โครงการพลังปัญญา
เคยถามตนเองกันไหมว่า? เหตุใดโลกเราจึงมีทั้ง “ผู้สำเร็จ” และ “ผู้ล้มเหลว” ซึ่งความสำเร็จในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความร่ำรวย มีอำนาจ มีชื่อเสียงเสมอไป แต่อาจหมายถึงเพียงชีวิตที่ปกติสุข ไม่เป็นหนี้ มีสุขภาพกายและจิตที่สมบูรณ์แข็งแรง ในทางกลับกัน หลายคนชีวิตล้มเหลว จมอยู่กับอบายมุขและหนี้สิน หาความสุขกายสบายใจไม่ได้
ดร.เฉลิมพล เกิดมณี นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในฐานะผู้ร่วมทำโครงการ “พลังปัญญา” (Power of Wisdom) กับมูลนิธิมั่นพัฒนา กองทัพบก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หอการค้าไทย (TCC) และเครือซีเมนต์ไทย (SCG) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิรูปวิธีคิดของคนไทยให้ไปสู่ทางที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านอาชีพ รายได้ ลดปัญหาความยากจน หนี้สินและความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน
ดร.เฉลิมพล แบ่งประเภทคนที่กำลังประสบปัญหาในชีวิตไว้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ใช้ชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่ากำลังเผชิญ
กับปัญหา 2.กลุ่มที่รู้แล้วว่าชีวิตตนกำลังมีปัญหา แต่ไม่รู้ว่าจะหาทางออกที่ถูกต้องได้อย่างไร และ 3.กลุ่มที่รู้ปัญหาและหนทางแก้ไขปัญหา แต่ขาดปัจจัยที่จะทำให้เขาเดินไปสู่ทางนั้นได้
“คนไทยเรานั้นมีอยู่ 3 กลุ่ม เปรียบเสมือนกลุ่มปลาทอง 3 กลุ่ม กลุ่มแรกไม่รู้ว่าอ่างที่ตัวเองอาศัยอยู่นั้นอ่างที่รั่ว แต่ยังคง
ว่ายน้ำเล่นอยู่อย่างสนุกร่าเริง กลุ่มที่ 2 คือ เป็นปลาทองที่รู้ว่าอ่างรั่วแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะโดดไปอ่างไหน เปรียบเหมือนคน คือชีวิตของเขาระบบการศึกษา เราไม่เคยให้เขาได้เรียนรู้ ไม่เคยให้เขาได้เห็นว่าสิ่งที่ดีนั้นอยู่ตรงไหน กลุ่มที่ 3 คือปลาทองที่รู้แล้วว่าอ่างรั่ว เห็นแล้วว่าอ่างไหนที่ควรจะไป แต่โดดไปไม่เป็น” นักวิชาการอาวุโสรายนี้ กล่าว
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่พบ..คนทั่วไปมักติดกับดักทางความคิดที่ชื่อว่า “ความเคยชิน” จึงไม่กล้าที่จะออกนอกกรอบ ไม่กล้าที่จะทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากเดิม แล้วสิ่งที่ได้ก็ได้แบบเดิมๆ หรืออาจจะแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำไป เช่น การทำเกษตรทุกวันนี้ ที่กลายเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไปจำนวนมาก และใช้จนทำให้สภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศน์เสียสมดุลอย่างรุนแรง ทั้งที่มีทางออกมากมาย
“คนเราหากมีความคิดที่ไม่ถูกสกัดกั้น เขาก็จะมีจุดยืนเองได้ ตัวอย่างเช่น เขามีนา เขาไม่มีน้ำ เขาจะปลูกข้าวได้อย่างไร ถ้าเขาคิดนอกกรอบก็ไม่มีอุปสรรคกับชีวิต อย่างมีแต่ดิน ไม่มีน้ำก็ขุดบ่อบาดาล มีดินไม่มีน้ำก็ปลูกอะไรที่ใช้น้ำน้อย หรือไม่ก็ปั้นดินเผา นี่คือความคิดนอกกรอบ ต่อยอดได้หลายอย่าง ไม่ใช่นั่งรอแต่ฝนตก
ตรงนี้เราต้องคิด มันมีทางออก แต่เพราะเราถูกสังคมปลูกฝัง พอเขาหลุดจากกรอบความคิดได้ เราจะสอนเรื่องความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล เหตุผลคนเราทุกคนมี แต่อะไรที่เรียกว่าเหตุผลที่ถูกต้อง ซึ่งมีหลัก 3 ประการ คือ 1.ต้องการเอาตัวเองให้รอด 2.มนุษยสัมพันธ์กับผู้คนต้องไม่เสียหาย และ 3.คุณธรรมต้องไม่ผิด” ดร.เฉลิมพล อธิบาย
โครงการพลังปัญญา เบื้องต้นนำร่องที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน) เพราะเป็นภาคที่ผู้คนมีชีวิตยากลำบากกว่าภาคอื่นๆ โดยมุ่งสร้างตัวแทนในท้องถิ่นให้เป็นผู้นำชุมชนของตน สู่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 73 คน จากหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งคัดเลือกจากบุคคลที่ดูแล้วมีบุคลิกภาพ 4 ประการ คือ 1.ความเป็นผู้นำ 2.เป็นคนมีเหตุและผล 3.สามารถเป็นต้นแบบได้ และ 4.มีจิตอาสาต่อสาธารณะ
“การสอนในโครงการนี้จะมีแบบกรอบความคิด เหตุและผลความสำคัญของเขาตรงนี้คือเรื่องของเศรษฐกิจ เราก็เลยสอนเรื่องการเข้าใจการดูงาน เราพามาดูงานเพื่อให้เค้าได้รู้ว่าโลกนี้มีอะไรที่ใหญ่กว่า เมื่อออกมาข้างนอกแล้วจะรู้ว่าทำยังไงให้ชีวิตเราดีแบบนี้แบบนั้นได้ การออกแบบชีวิต ออกแบบการเงินตัวเอง วางแผนชีวิตตั้งแต่ตอนนี้ แนวทางหลักการที่จะใช้ชีวิตไว ใหม่ ใหญ่ ยั่งยืน และมีความสุข
การเลือกคนมา จุดประสงค์คือทำบุคคลต้นแบบของสังคมไทยให้เป็นคนเก่งและดี ที่มีเหตุและผล ที่สามารถนำไปสู่บุคคลอื่นได้ เราจึงเลือกบุคคล 4 ประเภทนี้ คือ 1.เป็นผู้นำ 2.คนที่มีเหตุและผล 3.คนที่สามารถจะเป็นต้นแบบได้ 4.คนที่มีจิตอาสา โครงการนี้จึงจัดตั้งคิดว่าจะขยายไปหกโครงการ พื้นที่ที่เราเลือกคือภาคเหนือและอีสาน เราจึงขยายสองภาคนี้ก่อน เนื่องจากเป็นหลักๆ ว่าสองภาคนี้ลำบากมากในหลายๆด้าน เราจึงจะทำให้คนใช้คำนี้คือ ความพอเพียง ความพอเพียงคือความสุขแบบยั่งยืน” ดร.เฉลิมพล ฝากทิ้งท้าย
แม้เรื่อง “บุญกรรม-โชควาสนา” จะเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จและล้มเหลว แต่อีกส่วนหนึ่ง “วิธีคิด” ในการเลือกใช้ชีวิต ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
และอาจจะมากกว่าโชคชะตาเสียด้วยซ้ำไป!!!
http://www.naewna.com/scoop/127721
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ