ปฎิรูปกิจการพระศาสนาในประวัติศาสตร์ไทย

ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

พ.ศ.นี้ พระพุทธศาสนากำลังเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด

ทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ล้วนแต่ถูกมารศาสนาแอบอ้างบิดเบือนทำลาย เพียงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง

หากสังคมไทยไม่ร่วมมือกันพิทักษ์ไว้ซึ่งพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ปฏิรูประบบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ก็เล็งเห็นได้โดยแน่แท้ว่า พระพุทธศาสนาจะถูกบ่อนทำลาย กัดกร่อน กลืนกิน กระทั่งกลายเป็นอื่น หลักธรรมคำสอนอันดีงามและจริงแท้ก็จะถูกบิดเบือนจนบิดเบี้ยว มิใช่เครื่องมือดับทุกข์ แต่กลายเป็นเครื่องมือในกลไกตลาดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจของมารศาสนาต่อไป

ประเด็นที่ต้องพิจารณาใน “การปฏิรูประบบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา”

      1) ทรัพย์สมบัติของวัดและของพระ

  ปัจจุบันปรากฏปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทองของวัดและของพระมากมาย อีรุงตุงนัง

กรณีพระที่มรณภาพ แต่ทิ้งทรัพย์สินไว้มากหลาย ญาติพี่น้องมาเรียกร้องว่าเป็นมรดกของตนเอง

กรณีพระดังที่มีเงินเก็บล้นกุฏิ มีทรัพย์สินหรูหราฟู่ฟ่า รถยุโรปคันแพง บ้าน ที่ดิน ฯลฯ บริหารจัดการเสมือนหนึ่งอาณาจักรผลประโยชน์ส่วนตน

กรณีวัดดังๆ เช่น วัดโสธรฯ วัดสระเกศฯ ที่มีปัญหาการบริหารจัดการผลประโยชน์ในวัดซึ่งมีมูลค่ามหาศาล บางกรณีผลประโยชน์ของวัดถูกยักยอกไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของพระบางรูปและพวกพ้อง

 ถึงเวลาจะต้องปฏิรูประบบการบริหารจัดการทรัพย์สินและรายได้ของพระสงฆ์และวัด

ปัจจุบัน วัดถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยกำหนดให้เจ้าอาวาสเป็นตัวแทนของนิติบุคคลในการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของวัด มีอำนาจทำนิติกรรม นำไปใช้จ่าย-ลงทุน จะฝาก-ถอนเงินออกจากบัญชี จะโอนไปให้ใครที่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเจ้าอาวาส

ซึ่งหากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดการดูแล โดยส่วนใหญ่ตัวกรรมการก็จะเป็นคนของเจ้าอาวาสทั้งสิ้น หลายกรณีเป็นญาติพี่น้อง คนรับใช้ คนสนิท ฯลฯ ทำให้อำนาจเด็ดขาดก็ยังอยู่ที่เจ้าอาวาสนั่นเอง    ส่วนเงินของพระ เวลานี้ก็กลายเป็นเงินส่วนตัว แม้จะได้มาจากการบริจาค การทำบุญ การจัดกิจกรรมในนามของพระพุทธศาสนาก็ตาม พระถืออำนาจในการใช้เงินราวกับเป็นเงินส่วนตัวที่ได้มาจากการประกอบอาชีพของคนทั่วไป บ้างก็แจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง ให้อดีตเมีย ให้สีกา รวมถึงให้คนใกล้ชิดเข้ามาบริหารจัดการราวกับเป็นฝ่ายการเงินส่วนตัวเลยทีเดียว

การมีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้ คือต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้พระสงฆ์จำนวนไม่น้อยมุ่งแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง มากกว่าจะทำหน้าที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา 

หนทางในการปฏิรูปแก้ไขในเรื่องนี้ หลักใหญ่ก็ควรจะถือแนวทางตามที่พระพุทธองค์เคยฝากฝังพระพุทธศาสนาไว้กับ “พุทธบริษัท 4” คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ให้ช่วยกันทำนุบำรุง คุ้มครอง สืบทอดพระพุทธศาสนาให้มีความยั่งยืนสืบไป

การบริหารจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ ทั้งของวัดและของพระ ก็ควรจะปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยให้ “พุทธบริษัท 4” เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อแบ่งเบาภาระ ตัดทอนกิเลส และทำให้เกิดความโปร่งใสสูงสุดต่อพระพุทธศาสนาส่วนรวม

หลักสำคัญ คือ ทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ รวมถึงผลประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากการดำเนินการภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ย่อมตกเป็นของพระพุทธศาสนา หาใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคลของผู้ใด ไม่ว่าจะพระสงฆ์รูปไหนๆ หรือวัดใดๆ ก็ตาม

ควรมีฝ่ายฆราวาสขึ้นมาทำหน้าที่ดูแล บริหารจัดการอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล เพื่อมิให้พระสงฆ์ต้องหมกมุ่น หรือไขว่คว้า แสวงหาเงินทองทรัพย์สิน สะสม กอบโกย จนเขวออกไปจากแนวทางของพระพุทธศาสนาต่อไป

พระสงฆ์จะได้ทำหน้าที่สำคัญที่สุด คือ เป็นจิตวิญญาณ เป็นศูนย์กลางความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่อย่างไม่มีมลทินใดๆ มาแผ้วพาน

การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนานั้น จะทำให้พระสงฆ์เกิดบารมี เป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจเงินตราเป็นเครื่องมือ ขณะเดียวกัน พุทธบริษัทที่เข้ามาทำหน้าที่ช่วยดูแลทรัพย์สินของพระพุทธศาสนาก็จะต้องบริหารจัดการให้เกิดความโปร่งใส ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง หากผิดเพี้ยนไปพระสงฆ์ก็จะเป็นผู้เตือนสติอย่างมีน้ำหนักที่ต้องรับฟัง

ตรงกันข้าม เมื่อพระไม่ได้ถือเงิน หรือบริหารจัดการเงินทองด้วยตนเองแล้ว พระก็ย่อมจะมีเวลา และมุมานะในการศึกษาและปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น มิฉะนั้น ก็จะเกิดความเกรงใจพุทธบริษัทที่ทำนุบำรุงวัด สนับสนุนให้พระได้อยู่วัดโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า มีน้ำ-ไฟฟ้าใช้อย่างสะดวก ตามอัตภาพ เกิดการดุลและคานอำนาจกันโดยอัตโนมัติ
                2) ปัญหาของพระสงฆ์ที่บวชเพื่อหารายได้
ปัจจุบัน มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่บวชเป็นพระเพื่อใช้สถานะดังกล่าวแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทน

เสมือนหนึ่งว่า “การเป็นพระ” คือ อาชีพๆ หนึ่ง เหมือนประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น นักแสดง นักร้อง วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ

การหารายได้หรือการรับรายได้จากการบวชเป็นพระ จึงไม่ต้องรู้สึกผิดแปลก เอาเข้ากระเป๋าส่วนตัวได้ เพราะเป็นค่าตอบแทนจากการเป็นพระ เหมือนอาชีพอื่นๆ

วิธีคิดเช่นนี้ เป็นเรื่องผิดเพี้ยนอย่างมาก และนำมาซึ่งปัญหาพฤติกรรมของพระสงฆ์ที่มุ่งแสวงหารายได้สูงสุด ผลประโยชน์สูงสุดตามมาอีกมากมาย

พระที่ถือเอาการบวชเป็นการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ จึงมีพฤติกรรมในการใช้กลวิธีการตลาดมาเป็นเครื่องมือในการกอบโกยรายได้และผลประโยชน์สูงสุด บางส่วนก็มุ่งสร้างภาพลักษณ์ จัดอีเว้นท์ สร้างกิจกรรมที่ดึงดูดเม็ดเงินเข้าพกเข้าห่อ เข้าวัด หวังลาภสักการะ อันจะนำมาซึ่งรายได้มหาศาลต่อไป

มีการใช้ลูกเล่นการตลาดมากมาย อ้างเป็นหมอดู ตาทิพย์ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แก้ดวง เสริมโชคลาภ ใบ้หวย ขายเครื่องรางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สร้างความงมงายแก่ชาวบ้านบางส่วน เพื่อแลกกับชื่อเสียง เงินบริจาค ผลประโยชน์ในเชิงพุทธพาณิชย์

การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา จำเป็นจะต้องคืนพระให้กับพุทธศาสนา โดยบังคับให้คนที่ตัดสินใจบวชเป็นพระแล้ว จะต้องศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

มิใช่เข้ามาบวชเพียงเพื่อหวังจะประกอบอาชีพ หารายได้เข้าพกเข้าห่อ

จะต้องมีการสร้างระบบให้การศึกษากับพระสงฆ์ และมีกลไกบังคับให้พระสงฆ์ต้องปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด หากพระสงฆ์รูปใดไม่ปฏิบัติก็จะต้องมีระบบตรวจสอบและขจัดออกจากการเป็นพระสงฆ์

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าไม่พร้อม หรือไม่ตั้งใจเป็นพระสงฆ์จริงๆ ก็ควรจะถูกขับออกจากการเป็นพระสงฆ์

ยิ่งกว่านั้น การปฏิรูปจะต้องพิจารณาแนวทางกระจายอำนาจการปกครองของคณะสงฆ์ออกไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ และกระจายออกให้กับพุทธบริษัท 4 ได้มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลคณะสงฆ์ด้วย

ในสมัยก่อนยุคจอมพลสฤษดิ์ เคยมีการแบ่งการปกครองเลียนแบบระบบประชาธิปไตย ซึ่งมีฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ (วินัยธรณ์) แต่หลังจากนั้น ได้มีการรวบอำนาจไว้ที่องค์กรมหาเถระสมาคม มีอำนาจทั้งการปกครอง บริหาร ออกข้อบัญญัติ กำกับตรวจสอบ ตลอดจนลงโทษ (ตุลาการ) ทำให้สมาเถระสมาคมต้องมีภารกิจหนักอึ้งอย่างยิ่ง หากสุขภาพไม่เอื้ออำนวย หรือมีความหย่อนยาน ก็จะทำให้การจัดการคณะสงฆ์ไม่มีประสิทธิภาพ และเกิดปัญหาหมักหมม เรื้อรัง และบานปลายในที่สุด

กระจายอำนาจออกไปสู่ท้องถิ่น และให้พุทธบริษัทแต่ละท้องที่มีการควบคุมกำกับดูแล จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภารกิจที่หนักอึ้งออกไปได้มาก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อธรรมาภิบาลของการบริหารจัดการในคณะสงฆ์ด้วย
3) “การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย”

ปัจจุบัน มีลัทธิบูชาที่สมอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนา แต่แก่นแท้ของลัทธิกับถือหลักปฏิบัติที่ขัดแย้ง หรือตรงกันข้ามกับแนวทางตามพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง

ยกตัวอย่าง กรณีธรรมกาย มีการแต่งกาย และอ้างว่าเป็นวัดในพระพุทธศาสนา แต่แนวทางคำสอนกลับขัดแย่งกับพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรง อาทิ พระพุทธศาสนาให้ถือหลัก “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” แต่ธรรมกายกลับปลอมแปลงคำสอนกลายเป็นว่า มีความสุขที่ถาวร พระพุทธเจ้ายังคงมีความสุขอยู่บนแดนสุขาวดี สามารถจะขึ้นไปตักบาตรพระพุทธเจ้าได้นะจ๊ะ ทำบุญมากๆ ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงๆ ได้บุญมากๆ จะได้อยู่ในดินแดนความสุขตลอดไป และยิ่งโหมกระพืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์พิสดารมากมาย ทั้งเรื่องสตีฟ จ็อบ เรื่องปัดระเบิดปรมาณู เรื่องการทำบุญแล้วจะรวย อยากรวยต้องทำบุญเยอะๆ ต้องโปรยดอกดาวรวย (ดอกดาวเรืองสีเหลือง เปลี่ยนชื่อมาเป็นดาวรวย) ฯลฯ ยิ่งทำให้คนยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูมากยิ่งๆ ขึ้นไป

กลายเป็น “นิจจัง สุขัง อัตตา”

มีการทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎก ปลอมปนคำสอนในลัทธิของตนลงในพระไตรปิฎก พยายามยกย่องครูบาอาจารย์ของตนนำมาอ้างเป็นมาตรฐานเพื่อตัดสินหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างเรื่องนิพพาน เป็นต้น พยายามหว่านล้อม ชักจูงให้คนทั่วไปเข้าใจว่า บุญมีฐานะเป็นเหมือน“สินค้า” ชนิดหนึ่ง และเมื่อทำบุญแล้วอานิสงส์ของบุญจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ได้อย่างปาฏิหาริย์ ตามแนวทางบริโภคนิยม วัตถุนิยม การประพฤติหลายอย่างยังวิปริตผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย โดยนำเอาลัทธิทุนนิยม ลูกเล่นการตลาด เข้ามาใช้ในการระดุมทุน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง

ทั้งหมดนี้ ใช้โลโก้พระพุทธเจ้า ใช้เครื่องแบบพระพุทธศาสนามาแอบอ้าง เลียนแบบ ทำปลอมแปลง โดยที่เจ้าลัทธิมีพฤติกรรมที่น่าจะต้องปาราชิกไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะเกี่ยวข้องกับกรณียักยอกทรัพย์ ทั้งเงินและที่ดิน ตลอดจนอวดอุตริมนุสธรรม กระทั่งถูกดำเนินคดี ซึ่งเหลือสืบพยานจำเลยอีก 2 นัด ในวันที่ 23 และ 24 สิงหาคม 2549 แต่ในวันที่ 21 สิงหาคม 2549 พนักงานอัยการในขณะนั้น (ยุคทักษิณ) กลับขอถอนฟ้องจำเลย คือ ธัมมชโย โดยอ้างว่าคืนเงินแล้ว

ปรากฏข่าวว่า สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ได้เคยมีพระลิขิตเกี่ยวกับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ดังต่อไปนี้

ฉบับที่ 1 “ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสอน โดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไปกลายเป็นสอง มีความเข้าใจความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้ามเป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบันและอนาคตที่หนัก ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการกระทำที่ถูกต้อง คือ ต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที”

หลังจากที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มีพระลิขิตฉบับที่ 1 ออกมาแล้วนั้น อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ยังมิได้คืนทรัพย์ทั้งหมดแก่วัด สมเด็จพระสังฆราชจึงมีพระลิขิตฉบับอื่นๆ ตามมา เช่น

ฉบับที่ 2 “การไม่ยอมคืนสมบัติให้วัด ในขั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนาถือเอาเป็นของตน แต่เมื่อถึงอย่างไร ก็ยังไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะ โดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”

ฉบับที่ 3 “การโกงสมบัติผู้อื่นตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไปคือประมาณไม่ถึง 300 บาทในปัจจุบัน ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิกฐานผิดพระธรรมวินัยพ้นจากความเป็นพระทันที ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้เห็นหรือไม่ ไม่ว่าจะมีการสั่งให้สึก ไม่ว่าจะมีการจับสึกหรือไม่ก็ตาม  ภิกษุผู้ละเมิดพระธรรมวินัยข้อนี้ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ ที่ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรก็เพื่อเตือนให้รู้ทั่วกันว่า ผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้นไม่ใช่พระในพุทธศาสนา เป็นเพียงผู้นำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง เป็นพระปลอม ต่อจากนั้นย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้รักษากฎหมาย หรือของผู้มีหน้าที่ในการพุทธศาสนา จะต้องรักษาพระพุทธศาสนาไม่ให้มีพระปลอมมาทำลาย ทำให้เสื่อมเสีย เช่นที่ผู้รักษากฎหมายเคยทำมาแล้ว เคยบังคับให้เป็นผู้ปลอมเป็นพระ ถอดผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากตัว การปฏิบัติต่อพระปลอมต้องไม่มีแตกต่างกัน ต้องไม่มียกเว้นว่า คนนั้นปลอมได้คนนี้ปลอมไม่ได้ เป็นพระปลอมมีอยู่ในพุทธศาสนาไม่ได้ทั้งนั้น ประกาศนั้นเป็นคำบอกเล่าเป็นคำเตือนให้รู้ เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับมหาเถรฯไม่บังคับให้เชื่อ ไม่บังคับใครให้ทำอะไร แสดงความถูกผิดให้ปรากฏอยู่เท่านั้น ในฐานะที่เป็นประมุขแห่งสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงต้องทำหน้าที่ส่วนตนให้เรียบร้อยถูกต้อง บอกความจริงด้วยความหวังดีมิได้บังคับ จงเข้าใจทั่วกัน”

ล่าสุด วัดธรรมกายยังจะต้องคืนเงินมากกว่า 700 กว่าล้านบาท เพราะเป็นเงินที่ได้มาจากการทุจริต ยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ  ยิ่งตอกย้ำวงจรแห่งอกุศลกรรม

กรณีเช่นนี้ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการที่มาชำระการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย เปรียบเสมือนศาลรัฐธรรมนูญ ใครบิดเบือนหรือกระทำละเมิดรัฐธรรมนูญก็จะต้องถูกตัดสินว่ามีความผิด ไม่อาจกระทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ กรณีพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนานั้น มีความจริงแท้อยู่แล้ว ก็ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่ชำระสะสางอย่างตรงไปตรงมา ใครทำผิด ใครละเมิดพระธรรมวินัยก็จะต้องถูกลงโทษ

หากลัทธิใดยังต้องการดำเนินตามแนวทางของตน ก็ไม่ควรแอบอ้างพระพุทธศาสนา แต่ให้ออกไปตั้งลัทธิใหม่ ประกาศตน และแสดงออกอย่างชัดเจนว่ามิใช่พระพุทธศาสนา เพื่อมิให้ประชาชนเข้าใจผิด
4) ระยะห่าง-ระยะชิด ของอาณาจักรกับพุทธจักร

                ในยามที่พุทธจักรอ่อนแอ ถูกบ่อนทำลาย บิดเบือน กัดกร่อน กลืนกิน ทั้งจากภายในและภายนอก ฝ่ายอาณาจักรจะต้องเข้ามาปกป้อง เกื้อหนุน ดูแล โดยยึดหลักพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ

กฎหมายบ้านเมืองที่จะใช้กับพุทธจักร ก็จะต้องดูแลให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย

คนที่บวชต้องทำตามกฎหมายบ้านเมือง และกฎหมายบ้านเมืองก็เกื้อหนุนพระธรรมวินัย

การให้อำนาจรัฐ และส่งเสริมให้พุทธบริษัท 4 เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา มิใช่การลบหลู่หรือลบล้างพระพุทธศาสนา ตรงกันข้าม กลับจะเป็นการเชิดชู อุปถัมภ์ค้ำจุน ปกป้องเกื้อหนุนให้พระพุทธศาสนามีความเข้มแข็ง และตั้งอยู่บนครรลองที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย โดยไม่ถูกมารศาสนาบิดเบือนนำไปเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์อย่างเลวร้ายต่อไป

                ปัจฉิมบท... ในยุคปัจจุบัน เรากำลังจะก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน เป็นสมาชิกในสังคมโลกที่แน่นแฟ้นและใกล้ชิด คนไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน แต่คนในโลกส่วนใหญ่มิได้นับถือศาสนาพุทธ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่กับเพื่อนมนุษย์ที่นับถือศาสนาอื่นๆ อย่างมีสันติภาพและเข้าใจกันและกัน พึงต้องเข้าใจแก่นธรรมของศาสนาอื่น อาทิ อิสลาม คริสต์ ฯลฯ ว่าแต่ละศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

“การปฏิรูประบบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา” ของเรา จะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา สร้างความเข้มแข็งให้แก่พุทธบริษัท 4 อุปถัมภ์ค้ำชูพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้สถิตสภาพรเป็นรากแก้วแห่งชีวิตของพุทธศาสนาชิกชนอย่างมั่นคงต่อไป

ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ศาสตราภิชาน  มหาวิทยาลัยรังสิต

 นสพ.แนวหน้า
หมายเหตุควรตรวจสอบบัญชีกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ