ภัยต่อความมั่นคงสถาบันพระศาสนา ที่ คสช. ต้องขจัด เพื่อรักษาศรัทธาของสาธุชน เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา


อึ้ง และทึ่ง !


เปิดสอนภาษาบาลีแก่ขี้คุก
แถมจะกระจายให้ทั่วไทย



มุ่งให้คนไทยเป็นมหาเปรียญปีละ 2 ล้านคน ภายในปี 2560 ถ้าทำได้ก็เชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะยืนยงคงมั่นอยู่คู่แผ่นดินไทย เพราะเชื่อว่า ถ้ารู้ภาษาบาลีซะอย่าง พระพุทธศาสนาก็จะมั่นคงดังภูผา ฮ่ะๆ แหมความคิดโง่ๆ แบบนี้ก็มีด้วยเนอะ คนดีๆ ไม่สอน ดันจะไปสอนคนคุก เอานักโทษขี้คุกไปรับพัดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงแต่งตั้งเป็นมหาเปรียญ แถมยังเอามาสืบอายุพระพุทธศาสนา ก็คงน่าศรัทธาจนพระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดในโลก แต่โทษเถอะครับ ไอ้ความคิดอัปรีย์แบบนี้ มันเสียทีที่เป็นถึงพระราชาคณะและมหาเปรียญ เพราะถ้าไม่มองถึงบริบทของสังคมพุทธในการสืบสานอายุพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่ นักโทษที่มีชื่อเสียง ก็ดี ผู้ทำปิตุฆาต มาตุฆาต ก็ดี ข้าราชการที่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้บวชก็ดี ติดภาระหนี้สินต่างๆหรือแม้แต่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ พระพุทธองค์ก็ทรง "ห้ามบวช" ทรงให้พระอุปัชฌาย์เป็น "หัวหน้า" ในการ "คัดคนบวช" แถมยังให้พระสงฆ์อีกตั้ง 10 รูปเป็นผู้รับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ คัดค้านเพียงรูปเดียวก็ไม่ผ่าน ครั้นบวชแล้วจึง"ให้เรียน" นะครับ มิใช่ "ให้เรียนก่อน" แล้วจะบวชหรือไม่บวชก็ไม่สน ไอ้แบบนี้ถามว่ามันมิเป็นการทำลายล้างพระพุทธศาสนาจนถึงรากถึงโคนดอกหรือคิดหรือว่า รู้แค่ภาษาบาลีแล้วจะทำให้พระพุทธศาสนายั่งยืน และชาวอินเดียที่ใช้ภาษาบาลีมาตั้งแต่เกิด ทำไมพระพุทธศาสนาสูญหายไปจากอินเดีย จะอ้างว่าชาวอินเดียลืมบาลีแบบนั้นหรือ ตีโจทย์ผิดหรือเปล่าครับท่าน สมัยโบราณนั้น นักโทษจะถูก "สัก" ตามตัว เป็นเครื่องหมาย "ห้ามบวช" เพื่อมิให้คนประเภทนี้เข้ามาอาศัยวัดวาอารามและผ้าเหลืองแล้วก่อเหตุซ้ำสอง เพราะเคยมีประวัติมาแล้ว แต่วันนี้ เราจะเอาพระพุทธศาสนาไปมอบให้นักโทษถึงในคุกเชียวหรือ ?

"ศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา" เป็นหัวใจของการดำรงคงมั่น ถ้าประชาชนไม่มีศรัทธา พระพุทธศาสนาจะมั่นคงได้อย่างไร ขนาดคนจะบวชยังต้องมีพระอุปัชฌาย์และคณะสงฆ์ "คอยตรวจคุณสมบัติ" บวชแล้ว ถ้าทำผิด ก็ยังต้องให้สึก ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาศรัทธาของสาธุชน เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา แต่นี่คิดง่ายๆ ว่า ถ้าคนคุกและประชาชนทั่วไปรู้ภาษาบาลี พระพุทธศาสนาก็จะเจริญ คิดโง่ๆ ออกมาได้ มีแต่ปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ จะมีประโยชน์อะไร คิดใหม่ทำใหม่เสียเถิดฮะท่านมหาเถร หันกลับมาสำรวจตรวจตราและอบรมสั่งสอนพระลูกเณรหลานที่บวชมาแล้วดีกว่า ถ้าเห็นเป็นพระดีเณรดี เดี๋ยวประชาชีเขาก็นิยมชมชอบเอง ไม่ต้องลดราคาพระพุทธศาสนาแบบว่าไร้ราคา ถึงกับเอาไปเร่ขายในคุกหรอก นะ กำแพงวัดน่ะ เหมาะสำหรับปฏิบัติขัดเกลาอยู่แล้ว อย่าเอากำแพงคุกเป็นกำแพงวัดเลย






ทึ่ง ! คนคุกนานาชาติสนใจเรียนภาษาบาลีตรึม มส. หนุนเปิดสอบสำหรับฆราวาสทั่วไทย : สำราญ สมพงษ์รายงาน

ภาษาบาลี ถือว่ามีความสำคัญสำหรับชาวพุทธเถรวาทมาก เพราะเป็นภาษาที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่เรียนภาษาบาลีเท่ากับเป็นการสืบสอนพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่โลก แก้ปัญหาสังคมตราบนานเท่านาน

สำหรับประเทศไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นหลัก สำนักเรียนตามวัดต่างๆ ก็เปิดการเรียนการสอน 1 ปี มีการสอบวัดผล 1 ครั้ง โดยมหาเถรสมาคมมอบหมายให้แม่กองบาลีสนามหลวงทำหน้าที่ทั่วประเทศสำหรับพระภิกษุและสามเณร ส่วนฆราวาสนั้น มส. มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ทำหน้าที่ แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยอยู่

สำหรับสำนักเรียนภาษาบาลีที่ฆราวาสเข้าไปเรียนเป็นจำนวนมากคือที่ มหาบาลีวิชชาลัย วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยเปิดเรียนทั้งในชั้นเรียนและผ่านอินเตอร์เน็ต นอกจากนั้นยังได้ประสานกับทางกรมราชทัณฑ์เปิดสอนในคุก ดำเนินการมาหลายปีแล้ว ล่าสุดมีการเปิดห้องเรียนบาลี มหาบาลีวิชชาลัย ณ ทัณฑสถานหญิงกลางลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ถือเป็น "ห้องเรียนบาลีหญิงนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย"

อาจารย์สอนและผู้มีหน้าที่ในการบริหารห้องเรียนมหาบาลีวิชชาลัย ได้รายงานผลการดำเนินงานผ่านทางเฟซบุ๊กนาม "Dhrinyadecha Libha" ความว่า  เพราะในผู้ต้องขังหญิงที่เรียนหลักสูตรภาษาบาลีเบื้องต้นของมหาบาลีวิชชาลัยมีจำนวน 41 คน มีทั้งชาวไทย พม่า ลาว เวียดนาม ภูฎาน และปากีสถาน ซึ่งเราสอนด้วยภาษาไทย นักศึกษาลาว พม่า เวียดนาม ปากีสถาน นั้นไม่มีปัญหา เพราะพูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้คล่องแคล่วและชัดเจนกว่าคนไทยหลายคน แต่นักศึกษาภูฏาน อาจต้องให้เวลาและความพยายามมากหน่อย คิดว่าใจสู้พอและมีศรัทธาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร

ปากีสถาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีปดั้งเดิมนั้น ปัจจุบันก็ยังมีชาวพุทธอยู่ แม้ว่าจำนวนจะไม่มาก แต่เขาก็มั่นคงและหวงแหนพระศาสนาอย่างน่าชื่นชม  ได้รู้ความจริงนี้ เมื่อมีนักศึกษาบาลีคนหนึ่งบอกว่าเป็นชาวพุทธจากปากีสถานมาเรียนบาลีที่ทัณฑสถานหญิงกลางลาดยาวด้วย ก็เลยแนะนำว่า เรียนให้รู้จริงแล้วกลับไปแปลเป็นภาษาอูรดู ช่วยสอนภาษาบาลีเป็นอูรดูให้ชาวปากีสถานต่อไป หากหน่วยงานทางพุทธฯ หรือพระสงฆ์ไทยเราจะศึกษาหาลู่ทางไปตั้งวัดขึ้นในประเทศนี้ ก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะประชากรเขามีตั้ง 180 กว่าล้านคน และดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีปมาก่อน ก็ถือว่าเป็นดินแดนของพระพุทธเจ้ามาก่อนเช่นกัน

ไม่มีข้อสังสัยในเรื่องศักยภาพทางสติปัญญา เพราะแต่ละคนนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและดีมากด้วยสำหรับบางคน ซึ่งต้องขอบคุณทัณฑสถานหญิงกลางลาดยาวและกรมราชทัณฑ์ที่เปิดโอกาสให้เข้าไปจัดการเรียนการสอนภาษาบาลีในเรือนจำในครั้งนี้ เมื่อเทียบกับเรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งเป็นนักศึกษาชาย นักศึกษาบาลี ณ ทัณฑสถานหญิงกลางลาดยาว อาจจะไปได้เร็วกว่า เพราะผู้เรียนส่วนมากอายุยังน้อย ส่วนเรื่องความศรัทธา ความอดทน ความพยายามและใจสู้ในการเรียนแล้ว ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด

มหาบาลีวิชชาลัย พยายามทำให้คนไทยทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัย ทุกสถานที่ได้เรียนภาษาบาลี เพราะเราเชื่อว่า การที่ชาวพุทธรู้ภาษาบาลีดีคือความเข้มแข็งของพุทธศาสนาในประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายระยะยาวคือ คนไทยเรียนภาษาบาลีปีละ 2 ล้านคนในปี พ.ศ.2600 ถ้ามีผู้ช่วยเหลือสนับสนุน และมีพระสงฆ์ผู้มีศรัทธา พระสงฆ์ที่มีวิสัยทัศน์ พระสงฆ์ที่มีความเข้าใจความเป็นไปของโลก ความเป็นไปของพระศาสนา ความเป็นไปของสังคม พระสงฆ์ที่รู้ว่าอะไรสำคัญกับพระศาสนามาร่วมด้วยช่วยกัน หลักไมล์นี้อาจย่นย่อสั้นลงเป็นจริงได้ภายใน 10 หรือ 20 ปีข้างหน้านี้ก็เป็นได้

ขณะที่กำลังเรียนกำลังสอนบาลีอยู่ชั้น 2 ของอาคารเรียน ณ ทัณฑสถานหญิงกลางลาดยาวนั้น ด้านล่างสุดของอาคาร ก็มีพี่น้องโต๊ะอิหม่ามคณะใหญ่มาทำกิจกรรมให้ผู้ต้องขังผู้ศรัทธาในองค์พระอัลเลาะฮ์ได้ใกล้ชิดกับศาสนธรรมของเขา ซึ่งเมื่อมองดูที่จำนวนก็รู้สึกได้ว่าแตกต่างกันกับเรา เพราะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมของเขากว่า 400 คน และเขาทำกิจกรรมแบบนี้ทุกอาทิตย์ ทำมาหลายปีแล้ว

และอนุศาสนาจารย์ประจำทัณฑสถานหญิงกลางลาดยาวเล่าให้ฟังว่า วันรุ่งขึ้นพรุ่งนี้ก็จะมีคณะบาทหลวงคณะใหญ่มาทำกิจกรรมนำคนเข้าหาพระเยซูเจ้าอีก และอดตลึงไม่ได้เช่นกัน เพราะมีผู้ศรัทธาเข้าร่วมกิจกรรมของเขากว่า 600 คน เขาทำทุกอาทิตย์เช่นกัน และทำมาหลายปีแล้วด้วย

คนเรียนบาลีกับเรา 41 คน จึงถือว่า น้อยมาก เมื่อเทียบกับเขา แต่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น

ขณะที่เสียงเรียนบาลีกับเสียงกิจกรรมด้านล่างประชันกันไปทั่วบริเวณนั้น แวบหนึ่งของความคิดก็ปรากฎขึ้นทางมโนทวาร "หมดเวลาสำหรับพระสงฆ์ไทยในการแข่งกันสร้างวัดแล้ว ประเภทแข่งกันปั้นรูปเคารพต่างๆ ...และบอกว่า ....ที่สุดในโลกนั้น" ตกยุคตกเทรนด์ไปแล้ว พระสงฆ์ไทยต้องมาแข่งกันนำพุทธธรรมเข้าสู่พุทธศาสนิกเป็นเป้าหมายสำคัญแล้ว ทั่วประเทศมีเรือนจำแทบทุกจังหวัด ถ้าพระสงฆ์จะช่วยกันเปิดห้องเรียนบาลี ห้องเรียนอภิธรรม ห้องปฏิบัติวิปัสสนาขึ้นในเรือนจำทุกเรือนจำ นี่จะไม่ดีกว่าหรือ

นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องการความตื่นตัวกันขนานใหญ่สำหรับหมู่พระสงฆ์ไทย ผู้เป็นแถวหน้าอันดับหนึ่งแห่งพุทธบริษัท "อะไรที่สำคัญและควรทำเพื่อความมั่นคงยั่งยืนแห่งพระสัทธรรมพระพุทธศาสนา อะไรที่ไม่ใช่หน้าที่และไม่ควรทำ แต่กลับไปทำกัน" คงไม่ต้องให้ใครไปบอกแล้ว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เปิดเผยในงาน “พุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและสังคม” เป็นการประชุมวิชาการระดับชาติของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ( มจร )ครั้งที่ 1 (MCU Congress I) นี้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมาความว่า  การประชุม มส.ที่ผ่านมามีมติเปิดการเรียนการภาษาบาลีสำหรับฆราวาสทั่วไป โดยให้มีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกันพระภิกษุสามเณร ภายใต้การดำเนินการของแม่กองบาลีสมานหลวง อย่างไรก็ตาม การเรียนภาษาบาลีนั้นคงไม่มุ่งเน้นการแปลหรือการท่องจำ ควรจะเน้นที่ความเข้าใจตามหลักภาษาเป็นหลัก เพราะจะได้กลั่่นเอาหลักธรรมมาใช้แก้ปัญหาสังคมได้ ไม่ใช่สวดแต่ไม่รู้ความหมาย หรือรู้ความหมายแต่ไม่เข้าใน

ขณะที่ พระพรหมเมธี (จำนง ธัมมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการและโฆษกมหาเถรสมาคม (มส.) กล่าวผ่านเดลินิวส์ว่า จากการประชุมมส. เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบโอนจัดการเรียนการสอนหลักสูตรบาลีศึกษา สำหรับผู้ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร จาก มมร. ให้มาอยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง เนื่องจากสำนักงานแม่กองบาลีฯ ดูแลการเรียนการสอนของพระภิกษุสงฆ์อยู่แล้ว ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับหลักสูตรบาลีศึกษาของผู้ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนบาลีทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส ให้มีความสอดคล้องเอื้อประโยชน์แก่กัน เพื่อที่ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนหันมาสนใจเรียนบาลีมากยิ่งขึ้น

“สำหรับหลักสูตรบาลีศึกษา จะมีตั้งแต่ระดับประโยค1-2 จนถึงประโยค 9 เหมือนกับของพระสงฆ์สามเณร โดยผู้ที่จบบาลีศึกษา 9 ประโยค จะมีตัวย่อว่า บ.ศ.9 ขณะที่พระภิกษุสามเณรจะใช้ว่า เปรียญธรรม หรือตัวย่อว่า ป.ธ. ซึ่งที่ผ่านมา มมร.เป็นฝ่ายดำเนินการจัดสอบมาโดยตลอด แต่สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) กรรมการ มส. รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และแม่กองธรรมสนามหลวง ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม เพราะเห็นว่า การที่ให้สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงดูแลจะมีความเหมาะสม เพราะมีหน้าที่ดูแลเรื่องการเรียนการสอนบาลีโดยตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอนาคต อย่างไรก็ตามในวันที่ 30 กรกฎาคนนี้ ที่ประชุม มส. จะมีการรับรองมติดังกล่าว เพื่อให้เกิดการดำเนินงานในทางปฏิบัติต่อไป” โฆษก มส. กล่าว

ด้าน แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม ป.ธ.9 อาจารย์สอนภาษาบาลีที่มหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ผอ.หลักสูตรบัณฑิตวิทยาลัย มจร กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับมติของมส.ดังกล่าวเพราะจะเป็นการเปิดกว้างและส่งเสริมให้ฆราวาสเรียนภาษาบาลีมากขึ้น เพื่อที่จะได้เรียนรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรงไม่ใช่อ่านจากตำราของอาจารย์ต่างๆแล้วนำถ่ายทอดบุคคลอื่นซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ สำหรับบัณฑิตวิทยาลัย มจร ก็มีการเรียนการสอนภาษาบาลีเช่นกันแต่เป็นการเสริมหลักสูตรต่างๆ



ที่มา : คมชัดลึก
25
 กรกฎาคม 2557



http://www.alittlebuddha.com/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ