากวันที่ 17 ตุลาคม 2548 ถึงวันนี้ วันที่ 22 มกราคม 2549 ก็เป็นเวลา 3 เดือนเต็มกับอีก 5 วัน เป็นระยะเวลาที่ "เก้าอี้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา" ไม่มีคนนั่ง สาเหตุเพราะ 1.ไม่มีคนกล้านั่ง 2.คนที่อยากนั่งมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม
เรื่องนี้เรื่องยาว ขอเล่าตั้งแต่ เมื่อเริ่มตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น นายสุทธิพงศ์ ตันตยาพิสุทธิ์ รองอธิบดีกรมการศาสนา ได้รั้งตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาเป็นคนแรก ซึ่งช่วงนั้นยังเป็นระยะเริ่มต้นเหมือนเด็กเพิ่งตั้งไข่ การปฏิบัติหน้าที่ของนายสุทธิพงศ์ จึงยังไม่โดดเด่น ทั้งยังอยู่ในวัยใกล้เกษียนอายุราชการด้วย
เมื่อนายสุทธิพงศ์เกษียนอายุลงในเดือนตุลาคม 2546 ก่อนหน้านั้นก็มีข่าวฮือฮามาว่า ทางรัฐบาลโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ทาบทาม พล.ต.ท.อุดม เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ข้ามห้วยมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีการโปรโมทคุณสมบัติในทางศาสนาของ พล.ต.ท.อุดม เจริญ ว่า "ขณะปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บัญชาการศึกษา ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2544 ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยนำข้าราชการตำรวจร่วมกับครอบครัว และประชาชน ไปร่วมปฏิบัติธรรมในวัด หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมทั่วประเทศ รวมเป็นจำนวนประมาณ 2 แสนคน อย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านดี ต่อผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรม"
พล.ต.ท.อุดม เจริญ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เพียงสามเดือนกว่า ก็เจอเรื่องใหญ่ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย นั่นคือ คำสั่งแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งลงนามโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 อันนำมาซึ่งการประท้วงมาราธอนของพระป่าคณะธรรมยุติในภาคอีสาน นำโดยพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี มีนายทองก้อน วงศ์สมุทร เป็นหัวหน้าศิษย์ผู้ทำหน้าที่แทน
พล.ต.ท.อุดมนั้น เป็นตำรวจชำนาญข่าวกรอง เรื่องล้วงตับล้วงไตใครยกเว้นตุ๊กแกเสียก็ว่ากันว่า พล.ต.ท.อุดม เป็นเซียนแนวหน้าของประเทศไทยคนหนึ่ง เมื่อเกิดแรงกระเพื่อมกระทบถึงอำนาจหน้าที่ในตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธฯ เช่นนั้น พล.ต.ท.อุดม คนสงขลา บ้านเดียวกับท่านวิษณุ เครืองาม ได้ออกหน้ารับก้อนอิฐแทนมหาเถรสมาคมและรัฐบาล ยืนฟัดกับนายทองก้อน วงศ์สมุทร ตัวแทนพระป่าสายหลวงตาบัวแบบหมัดต่อหมัด ถึงขนาดโชว์เช็คเงินสดกลางที่ประชุมมหาเถรฯ เป็นหลักฐานกล่าวหาหลวงตาบัวว่า "ว่าจ้างพระป่ามาประชุมนิคคหกรรมมหาเถรสมาคม" ปรากฎว่าได้ผลทันตาเห็น คือหลวงตามหาบัวยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีให้ปลดนายวิษณุ เครืองาม ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แถมให้ปลด พล.ต.ท.อุดม เจริญ ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วย แม้นายกรัฐมนตรีจะไม่อำนวยตามก็ตาม ครั้นเมื่อ พล.ต.ท.อุดม เจริญ เกษียนอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 นั้น ด้วยความดีความชอบดังกล่าว มหาเถรสมาคมจึงลงมติแต่งตั้งให้ พล.ต.ท.อุดม เจริญ เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม สงสัยจะปรึกษาเรื่องหลวงตาบัวเป็นการเฉพาะ ก็นี่แหละคือผลของงาน
เมื่อ พล.ต.ท.อุดม เจริญ พ้นตำแหน่งไปแล้วนั้น ทาง ดร.วิษณุ เครืองาม ก็ดำเนินการทาบทามบุคคลผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทน ทั้งนี้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนั้น ว่ากันโดยภาพรวมแล้วควรต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. เป็นข้าราชการประจำที่ยังไม่เกษียนอายุ แต่จะเป็นคนในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือคนจากกระทรวง (กรม) อื่น ก็อยู่ที่คุณสมบัติส่วนตัว ดังมี พล.ต.ท.อุดม เจริญ เป็นตัวอย่าง
2. ต้องมีฝีมือ หรือมีชื่อเสียง เท่าเทียมหรือไม่ด้อยไปกว่า พล.ต.ท.อุดม เจริญ เพราะ ผอ.คน เก่าเขารำได้ดีทั้งกลองทั้งปี่ เป็นที่ถูกอกถูกใจของแม่ยกคือมหาเถรสมาคมและรัฐบาล
นี่คือแรงกดดันสำหรับใครก็ตามที่อาจหาญจะขึ้นดำรงตำแหน่งหรือนั่งเก้าอี้ "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ดังกล่าว ผู้เขียนเขียนไปยังรู้สึกหนาวไปด้วยเลย มันเป็นการแข่งขันที่ออกจะโหดร้ายเหลือใจจริงๆ
และแล้ว บุคคลที่ท่านรองวิษณุคัดสรรอย่างดีก็มีชื่อปรากฏออกมาว่า ได้แก่ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ บุตรชายของนายกรัฐมนตรีพระราชทาน คือ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ว่าโดยเกียรติศักดิ์ส่วนตัวนั้น นพ.จักรธรรม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เคยเป็นรองปลัดกระทรวงเดียวกันมาก่อนแล้วด้วย ก็ต้องนับว่าดีกรีทั้งส่วนตัวและต้นทุนส่วนครอบครัวนั้นสูงยิ่ง ออกจะสูงกว่า พล.ต.ท.อุดม เจริญ ด้วยซ้ำไป
และ นพ.จักรธรรม ก็ไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง เมื่อแรกเข้ารับตำแหน่งนั้นหลังจากเข้าพระบรมมหาราชวังไปนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตแล้ว เขายังเดินสายไปไหว้ครูเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง คือ
1.สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
2.สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช 3.พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี
งานนี้หลวงตามหาบัวแฮปปี้มาก เพราะว่า ผอ.คนเก่าเขาไม่เคยมาหาเลย แถมยังกล่าวโทษท่านแบบเสียๆ หายๆ อีก หลวงตาบัวถึงกับประกาศว่า "พอใจกับการดำรงตำแหน่งของ นพ. จักรธรรม" แถมด้วยการเล่าประวัติของท่านกับครอบครัว "ธรรมศักดิ์" ตั้งแต่ นพ.จักรธรรม ยังแบเบาะอีก สื่อมวลชนและคนทั่วไปก็คาดการณ์ไปต่างๆ นาๆ ว่า นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ คนนี้แหละที่จะเป็นน้ำเชื่อมระหว่างพระกรุงกับพระป่าให้เข้ากัน เพราะแค่เข้ารับตำแหน่งวันแรกหลวงตามหาบัวก็ยิ้มได้แล้ว
แต่ถ้ามองไปทางมุมของกรรมการมหาเถรสมาคมบ้าง ก็อาจจะมองเห็นตีนกาบนใบหน้าพระเถรานุเถระพร้อมๆ กับคำถามว่า "มันไปทำไม ทำไมต้องไปหาหลวงตาบัว ??" ทั้งนี้เพราะตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น คือ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม ต้องสนองงานมหาเถรสมาคม มิใช่ไปสนองงานให้แก่หลวงตาบัว แม้จะสนิทชิดชอบกันปานไหนก็ตาม งานนี้ฝ่ายมหาเถรสมาคมย่อมมองว่า นพ.จักรธรรม เว่อร์เกินกว่าเหตุ นึกว่าตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไง !
ต่อมารอยร้าวระหว่าง มหาเถรสมาคม กับ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ก็เด่นชัดและบานปลายไปเรื่อยๆ เสาสัญญาณจากวัดราชาธิวาส คือศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา ของพระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สญฺญโต ป.ธ.9 Ph.D.) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ออกโรงฉะ นพ.จักรธรรมเป็นระยะ
พระเทพวิสุทธิกวีนั้น เป็นเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เคยนำพระภิกษุสามเณรและญาติโยมเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจนสำเร็จมาแล้ว เมื่อมีคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชขึ้นมานั้น พระเทพวิสุทธิกวี วัดราชาธิวาส ก็ได้รับการประกาศชื่อเป็นคณะเลขานุการคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชด้วยรูปหนึ่ง
ย้อนหลังไปในวันที่ 30 กันยายน 2546 พระเทพวิสุทธิกวี (ขณะนั้นยังเป็นพระราชกวี) เคยถูกคณะของหลวงตามหาบัวยื่นหนังสือกล่าวโทษผ่านกรมการศาสนาพร้อมๆ กับพระอีก 4 รูป คือ พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตโต) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) พระมหาโชว์ ทัสนีโย ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศน์ มจร. วัดชนะสงครามพระศรีญาณโสภณ (สุวิทย์ ปิยวิชโช) วัดพระรามเก้า และ พระพิศาลพัฒนาทร (ถาวร จิตตถาวโร) วัดปทุมวนาราม โดยข้อหา "พระทั้งห้ารูปนี้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับสมณเพศ กล่าวความเท็จ ใส่ร้ายป้ายสี" โดยเฉพาะก็คือการเคลื่อนไหวสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับมหาเถรสมาคม ซึ่งถูกหลวงตาบัวประท้วงไปก่อนหน้านี้
นี่แหละที่เป็นมูลเหตุให้ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาของพระมหาเกษมกับคณะของหลวงตามหาบัวเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน ทั้งเป็นการไม่ต้องแปลกใจเลยว่า เหตุไฉน พระราชกวี (เกษม สญฺญโต ป.ธ.9 Ph.D) วัดราชาธิวาส ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "พระพระเทพวิสุทธิกวี" และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณะเลขานุการผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชด้วย แหมก็ทำงานเข้าตามหาเถรออกอย่างนั้น ดู พล.ต.ท.อุดม เจริญ เป็นตัวอย่างสิ หรือแม้แต่พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต ป.ธ.9 Ph.D.) วัดจันทาราม สหายของพระเทพวิสุทธิกวี ก็ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "พระราชปัญญาเมธี" ด้วย
นพ.จักรธรรม เคยให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา ของพระเทพวิสุทธิกวีไว้ว่า
"ทุกวันนี้เขา (ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา) ก็ยังพูดนะ เขาไม่ได้ปิดบังความคิดนี้นะ เขายังพูดเขียนอยู่เลยว่าสำนักพระพุทธฯ เกิดมาได้ด้วยแรงของพุทธบริษัท ซึ่งก็คือกลุ่มนั้น และก็คาดหวังว่า เราจะต้องเป็นเด็กดีที่อยู่ในโอวาทของศูนย์พิทักษ์ฯ ซึ่งใน 1 ปีที่ผ่านมา มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผอ.เก่านำพาสำนักพระพุทธฯ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับศูนย์พิทักษ์ฯ มาก พูดอะไรก็ได้หมด ซึ่งผมเห็นว่าไม่ถูกต้อง ถ้ามีใครบังคับให้ผมทำอย่างนั้นผมก็คงต้องขอย้ายตัวเอง เพราะผมเห็นว่าสำนักพระพุทธฯ ควรจะเป็นกลาง และรับฟังทุกฝ่ายดูแลชาวพุทธทุกฝ่าย ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่นะ ใหญ่กว่าเรื่องวันวิสาขะอีก จุดยืนผมเป็นอย่างนั้น"
และกล่าวถึงการวางตัว "เป็นกลาง" ของตนเองไว้อีกว่า
"...ผมมาถึง ผมประกาศชัดเจนเลย ผมขอเถอะนะ ขอดูแลชาวพุทธทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน อันนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่คุณสนิท (ศรีสำแดง) หรือคุณทองขาวไม่รู้ ออกมาพูดว่า ไม่ได้สำนักพระพุทธฯ เป็นกลางไม่ได้ สำนักพระพุทธฯ ต้องอยู่กับมหาเถรสมาคม
ความเป็นกลางของผมไม่ได้แปลว่าผมไม่เข้าข้าง มส. ไม่ใช่ ผมรู้ว่านั่นเป็นบทบาทของ ผอ.สำนักพระพุทธฯ ตามกฎหมายเลย ต้องเป็นเลขาฯ มหาเถรสมาคม เลขาฯ จะไปเห็นต่างจากมหาเถรสมาคมไม่ได้ เห็นต่างมติไม่ได้ แต่ก่อนจะเป็นมติ ผมขอ perform duty ผมขอเสนอแย้งขอเสนอเรื่องใหม่ ขอเสนออะไรต่ออะไรบ้างได้ไหม"
สรุปก็คือว่า นพ.จักรธรรม ขอกำหนดบทบาทของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยเฉพาะก็คือ ตำแหน่งผู้อำนวยการ เสียใหม่ ทำให้มีบทบาทออกนอกลู่ไปจากที่ พล.ต.ท.อุดม เจริญ เคยปฏิบัติมา คือ
1. ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา วัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นผู้ปั้นสำนักงานพระพุทธศาสนามากับมือ
2. ทำตัวนอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเกี่ยวพันกับมหาเถรสมาคม
ที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือ ต้นเดือนตุลาคม 2548 นพ.จักรธรรม ได้ออกคำสั่งไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ให้จัดการทำประวัติพระภิกษุผู้เห็นสมควรได้รับการแต่งตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์ในปี 2549 ซึ่งจะจัดทำเป็นพิเศษเนื่องในวโรกาสฉลองครองราชสมบัติครรบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่านงานเลื่อนสมณศักดิ์ประจำปี 2548 นี้เลย งานนี้เข้าตีนศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาของพระมหาเกษมเข้าเต็มๆ พระมหาเกษมจึงออกโรงเล่นงาน นพ.จักรธรรม อย่างรุนแรงว่า
"การที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปดำเนินการเอง ถือว่าละเมิดมติ มส. ไปทำลัดขั้นตอนหรือแอบดำเนินการ ที่สำคัญพระสังฆาธิการที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประจำจังหวัดไปคัดเลือกมา สมมติว่าจังหวัดละ 2 รูป 76 จังหวัดก็ 150 กว่ารูป ขณะที่โควตามีไม่กี่สิบรูป หากถึงเวลาพิจารณาแล้วไม่ได้เลื่อนจะส่งผลเสียหายแก่พระสังฆาธิการรูปนั้นๆ เพราะพระสังฆาธิการที่ได้รับการเสนอชื่อก็ย่อมมีความหวัง และที่ผ่านมาทุกครั้งก็จะมีกลุ่มคนไปหาผลประโยชน์ แอบอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นช่วยให้เลื่อนสมณศักดิ์ได้ เมื่อถึงเวลาแล้วไม่ได้ขึ้นมาก็จะผิดหวัง เสียทั้งเงินและถึงอาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งมีให้เห็นกันอยู่ทุกปี ดังนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดขึ้น !."
และต่อมา 18 ตุลาคม 2548 นพ.จักรธรรม ก็ออกมายอมรับว่า "ได้สั่งการไปจริง" แต่แค่หาข้อมูลช่วยคณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมเท่านั้น มิได้มีเจตนาอื่นแอบแฝงดังที่พระเทพวิสุทธิกวีระแวงแต่อย่างใด หวังว่าคงเข้าใจ
ครั้นวันรุ่งขึ้น นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียกไปพบ เพื่อแจ้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2548 ให้ทราบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการกระทรวงสาธารณสุข" ข่าวนี้ลับสุดๆ ขนาดว่า นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังไม่รู้เรื่องเลย แสดงว่า นายวิษณุ เครืองาม ล้วงลูกล้วงงานของนายสุวัจน์ด้วย ! ทั้งนี้ นพ.จักรธรรม ได้พูดทิ้งท้ายว่า "ถ้าเป็นไปได้ผมอยากมีโอกาสคุยกับนายกฯซัก 5 นาทีก็ยังดี" แต่ดูเหมือนว่าทุกสิ่งจะสายเกินไปเสียแล้ว
นับตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ คือจากวันที่ นพ.จักรธรรมได้ย้ายออกไปเป็นต้นมา นับเป็นระยะเวลาที่ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ "ว่างลง" อย่างเป็นทางการ เก้าอี้้ตัวนั้นไม่มีใครกล้านั่ง มีเพียงนางบุญศรี พานะจิตต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอยู่ข้างๆ
กระทั่งวันที่ 18 ม.ค. 2549 พระธรรมกิตติเมธี โฆษกมหาเถรสมาคม ได้ออกมาแถลงว่า "งานของมหาเถรสมาคมชะงักงัน เพราะขาดผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงอยากจะเร่งให้รัฐบาลรีบตั้ง ผอ.พศ.เสียโดยไว"
อะไรเป็นอะไร ????????????
ก็มหาเถรสมาคมเองมิใช่หรือ ที่ไม่เอา นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รัฐบาลก็ตามใจ แต่ก็ยังอ่านใจมหาเถรสมาคมไม่ออก ว่าหลวงพ่อทั้งหลายท่านอยากได้ใครเป็น ?
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ทราบว่ามีการทาบทามตัวบุคคลให้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคนใหม่มาโดยตลอด แต่หลายท่านที่ถูกทาบทามล้วนเซย์ "โน" ทั้งนี้เพราะเทียบเคียงคุณสมบัติส่วนตัวของตนเองกับ นพ.จักรธรรมแล้ว รู้ว่าสู้ไม่ไหว ขืนเข้าไปก็เด้งออกมาแน่ ก็ขนาดลูกอดีตนายกรัฐมนตรีและประธานองค มนตรีเขายังไม่ไว้หน้าน่ะ แล้วเราเป็นใคร
เมื่อย้อนกลับไปดูคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ. ข้างต้น ก็พบว่า ต้อง..
1. เป็นข้าราชการประจำที่ยังไม่เกษียนอายุ แต่จะเป็นคนในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือคนจากกระทรวง (กรม) อื่น ก็อยู่ที่คุณสมบัติส่วนตัว ดังกรณี พล.ต.ท.อุดม เจริญ หรือ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ นั่นเอง
2. ต้องมีฝีมือ หรือมีชื่อเสียง เท่าเทียมหรือไม่ด้อยไปกว่า พล.ต.ท.อุดม เจริญ และ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์
เท่านั้นยังไม่พอ คุณสมบัติส่วนอื่นที่บอกผ่านโฆษกมหาเถรสมาคมก็ล้วนแต่ครอบจักรวาล พระธรรมกิตติเมธีท่านระบุว่า
"คณะสงฆ์ไม่ติดใจเรื่องบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ จะเป็นใครก็ได้ ที่นับถือพระพุทธศาสนา เข้าใจลักษณะงานและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ เมื่อมาดำรงตำแหน่งแล้วต้องสามารถปฏิบัติงานได้เลย เนื่องจากขณะนี้เรามีงานเร่งด่วนอยู่มาก ตั้งแต่การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวง กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสังคม เป็นต้น" สรุปง่ายๆ ก็คือว่า ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมหาเถรสมาคม แบบว่ามองตาต้องรู้ใจท่าน เท่านั้นเอง ทำเป็นหรือเปล่า ?
คำถามก็คือว่า แล้วใครไหนในปัถพีที่มีคุณสมบัติ "เสมอ" หรือ "เทียบเท่า" หรือ "ยิ่งกว่า" สองอดีต ผอ.พศ. ที่ผ่านมา ยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
กล่าวทางนางบุญศรี พานะจิตต์ ท่านผู้นี้เป็นคนดี ทั้งฝีมือไม่ธรรมดา แต่ทว่ามีข้อเสียตรงที่เป็นอิสตรี เข้าใกล้พระใกล้เจ้าไม่ได้ คุยกับหลวงพ่อซึ่งบางรูปหูฝาดเพราะอายุมาก นั่งไกลรายงานด้วยน้ำเสียงธรรมดาท่านก็ไม่ได้ยิน จะตะโกนก็หาว่าไม่เคารพ จะเข้าใกล้ก็ไม่เหมาะสม งานบางอย่างต้องรีบทำทั้งเช้าทั้งเย็น จะวิ่งรอกเข้าวัดในเวลาวิกาลก็จะเป็นที่ครหา นางบุญศรีซึ่งน่าจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ. มาตั้งแต่ปีกลาย ก็ยังคงได้เพียง "รักษาการ ผอ.พศ." เท่านั้น วาสนา หนอ วาสนา..
ส่วนบุคคลอื่นๆ ล่ะ ถ้ามองหาในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็หาตัวไม่มี เพราะถ้าเอาคนอื่นขึ้นเป็น ก็จะเป็นการข้ามอาวุโสของนางบุญศรี พานะจิตต์ ไป ถ้ามองหาจากหน่วยงานอื่น ใครไหนอยากจะเล่นกับเกมแห่งอำนาจอันร้อนแรงอยู่ทุกอณูในเวลานี้
ที่สำคัญก็คือ คุณสมบัติของอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2 ท่านที่ผ่านมานั้นล้วนแต่ "เอกอุ" ถ้าเป็นทหารก็อยู่ในขั้น "อัศวิน" ยิ่งผลงานที่สองอดีต ผอ.โชว์ออกไปแล้วนั้น เป็นของจริงที่เลียนแบบได้ยาก เหมือน เดอะ เรียลลิตี้ โชว์ ของทักษิณ ชินวัตร ที่อำเภออาจสามารถ ก็ขนาดสุดยอดอย่าง พล.ต.ท.อุดม เจริญ และ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ยังได้รับผลของงานต่างกันราวฟ้ากับดิน ทั้งๆ ที่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดียวกันแท้ๆ แม้จะต่างเวลากันก็ตาม ดูที่เงินเดือนก็ไม่เห็นแตกต่างตรงไหน แต่ทำไมผลด้านอื่นกลับผิดกันไกล เรื่องฝีมือน่ะบางทีมิได้ห่วง ห่วงอยู่ก็แต่เรื่อง "แบ๊กกราวน์" หนุนหลังเท่านั้น ถ้ามีสูตรสำเร็จว่า"มาเพราะการเมือง ก็ต้องไปเพราะการเมือง" ก็เห็นทีจะไม่มีคนอาสา เพราะว่า การเมืองเป็นเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้ ใครไม่เชื่อก็ลองไปถาม นพ.จักรธรรมดูสิ ว่าวันที่ท่านรองวิษณุไปทาบทามให้มาดำรงตำแหน่ง กับวันที่ท่านแจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้ไปเป็นผู้ตรวจการกระทรวงสาธารณสุขนั้น เหมือนกันไหม
ในท้ายนี้ขอชี้ว่า อันตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินี้ มีหน้าที่ในการสนองงานคณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมโดยตรง แต่ไหนแต่ไรมามหาเถรสมาคมหรือพระสงฆ์ไทยไม่มีสิทธิ์เลือก รัฐบาลตั้งมาอย่างไรก็ทำงานร่วมกันไปตามนั้น จะถูกขาถูกคอหรือไม่ก็พูดยาก ถ้าได้คนที่เอากับมหาเถรสมาคมอย่างเต็มตัว เช่น พล.ต.ท.อุดม เจริญ มันก็พอสบายใจมหาเถรสมาคมหน่อย แต่ถ้าได้คนที่ครึ่งๆ กลางๆ เจ้าหลักการอย่าง นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ก็อึดอัดทั้งสองฝ่าย จะอยู่ก็ลำบาก จะไล่ก็ไม่งาม รัฐบาลควรคำนึงถึงจุดนี้ให้ดีเพราะอย่างไรเสีย รัฐบาลก็ต้องตั้ง ผอ.พศ. อยู่ดี แต่ตั้งแล้วจะดีหรือไม่ ? อันนี้มิใช่เรื่องดวงแน่นอน แต่มันจะสะท้อนถึงวิจารณญาณของผู้ตั้ง และฝีมือของผู้มาดำรงตำแหน่งอีกด้วย
เก้าอี้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตัวนี้จึงมีอาถรรพ์ ซึ่งท่านว่าถ้าไม่บูชาให้เหมือนครูบาอาจารย์ละก็ ต้องกำราบให้อยู่หมัดเหมือนเณรแอย่างศพเด็กนั่นทีเดียวจึงจะเอาอยู่ อย่าทำเล่นๆ เป็นครึ่งๆ กลางๆ เหมือน นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ล่ะ เทวดาแถวๆ ภูเขาทอง เอ๊ย แถวๆ พุทธมณฑลท่านไม่ชอบหรอก สิบอกไห่...
|
พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา 22 มกราคม 2549เวลาแปซิฟิกโซน 06:30 p.m. |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ