จารึกประวัติศาสตร์ มติสงฆ์จากจตุรทิศ (๒ พ.ย.๕๕)

มติสงฆ์จากจตุรทิศ เรื่อง ลงนิคคหกรรมคว่ำบาตรผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน กสทช. / หนังสือหลวงปู่อุทัยถึงคณะสงฆ์ / ภาพสังฆสามัคคี
Posted Date : วันที่ 2 พ.ย. 2555 เวลา 15:49 น.

มติสงฆ์จากจตุรทิศ
เรื่อง ลงนิคคหกรรมคว่ำบาตรผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน กสทช.
ณ วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

          ตามที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. ปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน กสทช. ออกประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. ๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ มีสาระสำคัญบังคับให้ผู้ประกอบการวิทยุรายใหม่ต้องลดกำลังส่งเหลือ ๕๐๐ วัตต์ ลดความสูงเสาเหลือ ๖๐ เมตร ลดรัศมีกระจายเสียงเหลือ ๒๐ กิโลเมตร ในขณะที่ผู้ประกอบการวิทยุรายเดิมซึ่งเกือบทั้งหมดมีแต่รายการเพลงเพื่อแสวงหากำไรกลับไม่ถูกจำกัด จึงเป็นการเลือกปฏิบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะทำให้ประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นจากการรับฟังรายการพระพุทธศาสนาของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ ๑๐ ปี ต้องสูญเสียไป
          ที่ประชุมสงฆ์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุตจากจตุรทิศจำนวน   ๒,๒๐๐   รูป     โดยในจำนวนดังกล่าวไม่นับภิกษุผู้ไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมสังฆกรรมแต่ได้มอบฉันทะแก่สงฆ์ ซึ่งสงฆ์ได้พิจารณาอย่างรอบคอบโดยยึดถือพระธรรมวินัย จารีตประเพณี และกฎหมาย มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ทรัพยสิทธิทั้งปวงในเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมทั่วประเทศเป็นสมบัติของสงฆ์ เนื่องจากประชาชนในแต่ละพื้นที่พร้อมใจกันน้อมถวายแด่องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน สงฆ์ถือว่าพื้นที่กระจายเสียงทางอากาศที่ประชาชนเคยรับฟังได้เป็นมรดกธรรมขององค์หลวงตาและครูบาอาจารย์ฯ ที่สงฆ์ต้องปกป้องและยอมสละได้ด้วยชีวิตตามหลักพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และพึงสละทั้งอวัยวะและชีวิตเพื่อรักษาธรรมไว้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่ของมหาชน ส่วน กสทช. นั้น สงฆ์เห็นว่ากำลังสร้างกรรมหนักในพระพุทธศาสนา เพียงเบื้องต้นยังกล้าฝ่าฝืนพระธรรมเทศนาขององค์หลวงตาผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพในสมัยปัจจุบันที่ได้กล่าวไว้อย่างเด็ดขาดว่า
“...วิทยุเวลานี้เป็นประโยชน์แก่โลกมากมาย เสียงธรรมไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกัน ในโลกนี้มีแต่เสียงกิเลสท่วมท้น สามโลกธาตุมีเสียงกิเลสดังลั่นไปหมด เสียงธรรมไม่ค่อยมี นี่ก็เพิ่งเริ่มเสียงธรรมออกประกาศทางวิทยุ ก็ถูกกลั่นแกล้งกีดกันต่างๆ อ้างมาตรานั้นมาตรานี้มาบีบบังคับเสียงธรรมไม่ให้ออก .. เรานี้สลดสังเวชมากนะ เพราะเสียงธรรมไม่ค่อยมีที่จะให้เป็นประโยชน์แก่โลก เสียงกิเลสตัณหา เสียงฟืนเสียงไฟมันทั่วโลก ไม่บอกว่าพวกนี้ฟุ้งเฟ้อ พวกนี้เป็นอันตรายต่อโลก ไม่ประกาศออกมา ในกฎหมายข้อใดมาตราใดก็ไม่เคยแสดงออกมา
แต่เรื่องอรรถเรื่องธรรมที่แสดงออกมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่โลกอย่างมหาศาลนี้ มีมาตรานั้นมาตรานี้ออกมา ความสูงความต่ำวิทยุอย่างนั้นอย่างนี้มีบังคับมาๆ นี้มาจากไหน ถ้าไม่มาจากสัตว์นรกจะมาจากไหน ขอให้พูดเต็มปากเถอะ ถ้าสัตว์สวรรค์สัตว์นิพพานจะไม่พูดอย่างนี้ มีแต่อนุโมทนาสาธุการ ถ้าสัตว์นรก

แล้วกีดกันทุกแบบทุกฉบับ ที่จะเป็นอรรถเป็นธรรมเพื่อหัวใจโลกได้รับความสงบร่มเย็นนี้ต้องกีดต้องกัน ด้วยมาตรฐานของเปรตของผี  เอ้า ฟังให้ชัด เราพูดให้เต็มยัน
ติดคุกเราจะไปติดเอง จะไปเทศน์อยู่ในคุก เราอาจหาญชาญชัยเหนือโลกธาตุแล้ว คุกมันอยู่ในโลกธาตุ เราจึงไม่เคยหวั่น เอาไปติดคุก ร่างกายเป็นสมมุติ เอ้า ติดคุกไป หัวใจเราเป็นวิมุตติไม่ติด เราจะไปเทศน์อยู่ในเรือนจำ เพราะจิตเราไม่ได้ติดคุกติดตะรางนี่ ติดแต่ร่างกาย...”
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รู้ถึงความประสงค์ขององค์หลวงตาดีกว่า กสทช. ท่านอื่น เพราะคุ้นเคยกับครูบาอาจารย์สายกรรมฐานตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นประธานคณะทำงานวิทยุชุมชน จึงทราบดีว่ามติ กทช. ครั้งนั้นได้จัดสรรงบประมาณศึกษาและกำหนดแนวทางออกใบอนุญาตสำหรับมูลนิธิเสียงธรรมฯ แล้ว ต่อมาเมื่อ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ได้รับเลือกเป็น กทช. ก็ยิ่งทราบดีว่า กทช. ชุดดังกล่าวดำเนินการตามมติ กทช. ชุดแรกจนแล้วเสร็จ ซึ่งแทนที่ กสทช. จะสานงานต่อจาก กทช. ทั้ง ๒ ชุดในทันที กลับออกประกาศที่มีผลตรงกันข้ามและยังมีสาระสำคัญขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญอีกด้วย
แม้สงฆ์ได้ประชุมหารือตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ เพื่อขอบิณฑบาตให้ทบทวนก็ยังไม่สามารถระงับการกระทำของ กสทช. ได้   แม้มูลนิธิเสียงธรรมฯ จะพากเพียรเสนอความเห็นที่ถูกกฎหมายและเป็นไปได้ทั้งทางวาจาและเป็นทางการหลายวาระ และแม้ว่าประชาชนจำนวนมากจะแสดงเจตนาคัดค้านมาแล้วก็ตาม แต่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ในฐานะประธานก็เพิกเฉยไม่ใส่ใจ ยังคงเป็นผู้เก้อยาก โดยยืนกรานแนวคิดดังกล่าวแบบน้ำเต็มแก้ว จนทำให้ กสทช. และเจ้าหน้าที่ กสทช. บางท่านเริ่มกล่าวติเตียนศาสนา ว่าเปรียบเปรยสงฆ์ และแยกสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่งให้คล้อยตาม นับเป็นมหันตโทษแก่พุทธบริษัท ๔ ในทางพระพุทธศาสนาหากมิได้แก้ไข สงฆ์พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็น “กิจจาธิกรณ์” ที่ต้องน้อมนำพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยตามธรรม และเพื่อระงับมหาวิบากกรรมที่ กสทช. ทั้งคณะได้ก่อไว้ มีทุคติภูมิเป็นที่หมาย   สงฆ์มีมติเห็นเป็นเอกฉันท์ ดังนี้ 
          ๑) สงฆ์พึงลงนิคคหกรรมประณาม พ.อ.นที ศุกลรัตน์ โดยให้ภิกษุประกาศสงฆ์กล่าวโทษของเขา และคว่ำบาตรแก่เขาด้วยญัติติทุติยกรรม ตามพระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก จุลวรรค เรื่องเจ้าวัฑฒะลิจฉวี โดยพระวินัยท่านห้ามมิให้ภิกษุทั้งหลายคบด้วย มิให้รับบิณฑบาต มิให้รับนิมนต์ มิให้รับไทยธรรมของเขา อรรถกถาจารย์ยังกล่าวด้วยว่า หากภิกษุรูปใดละเมิดควรลงโทษได้ โดยฐานสมคบกับคฤหัสถ์ด้วยการสมคบอันไม่สมควร
          ๒) สงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัยเหนือกฎหมาย พระธรรมวินัยบัญญัติโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงหมดสิ้นอาสวะกิเลสทั้งปวงแล้ว แต่กฎหมายโดยเฉพาะประกาศ กสทช. ฉบับนี้เขียนขึ้นจากความคิดปรุงแต่งของผู้มีกิเลสจึงเห็นผิดเป็นชอบได้   เมื่อสงฆ์คว่ำบาตรแก่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ แล้ว ประกาศหรือคำสั่งใดๆ ของเขาถือเป็นคำสั่งของโมฆบุรุษ ไม่มีผลต่อสงฆ์และทรัพยสิทธิทั้งปวงของสงฆ์ จนกว่าเขาจะรู้สึกผิด กลับประพฤติตัวเป็นคนดี
          ) สงฆ์เห็นว่าพระครูอรรถกิจนันทคุณและคณะฯ เสียสละประโยชน์ตนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะตรากตรำทำงานโดยพยายามเสนอความเห็นต่อสมาชิกรัฐสภา และ กทช. จนมีพระราชบัญญัติและผลการศึกษารองรับมูลนิธิเสียงธรรมฯ ให้มีสถานภาพทางกฎหมายครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอแล้ว แต่ กสทช. กลับจงใจฝ่าฝืน และยังสร้างภาระเงื่อนไขต่างๆ ให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนทำให้เนิ่นช้าเสียเวลาออกไปอีก แทนที่จะเห็นศาสนธรรมเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุดที่แม้แต่ท้าวมหาพรหมยังน้อมรับและปฏิบัติด้วยความเคารพบูชายิ่งถือว่าท่านมีเมตตาโปรดสัตว์โลก แต่ กสทช. กลับปฏิบัติต่อศาสนธรรมดุจดั่งคนขอทาน มิหนำซ้ำยังออกประกาศที่ล้วนแล้วแต่เป็นการกีดกันและบ่อนทำลายศาสนธรรม มิใช่เพื่อการอุปถัมภ์คุ้มครองแต่อย่างใด ที่ถูกต้องแล้ว กสทช. ต้องเป็นฝ่ายเข้าหาและส่งเสริมศาสนธรรมให้เป็นที่พึ่งแก่โลกสงฆ์จึงมีมติขอให้คณะทำงานทอดธุระและวางอุเบกขา ไม่ยอมรับและไม่ต้องติดตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของ กสทช. ที่มาจากโมฆบุรุษ ทั้งนี้จนกว่า กสทช. จะกลับประพฤติตัวเป็นคนดี
          ๔) หาก กสทช. ยังไม่ลดละมิจฉาทิฏฐิถือเอากฎหมายที่ตนเขียนขึ้นเป็นใหญ่เหนือพระธรรมวินัย จนมีผลให้เกิดการตรวจจับ ยึด หรือแม้เพียงการลิดรอนทรัพย์มรดกขององค์หลวงตาฯ ให้มีพื้นที่กระจายเสียงธรรมคับแคบลง ในเรื่องนี้หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ ประธานมูลนิธิเสียงธรรมฯ ท่านกล่าวไว้แล้วว่า “พวกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เราอย่าไปฟัง  ธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์เทศน์ออกมาจากใจที่ทรงมรรคผลนิพพาน เราขอมอบกายถวายชีวิตเพื่อปกป้องธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ฯ หากจะต้องติดคุก เราขอติดคุกติดตะรางเพียงผู้เดียว ไม่ให้หมู่เพื่อนต้องมาลำบากด้วย เราจะไปฟังเทศน์พ่อแม่ครูอาจารย์ในคุก”
สงฆ์มีมติในเรื่องนี้ว่า สงฆ์ที่มาแสดงสามัคคีธรรมในที่นี้และที่ได้มอบฉันทะทุกรูป ขอยอมมอบกายถวายชีวิตปกป้องมรดกธรรมร่วมกับหลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ และหากการเผยแผ่ศาสนธรรมทางสถานีวิทยุจะเป็นสิ่งชั่วช้าเลวทรามในสายตาชาวโลกแล้วไซร้ สงฆ์ทุกรูปขอร่วมติดคุกติดตะรางพร้อมกับหลวงปู่ ทั้งนี้ด้วยเคารพในความกตัญญูกตเวทีของหลวงปู่และเคารพบูชาคำสอนขององค์หลวงตาที่อุตส่าห์ฝืนรั้งธาตุขันธ์ยามอาพาธเพื่อกล่าวอย่างถึงใจ เป็นปัจฉิมโอวาทฝากไว้กับท่านพระอาจารย์สุดใจ ทันตมโน ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ ว่า “มือของครูอาจารย์กับมือของลูกศิษย์ลูกหา ญาติมิตร เพื่อนฝูง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใช้แทนกันได้ ไว้ใจกันได้ เชื่อใจกันได้ ตายใจกันได้”
          ๕) ให้ภิกษุนำมติสงฆ์และนิคคหกรรมคว่ำบาตรนี้แจ้งแก่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในบ้านเมือง หากเขารู้สึกผิด กลับประพฤติดี สงฆ์ในที่ประชุมนี้มีมติให้สงฆ์วัดป่าบ้านตาดประกาศสงฆ์ระงับกรรมนั้นเพื่อหงายบาตรให้เขาด้วยญัตติทุติยกรรม
          จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันในสังฆมณฑล



(หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ)
ประธานสงฆ์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ
วันศุกร์ที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๕

================================================================================
================================================================================

คำสวดญัตติทุติยกรรมวาจา (บาลี)
คว่ำบาตร พ.อ.นที ศุกลรัตน์

สุณาตุ   เม   ภนฺเต  สงฺโฆ,  ทยฺยภาสาย  “นที    ศุกลรัตน์  อิติ  ลทฺธนามโก  ปุคฺคโลภิกฺขูนํ   อนตฺถาย    ปริสกฺกติภิกฺขูนํ   อนาวาสาย   ปริสกฺกติ
ภควา  ปน  สาสนปกาสนตฺถาย สฏฺฐี อรหนฺโต อามนฺเตสิ, “ จรถ  ภิกฺขเว   จาริกํ    พหุชนหิตาย   พหุชนสุขาย  โลกานุกมฺปาย   อตฺถาย   หิตาย, สุขาย    เทวมนุสฺสานํ    มา    เอเกน    เทฺว   อคมิตฺถ   เทเสถ, ภิกฺขเว     ธมฺมํ     อาทิกลฺยาณํ    มชฺเฌกลฺยาณํ    ปริโยสานกลฺยาณํ, สาตฺถํ    สพฺยญฺชนํ    เกวลปริปุณฺณํ    ปริสุทฺธํ   พฺรหฺมจริยํ   ปกาเสถ, สนฺติ   สตฺตา    อปฺปรชกฺขชาติกา   อสฺสวนตา   ธมฺมสฺส   ปริหายนฺติ, ภวิสฺสนฺติ   ธมฺมสฺส   อญฺญาตาโร   อหมฺปิ   ภิกฺขเว   เยน  อุรุเวลา, เสนานิคโม เตนุปสงฺกมิสฺสามิ ธมฺมเทสนายาติ ฯ
อปเรน  จ  สมเยน  ภควา  อาห, “เอกธมฺโม    ภิกฺขเว   โลเก   อุปฺปชฺชมาโน   อุปฺปชฺชติ   พหุชนหิตาย, พหุชนสุขาย   พหุโน   ชนสฺส   อตฺถาย   หิตาย   สุขาย  เทวมนุสฺสานนฺติอาทึ ฯ
โส ปน  ยถาวุตฺตนามโก  ปุคฺคโล, พุทฺธสาสนสฺสุเปกฺขตํ  กโรติ, ภควโต  พฺรหฺมจริยสฺส  ปกาสนํ  ปฏิเสเธติ, ปจฺจุปนฺนกาเล  อรหนฺตสาวกานญฺเจว ภิกฺขูนญฺจ ธมฺมวินยสฺส  ปกาสนํ  ปฏิเสเธติ จ,
ชนา  ธมฺมสฺสวนโต  ปริพาหิรตาย  ปริหายิสฺสติ, สเจ หิ โส ยถาวุตฺตนามโก เนว ปณาเมตพฺโพ น นิคฺคณฺเหตพฺโพ, โส หิ พหุชนตาย อหิตํ อนตฺถํ ทุกฺขญฺจ ปวตฺเตสฺสติ, น จสฺส กมฺมํ เทวมนุสฺสานํ ปวตฺตติฯ
สเจ โส ยถาวุตฺตนามโก เนว ปณาเมตพฺโพ น นิคฺคณฺเหตพฺโพ, โส ภิกฺขูนํ อนตฺถํ อุปฺปาเทสฺสติ, ภิกฺขูนญฺจ อนาวาสํ ปวตฺเตสฺสติ, น เหส  ภควติปิ ธมฺมปกาสนกอรหนฺตสาวเกสุปิ ภิกฺขูสุปิ ครุกาโร อปจิติกาโร โหติ, ปเคว อญฺเญสุฯ
ตสฺส ลทฺธนามกสฺส กิริยา  สมณสารุปฺปํ  วินาเสติ  ปสฺสนฺตานํ  วา  สุณนฺตานํ  วา  ชนานํ  อปฺปสาทนียา  โหติ สตฺถุโน  จ  ธมฺมานุสาสโนปายํ  นิปฺผลภาวํ  ปาเปติ,  ตสฺมา  โส  ปณาเมตพฺโพ  โหติฯ
เตน โส   ยถาวุตฺตนามโก, ภิกฺขูนญฺจ   พหุชนตาย  จ  อนตฺถาย    ปริสกฺกติภิกฺขูนญฺจ  พหุชนตาย  จ  อนาวาสาย  ปริสกฺกติ  สงฺเฆน จ โส ปณาเมตพฺโพติยทิ     สงฺฆสฺส    ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ    “นที    ศุกลรัตน์”  อิติ  ลทฺธนามกสฺส ปุคฺคลสฺส  ปตฺตํ  นิกฺกุชฺเชยฺย, อสมฺโภคํ  สงฺเฆน  กเรยฺย  ฯ 
เอสา    ญตฺติ   ฯ

สุณาตุ   เม   ภนฺเต   สงฺโฆ, “นที    ศุกลรัตน์  อิติ  ลทฺธนามโก  ปุคฺคโลภิกฺขูนญฺจ   พหุชนตาย  จ  อนตฺถาย    ปริสกฺกติภิกฺขูนญฺจ  พหุชนตาย  จ  อนาวาสาย   ปริสกฺกติ, โส  หิ  สาสนปกาสนํ  ปฏิเสเธติ, ภิกฺขูนญฺเจว   พหุชนตาย  จ สคฺคพฺรหฺมโลกนิพฺพานมคฺคํ  ปิทหติ  วาเรติ, อตฺตโน  เจว  พหุชนตาย  จ  อปายภูมิทฺวารํ  วิวรติ  จ, เตเนวสฺส  ชนา ธมฺมสฺสวนโต  ปริพาหิรตาย  ปริหายิสฺสติ, สงฺโฆ   นที   ศุกลรัตน์  อิติ  ลทฺธนามกสฺส  ปตฺตํ  นิกฺกุชฺชติ  อสมฺโภคํ  สงฺเฆน  กโรติ ฯ
ยสฺสายสฺมโต  ขมติ  นที ศุกลรัตน์  อิติ  ลทฺธนามกสฺส  ปตฺตสฺส, นิกฺกุชฺชนา    อสมฺโภคํ    สงฺเฆน    กรณํ, โส   ตุณฺหสฺส, ยสฺส   นกฺขมติ   โส   ภาเสยฺย   ฯ  
นิกฺกุชฺชิโต  สงฺเฆน  “นที    ศุกลรัตน์”  อิติ  ลทฺธนามกสฺส   ปตฺโต    อสมฺโภโค    สงฺเฆน   ขมติ   สงฺฆสฺส   ตสฺมา  ตุณฺหี   ฯ
เอวเมตํ ธารยามีติ


คำสวดญัตติทุติยกรรมวาจา (แปล)
คว่ำบาตร พ.อ.นที ศุกลรัตน์

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า, บุคคลผู้มีนามว่า นที ศุกลรัตน์               
ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย                 
ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย    
        ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับสั่งพระอรหันตสาวก ๖๐ รูป ไปประกาศพระศาสนาว่า
พวกเธอจงเที่ยวจาริก  เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก 
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่ทวยเทพและมนุษย์ 
พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป 
จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น  งามในท่ามกลาง  งามในที่สุด 
จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
สัตว์ทั้งหลาย  จำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย  มีอยู่ 
เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม  จักมี 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย  แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  เพื่อแสดงธรรม.  ดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงตรัสในกาลอื่น  (โมทสูตร) ด้วยว่า
ธรรมอย่างหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก
เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก
เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายดังนี้เป็นต้น.
 
แต่บุคคลผู้มีนามว่า นที ศุกลรัตน์  นั้น         
ทำความเพิกเฉยต่อคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า                    
กีดกันการประกาศพรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า   
และยังกีดกันการประกาศพระธรรมวินัยของพระอรหันตสาวก และภิกษุทั้งหลายในปัจจุบันกาล
แท้จริง ถ้าสงฆ์ไม่ประณามข่มขี่  บุคคลผู้มีนามว่า นที ศุกลรัตน์ นั้น
อัน (เขา) จักยังความไม่เกื้อกูลให้เป็นไปแก่ชนเป็นอันมาก
ยังความไม่เป็นประโยชน์ให้เป็นไปแก่ชนเป็นอันมาก
ยังความทุกข์ให้เป็นไปแก่ชนเป็นอันมาก
การกระทำของเขาย่อมไม่เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ถ้าสงฆ์ไม่ประณามข่มขี่  บุคคลผู้มีนามว่า นที ศุกลรัตน์
ก็จักยังความเสื่อมให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย 
ยังความอยู่ไม่ได้ให้เป็นไปแก่ภิกษุทั้งหลาย
เพราะบุคคลผู้มีนามว่า นที ศุกลรัตน์นั้น 
ไม่มีความเคารพยำเกรงแม้ในพระผู้มีพระภาคเจ้า
ไม่มีความเคารพยำเกรงแม้ในพระอรหันตสาวกผู้กระจายเสียงธรรมผ่านเครื่องมือสื่อสาร
ไม่มีความเคารพยำเกรงแม้ในภิกษุทั้งหลาย
จะป่วยกล่าวไปใย ในชนเหล่าอื่นเล่าฯ
การกระทำของผู้มีนามว่า นที ศุกลรัตน์ นั้น
ย่อมยังสมณสารูปแห่งภิกษุทั้งหลายให้เสื่อมเสียไป
ไม่ก่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ชนเป็นอันมากผู้พบเห็นหรือได้ยิน
และเขาย่อมยังอุบายแห่งการพร่ำสอนธรรมของพระผู้มีพระภาคให้ถึงความไร้ผล
เพราะเหตุนั้น  ผู้มีนามว่า นที ศุกลรัตน์ นั้น 
จึงเป็นผู้ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลายและชนเป็นอันมาก   
และยังขวนขวายเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลายและชนเป็นอันมาก 
จึงควรถูกประณามจากสงฆ์      ด้วยเหตุฉะนี้แล
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว            
สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่  ผู้มีนามว่า นที ศุกลรัตน์       
คือ อย่าให้คบกับสงฆ์       นี้เป็นญัตติ       
        ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า  บุคคลผู้มีนามว่า นที ศุกลรัตน์                  
ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุและชนเป็นอันมาก   
ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุและชนเป็นอันมาก 
ด้วยว่า นที ศุกลรัตน์  นั้น (เขา) กีดกันการประกาศพระศาสนา 
ปิดกั้นหนทางแห่งสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน แก่ภิกษุและชนเป็นอันมาก
และเปิดหนทางเข้าสู่อบายภูมิ อันได้แก่  สัตว์นรก เปรต ผี อสุรกาย ดิรัจฉาน
ทั้งแก่ตนเองและชนเป็นอันมาก
ชนทั้งหลายจักต้องเสื่อมลง เพราะเป็นผู้เหินห่างจากการฟัง (เสียง) ธรรม
ด้วยเหตุแห่งการก่อกรรม ของ นที ศุกลรัตน์ นั้นนั่นแล
เหตุฉะนั้น สงฆ์จึงคว่ำบาตรแก่ นที ศุกลรัตน์    คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์
การคว่ำบาตรแก่ นที ศุกลรัตน์  คือ  ไม่ให้คบกับสงฆ์ ชอบแก่ท่านผู้ใด
ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด   
         บาตรอันสงฆ์คว่ำแล้วแก่ บุคคลผู้มีนามว่า  นที ศุกลรัตน์ 
คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์  ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น  จึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ ฯ            





อ้างอิงจากพระสูตรที่มาในพระไตรปิฎก
๑)    องค์แห่งการคว่ำบาตร
[***] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ
พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:
สุณาตุ   เม   ภนฺเต  สงฺโฆ    วฑฺโฒ    ลิจฺฉวิ    อายสฺมนฺตํ   ทพฺพํ   มลฺลปุตฺตํ   อมูลิกาย  
สีลวิปตฺติยา     อนุทฺธํเสติ     ยทิ     สงฺฆสฺส    ปตฺตกลฺลํ    สงฺโฆ 
วฑฺฒสฺส   ลิจฺฉวิสฺส   ปตฺตํ  นิกฺกุชฺเชยฺย  อสมฺโภคํ  สงฺเฆน  กเรยฺย  ฯ 
เอสา    ญตฺติ   ฯ   สุณาตุ   เม   ภนฺเต   สงฺโฆ   วฑฺโฒ   ลิจฺฉวิ  
อายสฺมนฺตํ   ทพฺพํ   มลฺลปุตฺตํ   อมูลิกาย   สีลวิปตฺติยา   อนุทฺธํเสติ  ฯ 
สงฺโฆ    วฑฺฒสฺส    ลิจฺฉวิสฺส   ปตฺตํ   นิกฺกุชฺชติ   อสมฺโภคํ   สงฺเฆน 
กโรติ    ฯ    ยสฺสายสฺมโต    ขมติ    วฑฺฒสฺส   ลิจฺฉวิสฺส   ปตฺตสฺส  
นิกฺกุชฺชนา    อสมฺโภคํ    สงฺเฆน    กรณํ    โส    ตุณฺหสฺส    ยสฺส  
นกฺขมติ   โส   ภาเสยฺย   ฯ   นิกฺกุชฺชิโต  สงฺเฆน  วฑฺฒสฺส  ลิจฺฉวิสฺส 
ปตฺโต    อสมฺโภโค    สงฺเฆน   ขมติ   สงฺฆสฺส   ตสฺมา   ตุณฺหี   ฯ   เอวเมตํ ธารยามีติ
[๑๑๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ถ้า
เช่นนั้น สงฆ์จงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ อย่าให้คบกับสงฆ์ ฯ
องค์แห่งการคว่ำบาตร
           [๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วย    องค์ ๘ คือ: 
           ๑. ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย   
           ๒. ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย   
           ๓. ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย 
           ๔. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย 
           ๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
           ๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า  
           ๗. กล่าวติเตียนพระธรรม 
           ๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์ 
           ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ฯ 
           [๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ
พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:
กรรมวาจาคว่ำบาตร
           ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒะลิจฉวี โจท   ท่านพระทัพพมัลลบุตร
ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่เจ้า
วัฑฒะลิจฉวี คือ อย่าให้คบกับสงฆ์ นี้เป็นญัตติ 
           ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒะลิจฉวีโจทท่านพระทัพพมัลลบุตร
ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล สงฆ์คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒะ    ลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ การ
คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ    ไม่ให้คบกับสงฆ์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด   
           บาตรอันสงฆ์คว่ำแล้วแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์  ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ ฯ 
           [๑๑๕] ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวร เข้าไปยังนิเวศน์
ของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะเจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า ท่านวัฑฒะ สงฆ์คว่ำบาตรแก่ท่านแล้ว
ท่านคบกับสงฆ์ไม่ได้ พอเจ้าวัฑฒะลิจฉวี    ทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตรแก่เราแล้ว เราคบกับสงฆ์
ไม่ได้แล้ว ก็สลบล้มลง  ณ ที่นั้นเอง 
           ขณะนั้น มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต ของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ได้กล่าวคำนี้  กะเจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า
ไม่ควร ท่านวัฑฒะ อย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญไปนักเลย    พวกเราจักให้พระผู้มีพระภาคและ
ภิกษุสงฆ์เลื่อมใส จึงเจ้าวัฑฒะลิจฉวีพร้อมด้วย บุตรภรรยา พร้อมด้วยมิตรอำมาตย์ พร้อมด้วย
ญาติสาโลหิต มีผ้าเปียก มีผมเปียก   เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศรีษะลงแทบพระบาทของ
พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า โทษได้มาถึงหม่อมฉันแล้ว ตามความโง่ ตาม
ความ เขลา ตามอกุศล ขอพระองค์ทรงพระกรุณารับโทษของหม่อมฉันที่ได้โจทพระคุณ เจ้าทัพพ
มัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวม    ต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า
           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เชิญเถิด เจ้าวัฑฒะ โทษได้มาถึงท่านแล้ว    ตามความโง่
ตามความเขลา ตามอกุศล ท่านได้เห็นโทษที่ได้โจททัพพมัลลบุตร   ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล
โดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม เราขอรับโทษนั้น    ของท่าน การที่ท่านเห็นโทษ โดยความ
เป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัย ฯ   
           [๑๑๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ  ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น
สงฆ์จงหงายบาตร แก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ได้   
๒)    องค์แห่งการหงายบาตร
           ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรแก่อุบาสก ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ:
           ๑. ไม่ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
           ๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่เป็นประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย   
           ๓. ไม่ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย   
           ๔. ไม่ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย   
           ๕. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกร้าวกัน  
           ๖. ไม่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
           ๗. ไม่กล่าวติเตียนพระธรรม   
           ๘. ไม่กล่าวติเตียนพระสงฆ์   
           ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หงายบาตร แก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ฯ

            ๓)  โมทสูตร
          [๑๙๗] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็น
พระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม
อย่างหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็น
อันมาก เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ สังฆสามัคคี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์พร้อม
เพรียงกันอยู่ย่อมไม่มีการบาดหมางซึ่งกันและกัน ไม่มีการบริภาษซึ่งกันและกัน ไม่มีการ
ขับไล่ซึ่งกันและกัน ในเพราะสังฆสามัคคีนั้น ชนทั้งหลายผู้ยังไม่เลื่อมใสย่อมเลื่อมใส
และชนผู้เลื่อมใสแล้วย่อมเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป ฯ
          พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถา
ประพันธ์ดังนี้ว่า
          ความพร้อมเพรียงของหมู่ให้เกิดสุข และการอนุเคราะห์ซึ่งหมู่ผู้พร้อม
          เพรียงกันให้เกิดสุข ผู้ยินดีแล้วในหมู่ผู้พร้อมเพรียงกัน ตั้งอยู่ในธรรม
          ย่อมไม่เสื่อมจากธรรมอันเกษมจากโยคะ ผู้นั้นกระทำหมู่ให้พร้อมเพรียง
          กันแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป ฯ
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล ฯ
             จบสูตรที่ ๙

๔):พระวินัยปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรคภาค ๑ จากพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสยามรัฏฐ จำนวน ๔๕ เล่ม                                               
เรื่องพ้นจากบ่วง
          [๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้ว 
จากบ่วงทั้งปวง  ทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็นของมนุษย์  แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง 
ทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็นของมนุษย์  พวกเธอจงเที่ยวจาริก  เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ 
ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ 
พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป  จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น  งามในท่ามกลาง 
งามในที่สุด  จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลาย 
จำพวกที่มีธุลีคือกิเลศในจักษุน้อย  มีอยู่  เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม  จักมี 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย  แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  เพื่อแสดงธรรม. 
เรื่องพ้นจากบ่วง จบ.

=========================================

หนังสือหลวงปู่อุทัยถึงคณะสงฆ์ในที่ประชุม




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง