ไม่ยอมทำตามหน้าที่ ทั้งนี้เพราะอะไร ?

"เอากระพรวนไปผูกคอแมว"

หนูตัวไหนหรือจะกล้า ?


มติชนวิเคราะห์ "กรณีอัลไพน์" ล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังโยนกันไปมา ไม่ยอมทำตามหน้าที่ ทั้งนี้เพราะอะไร ?


แหมคำตอบก็แสนง่ายดาย เพราะรัฐบาลนี้เป็นของ "พณฯทักษิณ ชินวัตร" ไง ใครจะบังอาจะ "รื้อคดี" ให้ลามปามถึงพี่ชายนายกรัฐมนตรี และเจ้าของพรรคเพื่อไทยได้ อยากย้ายด่วนหรือไง ?








ยื้อเวลา หาผู้กล้า ถอนเอกสารสิทธิที่ดิน "อัลไพน์"


ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตา ผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย ที่จะต้องชี้ชะตา ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เจ้ากระทรวงมหาดไทย ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงในขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งมาถึงกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม

ตามตัวบทกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องดำเนินการตามมติของ ป.ป.ช.
ภายใน 30 วัน แต่ถึงวันนี้ อ.ก.พ. มหาดไทยยังไม่มีการประชุม เพื่อพิจารณาว่าโทษวินัยร้ายแรงของนายยงยุทธ จะเป็นโทษ "ไล่ออก" หรือ "ปลดออก"

เพราะหากเป็นการปลดออก นายยงยุทธไม่ต้องคืนเงินบำเหน็จบำนาญ แต่หากเป็นการไล่ออกนายยงยุทธจะต้องคืนเงินทั้งหมด

และจนถึงวันนี้ ถือว่าครบ 30 วัน แล้ว เพียงแต่กระทรวงมหาดไทยยังเล่นแง่ ยื้อเวลาให้ถึงที่สุด และมีแนวโน้มว่าจะมีการยื่นเรื่องของขยายเวลาในการพิจารณาออกไปอีก เพราะคนที่กำลังจะถูกตัดสินนั้นเป็นถึงเจ้ากระทรวงคลองหลอด ที่ยากจะหาผู้ใดมาชี้ชะตา

เช่นเดียวกับคณะทำงานพิจารณาเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย กรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่มีนายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และมีนายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ

ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะต้องพิจารณาแนวทางเพิกถอนโฉนดที่ดินตามที่ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลมา และนำเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ลงนามเพิกถอนคำสั่งปลัดกระทรวงมหาดไทยในอดีต

ในขณะที่คณะกรรมการเองก็มีมติโยนเรื่องกลับให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้พิจารณา พร้อมเสนอความเห็นว่า ควรที่จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความอีกครั้ง ว่ากระทรวงมหาดไทยสมควรที่จะดำเนินการอย่างไร

แต่เรื่องนี้ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทยมาแล้วถึง 7 คน และนายพระนาย สุวรรณรัฐ เป็นคนที่ 8 และมีความเป็นไปได้สูงมากว่า จะยังไม่มีการดำเนินการเพิกถอนคำสั่งและเพิกถอนโฉนดในสมัยของนายพระนายแน่นอน เพราะนายพระนายเหลืออายุราชการไม่ถึง 10 วัน นายพระนายจึงไม่อยากทำอะไรให้เจ็บตัว

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 คณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีนายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ในสมัยที่ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยกฤษฎีกามีข้อเสนอและความเห็นว่า "การเป็นที่ธรณีสงฆ์นั้นเป็นโดยสภาพของที่ดิน ที่ดินใดเป็นที่ธรณีสงฆ์ แล้วการโอนจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 หากมีการนำที่ดินนี้ไปออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 ให้แก่ผู้ใด
ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใด ก็ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงผลทางกฎหมายของการเป็นที่ธรณีสงฆ์ กรณีนี้จึงไม่อาจใช้วิธีการอื่นได้ ที่จะทำให้ที่ดินแปลงนี้พ้นจากสภาพการเป็นธรณีสงฆ์"


กฤษฎีกาเห็นว่า การออกเอกสารสิทธิที่ดินและการจดทะเบียนที่ดิน เป็นเพียงกรรมวิธีสร้างหลักฐานที่ใช้อ้างเป็นเบื้องต้นในทางกฎหมายได้เท่านั้น กรมที่ดินได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น แต่ผลแท้จริงในทางกฎหมายจะเช่นใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจไม่เป็นดังที่ปรากฏในเอกสารสิทธิหรือการจดทะเบียนที่ดินก็ได้ การออกเอกสารสิทธิหรือการจดทะเบียนที่ดินจึงไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแท้จริงของที่ดิน ถ้าที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์ ก็มิใช่เป็นที่ของเอกชนคนใด ประมวลกฎหมายที่ดินจึงมีบทบัญญัติเรื่องการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน หรือการจดทะเบียนที่ดินที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 61)

กฤษฎีกายังมีความเห็นว่า การที่กรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินที่เป็นธรณีสงฆ์ และเมื่อมีการอุทธรณ์ ผู้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวของกรมที่ดิน ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
จึงมีผลเพียงแต่ทำให้ขั้นตอนนั้นหยุดชะงักลงเท่านั้น แต่ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกฎหมายของที่ดินที่เป็นธรณีสงฆ์ และเมื่อคำสั่งวินิจฉัยของผู้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่ง ผู้ทำหน้าที่ปลัดกระทรวงคนต่อมาก็อาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และทำคำสั่งใหม่ได้เสมอเพื่อให้การเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และโดยที่คำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง เพราะการโดนที่ธรณีสงฆ์ต้องทำโดยกฎหมายเท่านั้น คำสั่งนี้จึงเป็นโมฆะ การจะยกเลิกเสียเมื่อใดจึงไม่มีอายุความอีกด้วย ความไม่มั่นคงของเจ้าของที่ดินก็จะกลับมาอีก

นอกจากนั้น คำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวก็มีผลเพียงในกรณีนั้นให้ขั้นตอนการเพิกถอนการจดทะเบียนชะงักลงเท่านั้น ถ้าต่อมาเจ้าของที่ดินตามที่จดทะเบียนไว้จะขายที่ดิน หรือนำที่ดินดังกล่าวไปจำนอง เจ้าพนักงานที่ดินก็ต้องดำเนินการจดทะเบียนใหม่ ข้อผูกมัดเจ้าหน้าที่ผู้จดทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี และความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกานี้ยังคงมีอยู่ จะทำให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่อาจจดทะเบียนให้ได้ กรณีนี้จึงยังไม่มีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ดังนั้น แม้จะผ่านมากี่ปลัดกระทรวงก็ยังไม่มีการดำเนินการตามที่กฤษฎีกามีความเห็นไว้ และทุกอย่างอาจดูเหมือนเป็นการยื้อเวลา แต่ก็ยังเป็นที่น่าจับตาอีกว่า หากนายพระนายส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความอีกครั้ง ก็จะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย หรืออีกทาง นายพระนายก็ส่งเผือกร้อนต่อให้กับนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่รับไม้ต่อ โดยที่นายพระนายไม่ต้องเปลืองตัว และเป็นหน้าที่ของปลัดคนที่ 9 ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

หากจะต้องทำให้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง จะต้องมีการออก พ.ร.บ. เปลี่ยนจากที่ธรณีสงฆ์เป็นที่ดินทั่วไป เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ที่จะต้องได้รับความเดือดร้อนกับเรื่องที่ไม่ได้ก่อ
ส่วนความผิดที่เกิดขึ้น ผู้กระทำผิดก็ต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม



ข่าว : มติชน
http://www.alittlebuddha.com/

22 กันยายน 2555

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง