ประวัติศาสตร์ จาก 14 ตุลาคม 2516 เวลา 40 ปีผ่านไป วันนี้สังคมไทยเป็นอย่างไรบ้าง?



ประวัติศาสตร์ จาก 14 ตุลาคม 2516 เวลา 40 ปีผ่านไป วันนี้สังคมไทยเป็นอย่างไรบ้าง? ท่านพุทธทาสก็ได้ชี้ให้เห็นชัดว่า ที่เราจะดูประชาธิปไตย ต้องดูที่ธรรมาธิปไตย ก็คือสิ่งที่ทำไปนั้นหรือผลที่ออกมา เป็นไปเพื่อประโยชน์ของใคร ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนของประเทศชาติ มันคือประชาธิปไตย ชาวไทยที่รักชาติต้องศึกษา และช่วยแชร์ให้มากเพื่อชาติไทย

14 ตุลาคม 2516..เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อพลังนักศึกษารวมกับประชาชน ขับไล่เผด็จการทหารที่ครองอำนาจอยู่กว่าทศวรรษ ซึ่งถูกบันทึกว่าเป็นครั้งแรกและน่าจะเป็นครั้งเดียวที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดกว่า 5 แสนคนจากจุดเล็กๆ ที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งถูกออกหมายจับฐานเรียกร้องการมีรัฐธรรมนูญ รวม 13 คนเรียกว่า “13 ขบถรัฐธรรมนูญ” ระเบิดเป็นการลุกฮือทั้งใน กทม. และหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
จากวันนั้นถึงวันนี้ เรื่องราวของวีรชน 14 ตุลา กลายเป็นเพียงตำนานเล่าขาน บางคนเปลี่ยนสถานะจากผู้นำมวลชนลงสู่สนามการเมืองในสภา แต่บางคนก็ยังทำงานอยู่กับภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าใครจะไปอยู่ที่ไหน สถานะของ “คนเดือนตุลา”
ก็ยังคงอยู่เสมอ เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา 2516 นี้ “สกู๊ปหน้า 5” ได้รับเกียรติจาก ชัยวัฒน์ สุรวิชัย 1 ใน 13 แกนนำ
เมื่อครั้งนั้น มาให้มุมมองในด้านต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน รวมไปถึงแง่คิดดีๆ ถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง และเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งหลายอีกด้วย
- การชุมนุมของคนยุค 14 ตุลา ต่างจากการชุมนุมของคนยุคนี้หรือไม่? อย่างไร?
ชัยวัฒน์ : แต่ละช่วงของการชุมนุม มันเป็นการสะท้อนถึงการมีคนที่คิดอย่างเดียวกัน แล้วก็มีการมารวมกลุ่มกัน เพื่อที่จะชุมนุมเพื่อเป้าหมายหรือเจตนารมณ์ ในแต่ละช่วงของเหตุการณ์บ้านเมือง ทีนี้ในช่วง 14 ตุลา 2516 กับช่วงหลังๆ นี้ ผ่านไปตั้ง 40 ปี มันก็มีอะไรทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป้าหมายมันชัดเจน แล้วการรวมกลุ่มค่อนข้างจะเป็นเอกภาพ ก็คือในช่วงนั้นมันไม่มีประชาธิปไตย มันเป็นการปกครองโดยเผด็จการทหาร ขณะเดียวกัน ก็มีการรัฐประหารอีกใกล้ๆ นั้น คือ 17 พ.ย. 2514
ตรงนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นคนที่มาชุมนุมจึงมีความคิดเดียวกัน นั่นคือต้องการให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นมา ทีนี้คนที่มาร่วม เขาเป็นคนที่ค่อนข้างมีความอิสระ เป็นนักศึกษาที่มีความคิดบริสุทธิ์ เขาก็เลยทำงานเต็มที่ ความเป็นอิสระและบริสุทธิ์นี่เป็นเงื่อนไขที่สำคัญ เพราะถ้าอิสระและบริสุทธิ์ เราก็จะทำตามเป้าหมายที่เราคิดได้ คือไม่ต้องทำตามที่คนอื่นคิด-คนอื่นสั่ง แต่ในช่วงหลังๆ สภาพของเหตุการณ์มันผันแปร มีความสลับซับซ้อน มันมีการมองปัญหาที่แตกต่างออกไปค่อนข้างจะเยอะ
เพราะมันซับซ้อน แต่ 14 ตุลานั่นมันชัดเจน สมัยนี้มันจะมีความไม่ชัดเจนของมัน อาจจะแบ่งเป็นเหลือง-แดง แต่หัวใจสำคัญ คือความเข้าใจในประชาธิปไตย สมัยนั้นมันชัดเจนแต่สมัยนี้ดูไม่ชัดเจน แต่สิ่งสำคัญเราต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องของประชาธิปไตยมันคืออะไร? แล้วเรื่องของเผด็จการคืออะไร? สมัย 14 ตุลา หรือหลัง 14 ตุลา คนก็คิดคล้ายๆ กันหมด ไม่ว่านักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่หรือคนที่จบมาแล้ว ว่าเผด็จการมันมี 2 รูปแบบ เผด็จการรูปแบบหนึ่งคือเผด็จการทหาร คือรูปแบบและเนื้อหาก็เป็นเผด็จการ
แต่มันจะมีรูปแบบของเผด็จการรัฐสภา คือรูปแบบมันเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อหาของมันคือเผด็จการ แล้วความหมายในการแยกแยะคืออะไร ถ้าเป็นประชาธิปไตยจะดูได้ 2 อย่าง อย่างแรกคือตัวแทนที่เข้าไปอยู่ในสภา เป็นตัวแทนของคนที่หลากหลายทั้งกลุ่มอาชีพ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา เป็นคนจน เป็นนักธุรกิจ เป็นกลุ่มชนชาติต่างๆ เข้ามา อันนี้มันถึงจะเป็นตัวแทนที่หลากหลายแต่สมัยนั้นมันจะเป็นนักการเมืองที่สนับสนุนทหาร หรือนักการเมืองที่มีสังกัดต่างๆ ไป หรือพอทำรัฐประหาร ทหารก็แต่งตั้งคนกลุ่มเดียวเข้ามา อันนี้เป็นความหมายของการเป็นตัวแทน
อันที่สองที่สำคัญ และเป็นตัวชี้ ท่านพุทธทาสก็ได้ชี้ให้เห็นชัดว่า ที่เราจะดูประชาธิปไตย ต้องดูที่ธรรมาธิปไตย ก็คือสิ่งที่ทำไปนั้นหรือผลที่ออกมา เป็นไปเพื่อประโยชน์ของใคร ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนของประเทศชาติ มันคือประชาธิปไตย
แต่ถ้ามันเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนคนเดียวหรือคนกลุ่มเดียว หรือคนที่ได้เปรียบในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทหารในสมัยก่อน หรือกลุ่มนักการเมือง กลุ่มทุน ซึ่งตอนนี้ก็พัฒนาเป็นทุนสามานย์ ลักษณะแบบนี้มันก็คือเผด็จการ ถ้าเราแยกตรงนี้ได้ ก็จะเห็นภาพชัดว่าสภาพปัจจุบัน ที่เราจะมองกลุ่มไหน การเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ มันเป็นการแสดงออกเพื่อประชาธิปไตยหรือเพื่อเผด็จการ
- แต่จะมีประชาชนที่สนับสนุนกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม บอกว่า “ก็ประชาชนเลือกมา” เขาถือว่าเป็นประชาธิปไตย?
ชัยวัฒน์ : ลักษณะของประชาธิปไตย มันมีองค์ประกอบที่สำคัญ หนึ่งก็คือการเลือกตั้ง มันอยู่ท้ายสุดนะ รูปแบบการเลือกตั้งจะอยู่ท้ายสุด รูปแบบที่สำคัญของประชาธิปไตย คือต้องมีตัวแทนของประชาชนที่หลากหลาย สองคือสิ่งที่ทำไป ต้องเป็นไปเพื่อ
ผลประโยชน์ของประชาชน อันที่สามคือตัวแทนประชาชนต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ในอาณัติใคร คือมีความเป็นอิสระ ต้องมีความเป็นนิติรัฐ คือเป็นกฎหมายบังคับได้ แล้วก็เน้นในเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
การที่จะบอกว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวนั้น แต่ถ้าอย่างอื่นไม่ใช่ แสดงว่ามันก็เป็นแค่รูปแบบ
ก็เหมือนกับคนรุ่นนั้น ไม่ว่าจาตุรนต์ ฉายแสง, จรัล ดิษฐาอภิชัย หรือเหวง-ธิดา ก็เคยพูดมา แต่ตอนหลังเขาก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น ในประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัด แล้วถ้ายิ่งเอาที่ท่านพุทธทาส
พูดว่าผลประโยชน์ที่ออกมาเพื่อใคร? อันนี้มันก็จะเห็นชัด
เพราะฉะนั้นบางครั้งคนที่พูด ผมเข้าใจว่าคุณทักษิณ หรือแกนนำคนเสื้อแดงอย่างคุณวีระ มุสิกพงศ์ เขารู้อยู่ แต่เพียงว่าในการที่จะพูดกับประชาชน เมื่อเขาอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ เขาก็จะพูดแบบหนึ่ง แต่เมื่อย้อนไปในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน ก็จะพูดแบบที่ผมอธิบาย
- ก็คือสถานะของตัวเองเปลี่ยน การพูดหรือแนวคิดก็จะเปลี่ยน?
ชัยวัฒน์ : สถานะตรงนี้มันก็จะมีหลายสถานะ ทีนี้ปัญหาคือคนที่เข้าไปสู่การเมืองไปแล้ว จุดยืนหรืออุดมการณ์เขายังคงอยู่หรือไม่? เขายังมีความเป็นอิสระอยู่หรือไม่? เขายังต้องการสืบทอดเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่หรือไม่? เขายังต้องการให้คนส่วนใหญ่ ได้เป็นตัวแทนเข้าไปหรือไม่ตามที่เคยพูดกัน ถ้าไปอ่านประวัติเก่าๆ ก็จะมีกรรมกร ชาวนา นักศึกษา แต่ปรากฏว่ามันไม่มี
แล้วเมื่อเข้าไปสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองเป็นประตูเดียวที่คนอยากจะเป็นผู้แทนต้องไปสมัคร แต่ว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องนี้ เราพูดถึงว่าต้องเป็นพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย แต่ถามว่าพรรคการเมืองแบบของคุณบรรหาร ของคุณสุวัฒน์ หรือพรรคเพื่อไทยของคุณทักษิณ เป็นพรรคการเมืองประชาธิปไตยหรือไม่?
การส่งคนลงสมัคร สส. หรือการกำหนดนโยบายพรรค จะให้ใครเป็นนายกฯหรือเป็นรัฐมนตรี ปรากฏว่าถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยก็จะอยู่ที่คุณทักษิณ ถ้าเป็นพรรคชาติไทยก็อยู่ที่คุณบรรหาร อีกพรรคก็อยู่ที่คุณสุวัฒน์ อีกพรรคก็อยู่ที่คุณสมศักดิ์ หรือคุณเนวินก็แล้วแต่
- แล้วพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร? เพราะรูปแบบค่อนข้างจะต่างจากพรรคอื่นๆ อยู่พอสมควร
ชัยวัฒน์ : ถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ในแง่ของรูปแบบเนื่องจากเป็นพรรคที่อยู่มานาน ดังนั้น ความเป็นประชาธิปไตยเขามีในระดับหนึ่ง แต่เขาก็ยังไปไม่ถึงการเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเพราะอำนาจการตัดสินใจในพรรค อาจจะยังอยู่กับหัวหน้าพรรค เป็นนายกฯ เป็นอดีตนายกฯ ก็ยังมีอยู่มาก เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องมีการปฏิรูปแก้ไข ในส่วนของตรงนี้
ส่วนที่ต้องทำความเข้าใจจริงๆ ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน เขาก็ยังมีกรอบคิดที่มีลักษณะเป็นพรรคการเมืองอยู่ระดับกลางๆ พอตัวเองเป็นฝ่ายค้านก็จะมองแบบหนึ่ง แต่พอเป็นรัฐบาลจะมองอีกแบบหนึ่ง จะเห็นว่านักการเมืองเกือบทุกพรรค พอตัวเองเป็นรัฐบาลก็จะมองการชุมนุมของประชาชนผู้เดือดร้อน ว่าทำไมไม่มาต่อสู้ในสภา แต่ในช่วงหลังก็น่ายินดีว่า พอเกิดระบบที่เป็นสภาพปัจจุบัน
ซึ่งระบบการเมืองปัจจุบัน ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ก็ใช้ศัพท์ว่ามันเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา พรรคการเมือง ทุนสามานย์ ความหมายของมันถ้าเรามาตีความให้ชัด ถามว่าสภาพปัจจุบันมันมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่? ถ้าเราเอากรอบของประชาธิปไตยอย่างที่กล่าวมา หรือแม้กระทั่งในรัฐสภา ในรัฐสภาของประเทศต่างๆ ที่มีระบบการเลือกตั้ง แน่นอนฝ่ายบริหารก็จะมีอำนาจ
แต่ สส.ของเขาก็จะมีอิสระ อาจจะสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคแต่ว่าความเป็นอิสระ ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน มันจะเหนือกว่ากฎข้อบังคับของพรรค แต่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ ปรากฏว่าพรรคนี่มันเป็นเผด็จการ เพราะฉะนั้น เขาถึงเรียกว่าระบอบเผด็จการรัฐสภาพรรคการเมือง ทีนี้มาเรื่องทุนสามานย์ มันก็พัฒนาจากสังคมบุพกาลสู่สังคมทาส มาสู่สังคมศักดินา แล้วก็มาสู่ระบบทุนนิยม
ทีนี้มันเป็นทุนนิยมแบบผูกขาดรวมศูนย์อำนาจ พอรวมศูนย์อำนาจมันก็จะกลายเป็นมีลักษณะของความสามานย์ คือความไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย มันก็คู่กับระบบทุนนิยมที่มีคุณธรรม ในทั่วโลกนี่เป็นระบบของทุนสามานย์ มันก็ครอบหมดทั่วโลกขณะเดียวกัน มันก็เข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยอย่างสูงมาก ดูบริษัทใหญ่ต่างๆ มักจะเป็นของต่างชาติ ฉะนั้นคนที่มีอำนาจขึ้นมาจากระบบเป็นนายทุน พอเห็นช่องว่างก็นำไปใช้
สมัยก่อน พวกบริษัทต่างๆ จะอยู่ภายนอก แต่ว่าคุณทักษิณเห็นช่องทางตรงนี้ ก็เลยเข้ามาตั้งพรรค ซื้อ สส. ซื้อพรรคการเมือง ก็เลยจัดตั้งขึ้นมา พอได้แล้วก็จัดการแบ่งแยกมวลชน เข้าไปเรื่องตำรวจ-ข้าราชการ ใครเป็นพวกก็ได้ดิบได้ดีไป แม้กระทั่งถ้าจังหวัดไหนไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทย แบบภูเก็ต คุณปลอดประสพก็พูดชัดว่าศูนย์ประชุมอย่าเพิ่งเอา เพราะไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทย ลักษณะแบบนี้มันสะท้อนออกมา ว่าเราจะต้องดูจากความเป็นจริง ไม่ใช่ดูจากหลักการที่สวยหรู ก็พูดกันว่ามาจากการเลือกตั้ง เพราะในต่างประเทศก็ยังไม่ใช่ และประเทศไทยยิ่งเห็นชัด
(โปรดติดตามตอนต่อไป)



เชื่อได้ว่า..เหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่ผู้คนรู้จักที่สุด คงหนีไม่พ้น “14 ตุลา 2516” จาก 2 เรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน หนแรก 29 เม.ย. 2516 เมื่อเฮลิคอปเตอร์ของทหารลำหนึ่งตก และภายในพบซากสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานได้ว่ากลุ่มคนดังกล่าวเข้าไปล่าสัตว์ภายในเขตป่าสงวน จากนั้นนิสิต-นักศึกษาจาก 4 สถาบันทำหนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” วิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ ผลคือขายได้กว่า 5,000 เล่ม ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
หลายเดือนต่อมา มีกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น นิสิต-นักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินแจกใบปลิวไปตามสถานที่ต่างๆ แต่กลับถูกจับกุม หลังจากนั้น ความคับแค้นใจอันเกิดจากภาวะบีบคั้น ในช่วงกว่าทศวรรษแห่งระบอบเผด็จการทหาร ไม่ว่าจะเป็นในหมู่นักศึกษา นักคิดนักเขียน นักการเมือง ตลอดจนประชาชนทั่วไป ก็ถึงคราวระเบิดขึ้น ว่ากันว่าในหนนั้น มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมกว่า 5 แสนคน ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2516 จนเกิดการปะทะกับฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ เมื่อเช้าตรู่วันที่ 14 ต.ค. ยาวไปจนวันที่ 15 ต.ค. กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของไทยจนถึงปัจจุบัน
คำถามคือ..40 ปีผ่านไป วันนี้สังคมไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
“การต่อสู้ 14 ตุลา มันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประชาชน ที่มีประชาชนแทบจะทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่า ร่วมกันลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย อันนี้ไม่รวมการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะเขาเริ่มต้นมาก่อน ตั้งแต่ปี 2508 หรือก่อนหน้าด้วยซ้ำ แต่ผมพูดถึงการต่อสู้ของประชาชนทั่วไปโดยที่ไม่มีการจัดตั้ง”
เสียงจาก สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็น 1 ในอดีตคนเดือนตุลา กล่าวในปาฐกถาพิเศษ “ก้าวต่อไป 40 ปี 14 ตุลา : ทวงคืนสิทธิประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน” ที่จัดโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เมื่อไม่นานมานี้ รำลึกบรรยากาศการต่อสู้ในครั้งอดีต ก่อนจะตั้งคำถามต่อไปว่า..ทั้งหมดที่ต่อสู้กันมา แม้จะไล่เผด็จการทหารไปได้ แต่เป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการยกระดับชิวิตคนไทยให้ดีขึ้น สัมฤทธิ์ผลแล้วตามที่หวังไว้จริงหรือ?
เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ผ่านไป กระแสสังคมไทยก็มุ่งไปสู่ระบอบประชาธิปไตย จากที่ถูกเรียกว่าครึ่งใบ มาเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ตามลำดับ และถึงแม้จะมีรัฐประหาร แต่กองทัพก็ไม่อาจกุมอำนาจได้นานอย่างในอดีต ตรงกันข้ามต้องรีบคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดกันต่อไป แล้วบรรดานักการเมือง ที่ถูกเลือกกันเข้าไปเป็นตัวแทน ประชาชนที่เลือกได้อะไรอย่างยั่งยืนบ้าง
“จริงๆ แล้วการเลือกตั้งมันเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม ไม่ใช่ประชาธิปไตยทางตรง เมื่อไปเลือกแล้วคนที่รับเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าเขาจะทำประโยชน์เพื่อประชาชนส่วนใหญ่จริงหรือเปล่า? ไม่รู้ว่าเขาจะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงหรือเปล่า? ถ้าเราดูเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตลอดเวลา 40 ปี เราจะเห็นได้เลยว่าใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาล มีน้อยจริงๆ หรือเกือบไม่มีด้วยซ้ำไป ที่จะให้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยกับประชาชนเต็มที่
ในทางตรงกันข้าม กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม มักจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาดข้ามชาติ แล้วอยากจะชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่มันเป็นปัญหาอยู่ นักการเมืองจริงๆ ท้ายที่สุดมันเลว ก็คือโกงเอาเงินภาษีอากรแผ่นดินไปใช้เท่านั้นเอง แต่คนที่ได้ประโยชน์มากกว่านั้น ก็คือกลุ่มทุนผูกขาดข้ามชาติ กลุ่มเหล่านี้แหละที่ปล้นชิงทรัพยากรไปจากประชาชน”
คุณสรรพสิทธิ์ ระบุถึงปัญหาที่มากกว่านักการเมือง นั่นคือบรรดากลุ่มนายทุนทั้งหลาย อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อเข้ามาลงทุนแล้วมักนำปัญหาเข้ามาด้วย เช่นมลภาวะ-สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ แม้กระทั่งใช้เล่ห์กลขับไล่ประชาชนออกนอกพื้นที่ ด้วยการสมคบกับเจ้าหน้าที่รัฐฉ้อฉลบางกลุ่ม ทำการออกโฉนดปลอมมาหลอกลวงและข่มขู่ชาวบ้าน หากต้องการที่ดินบริเวณนั้น
กรณีหนึ่งที่ถือเป็นบทเรียนอันแสนเจ็บปวด อดีตคนเดือนตุลารายนี้ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ จ.ลำพูน ในครั้งนั้นชาวบ้านถูกจับกุมคุมขังจากกลไกภาครัฐ ทั้งที่เข้าไปใช้ที่ดินที่ตนมีสิทธิ (สิทธิในโครงการปฏิรูปที่ดิน) ซึ่งกฏหมายให้การรับรองไว้ เนื่องจากแม้โฉนดที่มีผู้แอบอ้างครอบครองที่ทำกินของประชาชนนั้นจะเป็นโฉนดปลอม แต่กลับถือว่าเป็นโฉนดที่ใช้การได้ ตราบใดที่ไม่มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดนั้นยังมีผลใช้ได้ตามกฎหมาย ทั้งที่เป็นของปลอม ย่อมเป็นของผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น แต่กลับยังใช้ได้อีกในระยะหนึ่ง
“ผมว่ามันเป็นการฉ้อฉลทางกฎหมายนะ เพราะโฉนดปลอม บัตรประชาชนปลอม มันไม่ต้องเพิกถอน เพราะมันไม่ได้เป็นบัตรประชาชนหรือโฉนดที่ดินมาตั้งแต่แรกแล้ว อันนี้แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างในการรับใช้อำนาจของรัฐ มันไปรับใช้กลุ่มทุนผูกขาด ไปสนับสนุนให้กลุ่มทุนผูกขาดเข้ามากอบโกย เอาทรัพยากรต่างๆ ไปได้อย่างหน้าตาเฉย” คุณสรรพสิทธิ์ กล่าว
ประเด็นต่อมา..รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่หลายคนมองว่าเป็นมรดกรัฐประหาร 2549 เพราะไม่ได้ร่างขึ้นมาตามกระบวนการประชาธิปไตยเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ทว่าเนื้อหาของ รธน.50 กลับส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุด ที่เห็นได้ชัดคือสิทธิในการขอจัดการตนเองในระดับชุมชนท้องถิ่น
ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่าแต่ละพื้นที่ ย่อมมีวิถีชีวิตที่หลากหลาย และไม่มีใครรู้จักหรือรักชุมชนนั้นๆ ได้ดีเท่าคนในชุมชนเอง ทั้งนี้แม้จะเป็นเพียงสิทธิในขั้นประชาพิจารณ์ ยังไม่ก้าวหน้าไปถึงขั้นลงประชามติได้แบบในหลายประเทศก็ตาม แต่คุณสรรพสิทธิ์ มองว่า รธน.50 ก็ยังมีเนื้อหาเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีทางเลือกของตนเองมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา
 “อยากจะบอกว่า รัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และมีอำนาจในการตัดสินชะตาชีวิตตัวเองมากที่สุด จริงๆ มันก็ไม่มากเท่าไร แต่ก็ยังมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น คือปี 50 เพราะพูดถึงสิทธิชุมชน มีอำนาจตัดสินใจ ในระดับประชาพิจารณ์
จริงๆ มันต้องเป็นการลงมติ ผมยกตัวอย่างการจะสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ทั้งที่จับปลาชายฝั่งทะเล หรือการท่องเที่ยวในทะเลอันดามัน ต้องมีอำนาจในการลงมติ ในต่างประเทศเขากำหนดไว้เลย ใครอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถออกเสียงลงประชามติ ในการกระทำใดๆ ของรัฐ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา” คุณสรรพสิทธิ์ ให้ความเห็น
ในตอนแรกนี้ เราได้ชี้ให้เห็นว่า 40 ปีผ่านไปหลัง 14 ตุลา 2516 คนไทยทั่วไปก็ยังไม่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากนัก เพราะกลไกต่างๆ ยังมุ่งเน้นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนต่างๆ มากกว่าประชาชนโดยรวม ในตอนหน้า เราไปฟังมุมมอง ว่าด้วยการชุมนุมของประชาชน คุณภาพของรัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย รวมถึงวิเคราะห์ว่า ในอนาคตสังคมไทยน่าจะเดินไปในทิศทางใด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ