ความศักดิ์สิทธิ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


http://www.facebook.com/avatarshiva?ref=hl#!/photo.php?fbid=203652849764303&set=a.186489488147306.38092.186482854814636&type=1&theater

พระราชพิธีนี้ บวงสรวงเทพเจ้าเหล่าพรหมอันมี พระศิวะเจ้า ผู้ประทานพร พระพรหมธาดา ผู้สร้าง และ พระนารายณ์ ผู้รักษา เพื่อให้เมืองนั้น ๆ มีความเจริญรุ่งเรืองภิญโญยศสืบไป เป็นการขอพรวิเศษจากมหาเทพเบื้องบนดลบันดาลให้กรุงรัตนโกสินทร์เป็นปึกแผ่นมั่นคงแข็งแรง ปราศจากศัตรูหมู่ปัจจามิตร

โบสถ์พราหมณ์เทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โดย รณธรรม ธาราพันธุ์

1 ปฐมกำเนิดเสาชิงช้า...
กรุงเทพมหานครหรือกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวงของสยามประเทศมาช้านาน นับได้แต่เริ่มสร้างบ้านแปลงเมืองสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลต้นแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์สถาปนาเมืองขึ้นที่ชัยภูมิใหม่อันอยู่ตรงข้ามกับทำเลเดิมซึ่งคือ ธนบุรี แลมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่นอยู่ ครั้นสร้างพระนครในปีพุทธศักราช 2325 ล่วงแล้วได้ 2 ปี มีพราหมณ์ชาวสุโขทัยท่านหนึ่งชื่อ พราหมณ์กระต่าย กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงธรรมเนียมการสร้างพระนครว่า...

ปกติการสร้างเมืองหลวงให้เป็นอุดมมงคลย่อมต้องคำนวณฤกษ์ยามให้ถี่ถ้วน ตลอดจนบวงสรวงเทพเจ้าเหล่าพรหมอันมี พระศิวะเจ้า ผู้ประทานพร พระพรหมธาดา ผู้สร้าง และ พระนารายณ์ ผู้รักษา เพื่อให้เมืองนั้น ๆ มีความเจริญรุ่งเรืองภิญโญยศสืบไป

ครั้นพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลต้นทรงสดับ ก็ทรงเห็นพ้องดีงามจึงมีพระบรมราชโองการสถาปนายศให้พราหมณ์กระต่ายเป็น พระครูสิทธิชัย และดำเนินการสร้างหอเทวาลัยขึ้นในปีพุทธศักราช 2327 เพื่อประดิษฐานเทวรูปมหาเทพและเพื่อประกอบพิธีต่าง ๆ ทางพราหมณ์ จากนั้นจึงดำเนินการสร้าง เสาชิงช้า ขึ้นพร้อม ๆ กับ วัดสุทัศน์เทพวราราม โดยกำหนดว่า ณ วัดสุทัศน์ ฯ แลเสาชิงช้านั้นคือใจกลางพระนคร

เสาชิงช้า ถูกสร้างขึ้นในวันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง พุทธศักราช 2329 ซึ่งแต่เดิมเสาชิงช้ามิได้ตั้งอยู่ ณ บริเวณปัจจุบัน แต่อยู่ตรงหน้าเทวสถานเลยทีเดียว หากภายหลังมีการสร้างโรงเก็บน้ำมันก๊าดขึ้น จึงย้ายเสาชิงช้ามาตั้งไว้ยังสถานที่ดังทุกวันนี้

เสาชิงช้าเป็นไม้สักล้วนมีความสูงจากฐานกลมถึงยอดลายกระจังประมาณ 21 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางฐานกลมประมาณ 10.50 เมตร ฐานนั้นก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาวพื้นปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีเสาชิงช้าแกนกลางหนึ่งคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ดล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย

เมื่อสร้างเสาชิงช้าและเทวสถานแล้วเสร็จ ชาวพราหมณ์ที่มาจากเมืองศรีธรรมาโศกราชหรือนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกับพระครูสิทธิชัย (พราหมณ์กระต่าย) ประกอบพิธีโล้ชิงช้าขึ้นเพื่อแสดงเหตุการณ์ตอนพระเจ้าสร้างโลก หมายให้พระราชพิธีนี้เป็นการขอพรวิเศษจากมหาเทพเบื้องบนดลบันดาลให้กรุงรัตนโกสินทร์เป็นปึกแผ่นมั่นคงแข็งแรง ปราศจากศัตรูหมู่ปัจจามิตร

เมื่อทำพิธีโล้ชิงช้าเรียบร้อยแล้วจึงถือว่าการสร้างพระนครได้สำเร็จลงอย่างสมบูรณ์ จากนั้นค่อยประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อไป

พิธีโล้ชิงช้าจำได้ว่ามาเลิกเอาเมื่อปีพุทธศักราช 2478 สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วยเห็นว่าเป็นการอันตรายเกินไปและเศรษฐกิจในสมัยนั้นตกต่ำเป็นอันมากรัฐบาลจำเป็นต้องประหยัดงบประมาณในงานพระราชพิธีที่เห็นว่าไม่จำเป็นออกเสีย จึงเหลือแต่พิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย (อย่างไม่ต้องโล้ชิงช้า) และพิธีช้าหงส์ในโบสถ์พราหมณ์เมื่อคราวเฉลิมวันเสด็จเยี่ยมโลกของพระศิวะ

เสาชิงช้านี้มีการซ่อมแซมปรับปรุงมาหลายครั้ง ดังจารึกที่ฐานเสาว่า ?ไม้เสาชิงช้าคู่นี้กับทั้งเสาตะเกียบและทับหลัง เมื่อถึงคราวเปลี่ยนเสาเก่า บริษัท หลุยส์ตีเลียวโนเวนส์ จำกัด ซึ่งทำการค้าไม้ ได้ให้สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ นายหลุยส์ โธมัส เลียวโนเวนส์ ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วนั้น อันเป็นผู้ที่ได้เข้ามาตั้งเคหะสถานอยู่ในประเทศสยามกว่า 50 ปี เสาชิงช้านี้ได้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2463?

จากนั้นก็ได้รับการขึ้นทะเบียนในลำดับที่ 10 ให้เป็น ?โบราณวัตถุสถาน? สำคัญของชาติ ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492

และในปี พ.ศ. 2502 ได้เปลี่ยนกระจังที่เป็นลวดลายผลุงและทาสีใหม่ ในปี พ.ศ. 2513 ตัวเสาชิงช้ามีความชำรุดทรุดโทรมมาก จำต้องเปลี่ยนเสาใหม่เพื่อความมั่นคงแข็งแรง โดยการปฏิสังขรณ์นั้นพยายามรักษาลักษณะเดิมไว้ทุกประการ เมื่อแล้วเสร็จได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2515

นี่คือของที่อยู่คู่บ้านคู่เมือง

เรียกว่าอยู่กันมาแต่ครั้งก่อร่างสร้างตัว สมควรที่เราผู้เป็นลูกหลานจะได้สืบทอดสมบัติชาติด้วยการระวังรักษามิให้เสียหายโดยวิธีการอื่นใดนอกจากเสื่อมโทรมไปตามธรรมชาติ และควรช่วยกันทำนุบำรุงในเมื่อยามชำรุดโดยบริจาคด้วยกำลังทรัพย์ก็ดี หรือด้วยแรงกายก็ดี

2 เทวสถานของทวยเทพ...

ในหอเทวาลัยหรือเทวสถานโบสถ์พราหมณ์นั้น
ประกอบด้วยโบสถ์ที่ประดิษฐานเทพเจ้าชั้นผู้ใหญ่ในศาสนาพราหมณ์อยู่สามหลังด้วยกัน คือ

1. สถานพระอิศวร

เป็นโบสถ์ใหญ่หลังแรกประดิษฐานเทวรูปของพระอิศวร (อิ-สวน) หรือพระศิวะ เหตุเพราะพราหมณ์ที่ประจำอยู่นับแต่เริ่มสร้างพระนครเป็นพราหมณ์ใน ไศวะนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะว่าเป็นใหญ่สูงสุดจึงให้ความสำคัญกับพระองค์มากที่สุดและในขณะเดียวกันก็นับถือพระเป็นเจ้าองค์อื่น ๆ ด้วย

อันนิกายในศาสนาพราหมณ์ได้แบ่งออกเป็น 4 นิกายหลักด้วยกัน คือ

1. นิกาย ไศวะ ถือพระศิวะเป็นใหญ่อีกทั้งนับถือพระนารายณ์ พระพรหม และเทพองค์ต่าง ๆ ประกอบกัน
2. นิกาย ไวษณพ ถือพระนารายณ์เป็นใหญ่อีกทั้งนับถือพระศิวะ พระพรหม และเทพอื่น ๆ ด้วย
3. นิกาย ศากต ถือพระแม่อาทิศักตีหรือพระแม่ปราศักตีเป็นใหญ่ องค์เทวีและเทพนารีทั้งปวงถือกันว่าเป็นองค์อาตมันที่ออกไปจากพระแม่อาทิศักตีนั้นเอง และนับถือพระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ พร้อมทั้งเทพต่าง ๆ ด้วย ในส่วนของวัดพระศรีมหาอุมาเทวีหรือวัดแขกสีลม ก็คือ ศากตนิกาย ที่ถือกันว่าพระชายาจะทรงไว้ซึ่งกำลังและอำนาจของพระสวามีเช่นกัน ดังนั้น การบูชาพระชายาก็จะได้ถึงสองกำลังในเวลาเดียว เช่น วัดแขกสีลมถือพระแม่อุมาปารวตีว่าเป็นใหญ่ บูชาแล้วก็จะได้กำลังพรจากพระองค์และจากพระสวามีคือ พระศิวะ ด้วยเช่นกัน
4. นิกาย สมารต ถือห้าองค์ด้วยกัน คือ พระพิฆเนศวร พระแม่อาทิศักตี พระพรหมา พระนารายณ์ และพระศิวะ ไม่มีองค์ใดใหญ่กว่ากัน

ส่วนลัทธิ-นิกายต่าง ๆ ที่แยกย่อยออกไปจากสี่นิกายหลักนี้มีเป็นเรือนพันด้วยกัน บางลัทธิไม่ถือรูปเคารพใด ๆ เลยแต่ถือธรรมคำสอนเป็นศาสดาก็มี เช่น อารยสมาชหรือฮินดูธรรมสภา เป็นต้น

โบสถ์พระศิวะนี้สร้างโดยวิธีก่ออิฐถือปูนไม่มีพาไล (ส่วนที่แยกออกจากเรือนหรือมุมในเรือนที่ใช้สอยอย่างอื่นเช่น นั่งเล่น โดยไม่ใช่ห้องนอน) หลังคาทำลดหลั่นกัน 1 ชั้น หน้าบันด้านหน้ามีปฏิมากรรมปูนปั้นเป็นรูปพระศิวะมหาเทพและพระแม่อุมาเทวี พร้อมเครื่องมงคลอันได้แก่ สังข์ กลด กุมภ์ อยู่ในวิมานเรือนแก้ว ใต้วิมานมีรูปพระโคนนทิและกลุ่มเมฆ ส่วนหน้าบันด้านหลังไม่ปรากฏรูปปั้นใด ๆ

ในโบสถ์ประดิษฐานเทวรูปพระศิวะซึ่งหล่อจากสัมฤทธ์ประทับยืนปางประทานพรโดยยกพระหัตถ์ทั้งสองข้าง มีความสูง 1.87 เมตร และยังมีเทวรูปต่าง ๆ ขนาดกลางอีก 31 องค์ ประดิษฐานในเบญจา ถัดจากเบญจาไปด้านหลังมีศิวลึงค์ 2 องค์ทำจากหินดำ ด้านหน้าเบญจามีชั้นลดหลั่นประดิษฐานเทวรูปพระพรหมธาดา 3 องค์ ซึ่งพระราชครูวามเทพมุนี (สมจิต รังสิพราหมณกุล) เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 2514 และเทวรูปพระสรัสวดี 1 องค์ ซึ่ง นายลัลลาล ประสาททวยาส ชาวอินเดียเป็นผู้สร้างถวายเมื่อราว 20 ปีมานี้

ด้านข้างชั้นลดมีแท่นประดิษฐานรูปปูนปั้นพระอิศวรทรงโคนนทิข้างหนึ่งและพระอุมาปารวตีทรงโคนนทิข้างหนึ่ง ซึ่งรูปทั้งสองนี้มีมาเนิ่นนานก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 เสียอีก กึ่งกลางโบสถ์มีเสาชิงช้าสีขาวสูง 2.50 เมตร สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวายในวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ (บูชาพระอิศวร พระอุมา พระคเณศ) วันแรม 5 ค่ำ เดือนยี่ (พระนารายณ์) และวันแรม 3 ค่ำ เดือนยี่ (พระพรหม)

อันพิธีช้าหงส์ในวันแรม 1 ค่ำและวันแรม 5 ค่ำ นั้น เป็นพิธีที่กระทำมานานแล้วแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทว่าพิธีในวันแรม 3 ค่ำ เป็นพิธีที่เพิ่งเริ่มจัดให้มีขึ้นรัชกาลที่ 9 นี้เองภายหลังจากที่พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิต รังสิพราหมณกุล) ได้สร้างเทวรูปพระพรหมธาดาทูลเกล้าทูล-กระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบพระนักษัตร (พระชนมายุ 36 ปี ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2506)

2. สถานพระคเณศ

โบสถ์หลังที่สองเป็นโบสถ์ซึ่งอยู่กึ่งกลาง สร้างอย่างก่ออิฐถือปูนมีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้าไว้สำหรับปักธูปเทียนของผู้มาสักการบูชา ตัวโบสถ์ไม่มีลวดลายใด ๆ หลังคามีชั้นลดหนึ่งชั้นหน้าบันเรียบ

ภายในประดิษฐานเทวรูปพระคเณศหรือพระพิฆเนศวร 5 องค์ องค์ประธานนั้นเป็นโลหะสร้างด้วยเนื้อสัมฤทธิ์มีความสูง 1.06 เมตร อีกสี่องค์เป็นเทวรูปที่แกะจากหินธรรมชาติล้วน คือ หินแกรนิต 1 องค์ หินทราย 1 องค์ และหินเขียว 2 องค์ ทุกองค์มีความสูงประมาณ 95 เซนติเมตรและอยู่ในปางประทับนั่งประดิษฐานบนเบญจา

3. สถานพระนารายณ์

โบสถ์หลังที่สามเป็นโบสถ์ที่อยู่ด้านในสุดทางขวามือ สร้างอย่างก่ออิฐถือปูนเช่นกัน มีพาไลทั้งด้านหน้าและหลัง การก่อสร้างเหมือนอย่างสถานพระคเณศทุกประการ

ภายในประดิษฐานเทวรูป 3 องค์ซึ่งสร้างเป็นซุ้มบุษบกสามหลังวางอยู่บนชั้นยก บุษบกหลังกลางประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ทำด้วยสัมฤทธิ์ประทับยืนมีสี่พระกรทรง คฑา จักร สังข์ อีกพระกรหนึ่งยกขึ้นประทานพร มีความสูง 1.51 เมตร บุษบกหลังซ้ายมือประดิษฐานเทวรูปพระลักษมี หลังขวามือประดิษฐานเทวรูปพระมเหศวรี ซึ่งทั้งสองพระองค์ล้วนเป็นพระมเหสีในองค์พระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า

กลางโบสถ์มีเสาชิงช้าสีขาวสูง 2.50 เมตร เหมือนโบสถ์พระศิวะ
เพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย

พระลักษมีและพระมเหศวรีนี้ทำด้วยปูนทั้งสององค์ทั้งที่ของเดิมเป็นสัมฤทธิ์ เนื่องจากเทวรูปทั้งสามล้วนเป็นองค์จำลองด้วยถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสั่งย้ายเทวรูปทั้งหมดเข้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2485 บอกเหตุผลว่าเกรงพราหมณ์จะรักษาไว้ไม่ไหวจึงเอาของเดิมอายุเป็นร้อยปีไปเอาของใหม่มาแทน

แต่เมื่อจะทำการขนย้ายพระพิฆเนศวรออกจากโบสถ์ไปอีกองค์หนึ่งกลับมีปรากฏการณ์อัศจรรย์คือไม่สามารถนำท่านออกจากประตูโบสถ์ได้ ไม่ว่าจะด้านหน้าหรือด้านหลังแม้ทางหน้าต่างก็ไม่อาจทำได้ พยายามกันจนอ่อนใจจึงต้องเลิกล้มไป ทำให้เทวรูปพระพิฆเนศวรยังเป็นองค์ดั้งเดิมแต่สมัยรัชกาลที่ 1

นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน

กล่าวดังนี้เพราะคำสอนของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์มีอยู่ว่า เมื่อจะประกอบพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าองค์ใด ๆ หรือทำพิธีสำคัญอะไรก็ตาม จะต้องบวงสรวงบูชาพระคเณศก่อนทุกครั้งไปแล้วค่อยทำการบูชาเทพองค์ที่เราต้องการ หาไม่แล้วพิธีกรรมทั้งหลายที่ประกอบขึ้นจะไม่ประสบผลและความสำเร็จได้เลย

และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระคเณศไม่ปรารถนาจะจากเทวาลัยเก่าของท่านไป เพราะท่านต้องอยู่เป็นหลักชัยในการบำบวงสักการะก่อนเทพองค์อื่น ๆ แม้แต่พระบิดาคือพระศิวะเทพหรือพระมารดาคือพระอุมาปารวตีก็ยังต้องเป็นที่สอง สาม สี่ ห้า ฯลฯ เป็นลำดับไป
3 พระพรหมอยู่ที่ไหน...?

ต่อข้อสงสัยที่ว่าทำไมไม่มีโบสถ์ของพระพรหมให้สักการะทั้งที่เป็นเทพเจ้าซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันดี ตอบได้ว่าความเชื่อของคนไทยกับคนอินเดียต่างกันอยู่มาก ชาวฮินดูแท้แล้วย่อมรู้ดีว่าพระพรหมเป็นเทพที่ไม่มีพิธีกรรมเป็นของตนเอง เมื่อท่านไม่มีพิธีกรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับท่าน เทวสถานที่ต้องใช้ในการประกอบพิธีจึงไม่จำเป็นต้องมี

นี่คือเหตุผล

และไม่แปลกใจเลยที่เห็นคนไทยอยากเอาใจพระพรหม อยากใกล้ชิดพระพรหมจนต้องทำศาลให้อยู่หน้าบ้าน หน้าบริษัทห้างร้านกันไปทั่ว แลดูคล้ายวานพระพรหมให้เป็นพระภูมิเฝ้าบ้าน ก็ถ้าการสักการบูชาไม่มีหรือมีแต่ทำไม่ถูกต้องตามเทวบัญญัติ การตั้งศาลนั้น ๆ ขึ้นมาจะมีประโยชน์อะไร

เป็นโทษล่ะไม่ว่า

แต่เพื่อความสมบูรณ์ในการบูชาเทพเจ้าผู้ใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิต รังสิพราหมณกุล) จึงทำการหล่อเทวรูปท้าวมหาพรหมธาดาเทวตาขึ้น และทำเทวาลัยประดิษฐานอยู่กลางบ่อน้ำหน้าโบสถ์พระศิวะในปี พ.ศ. 2515

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์แห่งนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็น ?โบราณวัตถุสถาน? สำคัญของชาติ ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492

ความสำคัญอย่างนี้มิใช่เป็นแค่โบราณสถาน แต่เป็นศูนย์รวมความหลังอันสำคัญยิ่งเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างกรุงเทพมหานครให้พวกเราได้อยู่อาศัย
เทวสถานแห่งนี้มีประมุขพราหมณ์และคณะประกอบพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์มาเนิ่นนานกว่า 200 ปี

ซึ่งทุกพิธีกรรมประกอบขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักในศาสนาพราหมณ์ฮินดู มิใช่ทำอย่างด้นเดาเอาเองเช่นตำหนักทรงเจ้าพ่อเจ้าแม่หรือ พ่อหมอ ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะพราหมณ์ทุกท่านล้วนสืบทอดเชื้อสายมาจากอินเดียโดยตระกูล รับการฝึกฝน ศึกษามาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเริ่มตั้งแต่รุ่นแรกที่ตั้งกรุง

และที่สำคัญยิ่งคือคณะพราหมณ์ทุกยุคสมัยล้วนเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสมอมา ดังนั้น การประกอบพิธีจึงจำเป็นยิ่งที่ต้องให้ถูกถ้วน แม่นยำ และศักดิ์สิทธิ์สูงสุด สมกับที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย และสมนามที่เป็นพราหมณ์ ผู้เป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและเหล่ามนุษย์

4 ตระกูลพราหมณ์ในสยาม...

ศาสนาพราหมณ์เข้ามาสู่ดินแดนแคว้นสุวรรณภูมินี้ก่อนสมัยทวารวดี เป็นที่แน่ชัดว่ามาพร้อมกับคณะพราหมณ์ที่ติดตามพระอรหันตเจ้าสองพระองค์ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนนี้คือพระโสณะเถระกับพระอุตตระเถระ ซึ่งพระเถระทั้งสองได้ปักหลักพระพุทธศาสนาลงที่บ้าน คูบัว นครปฐม ในราวปี พ.ศ. 303 ดังที่ทราบ และมีหลักฐานชัดเจนว่าศาสนาพราหมณ์ก็มาด้วยกันอันดูได้จากเทวาลัยสถานที่ประกอบพิธีกรรมและปูชนียวัตถุในศาสนา อาทิ เทวรูป ศิวลึงค์ รางน้ำมนต์ เป็นต้น โดยเฉพาะแถบนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และที่ตำบลพงตึก จ.กาญจนบุรี

ราวปี พ.ศ. 1800 พระพุทธศาสนาแห่งลังกาวงศ์ได้แพร่จากอินเดียเข้าสู่กรุงสุโขทัย กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงทรงเอาพระทัยใส่และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาก ขณะเดียวกันก็ทรงรับธุระในศาสนาพราหมณ์เช่นกัน ตัวอย่างคือในราชสำนักจะมีพราหมณ์ระดับ พระศรีมโหสถและพระมหาราชครูเป็นปุโรหิต ถวายความรู้วิทยาการของกษัตริย์และนักรบ

ทั้งยังประกอบพิธีกรรมตามคัมภีร์พระเวทอันสืบเนื่องมาเป็นพระราชประเพณีตราบจนทุกวันนี้ สาธกให้เห็นชัดคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีตั้งหลักเมือง พระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย (โล้ชิงช้า) พระราชพิธีบูชาเทพนพเคราะห์ประจำปี (พราหมณ์ไปประกอบพิธีถวายในพระราชวัง) พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น

ในส่วนปลีกย่อยอันแพร่หลายไปมากก็มีปรากฏจนทุกวันนี้เช่น การดูฤกษ์ยาม การดูทิศดูวันประกอบการมงคล การตั้งศาลพระภูมิ การบูชาเทพเจ้า การสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ การทำและประพรมน้ำมนต์ การปลุกเสกลงอักขระเลขยันต์ การเบิกเนตรพระพุทธรูป-เทวรูป การใช้สายสิญจน์ในพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องในศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น

พุทธแท้แล้วย่อมไม่มี

เห็นได้ว่าศาสนาทั้งสองนี้มีความใกล้ชิดกันมากผสมปนเปกันจนแยกแทบไม่ออก อาจแยกได้โดยทางวิชาการ แต่ในความประพฤติแล้วย่อมเป็นหมดหวัง ก็ถ้าไม่ใช่เรื่องชั่วเสียอะไรคงเอาไว้ก็อาจดีกว่าเลว

ตระกูลของพราหมณ์เมื่อเข้าสู่สยามได้ปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกันได้กับคนไทยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาเป็นสรณะสูงสุด พราหมณ์จึงลดบทบาทที่อาจขัดต่อความรู้สึกคนไทยไปหลายอย่าง เช่น การใช้คนหรือสัตว์มีชีวิตในการบูชายัญ การแยกตนถือชั้นวรรณะ การสมรสในคนต่างวรรณะกัน เป็นต้น ฉะนั้นการทำยัญญกรรมต่าง ๆ จึงอาศัยสิ่งไม่มีชีวิตแล้วหรือเครื่องสังเวยที่มิใช่ของคาว การถือแบ่งชั้นวรรณะก็ไม่ปรากฏคงไว้เพียงการถือเพื่อรักษาธรรมเนียมของตระกูล การสมรสก็อนุโลมทั่วไปคงถือเฉพาะสายเลือดฝ่ายบิดาที่จะบวชเรียนถือเพศเป็นพราหมณ์ต่อไปได้

เหตุนี้ผู้คนในสยามประเทศที่มีสายเลือดแห่งพราหมณ์จึงปรากฏอยู่มากมาย มีทั้งที่รู้ตัวเองและที่ไม่รู้ตัวว่ามีสายเลือดพราหมณ์อยู่ก็มิใช่น้อย ทั้งนี้เพราะการขาดจดหมายเหตุและการบันทึกนั่นเอง เท่าที่ทราบตัวอย่างตระกูลพราหมณ์สำคัญแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาพอลำดับได้ดังนี้

พราหมณ์ศิริวัฒนะ ดำรงยศเป็น ?พระมหาราชครูพระราชปุโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงษ์วงศ์บริโสตมพราหมณ์ทิชาจารย์? พระมหาราชครูท่านนี้ได้ให้กำเนิดลูกหลานและเป็นต้นสกุลที่สำคัญสืบทอดจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มากมาย คือ

1. เจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) เป็นต้นสกุล ทองอิน . อินทรพล
2. กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ (มุก) เป็นต้นสกุล นรินทรกุล
3. เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เป็นต้นสกุล สิงหเสนี
4. เจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันทร์) เป็นต้นสกุล จันทรโรจวงศ์
5. พระยาทัศฎาจาตุรงค์ (ขนมต้ม) เป็นต้นสกุล ชัชกุล
6. พระยาจินดารังสรรค์ (แก้วแขก) เป็นต้นสกุล ภูมิรัตน์
7. เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) เป็นต้นสกุล บูรณศิริ
8. หลวงอาสาสำแดง (แตง) เป็นต้นสกุล สุจริตกุล
9. พระยาราชโยธา (ทองอยู่) เป็นต้นสกุล ศิริวัฒนกุล

นี่เป็นเพียงลูกหลานในสายของพราหมณ์ศิริวัฒนะเพียงท่านเดียว ซึ่งมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หากตระกูลที่มิได้บันทึกไว้จะมีอีกสักเท่าใด ท่านใดที่อ่านพบว่าตนเองหรือเพื่อนพ้องมีนามสกุลเดียวกับที่ลงไว้ พึงทราบเถิดว่าท่านเป็นพราหมณ์โดยสายเลือด ยิ่งเฉพาะท่านที่เป็นชายย่อมสามารถบวชรับสายยัชโญปวีตแล้วศึกษาประกอบพิธีกรรมได้ทันที

ถึงกระนั้นผมใคร่ขอแถมสกุลพราหมณ์ที่ยังมีอีกคือ รัตนพราหมณ์ รังสิพราหมณกุล วิริยะบูรณะ และ นาคะเวทิน นี่ก็พราหมณ์แท้ เพราะการจะเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่นั้นมิได้อยู่ที่การถือบวชเพียงอย่างเดียวเหมือนชายที่ประสงค์บวชเป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธ การอุปสมบทนั้นใครก็ทำได้ถ้ามีคุณสมบัติแห่งมนุษย์เพียงพอ แต่พราหมณ์นั้นมิใช่ เพราะคุณสมบัติหลักคือต้องเป็นพราหมณ์มาโดยชาติตระกูลคือสายเลือดเท่านั้น

การประกอบพิธีพราหมณ์ในราชสำนักนั้นมีมาอย่างเข้มข้นทุกรัชสมัย ครั้นตกถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎร์ก็ให้เลิก กรมพิธีพราหมณ์ กระทรวงวัง ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเสีย

หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้พราหมณ์ปฏิบัติพระราชพิธีสำหรับพระองค์และพระราชวงศ์ กับทั้งประเทศชาติต่อไป โดยเทวสถานโบสถ์พราหมณ์นี้สังกัดสำนักพระราชวัง

และมีตำแหน่งการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้

1. พระมหาราชครู
2. พระราชครู
3. พระครู
4. พราหมณ์พิธี

ในส่วนของลำดับตำแหน่งพราหมณ์ในพระราชสำนักก็ประกอบด้วย

1. พระมหาราชครู / พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าหรือประธานพระครูพราหมณ์
2. พระครูอัษฎาจารย์ ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยฝ่ายขวา
3. พระครูสตานันทมุนี ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยฝ่ายซ้าย
4. พระครูศิวาจารย์ ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยทั่วไป
5. พราหมณ์ ผู้จัดเตรียมพิธีกรรม

5 ศาสนิกพราหมณ์สายต่าง ๆ...

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พราหมณ์ชาวอุตตรประเทศและปัญจาบได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยที่ศาสนิกพราหมณ์ที่มาจากปัญจาบทำกิจการค้าขายผ้าถึง 99 % ส่วนศาสนิกพราหมณ์ที่มาจากอุตตรประเทศประกอบกิจการประเภทรับจ้างและราชการ เป็นต้น

ในพ.ศ. 2422 ศาสนิกพราหมณ์จากทางใต้ของอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดสร้างศาลาหลังเล็ก ๆ ขึ้นเพื่อประดิษฐานเทวรูปของพระแม่อุมาเทวีเพื่อกราบไหว้บูชา ซึ่งต่อมาได้พัฒนาขึ้นจนเป็น วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) ครั้นเมื่อจำนวนศาสนิกมากขึ้นจึงไปจัดสร้างวัดวิษณุโดยศาสนิกพราหมณ์อุตตรประเทศร่วมกัน

ศาสนิกชาวปัญจาบนั้นแบ่งออกออกเป็น 2 พวก คือ ซิกข์ และ พราหมณ์ฮินดู ได้ใช้สถานที่ร่วมกันปฏิบัติศานกิจที่บริเวณหลังวังบูรพา เมื่อคนมากขึ้นจึงแยกกัน โดยที่พราหมณ์ฮินดูไปสร้างฮินดูสมาชขึ้นบริเวณใกล้เสาชิงช้าซึ่งภายหลังกลายเป็น วัดเทพมณเฑียร

ต่อมาชาวภารตะรวมกำลังกันจัดตั้งสถาบันขึ้นพร้อมกับสมาคมฮินดูธรรมสภา เรียกว่า อารยสมาช เป็นกลุ่มพราหมณ์ที่ถือธรรมะเป็นศาสดา ไม่บูชานับถือรูปเคารพใด ๆ

http://www.liveinbangkok.com/forum/index.php?topic=9055.0;wap2


ด่วน ข้อมูล วิทยานิพนธ์ด้านความมั่นคงสถาบันพระศาสนา ในประวัติศาสตร์ ได้ที่https://docs.google.com/file/d/0B_nOh0gPsWNSUkVWRG9aQ3pkbmc/edit
ช่วยแบ่งปันได้เพื่อสร้างบุญบารมี



จาก สมเกียรติ กาญจนชาติ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ