พระช่วยพระ วัดบวร


เมื่ออุทกภัยมา ถึงคราพระช่วยพระ

ธารน้ำใจไทยช่วยไทย นอกจากหน่วยงานต่างๆออกมาช่วยเหลือกันแล้ว ยังมีพระภิกษุสงฆ์ออกมาช่วยพระภิกษุสงฆ์อีกด้วย

“อาตมาทำมาหลายวันแล้ว ลงพื้นที่แรกๆคือ ลพบุรี สิงห์บุรี อยุธยา และเรื่อยมาจนถึงบางบัวทอง และนี่อาจจะต้องออกไปช่วยเหลือชาวกรุงเทพฯอีก” พระ ดร.อนิลบอก

พระ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย แห่งสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ตอบคำถามเรื่องสถานที่ออกไปช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์ที่ประสบอุทกภัย ในนามสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

นัยหนึ่งคือ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

“สมัยสมเด็จพระสังฆราชทรงแข็งแรง พระองค์ทรงออกไปช่วยพระภิกษุสงฆ์ ยามนี้แม้พระองค์จะอาพาธ แต่ด้วยพระปณิธานที่พระองค์เคยแสดงออก เคยช่วยเหลือไว้ เราก็มาคิดกันว่า ถ้าพระองค์ทรงแข็งแรงอยู่ จะทรงทำอย่างนี้ จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย”

เหตุการณ์ที่สมเด็จพระสังฆราชเสด็จออกช่วยเหลือเมื่อปี พ.ศ.2526 ย่อมยังอยู่ในความทรงจำของพระภิกษุสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างดี

สำหรับการออกไปช่วยเหลือคราวนี้ พระอนิลบอกว่า พยายามจะเข้าไปในสถานที่ที่คนเข้าไปถึงยาก เพราะคณะสำนักเลขาฯสมเด็จพระสังฆราช จะมีเรือเครื่องอยู่ 1 ลำ พอที่จะฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวลึกเข้าไปได้ ส่วนข้าวของที่นำไปช่วยเหลือนั้น จะมีรถบรรทุกขนตามไป

เมื่อรถไม่สามารถเข้าไปได้ ก็นำข้าวของลงเรือเข้าไป

ประสบการณ์การลงพื้นที่ที่ผ่านมา พื้นที่เขตบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี โดยเฉพาะที่วัดละหารเป็นเหตุการณ์ที่ต้องจดจำยากจะลืมเลือน ระดับน้ำย่านบางบัวทอง บางหมู่บ้านถึงเอว ขณะที่บางหมู่บ้านน้ำถึงคอ นอกจากระดับน้ำสูงแล้ว บางแห่งน้ำยังเชี่ยวกราก เหมือนจะกระชากทุกสิ่งทุกอย่างให้ลอยไปกับกระแสน้ำ

อย่างบ้านของนายอาจินต์ ศิริวรรณ เลขที่ 90/291 หมู่บ้านกานต์มณี หมู่ที่ 14 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ในวันที่ 21 ตุลาคมระดับน้ำสูงถึงคอ หรือประมาณเกือบ 2 เมตร การเดินทางเข้า-ออกบ้านแต่ละครั้ง ต้องอาศัยเรือรับจ้างอย่างเดียว

“ผมต้องพึ่งเรือรับจ้างเพื่อเข้ามาดูสัตว์เลี้ยง และมาดูบ้านบ้าง เที่ยวหนึ่งก็ 50 บาท ถึง 100 บาท ไม่เข้ามาก็ไม่ได้ เป็นห่วงมัน” อาจินต์บอก

เมื่อถามถึงคนในหมู่บ้าน อาจินต์บอกว่า คนในหมู่บ้านประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ออกไปอยู่นอกพื้นที่ ส่วนที่เหลือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่ยอมออกไปเพราะต้องการเฝ้าบ้าน เพราะกลัวข้าวของหาย และเป็นห่วงสัตว์เลี้ยง

หน่วยงานต่างๆที่เข้าไปช่วยเหลือ บางหมู่บ้านเข้าถึง แต่บางหมู่บ้านก็เข้าไม่ถึง

ส่วนวัดละหารที่ท่านอนิลและคณะเข้าไปนั้น ตั้งอยู่เขตบางบัวทองเช่นเดียวกัน เมื่อเข้าไปในพื้นที่แล้ว ท่านพยายามถามชาวบ้านว่ามีย่านไหนที่เดือดร้อน และความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึงบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่า
วัดละหารมีพระอยู่มาก แต่ความช่วยเหลือยังไปไม่ถึง จึงหาทางเข้าไป

ระหว่างถามหาทาง “พบพระพายเรือมา ถามท่านว่าอยู่วัดไหน ท่านบอกว่าอยู่วัดละหาร กำลังออกมาหาเสบียง พระที่อยู่ในวัดมีอยู่กว่า 70 รูป ยังขาดเสบียงอยู่มาก ระดับน้ำที่วัดมิดหัว และพระท่านส่วนใหญ่ก็พายเรือกันไม่เป็น”

ทราบดังนั้น ท่านก็ใช้เรือติดเครื่องตรงไปยังวัดละหาร ซึ่งตั้งอยู่ เลขที่ 17 หมู่ที่ 2 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง เอาเรือลำใหญ่ไป 1 ลำ บรรทุกของส่งไปให้ถึงวัด เมื่อไปถึงก็พบพระภิกษุเป็นจำนวนมาก ต่างรอความช่วยเหลืออยู่

สาเหตุที่วัดละหารมีพระอยู่มาก เพราะว่าเป็นวัดประจำอำเภอ เปิดสอบพระปริยัติธรรมแผนกธรรมตั้งแต่ปีพุทธศักราช  2489 และยังมีแผนกบาลีที่เริ่มเปิดมาตั้งแต่พุทธศักราช 2496 เป็นต้นมา นอกจากนั้น ยังเป็นศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์ อีกทั้งเป็นศูนย์สงเคราะห์พุทธมามกะประจำ

พระบางรูปเห็นท่านอนิลถึงกับตกใจ ไม่ฝันว่าท่านจะเดินทางเข้าไปด้วยตนเอง หลังถามสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว พบว่าสิ่งของที่พระต้องการนั้น เป็นต้นว่า ยาแก้น้ำกัดเท้า ข้าวของเครื่องใช้ และที่สำคัญคือเสบียง เพราะไม่รู้ว่าน้ำจะลดเมื่อไร

การลงพื้นที่ ทำให้ท่านทราบว่าวัดบางวัดไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปช่วยเหลือ ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านลึกๆเข้าไป ความช่วยเหลือต่างๆเข้าไปไม่ถึง จึงเป็นเรื่องที่ต้องสืบเสาะและช่วยเหลือกันต่อไป

ท่านฉายภาพให้เห็นว่า “อาตมาเข้าไปถามชาวบ้านว่ามีปัญหาอะไร จุดไหน พยายามหาจุดที่ไม่มีคนเข้าไป เจอคนที่ไม่ทิ้งบ้าน เขาบอกว่าเป็นห่วงบ้าน ยังไม่มีใครเข้ามาเลย พร้อมกับขอถุงยังชีพ คนที่เข้าไปช่วยเหลือส่วนใหญ่เข้าไปในถนนหลัก แต่ซอยเล็กๆมีคนติดอยู่มาก อย่างหมู่บ้านชัยพฤกษ์ ช่วงน้ำท่วมใหม่ๆยังไม่มีใครเข้าไปตรงนั้น เพราะว่าเข้าไปไม่ได้ ถ้าเอาเรือมาก็ต้องแบกเรือในบางจุด บางแห่งตำรวจ ทหารก็เข้าไปไม่ได้ เพราะน้ำเชี่ยวมาก” พระอนิลบอก

หลังแจกจ่ายข้าวของแล้ว ปรากฏว่าของยังเหลืออยู่ แต่มืดเสียก่อน ท่านจึงขอลงพื้นที่อีกวันต่อมา จึงฝากเรือไว้กับชาวบ้าน วันต่อมาปรากฏว่าเรืออันตรธานไปแล้ว ครั้นตระเวนหาดูก็พบ เนื่องจากคนเอาไปใช้ไม่ได้เอาไปใช้ไกลมาก

และที่สำคัญ ข้อความสำนักเลขาฯสมเด็จพระสังฆราชยังปรากฏอยู่ชัดเจน

สำหรับโครงการช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์ของสำนักเลขาฯสมเด็จพระสังฆราช ตั้งอยู่ที่สนามบาสของวัดบวรฯ เปิดรับความช่วยเหลือจากพุทธศาสนิกชนมานานแล้ว และเปิดต่อไปอีกนานจนกว่าสภาพน้ำท่วมขังจะทุเลาเบาบาง

ถุงยังชีพ “พระช่วยพระ” ข้าวของทั้งหมดได้มาจากชาวบ้านที่นำมาทำบุญ เริ่มสะสมมาตั้งแต่วันตักบาตรเทโว ทีมงานได้นำมารวมกับข้าวของที่ชาวบ้านร่วมทำบุญ นำมาใส่ถุงพลาสติก ภายในมีข้าวสาร อาหารแห้ง สบู่ ยาสีฟัน น้ำตาล แต่ละวันจะมีพระ เณร และชาวบ้านช่วยกันคัดแยก

ถุงแต่ละใบไม่มีตราใดๆประทับ “เราต้องการช่วยเหลือกันจริง ไม่มีการหาเสียงใด” พระอนิลบอก

ใครหมายร่วมสร้างกุศลกับสำนักเลขาฯสมเด็จพระสังฆราช ตรงไปที่วัดบวรฯได้ทันที เปิดรับตลอด 24 ชั่วโมง สงสัยประการใดสอบถามได้ที่หมายเลข 0-2281-2831-2

เหตุเภทภัยน้ำท่วมครั้งนี้ ท่านอนิลบอกว่า “คงจะเป็นไปตามธรรมชาติ เรื่องอุทกภัยมันเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆอยู่แล้ว คงเป็นเรื่องธรรมชาติต้องการปรับตัวให้เกิดความสมดุลไปตามธรรมชาติ แต่เราซึ่งเป็นฝ่ายตั้งรับ อาจจะมีการวางแผนปรับตัวไม่ทัน หรือปรับตัวรับไม่ได้ หรืออาจจะไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ”

ถึงกระนั้น “ก็ยังดีที่เรามีความสามัคคีกันในเวลานี้”

ท่านบอกว่าเรื่องของอุทกภัยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลแล้ว อย่างครั้งหนึ่งขณะพระอยู่ในศาสนพิธีปาฏิโมกข์ เกิดน้ำไหลหลากเข้ามา จนไม่สามารถทำพิธีต่อไปได้ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขกันไป

น้ำมากหรือน้อยเป็นเรื่องห้ามไม่ได้ ปัญหามันอยู่ที่การจัดการ ปัจจุบันเรามีทั้งดาวเทียมและเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย เราอาจยังนำมาใช้จัดการไม่ดีพอ หรือบริหารจัดการได้ไม่ดี หรือทำดีที่สุดแล้ว แต่ได้แค่นี้ก็อาจเป็นได้

แต่อย่างไรก็ตาม “อาตมายังพอเห็นชาวบ้านยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ คงยอมรับสภาพได้”

ตราบใดที่น้ำยังท่วมหนัก ตราบนั้นย่อมมีผู้ต้องการน้ำใจ

ถึงนาทีที่จะต้องช่วยเหลือกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนช่วยคน หรือพระช่วยพระ.

http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/211490


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ