ธรรมกายโมเดล



ข่าวการยื่นหนังสือของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และเอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขอให้ระงับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับสมาคมพุทธศาสตร์สากล ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระมหามังคลาจารย์ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นส่วนหนึ่งของ 'วัดพระธรรมกาย' อาจจะดูเงียบเชียบเมื่อเทียบกับข่าวการเมืองที่ร้อนระอุอยู่ทุกวันนี้
       
       แต่หากเทียบลำดับความสำคัญแล้ว รับรองว่าเรื่องนี้คงจะถูกจัดเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เพราะมันหมายถึงอนาคตทางการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากำลังจะถูกควบคุมและดูแลโดยวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีข้อเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกระบวนการอบรมว่า เป็นไปตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่
       
       ประกอบกับที่ผ่านมา ทางวัดก็มีพฤติการณ์ในเชิงพุทธพาณิชย์มาตลอด โดยเฉพาะการชี้ชวนให้ผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์สินเงินทองเพื่อทำบุญสร้างวัตถุขนาดใหญ่
       
       จนทำให้หลายๆ คนอดคิดไม่ได้ วัดพระธรรมกายกำลังมีความคิดจะครอบงำเด็กและเยาวชนไทยที่กำลังจะเป็นอนาคตของชาติหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับหมู่นิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ 'ชมรมพุทธ' ซึ่งทุกวันนี้เกือบทั้งหมดต่างทำงานเชื่อมโยงกับวัดพระธรรมกายทั้งสิ้น
       
       ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า เพราะเหตุใดสังคมถึงปล่อยให้เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นได้ ทั้งๆ ที่วัดพระธรรมกายเองก็มีปริศนาที่ไขไม่ออกมากมาย แน่นอนเรื่องนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่มีที่มาอันยาวนาน และฝังรากลึกเกินกว่าที่ใครจะนึกถึง
       
       ปฐมบท ‘ชมรมพุทธ’
       
       หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน เชื่อว่าหลายคนหลายต้องแปลกใจ เพราะช่างต่างกับปัจจุบันอย่างลิบลับ เหตุก็เนื่องมาจากชมรมส่วนใหญ่ไม่ได้นำตัวเองไปผูกติดกับความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง ขณะที่คนในชมรมเองก็มีความหลากหลาย บ้างก็ศรัทธาในท่านพุทธทาส บ้างก็นับถือสำนักสันติอโศก และอีกไม่น้อยที่สนใจทางสายวัดป่า
       
       จะมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเชื่อบางอย่างโดยเฉพาะ เช่นชมรมพุทธของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีความเชื่อถือในวัดพระธรรมกาย เพราะได้รับการผลักจากรุ่นพี่อย่าง พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) และพระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว) สองแกนนำจากวัดพระธรรมกาย
       
       ทว่า ภาพของความหลากหลายได้เริ่มสั่นคลอนขึ้น เมื่อวัดพระธรรมกายคืบคลานและขยายความเชื่อในหมู่นิสิตนักศึกษา ผ่านโครงการที่ชื่อว่า ‘ธรรมทายาท’ ที่ริเริ่มขึ้นในปี 2515 โดยนพ.มโน เลาหวณิช หรืออดีตพระเมตตานนฺโท แห่งวัดพระธรรมกาย ซึ่งในช่วงนั้นได้นั่งเป็นประธานชมรมพุทธศาสน์ จุฬาฯ ปี 2521 และถือผู้ปักธงชมรมพุทธจนกระจายไปทั่วประเทศ ก่อนจะแยกตัวออกมาเพราะเริ่มรับรู้ถึงความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นในวัด อธิบายว่า จุดเด่นของกิจกรรมนี้อยู่ที่การเน้นวิธีปฏิบัติธรรมแบบฝึกหนัก เช่นต้องตื่นเช้า ปักกลด สวดมนต์ตั้งแต่ตี 4 โดยมีพระอาจารย์ที่มีอายุไล่เลี่ยกันเข้ามาควบคุม และร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลา 10 วัน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกผูกพัน เหมือนได้ที่ปรึกษาที่ดีติดมือกลับไปด้วย
       
       ที่สำคัญยังเป็นการสร้างแกนนำที่มีเชื่อมั่นในแนวธรรมกายไปสู่ชมรมพุทธต่างๆ อีกต่างหาก แต่ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวก็ยังไม่มีอิทธิพลมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภาพรวมของชมรมพุทธทั้งหมดได้
       
       “เข้าใจว่าตอนที่ธรรมกายขยายบทบาทเข้ามาในมหาวิทยาลัย เป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่ค่อยมีกระแสต่อต้าน เพราะรูปแบบของธรรมกายนั้นเป็นที่ยอมรับได้ง่ายอยู่แล้ว อีกทั้งสมาชิกก็ไม่ค่อยแสดงท่าทีต่อต้านขัดแย้งกับแนวทางอื่นที่ชมรมพุทธให้การยอมรับ” พระไพศาล วิสาโล พระนักวิชาการ นักคิดนักเขียนพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ เป็นนักปฏิบัติธรรม และนักบรรยายธรรมที่ผลิตผลงานออกมาในรูปสื่อโทรทัศน์ และหนังสือออกมาอย่างสม่ำเสมอในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นนักศึกษาในช่วงเวลานั้น ได้อรรถาธิบายถึงกระบวนการเคลื่อนไหวของชมรมพุทธในมหาวิทยาลัย ในยุค 30 กว่าปีที่แล้ว
       
       พุทธจุฬาฯ จุดเปลี่ยนที่สำคัญ
       
       หลังผ่านการจัดกิจกรรมเชิงรุกได้สักระยะ ไม่นานทางวัดก็เริ่มหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อชักจูงนิสิตนักศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะการอาศัยจุดเด่นของตัวเจ้าอาวาสซึ่งเคยเป็นอดีตผู้นำนักศึกษามาก่อน ในการหว่านล้อมและขยายความเชื้อไปยังบุคคลที่มีแวว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี นพ.มโนรวมอยู่ด้วย
       
       “ตอนผมเข้าแพทย์จุฬาฯ ชมรมศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี จุฬาฯ ยังไม่ได้ฝักใฝ่ไปทางสำนักใดสำนักหนึ่ง มีความหลากหลายอยู่เยอะ ทั้งสายยุบหนอพองหนอ สายท่านเขมานันทะ สายสันติอโศก แล้วพอถึงช่วงปิดเทอมใหญ่ ก็มีการจัดบวชฤดูร้อนก็จัดที่วัดชลประทานฯ แล้วไปอยู่ที่สวนโมกข์
       
       “ส่วนธรรมกายเองก็เริ่มมาแล้ว คือทุกวันอาทิตย์ จุฬาฯ มหิดล เกษตรฯ ก็จะมีการจัดรถไปฟังธรรมที่ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม (ชื่อเดิมของวัดพระธรรมกาย) แล้วก็มีหลวงพี่ทตฺตชีโวมานั่งเทศน์ แต่ผมเองก็ไม่ได้ศรัทธาอะไรมาก จนกระทั่งวันที่ 18 สิงหาคม 2518 ผมก็ได้พบกับเจ้าอาวาสเป็นครั้งแรก ท่านก็เรียกผมมานั่งคุยที่ใต้ต้นตะขบ คุยอยู่ 2 ชั่วโมง ก็ถามเป็นใครมาจากไหน เคยศึกษาพุทธศาสนาจากที่ไหนบ้าง แล้วก็คุยปัญหาบ้านเมืองอะไรแบบนี้ เรื่องคอมมิวนิสต์อะไรแบบนี้ ซึ่งท่านก็ตอบว่า ไม่ต้องห่วงหรอก ประเทศไทยบุญเยอะ อีกหน่อยสถานการณ์ก็จะสงบ ซึ่งผมก็ไม่รู้ท่านพูดจากอะไร แต่ก็น่าเชื่อถือ หลังจากนั้นผมก็เลยเริ่มมาเรื่อยๆ มาค้างที่วัด”
       
       จุดเด่นอย่างหนึ่งที่เจ้าอาวาสมีมากที่สุดก็คือ บุคลิกที่ดูสำรวม หน้าตาไม่วอกแวก ใส่แว่นตาดำ ดูลึกลับนิดหน่อย และที่สำคัญก็คือ มีวาทศิลป์ในการชักจูงเป็นยอด เน้นการพูดจาภาษาเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพุทธศาสนาสายอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สุดท้าย เขาจะเกิดความซึมซับและเชื่อว่า แนวทางของวัดพระธรรมกายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ขณะที่สายอื่นๆ เป็นมารที่ต้องกำจัดให้หมด ไม่เช่นนั้นจะมารเหล่านี้แว้งมาทำลายธรรมกาย
       
       “การได้อยู่ใกล้ๆ ท่านตอนนั้นทำให้เรารู้สึกสบายใจ เหมือนมีกระแสอะไรเย็นๆ ออกมา ซึ่งดูแล้วทำให้เรารู้สึกว่า อยากมีชีวิตแบบนี้ และยิ่งวันศุกร์ที่เรามาค้างที่วัดจะเป็นอะไรที่รู้เยอะมาก เพราะเจ้าอาวาสจะออกมานั่งคุยกันถึงค่ำมืด 3-4 ทุ่ม ซึ่งท่านก็จะมีวิธีพูดให้เรารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญกับทั้งโลกและสังสารวัฏนี้ เช่น สมมติไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งท่านก็จะทักว่าเป็นไงโยม ไม่เจอกันตั้งนาน เขาก็อาจจะถามต่อว่าท่านจำดิฉันได้เหรอค่ะ ซึ่งท่านก็ตอบกลับทันทีว่า ต่อให้คุณโยมอยู่ในคนอีกล้านคน อาตมาก็ยังจำได้เลย
       
       “พอมีคำถามอะไรก็ตอบได้หมด เพราะธรรมกายเขาจะมองโลกเป็นขาวกับดำ มีพระกับมารชัดเจน แถมมันยังตอบลึกไปกว่านี้ก็ได้ เช่น โลกนี้มาจากไหน ทุกอย่างมาจากไหน ทำไมต้องมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งในพระพุทธศาสนาไม่มี แต่ธรรมกายตอบได้ หรือถ้าตอบไม่ได้ก็จะบอกว่าเป็นเรื่องละเอียด เรื่องลับ ซึ่งทุกคนก็จะเงียบกันหมด
        
       “และเมื่อมาเทียบกับสายอื่นๆ อย่างสวนโมกข์แล้ว เวลาฟังท่านพุทธทาสพูด เราไม่เข้าใจ เพราะท่านก็เน้นแต่เรื่องไม่เที่ยง จิตว่าง แม้แต่หินยังไหลได้ แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่งท่านจัดวันเกิดก็ชวนทุกคนมาอดข้าววันหนึ่ง จากนั้นท่านเทศน์ ผมก็นั่งฟังอยู่ด้วย พอเทศน์ไปสักพักท่านก็หยุดเพราะเหนื่อย แต่ยังเทศน์ไม่จบนะ แต่เผอิญมัคนายกที่นั่งอยู่เขาหลับเพื่อนเลยก็ต้องปลุก แต่เขานึกว่าท่านเทศก์จบแล้วก็กล่าวอนุโมทนาคาถาเลย ผมก็ถึงบางอ้อเลยว่าที่นึกว่าเราไม่เข้าใจคนเดียวจริงๆ ไม่ใช่ เพราะขนาดคนใกล้ชิดท่านก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน เมื่อทุกคนไม่รู้แล้วเราจะไปเชื่อทำไม”
       
       พอถึงปลายปี 2519 ก็เกิดเหตุรัฐประหารขึ้น มีการห้ามจัดกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเด็ดขาด ชมรมต่างๆ ถูกยุบไปโดยปริยาย ดังนั้นทีมงานเดิมจึงเริ่มก่อตั้งชมรมกันใหม่ ซึ่งช่วงนั้นสถานการณ์ภายในก็เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากแนวคิดแบบสุดโต่งที่ว่า สายอื่นผิดหมด มีแต่ธรรมกายเท่านั้นที่ถูก ประกอบกับมีการใส่ร้ายว่ากลุ่มนั้นกลุ่มนี้ว่าเป็นมาร เพราะไม่จริงจังกับเรื่องการปฏิบัติธรรม
       
       ทำให้ฤดูการเลือกประธานชมรมที่ตามมาในปี 2521 จึงเต็มไปด้วยความดุเดือด เพราะเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 ขั้ว โดยฝ่ายหนึ่งก็คือ นพ.มโน ซึ่งเป็นธรรมกายเต็มขั้นกับ สุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง ซึ่งนิยมพุทธแบบหลากหลาย ก่อนที่สุดท้าย นพ.มโนจะชนะไปเพียงคะแนนเดียว ส่งผลให้กลุ่มของสุนัยถอนตัวออกจากชมรมไปทันที
       
       จากปัญหาครั้งนี้เอง ทำให้สมาชิกหน้าใหม่ๆ ที่เข้ามาในชมรมนี้กลายเป็นผู้นิยมธรรมกายเต็มตัว ส่วนพุทธสายๆ อื่นก็ไม่เข้ามาทำกิจกรรมภายในชมรมเลย
       
       “พอเลือกเสร็จกลายเป็นว่าผมอยู่คนเดียว ผมก็เลยเริ่มใหม่หมด พอเปิดเทอมก็ไปเคาะตามโต๊ะ ชวนน้องปี 1-2 มาเข้าชมรมฯ แล้วก็เริ่มจัดกิจกรรมไปวัดพระธรรมกายแบบจริงจัง มีการจัดอบรมธรรมทายาท เปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา แล้วทุกเย็นผมก็จะสอนสมาธิ คุยกับน้องๆ จนสามารถปลูกฝังให้คนมีทิฐิแบบเดียวกันได้ 5 คน ว่าทำไมสันติอโศกถึงผิด ทำไมพุทธทาสถึงผิด ทำไมธรรมกายถึงถูก และเข้าแต่วัดพระธรรมกายอย่างเดียว
       
       “อีกเรื่องที่ทำก็คือ การสร้างระบบพี่สอนน้องให้มันเข้มข้นขึ้น ทำให้เกิดการฟังกันตามลำดับ เพราะฉะนั้นจึงเกิดวัฒนธรรมการสืบสันดานอย่างเรื่อยมาถึงทุกวันนี้”
       
       เปิดทฤษฎี ‘เทกโอเวอร์’
       
       หลังปรับเปลี่ยนชมรมพุทธที่จุฬาฯ สำเร็จแล้ว ต่อมา นพ.มโน จึงเริ่มเข้าไปสร้างความเข้มแข็งให้ชมรมพุทธอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
        
       “เจ้าอาวาสจะโทรศัพท์มาสั่งงานตลอด เพราะท่านตั้งใจจะให้ผมเป็นพี่เลี้ยง เป็นหัวหอก ผมก็เลยต้องเข้าไปช่วยรามคำแหงไปคุยกับเด็กที่นั่นให้กำลังใจจนเขาเข้มแข็งขึ้นมา จากนั้นเราก็ไปคุยประสานมิตรอีกที่ มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน จนสุดท้ายก็กลายเป็น 4 ชมรมที่เข้มแข็งมาก โดยเฉพาะช่วงนั้นเองที่เกิดคติที่ว่า การที่จะเป็นประธานชมรมพุทธได้จะต้องเป็นธรรมทายาทเท่านั้น”
       
       แต่ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ ก็คือปี 2525 หลังจากที่เขาจบการศึกษาและเข้าไปบวชที่วัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับได้รับภารกิจสำคัญจากเจ้าอาวาสในการชักจูงชมรมพุทธต่างๆ ให้มีแนวคิดแบบธรรมกาย
       
       โดยสิ่งแรกที่เข้ามาเปลี่ยนก็คือ มาตรฐานของการอบรมธรรมทายาทที่ปรับให้มีความเข้มข้นมากขึ้น มีการกำหนดลำดับขั้นของพี่เลี้ยง รวมไปถึงวินัยของผู้เข้าร่วม โดยคงหลักสร้างความอบอุ่นและใกล้ชิดไว้เช่นเดิม
       
       “เราใช้วิธีแบบจาระไนเพชร คือเจาะลึกไปแต่ละคน สัมภาษณ์แต่ละคน ที่สำคัญเราคลุกกับเขา อยู่กับเขา ไม่ได้ใช้ความเป็นรุ่นพี่ที่สูงกว่า แต่ใช้ระดับที่เท่ากันหรือใกล้เคียงในการคุย ซึ่งการทำแบบนี้ประสบความสำเร็จเยอะมากชนิดร้อยเท่าเลย”
       
       ขณะเดียวกันก็เริ่มเกิดการเดินสายไปบรรยายตามสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างมากขึ้น โดยมีชมรมพุทธ จุฬาฯ เป็นฐานสำคัญในการขยายเครือข่าย
       
       “ผมตระเวนไปเทศน์หลายที่มากเลย ไม่ว่าจะเป็นของ จปร. นายเรือ นายเรืออากาศไปหมดเลย คือไปสอนนั่งสมาธิบ้าง แล้วก็ใช้หลักการอธิบายด้วยเหตุผล โดยผมตั้งคำถามให้นักศึกษาตอบ คุยกับเขาแบบนี้ จนเข้ามีความศรัทธา เพราะผมค่อนข้างใจเย็นในการตอบคำถาม แล้วความรู้พื้นฐานเรากว้างกว่า เพราะฉะนั้นการอธิบายที่มีนัยซับซ้อนจึงทำได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามปรับความเห็นให้มาแนวทางเดียวกับเราด้วย”
       
       และอีกกระบวนที่สำคัญสุด การส่งคนของตัวเองแทรกซึมไปพื้นที่นั้นๆ โดย มานิต ประภาษานนท์ อดีตประธานชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2518 เล่าว่า เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับแทบทุกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะชมรมพุทธที่มีความอ่อนแออยู่เป็นทุนเดิม
       
       “เขาใช้วิธีส่งคนที่ศรัทธาในแต่ละมหาวิทยาลัยเข้ามาอยู่ชมรม พอถึงเวลาก็จะเสนอแนวทางแบบธรรมกาย และที่สำคัญสุดก็อาสาสมัครเป็นประธานชมรม ซึ่งพอได้แล้วก็จะปฏิวัติเลย โดยสิ่งแรกที่ทำก่อนก็คือเคลียร์ห้องสมุด เอาหนังสือที่ไม่ตรงกับเขาออกไป ซึ่งพอว่าแบบนี้ไม่ควรเรียกว่าชมรมพุทธ จริงๆ น่าจะทำชมรมธรรมกายไปเลยดีกว่า”
       
       ขณะที่ พระดุษฎี เมธงกุโร อดีตประธานชุมนุมพุทธ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2522 อธิบายเสริมว่า วิธีเข้ามาที่แยบคายอีกแบบก็คือ สร้างแนวประเพณีขึ้นมา เน้นการตักบาตร รักษาศีล ทำสังฆทาน ขณะที่แนวทางอื่นก็ถูกปิดกั้นหมด ซ้ำร้ายยังแอบเอาหนังสือไปทิ้งบ้าง ทำลายบ้างจนแทบหมดห้องสมุด
       
       “ตอนนั้นชมรมพุทธมี 2 แนวคือแนวสมาธิกับแนวประเพณี แต่สุดท้ายแนวสมาธิก็ค่อยๆ น้อยลง จนกลายเป็นธรรมกายหมด แล้วก็มีอาจารย์ที่ปรึกษาท่านหนึ่งชื่อว่า อาจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษารุ่นหลังๆ แล้วนะ ท่านเป็นสายของพระอาจารย์ชา แต่กรรมการเป็นธรรมกายหมดเลย เวลาท่านเสนอให้เขาทำอะไร เขาก็ไม่ทำ จนท่านก็สรุปว่า อยู่ตรงนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ เลยลาออกจากการเป็นที่ปรึกษา แนวพุทธธรรมศาสตร์ก็เลยกลายเป็นแนวธรรมกายไปในที่สุด แต่ก็ใช้เวลานานนะ น่าจะประมาณ 10 ปีได้กว่าจะกลืน”
       
       ไม่เพียงเท่านั้นอีกจุดที่จะถูกจ้องมองเป็นพิเศษ ก็คือชมรมพุทธที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะในสถาบันราชภัฎ หรือสถาบันเอกชน ซึ่งทางสายธรรมกายก็ประกบทันที โดยเข้ามาเสนอจัดการแนวทางและกระบวนการจัดการให้ทุกอย่าง และสุดท้ายก็ไม่รอดพ้นเงื้อมมือไปได้
       
       จนอาจจะเรียกได้ว่า ทุกวันนี้เหลือชมรมพุทธในมหาวิทยาลัยเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ไม่ได้เป็นสาขาของวัดพระธรรมกาย คือมหาวิทยาลัยมหิดลกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
        
       “สาเหตุหนึ่งที่เจาะไม่เข้าก็คือ พวกรุ่นพี่ซึ่งไม่ทิ้งชมรมไป อย่างที่เชียงใหม่ถือว่าชัด เพราะมีพยายามหลายคนมากแต่ไม่สำเร็จ เพราะถึงน้องจะอ่อนแอแต่เวลาอะไรก็ปรึกษารุ่นพี่ได้ ส่วนที่มหิดล อันนี้ก็ชัดว่าเป็นวัดป่าที่แข็งแรงอยู่แล้ว และกิจกรรมที่เขาทำไม่ได้เน้นไปที่นักศึกษาอย่างเดียว แต่ส่งไปถึงอาจารย์และบุคลากรด้วย” มานิตกล่าว
       
       ถึงเวลารวมศูนย์
       
       เมื่อชมรมพุทธในรั้วอุดมศึกษา เริ่มอุดมไปด้วยแนวคิดแบบธรรมกาย
       
       สิ่งที่ถูกต่อยอดออกมา ก็คือ 'ชมรมพุทธศาสตร์สากล' ซึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2534 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางของชมรมพุทธต่างๆ โดย นพ.มโน ชี้ว่า ชมรมนี้ก็เปรียบเสมือนร่มคันใหญ่ที่สร้างขึ้นมาปกคลุมชมรมพุทธทั้งหมด เพื่อจะได้มีแนวทางที่เหมือนกัน แถมยังเป็นการรักษาฐานกำลังของวัดให้มีความมั่นคงอีกด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่า ระบบอุดมศึกษาคือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวัดพระธรรมกายขึ้นมา
       
       “เขาทำขึ้นมาในตอนผมเรียนอยู่อังกฤษนะ เพราะหลักๆ แล้วเขากลัวนอกแถว โดยชมรมนี้ก็จะเน้นในเรื่องประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชมรมเป็นอย่างไร ขณะเดียวก็จะต้องรู้ประวัติศาสนา และความเข้าใจเกี่ยวกับธรรม วิชาธรรมกาย เป็นเสาหลักทั้ง 5 ที่ทุกคนต้องสอนเป็น ซึ่งเรื่องพวกนี้ประธานและกรรมการในชมรมต้องรู้ เพราะภาวะผู้นำนั้นไม่ใช่เรื่องลอยๆ แต่ต้องมีทีมเวิร์กที่ดี มีสายบังคับบัญชาที่ยอมรับ และทุกคนมีวิชั่น และเป้าหมายอันเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายเรื่องแบบนี้มันกลายเป็นประเพณีไปแล้ว เพราะใช้เวลาในการบ่มเพาะนานมาก”
       .........
       
       เห็นที่มาที่ไปและภาพรวมของชมรมพุทธในมหาวิทยาลัยแล้วว่า กว่าที่วัดพระธรรมกายจะปักธงชัยยึดครองมาได้เกือบหมดนั้นมีขั้นตอนวิธีใดบ้าง รวมไปถึงสาเหตุที่เลือกเจาะกลุ่มนักศึกษาซึ่งถือเป็นปัญญาชนมากเป็นพิเศษ กว่า 30 ปีที่ลงหลักปักฐานเจาะตลาดวัยรุ่นในกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ผ่านขุมกำลังที่สำคัญคือ ชมรมพุทธในมหาวิทยาลัยนั้นๆ จึงไม่น่าแปลกใจสำหรับการจะเข้ามาเจาะกลุ่มเด็กช่วงก่อนวัยรุ่นและวัยรุ่นในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษาอย่างจริงจังและเข้มข้นเหมือนที่เคยทำมา แต่ถูกขวางเสียก่อน
       
       ตอนหน้าก็มาดูถึงสถานการณ์ความเป็นไปของชมรมพุทธของมหาวิทยาลัยต่างๆในทุกวันนี้ ตลอดจนกระบวนการขยายโมเดลความเชื่อและวิธีแสวงหาผลประโยชน์ของวัดที่มีต่อวัยรุ่นว่า สุดท้ายจะมีกระบวนการซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหมือนการสร้างความแข่งแกร่งให้แก่ชมรมพุทธหรือไม่
       >>>>>>>>>
       ………
       เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
       ภาพ : ทีมภาพ CLICK
ข่าวการยื่นหนังสือของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และเอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ... จนทำให้หลายๆ คนอดคิดไม่ได้ วัดพระธรรมกายกำลังมีความคิดจะครอบงำเด็กและ .....สามารถกระทำการ "ฟอกเงิน" โดยผ่าน "วัดในต่างประเทศ" ได้หรือไม่??????

ความคิดเห็น

  1. เนี่ยๆ น่าจะช่วยกันเปิดเผยให้ได้รับรู้ มากกว่าจะมาด่ากันอย่างที่เป็น ในส่วนของเราจุดอ่อนมีหลายอย่าง ที่เน้นเรื่องหน้าตาตำแหน่งศักดิ์ศรีกันมาก อันที่จริงตรงนี้ถือว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์ และเป็นเรื่องน่าละอายใจมากในการอวดเอกลาภ อีกอย่างกาดำคือพวกมาเฟียที่อ้างว่าเป็นลูกน้องพระเจ้า ที่จ้องมาโกยก็ยังมีอีกสอง....ต้องระวังนิดจะกลายเป็นสาวไส้ให้กากินไป...(ศาสนิกชนอื่นที่ดีน่ะมีแน่ แต่ก็อยู่ใต้อุ้งมือของพวกมาเฟียหัวรุนแรงกันหมด..พวกชอบชกชกใต้เข็มขัด อันตราย)

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ5 มีนาคม 2555 เวลา 06:54

    อ่านมาก็ไม่เห็นว่าจะผิดตรงไหน ดีกว่าให้เขาไปกินเหล้าเข้าเทคชวนเยาวชนเข้าวัดได้ก็ดีแล้ว

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ9 มีนาคม 2555 เวลา 01:44

    คุณแน่ใจเหรอว่าไม่เป็นไรเพราะวัดนี้กำลังบิดเบือนคำสอนของพระพุทะเจ้าถ้าเลือก2อย่างผมยอมไปทำบาปดีกว่าบิดเบือนคำสอนของพระศาสดานะ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ25 สิงหาคม 2555 เวลา 08:56

    คนยื่นเรื่องนี้ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ดีแต่ทำตัวแบบหาประโยชน์ไม่ได้ แต่ก็ยังนึกไม่ออกนะว่าเขาเคยทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองบ้างหรือเปล่า

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ8 กันยายน 2555 เวลา 20:35

    คงจะไม่ผิดอะไรหรอกนะ ถ้าหลวงพี่หลวงอาทั้งหลายของวัดพระธรรมกายที่เข้าไปสั่งสอนอบรมครูและนักเรียนจะเป็นบุคลากรที่ทรงคุณภาพ แต่เท่าที่ปรากฏจะเห็นได้ว่าทั้งหลวงพี่หลวงอาหลวงลุงเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาของสังคม มีอดีตนักโทษคดีอาญา มีอดีตนักโทษคดียาเสพติด มีเด็กเกกมะเหรกเกเรที่เรียนหนังสือไม่จบ มีอสุรกุ้ยกักขละ ฯลฯ สรุปแล้วก็คือกลุ่มบุคคลที่ไม่สามารถประกอบอาชีพใดๆในสังคมได้นั่นเอง ถ้าไม่เชื่อก็ให้ไปดูได้ที่โคราชและปราจีนบุรี พระที่เป็นอดีตนักโทษเดินบิณบาตเกลื่อนตลาด พระที่มีการศึกษาทางโลกน้อยและการศึกษาทางธรรมก็ไม่ประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด ส่วนใหญ่จะบวชได้ไม่นานเท่าใดนัก พระที่มีพรรษากาลน้อยอย่างนี้จะอวดทะลึ่งเข้าไปสั่งสอนครู อาจารย์ และบุคลาการทางการศึกษาต่างๆซึ่งล้วนแต่มีคุณวุฒิที่เหนือกว่าแทบทั้งสิ้น เมื่อไม่ได้รับการยอมรับก็จะติเตียนครูเหล่านั้นว่าเป็นพวกมิจฉาทิฎฐิ ความจริงแล้วหลวงพี่หลวงอาหลวงลุงควรที่จะศึกษาอบรมตนเองให้ดีเสียก่อนที่จะเสนอหน้าไปสั่งสอนคนอื่นเขานะ .......

    ตอบลบ
  6. ขอนุโมทนาขอบคุณมากครับที่แสดงความคินเห็นและข้อมูลดี ๆ แก่ชาวพุทธ

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ27 ธันวาคม 2555 เวลา 19:36

    อยากให้มีชมรมพุทธฯทุกมหาวิทยาลัย ทุกโรงเรียน ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม เราเข้าแล้วดีมากเลย ได้ข่าวว่าตอนนี้ในต่างประเทศก็มาดูงานเตรียมไปตั้งชมรมพุทธในประเทศของตัวเองด้วย

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ