ประวัติศาสตร์ "สร้างได้" แต่..ลบไม่ได้

ประวัติศาสตร์ "สร้างได้" แต่..ลบไม่ได้






"ด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรี"


นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์


ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ



ย้อนประวัติศาสตร์

"อัปยศ" ของมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยกรรมการสภามหามกุฏฯ ซึ่งเป็นผู้ออกเสียงเทคะแนนให้พระเทพปริยัติวิมลนั่งเก้าอี้อธิการบดีเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า "ผิดขั้นตอน"





ตอนนั้น "นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์" ผอ.สำนักพุทธฯ กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง ได้แอ่นอกปกป้องพระเทพปริยัติวิมลว่า "ได้ตำแหน่งมาอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน" แล้วตอนนี้ ขอถามทีว่า "จะรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเองอย่างไร" ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอันสูงส่ง




จะลาออกก็รีบลาออกซะเถิดนะ คุณนพรัตน์ อย่าทำลาย

"สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ให้มัวหมองไปกว่านี้เลย




ข่าวเก่า :

นพรัตน์การันตีอธิการบดี มมร. ทำถูกทุกขั้นตอน



นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะกรรม การสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการแต่งตั้งอธิการบดี ว่า ขณะนี้ได้มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมล ให้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดี มมร.ไปอีกวาระหนึ่ง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 และมติที่ประชุมสภา มมร. ครั้งที่ 4/2554 วันที่ 7 ต.ค. 2554 โดยมีพระบัญชาตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย.2554 ทั้งนี้ขั้นตอนในการดำเนินงานถือว่าทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ เนื่องจากในมาตรา 25 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ระบุไว้ชัดเจนว่า สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตามคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งที่ประชุมสภามหาวิทยา ลัยก็มีมติเสนอชื่อพระเทพปริยัติวิมล ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. ต่อไปอีกวาระหนึ่ง

ด้านนายบรรณฑูร บุญสนอง ประธานชมรมคณาจารย์และเจ้าหน้าที่มมร. กล่าวว่า ตามที่ตนได้ไปยื่นหนังสือต่อ รมว.ศึกษาธิการให้ตรวจสอบการแต่งตั้งอธิการบดีมมร.นั้น ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการขัดพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่ต้องการให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของนายกสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ได้มีหนังสือจากประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชให้


1.มีการดำเนินการสรรหาอธิการบดีมหามกุฏฯ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และ

2.ให้นำข้อกล่าวหาที่มีต่อพระเทพปริยัติวิมล เข้าหารือในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย


แต่กลับไม่มีการนัดประชุมและมีการยืนยันมติเดิม เท่ากับว่านายกสภามหาวิทยาลัยไม่ยอมปฏิบัติตามประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อย่างไรก็ตามยืนยันว่าทางชมรมคณาจารย์ฯจะเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อ โดยล่าสุดได้ยื่นหนังสือไปยังประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบรวมทั้งปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นด้วย


ข่าว : ข่าวสด

19 ธันวาคม 2554




ประวัติศาสตร์ "อัปยศ" อีกหน้าหนึ่ง ของ มมร.

เมื่อผู้ถูกกล่าวหาออกหน้าเล่นบททนายให้ตัวเอง





พระเทพปริยัติวิมล

(แสวง ธมฺเมสโก ป.ธ.5)
อดีตอธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)




พระเทพปริยัติวิมลออกมาเย้ยหยันผู้ร้องเรียนตัวเองว่า

"ไม่รู้ข้อกฎหมาย" หมายถึงว่า ตนเองรู้ หรือรู้ดีกว่า ลึกซึ้งกว่า จึงกล้าออกมาพูด ทั้งๆ ที่เวลานั้นเจ้าคุณแสวงตกเป็นจำเลยแล้ว แต่หาได้สงบเสงี่ยมเจียมตัวให้สมกับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศไทยแต่อย่างใดไม่



อย่างไรก็ตาม ขนาดอวดว่าตัวเองรู้ กรรมการสภามหาวิทยาลัย มมร. ก็รู้ แต่ทุกคนก็กลัวตาย ถึงกับยอมส่งเรื่องไปให้กฤษฎีกาวินิจฉัย ผลก็คือ

"มติของสภามหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ให้พระเทพปริยัติวิมล ดำรงตำแหน่งอธิการบดีเป็นเทอมที่ 2 นั้น ผิดกฎหมาย เพราะผิดขั้นตอน ไม่มีการตั้งกรรมการแสวงหาตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย"



การแสดงออกของ

"พระเทพปริยัติวิมล" ในวันที่ 29 พ.ย. 2554 ที่ผ่านมานั้น ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกทั้งด้านภูมิปัญญาและภูมิธรรมของอธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเมื่อผลการวินิจฉัยของกฤษฎีกาออกมาตรงกันข้ามกับคำพูดของพระเทพปริยัติวิมลในวันนี้ ก็เห็นทีว่า ตำแหน่งอธิการบดี มมร. คงจะหลุดลอย ตลอดไป เสียดาย ไม่น่าตายน้ำตื้นเลย






ข่าวเก่า :

พระเทพปริยัติวิมลการันตี ตำแหน่งอธิการบดี มมร. ทำถูกทุกขั้นตอน



"พระเทพปริยัติวิมล" รักษาการอธิการบดี มมร. ชี้การเสนอชื่อตนเป็นอธิการบดี มมร. ทำถูกต้องทุกขั้นตอน อัดคนร้องไม่รู้กฎหมาย ขณะที่ประธานชมรมคณาจารย์ มมร. ยื่นหนังสือเอาผิดพระเทพปริยัติวิมล ให้ ศธ.แล้ว...

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายบรรณฑูร บุญสนอง ประธานชมรมคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอให้สอบสวนการใช้อำนาจอันมิชอบของนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในการมีมติเสนอชื่อ พระเทพปริยัติวิมล ขึ้นเป็นอธิการบดี มมร. อีกสมัย โดยที่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการสรรหา ทั้งนี้ นายศักดา บูรณ์พงศ์ เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้รับมอบหนังสือแทน พร้อมกล่าวเพียงว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอนายวรวัจน์ต่อไป

ด้านพระเทพปริยัติวิมล รักษาการอธิการบดี มมร. กล่าวว่า เชื่อว่าผู้ที่ไปร้องเรียนคงไม่ได้ศึกษารายละเอียดของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ให้ดี เพราะการเสนอชื่อและสรรหานั้นเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และถูกต้องตามขั้นตอน หากยังมีข้อสงสัยก็สามารถไปสอบถามกรรมการสภาได้ว่าทำถูกต้องหรือไม่ ส่วนที่บอกว่าการเสนอขอพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งตนเป็นอธิการบดีอีกสมัยถูกยับยั้งและส่งกลับให้สภามหาวิทยาลัยตรวจสอบความถูกต้องนั้น ตนไม่ทราบ ทราบเพียงว่า มมร.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แล้ว เพื่อให้ พศ.นำเสนอขอพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

นายบรรณฑูร ซึ่งเป็นอดีตผู้ช่วยอธิการบดี มมร. วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย น่าจะมีเจตนาเบี่ยงเบนประเด็น เพราะที่ผ่านมา มมร.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบนายบรรณฑูร กรณีมีการร้องเรียนว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และแอบอ้างชื่อ มมร. เรี่ยไรเงิน รวมทั้งถูกปลดออกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วด้วย ส่วนที่อ้างว่าเป็นประธานชมรมคณาจารย์ มมร. นั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีชมรมดังกล่าวใน มมร. และถือว่าเข้าข่ายความผิดแอบอ้างชื่อ มมร. ต้องดำเนินการเอาผิดพระเทพปริยัติวิมล กล่าว

ขณะที่ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.พศ. กล่าวว่า พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ กำหนดให้ พศ. เป็นผู้เสนอขอพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งอธิการบดี มมร. ซึ่งขณะนี้ พศ.ได้เสนอขอพระบัญชาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีพระบัญชาลงมา ทั้งนี้ การเสนอชื่อพระเทพปริยัติวิมล ดำเนินการตามอำนาจของกฎหมายที่กำหนดไว้ทุกขั้นตอน



ข่าว : ไทยรัฐ

1 ธันวาคม 2554







"ไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

กฤษฎีกาฟันธงกรณีแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมล

ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร.





พระเทพปริยัติวิมล
(แสวง ธมฺเมสโก ป.ธ.5 ศน.บ.)
วัดบวรนิเวศวิหาร

วันนี้ที่รอคอยของพระเทพปริยัติวิมล และอีกหลายๆ คนในมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ซึ่งก็คือคำตอบจากทางสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัย มมร. ได้ขอความเห็นไป ในเมื่อเกิดปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งอธิการบดีของพระเทพปริยัติวิมล ว่าถูกต้องตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย หรือไม่ อย่างไร ?


วันนี้ หวยออกแล้ว โดยกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า การได้มาซึ่งตำแหน่งของพระเทพปริยัติวิมลนั้น

"ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย" เพราะกฎหมายระบุว่า "สภามหาวิทยาลัยต้องตั้งกรรมการสรรหา ก่อนจะเสนอชื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงลงพระนามเพื่อแต่งตั้ง จะใช้นิ้วมือชี้เอาเองไม่ได้" งานนี้ก็ชัดเจนว่า พระเทพปริยัติวิมลพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีโดยอัตโนมัติ เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการสรรหาของสภามหาวิทยาลัย



"กรณีจึงผูกพันสภามหาวิทยาลัย ให้ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าว ก่อนที่จะให้คำแนะนำเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


ดังนั้น การที่สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ให้เสนอพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยอีกวาระหนึ่ง โดยมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีก่อน จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่าด้วยการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยฯ การดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยตามปัญหาที่หารือนี้ จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย"




เรื่องเสร็จที่ 1064/2555
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง การแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้มีหนังสือ ที่ ศธ 6001/213 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่พิจารณาดำเนินการเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งและพิจารณาถอดถอนอธิการบดี โดยอธิการบดีนั้นสมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26 โดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยและมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และสมเด็จพระสังฆราชจะทรงแต่งตั้งใหม่อีกก็ได้ ซึ่งตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่าด้วยการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 ได้กำหนดเรื่องการแต่งตั้งอธิการบดี โดยให้นายกสภามหาวิทยาลัยจัดให้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเสนอและดำเนินการ เพื่อกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง โดยต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยให้เสร็จไม่น้อยกว่าสามเดือน ก่อนที่ผู้ดำรงตำแหน่งจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง
ทั้งนี้ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยดังกล่าวมิได้กำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ คุณลักษณะที่เหมาะสม และวิธีการได้มาของกรรมการสรรหาแต่อย่างใด ในขณะที่ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่าด้วยการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ. 2541 และข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่าด้วยการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้บริหาร พ.ศ. 2541 ที่ใช้ในการคัดเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้บริหาร ได้กำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ คุณลักษณะ และวิธีการได้มาของคณะกรรมการสรรหาไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการคัดเลือกกรรมการสรรหาในแต่ละคณะอย่างชัดเจน
ข้อเท็จจริงที่ขอหารือนี้เป็นกรณีสืบเนื่องจากพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และได้สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ต่อมาในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ระเบียบวาระที่ 5 วาระ 5.8 เรื่อง การแนะนำรายนามพระสงฆ์ผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัยได้มีมติเห็นชอบ โดยแนะนำพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ซึ่งเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยเสนอพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยอีกวาระหนึ่งโดยตรง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป และให้นำเสนอสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยต่อไป โดยไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ เนื่องจากในข้อบังคับดังกล่าวมิได้กำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ คุณลักษณะที่เหมาะสม และวิธีการได้มาของกรรมการสรรหาแต่อย่างใด แต่โดยวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาก็เคยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี
ต่อมาประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้มีพระบัญชาที่ 4/2554 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 แต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) ป.ธ.5, ศน.บ. , M.A. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อีกวาระหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจึงมีความประสงค์ขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ ดังนี้
1. การแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ หรือไม่ อย่างไร
2. การแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ซึ่งสภามหาวิทยาลัยได้มีมติการประชุม ครั้งที่ 4/2554 เห็นชอบแนะนำพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26 โดยมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเสนอและดำเนินการตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมิได้มีมติให้ยกเว้นการใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ การแต่งตั้งอธิการบดีดังกล่าวเป็นการแต่งตั้งที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
3. หากการแต่งตั้งอธิการบดีตามข้อ 2. ไม่ถูกต้อง และจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีจะต้องประกอบด้วยบุคคลประเภทใด มีคุณสมบัติ คุณลักษณะ จำนวน วิธีการได้มาอย่างไร และผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาและแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา
4. หากการแต่งตั้งอธิการบดีไม่ถูกต้อง สภามหาวิทยาลัยจะมีวิธีปฏิบัติในการยกเลิกพระบัญชาแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยอย่างไร และการปฏิบัติหน้าที่ของพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก)
ในฐานะอธิการบดีตามที่ได้รับการแต่งตั้งมา มีผลประการใด ประโยชน์ตอบแทนต่างๆ ที่ได้รับในขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดี จะต้องดำเนินการอย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาข้อหารือของมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย โดยมีผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และผู้แทนมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้มีการแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมาแล้วรวมสี่ครั้ง โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเพียงสองครั้งเท่านั้น คือ ในครั้งที่สองและครั้งที่สาม ส่วนในครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สี่นั้น ไม่ปรากฏว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ซึ่งกรณีปัญหาตามที่หารือมานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งอธิการบดีในครั้งที่สี่ โดยภายหลังจากที่ได้รับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) เห็นว่า กรณีปัญหาตามข้อหารือนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงสองประเด็น คือ
ประเด็นที่หนึ่ง การที่สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยให้คำแนะนำในการแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
โดยไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่าด้วยการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ นั้น
เห็นว่า มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย ส่วนวิธีการในการแต่งตั้งอธิการบดีได้กำหนดไว้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ว่า อธิการบดีนั้น สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26 โดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย ประกอบกับมาตรา 19 (7) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอนอธิการบดี แสดงให้เห็นว่า สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งอธิการบดีโดยตรง ส่วนการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นรายละเอียดที่อยู่ในอำนาจของสภามหาวิทยาลัยที่จะพิจารณาดำเนินการได้ตามอำนาจหน้าที่ของตน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สภามหาวิทยาลัยได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (2) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ อันเป็นบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ทั่วไปของสภามหาวิทยาลัยในการออกข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่าด้วยการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 แล้ว ข้อบังคับฯ ดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันให้สภามหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าฝ่ายปกครองต้องผูกพันต่อกฎเกณฑ์ที่ตนกำหนดขึ้น (Patere legem quam ipse fecisti) ฉะนั้น หากสภามหาวิทยาลัยไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวก็สมควรดำเนินการยกเลิกข้อบังคับในเรื่องนี้เสียก่อน เมื่อยังไม่มีการยกเลิกข้อบังคับในเรื่องนี้ สภามหาวิทยาลัยจึงต้องผูกพันดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวซึ่งตนเองเป็นผู้ออกด้วย
สำหรับกรณีตามปัญหาที่หารือนี้ เมื่อข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่าด้วยการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยฯได้กำหนดว่า การแต่งตั้งอธิการบดี ให้นายกสภามหาวิทยาลัยจัดให้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเสนอและดำเนินการ เพื่อกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง กรณีจึงผูกพันสภามหาวิทยาลัยให้ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าวก่อนที่จะให้คำแนะนำเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ดังนั้น การที่สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ให้เสนอพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยอีกวาระหนึ่ง โดยมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีก่อน จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่าด้วยการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยฯ การดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยตามปัญหาที่หารือนี้จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่สอง หากการให้คำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ของพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) ในฐานะอธิการบดีตามที่ได้รับการแต่งตั้งมา จะมีผลประการใด และประโยชน์ตอบแทนต่างๆ ที่ได้รับในขณะดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะต้องดำเนินการอย่างไร นั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวมิได้ส่งผลกระทบต่อการใดที่พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) ได้กระทำไปแล้วในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยนัยมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชทางปกครอง พ.ศ. 2539

ส่วน
ประโยชน์ตอบแทนต่างๆ ที่ได้รับในขณะดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั้น ถ้าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตแล้วก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ตอบแทนในระหว่างนั้นได้ ทั้งนี้ ตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งได้เคยให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 295/2548 และเรื่องเสร็จที่ 531/2552 อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่การให้คำแนะนำตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย กรณีจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยที่จะต้องพิจารณาแก้ไขการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี คุณสมบัติ คุณลักษณะ จำนวน วิธีการได้มาของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี และผู้มีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้ง นั้น เมื่อสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจตามมาตรา 19 (7) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอธิการบดี ประกอบกับ
มาตรา 19 (13) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันก็ได้กำหนดให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการแต่งตั้ง
คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจ
และหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยได้ ดังนั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในการพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวตามที่เห็นสมควร
(นายอัชพร จารุจินดา)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กันยายน 2555


ส่งพร้อมหนังสือที่ นร 0910/1600 ลงวันที่ 10 กันยายน 2555 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการ
กฤษฎีกามีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
มาตรา 24 ให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงาน
ของมหาวิทยาลัย และอาจมีรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีหรือจะมีทั้งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดก็ได้ เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย
มาตรา 25 อธิการบดีนั้น สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26 โดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย
ฯลฯ ฯลฯ
มาตรา 26 อธิการบดีและรองอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่ง
หรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีในมหาวิทยาลัยหรือในสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือมีประสบการณ์
ด้านการบริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
มาตรา 19 สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัยและโดยเฉพาะให้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
ฯลฯ ฯลฯ
(7) พิจารณาดำเนินการเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอนอธิการบดี
ฯลฯ ฯลฯ
มาตรา 19 สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะให้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
ฯลฯ ฯลฯ
(2) วางระเบียบ ออกข้อบังคับ ข้อกำหนด และประกาศของมหาวิทยาลัยและอาจมอบหมาย
ให้ส่วนงานใดในมหาวิทยาลัยเป็นผู้วางระเบียบและออกประกาศสำหรับส่วนงานดังกล่าวก็ได้
ฯลฯ ฯลฯ
ข้อ 4 การแต่งตั้งอธิการบดี ให้นายกสภามหาวิทยาลัยจัดให้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเสนอและดำเนินการ เพื่อกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง โดยจะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย ให้เสร็จไม่น้อยกว่าสามเดือน ก่อนผู้ที่ดำรงตำแหน่ง
จะพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง
โปรดดูเชิงอรรถที่ 3, ข้างต้น
โปรดดูเชิงอรรถที่ 2, ข้างต้น
มาตรา 19 ถ้าปรากฏภายหลังว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งการพ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การเสียสิทธิตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (กรณีการเสียสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ของนายน้อม เกิดโภคา) ส่งพร้อมหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0901/0590 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และค่าตอบแทนของผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ส่งพร้อมหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0901/0875 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
โปรดดูเชิงอรรถที่ 2, ข้างต้น
โปรดดูเชิงอรรถที่ 4, ข้างต้น
มาตรา 19 สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะให้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
ฯลฯ ฯลฯ
(13) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อกระทำการใดๆ
อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย
ฯลฯ ฯลฯ






ข่าว : สำนักงานกฤษฎีกา

13 กันยายน 2555

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ