หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แสดงธรรม ธาตุ ขันธ์ อายตนะ สัมพันธ์
ธาตุ - ขันธ์ - อายตนะ สัมพันธ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
แสดง ณ
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
คำนำ
คณะศิษยานุศิษย์ปรารภในการที่จะจัดพิมพ์หนังสือแจกเป็นอนุสรณ์
เนื่องในการทำบุญฉลองอายุครบ ๙๐ ปีบริบูรณ์ของผู้เขียน ในวันที่ ๒๖
เมษายน ๒๕๓๕ นี้ ด้วยเหตุผลว่าหนังสือที่พิมพ์มานานแล้วไม่พอกับการแจกจ่าย
ได้มาหารือกับผู้เขียนว่าจะพิมพ์หนังสืออะไรดี
ผู้เขียนพิจารณาเห็นว่าหนังสือที่ได้เขียนไว้ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน
คือเรื่อง ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์
ซึ่งสมควรที่ผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานพึงรู้เรื่องโดยถ่องแท้ ด้วยเหตุว่า
ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์ นี้เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา
จึงสมควรแท้ที่ผู้ปฏิบัติพึงทำความเข้าใจ
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
ผู้เขียนจึงเลือกหนังสือธรรมะเรื่องดังกล่าวให้ไปจัดพิมพ์แจกในงานครั้งนี้
ขออนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่งแก่คณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายที่มีศรัทธาและกุศลเจตนาพิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมทานในครั้งนี้
พระราชนิโรธรังสี
๑ เมษายน ๒๕๓๕
คำปรารภ
เนื่องในงานฉลองอุโบสถฝังลูกนิมิต วัดพระงามศรีมงคล
ซึ่งพระครูสีลขันธ์สังวร (อ่อนสี)
ได้ชักชวนญาติโยมพากันก่อสร้างมาเป็นเวลานานถึง ๑๐ กว่าปี
สิ้นเงินไปประมาณล้านกว่าบาท บัดนี้ได้สำเร็จเรียบร้อยแล้วด้วยความภาคภูมิใจยิ่ง
การสร้างอุโบสถเป็นงานใหญ่แลงานละเอียด
ต้องใช้เวลาแลความอดทนกล้าหาญต่อสู้กับอุปสรรคนานาประการจึงจะสำเร็จได้
พระครูสีลขันธ์สังวรท่านมีคุณธรรมดังกล่าวแล้วครบครันในตัวของท่าน
จึงสามารถสร้างอุโบสถหลังนี้ให้สำเร็จได้
ซึ่งพระบางรูปแม้แต่ตัวข้าพเจ้าเองก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ นอกจากนี้
ถาวรวัตถุอันมีอยู่ในวัดพระงามศรีมงคลที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด
ก็สำเร็จด้วยฝีมือของท่านทั้งนั้น
(ขณะที่ท่านกำลังทำการก่อสร้างอุโบสถหลังนี้อยู่
ท่านยังได้ชักชวนคณะญาติโยมให้ช่วยกันสร้างอุโบสถ วัดพระเจ้าองค์ตื้อ
อันเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมให้กลับคืนดีมาอีกด้วย)
ฉะนั้นท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของเหล่าพุทธศาสนิกชนเป็นอันมาก
ในการฉลองฝังลูกนิมิตครั้งนี้
กรรมการจัดงานวัดไม่ได้ทำรูปเหรียญหรือเครื่องขลังของรางเป็นเครื่องชำรวยแก่ผู้ที่มาบริจาคใดๆ
ทั้งนั้น จะรับแต่เฉพาะผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาคสมทบก่อสร้างเท่านั้น
แลได้พิมพ์หนังสือประวัติของวัดแลของพระครูสีลขันธ์แจกเป็นธรรมทานด้วย
ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นว่า หนังสือควรจะให้มีเนื้อหาเป็นสารธรรมอยู่บ้าง
ในขณะเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าก็กำลังเขียนธรรมบรรยาย ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ
สัมพันธ์อยู่แล้ว
จึงได้ถือโอกาสรีบเขียนเพื่อให้เสร็จทันพิมพ์ต่อท้ายในหนังสือเล่มนี้ด้วย
หนังสือเล่มนี้ หากท่านผู้อ่านไม่เห็นเป็นหญ้าปากคอกละก็
หวังว่าคงจะไม่ไร้สาระแลให้ประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจในธรรมปฏิบัติตามสมควร
โดยเฉพาะท่านผู้เจริญกรรมฐานภาวนา ถ้าอุสส่าห์คิดค้นตรึกตรองตาม
อาจทำให้ท่านได้รับความรู้แปลกๆ ขึ้นมาบ้าง
ดีกว่าจะนั่งหลับตาเพ่งเอาความสุขสงบแล้วโงกง่วงซึมเซ่ออยู่เฉยๆ
หากไม่คิดค้นตามหลักธรรมให้เกิดแสงสว่างบ้าง
จะไม่สามารถรักษาภูมิจิตของตนไว้ได้เลย แล้วก็ขอเตือนไว้ ณ ที่นี้เสียเลยว่า
การคิดค้นพิจารณาอย่าให้หนีจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์
ถ้าคิดค้นไปตามอารมณ์ชอบใจแล้ว มิใช่แตกปลอกแค่ มันมีหวังปลอกแตกแน่
การรู้จักประมาณ ท่านผู้รู้ทั้งหลายชมว่าเป็นของดี
เทสรังสี.
ธรรมกถาซึ่งจะอธิบายต่อไปนี้จะได้ยกธรรมสามกองคือ
ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖
ขึ้นมาตั้งเป็นกระทู้แล้วจะได้อธิบายเป็นลำดับต่อไป
เพราะธรรมสามกองนี้เป็นของจำเป็นแก่ผู้ใคร่ในธรรม ไม่ว่าทางโลกียะแลโลกุตตร จำเป็นต้องดำเนินแลค้นคว้าพิจารณาตามหลักธรรมสามกองนี้ทั้งนั้น
จึงจะบรรลุตามเป้าหมายของตนได้
อนึ่ง ธรรมสามกองนี้ก็เป็นของที่มีพร้อมอยู่ในตัวของคนเราแต่ละคนอยู่แล้ว
เมื่อเรามารู้เท่าเข้าใจในธรรมสามกองซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานี้แล้ว
ก็จะรู้ธรรมอื่นๆ ซึ่งนอกออกไปจากตัวของเรา
ซึ่งมีสภาพเช่นเดียวกันนี้
หากหลงใหลเข้าใจผิดไปในธรรมสามกองซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานี้แล้ว ธรรมอื่นๆ
ซึ่งมีอยู่นอกออกไปจากตัวของเราก็จะหลงใหลเข้าใจผิดไปหรอก
ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์
มนุษย์ตัวตนคนเราที่เกิดขึ้นมาแล้วนี้ย่อมมีของสามอย่างนี้เป็นสมบัติเบื้องต้น
ก่อนจะมีสมบัติใดๆทั้งสิ้น แล้วก็เป็นของสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันโดยเฉพาะด้วย
จะดีจะชั่วจะสุกจะดิบจะเป็นโลกเป็นธรรม ก็ต้องมีของสามอย่างนี้เสียก่อนเป็นมูลฐาน
เป็นเครื่องวัดเครื่องหมายแสดงออกมาว่าอะไรเป็นอะไร ผู้ถือว่าเรา ว่าเขา ว่าสุข
ว่าทุกข์ ก็ถืออยู่ในองค์ของสามอย่างนี้ หลงอยู่ในห้วงของสามอย่างนี้
ผู้จะรู้แจ้งเห็นจริงจนเป็นสัจจะก็รู้แจ้งเห็นจริงในของสามอย่างนี้
ของสามอย่างนี้เป็นเครื่องวัดเครื่องเทียบโลกแลธรรมได้เป็นอย่างดี
ผู้ไม่เห็นของสามอย่างนี้ก็ตกไปจมอยู่ในของสามอย่างนี้
หรือผู้ที่เห็นแล้วแต่ยังไม่ชัดแจ้งก็ปล่อยวางไม่ได้ เข้าไปยึดเอามาเป็นของตัวก็มี
เรียกย่อๆ
ว่าผู้เห็นตนเป็นโลกแล้วย่อมไปดึงเอาของสามอย่างนั้นหรือสิ่งเกี่ยวเนื่องของสามอย่างนั้นมาเป็นโลกไปด้วย
ส่วนผู้ที่ท่านเห็นว่าตนเป็นธรรมแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแต่สักว่าธรรมเท่านั้น
หาได้มีตนมีตัวหรืออะไรทั้งหมดไม่ เช่นธาตุสี่ ก็เป็นสักแต่ว่าธรรมธาตุ
ขันธ์ ๕ ก็เป็นสักว่าธรรมขันธ์ ส่วนอายตนะ ๖
ก็รวมอยู่ในธรรมทั้งสองนี้
ฉะนั้นต่อไปนี้จะได้อธิบายถึงธรรมสามอย่างที่กล่าวข้างต้นนั้น
เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใคร่ในธรรม
แล้วจะได้นำไปพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่ความสว่างของชีวิตต่อไป
ธรรมสามอย่างนั้นได้แก่ ธาตุ ๔
ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖
หากจะถามว่า ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ มีเท่านี้หรือ
ทำไมจึงแสดงแต่ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เท่านั้น ตอบว่า ธาตุมีมาก
เช่นธาตุ ๖ อายตน ๑๘ หรือสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้เรียกว่าธาตุทั้งหมด ดังที่ท่านเรียกว่า "โลกธาตุ" แม้พระนิพพาน
ท่านก็เรียกว่านิพพานธาตุ ขันธ์ก็มีมากเหมือนกัน
ขันธ์แปลว่ากองว่าเหล่าหรือหมู่หมวด
ท่านแสดงภูมิของสัตว์ที่ยังมีกิเลสเวียนอยู่ในโลกนี้ไว้ว่า
ต้องเกิดอยู่ในภพที่มีขันธ์ ๕ ได้แก่มนุษย์และต่ำลงไปกว่ามนุษย์ ตลอดถึงนรก ๑
ขันธ์ ๔ ได้แก่เทพผู้ไม่มีรูป ๑ ขันธ์ได้แก่พรหมผู้มีรูป ๑
รวมความจริงแล้วโลกนี้พร้อมเทวโลกแลพรหมโลก ท่านก็เรียกว่าขันธ์โลก
ส่วนข้อความแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแลดงไว้แล้วเป็นหมวดหมู่
ท่านก็เรียกว่าขันธ์ทั้งนั้น ที่เรียกว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามี ๘๔๐๐๐
พระธรรมขันธ์ ดังนี้เป็นต้น ส่วนอายตนะนี่ก็แยกออกไปจากธาตุ ๔ ขันธ์ ๕
แต่มีหน้าที่การงานมากไปกว่าที่แสดงย่อๆ ก็เพราะต้องการจะแสดงแต่เฉพาะ
ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ อันเป็นมูลฐานล้วนๆ เท่านั้น
ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์
ธาตุ ๔
ธาตุ
๔ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งมูลฐานของสิ่งทั้งปวง
แม้แต่ธรรมทั้งหลายที่เป็นนิยานิกธรรมอันจะดำเนินให้ถึงวิมุติด้วยสมถะวิปัสสนา
ก็จะหนีจากธาตุสี่นี้ไม่ได้ แต่ธาตุ ๔ เป็นวัตถุธาตุล้วนๆ
ไม่เกี่ยวกับนามธรรมแลกิเลสใดๆ เลย ท่านจำแนกออกเป็นกองๆ ตามลักษณะของธาตุนั้นๆ
เช่นสิ่งใดที่มีอยู่ในกายนี้มีลักษณะข้นแข็ง ท่านเรียกว่า ธาตุดิน มี ๑๘
อย่าง คือ ผม ๑ ขน ๑ เล็บ ๑ ฟัน ๑ หนัง ๑ เนื้อ ๑ เอ็น
๑ กระดูก ๑ เยื่อในกระดูก ๑ ม้าม ๑ หัวใจ ๑ ตับ ๑ พังผืด
๑ ไต ๑ ปอด ๑ ไส้ใหญ่ ๑ ไส้น้อย ๑ อาหารใหม่ ๑ อาหารเก่า ๑
(ถ้าเติมกะโหลกศีรษะและมันสมองศีรษะเข้าด้วยก็เป็น ๒๐ พอดี
แต่ที่ไม่เติมเพราะไปตรงกับกระดูกและเยื่อในกระดูก จึงยังคงเหลือ
๑๘)
ธาตุน้ำ
สิ่งใดที่มีลักษณะเหลวๆ ท่านเรียกว่าธาตุน้ำ มี
๑๒ คือ น้ำดี ๑ น้ำเสลด ๑ น้ำเหลือง ๑ น้ำเลือด ๑ น้ำเหงื่อ
๑ นั้นมันข้น ๑ น้ำตา ๑ น้ำมันเหลว ๑ น้ำลาย ๑ น้ำมูก ๑
น้ำมันไขข้อ ๑ น้ำมูตร ๑
ธาตุไฟ สิ่งใดที่มีลักษณะให้อบอุ่น
ท่านเรียกว่า ธาตุไฟ มี ๔ คือ ไฟทำให้กายอบอุ่น ๑ ไฟทำให้กายทรุดโทรม
๑ ไฟช่วยเผาอาหารให้ย่อย ๑ ไฟทำความกระวนกระวาย ๑
ธาตุลม
สิ่งใดที่มีลักษณะพัดไปมาอยู่ในร่างกายนี้ สิ่งนั้นท่านเรียกว่าธาตุลม มี ๖
คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ทำให้มึน งงหาวเอื้อมอ้วกออกมา ๑
ลมพัดลงข้างล่างทำให้ระบายเผยลม ๑ ลมในท้องทำให้ปวดเจ็บท้องขึ้นท้องเฟ้อ ๑
ลมในลำไส้ทำให้โครกครากคลื่นเหียนอาเจียน ๑
ลมพัดไปตามตัวทำให้กายเบาแลอ่อนละมุนละไม
ขับไล่เลือดและโอชาของอาหารที่บริโภคเข้าไป ให้กระจายซึมซาบไปทั่วสรรพางกาย ๑
ลมระบายหายใจเข้าออกเพื่อยังชีวิตของสัตว์ให้เป็นอยู่ ๑
หรือจะนับเอาอากาศธาตุคือช่องว่างที่มีอยู่ตัวของเราเช่น ช่องปาก ช่องจมูก
เป็นต้น เข้าด้วยก็ได้
แต่อากาศธาตุก็เป็นลมชนิดหนึ่งอยู่แล้วจึงสงเคราะห์เข้าในธาตุลมด้วย
มนุษย์ทั้งหลายที่เราๆ ท่านทั้งหลายที่เห็นกันอยู่นี้
ถ้าจะพูดตามเป็นจริงแล้วมิใช่อะไร
มันเป็นแค่สักว่าก้อนธาตุมารวมกันเข้าเป็นก้อนๆหนึ่งเท่านั้น
มนุษย์คนเราพากันมาสมมติเรียกเอาตามชอบใจของตนว่านั่นเป็นคนนั่นเป็นสัตว์
นั่นเป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ นานาไป
แต่ก้อนอันนั้นมันก็หาได้รู้สึกอะไรตามสมมติของตนไม่
มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไรมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามเดิม
อย่างไปสมมติว่าหญิงว่าชายว่าหนุ่มว่าแก่ว่าสวยไม่สวย
ก้อนธาตุอันนั้นมันก็ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย
หน้าที่ของมันเมื่อประชุมกันเข้าเป็นก้อนแล้วอยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วมันก็ค่อยแปรไปตามสภาพของมัน
ผลที่สุดมันก็แตกสลาย แยกกันไปอยู่ตามสภาพเดิมของมันเท่านั้นเอง
ใจของคนเราต่างหากเมื่อความไม่รู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว
ก็ไปสมมติว่าเป็นคนเป็นหญิงเป็นชาย สวย-ไม่สวย
สวยก็ชอบใจรักใคร่อยากได้มาเป็นของตน
ไม่สวยก็เกลียดเหยียดหยามดูถูกไม่ชอบใจไม่อยากได้อยากเห็น
ใจไปสมมติเอาเองแล้วก็ไปหลงติดสมมติของตัวเอง
เพิ่มพูนกิเลสซึ่งมันหมักหมมอยู่แล้วให้หนาแน่นขึ้นอีก
กิเลสอันเกิดจากความหลงเข้าใจผิดนี้
ถ้ามีอยู่ในจิตสันดานของบุคคลใดแล้วหรืออยู่ในโลกใดแล้ว
ย่อมทำบุคคลนั้นหรือโลกนั้นให้วุ่นวายเดือดร้อนมากแลน้อย ตามกำลังพลังของมัน
สุดแล้วแต่มันจะบันดาลให้เป็นไป ฯ
ความจริงธาตุ ๔ มันก็เป็นธาตุล้วนๆ
มิได้ไปก่อกรรมทำเข็ญให้ใครเกิดกิเลสหลงรักหลงชอบเลย
ถึงก้อนธาตุจะขาวจะดำสวยไม่สวย มันก็มีอยู่ทั่วโลก แล้วก็มีมาแต่ตั้งโลกโน่น
ทำไมคนเราพึ่งเกิดมาชั่วระยะไม่กี่สิบปีจึงมาหลงตื่นหนักหนาจนทำให้สังคมวุ่นวายไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร
มืดบอดยิ่งกว่ากลางคืน
ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าของพวกเราทั้งหลายผู้ทรงประสงค์ความสันติสุขแก่โลก
จึงทรงจำแนกสมมติที่เขาเหล่านั้นกำลังพากันหลงติดอยู่เหมือนลิงติดถัง ออกให้เป็นแต่สักว่าธาตุ ๔
ดังจำแนกมาแล้วข้างต้น หรือจะเรียกว่าพระองค์ทรงบัญญัติให้เป็นไปตามสภาพของเดิม
เพื่อให้เขาเหล่านั้นที่หลงติดสมมติอยู่แล้ว
ให้ค่อยๆจางออกจากสมมติแล้วจะได้เห็นสภาพของจริง บัญญัตินี้ไม่เป็นตนเป็นตัว เป็นสภาพธรรมอันหนึ่ง แล้วบัญญัติเรียชื่อเป็นเครื่องหมายใช้ชั่วคราวเท่านั้น
ถ้าผู้มาพิจารณาเห็นกายก้อนนี้เป็นสักแต่ว่าธาตุ ๔ แล้ว
จะไม่หลงเข้าไปยึดเอาก้อนธาตุมาเป็นอัตตาเลย
อันเป็นเหตุให้เกิดกิเลสหยาบช้าฆ่าฟันกันล้มตายอยู่ทุกวันนี้
ก็เนื่องจากความหลงเข้าไปยึดก้อนธาตุว่าเป็นอัตตาอย่างเดียว
ผู้ใคร่ในธรรมข้อนี้จะทดลองพิจารณาให้เห็นประจักษ์ด้วยตนเองอย่างนี้ก็ได้
คือพึงทำใจให้สงบเฉยๆอยู่ อย่าได้นึกอะไรแลสมมติว่าอะไรทั้งหมด
แม้แต่ตัวของเราก็อย่านึกว่านี่คือเราหรือคน
แล้วเพ่งเข้ามาดูตัวของเราพร้อมกันนั้นก็ให้มีสติทำความรู้สึกอยู่ทุกขณะว่า
เวลานี้เราเพ่งวัตถุสิ่งหนึ่ง แต่ไม่มีชื่อว่าอะไร เมื่อเราทำอย่างนี้ได้แล้ว
จะเพ่งดูสิ่งอื่นคนอื่นหรือถ้าจะให้ดีแล้วเพ่งเข้าไปในสังคมหมู่ชนมากๆ
ในขณะนั้นอาจทำให้เกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมาในใจแปลกๆ และเป็นสิ่งน่าขบขันมาก
อย่างน้อยหากท่านมีเรื่องอะไรหนักหน่วงและยุ่งเหยิงอยู่ภายในใจของท่านอยู่แล้ว
เรื่องทั้งหมดนั้นหากจะไม่หายหมดสิ้นไปทีเดียว
ก็จะเบาบางแลรู้สึกโล่งใจของท่านขึ้นมาบ้างอย่างน่าประหลาดทีเดียว
หากท่านทดลองดูแล้วไม่ได้ผลตามที่แสดงมาแล้วนี้
ก็แสดงว่าท่านยังทำใจให้สงบไม่ได้มาตรฐานพอจะให้ธรรมเกิดขึ้นมาได้
ฉะนั้นจึงขอให้ท่านพยายามทำใหม่จนได้ผลดังแสดงมาแล้ว
แล้วท่านจะเกิดความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า
เป็นคำสอนที่นำผู้ปฏิบัติให้ถึงความสันติได้แท้จริง ฯ
อนึ่ง คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนเพื่อสันติ
ผู้ที่ยังทำใจของคนให้สงบไม่ได้แล้ว
จะนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นสันติมาพิจารณาก็ยังไม่เกิดผล
หรือมาตั้งไว้ในใจของตนก็ยังไม่ติด
ฉะนั้น จึงขอเตือนไว้ ณ
โอกาสนี้เสียเลยว่าผู้จะเข้าถึงธรรม ผู้จะเห็นธรรม รู้ธรรม ได้ธรรม
พิจารณาธรรมใจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งที่แสดงมาแล้วและกำลังแสดงอยู่หรือที่จะแสดงต่อไปนี้ก็ดี
ขอได้ตั้งใจทำความสงบเพ่งอยู่เฉพาะในธรรมนั้นๆแต่อย่างเดียว
แล้วจึงเพ่งพิจารณาเถิดจึงจะเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมนั้นๆ อย่างถูกต้อง
เรื่อง ธาตุ ๔ เป็นสภาวธรรมเป็นจริงอยู่ตามธรรมชาติแล้ว
แต่คนเรายังทำจิตของตนไม่ให้เข้าถึงสภาพเดิม (คือความสงบ)
จึงไม่เห็นสภาพเดิมของธาตุ ธาตุ ๔
เมื่อผู้มาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว จะเห็นว่า ธาตุเป็นสักแต่ว่าธาตุ
มันมีสภาพเป็นอยู่เช่นไร มันก็เป็นอยู่เช่นนั้นตามสภาพของมัน
ธาตุมิได้ก่อกวนให้ใครเกิดกิเลสความรักแลความหวัง หรือโลภโกรธหลงอะไรเลย
ใจของคนเราก็เป็นธาตุเหมือนกัน เรียกว่ามโนธาตุ
หากผู้มาพิจารณาให้เห็นสิ่งทั้งปวงเป็นแต่สักว่าธาตุคือเห็นธาตุภายใจ
(คือกายก้อนนี้) และธาตุภายนอก (คือนอกจากกายของเรา) และมโนธาตุ (คือใจ)
ตามเป็นจริงแล้ว ความสงบสุขก็จะเกิดมีแก่เหล่าประชาสัตว์ทั่วหน้ากัน
สมตามพุทธประสงค์ที่พระพุทธองค์ตั้งปณิธานไว้ทุกประการ
ขันธ์ ๕
เมื่อได้อธิบายธาตุ ๔ มาพอสมควรแล้ว
ต่อจากนี้ไปจะได้อธิบายขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นของเกี่ยวเนื่องกันมา ธาตุ ๔
เป็นวัตถุธาตุล้วนๆ มิได้เกี่ยวเนื่องด้วยใจ คนเราถ้ามีธาตุ ๔ ล้วนๆ
ไม่มีใจแล้ว ก็ไร้ค่าหาประโยชน์มิได้ หรือจะพูดให้สั้นๆ
ที่เรียกว่าคนตายนั้นเอง ขันธ์คือกองแห่งธรรม ในตัวของคนเรานี้
ท่านจัดกองแห่งธรรมไว้ ๕ ดวง กองรูปได้แก่ธาตุ ๔ ดังอธิบายมาแล้ว
เรียกว่ารูปขันธ์ อีก ๔ กองเรียกว่านามขันธ์ คือ เวทนาขันธ์ ๑
สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ อายตนภายใน ๖ มีตาเป็นต้น
ประสบกับอายตนะภายนอก ๖ มีรูปเป็นต้น แล้วเกิดความรู้สึกเป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง
หรือโสมนัส โทมนัส อุเบกขาเฉยๆ เรียกว่าเวทนาขันธ์ฯ อายตนะภายใน ๖
ภายนอก ๖ ประสบกันเข้าแล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาดังอธิบายมาแล้วข้างต้น
แล้วจำได้หมายรู้ในอารมณ์นั้นๆ แม้จะนานแสนนานทั้งที่เป็นอดีตแลอนาคตหรือปัจจุบัน
เรียกว่าสัญญาขันธ์ฯ จิตชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากอายตนะทั้งสองนั้นประสบกันก็ดี
หรือเกิดลอยๆ ขึ้นมาแล้วคิดนึกฟุ้งซ่านปรุงแต่งไปต่างๆ นานา จนหาที่จบลงไม่ได้
เรียกว่าสังขารขันธ์ หมายถึงสังขารจิตโดยเฉพาะ
แต่ถ้าเป็นการตรึกตรองในเรื่องนั้นๆจนเห็นถ่องแท้ชัดเจนหมดกังขาด้วยปัญญาอันชอบแล้วเรียกว่า
"ธัมมวิจย" มิได้เรียกสังขารขันธ์ฯ วิญญาณมีมากอย่าง วิญญาณในปฏิจจสมุปบาทเป็นวิญญาณ นำเอาขันธ์ทั้ง ๕
มาปฏิสนธิ คือวิญญาณตัวนั้นต้องมีขันธ์ทั้ง ๕ พร้อมมูลมาในตัว จึงจะมาอุบัติในภูมิขันธ์ ๕ ได้ ถ้ามี ๔
ก็ไปอุบัติในภูมิขันธ์ ๔ คือมีแต่นามไม่มีรูป
ความจริงรูปท่านก็เรียกรูปจิตเหมือนกัน
แต่เป็นรูปละเอียดพ้นเสียจากรูปขันธ์ที่อธิบายมาแล้วข้างต้น
ถ้ามีหนึ่งคือมีแต่เฉพาะวิญญาณตัวเดียว ก็ไปอุบัติใน "เอกโอปปาติก"
ที่เรียกว่าพรหมลูกฟัก คือมีแต่รูปจิตอย่างเดียวนั้นเองฯ
วิญญาณทำหน้าที่ในอายตนะได้แก่
ความรู้สึกในชั้นแรกของอายตนะทั้งสองประสบกัน
แต่ไม่ถึงกับจำอารมณ์หรือเสวยอารมณ์นั้นๆ การจำอารมณ์เป็นหน้าที่ของสัญญา
การเสวยอารมณ์เป็นหน้าที่ของเวทนา
วิญญาณชนิดนี้จะเรียกว่าวิญญาณธาตุก็ได้ฯ ส่วนวิญญาณในขันธ์ ๕
เป็นวิญญาณนามบัญญัติล้วนๆ ยังไม่ได้ทำหน้าที่ใดๆ เหมือนกับขันธ์อื่นๆ ขันธ์ ๕
ก็เหมือนกันกับธาตุ คือไม่ใช่ตัวกิเลสแลไม่ได้ทำให้ใครเกิดกิเลส
แต่ท่านจัดเป็นประเภทแห่งรูปธรรม-นามธรรม
เป็นกองๆไว้เพื่อให้รู้ว่านั่นรูปนั่นนามเท่านั้น
กิเลสเกิดขึ้นเพราะผู้มาหลงสมมติแล้วเข้าไปยึดเอาขันธ์ว่าเป็นตัวของตนหรือตนเป็นขันธ์บ้างต่างหาก
เมื่อจะพูดให้เข้าใจง่ายแล้ว ความที่เข้าใจผิดหลงไปยึดเดาขันธ์ ๕
ว่าเป็นของตนของตัว หรือเห็นว่าตัวของตนเป็นขันธ์ ๕ บ้าง มิฉะนั้น
ก็เห็นว่าขันธ์ ๕ นอกออกไปจากคนหรือคนนอกไปจากขันธ์ ๕ บ้าง
ความเห็นอย่างนั้นแล จึงทำให้เข้าไปยึดถือจนเกิดกิเลสขึ้นเป็นทุกข์
ในเมื่อขันธ์เหล่านั้นเป็นไปตามปรารถนาแล้วก็ชอบใจเพลิดเพลินหลงระเริงลืมตัวมัวเมาประมาทจนเป็นเหตุให้ประกอบบาปกรรมความชั่วด้วยประการต่างๆ
หากขันธ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามปรารถนาก็ไม่ชอบใจ
เป็นทุกข์โทมนัสด้วยประการต่างๆ ไม่เห็นตามสภาพความเป็นจริงของขันธ์นั้นๆ
ซึ่งมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันอยู่อย่างนั้น
ธรรมที่พระอัสสชิแสดงแก่พระสารีบุตรเมื่อท่านยังเป็นนักบวชนอกพระศาสนาครั้งพบกันที่แรกว่า
ธรรมของพระสมณะโคดมทรงแสดงว่า "ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ
เมื่อเหตุดับสิ่งนั้นก็ดับไป" ดังนี้
รูปขันธ์เกิดจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ผู้มีปัญญามาพิจารณาเห็นแจ้งชัดด้วยตนเองแล้วว่า
ธรรมเหล่านั้นเป็นเหตุแห่งรูป วิชชาเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว อวิชชาก็ดับไป
ธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้น ที่มีอยู่แล้วก็กลายเป็นวิบากไป
ที่จะเกิดใหม่อีกก็ไม่มี
กิเลสแลทุกข์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเพราะความหลงในขันธ์แล้วเข้าไปยึดเอาขันธ์อัตตา
ดังแสดงมาแล้ว
ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า
ภารหเว ปญฺจักขนฺธา
|
ขันธ์ ๕ เป็นภาระจริง
|
ภาราหาโร จ ปุคคโล
|
แต่บุคคลก็ยังถือภาระไว้
|
ภาราทานํ ทุกขํ โลเก
|
การเข้าไปยึดถือเอาภาระไว้ เป็นทุกข์ในโลก
|
ภารนิกเขปนํ สุขํ
|
การปล่อยวางภาระเสีย เป็นความสุข
|
นิกขิปิตวา ครุ ภารํ
|
บุคคลปล่อยวางภาระเสียได้แล้ว
|
อญฺญํ ภารํ อนาทิย
|
ไม่เข้าไปถือเอาสิ่งอื่นเป็นภาระอีก
|
สมูลํ ตณหํ อพฺพุยห
|
เป็นผู้รื้อถอนตัณหากับทั้งรากได้แล้ว
|
นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ติฯ
|
เป็นผู้หมดความอยากแล้วปรินิพพาน ดังนี้ฯ
|
ในพุทธพจน์นี้ แสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า ขันธ์ ๕
เป็นตัวทุกข์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ
เมื่อผู้ใดเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความสุขแล้วหลงเข้าไปยึดไว้
ผู้นั้นจะได้รับความทุกข์เดือดร้อนอย่างยิ่ง
เปรียบเหมือนผู้เห็นเปลวความร้อนของก้อนเหล็กแดงว่าเป็นของสวยงาม
หลงชอบใจเข้าไปกอดเอาด้วยความรัก
ความร้อนของก้อนเหล็กแดงนั้นจะมิได้ผ่อนความร้อนแล้วยอมรับด้วยความปราณีเลย
ความร้อนของมันมีอยู่เท่าไรมันก็จะแผดเผาเอาผู้นั้นให้ไหม้เป็นเถ้าผงไปตามเคยฉะนั้น
สมกับพุทธพจน์ว่า "สังขารา ปรมา
ทุกขา - สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง"
หากจะมีคำถามว่า เป็นทุกข์เพราะอะไร? ก็ต้องตอบว่า
เป็นทุกข์เพราะความหิว ความไม่รู้จักพอ ความหิว
ความไม่รู้จักพอไม่ว่าจะเป็นส่วนร่างกายหรือจิตใจ เป็นทุกข์ทั้งนั้น
เมื่อความอิ่มความพอของจิตใจเกิดขึ้นมาแล้ว ความสงบสุขของใจก็จะเกิดขึ้นมาทันที
แล้วจะมองเห็นความเกิดดับของขันธ์ตามความเป็นจริงดังอุปมา
รูปขันธ์
"เปรียบเหมือนฟองน้ำอันเกิดจากคลื่นหรือระลอก
เป็นต่อมเป็นฟองขึ้นมาชั่วครู่หนึ่งประเดี๋ยวแล้วก็ดับแตกไปเป็นน้ำตามเดิม"
รูปกายนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แปรสภาพเป็นรูปมนุษย์ชายหญิงหรือเป็นสัตว์ต่างๆ นานา มาจากธาตุ ๔
อยู่ได้ชั่วระยะหนึ่งซึ่งคนเราเข้าใจว่านาน แต่สัตว์บางจำพวกซึ่งมีอายุนานกว่า
เขาจะเห็นว่าชั่วครู่เดียวแล้วก็แตกดับสลายไปเป็นธาตุ ๔
ตามเดิมฯ
เวทนา
"เปรียบเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
ลูกคลื่นเหมือนกับเป็นตัวตนกลิ้งมากระทบกับฝั่งดังซู่ซ่าแล้วสลายหายตัวไปเป็นน้ำตามเดิม"
เวทนาก็เกิดจากสัมผัส
แล้วมีความรู้สึกเปรียบเหมือนเสียงคลื่นเป็นสุขบ้างทุกข์บ้างหรือเฉยๆ แล้วก็หายไป
เดี๋ยวสัมผัสอื่นมากระทบอีก ดังนี้อยู่ตลอดกาลฯ
สัญญา
"เปรียบเหมือนพยับแดด ธรรมดาพยับแดดอันเกิดจากไอระเหยของความร้อน
เมื่อบุคคลเพ่งมองดูอยูแต่ที่ไกลจะแลเห็นเป็นตัวระยิบระยับเป็นกลุ่มเป็นหมู่ๆ
เมื่อเข้าไปถึงใกล้แล้ว สิ่งที่เห็นอยู่นั้นก็จะหายไป" ฉันใด สัญญาความจำที่เกิดจากสัมผัสในอายตนะทั้ง ๖ ก็ผลุบๆ
โผล่ๆ เกิดทางตาบ้าง ทางหูบ้าง โน่นบ้าง นี่บ้างอยู่ตลอดกาล
ไม่เป็นของตัวเองเลยก็ฉันนั้นฯ
สังขาร
"เปรียบเหมือนต้นกล้วย ธรรมชาติของต้นกล้วยย่อมไม่มีแก่นเป็นธรรมดา" สังขารรูปกายของคนเรานี้ก็หาสาระมิได้
เริ่มเกิดขึ้นมาก็มีสภาวะแปรสภาพไปพร้อมๆ กันเลย จะอยู่ได้นานแสนนาน
สภาพความแปรปรวนของสังขารก็เปลี่ยนแปลงไปตามทุกขณะอยู่อย่างนั้น
แล้วก็มีความแตกดับเป็นที่สุด
แม้แต่สังขารจิตคิดนึกปรุงแต่งเอาจริงเอาจังกันประเดี๋ยวๆ ก็หายวูบไป
ฉะนั้นเหมือนกันฯ
วิญญาณ
"เปรียบเหมือนมายา ธรรมดาเรื่องของมายาแล้ว
มีแต่จะหลอกลวงผู้อื่นให้เข้าใจผิดคิดตามไม่ทันในเรื่องของตัวเท่านั้น"
วิญญาณก็มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้อื่นตามไม่ทัน
พอตาเห็นรูปเกิดความรู้สึกขึ้น เมื่อจะตามไปดูความรู้สึกนั้นยังไม่ทันอะไร
เดี๋ยวไปเกิดความรู้สึกขึ้นทางหู เมื่อจะตามไปดูความรู้สึกทางหูนั้น
ยังไม่ทันอะไร เดี๋ยวไปเกิดความรู้สึกขึ้นทางอื่นต่อๆไปอีกแล้ว
มีแต่จะหลอกลวงให้คนอื่นตามไม่ทันฉันนั้นเหมือนกันฯ
ผู้มาพิจารณาเห็นขันธ์มีอุปมาดังแสดงมาแล้วนี้ชัดแจ้งด้วยปัญญาอันชอบด้วยตนเองแล้ว
จะไม่หลงเข้าไปยึดเอาขันธ์มาเป็นอัตตาหรืออนัตตา แต่จะหยิบยกเอาขันธ์เป็นเป้าหมายแห่งญาณทัสสนะของปัญญาวิปัสสนา
การใช้ปัญญาแยบคายไม่เข้าไปยึดเอาของมีอยู่แลเนื่องด้วยอัตตา จัดเป็นปัญญาในอริย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ