พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเป็นโมฆะ! ใครจะรับผิดชอบ ?


พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเป็นโมฆะ!
ใครจะรับผิดชอบ ?


"สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันพุธ ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2555 ระเบียบวาระที่ 5 ข้อ 5.1 มติที่ 20 
ให้อธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง เป็นเหตุให้รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีพ้นจากตำแหน่งด้วย..."
 

ณ วันนี้ คงไม่มีเรื่องอะไรจะใหญ่และร้อนแรงไปกว่ามติของสภามหาวิทยาลัยมหามกุกราชวิทยาลัย (มมร.) ครั้งที่ 4/2555 ประชุมวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2555 ทั้งนี้สภามหามกุฎราชวิทยาลัยได้ลงมติให้ "พระเทพปริยัติวิมล-อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย" พ้นจากตำแหน่ง โดยยังไม่ทราบสาเหตุแห่งการให้พ้นจากตำแหน่งในครั้งนี้ว่าคืออะไร ?
แต่อย่างไรก็ตาม ตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาแล้วในตอนก่อน ว่าด้วยปัญหาสารพัดที่รุมกระหน่ำวงการพระธรรมยุตให้ซวนเซ แบบว่าเจอทั้งศึกนอกศึกในให้ร้อนรน จนสุดท้ายต้องมีกรรมการลงมาห้ามมวย และเหมือนโชคช่วยที่ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า "การได้มาซึ่งตำแหน่งอธิการบดีของพระเทพปริยัติวิมลในรอบที่ 2 นี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" และกฤษฎีกายังได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ทางสภามหามกุฎราชวิทยาลัย ควรที่จะกลับไปดำเนินการสรรหาอธิการบดี มมร. ให้ถูกต้องตามกฎหมายและบายลอว์ต่อไป คำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นออกมาในเดือนกันยายน พ.ศ.2555 ก็ตีซะว่า เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมานี่เอง
ก่อนที่กฤษฎีกาจะออกวินิจฉัยว่าด้วยข้องกฎหมายของมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น ก็เนื่องจากทางสภามหามกุฎราชวิทยาลัยได้ส่งหนังสือ "ขอคำแนะนำด้านกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งอธิการบดี มมร." ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2555 ทางกฤษฎีกาจึงได้ออกวินิจฉัยดังกล่าว
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลอีกด้วยว่า เนื่องจากทางประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ) ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ซึ่งการที่มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชออกมาเช่นนั้น ย่อมเป็นเหตุผลชั้นดีในการอ้างเป็น "ศักดิ์และสิทธิ์" หรือ "ความชอบธรรม" ในการดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. ของพระเทพปริยัติวิมล รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่พระเทพปริยัติวิมลและสภามหามกุฎราชวิทยาลัยว่า "สิ่งที่ทางสภามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการไปนั้นถูกต้องชอบธรรมแล้ว มิเช่นนั้นคงจะไม่มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชลงมา" ดังที่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนต่อกรณีดังกล่าว
"พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" ฟังดูแล้วรู้สึกว่าสูงส่งระดับเดียวกับ "พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เลยทีเดียว ใครที่ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ก็เหมือนได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีศักดิ์และสิทธิ์สัมฤทธิ์ผลทุกประการ
แต่นั่นเป็นเพียงอดีต
ในปัจจุบันนั้นมันเปลี่ยนไปแล้ว
ตำแหน่งอธิการบดี มมร. เป็นตัวอย่าง

ความจริงแล้ว พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ไม่ว่าจะลงพระนามโดยสมเด็จพระสังฆราช หรือโดยประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชก็ตาม ยังมีความแตกต่างเป็น 2 ทาง ได้แก่
1. เป็นพระบัญชาที่ทรงลงพระนามในนามประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งการลงพระนามในรายการนี้ มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 เป็นฐานรองรับอำนาจ ทั้งนี้พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุถึงอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช (รวมทั้งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช) ไว้ 2 แห่ง คือ

มาตรา 8. สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม
มาตรา 20. คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม

ดังนั้น เมื่อมหาเถรสมาคมลงมติใดๆ ออกมา ก็เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชที่จะต้องลงพระบัญชา ที่เรียกว่า "พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" ถือว่าเป็นอำนาจสิทธิ์ขาดที่ทรงโปรดมอบถวายให้แก่คณะสงฆ์ได้ปกครองกันเอง โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเข้ามาก้าวก่ายหรือเกี่ยวข้อง ยกเว้นแต่ในการทรงพระราชทานสมณศักดิ์นับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชไปจนถึงพระครูประทวน
นี่คือพระบัญชาที่สมเด็จพระสังฆราชทรงลงพระนามในนามประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
2. เป็นพระบัญชาที่ทรงลงพระนามในฐานะสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งการลงพระนามในรายการนี้ มิได้มีมติของมหาเถรสมาคมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่มีการระบุอำนาจในการลงพระนามในการแต่งตั้งตำแหน่งอธิการบดี มมร. ของสมเด็จพระสังฆราช ไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 ดังนี้


มาตรา 17 ให้สภามหาวิทยาลัยประกอบด้วย
(1) นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจากพระเถระ
(2) กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิการบดี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อธิบดีกรมการศาสนา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
(3) กรรมการสภามหาวิทยาลัย จำนวน 7 รูป ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี หรือคณบดี โดยคำแนะนำของกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง
(4) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 6 รูป หรือคน แต่ไม่เกิน 8 รูป หรือคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ โดยคำแนะนำของกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง และในจำนวนนี้ต้องเป็นพระภิกษุไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ฯลฯ
มาตรา 18 นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา 17 (3) และ (4) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี แต่สมเด็จพระสังฆราชจะทรงแต่งตั้งใหม่อีกได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคหนึ่ง นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา 17 (3) และ (4) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) มรณภาพ หรือตาย
(2) ลาออก
(3) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(4) สมเด็จพระสังฆราชทรงถอดถอน
(5) ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยในประเภทนั้น
(6) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(7) เป็นบุคคลล้มละลาย
จะเห็นได้ว่า ในมาตราที่ 17 และ 18 ข้างต้นนั้น ได้กำหนดให้ "สมเด็จพระสังฆราช" ทรงมีอำนาจทั้งในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกสภามหาวิทยาลัย (มมร) ไล่ลงไปจนถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัย แถมในมาตราที่ 19 ยังระบุอีกด้วยว่า
มาตรา 19 สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการ ทั่วไปของมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะให้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
(1) วางนโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การ ให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
(2) วางระเบียบ ออกข้อบังคับ ข้อกำหนด และประกาศของ มหาวิทยาลัย และอาจมอบหมายให้ส่วนงานใดในมหาวิทยาลัยเป็นผู้วางระเบียบ และออกประกาศสำหรับส่วนงานดังกล่าวก็ได้
(3) อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และ ประกาศนียบัตร
(4) อนุมัติการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกสำนักงานวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย รวมทั้งการ แบ่งส่วนงานของหน่วยงานดังกล่าว
(5) อนุมัติการรับเข้าสมทบ หรือการยกเลิกการสมทบของสถาบัน การศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยด้านพระพุทธศาสนา
(6) อนุมัติการเปิดสอนและหลักสูตรการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา ให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย รวมทั้งการยุบ รวม และยกเลิกหลักสูตรและ สาขาวิชา
(7) พิจารณาดำเนินการเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอนอธิการบดี(8) พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอนศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ
(9) แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์
(10) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับ การกำหนดตำแหน่ง การกำหนดอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน ค่าจ้าง สวัสดิการและประโยชน์อย่างอื่น การบรรจุและแต่งตั้ง การรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง การออกจากงาน การรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การร้องทุกข์ และการอุทธรณ์การลงโทษของคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง

"พิจารณาดำเนินการเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอนอธิการบดี" ข้อความตรงนี้แหละที่มาเกี่ยวข้องกับตำแหน่งอธิการบดีของพระเทพปริยัติวิมลในปัจจุบัน
ถ้าจะประมวลกระบวนการใช้อำนาจในมหามกุฎราชวิทยาลัยแล้ว ก็ต้องเป็นไปในทำนองว่า สภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย แต่เมื่อลงมติไปแล้ว ต้องนำไปให้ "สมเด็จพระสังฆราช" ทรงเซ็น หรือทรงลงพระนามเป็นพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
ทำนองเดียวกับมหาเถรสมาคม !
เพียงแต่มติของสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย "ไม่ต้องผ่านมหาเถรสมาคม"
คือพอสภามหาวิทยาลัยลงมติแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง ต้องนำขึ้นทูลถวายสมเด็จพระสังฆราช เพื่อทรงลงพระนามในพระบัญชาต่อไป
กระบวนการตรงนี้จึงแตกต่างจาก "มติมหาเถรสมาคม" โดยสิ้นเชิง
พูดได้ว่า ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย (รวมทั้งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ได้กำหนดให้ "สมเด็จพระสังฆราช" ทรงดำรงตำแหน่ง "ประธานคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย" โดยตำแหน่ง เหมือนกับตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
แต่..แต่ในมาตราที่ 7 ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ได้กำหนดไว้ว่า "ให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ"
แปลว่าอะไร ?
อ๋อก็แปลว่า มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) มิใช่มหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ และก็มิใช่มหาวิทยาลัยของมหาเถรสมาคม
แต่เป็นมหาวิทยาลัย "ของรัฐบาลไทย" เข้าใจไหม ?
นี่ไงที่มันผิดฝาผิดตัวจนก่อให้เกิดปัญหาว่าด้วยพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นหมันอยู่ในวันนี้
เพราะว่า ในเมื่อพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ต้องเป็นของรัฐบาล ซึ่งถ้าเป็นมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็จะกำหนดให้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย (เช่น นายกสภา กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี เป็นต้น) เป็นตำแหน่งที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่สำหรับมหามกุฎราชวิทยาลัย (และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) กลับระบุให้ "สมเด็จพระสังฆราช" ทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง
ทั้งๆ ที่มิใช่มหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ไทยอีกต่อไปแล้ว !
ถามว่าผิดฝาผิดตัวไหม ?
ถามว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเอาอำนาจอะไรไปตั้งตำแหน่งที่มิได้เกี่ยวกับกิจการของคณะสงฆ์ ?
และถามว่า ใครเป็นคนเขียนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2 ฉบับนี้ขึ้นมา จนก่อปัญหาใหญ่ให้แก่สมเด็จพระสังฆราชในวันนี้ !
การที่สมเด็จพระสังฆราชทรงลงพระนามในมติมหาเถรสมาคมนั้น ถูกต้อง-ชอบธรรม เพราะทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และเมื่อมีพระบัญชาไปแล้ว ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งมิได้
แต่ในการลงพระนามในมติสภามหาวิทยาลัย ทั้ง มจร. และ มมร. นั้น ถามว่าทรงลงในฐานะอะไร
เพราะในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มจร.-มมร. ทั้งสองแห่ง ก็มิได้ให้ "อำนาจ" ของสมเด็จพระสังฆราชไว้ในที่ตรงไหนเลย
ระบุแต่หน้าที่ว่า ให้ลงพระนามตรงโน้นตรงนี้ แต่งตั้งตำแหน่งโน้นตำแหน่งนี้
แต่ไม่มีฐานรองรับพระอำนาจของสมเด็จพระสังฆราช !
เช่นว่า ถ้าหากมีความผิดพลาดในการทรงลงพระนามไปแล้ว เช่นกรณีอธิการบดี มมร. ในครั้งนี้ ใครจะรับผิดชอบ และมีโทษเช่นไร ?
เพราะว่า..พระบัญชาที่ทรงลงไปแล้วไม่เป็นผล พูดหยาบๆ ก็คือว่า กลายเป็นเศษขยะ
พระเทพปริยัติวิมลนั้นมีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชอยู่ในมือจำนวน 2 ใบ
ใบหนึ่ง แต่งตั้งให้พระเทพปริยัติวิมล ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2550
อีกใบหนึ่ง แต่งตั้งให้พระเทพปริยัติวิมลดำรงตำแหน่งอธิการบดี ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554
ใบแรกนั้นส่งผลให้พระเทพปริยัติวิมลขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. และมีอำนาจหน้าที่สมบูรณ์ทุกประการ
แต่ใบที่สองนั้น กลับส่งผลตรงกันข้าม
ถามว่า พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชทั้งสองฉบับนั้น ออกมาอย่างถูกต้องไหม ?
คงไม่มีใครบังอาจตอบว่า ออกมาโดยไม่ถูกต้อง
แต่ในความเป็นจริงก็คือ ถูกใบหนึ่ง เถื่อนใบหนึ่ง
เพราะใบแรกนั้นมีผล แต่ใบที่สองนี้กลับไร้ผล
เพราะกฤษฎีการะบุว่า "การได้มาซึ่งตำแหน่งอธิการบดีของพระเทพปริยัติวิมลนั้น มิชอบด้วยกฎหมาย"
หมายถึงว่า พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. ในรอบที่สองนี้ อยู่ในกระบวนการอันมิชอบตามกฎหมายของมหาวิทยาลัย มมร. ด้วย
ซวยละซี !
นี่ไงที่ผู้เขียนอยากถามว่า ใครเป็นคนเขียนพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มมร.-มจร. ขึ้นมา และก่อปัญหาให้แก่พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชในวันนี้
และที่จะถามต่อไปก็คือว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดดังกล่าว ?
หรือจะปล่อยให้ผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
 
ศักดิ์และสิทธิ์ในพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชอยู่ไหนหรือครับ
อยู่ไหนครับ "ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" ที่เคารพยิ่ง ?
อยู่ไหนครับ "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์" องค์นายกสภามหาวิทยาลัย มมร. ที่เคารพ ?


พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช กลายเป็น "เศษกระดาษ" ไปเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยในวันนี้ ท่านทั้งหลายยังอยู่ดีสบายอยู่หรือ ?
หุหุ แค่ตำแหน่งครูประชาบาลบ้านนอก เขียนรายงานผิดก็ยังต้องมีความผิด
แต่ในพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชถูกสภามหาวิทยาลัย มมร. สั่งให้ไร้ผล-พระเทพปริยัติวิมล ซึ่งได้รับพระบัญชาต้องตกเก้าอี้ กลับไม่มีใครแอ่นอกอกมารับผิดชอบต่อกิจการพระศาสนาเลยแม้แต่คนเดียว
คุณด๊อกเตอร์นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ปราดเปรื่องแห่งสำนักพุทธฯ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม และกรรมการสภามหาวิทยาลัย มมร. จะรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร ?


ปล. อาจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม เห็นเขียนอวยยศพระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร. ในคอลัมน์ "จันทร์สนุก ศุกร์สนาน" ได้อย่างอลังการ ในฐานะที่อาจารย์เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสภามหาวิทยาลัย มมร. จะไม่เขียนชี้แจงข้อกฎหมายให้บรรดาพระสงฆ์สามเณรได้ทราบบ้างหรือ ขอนิมนต์ล่ะ
 http://www.alittlebuddha.com/
พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา5 ธันวาคม 2555
09
:00 P.M. Pacific Time.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ