ถามว่า สำนักพุทธฯเคยทำงานอะไรให้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันมั่ง ?



ยกระดับวัดทั่วราชอาณาจักรให้ทันสมัย
รองรับกับประชาคมอาเซียน
นพรัตน์เตือน-พระต้องรีบปรับตัวถ้าไม่ได้มาตรฐานก็อาจจะมีบทลงโทษ

หุหุ .. สำนักพุทธฯนั่นแหละตัวดีที่ต้องปรับ เพราะอยู่มาจนจะเกษียนรอมร่ออยู่แล้ว นายนพรัตน์ยังสับสนกับตำแหน่งของตัวเอง ว่าเป็นผู้สนองงานพระสงฆ์หรือว่าเป็นเจ้านายพระสงฆ์ สับสนทั้งหน้าที่การงานว่าอะไรคือบทบาทที่ตนเองและสำนักพุทธฯควรทำหรือไม่ควรทำ มิเช่นนั้นคงไม่ออกมาให้สัมภาษณ์สะเปะสะปะดังที่เห็นเป็นประจำดอก

เช่น เมื่อพระธรรมทูตไทยในอังกฤษประสบอุบัติเหตุมรณภาพ นพรัตน์ก็ออกมาประกาศว่า "จะตั้งกองทุนพระธรรมทูต" แต่พอเผาศพแล้วก็แห้วกิน เงียบหายไปกับสายลม นึกอยากจะพูดอะไรก็พ่นออกไปเหมือนผายลม ถามว่า สำนักพุทธฯเคยทำงานอะไรให้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันมั่ง ? เพราะจนกระทั่งวันนี้ยังไม่เห็นเงินแม้แต่บาทเดียว เหลวไหลชะมัด !

วัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรไทยนั้น มีสถานะเป็นนิติบุคคล และอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสก็มีบทบัญญัติอยู่ใน พรบ.คณะสงฆ์อยู่แล้ว ถ้าทำผิดก็มีสิทธิ์ลงโทษได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของพระสังฆาธิการตามลำดับชั้น มิใช่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แม้แต่เรื่องการพัฒนาวัดก็เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าอาวาสโดยสมบูรณ์ จะมากำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้นั้นมันเผด็จการ ทางที่ดีควรปล่อยให้วัดต่างๆ พัฒนาตัวเองไปตามธรรมชาติ ดีกว่าจะให้เป็นเหมือนกันทั้งหมด เพราะในความเป็นจริง วัดที่ได้รับการยกย่องว่าพัฒนาแล้วนั้นก็ใช่ว่าจะสร้างศรัทธาให้แก่ประชาชนได้ทุกระดับ เพราะถ้ายกระดับวัดให้กลายเป็นตึกใหญ่โตโอ่โถงเหมือนกันหมด คิดหรือว่าจะสร้างศรัทธาให้แก่ประชาชน ดังนั้น จงอย่าสับสนในความเป็นวัดพัฒนาว่า "พัฒนาวัตถุ" หรือว่า "พัฒนาจิตใจ"





นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)



พศ.เตรียมประเมินมาตรฐานวัดเข้มข้น

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ชี้แจงหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานวัดทั่วประเทศและที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เห็นชอบแล้วให้เจ้าอาวาสใหม่รับทราบ เพื่อให้แต่ละวัดมีมาตรฐานในการเป็นวัด

ทั้งเรื่องพระสงฆ์ต้องสำรวม มีศีลาจารวัตรที่งดงาม เป็นที่น่าศรัทธาของพุทธศาสนิกชน มีการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปสู่ชุมชน การส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาต่างๆ นอกจากนี้ ต้องเป็นวัดที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเหมาะแก่การมาปฏิบัติธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในวัด

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พศ.ได้ประเมินวัดมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ประเมินแบบจริงจัง ดังนั้นในปีนี้จะนำเกณฑ์การประเมินมาตรฐานวัดแบบเข้มข้นมากขึ้นใน 4 ระดับ ได้แก่ ควรปรับปรุง พอใช้ ดี และดีเยี่ยม

ทั้งนี้ เพื่อให้แต่ละวัดได้มาตรฐานตามที่ มส.กำหนด เนื่องจากปัจจุบันพบว่าวัดหลายแห่งปล่อยปละละเลยการพัฒนาวัด ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนในพื้นที่เสื่อมศรัทธา

ซึ่งการประเมินมาตรฐานดังกล่าวจะช่วยให้วัดมีมาตรฐานและพัฒนามากขึ้น ที่สำคัญเมื่อการประเมินมาตรฐานแล้วจะใช้เป็นข้อมูลตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่างบประมาณหรือโครงการต่างๆ ที่ทางวัดดำเนินการนั้นเข้าถึงประชาชนหรือไม่

ดังนั้น หลังจากนี้วัดต้องพัฒนา อย่าปล่อยปละละเลยให้วัดกลายเป็นสถานที่จัดโคโยตี้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ อยากให้ช่วยดูแลให้วัดกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่สำคัญ พศ.จะยกระดับวัดให้เป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชนอยากเข้าไปเรียนรู้หลักธรรมให้สอดคล้องกับการที่ไทยเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาโลก

ข่าว : มติชน3 เมษายน 2556

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ