กิเลส ๓ ชั้น-พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


กิเลส ๓ ชั้น



ในที่นี้พึงสังเกตคำว่า “อุปกิเลส” กับคำว่า อาคันตุกะ
ในที่ทั่วไปใช้คำว่า กิเลส แปลว่า เครื่องเศร้าหมอง แต่ในที่นี้มีคำว่า อุป เป็นบทหน้า
อุปแปลว่า เข้าหรือเข้าไป บ่งความว่า เครื่องเศร้าหมองนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำจิต เป็นธรรมชาติของจิต
แต่ว่าเป็นสิ่งที่เข้ามาหรือเข้าไป เป็นอาคันตุกะหรือเป็นผู้จรมา หรือเป็นแขกผู้พักอาศัยอยู่กับจิต

ต้องการที่จะแสดงนัยอันนี้ให้ชัดว่า “เป็นแขกผู้พักอาศัยอยู่กับจิต” 
แต่เป็นของที่เป็นอาคันตุกะเป็นแขกจรเข้ามาจึงได้ใช้คำว่า อุป ประกอบเข้าด้วย
อันนี้เป็นเรื่องในพระพุทธศาสนาที่แสดงว่าจิตกับกิเลสเป็นคนละอัน
กิเลสไม่ใช่เป็นธรรมชาติของจิต เป็นอาคันตุกะของจิตเท่านั้น
ฉะบั้นในบทต่อไปจึงได้แสดงไว้ แต่ว่าจิตนั้นก็วิมุตคือหลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลายได้เหมือนกัน
และเมื่อจิตวิมุตคือหลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลายได้แล้ว
ธรรมชาติที่ประประภัสสรคือความผุดผ่องของจิตก็ปรากฏเต็มที่
เหมือนอย่างทองคำที่ถูกผสมด้วยแร่ธาตุต่างๆ 
เมื่อนำมาหล่อหลอมไล่สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ออกไปก็เหลือแต่ทองคำที่มีเนื้อบริสุทธิ์
หรือว่าเหมือนอย่างเพชรที่ห่อหุ้มเปรอะเปื้อน ความผุดผ่องของเพชรไม่ปรากฏ
เมื่อชำระล้างสิ่งซึ่งห่อเปรอะเปื้อนหมดแล้วหรือเจียระไนขัดสีดีแล้ว รัศมีของเพชรก็ปรากฏ
จิตก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน



ฝากรูป


อุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิตนั้น เข้ามาได้ทางไหนอย่างไร….???
ในพระพุทธศาสนาตอนหลังได้มีแสดงไว้ในพระสูตรหลายพระสูตร
โดยความว่า อุปกิเลสนั้นเข้ามาทำจิตให้เศร้าหมองทางอารมณ์
อารมณ์ก็ได้แก่เรื่องที่จิตคิดดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นอยู่ ก็ได้แก่
รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่ผ่านเข้ามาทางจักขุทวาร ประตูคือ จักษุ (สิ่งที่ตาเห็น-รูป)
สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงที่ผ่านเข้ามาทางโสตทวาร ประตูคือหู (สิ่งที่ได้ยิน-เสียง)
รสารมณ์ อารมณ์คือรสที่ผ่านเข้ามาทางชิวหาทวาร ประตูคือลิ้น (สิ่งที่ลิ้นสัมผัส-รส)
โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ที่ผ่านเข้ามาทางกายทวาร ประตูคือกาย (สิ่งที่สัมผัส-ร่างกายสัมผัส)
ธัมมารมณ์อารมณ์คือเรื่องรูป เสียง กลิ่น เป็นต้น ในอดีตที่ผ่านเข้ามาทางมโนทวาร ประตูคือใจ
อารมณ์เหล่านี้เป็นที่ตั้งแห่งราคะหรือโลภะก็มี เป็นที่ตั้งแห่งโทสะก็มี เป็นที่ตั้งแห่งโมหะก็มี
เมื่อเป็นที่ตั้งแห่งราคะหรือโลภะผ่านเข้ามา ราคะหรือโลภะก็เกิดขึ้นในจิต
เมื่อเป็นที่ตั้งแห่งโทสะผ่านเข้ามา โทสะก็เกิดขึ้นในจิต
เมื่อเป็นที่ตั้งแห่งโมหะผ่านเข้ามา โมหะก็เกิดในจิต
ราคาะหรือโลภะ โทสะและโมหะที่เกิดขึ้นในจิตนั้น ปรากฏในความรู้สึกของทุกๆคน
คือเมื่อเกิดราคาะหรือโลภะขึ้น ตนเองก็รู้สึกว่าเรามีราคะหรือโลภะ โทสะและโมหะก็เช่นเดียวกัน
กิเลสชั้นนี้เรียกว่า ปริยุฏฐานะ คือ กิเลสที่เป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต
หมายถึงว่าเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มกัดอยู่ในจิต เป็นที่รู้สึก



ฝากรูป


คราวนี้กิเลสชั้นที่กลุ้มกลัดอยู่ในจิตนี้ ถ้าถูกยั่วให้แรงขึ้นก็กำเริบมากขึ้น
จนถึงเป็นตัวอกุศลมูลคือเป็นตัวก่อกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ถ้าหากว่ากำเริบขึ้นจนถึงเป็นตัวอกุศลมูลคือเป็นตัวก่อกรรม ก็เป็นกิเลศอย่างแรง มีชื่อเรียกว่า วีติกกมกิเลส
กิเลสที่ทำให้ล่วงละเมิด คือไม่ใช่ว่าเก็บอยู่ในใจเท่านั้น ล่วงละเมิดไปแล้ว
คือว่าก่อกรรมไปแล้ว ออกไปนอกขอบเขตของความดีความชอบแล้ว


คราวนี้ถ้าบุคคลระงับไว้ได้ ไม่ให้เป็นวีติกกมกิเลส หรือมิให้เป็นตัวอกุศลมูลก่อกรรม ก็คงกลุ้มกลัดอยู่ในจิต
เป็นตัวนิวรณ์คือเป็นตัวกั้นไม่ให้บรรลุคุณงามความดียิ่งๆขึ้นไป 
แต่กิเลสเหล่านี้ก็มีเวลาสงบ คนเราถึงจะมีราคะหรือโลภะสักเท่าไร ก็มีเวลาสงบ โทสะก็มีเวลาสงบ โมหะก็มีเวลาสงบ
สงบไปโดยธรรมดาที่ว่าทุกสิ่งมีเกิดมีดับ หรือว่าสงบด้วยการปฏิบัติ แม้ว่าจะสงบไปแล้ว แต่ก็ไม่หมด 
ตะกอนของกิเลสนั้นก็ยังตกไปนอนจมเป็นส่วนลึกของจิต 
กล่าวคือ เมื่อราคะสงบไปแล้ว ตะกอนของราคะก็ยังไปนอนจมอยู่ในจิต เรียกว่า ราคานุสัย อนุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต)
คือราคะ โทสะเมื่อสงบลงไปแล้วตะกอนของโทสะก็ยังไปนอนจมอยู่ในจิต เรียกว่า ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ
ความกระทบคือความไม่ชอบ เมื่อความหลงสงบไปแล้ว ตะกอนของความหลงก็ลงไปนอนจมอยู่ในจิต
เรียกว่า อวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชา ความไม่รู้จริง



ฝากรูป


ฉะนั้น คนเราที่ประสบอารมณ์ก็เกิดราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะกันอยู่เสมอๆ 

และก็สงบกันอยู่เสมอๆ แต่ว่าตะกอนของกิเลิสเหล่านี้ก็ยังไปนอนจมเป็นอนุสัยอยู่ในจิต พอกพูนอยู่เสมอ 

กิเลสชั้นอนุสัยนี้ไม่ปรากฏ ที่เปรียบเหมือนตะกอนนอนก้นตุ่มน้ำ 

ในตุ่มที่มีตะกอนนอนก้นตุ่มอยู่นั้น ดูก็ใสในเบื้องบน แต่ก็ใสในเวลาที่ไม่ถูกกวน 

ครั้นถูกกวนจนตะกอนฟุ้งขึ้นมา น้ำก็จะขุ่น จิตก็เหมือนกัน เมื่อยังไม่ถูกอารมณ์มายั่ว จิตก็ดูบริสุทธิ์ 

แต่ครั้นถูกอารมณ์มายั่ว กิเลสที่เป็นตะกอนนี้ก็ฟุ้งขึ้นมา จิตก็ขุ่นมัว 

จากคุณ : PP - [25 มี.ค.55 20:45]
ความคิดเห็นทั้งหมด 7 ความคิดเห็น แสดงหน้าที่ 1/1
ความคิดเห็นที่  1 : 


ฝากรูป


จะอธิบายหลักหัวใจของพระพุทธศาสนาต่อไป ในหลักข้อ ๓ ให้ชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
จิตผ่องแผ้วนี้เป็นฝ่ายหนึ่ง จึงต้องอธิบายถึงจิตเศร้าหมองที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม
เมื่ออธิบายถึงจิตเศร้าหมอง ต้องว่าถึงอุปกิเลส และก็อธิบายแล้วว่า
ทำไมในที่นี้จึงมีคำว่า อุป รวมความก็คือเพื่อแสดงว่า กิเลสคือเครื่องเศร้าหมองนั้นเป็นสิ่งที่จรเข้ามาเป็นอาคันตุกะ
คือแขกของจิตไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต เพื่อเน้นให้เข้าใจเงื่อนไขอันนี้ จึงใช้คำว่าอุป เข้าในที่นี้ด้วย
แต่โดยทั่วไปก็ใช้คำว่า กิเลส และก็ได้อธิบายแล้วถึงกิเลสว่า มีลักษณะเป็นชั้นๆ อย่างไร
ปากทางที่จะให้เกิดกิเลสก็คืออารมณ์ ทำให้เกิด ปริยุฏฐานกิเลส
กิเลสที่ปล้นจิต กลุ้มจิต ทำให้จิตกลุ้มกลัด
เมื่อแรงออกมาก็เป็น วีตกกมกิเลส กิเลสที่ทำให้ล่วงละเมิด
และเมื่อกิเลสเหล่านี้สงบไป โดยธรรมดาหรือด้วยการปฏิบัติ
แต่ยังมีตะกอนนอนเป็นเชื้ออยู่ เรียกว่า อนุสัย นอนเนื่องหรือแอบแนบ
นี้เป็นสรุปความที่ได้อธิบายไปแล้ว


ในคราวนี้จะได้ย้ำความโดยกล่าวทบทวน ตั้งแต่ต้นเงื่อนออกมา
หรือตั้งแต่ละเอียดออกมาหาหยาบ กิเลสที่เป็นต้นเงื่อนหรือที่เป็นส่วนละเอียดนั้นได้แก่อนุสัย คือ ราคานุสัย
อนุสัยคือราคะ ความติด ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ การกระทบ หมายถึงความไม่ชอบ
อวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชา คือความไม่รู้จริง นี้เป็นส่วนละเอียด


เมื่ออนุสัยนี้ฟุ้งออกมา ราคานุสัยก็ฟุ้งออกมาเป็นราคะ ควรจะแปลว่า ความยินดีหรือความกำหนัด
ปฏิฆานุสัยก็ฟุ้งออกมาเป็นโทสะ คือความขัดเคือง โทสะในชั้นนี้หมายถึงความโกรธที่มีอยู่ในใจ
โทสะแปลว่า ประทุษร้าย จึงประทุษร้ายใจของตนเองยังไม่ถึงให้ออกไปคิดทำร้ายผู้อื่น
อวิชชานุสัยก็ฟุ้งออกมาเป็นโมหะ ความหลงที่ทำให้เห็นผิดเป็นชอบ
เห็นชอบเป็นผิด ราคะ โทสะ โมหะ เป็นชั้นปริยุฏฐานะ ที่กลุ้มรุมหรือกลุ้มกลัดจิตใจอยู่ปรากฏอยู่ บุคคลก็รู้สึกอยู่



ฝากรูป


ต่อจากนี้ ราคะเมื่อแรงขึ้นก็เป็นอภิชฌา ความโลภเพ่งเล็ง หมายถึงความอยากได้อย่างแรง
จนถึงคิดมุ่งจะได้มาเป็นของๆตน
โทสะแรงขึ้นก็เป็นพยาบาท ตามศัพท์แปลว่า ถึงผิด ตามความหมายนั้นหมายถึงความมุ่งร้าย
คือความโกรธที่แรงออกมาจนถึงคิดจะทำร้ายผู้อื่น ถ้ายังไม่คิดทำร้ายใคร ขัดเคืองอยู่ในใจก็เป็นโทสะ
แต่ว่าถ้าคิดจนถึงทำร้ายผู้อื่นก็เป็นพยาบาท ไม่ใช่หมายความว่า ผูกโกรธ เหมือนอย่างที่พูดในภาษาไทย
โมหะแรงขึ้นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด คือเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด
ที่ให้ถือเอาผิด ความเห็นผิดนี้ เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี ทำอะไรลงไปก็สังแต่ว่าเป็นกิริยา
แต่ว่าไม่เรียกว่าเป็นทำบุญทำบาป เห็นว่าผลทุกๆอย่างไม่มีเหตุ เกิดขึ้นเองตามสิ่งอำนวยหรือตามบังเอิญ
และเห็นว่าสิ่งที่สมมตินับถือกันอยู่ต่างๆ ก็ไม่มี เช่น พ่อแม่ก็ไม่มี คือไม่ใช่เป็นผู้ที่จะต้องนับถือว่าเป็นพ่อแม่อย่างไร
เป็นแต่เพียงผู้ที่เกิดมาก่อน แล้วก็เกิดสืบๆกันมา คล้ายๆว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ คนดีคนชั่วก็ไม่มี
ผลต่างๆที่เป็นส่วนดีส่วนชั่วก็ไม่มี เป็นการปฏิเสธทั้งหมด
เหล่านี้เรียกว่าเป็นการเห็นผิดอย่างร้ายแรง เป็นความเห็นผิดจากคลองธรรม


อภิชฌา พยาบาล มิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ นี้เป็น วีติกกมกิเลส คือเป็นกิเลสที่จะทำให้ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา
และตัววีติกกมกิเลสนี้เองก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล แปลว่าเป็นกิเลสอย่างแรงที่ล่วงมโนทวารออกมาทีเดียว
และเมื่อเกิดมโนกรรมฝ่ายอกุศลดังนี้ ก็เป็นเหตุให้ประกอบกายกรรม วจีกรรม ฝ่ายอกุศลตามไปด้วย
พระพุทธภาษิตจึงได้มีแสดงเอาไว้โดยความว่า “ธรรมทั้งหลายมีมนะเป็นหัวหน้า มีมนะประเสริฐ สำเร็จด้วยมนะ
ถ้าบุคคลมีมนะอันโทษประทุษร้ายแล้ว จะพูดหรือจะทำทุกข์ย่อมติดตามไป
เหมือนอย่างล้อเกวียนติดตามรอยเท้าโคที่จูงเกวียนนั้นไป
แต่ถ้าตรงกันข้าม บุคคลมีใจผ่องแผ้ว จะทำหรือจะพูด สุขก็ย่อมติดตามไป เหมือนเงาที่ไม่ละตัว”
รวมเป็นกิเลส ๓ ชั้น นับจากหยาบไปหาละเอียดก็คือ วีติกกมกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส อนุสัยกิเลส


ฝากรูป


อนึ่งกิเลสชั้นละเอียดนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาสวะ
คำว่า อาสวะ แปลตามศัพท์ว่า ไหลมา คือไหลมานอนจมหมักหมมในที่อื่น
คำว่า อาสวะ แปลว่าน้ำเมา ก็หมายถึงเป็นสิ่งที่หมักดองอาสวะนี้ จัดไว้เป็น ๓ คือ

๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม ได้แก่ความใคร่ ความปรารถนา ก็สงเคราะห์กับราคานุสัย

๒. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ได้แก่ ภาวะคือความเป็น ข้อนี้ศัพท์ไม่กลมกลืนกับปฏิฆานุสัยนัก
แต่ก็พออธิบายให้เข้ากันได้ ภพ แปลว่า ความเป็น ปฏิฆะ แปลว่า กระทบ
เมื่อมีภพคือความเป็น ความเป็นนั้นความเป็นนี่ ตั้งต้นแต่เป็นเราซึ่งเป็นตัวอัตตา
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจะมีการกระทบกระทั่งกันได้ ถ้าไม่มีภพก็ไม่มีอะไรที่จะถูกระทบกระทั่ง
แต่ว่าเพราะมีภพจึงมีสิ่งที่กระทบกระทั่ง เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงภาวะหรือภพคือความเป็น
ก็จัดเป็นภวาสวะ อาสวะคือภพ แต่ว่าเมื่อพูดอีกทางหนึ่ง คือความกระทบกระทั่ง ก็จัดเป็นปฏิฆานุสัย


๓. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความไม่รู้จริง ก็ตรงกับอวิชชาอนุสัย 

จากคุณ : PP - [25 มี.ค.55 20:46]
ความคิดเห็นที่  2 : 


เมื่อทราบถึงด้านเศร้าหมอง คือด้านกิเลสเหล่านี้แล้ว ก็ควรจะทราบวิธีที่จะทำให้ผ่องแผ้วโดยสังเขป

เมื่อจัดกิเลสเป็น ๓ ชั้น จะขัดสีกิเลสชั้นหยาบคือวีติกกมกิเลสว(เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล แปลว่าเป็นกิเลสอย่างแรง) 
ก็ทำได้ด้วยหลักข้อที่ ๑ คือ ไม่ทำบาปทั้งปวง ในต่อมาก็จัดเป็นสีลสิกขา สิกขาคือศีล 


กิเลสชั้นกลางคือปริยุฏฐานกิเลส จะขัดสีได้ด้วยหลักข้อที่ ๒ คือทำกุศลให้ถึงพร้อม 
ต่อมาก็จัดเป็นสมาธิ จิตตสิกขา สิกขา คืออบรมจิตให้เป็นสมาธิ 
ในหลักข้อที่ ๒ นี้ ควรสังเกตการณ์ใช้คำ กุสลสสูปสมปทา แปลว่า การทำกุศลให้ถึงพร้อม
ถ้าแปลทับศัพท์คือ อุปสมบทกุศล นี้เป็นการอุปสมบททางจิตใจ
หลักข้อที่ ๑ นั้น เท่ากับเป็นการอุปสมบททางกาย คือด้วยศีล


ส่วนกิเลสชั้นละเอียด คือชั้นอนุสัย(กิเลสชั้นอนุสัยนี้ไม่ปรากฏเปรียบเหมือนตะกอนนอนก้นตุ่มน้ำ) 
จะขัดสีได้ก็ด้วยหลักข้อที่ ๓ การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว คือจะผ่องแผ้วจริงๆก็ด้วยอาศัยหลักข้อนี้ 
ซึ่งต่อมาก็สงเคราะห์เป็นปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญา หมายความว่า ต้องอบรมปัญญาจนรู้แจ้งเห็นจริง 
ปัญญานี้เท่านั้นจึงจะขับไล่อนุสัยกิเลสหรืออาสวกิเลสให้สิ้นไปได้ และการอบรมปัญญานั้น 

พระพุทธเจ้าก็ได้แสดงแล้ว ดังเช่นใน อนัตตลักขณสูตร
และใน อาทิตตปริยายสูตร ที่ต้องอบรมให้เกิดความรู้เห็นตามที่เป็นจริงในเบญจขันธ์หรือว่าในอายตนะ
จนเกิดนิพพิทาเป็นต้น ดังที่แสดงมาแล้วโดยลำดับ ต้องดำเนินตาทางนั้น
หลัก ๓ ข้อนี้ เป็นศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


ฝากรูป
พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสหลัก ๓ ข้อนี้แล้ว ก็ได้ตรัสต่อไปอีกหนึ่งคาถากึ่งว่า 


อนูปวาโท การไม่ว่าร้าย 

อนูปฆาโต การไม่ทำร้าย 

ปาติโมกฺเข จ สํวโร ความสำรวมในพระปาติโมกข์ 

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ความรู้ประมาณในภัต 

ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ที่นอนที่นั่งอันสงัด 

อธิจิตฺเต จ อาโยโค ความประกอบในอธิจิตคือจิตยิ่ง 

เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 





คัดลอกมาบางส่วนจากหนังสือ

โอวาทปาติโมกข์ หัวใจพระพุทธศาสนา

พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

หน้าที่ ๓๓ – หน้าที่ ๔๔






ฝากรูป


เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร
ประสูติเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. เศษ
ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู (จะมีพระชนมายุครบ ๑๐๐ ปีในปีหน้า)
ณ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร



ฝากรูป


เมื่อทรงพระเยาว์พระนิสัยที่ทรงโปรดการชอบเล่นเป็นพระ
หรือเล่นเกี่ยวกับ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ทรงเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยการบวชแก้บนเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม
เมื่อพระชนมายุย่าง ๑๔ พรรษา(๑๔ปี)

จากคุณ : PP - [25 มี.ค.55 20:47]



ฝากรูป

บุญกุศลใดที่เกิดจากการตั้งกระทู้นี้ ขอให้จงมีต่อผู้เป็นเจ้าของภาพและเจ้าของหนังสือผู้ล่วงลับ ตลอดถึงท่านผู้อ่านกระทู้ทุกท่านค่ะ

http://www.thaijustice.com/webboard.asp?sub=0&id=1805576

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง