เหตุเกิด ณ มมร.

เหตุเกิด ณ มมร.
01.
คณะธรรมยุติกนิกาย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2379 โดยพระภิกษุวชิรญาณ ซึ่งต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงมีพระประสงค์จะทำการ "อภิวัฒน์" กิจการพระศาสนา ซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมอง ภายหลังจากเสียกรุงมาถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อทรงออกผนวชแล้ว จึงทรงทำการผนวชหรือบวชซ้ำ เรียกว่าทำ ทัฬหีกรรม แปลว่ากระชับ ทำให้มั่นคง และทรงผนวชหลายครั้ง จนมั่นใจว่าบริสุทธิ์ผุดผ่อง จากนั้นจึงทรงเริ่มทำการเผยแพร่ลัทธิที่เรียกว่า ธรรมยุต และเมื่อเสด็จปริวัตร (สึก) ออกมาครองราชสมบัติ จึงทรงใช้พระราชอำนาจอันเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ "หนุน" คณะธรรมยุตอย่างออกหน้า ทำให้คณะธรรมยุตเจริญเติบโต กลายเป็นนิกายพระเมืองกรุง เพราะเจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการ รวมทั้งอาณาประชาราษฎร ต่างนิยมชมชอบพระในนิกายใหม่นี้ ทั้งนี้เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยเป็นประมุขในนิกายสงฆ์นี้มาก่อน
รัชกาลถัดมาคือ ร.5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังคงยึดถือ "ธรรมเนียมปฏิบัติ" ที่พระราชบิดาทรงเคยปฏิบัติมา นั่นคือการสนับสนุนคณะธรรมยุติกนิกายให้เป็นหนึ่ง ทรงออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรก เรียกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ.121 ยกคณะพระธรรมยุตซึ่งแต่เดิมนั้นไม่เป็นทางการ ให้ถือกำเนิดเกิดขึ้นในสาระบบของกฎหมายคณะสงฆ์ จากนั้นจึงทรงโปรดให้สร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นมา 2 แห่งด้วยกันคือ
1. มหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ศูนย์กลางของคณะธรรมยุติกนิกาย
2. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ศูนย์กลางของคณะมหานิกาย
มหามกุฏฯก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2436 ถ้านับถึงปีนี้ (พ.ศ.2555) ก็จะมีอายุยืนถึง 119 ปี
ทั้งนี้ มหามกุฏราชวิทยาลัยถือเอาวันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันสถาปนา และทำบุญในวันนั้นเป็นประจำทุกปี
ระยะเวลา 119 ปีที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย มีความเจริญก้าวหน้ากว่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในหลายด้าน อาทิเช่น
1. มีทุนหนา เพราะมีมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งมีทรัพย์สินมากที่สุดในบรรดามูลนิธิในประเทศไทย เป็นแหล่งทุนสนับสนุน มูลนิธิแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2476 ถึงปัจจุบันมีอายุถึง 79 ปี ปัจจุบันมีทรัพย์สินประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท
2. มีโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย (ก่อตั้งในปี พ.ศ.2439) จัดได้ว่าเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทยที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ รองลงมาจากโรงพิมพ์หมอบลัดเล่ย์ โรงพิมพ์แห่งนี้ผลิตตำราอันเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลี โดยในสมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นนักปราชญ์และนักปกครอง ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดหลักสูตรนักธรรมและบาลีสมัยใหม่ และทรงใช้โรงพิมพ์มหามกุฏแห่งนี้เป็นฐานการผลิตสื่อการเรียนการสอนของพระสงฆ์ไทยทั่วราชอาณาจักร ถึงปัจจุบันก็ยังคงยืนยงคงมั่น ลองคิดดูสิว่า การผลิตตำราแบบผูกขาดให้แก่พระภิกษุสามเณรไทยนับเป็นเวลาร่วม 100 ปี โดยไม่มีคู่แข่งเลยนั้น เจ้าของโรงพิมพ์จะล่ำซำขนาดไหน ? เทียบกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในวัดมหาธาตุ เพิ่งจะมีโรงพิมพ์เป็นของตัวเองได้ไม่กี่ปีนี่เอง แถมตำรับตำราก็ถูกมหามกุฏฯแซงหน้า "สงวนลิขสิทธิ์" ไปหมดแล้ว จึงต้องหันไปพิมพ์ตำราเกรด 2 เกรด 3 วางตลาด ซึ่งทำยังไงก็ "ขายสู้วัดบวรไม่ได้" จึงมีข่าวว่า เมื่อหลายปีก่อน มีการผลิตพระไตรปิฎกเกินเพื่อจำหน่ายหลังโรงพิมพ์ ป่านนี้ก็ยังไม่รู้ว่าคดีไปถึงไหน เพราะลูบหน้าก็ปะจมูก
3. เปิดการเรียนการสอนวิชาทันสมัยก่อน เช่น ภาควิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้เริ่มเปิดสอนที่วัดกันมาตุยาราม ก่อนจะนำเข้าไปในมหามกุฏราชวิทยาลัย
4. มีบุคคลากรคุณภาพมากมาย เช่น อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม อาจารย์เสถียร โพธินันทะ เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้พระเณรรู้จักกันดีว่าเป็นตำนานของนักการศึกษาสงฆ์
ปัจจุบัน มหามกุฏราชวิทยาลัยก้าวไกลถึงขนาด "ทำพิธีผูกเสี่ยว" กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาระหว่างสองมหาวิทยาลัย
พระเทพปริยัติวิมล
(แสวง ธมฺเมสโก)
อดีต-อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)
02.
มหามกุฏราชวิทยาลัยเคยล้มเลิกกิจการไปนานหลายปี จนกระทั่งฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ.2488 โดยมีอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในครั้งนั้น ถ้านับการฟื้นฟูจากปี 88 ถึง พ.ศ.2555 ก็เป็นเวลา 67 ปี ถือเป็นยุคใหม่ของมหามกุฏราชวิทยาลัย ส่วนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้นก็ปิดห้องเรียนไปนาน เพิ่งจะมาพักฟื้นขึ้นในปี พ.ศ.2490 ถึงปัจจุบันก็มีอายุได้ 65 ปี อ่อนกว่ามหามกุฏราชวิทยาลัยไป 2 ปี ถึงกระนั้น กิจการของทั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ยังได้ชื่อว่า "เป็นมหาวิทยาลัยเถื่อน" เพราะพระสงฆ์ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนี้ ยังไม่ได้รับการรับรองจาก "กพ." ซึ่งเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนให้แก่ผู้ถือใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปสมัครงานทั่วประเทศไทย มีการต่อสู้เรียกร้องขอให้รัฐบาล "รับรอง" สถานะของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งให้เป็นที่เป็นทาง จนกระทั่งถึงรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จึงประสบผลสำเร็จ โดยรัฐสภาในสมัยนั้นได้ผ่านพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง โดย
1.มหามกุฏราชวิทยาลัย เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ใช้อักษรย่อว่า "มมร."
2. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ใช้อักษรย่อว่า "มจร."
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนทำผีอะไร ในเมื่อชื่อมันก็ไม่ได้พ้องกับใครในโลกอยู่แล้ว
สำหรับ "สถานะ" ของมหาวิทยาลัยทั้งสอง ตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติสองฉบับนั้นก็คือ "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" ซึ่งคำว่า "รัฐ" ในที่นี้ก็คือ "รัฐบาล" นั่นเอง
คำว่า "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" นั้น ยังมีความหมายไกลไปกว่านั้น นั่นก็คือว่า บรรดาพระเจ้าหน้าที่ที่ทำการสอนในมหาวิทยาลัย (รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกระดับ) นับตั้งแต่ตำแหน่งอธิการบดีลงมา ถือว่าเป็น "ข้าราชการพลเรือน" กินเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยซึ่งได้มาโดยการจ่ายของรัฐบาล นี่ไงที่เรียกว่า ในกำกับของรัฐ
แต่ทีนี้ว่า การกินเงินเดือนหลวงเหมือนข้าราชการทั่วไปนั้น มันมิใช่แค่กินแล้วให้พรเหมือนพระสงฆ์ไปฉันอาหารตามบ้านโยม หากแต่การ "กินเงินเดือน" รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ของพระคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนั้น มีกฎหมายข้าราชการพลเรือนคอยกำกับ ทั้งให้คุณและให้โทษ ในทางที่เป็นคุณก็คือ สามารถจะเลื่อนยศในทางการศึกษา เช่นตำแหน่ง ผศ. รศ. และศาสตราจารย์ ในทางตรงกันข้าม หากว่าทำผิด ก็ย่อมจะถูกลงโทษตามวินัยของข้าราชการ และถ้าหากการกระทำนั้นๆ เข้าข่ายเป็นคดีอาญาด้วย ก็มีสิทธิ์จะถูกดำเนินคดีอาญาเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป ซึ่งพระสงฆ์นั้นถ้าถูกดำเนินคดีอาญาและศาลพิพากษาว่า "ผิด" ก็ต้องสึกสถานเดียว จะนำผ้าเหลืองเข้าคุกด้วยไม่ได้เด็ดขาด การเข้าไปสอนและดำรงตำแหน่งต่างๆ ในมหาวิทยาลัยสงฆ์สมัยนี้ จึงต้องระมัดระวังให้ดี เพราะนี่คือแดนอันตราย พลาดพลั้งก็อาจถึงตายคาผ้าเหลืองได้
03.
ทีนี้ว่า เมื่อพระราชบัญญัติมหามกุฏราชวิทยาลัยได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2540 จึงมีผลให้ต้อง "ตั้งสภามหาวิทยาลัย" ขึ้นมาใหม่ ตามบทบัญญัติมาตราที่ 17 ซึ่งมีข้อความดังนี้
มาตรา 17 ให้มีสภามหาวิทยาลัยประกอบด้วย
(1) นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจากพระเถระ
(2) กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิการบดี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
(3) กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนเจ็ดรูป ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีหรือคณบดี โดยคำแนะนำของกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง
(4) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่น้อยกว่าหกรูปหรือคน แต่ไม่เกินแปดรูปหรือคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ โดยคำแนะนำของกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง และในจำนวนนี้จะต้องเป็นพระภิกษุไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ให้สภามหาวิทยาลัยเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒ ซึ่งเป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง เป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย และให้อุปนายกสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรองอธิการบดีซึ่งเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นเลขานุการสภามหาวิทยาลัย โดยคำแนะนำของอธิการบดี
ซึ่งเมื่อได้ "กรรมการสภามหาวิทยาลัย" ครบถ้วน ตามกระบวนการที่ว่านี้แล้ว จากนั้นก็จะเป็นการสรรหาตำแหน่งสำคัญระดับนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ อธิการบดี
นับจาก พ.ศ.2540 ถึง พ.ศ.2554 มีอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย รวมแล้ว 3 ท่านด้วยกัน คือ
1. สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ.9) วัดมกุฏกษัตริยาราม
2. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) วัดมกุฏกษัตริยาราม
3. พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก ป.ธ.5 ศน.บ. M.A.) วัดบวรนิเวศวิหาร
โดยพระเทพปริยัติวิมล ได้รับการแสวงหาและเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสมัยแรก ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2550 ดำรงตำแหน่งจนครบ 4 ปี ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2554 จึงต้องมีการแสวงหาอธิการบดีคนใหม่ (ซึ่งอาจจะเป็นคนเดิมก็ได้ ถ้าไม่ขัดกับคุณสมบัติที่กำหนดไว้)



04.
เป็ดฉากหนังพระไตรปิฎกกับอภิมหาโปรเจ็ค 1200 ล้าน อลังการงานสร้างที่สุดของบรรดาหนังทั้งจอเงินและจอแก้วในประเทศไทย ขนาดว่าท่านมุ้ยสร้างหนังจักรๆ วงศ์ๆ ขอเงินรัฐบาลก็ได้ไม่เกิน 200-300 ล้าน แต่ของมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ประกาศว่าจะใช้เงินงบประมาณมหาศาลถึง 1200 ล้าน ทำเป็นทั้งหนังเข้าโรงฉายและทำเป็นดีวีดี-วีซีดีแจกพุทธศาสนิกชนทั่วโลก และแจกฟรีๆ
โครงการนี้เปิดตัวขึ้นในวันที่ 7 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2550 ณ ห้องประชุมมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมี พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สญฺญโต ป.ธ.9) รองอธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานในงาน มีการแถลงข่าวใหญ่ในรอบร้อยปีให้ทราบว่า ทางมหามกุฎราชวิทยาลัยมีโครงการจัดทำภาพยนตร์พุทธประวัติขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เป็นหนังเรื่องยาวที่สุดในโลก วัตถุประสงค์ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหาวโรกาสทรงครองราชสมบัติครบ 60 ปี และเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา โดยวงงบประมาณนั้นเบื้องต้นตั้งไว้ที่ 1200 ล้านบาท
มีข้อสังเกต (สิ่งผิดปรกติ) หลายอย่าง เกี่ยวกับโครงการนี้ อาทิเช่น
1. ทำหนังแจกฟรีๆ เป็นอภิมหาซีรี่ยาวถึง 250 ตอน และเป็นหนังที่จำลองพระไตรปิฎกออกมา ซึ่งแน่นอนว่าคงจะสร้างความฟั่นเฝือให้แก่คนดูเป็นอย่างมาก ถ้าหากสร้างเป็นพระพุทธประวัติล้วนๆ ก็ยังพอจะดูออก และคงจะไม่ยาวปานนั้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่างบประมาณคงไม่มากมายถึง 1200 ล้านอีกด้วย
2. ที่มาของทุน ทางคณะผู้จัดทำประกาศว่า จะขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนที่ว่านี่คงจะขอรัฐบาลไม่น้อยกว่า 600-700 ล้าน อีกส่วนหนึ่งนั้นจะระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาภายนอก หมายถึงจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป
3. งบประมาณตั้ง 1200 ล้านบาทนั้น ถ้าทำหนังเพื่อค้ากำไร โดยวัตถุประสงค์เพื่อจะนำกำไรไปทำประโยชน์ทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ เช่นสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน หรือสร้างมหาวิทยาลัย เป็นต้น ก็น่าสนับสนุน แม้ว่าการลงทุนนั้นจะมหาศาลระดับหนังฮอลลีวูดก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการประเมินความเสี่ยงของการลงทุนด้วย ว่าเหมาะสม-คุ้มค่า-น่าลงทุนหรือไม่ แต่ในวัตถุประสงค์ของหนังเรื่องนี้กลับไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมให้จับต้องได้เลย มีแต่เพียงความหวังอันเลื่อนลอยว่า "จะสร้างศรัทธาให้แก่ประชาชนที่ได้ชมหนัง" เท่านั้น มันเสี่ยงยิ่งกว่าเล่นหุ้นลมซะอีก เพราะโบราณกล่าวไว้ว่า "กำขี้ดีกว่ากำตด" เงิน 1200 ล้าน จะสร้างศรัทธาผ่านหนัง 1 เรื่อง ฝันเฟื่องยิ่งกว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเสียอีก ลองนึกภาพพูสิว่า ถ้าเงินจำนวนตั้ง 1200 ล้านบาท แปรสภาพกลายเป็น "ซีดี-ดีวีดี" เพียง 250 แผ่น กระจุยกระจายไปตามบ้านเรือน โดยถ้าจะเสพรสของเงิน 1200 ล้านบาทนั้น ท่านจะต้องนอนดูหนังถึง 250 ตอน โดยไม่ให้ขาด ไม่งั้นไม่เข้าใจ ถ้านอนดูหนังเรื่องนี้วันละ 1 ตอน ก็จะกินเวลานานถึง 250 วัน ไม่ขาดไม่เกิน คิดเป็นเดือนก็แค่ 8 เดือนกว่าเอง ซึ่งก็คงจะสามารถสร้างศรัทธาให้แก่คนดูได้จริงๆ ถ้านะ ถ้ามีคนนอนดูหนังประติดประต่อกันนานปานนั้น เอาแค่ความอดทนก็เยี่ยมเป็นยอดแล้ว ถ้าดูหนังเข้าใจอีก คิดว่าแฟนพันธุ์แท้พุทธประวัติคงพ่ายแพ้ยับเยิน ว่าแต่คนที่จะทำได้เช่นนั้นมันจะมีซักกี่คนในประเทศไทย ไม่ต้องคิดเอาพี่ป้าน้าอาชาวบ้านร้านตลาดนอกวัดหรอก แม้แต่พระเณรที่นุ่งเหลืองห่มเหลืองอยู่ในวัดนั้น จะมีซักกี่คนที่นอนชม หรือแม้แต่ดาราที่แสดงในหนังก็ตามเถอะ ดูหรือเปล่า รู้เรื่องหรือเปล่า หรือว่าเลือกดูเฉพาะตอนที่ตนเองเข้าฉากแสดงด้วยเท่านั้น ฯลฯ สารพันคำถามจะตามมา
4. โครงการนี้นับเป็นอภิมหาโปรเจ็ค ยิ่งใหญ่และแพงที่สุดในประวัติศาสตร์การทำหนังของประเทศไทย ขนาดหนังสุริโยไทซึ่งว่ากันว่าใช้ทุนมากที่สุดถึง "400 ล้านบาท" ก็ยังเพียงแค่หนึ่งในสามของหนังพระไตรปิฎกเรื่อง นี้ แต่สุริโยไทนั้นไม่ขาดทุน แถมยังทำกำไรมหาศาล ส่วนหนังพระไตรปิฎกเรื่องนี้นอกจากจะไม่พูดเรื่องกำไรแล้ว ยังประกาศจะเอาเงิน 1200 ล้านไปแจกชาวบ้านฟรีๆ ยิ่งกว่าโครงการเอื้ออาทรของทักษิณเสียอีก พูดตามสำนวนไทยก็ว่า "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" เพราะยังมองไม่ออกเลยว่า ประชาชนที่ได้รับชมหนังเรื่องนี้จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานซักกี่คน จึงจะคุ้มค่าสำหรับการสร้างและแจกฟรี
5. บุคคลากร ดังที่กล่าวว่า หนังพระไตรปิฎกของ มมร. เรื่องนี้ ใช้ทุนทรัพย์มหาศาล เป็นงานใหญ่ ต้องใช้ดารานักแสดงนับพันนับหมื่นคน เข้าฉากหมุนเวียนเปลี่ยนกันยาวนานถึง 250 ตอน ซึ่งถ้ามองกันด้วยสายตาธรรมดาก็จะเห็นว่า ต้องเป็นโครงการที่มีการเตรียมพร้อมในระดับสุดยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือบุคคลากร บุคคลากรนั้นแยกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
5.1 คณะผู้ดำเนินการฝ่ายสงฆ์ในส่วนของมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย งานใหญ่ระดับนี้ต้องมีการทูลอัญเชิญ กราบเรียนเชิญ เรียนเชิญ และเชิญ พระมหาเถระ พระเถรานุเถระ ทั้งฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋นให้เข้ามาร่วมงานด้วย นับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย กรรมการมหาเถรสมาคม โดยเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัย แน่นอนว่า อธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยนั้น สมควรต้องดำรงตำแหน่งประธานจัดสร้างด้วยตนเอง แต่กลับปรากฏว่าไม่มีชื่อของพระมหาเถระนับตั้งแต่สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระราชาคณะอื่นใดในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เข้ามาเกี่ยวข้อง หน้ำซ้ำ พระเทพปริยัติวิมล อธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง โดยในวันแถลงข่าวนั้น กลับปรากฏร่างของ "พระเทพวิสุทธิกวี-เกษม สญฺญโต" รองอธิการบดี มมร. จากวัดราชาธิวาส มานั่งเป็นประธานแทน นี่ถือว่าผิดฝาผิดตัวแล้ว
นายพยุงเวทย์ พยกุล ผู้กำกับหนังพระไตรปิฎก
5.2 ในส่วนของผู้ดำเนินการสร้างหนังนั้น โฟกัสไปที่ "ผู้กำกับ" ผู้กำกับหนังใหญ่ระดับประเทศหรือระดับโลกในประเทศไทยเรานี้ ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับก็เห็นจะมีเพียงหนึ่งเดียวคือ "ท่านมุ้ย" หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิม ยุคล ถ้าได้ท่านมุ้ยมากำกับ ก็คิดว่าคงจะทำให้คนที่ฟังการแถลงข่าวยอมรับการสร้างได้บ้าง แต่กลับปรากฏชื่อของ "นายสนั่นพงษ์ สุขดี" เข้ามาเป็นผู้อำนวยการสร้าง และได้ "นายพยุงเวทย์ พยกุล" มาเป็นผู้กำกับหนังใหญ่เรื่องนี้ ซึ่งคนไทยที่ได้อ่านข่าวก็คงอึ้งกับการหาผู้กำกับภาพยนตร์ของมหามกุฏฯในมหกรรมครั้งนี้ว่าจะขายออกได้อย่างไร

นายสงกรานต์ ทัพมณี ดาราเอกในหนังพระไตรปิฎก
5.3 ดารานำ ได้แก่พระเอกของเรื่อง ซึ่งจะเข้ามารับบท "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" พระบรมศาสดาของชาวพุทธทั่วโลก ทางคณะผู้จัดสร้างได้เปิดตัว "นายสงกรานต์ ทัพมณี" นักศึกษาชั้นปีที่ 1 แห่งมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ (Auckland University) ประเทศนิวซีแลนด์ แรกนั้นเมื่อดูรูปร่างหน้าตาก็ถือว่าโอเค แต่ไม่กี่วันหลังจากเปิดตัวพระเอกไปแล้ว ก็ปรากฏข่าวออกมาว่า นายสงกรานต์เคยเป็นนายแบบนู๊ด นุ่งน้อยห่มน้อย ถ่ายรูปลงหนังสือมาก่อน ก็เลยเกิดกระแสแอนตี้นายแบบดังไม่ให้เป็นพระพุทธเจ้า
05.
"งบประมาณมหาศาล-แจกฟรี" "คณะผู้กำกับโนเนม" และ "ดาราเอกที่จะรับบทพระพุทธเจ้าเคยเป็นนายแบบนู๊ด" สามเส้าเหล่านี้ กลายเป็นกระแสโหมกระหน่ำโครงการหนังพระไตรปิฎกของมหามกุฏราชวิทยาลัยให้โงนเงนตั้งแต่เริ่มเปิดตัว แบบว่ายังมิทันเปิดกล้อง ก็ต้องเตรียมตอกฝาโลงได้เลย เพราะมีผู้แอนตี้พระเอกของเรื่อง และเตรียมใจไม่ดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มสร้างแล้ว ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นหนังเรื่องแรกของโลกที่มีคนแอนตี้ตั้งแต่เริ่มสร้าง
13 สิงหาคม 2550 "ห้าวันหลังจากเปิดตัวหนังพระไตรปิฎก" นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า "เรื่องยังไม่ได้ผ่าน ครม." และเท้าความหลังให้ฟังว่า หนังเรื่องนี้เคยถูกเสนอเข้ามาในรัฐบาลชุดก่อน ในสมัยที่นายอนุรักษ์ จุรีมาศ เป็น รมว.วัฒนธรรม แต่ก็ไม่ผ่าน ครม. โดยนายธีรภัทร์กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "รู้สึกว่ายังมีหลายประเด็นที่จะต้องเคลียร์ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่กับการจัดสร้าง ทั้งบุคคลหรือกลุ่มที่ทำจะเป็นอย่างไร เพราะตอนที่เรียกมาคุยครั้งหนึ่ง ได้เสนอให้ปรับปรุงมาใหม่ ตั้งแต่ตอนนั้นก็ยังไม่มีการส่งเรื่องกลับมา"
17 สิงหาคม 2550 "สี่วัน หลังจากนายธีรภัทรออกมาให้สัมภาษณ์หนังพระไตรปิฎก" คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (เคยได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "การที่มีบางคนในคณะผู้จัดสร้างหนังพระไตรปิฎกกล่าวว่ารัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนหนังเรื่องนี้แล้วนั้น ไม่จริง" ทั้งนี้คุณหญิงทิพาวดีได้เล่ารายละเอียดว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2550 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีบันทึกมาถึงตน ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งว่ามหาเถรสมาคมได้รับเป็นที่ปรึกษาในการจัดสร้างหนังพระไตรปิฎก และขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นเงินมหาศาลถึง 726 ล้านบาท แต่ขณะที่ยังพิจารณาในรายละเอียดด้านต่างๆ อยู่นั้น ก็มีการปรับคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เข้ามากำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแทน
เมื่อสองรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งเป็นผู้แทนของรัฐบาล ได้ออกมาประสานเสียงเป็นวงคอรัส แต่คนละคีย์กับคณะผู้จัดสร้างหนังพระไตรปิฎกเช่นนี้ ก็ยิ่งเห็นแววแห่งความล้มเหลวแบบล่มปากอ่าวรออยู่เบื้องหน้า
ครั้น ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ก็มีข่าวใหญ่ เมื่อดารานักแสดงชายหญิงได้แก่ น.ส.ภควดี กองผาพา ผู้จัดการและประชาสัมพันธ์นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องพระไตรปิฎก พร้อมด้วยนายทรรศชล หรือโอวัน พงษ์ภควัต นายพิศนุ หรือหนุ่ม ศรีไสว และนายชาญวิทย์ หรือทอม วันทมิตร กลุ่มนักแสดงนำจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ได้นัดหมายกันเข้าร้องทุกข์ต่อ นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้สอบสวนถึงความโปร่งใสของการสร้างหนังเรื่องนี้ เพราะมีการทำเรี่ยไรผ่านบัญชีธนาคาร "เกรงจะเป็นการฉ้อโกงประชาชน"
นั่นแปลว่า หนังพระไตรปิฎกของ มมร. เริ่มก่อเป็นปัญหาถึงเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนแล้ว
ต่อมา วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 ก็มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า ทางสำนักราชเลขาธิการ สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีหนังสือมาถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอให้ชี้แจงรายละเอียดของโครงการสร้างหนังพระไตรปิฎก ทั้งนี้มีผู้ร้องเรียนว่า โครงการดังกล่าวจัดพิมพ์หนังสือเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยปกหนังสือนำพระบรมฉายาลักษณ์และตราสัญลักษณ์ครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มาจัดพิมพ์ โดยมิได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นอกจากนั้น ยังพิมพ์แผ่นพับโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมเป็นเจ้าภาพบริจาคเงินสร้างภาพยนตร์ โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง
นายอำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังคณะผู้สร้างหนังพระไตรปิฎก ว่าขอให้ยุติการสร้าง เพราะมีกระบวนการเรี่ยไรเงินไม่โปร่งใส" ข่าวยังรายงานด้วยว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีระงับการสนับสนุนโครงการสร้างหนังพระไตรปิฎกด้วย โดยทั้งนี้รัฐบาลได้หาทางออกว่า หากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยังเห็นดีด้วยกับโครงการนี้ ก็ขอให้ระดมทุนจัดทำเอง "และต้องรับผิดชอบเอง"
อา..พูดแบบนี้มันฟังยากนา เพราะว่า ถ้าอาตมาหาเงินได้เอง แล้วจะแบมือขอรัฐบาลให้เสียน้ำลายทำไม จริงไหมโยม?


06.
โครงการสร้างหนังพระไตรปิฎกในนามรัฐบาลและคณะสงฆ์ไทย (มหาเถรสมาคม) จึงล่มลง ณ วันนั้น แต่ยัง โครงการจบไปแล้ว แต่ผลของโครงการยังจบไม่ได้ เพราะยังมีอีกหลายอย่างยังไม่ได้เคลียร์
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2552 ก็มีข่าวใหญ่ว่า ทางมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ได้ขอให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำการสวบสวนโครงการจัดสร้างพระพุทธโสธร รุ่นเจริญสุข ซึ่งดำเนินการจัดสร้างโดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพครู (สกสค.) โดยโครงการระบุว่า จะนำเงินรายได้ถวายมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. สร้างมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธร วัดเนรัญชราราม จังหวัดเพชรบุรี และ 2.สมทบทุนโครงการสร้างหนังพระไตรปิฎก ทั้งนี้ทางผู้บริหารมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้แจ้งให้ทางกระทรวงศึกษาธิการทราบว่า ทางมหามกุฏราชวิทยาลัยไม่ได้อนุญาตให้จัดสร้างพระเครื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ นายสุริวัตร จันทร์โสภา รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มมร. ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ทางพระเทพปริยัติวิมล อธิการบดี มมร. ได้สั่งการให้ดำเนินการแจ้งไปยัง สกสค. เพื่อขอคำตอบ แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจง และหากยังไม่หยุดดำเนินการก็จะดำเนินทางด้านกฎหมายต่อไป" ก็หมายถึงว่า ฟ้องแน่

นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์
07.
เปิดตัว "สงกรานต์ อัจฉริยทรัพย์" จอมแฉแห่ง มมร.
หนังพระไตรปิฎกที่ว่ากันว่ายาวที่สุดในโลก เพราะกำหนดความยาวของการฉายในโรงไว้ที่ 250 ตอน ถึงตอนนี้ชักจะสั้นกว่าหนังนอกโรงเสียแล้ว เพราะดูกันข้ามเดือนข้ามปีก็ยังไม่จบ แถมยังมีดารามิได้รับเชิญเข้าฉากเข้าจอมาเรื่อยๆ โดยไม่ต้องจ่ายค่าตัว
วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2552 นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ที่ปรึกษากฎหมายอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ทาง มมร. โดยพระเทพปริยัติวิมล อธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้มอบหมายให้ตนไปดำเนินการทางกฎหมายต่อคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหนังพระไตรปิฎก ในข้อหา "แอบอ้างชื่อของมหาวิทยาลัยไปเรี่ยไรเงินทอง" ซึ่งมีการฟ้องไปที่ดีเอสไอแล้ว
และจากนั้น นายสงกรานต์ ก็รับบท "โทรโข่ง" ประจำตัวพระเทพปริยัติวิมล ออกมาพูดทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ซึ่งการออกมาพูดในแต่ละครั้งนั้นก็เรียกเสียงฮือฮาให้แก่สังคม มีการขย่มผู้ที่ถูกกล่าวหา แทบไม่ต่างไปจากนักมวยคุยข่มกันก่อนขึ้นเวทีจริง ส่งผลให้อูณหภูมิซึ่งเคยคุกรุ่นอยู่แต่ภายในมหาวิทยาลัยระเบิดออกมาถึงผิว กระจายไปทั่วโลก แต่พระเทพปริยัติวิมลในฐานะ "ผู้บริหารสูงสุด" ของ มมร. กลับไม่รู้สึกรู้สา เหมือนกับว่าไร้เดียงสากับภาพพจน์ของ มมร. ที่ตกต่ำเพราะการกระทำของตนเอง ยังคงเดินหน้าหาเรื่องพระเทพวิสุทธิกวีต่อไป และต่อไป จนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง
พระเทพวิสุทธิกวี
(เกษม สญฺญโต ป.ธ.9 Ph.D.)
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)

วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร


08.
เชือดพระเทพวิสุทธิกวี !

เป็นข่าวใหญ่ที่ "ฮือฮา" มาก ในรอบหลายสิบปีของมหามกุฏราชวิทยาลัย ดยในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2552 นายสงกรานต์ อ้จฉริยทรัพย์ เจ้าเก่า ก็เข้ากล้องนักข่าวให้สัมภาษณ์ว่า "บัดนี้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงบุคคลภายในของ มมร. มีมติเอกฉันท์ให้นำผลสอบสวนเสนอ พระเทพปริยัติวิมลพิจารณาเห็นชอบปลดออก หรือไล่ออก ผู้บริหารระดับสูงของ มมร. 2 ราย และโยกย้ายเจ้าหน้าที่อีก 20 ราย" ซึ่งหนึ่งในจำนวน 22 รายนั้น มีรายชื่อของ "พระเทพวิสุทธิกวี" ประธานโครงการสร้างหนังพระไตรปิฎกรวมอยู่ด้วย โดยรายการนี้ พระเทพวิสุทธิกวีนอกจากจะต้องถูกปลดหรือไล่ออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี มมร. แล้ว ก็ยังจะต้องถูกดำเนินคดีทางอาญาให้ผ้าเหลืองหลุดจากร่างอีกด้วย โดยคณะกรรมการสอบสวนของมหาวิทยาลัย (มมร.) ซึ่งพระเทพปริยัติวิมลแต่งตั้งขึ้นมานั้น ได้สรุปเนื้อหาสำคัญเป็น 3 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. สร้างพยานหลักฐานเอกสารเท็จที่ส่งไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
2. กระทำการแทนอธิการบดีโดยไม่ได้รับมอบหมาย และ
3. ใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต
"หากผู้กระทำผิดเป็นพระภิกษุสงฆ์ ก็ถึงขั้นปาราชิกต้องสึกจากการเป็นพระสงฆ์ เพราะต้องรับโทษทางคดีอาญา ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ คณะกรรมการจะนำข้อสรุปเสนอให้อธิการบดีลงนามเห็นชอบ เพื่อจะได้สามารถดำเนินคดีทั้งทางวินัย และตามกฎหมายต่อไป" นายสงกรานต์ระบุ แม้จะไม่ได้ออกชื่อว่าหมายถึงใคร แต่พวกฮาร์ดคอร์ทางการศาสนาแค่ได้ยินคำว่า "บิ๊กๆ" ก็ซี๊ดปากกันเป็นแถวๆ แล้ว อยากเห็นจังว่าใครเอ่ยจะผ้าเหลืองหลุดจากร่างติดคุกติดตารางเหมือนพระพิมลธรรมในอดีต

09.
พระเทพวิสุทธิกวี ประกาศ "ฟ้องกลับ" อธิการบดี มมร.
ก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง หลังจากที่ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามออกมาขย่ม-ถล่มรายวัน ทั้งขู่ดำเนินคดี ทั้งขู่ไล่ออก ทั้งขู่จับสึก-ยัดห้องขัง สารพัดแห่งการยั่วยวนกวนใจ สุดท้ายในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2552 พระเอกตัวจริงของเรื่อง คือ พระเทพวิสุทธิกวี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน มมร. ในฐานะประธานกรรมการโครงการจัดสร้างพระไตรปิฎกฉบับภาพยนตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า
"กำลังเตรียมตั้งทนายเพื่อฟ้องร้องต่อผู้ที่ออกมาให้สัมภาษณ์นักข่าวสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ตนเอง ทั้งนี้จะเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 200 ล้านบาท"
งานนี้ไม่ต้องบอกว่าจะฟ้องใคร แต่นักมวยรุ่นใหญ่ในระดับเดียวกับพระเทพวิสุทธิกวีใน มมร. นั้นก็เห็นจะมีเพียง "อธิการบดี" เพียงหนึ่งเดียว ส่วนชื่อเสียงเรียงนามนั้นให้ใบ้คำเอาเอง อา..มวยระดับ "ป.ธ.9+Ph.D." ออกหมัดตามคำท้าแล้ว อยากจะเห็นน้ำหนักหมัดของอีกฝ่ายจัง ว่าจะน็อคคู่ต่อสู้ให้คว่ำกลางเวทีสมคำคุยได้หรือไม่
เรื่องปลดหรือไม่ปลดพระเทพวิสุทธิกวีออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี มมร. ฝ่ายวิชาการและวางแผนนั้น สำเร็จทันการบริหารมหามกุฏราชวิทยาลัยจนครบเทอมของพระเทพปริยัติวิมลหรือไม่นั้นก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ หลังจากที่พระเทพปริยัติวิมลได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. เป็นวาระที่ 2 ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2554 ชื่อของพระเทพวิสุทธิกวี ก็หลุดหายไปจากผังของผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ มมร.
แต่ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2553 พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สญฺญโต ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพมหานคร ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 16-17-18 รูปที่สอง ปกครองวัดใน 13 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผงาดขึ้นชั้นเป็นพระสังฆาธิการในระดับสูง จ่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมในอีกไม่ช้า หมายถึงว่า มีอำนาจมากกว่าตำแหน่งใน มมร. ซึ่งเป็นเพียงตำแหน่งทางวิชาการเสียอีก อา..พระเทพวิสุทธิกวีรเสริมน้ำหนักให้แก่หมัดของตนเองด้วยใยเหล็กแล้ว ฝ่ายตรงกันข้ามจะทำอย่างไร ในเมื่อพระเทพวิสุทธิกวียังมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน มิใช่ตัวเปล่าเล่าเปลือย ถ้าเป็นนักมวยก็มีพี่เลี้ยงและน้ำเลี้ยงไม่อั้น ดังนั้น เป็นชายอย่าดูหมิ่นชาย
ขอคั่นเวลาไว้ตรงนี้ก่อน


10.
ย้ายฐาน-สร้างศูนย์การศึกษา มมร. แห่งใหม่ไปที่ตำบลศาลายา นครปฐม
โครงการการย้ายฐานและสร้างมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม นั้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2545 สมัยที่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย และเมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ถึงแก่มรณภาพลงในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2550 และในวันที่ 25 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระเทพปริยัติวิมล ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสมัยแรก จึงเริ่มงานใหญ่ "สานต่องานก่อสร้างมหามกุฏราชวิทยาลัย-ศาลายา" ให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้โครงการนี้มีหลักการและเหตุผลว่า


หลักการและเหตุผล
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน พระบรมราชานุญาต ให้ตั้ง วิทยาลัยขึ้นในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานนามว่า "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ใน พ.ศ.2436 และ เสด็จพระราชดำเนินเปิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2439
ต่อมา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์) ทรงประกาศตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น ใช้นามว่า "สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย" เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2488 และเริ่มเปิดการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2489 ใช้อาคารหอสมุด มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 จนถึงปัจจุบัน รวม ใช้งาน 43 ปี 6 เดือน 15 วัน (4 กันยายน พ.ศ. 2545)
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ เลขที่ 248 วัดบวรนิเวศวิหาร ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 ได้รับอนุญาตจากวัดบวรนิเวศวิหารให้ใช้เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัย จัดการ ศึกษาระดับอุดมศึกษาให้แก่พระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ทั่วไป
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมีภารกิจด้านให้การศึกษาและจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น สถานที่ทำการและสถานที่จัดการศึกษาในปัจจุบันจึงคับแคบ ไม่เพียงพอแก่การใช้งาน ต้องขยายห้องเรียนชั้นปีที่ 1,2 ไปขอใช้อาคารเรียนที่วัดราชาธิวาส และบัณฑิตวิทยาลัยไปขอใช้อาคาร สว.ธรรมนิเวศ (ชั้นที่ 5) ของวัดบวรนิเวศวิหาร
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) อธิการบดีรูปปัจจุบัน พร้อมผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงจัดทำ "โครงการย้ายมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากวัดมกุฏกษัตริยารามให้การสนับสนุนใช้ที่ดินพื้นที่ 180 ไร่ ณ หมู่ที่ 1 บ้านวัดสุวรรณ ถนนศาลายา-นครชัยศรี ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
คณะกรรมการจัดทำโครงการในส่วนของการจัดทำแผนและผังแม่บท จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำการศึกษารูปแบบของการจัดผังสำหรับมหาวิทยาลัยและออกแบบผังแม่บทที่สอดคล้องกับปรัชญา ลักษณะความต้องการของผู้ใช้ สนับสนุนการเรียนการสอน และมีสภาพแวดล้อมที่ดี สำหรับใช้เป็นแนวทางในการทำแผนและออกแบบรายละเอียดส่วนต่างๆ ต่อไป
กล่าวถึงบั๊ดเก็จ หรืองบประมาณในการก่อสร้างนั้นท่านว่าประเมินไว้ประมาณ 1,700 ล้านบาท (อ่านว่า หนึ่งพันเจ็ดร้อยล้านบาท) ซึ่งอาจจะบานปลายไปถึง 2,000 ล้านบาทก็เป็นได้ เพราะกว่าจะเสร็จ ข้าวของก็ต้องขึ้นราคาไปตามเวลา
การเข้ามา "รับไม้" ดำเนินการสร้างศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา ขึ้นมา ของพระเทพปริยัติวิมลนั้น แม้ว่าพระเทพปริยัติวิมลจะมิใช่ "ต้นคิด" แต่คนที่เป็นต้นคิด คือสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ) นั้นมรณภาพไปแล้ว แต่พระเทพปริยัติวิมลเข้ามารับงานใหญ่ในระดับ "พันล้าน" เช่นนี้ แน่นอนว่ามันเป็นงบประมาณมหาศาล เพราะตำแหน่งอธิการบดีนั้นมีอำนาจตามบายลอว์ของมหามกุฏราชวิทยาลัยว่า
1. บริหารงานของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนด รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
2. ควบคุมดูแลบุคคลากร การเงิน พัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย
3. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการนักศึกษา
4. บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้าง รวมทั้งดำเนินการบริหารงานบุคคลากรตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
5. เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในกิจการทั่วไป
6. จัดทำและเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ต่อสภามหาวิทยาลัยและมหาเถรสมาคม
7.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย หรือตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
อ่านแล้วก็จะเห็นว่า "ครอบจักรวาล" ตั้งแต่จัดซื้อ จัดจ้าง บริหารงบประมาณ แต่งตั้ง-ถอดถอน อาจารย์-เจ้าหน้าที่ ทุกระดับ และสนับสนุนกิจการนิสิตนักศึกษา ทั้งหมดนี้จะทำให้อธิการบดีที่เล่นบท "เป็น" กลายเป็นผู้มีอำนาจ มีบารมี หรือมีอิทธิพล ทั้งในแวดวงนักศึกษาและคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ถ้าประคับประคองตัวเองให้ดี ตำแหน่งนี้แหละจะหนุนนำให้ไปถึงสมณศักดิ์ที่ "สมเด็จพระราชาคณะ" และอาจจะถึงตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช" ในอนาคตกาล อา..หวานยิ่งกว่าน้ำตาลปนน้ำอ้อย แล้วแบบนี้จะให้มดตะนอยอดใจไหวเหรอ
แต่..แต่นั้นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า ถ้าสร้างศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ขึ้นที่วังน้อย เอ๊ย ที่ศาลายา จนสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ถามว่า จะเป็นผลงานของใคร ? ถ้ามิใช่อธิการบดีคนปัจจุบัน พระเทพปริยัติวิมล
แปลว่าอะไร ? อ๋อก็แปลว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา จะกลายเป็น "ฐานอำนาจ" ของพระเทพปริยัติวิมลน่ะซี เพราะในเมื่อพระเทพปริยัติวิมลเป็นทั้งผู้สร้างศาลายา และเป็นอธิการบดี จึงมีอำนาจทั้งในดิน บนบก และอากาศ นั่งเอ้เต้อยู่ที่ศาลายาก็จะใหญ่ไม่ด้อยไปกว่า "สังฆราช" เฮ้อ ตัวอย่างอยู่ไม่ไกล ดู มจร. วังน้อยสิ ปัจจุบันรับจ็อบทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ จนพระธรรมโกศาจารย์ติดลมโกอินเตอร์ไปไกลแล้ว ดังนั้นจึงต้อง "เร่งงานให้เสร็จ" เพราะงานยิ่งเสร็จไว ใจที่ร้อนก็จะเย็นลงเท่านั้น
แต่ก็ดังที่กล่าวแล้วนั่นแหละว่า "ถ้าสร้างสำเร็จแล้ว จะยกให้เป็นผลงานของใคร ?"
มีพระพุทธพจน์บทว่า "เนกาสี ลภเต สุขํ" แปลว่า กินคนเดียวไม่อร่อย ต้องแบ่งปันกันกิน และยังมีนิทานเรื่องไก่ขาเดียว ของเด็กวัดที่อุตริ "ฉีกขาไก่กินก่อนประเคนเจ้าอาวาส" เลยถูกลงโทษไล่ออกจากวัด ก็ไม่รู้ว่าจะนำมานิยามพฤติกรรมของพระเทพวิสุทธิกวีและพระเทพปริยัติวิมลในวันนี้ได้หรือไม่ ?
ประชาชนคนไทยเรานี้ ถึงแม้จะมั่งมีก็ต้อง "กิน-ใช้" อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ต้องระมัดระวังอย่าให้เกินหน้าผู้ใหญ่ ตามระบบ "เจ้า-ไพร่" ยิ่งคณะธรรมยุตนั้นเป็นของเจ้าและอยู่กับเจ้ามานาน การจะลืมวัฒนธรรมไทยข้อนี้ไปเสีย จึงเป็นความเสื่อมเสียอย่างยิ่ง บัดนี้ พระเทพปริยัติวิมลมีศัตรูอยู่ถึง 2 ด้านด้วยกัน คือ
1. พระเทพวิสุทธิกวี ซึ่งถูกพระเทพปริยัติวิมล "ปลด" พ้นจากตำแหน่งรองอธิการบดีไป ไม่ต่ออายุให้ แถมยังให้คนไปฟ้องร้องกล่าวโทษสารพัด แต่พระเทพวิสุทธิกวีนั้นมิใช่ขี้ไก่ วัดหน่วยก้านกันแล้วอาจจะสูงยาวกว่าพระเทพปริยัติวิมลด้วยซ้ำไป หลังจากถูกปลดจากตำแหน่งรองอธิการบดีแล้ว พระเทพวิสุทธิกวีได้แบ๊คดี ชื่อว่า พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ ป.ธ.9) วัดโสมนัสวิหาร เป็นเจ้าคณะภาค 16-17-18 (ธรรมยุต) ดึงแขนให้ไปเป็นรองเจ้าคณะภาค 16-17-18 ต่อขาพระเทพวิสุทธิกวีให้สูงกว่าพระเทพปริยัติวิมล ดังนั้นจงอย่าประมาทอาจถึงตายได้
2. พระผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลใน มมร. เพราะถ้าพระเทพปริยัติวิมล ทำงานดีล้นจนล้ำหน้า ก็หมายถึงว่า "ลดอิทธิพลของผู้หลักผู้ใหญ่ให้หดหาย" ซึ่งผู้ใหญ่ที่ว่านี้จะอยู่ที่ไหนบ้างผู้เขียนก็ไม่ทราบ ที่เขียนๆ ไปนั้นก็สุ่มเดาเอาทั้งนั้นแหละ ไม่มีมูลความจริงเลย ใครอย่าเชื่อพระมหานรินทร์นะ ขอร้อง !
11.
เกาเหลาระหว่าง "พระเทพปริยัติวิมล" กับ "พระเทพวิสุทธิกวี"
พระเทพวิสุทธิกวี นั้นมีดีกรีเป็นถึง ป.ธ.9 แถมยังจบ Ph.D. อีกดีกรีหนึ่งด้วย บทบาทสำคัญก็คือ การเรียกร้องให้ตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาขึ้นมาในปี พ.ศ.2540 จนกระทั่งรัฐบาลยินยอมให้ตั้ง "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ขึ้นมา พระเทพวิสุทธิกวีมีฐานเสียงสำคัญก็คือ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่วัดราชาธิวาส ซึ่งศูนย์แห่งนี้ทำหน้าที่ทั้งการกรองข่าว การเสนอข่าว และการต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่พึงมีพึงได้ หรือที่จะสูญเสียไปจากที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาและประเทศไทย เป็นการต่อสู้แบบที่เรียกว่า ครบเครื่อง หรือทุกรูปแบบ พระเทพวิสุทธิกวีจึงเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ เพราะเป็นถึงพระราชาคณะชั้นเทพ เป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย มมร. และตั้งตัวเองเป็นพระเกจิหากินอยู่นอกมหาวิทยาลัย นับว่าไม่ธรรมดา
เมื่อพระเทพวิสุทธิกวีก็เป็นพระราชาคณะชั้น "เทพ" ขณะเดียวกัน พระเทพปริยัติวิมลนั้นก็เป็นพระราชาคณะชั้น "เทพ" เช่นเดียวกัน สงครามระหว่างเทวดาจึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้
ถ้าจะถามว่าอะไรหรือคือสาเหตุแห่งมหาภารตยุทธหรือศึกสายเลือดธรรมยุตในครั้งนี้ ตอบแบบครอบจักรวาลก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ "ทิฐิพระ มานะกษัตริย" หรือถ้าจะตอบแบบ ดร.สาทิส อินทรกำแหง ก็คงจะเป็นหนังสือเล่มที่ชื่อว่า "กูแน่" เพราะพระเทพปริยัติวิมลนั้น ถึงจะเรียนจบแค่ ป.ธ.5 และ M.A. แบบว่าต่ำกว่าพระเทพวิสุทธิกวีไปหลายคืบ ถึงกระนั้นความที่เป็นพระในสังกัดวัดบวรนิเวศวิหาร แถมยังได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีสูงกว่าพระเทพวิสุทธิกวีอีกขึ้นหนึ่ง จึงคิดว่า "กูแน่" เลยไม่ยอมก้มหัวให้แก่พระเทพวิสุทธิกวี ขณะเดียวกันพระเทพวิสุทธิกวีนั้นก็ถือว่า "กูแน่" เพราะเรียนจบ ป.ธ.9 แถมด้วยปริญญาด๊อกเตอร์อีกใบ แม้จะอยู่วัดไม่ใหญ่ แต่ก็สร้างฐานเสียงไว้เยอะ ทั้งศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผลงานเอกอุก็คือ "Kick Out" นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ลูกชายสุดเลิฟของท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานองคมนตรี จนกระเด็นออกจากตำแหน่ง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แบบไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ดังนั้น เรื่องอะไรที่พระเทพวิสุทธิกวีจะยี่หระมหาประโยคห้านามว่า "พระเทพปริยัติวิมล" อันเก้าอี้อธิการบดี มมร. นั้น ถ้าคนระดับพระเทพปริยัติวิมล ซึ่งจบแค่ ป.ธ.5 จะขึ้นนั่งได้ คนอย่างพระเทพวิสุทธิกวีก็นั่งได้เช่นกัน มันก็คล้ายกับความคิดของ "พระธรรมกิตติวงศ์" นั่นแหละ ที่มองว่า ลองถ้าคนระดับ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) ขึ้นชั้นเป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลางได้ คนอย่างพระธรรมกิตติวงศ์ก็สามารถปิดถนนเดินธุดงค์ได้เช่นกัน จะเกรงกลัวอะไร ในเมื่อก็เห็นไส้เห็นพุงกันมาตั้งแต่อยู่วัดสามพระยาแล้ว รุ่นน้อง อ่านว่า "รุ่น-น้อง"
หลักฐานการ "ตั้งตัวเองเป็นประธานฯ" ของพระเทพวิสุทธิกวี
ถ้าท่านผู้อ่านยังจำข้อความในบทที่ 4 ของข้อเขียนนี้ได้ ในข้อที่ 5.1 นั้น ผู้เขียนเคยให้ข้อสังเกตว่า โครงการสร้างหนังพระไตรปิฎกซึ่งใช้ทุนสูงถึง 1,200 ล้านบาทนั้น ความเหมาะความสมของประธานโครงการนั้น ลำพังแค่ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยก็ยังไม่พอ เพราะโครงการนี้ถ้าสำเร็จก็จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งด้านชื่อเสียงและเกียรติยศไปอีกนับร้อยปี ดังนั้นโครงการนี้จึงควรที่จะมีผู้ใหญ่ระดับ "ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม" เข้ามาเป็นประธาน และมีกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุตเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งควรที่จะเชิญ "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" ให้เข้ามาเป็นกรรมการด้วย เพราะโครงการนี้ต้องขอเงินจากรัฐบาลอันเป็นเงินส่วนกลางของประเทศชาติประชาชนไปใช้ร่วมๆ 700 ล้าน โดยทางมหามกุฏราชวิทยาลัยอาศัยโครงการเฉลิมพระเกียรติบังหน้า แล้วจะเอาเงินไปบริหารตั้ง 700 ล้าน แถมยังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปเป็นของตัวเองทั้งหมด มันไม่โอเว่อร์เกินไปหรือ มิหนำ นอกจากจะไม่ให้ผู้ใหญ่ได้ยุ่งเกี่ยวแล้ว พระเทพวิสุทธิกวียังอาจหาญตั้งตนเองเป็นประธานโครงการเสียเอง แล้วแบบนี้จะให้อธิการบดีนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร นี่ไงที่เป็นสาเหตุให้พระเทพปริยัติวิมลหงุดหงิดต่อบทบาทของพระเทพวิสุทธิกวี รองอธิการบดี ลูกน้องที่อาจหาญทำงานข้ามหน้าเจ้านาย
สรุปว่า ทั้งพระเทพปริยัติวิมลและพระเทพวิสุทธิกวี ต่างก็มีพฤติกรรมทำนองเดียวกัน คือ ทำงานล้ำหน้าผู้ใหญ่ โดย 2 พฤตินัย คือ
1. พระเทพปริยัติวิมล สร้างฐานอำนาจของตัวเองขึ้นมาที่ศาลายา นครปฐม โดยใช้เงินงบประมาณถึง 2 พันล้าน ถ้าสร้างเสร็จก็ไม่ต้องง้อวัดบวรนิเวศหรือวัดไหนๆ ในประเทศไทยอีกต่อไป สังเกตได้ว่า ตำแหน่งรองอธิการบดีของพระเทพปริยัติวิมลนั้น ภายหลังพระเทพวิสุทธิกวีถูกกำจัดออกไปแล้ว ก็เหลือแต่พระเด็กๆ เช่น พระมหาปัญญา ปญฺญาวุโธ พระครูปรีชาธรรมวิธาน พระราชบัณฑิต เป็นต้น ดูไปก็ไม่ต่างไปจาก มจร. ยุคพระธรรมโกศาจารย์เป็นอธิการบดี พระวัดประยุรวงศาวาสมีตำแหน่งซ้ำกันทั้งในวัดประยูรและ มจร. ดูไปยังกะบริษัทแม่บริษัทลูกยังไงยังงั้น
2. พระเทพวิสุทธิกวี ก็สร้างฐานสร้างงานของตนเอง โดยใช้โครงการหนังพระไตรปิฎกเบิกทาง งบประมาณมหาศาลถึง 1,500 ล้านบาท (บานปลายจาก 1200 ล้านบาท) ทั้งนี้ก็ขอเงินจากรัฐบาลมาสร้างผลงานให้แก่ตนเอง โดยมิได้แชร์หรือแบ่งผลประโยชน์หรือผลงานให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ แม้กระทั่งอธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งพระเทพวิสุทธิกวีใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงสร้างโครงการและขอเงินก็ไม่ยอมให้เครดิต
ถ้าพระเทพปริยัติวิมล ปล่อยให้พระเทพวิสุทธิกวีทำงานหนังพระไตรปิฎกสำเร็จ ก็เสร็จโรงเรียนวัดราชา เช่นกัน ถ้าพระผู้ใหญ่ในคณะธรรมยุตปล่อยให้พระเทพปริยัติวิมลทำงานสร้างมหามกุฏราชวิทยาลัยที่ศาลายาจนแล้วเสร็จ ก็เสร็จโรงเรียนวัดบวร ก่อนจะมาถึงบทเชือด 2 เทพ คือ "พระเทพวิสุทธิกวีและพระเทพปริยัติวิมล" พ้น มมร. ก็มีที่มาที่ไปฉะนี้แหละฮะ ท่านพระครู
แล้วดูต่อไปนะ ระหว่างการหลับตา "ข้ามข้อบังคับของ มมร." ไปใช้เพียงพระราชบัญญัติมหามกุฏราชวิทยาลัย มาตรา 19 เพียงมาตราเดียว โดยเชื่อว่า ถ้ามาตราใหญ่ผ่าน มาตราเล็กน้อยเช่นข้อบังคับ ที่ 4 ก็คงไม่มีผล จึงตั้งพระเทพปริยัติวิมลเป็นอธิการบดีโดยไม่ผ่านการสรรหา กับการหลับตา "ข้ามพระเทพปริยัติวิมล" ไปใช้ตรามหามกุฏฯและใช้ "มติมหาเถรสมาคม" บังหน้า หาความชอบธรรมให้แก่โครงการหนังพระไตรปิฎกของพระเทพวิสุทธิกวี ทั้งสองข้อนี้ดูผิวเผินก็อาจจะแตกต่างกัน แต่ถ้ามองให้ดีก็จะเห็นว่า "มีความคล้ายคลึงกันมาก" เพราะพระเทพปริยัติวิมลนั้น ได้ตำแหน่งมาโดยการ "ข้ามขั้นตอนทางกฎหมาย" ส่วนพระเทพวิสุทธิกวีนั้นสร้างโครงการหนังพันล้านขึ้นมาโดยการ "ข้ามหัวพระเทพปริยัติวิมลองค์อธิการบดี มมร."
บทสรุปการกินเกาเหลาของเจ้าคุณชั้นเทพทั้งคู่ใน มมร. นั้นก็ดังที่เห็น คือทะเลาะกันจนไม่สามารถจะทำงานอะไรให้สัมฤทธิ์ผลได้ สุดท้ายจำต้องหาคนกลางเข้ามาทำงานแทน ก็เข้าตำรา "ตาอิน-ตานา-ตาอยู่" สุดแต่ว่าใครจะมองเห็นในมุมไหนอย่างไร ?
12.
พระเทพวิสุทธิกวีหลุดข้อหา
ศาลอาญาพิพากษา
"ยกฟ้อง" คดีหนังพระไตรปิฎก
ก็ต้องถือว่าเป็นการชนะคะแนนในไฟต์แรกของภาพยนต์เรื่องพระไตรปิฎก โดยในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2553 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นโจทย์ฟ้องพระเทพวิสุทธิกวี รองอธิการบดี มมร. และพวกรวม 4 รูป/คน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและเรี่ยไรเงินจากประ-ชาชนทั่วไปรวมทั้งหน่วยงานรัฐต่างๆ โดยอ้างว่าจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์พระไตรปิฎก ฉบับมหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ ทั้งนี้เกิดเหตุระหว่างเดือน ธ.ค. 2548 -ก.ค. 2552 นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 จะต้องมีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ซึ่งบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาฐานดังกล่าว คือผู้ถูกหลอกลวงหรือต้องเสียทรัพย์จากการหลอกลวง แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกจำเลยทั้ง 4 รูป/คน หลอกลวงหรือต้องสูญเสียทรัพย์สินไปจากการถูกหลอกลวง อันจะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
พระเทพวิสุทธิกวีได้ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ยังมีคดีที่ มมร. ฟ้องไว้ที่ดีเอสไออีก ซึ่งต้องต่อสู้กันต่อไป หมายถึงว่า แม้ว่าพระเทพวิสุทธิกวีจะชนะในคดีที่ศาลอาญา แต่คดีที่ดีเอสไอก็ยังไม่สิ้นสุด ถึงกระนั้นก็ยังใจชื้นอยู่ เพราะถ้าผ่านศาลอาญามาแล้ว ดีเอสไอซึ่งเป็นเพียงพนักงานสอบสวนในคดีเดียวกันก็คงจะทำสำนวนตามน้ำไปด้วย
แต่ในอีก 3 วันต่อมา นายสงกรานต์โฆษกคนเดิมของ มมร. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การที่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องไปนั้น ทาง มมร. ยังไม่ยินยอมจบ จะต้องมีการอุทธรณ์เอาผิดพระเทพวิสุทธิกวีต่อไป โดยเนื้อข่าวจากไทยรัฐมีดังนี้
"...กรณีที่ศาลอาญายกฟ้องคดีที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นโจทย์ฟ้องพระเทพวิสุทธิกวี รองอธิการบดี มมร. และพวกรวม 4 รูป/คน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและเรี่ยไรเงินจากประชาชนทั่วไปรวมทั้งหน่วยงานรัฐต่างๆ โดยอ้างว่าจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสร้างพระไตรปิฎกฉบับภาพยนตร์นั้น เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มมร. กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้ยื่นอุทธรณ์เรื่องอำนาจฟ้องของโจทย์ต่อศาลอุทธรณ์แล้ว

นายสงกานต์กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่คู่ความจะออกมากล่าวอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ผิดตามฟ้องเนื่องจากยังไม่ได้มีการสืบพยานใดๆทั้งสิ้น ซึ่งขณะนี้ เป็นเรื่องของข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทย์ คดีนี้เป็นความผิดอันมิอาจยอมความได้ ผู้ใดก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ เพราะรัฐเป็นผู้เสียหาย มมร.กระทำไปเพื่อปกป้องสถาบันไม่ให้ได้รับความเสียหายตามกระบวนการยุติธรรม อันเป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ตนหรือฝ่ายตนแต่อย่างใด..."
ตอนนั้น อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอม ได้วิจารณ์ข่าวไว้ว่า "แหมแบบนี้ก็เป็นหนังเรื่องยาว ยิ่งกว่า คู่กรรม สิฮะ"
13.
โบราณว่า"ข้ามสะพานมิทันพ้น อย่าเพิ่งขย่มดูเงา"
ปี่กลองเชิด ! เจ้าคุณเกษม ถูกทั้งหมัดทั้งศอกทั้งเข่าของเจ้าคุณแสวงเข้าแบบที่ว่า "รับไม่ทัน" ต้องเอาหลังพิงเชือกใช้หมัดปัดป้องประคองตัวเองให้พ้นจากพายุหมัดของนักมวยค่ายบางระจัน จนทำท่าว่านักมวยแดนใต้จะไปไม่รอด แต่แล้วเจ้าคุณเกษมก็ต้องเซอร์ไพรซ์ เมื่อเจ้าคุณแสวงหยุดต่อยเอาดื้อๆ แถมยังเอามือกุมท้องร้องโอดโอยบิดไปมาและล้มกลิ้งลงกลางเวทีเหมือนเป็นตะคริว เป็นอาการที่กรรมการและผู้ชมก็คาดไม่ถึงเพราะเข็มขัดสั้นหรือไร ?
วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 มีข่าวดีของพระเทพวิสุทธิกวี และเป็นข่าวร้ายของพระเทพปริยัติวิมล ทางหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อไทยรัฐลงข่าวว่า นายบรรณฑูรย์ บุญสนอง ประธานชมรมคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า
ตามที่ พระเทพปริยัติวิมล อธิการบดี มมร. หมดวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2554 โดยขณะนี้ยังไม่มีพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งอธิการบดีรูปใหม่ ตามที่สภามหาวิทยาลัยเสนอให้แต่งตั้ง พระเทพปริยัติวิมล ขณะเดียวกันตนได้รับข้อมูลภายใน ซึ่งเชื่อถือได้ว่าการเสนอพระบัญชาแต่งตั้งอธิการบดี ได้ถูกยับยั้งและส่งกลับให้สภามหาวิทยาลัยตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการสรรหา เนื่องจากพบว่า ยังไม่ผ่านกระบวนการสรรหาตามบทบัญญัติข้อ 4 แห่งข้อบังคับ มมร. ว่าด้วยการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 ที่ระบุว่า การแต่งตั้งอธิการบดี ให้นายกสภามหาวิทยาลัยจัดประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามมาตรา 26 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 ตามที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเสนอ และดำเนินการเพื่อกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนผู้ที่ดำรงตำแหน่งจะพ้นวาระ แต่พบว่ายังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว และทางพระเทพปริยัติวิมลกลับเสนอตัวเองในการประชุมสภามหาวิทยาลัย โดยที่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาแต่อย่างใด ใช่แต่เท่านั้น พระเทพปริยัติวิมลยังใช้อำนาจแต่งตั้งรักษาการรองอธิการบดีและรักษาการผู้ช่วยอธิการบดีไปอีกตั้งหลายตำแหน่ง เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ถือว่าผิดกฎหมาย ต้องตรวจสอบให้ถูกต้อง
ต่อมา ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 นายบัณฑูรย์ บุญสนอง คนเดิม ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ว่า "ตลอดเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งพระเทพปริยัติวิมลดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. นั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านกฎหมายและจริยธรรม มีการทุจริตประพฤติมิชอบ จึงยื่นเรื่องให้ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของอธิการบดี มมร. ทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และถ้าผิดจริงก็ต้องลงโทษเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง"
วันเดียวกัน (29 พฤศจิกายน 2554) พระเทพปริยัติวิมล ได้ออกมาตอบโต้นายบัณฑูรย์ บุญสนอง ในทำนองสอนมวยว่า "ไม่รู้ข้อกฎหมาย" แถมยังเกทับกลับไปด้วยว่า "ตัวนายบัณฑูรย์เองนั่นแหละที่เป็นตัวโกง เพราะถูกร้องเรียนเรื่องแอบอ้างชื่อ มมร. ไปเรี่ยไรเงินเข้ากระเป๋า ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและถูกไล่ออกไปแล้ว"
สรุปว่า พระเทพปริยัติวิมล-ผ้าเหลือง-เจ้านาย ลงมาฟัดกับ นายบัณฑูรย์ ผ้าลาย-ลูกน้อง มองผิวเผินก็เห็นได้ว่า นายบัณฑูรย์คงรอดยาก เพราะหมัดของพระเทพปริยัติวิมลนั้นระดับอธิการบดี ต่อยทั้งทีคงมิใช่แค่มดแดงกัด แต่คงเป็นระดับช้างกระทืบโลง (ศพ) โน่นเลยทีเดียว ส่วนหมัดของนายบัณฑูรย์นั้นคงจะแค่ "แมลงหวี่ตอมตาพญาช้าง" ทำให้พญาเอราวัณรำคาญ แต่ก็คงต้องปล่อยไป เพราะช้างนั้นถ้าคิดจะตบก็คงระดับช้างด้วยกันเท่านั้น
มองอีกมุมหนึ่ง การที่พระเทพปริยัติวิมลลงมาประหมัดกับนายบัณฑูรย์ ซึ่งเป็นอดีตลูกน้องนั้น แสดงว่า "การแย็บของนายบัณฑูรย์มีผล พระเทพปริยัติวิมลออกอาการแพ้ยาแล้ว" งานนี้ถ้าเรียกภาษาเล่นหมากรุกก็เห็นจะเป็น "ใช้เบี้ยแลกขุน" ซึ่งคนถ้ามือไม่โปรจริงๆ แล้วก็รังแต่จะกลายเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ตายกับตายลูกเดียว แต่มือระดับโปรแล้ว ก็ไม่มีใครเขาใช้ "ขุนแลกขุน" เช่นกัน สิ่งที่จะนำมา "รุกฆาต" ขุน-แม่ทัพ ได้นั้น ก็ต้องใช้ "เบี้ย" เท่านั้น แม้ว่าเบี้ยจะมีค่าต่ำมากที่สุดบนกระดานหมากรุก หากแต่ว่าถ้าใครสามารถใช้ "เบี้ยรุกขุน" จนจนแต้มได้สำเร็จ ก็จะกลายเป็น "เซียน" ไปในพริบตา เรื่องนี้พวกนักตกปลารู้ดี ว่าไม่มีใครใช้ปลาฉลามตกปลาฉลาม
ตรงนี้จึงขอถามว่า เซียนหมากรุกที่อาจหาญใช้เบี้ยที่ชื่อว่า "บัณฑูรย์" รุกฆาตขุนที่ชื่อ "พระเทพปริยัติวิมล" นั้น เขาเป็นใคร ? อ่านสามก๊กจบกี่รอบ ?
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
นายกสภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย รูปปัจจุบัน

14.
เปลี่ยนนายกสภา มมร. ก่อนพิจารณาพฤติกรรมอธิการบดี
ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า "หน้าตา" หรือ "ภาพพจน์" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสุดยอดของคน โบราณว่า "คบคนดูหน้า ซื้อผ้าดูเนื้อ" หรือ "ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง" ฯลฯ สุภาษิตเหล่านี้มีไว้ทำไม ก็เพื่อเตือนใจให้คนรู้จักรักษาเนื้อรักษาตัว สิ่งที่ไม่สวยงามก็ทำการ "ปกปิด" ไว้ ไม่ให้ใครรู้ใครเห็น ส่วนไหนสวยงามที่คิดว่าเปิดเผยให้คนอื่นเห็นแล้วจะเป็นผลดีต่อตนเอง จึงค่อย "โชว์" แต่การกัดกันโชว์แบบที่พระเทพปริยัติวิมลเปลี่ยน มมร. ให้กลายเป็นสนามมวยลุมพินีอยู่ในเวลานี้ ไม่มีผู้ดีที่ไหนใครเขาทำ นอกจากคนบ้า ดังนั้น คนที่ทำเช่นนี้ก็เห็นจะมีที่เดียวที่ต้องไปก็คือ ปากคลองสาน
ความวุ่นวายใน มมร. ซึ่งกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันระหว่างพระเทพปริยัติวิมลและพระเทพวิสุทธิกวีนี้ ย่อมจะหนีไม่พ้นการมองดูด้วยความเป็นห่วงของพระผู้ใหญ่ในคณะธรรมยุติกนิกาย ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งรับภาระในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย และพระผู้ใหญ่อื่นๆ ทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่ได้ให้โอกาสแก่พระเทพปริยัติวิมลในการทำงานมาแล้วถึง 4 ปีเต็มๆ แต่ภาพพจน์ของมหาวิทยาลัย มมร. ในสายตาของชาวโลกนั้นดูตกต่ำไปทุกที ถ้าเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็คงถูกเทขายไร้ราคาพาร์ จึงปรากฏว่า ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2554 ได้มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ลงนามโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย รูปใหม่ ได้แก่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร พร้อมกับการแต่งตั้งคณะกรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวน 8 ท่านด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือ นายวิษณุ เครืองาม ปรมาจารย์กฎหมายไทย คนทั่วไปก็คงคิดว่า "ไม่มีอะไร" แต่ในความไม่มีอะไรนั่นแหละ แสดงว่ามีงานใหญ่แน่ และคงไม่นานเกินรอ...


15.
ข่าวดี "สุดท้าย" ของพระเทพปริยัติวิมล
22 ธันวาคม 2554
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) และเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม กล่าวถึงความคืบหน้าในการแต่งตั้งอธิการบดี ว่า ขณะนี้ได้มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมล ให้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดี มมร.ไปอีกวาระหนึ่ง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 และมติที่ประชุมสภา มมร. ครั้งที่ 4/2554 วันที่ 7 ต.ค. 2554 โดยมีพระบัญชาตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย.2554 ทั้งนี้ ขั้นตอนในการดำเนินงานถือว่าทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ เนื่องจากในมาตรา 25 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ระบุไว้ชัดเจนว่า สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตามคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยก็มีมติเสนอชื่อ พระเทพปริยัติวิมล ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. ต่อไปอีกวาระหนึ่ง
หมายถึงว่า เรียบร้อยโรงเรียนวัดบวรไปแล้ว พระเทพปริยัติวิมลได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสมบูรณ์พูนสุขไปแล้ว เพราะพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชนั้นถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ต่อให้ทศกัณฐ์ก็คงยากจะถอนคำสั่งนี้ได้ แม้ว่าในวันเดียวกัน หนังสือพิมพ์ข่าวสดจะนำบทสัมภาษณ์นายบัณฑูรย์มาไว้ในท้ายข่าวด้วย แต่ก็หาได้สร้างความสนใจให้แก่นักอ่านไม่ ทั้งนี้เพราะคิดว่า เมื่อมีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชตกลงมาแล้ว ทุกอย่างก็คงจะสงบ เหมือนพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สรุปได้ว่า งานนี้ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและกรรมการสภามหาวิทยาลัย มมร. ได้เอาทั้งเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ดีกรี และตำแหน่ง ออกมาเป็นนายหน้ารับประกันให้พระเทพปริยัติวิมลว่า "พ้นมลทิน"
ปลายปี 54 นั้น คนที่ฉลองวันสิ้นปีมีความสุขที่สุดก็คงจะเป็น "พระเทพปริยัติวิมล" เพราะเพิ่งได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. ต่อไปอีก 4 ปี งานนี้ถ้าอยู่ครบเทอมก็สามารถสร้าง มมร. ศาลายา สำเร็จเสร็จสิ้น แถมยังวางหมากวางเกมวางคนลงในตำแหน่งต่างๆ ของ มมร. พร้อมๆ กับการ "ล้างบาง" ฝ่ายตรงข้ามให้หมดสิ้นไป อา..สวรรค์นั้นใช่อื่นไกล อยู่ใกล้ๆ แค่..ศาลายา..นี่เอง
แต่ว่า..ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง
ใครไม่เชื่อก็ขอเตือนว่า
อย่าลบหลู่
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
กรรมการสภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย โดยตำแหน่ง
16.
ข่าวร้าย "ต้นปี" ของพระเทพปริยัติวิมล
นอนเสวยวิมุติสุขกับตำแหน่งอธิการบดีใหม่เอี่ยมอ่องฉลองวันสิ้นปี 2544 ไปได้แค่ 5 วัน ตกรุ่งเช้าวันที่ 6 มกราคม 2555 พระเทพปริยัติวิมลตื่นขึ้นมายังมิทันได้ฉันกาแฟ ก็ต้องขมปากขมคอขึ้นมาทันใด เมื่อมีผู้รายงานข่าวสดให้ทราบว่า
บัดนี้ ทางสภามหาวิทยาลัย มมร. ได้รับเรื่องร้องเรียน และตั้งกรรมการสอบสวนตนเอง (พระเทพปริยัติวิมล) แล้ว !
แน่นอนว่า ข่าวนี้เป็น "ข่าวร้าย" ของพระเทพปริยัติวิมล
แต่ว่าจะเป็น "ข่าวดี" ของใครอีกหลายคน ก็ไม่รู้สิ
เนื้อหาของข่าวนั้นมีดังนี้
"นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เปิดเผยว่า จากการประชุมสภามหามกุฏฯ โดยมีสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะนายกสภามหามกุฏฯ เป็นประธานการประชุม ได้มีการนำเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพระเทพปริยัติวิมล อธิการบดีมหามกุฏฯ เข้าหารือ ซึ่งในเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนถึงการแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมลเป็นอธิการบดีมหามกุฏฯ โดยที่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการสรรหานั้น ที่ประชุมมีมติให้นำเรื่องส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความว่า สภามหามกุฏฯ สามารถดำเนินการเสนอชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมโดยที่ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสรรหาได้หรือไม่ ในส่วนของเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระเทพปริยัติวิมล ซึ่งมีผู้กล่าวหาว่ามีการทุจริต ในช่วงที่พระเทพปริยัติวิมลเป็นอธิการบดีมหามกุฏฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีตนเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะให้ใครมาเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนฯ"
ก็แปลว่า พระเทพปริยัติวิมลมีชนักปักหลังแล้ว เมื่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมีมติให้นำเอาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับตำแหน่งของตนเองไปขอรับคำปรึกษาทางด้านกฎหมายจากที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลคือคณะกรรมการกฤษฎีกา นั่นหมายถึงว่า คำสั่งแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. โดยประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น ยังไม่สมบูรณ์ เพราะมิใช่พระบรมราชโองการ งานนี้เป็นกรณีประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าทางสภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ในระหว่างที่ยังรอคำตอบจากทางกฤษฎีกา

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีข่าวงานฉลองพุทธชยันตีเข้ามาคั่น
ช่วงเดือนมีนาคม มีข่าวพระวัดพระธรรมกายออกธุดงค์ธรรมชัยกลบกระแสหุ้นไปหมด
ตกปลายเดือนมีนาคม วันที่ 30 (มี.ค.55) พระเทพปริยัติวิมลก็ต้องลุ้นระทึก เมื่อมีข่าวว่า

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ได้ลงนามในคำสั่งสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและข้อร้องเรียนอธิการบดี (พระเทพปริยัติวิมล) รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 (13) แห่ง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 และมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย มติที่ 6/2554 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ประกอบด้วยกรรมการดังต่อไปนี้ คือ
1. สมเด็จพระธีรญาณมุนี ประธานกรรมการ
2. พระธรรมธัชมุนี กรรมการ
3. นายอำนวย สุวรรณคีรี กรรมการ
4. นายสด แดงเอียด กรรมการ
5. ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
โดยให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบข้อร้องเรียน
1. เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการละเมิดอำนาจสมเด็จพระสังฆราช
2. เรื่องแก้ปัญหาการละเมิดกฎหมายของอธิการบดี และ
3. เรื่องคัดค้านการแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) เป็นอธิการบดี มมร.
ทั้งนี้ ให้เวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ลงนามในคำสั่ง !
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เห็นชื่อของ
"กรรมการและเลขานุการ" คณะกรรมการสอบของสภามหาวิทยาลัย มมร. ในครั้งนี้ พระเทพปริยัติวิมลก็ยังคง "ใจชื้น" อยู่บ้าง เพราะยังมีชื่อของ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เป็นกรรมการและเลขานุการ อยู่ด้วย ทั้งนี้เพราะนายนพรัตน์นั้นเป็นทั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ยกมือโหวตให้พระเทพปริยัติวิมลดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. ต่ออีก 1 สมัย โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการสรรหา แถมยังเป็นผู้ทำเรื่องขึ้นทูลถวายสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงลงพระนามแต่งตั้งด้วย และนายนพรัตน์ก็เคยออกมาการันตีว่า กระบวนการแต่งตั้งอธิการบดีของพระเทพปริยัติวิมลนั้นถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของมหามกุฏราชวิทยาลัยทุกประการ
17.
การออกหมัดครั้ง "สุดท้าย" ของพระเทพปริยัติวิมล
วันที่ 6 เมษายน 2555 ก็มีข่าวทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า
นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายรวมพลังต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในฐานะอดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) กล่าวว่า ตามที่มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง พระเทพปริยัติวิมล อธิการบดี มมร. หลังมีผู้ร้องเรียนไปยังกรรมการสภามหาวิทยาลัย ให้ตรวจสอบการละเมิดอำนาจสมเด็จพระสังฆราช การละเมิดกฎหมายของอธิการบดี และคัดค้านการแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) เป็นอธิการบดี มมร. นั้น ตนเห็นว่า การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวมีความผิดปกติและมีเบื้องหลังหรือไม่ เพราะผู้ที่ร้องเรียนนั้น ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มมร. ได้มีการดำเนินคดีบุคคลกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากพบว่ามีความเชื่อมโยงกับการทุจริตใบเสร็จรับเงิน ที่มีการแอบอ้างชื่อ มมร.ไปเรี่ยไรเงิน ที่ จ.กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ ซึ่งมีผู้เสียหายมากกว่า 100 ราย อีกทั้งกลุ่มบุคคลดังกล่าวยังมีความเชื่อมโยงกรณีแอบอ้างชื่ออธิการบดี มมร.และ มมร. ไปเรี่ยไรเงินที่ จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย และทุกคดีล้วนอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลแล้วทั้งสิ้น
ตนจึงตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการสืบสวนฯที่ตั้งขึ้นมานั้น มีการตั้งธงอยู่ในใจแล้วหรือไม่

นายสงกรานต์กล่าวอีกว่า
ตนจึงตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา 7 คน เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เพื่อคอยตรวจสอบคณะกรรมการชุดดังกล่าว พร้อมจะตรวจสอบประวัติว่ามีความเชื่อมโยง กับกลุ่มบุคคลที่ออกมาร้องเรียนจนเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือไม่ โดยจะตรวจสอบไปถึงนายกสภามหาวิทยาลัยด้วย หากพบข้อมูลที่มีความผิดปกติตนจะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทันที ทั้งนี้ตนอยากฝากไปยังคณะกรรมการฯว่า ในการสืบข้อเท็จจริงควรมีการนำข้อมูลที่ มมร. เคยดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่ออกมาร้องเรียนเข้าไปพิจารณาด้วย ไม่ใช่ฟังเพียงข้อมูลจากกลุ่มผู้ร้องเรียนเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นและการตั้งธงหรือไม่ผู้ที่ทราบดีคือ นายกสภามหาวิทยาลัย..."
นั่นนับเป็น "หมัดสุดท้าย" ที่พระเทพปริยัติวิมลได้ออกไปป้องกันตัวเองบนสังเวียนเลือด เพราะหลังจากนั้นไปอีกไม่กี่วัน ตกวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2555 ก็มีข่าวว่า ทางสภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ลงมติ "ให้พักงานพระเทพปริยัติวิมลจากตำแหน่งอธิการบดีชั่วคราว" จนกว่าผลการสอบสวนจะแล้วเสร็จ ก็แปลว่า พระเทพปริยัติวิมลหลุดจากตำแหน่งอธิการบดีไปแล้วครึ่งตัว เหลืออีกครึ่งตัวจะได้กลับเข้าไปหรือไม่ก็ยังน่าสงสัย เพราะถ้ามีการลงดาบลงปืนตามกันเป็นชั้นๆ นั้น ถ้าช่วงนี้ดวงไม่ตกถึงขนาดพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกหรือพระราหูทับลัคน์แล้ว ก็คงไม่แคล้วว่า "เรื่องร้องเรียนจะมีมูลความจริง"
ในการสั่งพักงานพระเทพปริยัติวิมลในครั้งนั้น แรกนั้นมีข่าวว่า ได้มีการแต่งตั้งสมเด็จพระวันรัต (จุณท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย ให้มาปฏิบัติหน้าที่แทน แต่สุดท้ายสมเด็จพระวันรัตก็ขอถอนตัว จึงมีการแต่งตั้งพระธรรมธัชมุนี (อมร ญาโณทโย) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม กรรมการมหาเถรสมาคม ให้รักษาการในตำแหน่งอธิการบดี มมร. นับตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 พระธรรมธัชมุนี ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ห้องประชุมอาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ ชั้น 3 เพื่อให้โอวาทในวาระที่เข้ารับตำแหน่งรักษาการอธิการบดี มมร. เป็นครั้งแรก
วันนั้น ไม่ทราบว่าพระเทพปริยัติวิมลไปนอนเลียแผลใจอยู่ที่ไหน ไม่อยากได้ยินหรือไร ว่าที่ห้องประชุมสุชีพ ปุญญานุภาพ เขาพูดถึงท่านว่าอย่างไรกันบ้าง ?
การที่มีชื่อของ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) เข้ามารักษาการในตำแหน่งอธิการบดี มมร. นั้น แสดงให้เห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่งอธิการบดี มมร. ครั้งนี้ ไม่ธรรมดา จึงต้องหา "พระผู้ใหญ่ที่พระเทพปริยัติวิมลเกรงใจ" ให้เข้ามารักษาการ ไม่งั้นก็อาจจะเกิดการไม่ยอมรับจากพระเทพปริยัติวิมลและบริวารใน มมร. ซึ่งสมเด็จพระวันรัตน่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารและเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตอยู่ก่อนแล้ว
แต่ในการ "ถอนตัว" จากรักษาการในตำแหน่งอธิการบดี มมร. ของ สมเด็จพระวันรัต นั้น ก็แสดงให้เห็นว่า เพื่อเป็นการรักษามารยาท เนื่องเพราะพระเทพปริยัติวิมลนั้นสังกัดวัดบวรนิเวศวิหาร การที่ "รักษาการเจ้าอาวาส" ซึ่งก็คือผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาส จะมารักษาการในตำแหน่งอธิการบดี และดำเนินการในด้านต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาของพระเทพปริยัติวิมล ย่อมจะมีผล 2 ประการ คือ
1. ถ้าพระเทพปริยัติวิมลผิด ผู้คนก็จะเข้าใจไปว่า สมเด็จพระวันรัต ทำร้ายลูกวัดของตัวเอง
2. ถ้าพระเทพปริยัติวิมลพ้นผิด ผู้คนก็จะเข้าใจไปว่า สมเด็จพระวันรัตเข้ามาช่วยเหลือพระวัดเดียวกัน พระวัดราชา-วัดโสมนัส ก็จะรวมตัวกันต่อต้านอีก
คิดมุมไหนก็ไม่คุ้ม สุดท้ายสมเด็จพระวันรัต จึงขอถอนตัว
การถอนตัวของสมเด็จพระวันรัตอาจจะเข้าในหลักการของนักเลงภูเขาทองข้อที่ว่า
"แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันด้วยกันเอง"
18.
โดนเตะตัดขา หรือว่าสะดุดขาตัวเองล้ม ?
ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2555 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2555 นับเป็นเวลา 5 เดือนเต็มๆ ที่พระเทพปริยัติวิมลกลายเป็นคนตกงาน เพราะถูกพักจากตำแหน่งอธิการบดี แถมยังมีชนักปักหลังเป็นคดีเกี่ยวกับเก้าอี้อธิการบดีว่าได้มาโดยถูกต้องชอบธรรมหรือไม่
ในช่วงนี้ มีกระแสการเรียกร้องจากทางนิสิต มมร. ได้รวมตัวกันเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่พระเทพปริยัติวิมล ในทำนองว่า การสั่งพักงานพระเทพปริยัติวิมลนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นายกสภามหามกุฏราชวิทยาลัยไม่มีอำนาจในการสั่งพักงาน มีการอ้างเอารัฐธรรมนูญมาตราเหล่านี้คือ
มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา 26 ที่บัญญัติว่า การใช้อำนาจ โดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา 28 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และ
เสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
แล้วก็สรุปเอาเองว่า การสั่งพักงานพระเทพปริยัติวิมลจากตำแหน่งอธิการบดีนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิของมนุษย์ ขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ คำสั่งพักงานพระเทพปริยัติวิมลจึงไม่มีผล
แต่ถ้าใครได้ติดตามข่าวสารการเมืองเรื่อง มมร. ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมานั้น ก็จะพบว่า เมื่อมีการดำเนินการสอบสวนพระเทพวิสุทธิกวีและคณะผู้สร้างหนังพระไตรปิฎก รวมทั้งสร้างพระเครื่องของ สกสค. ก็ใครไหนเล่าที่ให้นายสงกรานต์ อัจฉริยทรัพย์ ออกมาให้สัมภาษณ์นักข่าวบ่อยครั้ง นั่นมิใช่การทำลายศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของเขาดอกหรือ และถ้าเทียบกับการกระทำของทางสภามหามกุฏราชวิทยาลัยแล้ว ก็จะเห็นว่า "พิทักษ์ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของพระเทพปริยัติวิมลไว้เป็นอย่างดี" เพราะหลังจากตั้งกรรมการสอบสวน-สั่งพักงานแล้ว ก็ไม่เคยให้ข่าวอะไรเลย แม้แต่ตุ๊กแกวัดราชบพิธก็ไม่ได้ยิน
ใครกันแน่ เวลามีอำนาจวาสนานั้น เหลิงใจ ใช้อำนาจโดยปราศจากความยั้งคิด ไร้หิริและโอตัปปะ ไร้คุณธรรมของผู้นำ นักปกครอง และน่าหัวเหลือเกินว่า เวลาทำกับเขานั้น ไม่เห็นพระเทพปริยัติวิมลคำนึงถึง "ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในรัฐธรรมนูญ" แต่อย่างใด แต่พอตัวเองโดนเข้ามั่ง ก็ให้ลูกศิษย์ออกมาโวยวายอ้างรัฐธรรมนูญมาคุ้มหัว โดยไม่ยอมถามตัวเองว่า "ตะทีตัวเองทำกับคนอื่นนั้น มันเป็นพฤติกรรมของมนุษย์หรือเปล่า"
19.
วิเคราะห์คำวินิจฉัยของกฤษฎีกา
กรณีปัญหาการแต่งตั้งอธิการบดี มมร.





ความจริงแล้ว ในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ถือว่า "ครอบคลุม" เนื้อหาสาระรวมทั้งวิธีการทั้งหมด ที่ทางสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อยากทราบและต้องทำในขั้นตอนต่อไป แต่ในฐานะที่เป็นนักฝอย ก็ขอย่อยความเห็นของกฤษฎีกาออกมาเป็นสำนวนของพระมหานรินทร์ดังนี้
คำถามจากสภามหามกุฏราชวิทยาลัย
การแต่งตั้งอธิการบดี มมร. นั้น จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาก่อน ตามข้อบังคับข้อที่ 4 หรือไม่อย่างไร และถ้าไม่ทำตามข้อบังคับข้อที่ 4 จะใช้อำนาจของสภามหาวิทยาลัยเลือกและเสนอชื่อเองเลย ตามมาตราที่ 25 แห่ง พรบ.มมร. ได้หรือไม่ และการที่สภามหาวิทยาลัยไม่ได้แต่งตั้งกรรมการสรรหา แต่ได้เลือกเสนอชื่อพระเทพปริยัติวิมลเป็นอธิการบดี มมร. โดยได้ยกเว้นที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับ มมร. ข้อที่ 4 เสีย จะมีผลประการใด ???
คำตอบจากทางคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อทางมหาวิทยาลัยได้ตราข้อบังคับขึ้นใช้ ก็ต้องทำตามข้อบังคับนั้น ถ้าไม่ทำตามข้อบังคับนั้น ก็ต้องยกเลิกคือเลิกใช้ หรือแก้ไขข้อบังคับให้เป็นอื่นไปเสียก่อน จะยกเว้นเป็นบางครั้งหรือบางมาตราหาได้ไม่ หลักกฎหมายมีอยู่ว่า "ฝ่ายปกครองต้องผูกพันต่อกฎเกณฑ์ที่ตนกำหนดขึ้น" ดังนั้น เมื่อตนกำหนดขึ้นแล้วก็ต้องทำตาม ถ้าไม่ทำตามก็เท่ากับ "เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า" เท่านั้น นั่นคือพฤติกรรมของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตามนัยยะที่แปลได้จากสำนวน "สอนมวย" ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะอ่อนหัดปานนั้น
กฤษฎีกายังระบุต่อไปด้วยว่า
"กรณีจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย ที่จะต้องพิจารณาแก้ไขการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป"
หมายถึงว่า คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย มมร. ทำผิดกฎหมายมหาวิทยาลัย ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ถ้าไม่ยอมแก้ไข ก็อาจจะถูกฟ้องร้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ถึงตอนนั้นกฤษฎีกาก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะบอกแล้วไงว่ากฤษฎีกาเป็นเพียงคณะที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของรัฐบาลเท่านั้น
ความหมายขั้นต่อไปก็คือว่า พระเทพปริยัติวิมลพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีโดยอัตโนมัติ แต่ความจริงก็คือ นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2554 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ไม่มีอธิการบดี ส่วนการที่พระเทพปริยัติวิมลได้ทำหน้าที่มาโดยตลอดนั้น ก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดของสภามหาวิทยาลัย
แน่นอนว่าคำวินิจฉัยนี้ย่อมมีผลไปถึง "พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" ซึ่งลงนามโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แต่จะโทษว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ผิดก็ว่าไม่ได้ เพราะนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ซึ่งเป็นเลขามหาเถรสมาคม และเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย มมร. โดยตำแหน่ง นั้น รู้แจ้งกระบวนการแต่งตั้งอธิการบดี มมร. มาโดยตลอด แถมยังออกมาให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า "ถูกต้องทุกขั้นตอน" อีกด้วย
นายนพรัตน์จึงต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมและคำพูดของตนเองต่อสาธารณชน ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอันสูงส่ง ถ้าจะเป็นลูกหลงก็คงดังภาษิตไทยๆ ที่ว่า "พลั้งปากเสียศีล พลั้งตีนตกต้นไม้" นายนพรัตน์ซึ่งเป็นคนปากไว คงจะรู้ซึ้งถึงผลของการพูดแบบ "ผีเจาะปาก" ในวันนี้เอง
ในท้ายคำวินิจฉัยของกฤษฎีกายังระบุด้วยว่า "ส่วนประโยชน์ตอบแทนต่างๆ ที่ได้รับในขณะดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั้น ถ้าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตแล้วก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ตอบแทนในระหว่างนั้นได้" หมายถึงว่า กฤษฎีกาเห็นว่าพระเทพปริยัติวิมลนั้น มิได้เป็นอธิการบดีเลยนับตั้งแต่ต้น (เพราะมิได้ผ่านกระบวนการสรรหามาอย่างถูกต้อง) แต่ทั้งนี้จะโทษพระเทพปริยัติวิมลคนเดียวก็ไม่ถูก เพราะสภามหาวิทยาลัย มมร. ได้ประชุมกันแล้วรวบรัดตัดตอน "ลงมติเลือก" พระเทพปริยัติวิมล ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มันเป็นความผิดพลาดของทั้งมหาวิทยาลัย มิใช่เฉพาะพระเทพปริยัติวิมลคนเดียว ถ้าพระเทพปริยัติวิมลไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามว่าตนเองได้ตำแหน่งมาอย่างถูกต้องชอบธรรม และไม่เย้ยหยันอีกฝ่ายว่าไม่มีความชอบธรรมในการตรวจสอบตนเอง พระเทพปริยัติวิมลก็จะอยู่ในฐานะ "ผู้เคราะห์ร้าย" ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจจะได้รับการเยียวยาถ้าหากมีการสรรหาในรอบต่อไป แต่เมื่อพระเทพปริยัติวิมลออกมาพูดเองเออเอง ทำนองเป็นทนายแก้ต่างให้ตัวเอง แล้วปรากฏว่าแพ้คดี งานนี้พระเทพปริยัติวิมลจึงมิใช่ "ผู้เคราะห์ร้าย" หรือ "เหยื่อ" ของเหตุการณ์อีกต่อไป หากแต่กลับกลายเป็น "ผู้สมรู้ร่วมคิด" โดยพฤตินัย ในการปล้นชิงตำแหน่งอธิการบดี มมร. มาเป็นของตนเอง กรณีพระเทพปริยัติวิมลดังกล่าว จึงไม่ควรเห็นใจหรือให้อภัยต่อพระเทพปริยัติวิมล ซึ่งทางฝ่ายกฎหมาย มมร. คงจะต้องหาทางฟ้องร้องเอาผิดทั้งทางวินัยและอาญาต่อไป
อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยว่าด้วยผลประโยชน์ที่พระเทพปริยัติวิมลได้มาในระหว่างการทำหน้าที่อธิการบดีนั้น ก็หมายถึงว่า "ยกผลประโยชน์ให้จำเลย" ทั้งนี้กฤษฎีกายังระบุด้วยว่า "ต้องเป็นผลประโยชน์ที่ได้มาโดยการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเท่านั้น" หากพบว่า ผลประโยชน์สิ่งใดได้มาโดยวิธีการไม่สุจริต ก็ไม่มีสิทธิ์รับ หากรับแล้วก็ต้องถูกฟ้องร้องเพื่อเอาผลประโยชน์นั้นคืนให้แก่มหาวิทยาลัย มมร. หรือคืนให้แก่ประเทศไทยต่อไป
20.
วิธีการของสภามหาวิทยาลัย มมร. ต่อปัญหาอธิการบดี
เรื่องนี้ก็ตีความหมายของกฤษฎีกาออกเป็น 2 ทางอีกเช่นกัน คือ
1. ยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการตั้งกรรมการสรรหาอธิการบดี แบบว่าลบทิ้งเสียจากระบบ ทีนี้เมื่อไม่มีข้อบังคับนี้แล้ว ก็จะเหลือมาตรา 19 แห่ง พรบ.มมร. ให้ปฏิบัติตามเพียงมาตราเดียว เมื่อนั้น ทางสภามหาวิทยาลัยจะเลือกใครมาเป็นอธิการบดีก็ไม่ผิดกฎหมายเลย แต่ทางสภามหามกุฏราชวิทยาลัยจะต้องตอบแก่สังคมไทยให้ได้ว่า ทำไมเจาะจงยกเลิกข้อบังคับ เพียงเพื่อจะเลือกพระเทพปริยัติวิมลเพียงคนเดียวมาเป็นอธิการบดี ถ้าหากไม่มีพระเทพปริยัติวิมลเสียคนเดียว มหามกุฏราชวิทยาลัยก็จะถึงกาลล่มสลายอย่างฉับพลันทันทีกระนั้นหรือ หรือว่าพระสงฆ์ในคณะธรรมยุตทั้งประเทศไทยและที่ไปศึกษาและปฏิบัติงานอยู่ทั่วโลกนั้น ไม่มีใครเหมาะสมเลยหรือ นั่นแหละคือคำตอบที่ มมร. ต้องเตรียมไว้
2. ไม่ยกเลิกข้อบังคับ แต่กลับไปทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ ตั้งกรรมการสรรหาอธิการบดีขึ้นมาตามข้อบังคับข้อที่ 4 จำนวน 1 ชุด แล้วนำรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมานั้นกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง ข้อนี้จะสวยงามที่สุด
21.
อ่านกฎหมายข้อเดียวกับอ่านกฎหมายทั้งฉบับ หรืออ่านทั้งระบบ
กฎหมายของแต่ละองค์กรนั้นมีหลายระดับ ซึ่งอาจจะเรียกว่า พระราชบัญญัติ กฎ หรือข้อบังคับ อะไรก็ตามแต่ เมื่อมีการตราหรือบัญญัติขึ้นมาแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมเป็นองค์รวมในการทำงานขององค์กรนั้น กรณีสภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ทำการ "ยกเว้น" ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย แล้วใช้เพียงมาตราที่ 19 ใช้อำนาจคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย เลือกและแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีเองนั้น ถ้ามองในแง่ของกฎหมายก็หมายถึงว่า ทางสภามหาวิทยาลัย มมร. ได้ตั้งตนเองเป็นทั้งกรรมการสรรหาและกรรมการสภาที่มีอำนาจเลือกตั้งอธิการบดีเบ็ดเสร็จ ซึ่งอำนาจทั้งสองนั้นแยกกันอยู่ในมาตราที่ 19 แห่ง พรบ.มมร. และข้อบังคับ มมร. ข้อที่ 4
ทีนี้ว่า ทางสภามหามกุฏราชวิทยาลัย อาจจะ นะ อาจจะคิดว่า ข้อบังคับนั้นไม่สำคัญเท่ากับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ดังนั้น ถ้าทำตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย แม้จะไม่ทำตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย ก็คงไม่เป็นไร ซึ่งข้อนี้ก็เป็นการตีความว่า "กฎหมายแม่ย่อมใหญ่กว่ากฎหมายลูก" ซึ่งการจะตีความเช่นนั้นจะตีได้เฉพาะในประเด็นที่ว่า กฎหมายลูกขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่ แต่สำหรับข้อบังคับของ มมร. ว่าด้วยการตั้งกรรมการสรรหาอธิการบดีนั้น ไม่มีส่วนใดเลยที่แสดงให้เห็นว่าขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย แถมสภามหาวิทยาลัย มมร. ก็เคยดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ มมร. และข้อบังคับ มมร. มาก่อนแล้วด้วย
พระเทพปริยัติวิมลนั้นได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และได้รับการเสนอชื่อโดยสภามหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2550 แต่มาในครั้งนี้ กลับมีการซิกแซก ไม่ยอมทำตามข้อบังคับของ มมร. ว่าด้วยการตั้งกรรมการสรรหา แต่ทว่าทางคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย มมร. ได้ใช้อำนาจเลือกเอาเฉพาะชื่อของพระเทพปริยัติวิมลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีแต่เพียงคนเดียว นั่นก็ส่อแสดงว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัย มมร. ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนจะรับผิดชอบอย่างไรนั้นก็นิมนต์พิจารณาตัวเอง ส่วนนายนพรัตน์นั้น รอให้ตายแกก็คงไม่ลาออกหรอก
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ออกมายืนยันว่า "ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งอธิการบดีของมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ถูกต้องทุกขั้นตอนแล้ว" ซึ่งข้อนี้ก็ไม่แปลกอันใด เพราะนายนพรัตน์นั้นเคยสนองงานพระสังฆาธิการระดับสูง นับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา เมื่อมีการชงเรื่องขึ้นมาโดยไม่มีผู้ทักท้วง หรือถึงจะมีแต่ก็ไม่มีการฟัง ดังนั้นจึงเชื่อมั่นฟันธงว่า "ผู้มีอำนาจทำถูก" ดังกรณีการแต่งตั้งเจ้าคณะภาค 1 ซึ่ง สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชัยญาติ ได้ใช้อำนาจเช่นเดียวกับสภามหามกุฏราชวิทยาลัย ด้วยการ "เว้นข้อบังคับในกฎมหาเถรสมาคมหลายข้อ-เลือกเอาเฉพาะข้อที่ตรงกับใจของตนเอง" แล้วใช้อำนาจของเจ้าคณะใหญ่เสนอ พระโสภณปริยัติเวที ซึ่งเป็นเพียงพระราชาคณะชั้นสามัญ ได้เป็นรองภาคยังไม่ทันถึงปี มีอายุเพียง 45 ปี ขึ้นดำรงตำแหน่งอันเอกอุในคณะสงฆ์ไทย นั่นนพรัตน์ก็เข้าข้างผู้ใหญ่มาแล้วว่า "ทำถูกต้อง" เพราะมีความคิดฝังหัว (ขอเว้นคำว่า-ดักดาน) ว่า พระผู้ใหญ่คือผู้รับผิดชอบต่อพระศาสนา จะเอาใครมาดำรงตำแหน่งอะไรก็ได้ เพราะนี่คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในคณะสงฆ์ไทย ซึ่งความจริงจะเอากันอย่างนั้นก็ได้ แต่อย่ามาคุยโอ่ให้เปลืองน้ำลายเลยว่าเป็นประชาธิปไตย-ธรรมาธิปไตยอะไรเลย เผด็จการยิ่งกว่าฮิตเลอร์เสียอีกละไม่ว่า
แต่สำหรับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะมหาวิทยาลัยทั้งสองนั้นมิใช่มหาวิทยาลัยในสังกัดคณะสงฆ์ไทยอันเป็นเผด็จการอีกต่อไปแล้ว แต่ทว่าได้เข้าไปสังกัดภายใต้รัฐบาล และรัฐบาลนั้นมีกฎหมายอีกมากมายที่คอยบังคับตรวจสอบการทำงาน (รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย) อีกทั้งมีประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการให้ตรวจสอบพฤติกรรมอีกด้วย
และนี่แหละคือ "กับดักทางกฎหมาย" ที่สภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย เหยียบเข้าอย่างจังในวันนี้ วันที่มหามกุฏราชวิทยาลัยมีอายุปาเข้าไปถึง 119 ปีเข้าไปแล้ว
และนี่คือตัวอย่างของการทำงาน-ใช้กฎหมายโดยไม่บูรณาการ
22.
ถามก่อนทำ กับ ทำก่อนถาม อย่างไหนสง่างามกว่ากัน
ก็เป็นนิยามการทำงานของสภามหามกุฏราชวิทยาลัย เกี่ยวกับการขอหารือกฤษฎีกาว่าด้วยการแต่งตั้งอธิการบดีดังที่ทราบ ถ้าย้อนหลังกลับไปในกรณีสันติอโศก เมื่อปี พ.ศ.2532 ตอนนั้น เมื่อทางคณะสงฆ์ต่างก็เห็นว่าสันติอโศกเป็นลัทธินอกรีต สมควรใช้กฎหมายเข้าจัดการ แต่การใช้กฎหมายแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นจะผลีผลามไม่ได้ ทางมหาเถรสมาคมจึงต้องขอตัวช่วย ซึ่งก็คือกฤษฎีกานั้นแหละ และเมื่อกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า
"มหาเถรสมาคมมีอำนาจสั่งให้พระโพธิรักษ์สึกได้" เท่านั้น จึงมีการลงดาบกันสนั่นปัฐพี แม้ว่าโพธิรักษ์จะหัวหมอ ใช้หมอความระดับทนายแม๊กไซไซเข้าช่วย แต่ก็ช่วยไม่ได้ สุดท้ายที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า "โพธิรักษ์มิใช่นักบวชไทยในพระพุทธศาสนาอีกต่อไปแล้ว"
นั่นคือนิยามการทำงานแบบที่เรียกว่า "ทำงานเป็น" ของมหาเถรสมาคมในสมัยโน้น
แต่พอถึงสมัยนี้ สภามหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งก็มีผู้รู้มากมาย มีทั้งกรรมการโดยตำแหน่งและแต่งตั้ง รวมทั้ง นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักพุทธฯ ก็นั่งหัวโด่เป็นกรรมการรวมอยู่ด้วย น่าจะศึกษาประวัติการทำงานของเลขาธิการมหาเถรสมาคมในอดีตให้กระจ่าง ว่าผู้หลักผู้ใหญ่เขาทำงานกันอย่างไรถึงได้ไม่พลาดพลั้ง หรือพูดแบบตลาดก็คือว่า "ไม่เสียมวย" แต่นายนพรัตน์กลับสะเพร่า ปล่อยให้ใช้ระบบพวกมากลากไป จนสุดท้ายก็สะเทือนถึงสมเด็จพระสังฆราช เพราะว่าทรงลงพระนามในพระบัญชาไปแล้ว แต่คำวินิจฉัยของกฤษฎีกาในวันนี้ จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยที่ว่า "พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเป็นโมฆะ" เพราะผิดขั้นตอนการแต่งตั้งมาตั้งแต่ต้น จึงนับว่าเป็นกรณีประวัติศาสตร์ของ มมร. นับตั้งแต่ก่อตั้งมาจนอายุอานามล่วงเข้า 120 ปีแล้ว
ทำงานเสียหายแบบนายนพรัตน์นี้
ถ้าเป็นสมัยโบราณ ท่านให้เอาตัวไปประหารชีวิตแล้ว
!
23.
จริยธรรมของผู้นำ
ตำแหน่งอธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่พระเทพปริยัติวิมลได้เคยดำรงตำแหน่งเมื่อ 4 ปีก่อนนั้น ถือได้ว่าเป็นหัวหน้าส่วนการศึกษาระดับสุดยอด คืออุดมศึกษาของคณะสงฆ์ไทย มีเพียงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อีกหนึ่งตำแหน่งเท่านั้นที่มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกัน และเมื่อเทียบกับสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะก็ดี ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมก็ดี ถ้าไปในต่างประเทศแล้ว ตำแหน่งอธิการบดีจะได้รับการยกย่องให้เกียรติกว่าตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะหรือกรรมการมหาเถรสมาคมด้วยซ้ำ แต่เพราะพระสงฆ์ไทยเรายังอยู่ในประเทศไทย ไม่ค่อยมีใครโกอินเตอร์ จึงหลงหรือบ้ายศบ้าอำนาจอยู่แต่ในเขตประเทศไทย ยกก้นกันอยู่รอบๆ สนามหลวงนั่นแหละ เป็นกบในกะลายุคไอโฟน 5
และทีนี้ว่า เมื่อตำแหน่งอธิการบดีมีความสำคัญ เพราะเป็นผู้นำทางด้านสติปัญญาต้องให้การศึกษาแก่พระสงฆ์สามเณรและพุทธศาสนิกชนคนไทยทั่วประเทศ ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีจึงต้องมีทั้งคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งต้องมีสติปัญญาสามารถเอกอุ มิใช่หัวขี้เลื่อย หรือเด็กเส้นเด็กสายที่ยัดกันเข้าไปกินตำแหน่ง ดังที่เห็นเดินชนกันอยู่เต็มมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งในปัจจุบัน
คนเรานั้น ถ้ามีคุณธรรม รู้จักสมรรถภาพของตนเองว่าทำได้หรือไม่ได้ ก็จะต้องแสดงออกให้สังคมรู้ว่า ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องขอถอนตัวว่า "ข้าพเจ้าไม่มีความสามารถ" หรือ "ไม่พร้อมสำหรับการดำรงตำแหน่งนี้" และถ้าหากเห็นว่าการได้มาซึ่งลาภยศนั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็จะต้องแสดงจริยธรรมในการ "ไม่ยอมรับ" หรือแม้แต่ถ้าว่ามีข้อเคลือบแคลงสงสัยในการได้มาซึ่งตำแหน่งแห่งหนของตนเอง ไม่ว่าบุคคลที่ทักท้วงจะเป็นใคร ก็ต้องยินดีและยินยอมให้เขาตรวจสอบ
แต่สำหรับพฤติกรรมของพระเทพปริยัติวิมลที่ปรากฏในสื่อตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ท่านกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความมีศีลธรรมจริยธรรมทั้งสิ้น เช่น
1. เมื่อเห็นว่ารองอธิการบดี (พระเทพวิสุทธิกวี) มีพฤติกรรมส่อไปในทางผิดกฎหมาย ในฐานะผู้นำสูงสุดในมหาวิทยาลัย ควรที่จะเรียกพระเทพวิสุทธิกวีมาพูดคุยหาทางออก ถ้าหากดื้อรั้นก็ต้องตั้งกรรมการสอบสวนเป็นการภายใน หากจะมีบุคคลภายนอกรู้ก็ต้องมิใช่เรื่องที่ออกจากปากของตนเอง แต่พระเทพปริยัติวิมลกลับให้นายสงกรานต์ อัจฉริยทรัพย์ ออกมาให้ข่าวแก่นักข่าว ทำนองว่าพระเทพวิสุทธิกวีทำผิดโน่นผิดนี่ ขู่จะฟ้องโน่นฟ้องนี่ จะปลดออก-ไล่ออกในวันนั้นวันนี้ ฯลฯ ทำให้สังคมมองพระเทพวิสุทธิกวีว่าเป็นผู้ร้ายไปในทันที นี่คือตัวอย่างของการ "ทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์" อย่างชัดเจนที่สุด ที่พระเทพปริยัติวิมลกระทำมาโดยตลอด อย่านับแต่คุณธรรมของคนในผ้าเหลืองเลย แค่ความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ผ่าน แล้วจะนำพามหามกุฏราชวิทยาลัยไปมหาวิทยาลัยโลกได้อย่างไร มันไม่กลายเป็นหัวหน้าผู้ก่อการร้ายสากลดอกหรือ ?
"ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า" เป็นหลักการเบื้องต้นของการครองบ้านครองเรือน ที่ธนัญชัยเศรษฐี บิดา ให้โอวาทแก่นางสาววิสาขาก่อนออกจากอ้อมอกพ่อแม่ไปสร้างครอบครัว แล้วครอบครัวใหญ่ในระดับ "มหาวิทยาลัย" ที่พระเทพปริยัติวิมลดำรงตำแหน่งอยู่นั้น มิต้องระมัดระวังยิ่งกว่านางวิสาขาดอกหรือ คิดจะครองบ้านครองเมืองต้องทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่ อย่าปากไวใจเร็ว พูดน้อยเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น
2. เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่า การได้มาซึ่งตำแหน่งอธิการบดีของตนนั้น มีเงื่อนงำไม่ชอบธรรม เพราะมิได้ผ่านกรรมการสรรหา น่าที่พระเทพปริยัติวิมลซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องดังกล่าว จะกล่าวในทำนองว่ายินดีให้ตรวจสอบ หรือไม่ก็สงบปากสงบคำ ในฐานะที่ตนเองตกเป็นจำเลยของสังคม แต่พระเทพปริยัติวิมลกลับออกมาให้ข่าว "ตอบโต้" ยืนยันว่าตนเองได้ตำแหน่งมาอย่างถูกทุกขั้นตอน คนที่ฟ้องนั้นไม่รู้ข้อกฎหมาย และมีชนักปักหลัง ไม่สมควรจะมาฟ้องร้องตนเอง ฯลฯ คนที่ได้อ่านข่าว ถ้าไม่รู้จักสถานะของผู้พูดก็คงทึกทักเอาว่า "เป็นนักการเมืองพูด" ที่ไหนได้กลับกลายเป็นท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้นำทั้งทางด้านคุณธรรมศีลธรรมและการศึกษาทางด้านศีลธรรมเสียเอง มมร.ไม่ย่อยยับอัปราก็ให้มันรู้ไปสิ
3. เมื่อสภามหามกุฏราชวิทยาลัย "รับเรื่อง" สั่งตั้งกรรมการสอบสวนและพักงานตนเอง น่าที่พระเทพปริยัติวิมลจะเก็บเนื้อเก็บตัว รอฟังคำพิพากษา ถ้าผิดก็ยืดอกรับผิด ถ้าไม่ผิดก็ยืดอกรับถูก ก็จะสง่างามสมกับยศและตำแหน่ง แต่กลับมีข่าวว่า มีการตั้งกรรมการส่วนตัวขึ้นมา เพื่อจะตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมการที่สภา มมร. แต่งตั้งให้สอบสวนตนเอง แบบว่า ถ้าบังอาจมาสอบกู กูก็จะสอบสวนกลับ เป็นการไม่ยอมรับกฎ กติกา และมารยาท ของคนที่เป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นมา งามหน้าไปถึงในหลวงรัชกาลที่ 4 โน่น ว่าวัดบวรนิเวศที่พระองค์ทรงเป็นปฐมเจ้าอาวาสนั้น บัดนี้ศาสนทายาทมีพฤติกรรมเยี่ยงใด
4. จริงอยู่ พระเทพปริยัติวิมลอาจจะอ้างว่า พระเทพวิสุทธิกวีทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของตนเอง ในโครงการหนังพระไตรปิฎกและพระเครื่องรุ่น สกสค. ในฐานะอธิการบดีจึงมีหน้าที่ต้องสอบสวน ดังนี้ก็ตาม แต่ถามทีเถิดว่า วิธีการของท่านที่ทำๆ มานั้น "ถูกต้อง-ชอบธรรม และเป็นธรรม" แล้วหรือ ภาพแห่งการต่อปากต่อคำ ป่าวประกาศโพนทะนาทางหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อทุกช่องต่อความเสียหายของคนในมหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยของคณะธรรมยุติกนิกาย พระเทพปริยัติวิมล "ในฐานะผู้นำสูงสุดของ มมร." มองไม่ออกหรือไรถึงความเสียหายต่อสาธารณชนที่เกิดขึ้น Leadership-ความเป็นผู้นำ ของท่านอยู่ที่ไหน ? อะไรที่มันบดบังสติปัญญา ถึงแม้ว่าพระเทพวิสุทธิกวีจะเป็นศัตรูของท่าน แต่ทั้งท่านและเจ้าคุณเกษมก็อาศัยอยู่ในร่มไม้ชายคาเดียวกัน "กินข้าวหม้อเดียวกัน" มันก็เข้าทำนอง "เผาบ้านเพื่อไล่พี่น้อง" คนที่เดือดร้อนจึงมิใช่แค่เพื่อน แต่เดือดร้อนกันทั้งบาง ทั้งพ่อ แม่ และญาติพี่น้องคนอื่นๆ ที่มิได้เกี่ยวข้องรวมทั้งเพื่อนบ้าน เพราะตำแหน่งอธิการบดีมิใช่ผู้จัดการบริษัทจำกัด หากแต่เป็นของมหาชนคนไทยทั้งประเทศ นี่ขนาดว่าผ้าเหลืองด้วยกันท่านยังไม่เมตตา แล้วนับประสาอะไรกับผ้าสีอื่นเล่า ?
พระเทพวิสุทธิกวีนั้นเป็นรองอธิการบดี คือเป็นลูกน้อง ถ้าท่านไม่ยอมรับว่าเป็นลูกน้องก็ต้องเป็น "ผู้ใต้บังคับบัญชา" แม้ว่าท่านจะไม่ชอบขี้หน้าพระเทพวิสุทธิกวีในฐานะที่แข่งบารมีกับท่าน แต่ในฐานะที่ท่านเป็นอธิการบดี จึงจำเป็นต้องแสดงออกถึง "ภูมิอรรถภูมิธรรม" ให้สมกับตำแหน่งอันสูงส่ง หาไม่แล้วใช่แต่ตัวท่านเท่านั้นที่เสียหาย แต่กลับกลายเป็นผลร้ายต่อมหาวิทยาลัย ส่งผลให้พระผู้ใหญ่ต้องระดมกำลังกันเข้าควบคุมในเวลานี้ดังที่เห็น นี่ไงที่เป็นเหตุผลว่า ทำไมพระเทพปริยัติวิมลหมดความชอบธรรมในตำแหน่งอธิการบดี เพราะเขาให้โอกาสท่านแล้ว แต่เมื่อท่านทำไม่ได้ แถมยังไม่ยอมพิจารณาตัวเอง ก็จำเป็นอยู่เองที่คนอื่นเขาจะมาพิจารณาตัวท่าน
เพียงแค่นี้ก็คงจะพอมองออกแล้วกระมังว่า พระเทพปริยัติวิมล ยังเหมาะสมสำหรับตำแหน่งอธิการบดีอีกหรือไม่ ?
ในการออกมาตอบโต้ผู้ที่ฟ้องร้องตนเองต่อสภามหาวิทยาลัย มมร. ของพระเทพปริยัติวิมลนั้น ส่อให้เห็นว่า พระเทพปริยัติวิมล "รู้เห็น" ในกระบวนการแต่งตั้งตนเองให้เป็นอธิการบดี โดยไม่ผ่านกระบวนการสรรหาเหมือนครั้งก่อน มิเช่นนั้นแล้วพระเทพปริยัติวิมลคงไม่ออกมาการันตีตัวเอง พฤติกรรมตรงนี้แหละที่เป็น "จุดตาย" ของพระเทพปริยัติวิมล ว่าในเวลาเกิดวิกฤตกับชีวิตของตนเองนั้น ได้แสดงออกเช่นไรในที่สาธารณชน ให้สมกับ "ภูมิธรรม" บนตำแหน่งอธิการบดี มมร.
การที่พระเทพปริยัติวิมลยืนยันว่า "ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการนั้น" ก็มีผล 2 ประการ คือ
1. ไม่รู้จริง คนที่ไม่รู้แล้วไม่พูดนั้น ถือว่าไม่ผิด แต่คนระดับ "อธิการบดีมหาวิทยาลัย" เมื่อไม่รู้กลับสะเออะพูดนั้น สมควรลงโทษให้หนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง
2. รู้ว่าทำผิด แต่พูดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ก็เข้าทำนอง "รู้แล้วฝืนทำ" เป็นการโกหกต่อสาธารณชน หนีไม่พ้นความผิดไปได้
ตรงนี้จะเป็นชนวนให้ฝ่ายตรงข้ามนำไป "ขยายแผล" ฟ้องโรงฟ้องศาลให้ยืดเยื้อยาวนาน ถึงจะไม่สามารถเอาพระเทพปริยัติวิมลเข้าคุกเข้าตารางได้ แต่ก็จะสามารถ "สะกด" ไม่ให้กลับเข้ามามีอำนาจในตำแหน่งเดิมอีก ชกมวยโดยไม่ตั้งการ์ดแบบนี้ เห็นแล้วก็เหนื่อยแทนเจ้าคุณแสวงเหลือเกิน
สรุปตรงนี้ก็คือว่า พระเทพรปิยัติวิมล "เสียคน" เพราะปากแท้ๆ
24.
ประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการพลเรือน
ประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการพลเรือนนั้น จัดทำขึ้นมาในปี พ.ศ.2552 ถือเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการ เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่แก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชน มีมากมายหลายมาตรา เช่น
การยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม
การมีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบ
การยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติ เหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
การยืนยันทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย
การให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ
การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้
การยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์กร
เป็นต้น
แค่นี้ก็เห็นว่า "ครอบจักรวาล" แล้ว ถ้าเอามาตรวจสอบพฤติกรรมของพระเทพปริยัติวิมลดังนำเสนอมา ก็เห็นว่า พระเทพปริยัติวิมลจะสอบ "ตกทุกข้อ" เพราะแค่พูดเท็จก็ผิดหมดแล้ว
ถ้าไล่ตั้งแต่ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ข้อบังคับมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ไปจนถึง "ประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการพลเรือน" ที่ว่านี้ แล้วนำมาตรวจสอบกับพฤติกรรมของพระเทพปริยัติวิมล ก็เหนื่อยแทนนิสิตนักศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ที่เคยเลื่อมใสในพระเทพปริยัติวิมลเหลือเกิน ว่าจะเชียร์กันยังไงไหว ?
สุดท้ายของบทความนี้ ก็ขอชี้ว่า ชีวิตบนเส้นทางสายมหามกุฏราชวิทยาลัยของพระเทพปริยัติวิมลนั้นจบลงแล้ว และจบแบบไม่สวยเลย ซึ่งก็บอกได้แต่เพียงว่า เสียดาย คนเก่งและหนุ่มแน่นแบบพระเทพปริยัติวิมลนั้นยังทำงานพระศาสนาได้อีกมาก หากแต่ทางเส้นนี้ไม่เหมาะสมที่ท่านจะเดินเสียแล้ว ถึงเดินก็จะตกหุบตกเหวเอาง่ายๆ หันหน้าไปเอาดีทางอื่นเหมือนอาจารย์จิ๋วแห่งวัดป่าพุทธคยาดีกว่า เชื่อว่าพระเทพปริยัติวิมลคงหาทางออก-ทางเดินให้แก่ตนเองได้ในไม่ช้า
เพราะคนที่ผ่านงานระดับอธิการบดีมานั้น ไม่ว่าจะด้วยความสามารถ ด้วยโชค ด้วยดวง หรือด้วยความเป็นเด็กปั้นเด็กเส้นมาก่อนก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า "ไม่ธรรมดา" เพียงแต่ว่าบางบทบาทอาจจะบกพร่องและให้ผลเร็วเกินไป ทำให้ต้องหยุดเพื่อปรับทิศทางใหม่
เพราะถ้าท่านเป็นคนดีมีคุณธรรมน้ำใจคนหนึ่ง (และเคยช่วยเหลือใครไว้บ้าง) ก็ไม่ต้องห่วงหรอกว่าจะไม่มีข้าวกิน ดีเสียอีกสิ จะได้พิสูจน์ดูใจคน ว่าตอนที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีอยู่นั้น วันๆ มีแต่คนพะเน้าพะนอเยินยอสารพัด บัดนี้ ไม่มีตำแหน่งอธิการบดีค้ำก้นแล้ว คนเหล่านั้นยังจะพินอบพิเทาท่านเหมือนเดิมไหม นี่ไงที่ว่า ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส ถ้าหากมีสายตาและมองเป็น ถ้าท่านมองเห็น ท่านก็จะเป็นคนมีตาทิพย์คนหนึ่งเชียว
25.
ทำไมพระมหานรินทร์ต้องเขียนเรื่องนี้ ?
ก็นั่นนะสิ ไม่ได้เขียนมามานโขแล้วนะ แต่เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ในฐานะที่เกาะติดข่าวสารทางด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยมาโดยตลอด ก็เห็นว่า เป็นกรณีประวัติศาสตร์ในวงการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย มีทั้งพฤติกรรมส่วนตัว พฤติกรรมต่อสาธารณชน ทั้งเรื่องกฎหมาย ข้อบังคับ และประมวลจริยธรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันไปถึงสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงลงพระนามในพระบัญชาแต่งตั้ง พัวพันไปทั้งมหาเถรสมาคม ดังนั้น ถ้าจะไม่เขียนก็เห็นว่าเว็บไซต์อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะนั้นไร้สาระ ไม่รู้ว่าจะเปิดขึ้นมาทำไม ไปสวดภาณยักษ์หากินแถวๆ วัดไผ่ล้อมของพระน้ำฝนกับคณะของเจ้าคุณเสนาะไม่ดีกว่าเหรอ รวยไวออก
ดังนั้น ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมานั้น มิใช่เพราะว่าผู้เขียนมีอคติกับใคร ไม่ว่ากับพระเทพปริยัติวิมล หรือพระเทพวิสุทธิกวี ตั้งแต่เกิดมาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตาเลยว่าเป็นคนยังไง แล้วทำไมจะต้องอาฆาตมาดร้าย ใครที่อ่านมุมมองของพระมหานรินทร์มาโดยตลอดก็คงเข้าใจ
ถ้าหากข้อเขียนนี้ไปกระทบท่านพระเทพปริยัติวิมลก็ดี ท่านพระเทพวิสุทธิกวีก็ดี ก็ต้องกราบขอขมาอภัยด้วย เพราะถึงที่สุดแล้ว ก็กรรมที่ท่านทำมานั่นแหละจะส่งผลกรรมให้ท่าน มิใช่เพราะข้อเขียนนี้เลย
ตรงกันข้าม เพราะเราเห็นว่า ท่านทั้งสองเป็นบุคคลสำคัญในคณะสงฆ์ไทย เราจึงให้เกียรตินำเสนอข่าวและเขียนถึง หากท่านทั้งสองเป็นพระเด็กๆ เหมือนปลาซิวปลาสร้อยแล้ว เราก็คงจะไม่เอ่ยถึงด้วยซ้ำ
แต่ในส่วนลึกของผู้เขียนแล้ว ก็เห็นใจพระเทพปริยัติวิมลและพระเทพวิสุทธิกวีทั้งคู่นั่นแหละ ไม่รู้สินะว่าชะตากรรมอะไรนำท่านทั้งสองให้โคจรมาพบกัน ณ มมร. แต่ในความเป็นคนมีอุดมการณ์ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็อยากจะสร้างชื่อเสียง "ฝากไว้ในแผ่นดิน" แบบว่าไม่ให้เสียชาติเกิด ด้วยความอยากจะทำงานพระศาสนาให้ยิ่งใหญ่ จึงคิดโครงการใหญ่ แต่อาจจะมองข้ามอะไรไป หรือเบื้องต้นนั้นเจตนาอาจจะบริสุทธิ์ แต่ภายหลังเกิดโลภเข้าครอบงำ งานใหญ่เลยเสียหาย ทำลายทั้งตนเองและองค์กรให้เสียหาย จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามแต่ แต่ก็เป็นไปแล้ว
แต่กระนั้นท่านว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ทางมหามกุฏราชวิทยาลัย ควรที่ใช้ "วิกฤตใหญ่" ในครั้งนี้ พลิกกลับเป็นโอกาส ทำการสะสางปัญหาภายในให้โปร่งใส จัดระเบียบและระบบให้เข้าที่เข้าทาง ก่อนจะเดินหน้าบนถนนแห่งการศึกษาต่อไป อย่าช้าเลยครับ พระธรรมโกศาจารย์ท่านพามหาจุฬาฯนำหน้าไปไกลแล้ว !
ด้วยความเคารพและจริงใจ
พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา16 กันยายน 2555
09
:00 P.M. Pacific Time.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ