ถ้าผมปฏิวัติ ! ปรัชญาแห่งการปฏิวัติของผมก็คือ อนัตตา ทุกคนจะต้องไม่มีตน จะต้องไม่ถือว่าตนสำคัญ แต่จะต้องถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่
ถ้าผมปฏิวัติ !
เปล่าครับ ผมไม่เคยคิดที่จะปฏิวัติกับท่านจอมพลถนอม กิตติขจร หรือคณะของท่าน หรือปฏิวัติกับใครทั้งสิ้น ความคิดต่อไปนี้เป็นความคิดเล่นสนุกๆ
ตั้งเป็นโจทย์ขึ้นมาก่อนว่า "ถ้าผมปฏิวัติสำเร็จ มีอำนาจปฏิวัติอยู่ในมือ ผมจะทำอย่างไร ?"
คำตอบนั้นเห็นจะต้องทำเป็นข้อๆ ไป จะอ่านสะดวกกว่า
1. สิ่งแรกที่ผมจะต้องคิดถึงก็คือ ความแตกต่างกันระหว่างคนที่อยู่ในชนบท อันหมายถึงชาวไร่ ชาวนา และคนที่อยู่ในเมือง ซึ่งได้แก่คนที่มีอาชีพรับจ้าง ทำราชการ ทำงานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเอกชน ความแตกต่างที่สำคัญก็คือ รายได้ คนในเมืองนั้นมีรายได้สูงกว่าคนในชนบทมาก อาจสูงกว่าเท่าตัวหรือกว่านั้น ผมจะต้องพยายามทำให้คนในชนบทมีรายได้ทัดเทียมกับคนในเมือง นี่คือเป้าหมายแรก
เมืองไทยเรานั้น ถึงอย่างไรก็เป็นประเทศกสิกรรม ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้จากการกสิกรรม ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำและต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้า ปีไหนดินฟ้าอากาศไม่อำนวยให้ ก็ต้องประสบความเดือดร้อน
เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ การอุตสาหกรรมก็ดี กิจการอื่นๆ ในบ้านเมืองของเราก็ดี ตลอดจนงานราชการ จะต้องหันเหให้เข้ากับการกสิกรรมให้หมด เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกสิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอุตสาหกรรมและการเงิน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านธนาคารหรือในด้านใดๆ จะต้องมีไว้และดำเนินการเพื่อสนับสนุนการกสิกรรม
การผลิตทุน ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดๆ ต้องเป็นไปเพื่อการกสิกรรมส่วนใหญ่ แม้แต่สินค้าการบริโภคก็ต้องผลิตเพื่อกสิกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ การศึกษา การสาธารณสุข ต้องเบนนโยบายมาเพื่อกสิกรทั้งสิ้น
การสาธารณสุข การอนามัย การแพทย์ จะต้องกระจายออกไปให้ทั่วถึงในชนบท ถึงจะยากเย็นอย่างไรก็ต้องทำให้ได้ การศึกษาต้องวางหลักสูตรกันใหม่ เพื่อให้ชนบทรับได้ และต้องขยายออกไปให้ทั่วถึง
การศึกษาแบบชี้ให้ชมดาวเดือนในท้องฟ้าของเมืองฝรั่งเห็นจะต้องเลิกกันที มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะต้องปิดเทอมให้ตรงกับเวลาที่กสิกรต้องทำงานหนัก คือ หน้าไถ หน้าหว่าน และหน้าเก็บเกี่ยว มีหลักสูตรบังคับไว้เลยว่า ในระหว่างมหาวิทยาลัยปิดนั้น นิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย จะต้องออกไปทำงานร่วมกับกสิกร ต้องอยู่กินเช่นเดียวกับกสิกร ปีหนึ่งใครไม่ได้ออกไปทำงานกสิกรรมครบ 5 เดือน ไม่ให้ปริญญา
ทั้งหมดนี้มิใช่การอาสาพัฒนา แต่เป็นการออกไปทำงานหนักกับกสิกรและใช้ชีวิตกสิกรจริงๆ ประสบการณ์นี้จะเป็นประโยชน์เมื่อสำเร็จปริญญาแล้ว และออกไปเป็นปัญญาชนหรือผู้นำชุมชน หรืออะไรต่อมิอะไรหรูๆ ที่ชอบพูดกัน บัณฑิตเมืองไทยทุกคนจะได้เผชิญกับปัญหาของคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศมาแล้ว ก่อนที่จะเริ่มทำงานคือปัญหาทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษา และสวัสดิการ
2. การที่ผมจะปฏิวัติสำเร็จได้นั้น ผมจะต้องคบกับทหาร มีทหารเป็นพวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบก เมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้ว ผมก็จะต้องอยู่กับทหารตลอดไป เพื่อทหารจะได้รักษาอำนาจปฏิวัติของผมไว้ ผมจึงต้องยกย่องทหาร และทำให้คนทั้งประเทศนิยมทหาร เห็นว่าทหารเป็นสถาบันอันสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศ ผมจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับประชาชนให้แน่นแฟ้นที่สุด ทั้งนี้มิใช่ทำให้ทหารกลายเป็นพลเรือนไป ทหารยังจะต้องเป็นทหาร จะเป็นอื่นไปไม่ได้ วิธีที่จะทำอย่างนี้ได้ก็คือ ขยายการปฏิวัติของผมออกไปให้ถึงประชาชนทั่วประเทศ ไม่เก็บการปฏิวัติไว้ในวงอันแคบ ไม่มีคณะปฏิวัติอันจำกัดจำนวน หรือรับขุนนางที่วิ่งมาประจบก่อนว่าเป็นคณะปฏิวัติ แต่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการปฏิวัติด้วย
ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล จะต้องมีกรรมการปฏิวัติ ซึ่งมาจากคนในท้องถิ่นนั้น มีทหารเข้าร่วมด้วย กรมการจังหวัดทุกจังหวัดจะต้องมีตัวแทนของคณะปฏิวัติและทหารเข้าร่วมด้วย อิทธิพลของคณะปฏิวัติและทหารจะต้องเข้าไปถึงในโรงงานอุตสาหกรรมทุกโรง และโรงเรียนทุกโรง
ครับ และ..ในวัดทุกวัด
ทหารจะต้องได้รับการศึกษาอบรมในทางสังคมและในทางการเมือง
ศีลธรรมและวินัยของทหารจะต้องอยู่ในระดับที่เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนทั่วไปได้
และทหารนั่นเองก็จะต้องเข้าร่วมทำงานหนักกับกสิกรและกรรมการตามโรงงานอุตสาหกรรม จะไม่มีเวลาอยู่กรมกองเฉยๆ
ผมจะต้องทำให้ทหารเข้าใยว่า ทหารเป็นส่วนสำคัญของการปฏิวัติ ซึ่งเป็นของประชาชนทั้งประเทศ
ทหารจะต้องมีส่วนในการเมืองอย่างแน่นอน แต่ผู้นำทางการเมืองของประเทศนั้น จะต้องเป็นผมและคณะปฏิวัติ
3. กรรมการปฏิวัติซึ่งมีอยู่ทั่วไปทุกแห่งและทุกกิจการ จะต้องเข้ามีส่วนร่วมในการปกครองและการบริหาร เพื่อที่จะได้สร้างการนำแบบใหม่ขึ้น ตัดระเบียบราชการเก่าๆ ให้น้อยลง และยอมรับฟังความเห็นและคำแนะนำจากผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา และจากประชาชนให้มากขึ้น คณะกรรมการปฏิวัติตามหมู่บ้านหรือตามโรงงานนั้นให้เลือกกันเอาเอง แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะปฏิวัติกลางคือผมเสียก่อน
นโยบายต่างๆ จะมาจากคณะปฏิวัติ แต่จะเปิดโอกาสให้ชุมชนและหน่วยงานปลีกย่อยได้พิจารณานโยบายหรือโครงการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนว่าจะทำได้ไม่ได้เพียงไร และมีผลดีผลเสียเพียงไร
4. สิ่งที่ผมจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ก็คือ อภิสิทธิชน ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ หรือในทางใดๆ ทั้งสิ้น
5. ปรัชญาแห่งการปฏิวัติของผมก็คือ อนัตตา ทุกคนจะต้องไม่มีตน จะต้องไม่ถือว่าตนสำคัญ แต่จะต้องถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่
6. ผมเองจะต้องมีความเป็นอยู่เท่ากับกรรมกรในโรงงานคนหนึ่งในขณะที่อยู่ในเมือง เวลาออกไปในชนบทก็จะต้องมีฐานะความเป็นอยู่เท่ากับกสิกรที่จะต้องใช้แรงงานของตนเองคนหนึ่งเท่านั้น ผู้นำทุกคนในประเทศจะต้องปฏิบัติอย่างผม
7. การปฏิวัติของผมจะต้องเป็นทั้งเหตุและผล ผมจะไม่ปฏิวัติเพื่อนำระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบอื่นใดมาสู่เมืองไทย แต่จะปฏิวัติเพื่อการปฏิวัติ และเก็บการปฏิวัตินั้นให้อยู่ในเมืองไทยตลอดไป เป็นการปฏิวัติตลอดไปไม่มีที่สิ้นที่สุด เพื่อประโยชน์ของคนไทย
8. หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ผมจะสั่งปิด คือ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
คึกฤทธิ์ ปราโมช
ที่มา ต่วยตูน ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2541 ปักษ์หลัง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ