ประวัติศาสตร์ร่วมกำจัดมารศาสนา
มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับการเดินธุดงค์ของวัดธรรมกาย... ผลสำรวจจากฝั่งเจ้าของกิจกรรม “ธุดงค์ธรรมชัย” ระบุเอาไว้ ส่งให้เกิดดรามาระลอกใหญ่ ผู้คร่ำหวอดถือโอกาสลุกขึ้นเปิดโปงให้ได้ฉุกคิดว่า นอกจากผลโพลที่ขาดความน่าเชื่อถือนี้แล้ว ยังมีคำสอนที่ถูกบิดเบือนอีกมากมายที่รู้แล้วต้องอึ้ง! เห็นพ้องกันว่าถึงเวลาหามาตรการจัดการกับ“พุทธธรรมกลายพันธุ์” นี้เสียที!!
“ธุดงค์” คือเส้นทางรับทรัพย์ หยุดไม่ได้!
“ไม่ได้ต้องการด่าว่ากันด้วยโทสะและความเกรี้ยวกราด ทุกครั้งที่จะพูดเรื่องนี้ พระอาจารย์ก็ยังต้องปฏิบัติธรรมก่อนวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้มั่นใจว่าเรายังพูดในความเมตตากรุณา แต่มันไม่ใช่การเมตตาแบบสปอยล์ ไม่ใช่การโอ๋ลูกให้เสียคน แต่เป็นการเตือนด้วยความหวังดี อยากให้เขาหลุดพ้น เตือนให้เขาเห็นสิ่งดีด้วยสายตาของกัลยาณมิตร จึงอยากให้เข้าใจว่านี่ไม่ใช่การโจมตี”
พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร อธิบายจุดยืนให้เข้าใจ ฝากเอาไว้ในงานเสวนากรณี "ธุดงค์ธรรมชัยวิบัติ" ในหัวข้อ หัวข้อ "กึ่งพุทธกาลกับมารศาสนา (ลัทธิสัทธรรมปฏิรูป ตรรกวิบัติของธรรมกาย)" ซึ่งจัดโดยแฟนเพจ ต่อต้านลัทธิจานบินฯ และ กลุ่มสภาปฏิรูปพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สปพช.) ก่อนเริ่มเจาะลึกถึงแก่นแท้พุทธศาสนา ผ่านปรากฏการณ์เดินธุดงค์ครั้งใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นและได้รับเสียงก่นด่ามากที่สุด
(โพลฝั่งธรรมกายชี้ ผู้ไม่เห็นด้วย "ธุดงค์ธรรมชัย" มีเพียงน้อยนิด)
(สวนทางกับโพลพันทิป คนต่อต้านร่วมหมื่น)
“คำว่า “พระธุดงค์” ในสังคมไทยมันขายได้ เพราะญาติโยมโดยทั่วไปจะอยากทำบุญกับพระธุดงค์ เขาถึงไม่ยอมละกิจนี้ เพราะมองว่านี่คือเครื่องมือทางด้าน Marketing ในการดูดทรัพย์ที่ดีมากในสังคมไทย “ธุดงค์ธรรมชัย” เถียงกันไม่จบไม่สิ้นว่าสรุปแล้วถือเป็นธุดงค์หรือเปล่า เพราะเขาบอกมาว่าอย่างน้อยพระของเขาก็ถึงธุดงค์ 2 ข้อคือ “ฉันมื้อเดียว” กับ “พระในที่ที่จัดไว้ให้” จากองค์ประกอบเรื่องการธุดงค์ที่มีทั้งหมด 13 ข้อ แท้จริงแล้ว เรื่องธุดงค์เป็นเรื่องพิเศษกว่าพระธรรมวินัยปกติ ทำไปเพื่อมุ่งเน้นให้ขัดเกลากิเลสส่วนบุคคล แต่บางคนก็ไปใช้วิธีนี้เรี่ยไรจากศรัทธาของชาวบ้าน”
ถ้าว่ากันด้วยหลักวิชาการจริงๆ “ธุดงค์” ไม่ได้หมายถึงการเดินอย่างที่ชาวไทยพุทธเข้าใจกันอยู่ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องเรียกแทนการเดินเช่นนี้ของสงฆ์ว่า “จาริก” แต่แทนที่ทางธรรมกายจะใช้โอกาสที่ผู้คนสนใจกิจกรรมใหญ่ครั้งนี้อธิบายให้มวลชนเข้าใจ กลับยิ่งไปซ้ำให้เข้าใจคำว่าธุดงค์ผิดเข้าไปอีก
“ยิ่งไปซ้ำให้คนเข้าใจผิดไปใหญ่เลยว่า ธุดงค์หมายถึงการเดิน แถมยังเป็นการเดินที่ทำให้รถติดด้วย เดินกันบนเสื่อ เดินกันบนดอกดาวรวย ดาวอะไรไม่รู้ที่กระตุ้นความโลภ และที่อ้างว่าการโปรยดอกไม้มีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธกาลแล้วนั้น ถ้าลองไปอ่านดูให้ดี จะพบว่าเขาโปรยดอกไม้กันจริง แต่เป็นการโปรยไปบนฟ้า โปรยในอากาศ แต่นี่โปรยเจาะจงไปที่ให้วางเท้า
(ความหมายของดอก "ดาวรวย")
ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ควรจะออกมายอมรับว่าเป็นการประดิษฐ์แบบใหม่เพื่อผลทาง Marketing แต่ทุกวันนี้ ทำแบบเดิมมาหลายปีก็ยังพยายามให้เข้าใจผิด เป็นคลุมเครือกันต่อไป คงหวังเพื่อให้ได้ Marketing ในระยะยาว ทุกวันนี้เพราะมีความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป จึงทำให้ความรักในพระพุทธศาสนาของเราถูกทำลายลงไปมากทีเดียว
ธุดงค์ธรรมชัยของธรรมกาย ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องธุดงค์กันในมุมนี้มาก สำนักอื่นๆ ก็มีเอาคำว่า “ธุดงค์” มาใช้กัน แต่เป็นไปเพื่อการทำแบบไม่ถูกต้อง ทำแบบผิวเผินว่าที่ไหนมีธุดงค์อวดกันบ้างหลายคนหยิบเอามาเป็นเครื่องเย้ยหยัน บอกว่าถ้าจัดปีที่ 4 ปีที่ 5 หรือ 6 แบบนี้ต่อไปได้ ก็ถือเป็นการประกาศแสนยานุภาพว่าใครจะไปทำอะไรเขาได้แต่ดูเหมือนกระแสครั้งนี้มันกลับพลิก กลายเป็นคนไม่ชอบมีมากกว่า อย่างที่บอกว่ามันเป็นกฎแห่งกรรม
ส่วนเรื่องที่เขาอยากให้คนไปร่วมเยอะๆ เพราะคาดหวังว่าอิทธิพลจากจิตวิทยากลุ่มเหล่านั้น จะหนุนนำให้ผู้คนเกิดความประทับใจและปลื้มที่ได้เข้าร่วมกิจ ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เขาทำไม่ดี มันก็ดี แต่ถามว่าจะอธิบายปรากฏการณ์ตรงนี้บนความอ้างอิงจากอะไร Marketing แบบนี้มันเหมือนเทคนิคตามคอนเสิร์ตที่ทางโลกเขาใช้กัน หรือประเทศที่มีผู้นำจะเสด็จมาแล้วแห่กันมาต้อนรับเท่านั้นเอง
เท่าที่เข้าไปอ่านดูในคอมเมนต์ของแต่ละคน มีหลายคนเข้าไปทำภาพตัดต่อเพื่อล้อเลียนทางธรรมกาย มันเป็นการแสดงออกรูปแบบหนึ่ง แต่อาจเป็นรูปแบบที่ไม่ค่อยให้ประโยชน์อะไรนัก เพราะมันอาจจะไปเข้าทางเขา สุดท้ายแล้วเขาจะกลายเป็นเหยื่อของสังคม มองว่าถูกรังแก น่าเห็นใจว่าชาวพุทธทั่วไปช่างหยาบคาย เหมือนกับพวกเราทำลายตัวเองไปด้วย ตอนนี้ก็เกิดการด่ากันจนเกินควบคุมแล้ว มันเหมือนดาราบางคนที่ชอบหาเรื่องให้คนด่า เพื่อให้ได้พื้นที่ข่าวบนสื่อ ให้เป็นที่สนอกสนใจ แต่ถ้ายังแสดงความเกลียดชังกันแบบนี้ ก็คงได้เวียนเกิดเวียนตายกันไปเรื่อยๆ
(พระฝั่งธรรมกายโพสต์เตือน ด่าพระบาป)
กลุ่มที่อยากแสดงความไม่ชอบธรรมกาย ทำได้นะ เพราะอาจารย์ว่าน่ารักดี ยังอยากให้มีอยู่ เพียงแต่ว่าให้ทำออกมาอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น ท้าทายขึ้น อย่าเอาแต่ด่าด้วยความโกรธเกรี้ยว แต่ให้อธิบายว่าที่ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร เอาข้อมูลมาทำใหม่ ช่วยกันโพสต์และแชร์ออกไป ทำให้เป็นโพสต์ที่ย่อยง่าย อาจจะต้องมีฝ่ายอินโฟกราฟิกเพื่อให้ย่อยและทยอยปล่อยให้ชาวพุทธ จะได้ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับธรรมกายแต่ไม่มีอะไรให้โพสต์ จะได้ไม่ต้องไปโพสต์อะไรด่าๆ โพสต์ไปก่อน
ที่สำคัญ น่าจะมีวงวิชาการศึกษาเรื่อง“ศรัทธาปฏิรูปศึกษา” หรือ “ธรรมกายศึกษา” ด้วย ควรมีฝ่ายวิชาการเพื่อกระตุ้นข้อมูลออกมา มีฝ่ายภาครัฐออกมาทำยุทธศาสตร์ช่วงที่คนสนใจ ให้มีกลุ่มประชาชนออกมาแสดงความเห็น มีกลุ่มทางสื่อที่ให้พื้นที่ในทางสันติของการสื่อสารเรื่องนี้ แม้จะขัดแย้ง แต่ขอให้ขัดแย้งเพื่อสันติ เพื่อเห็นต่าง การด่าว่ากันด้วยโทสะและความเกรี้ยวกราด มันไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่โทษต่อผู้ว่าเสียเอง”
“ธรรมก(ล)าย” = แหล่งกำเนิดพุทธกลายพันธุ์?
ที่ถือเป็นวิกฤตมากสำหรับพระพุทธศาสนาคือ หากเจาะลึกในคำสอนของลัทธิดูดีๆ จะพบเจอสิ่งที่น่าตกใจอยู่เยอะแยะ ซึ่งล้วนแล้วแต่บิดเบือนมูลความจริงจากพระไตรปิฎกไปทั้งสิ้น โดยเฉพาะกรอบความคิดความเชื่อที่มองว่า มีสิ่งที่อยู่เหนือนิพพานขึ้นไปอีก และอีกหลากหลายรายละเอียดที่ลัทธินี้เชื่อว่าตนเหนือกว่าพุทธธรรมดาในทุกอณู พระมหาพงศ์นรินทร์ ถือโอกาสชำแหละความจริงให้ได้รับรู้อย่างลึกซึ้งร่วมกัน
“ความน่าตกใจของคนที่นับถือพระพุทธศาสนาก็คือเมื่อไปได้ยินคำสอนหลายๆ อย่างออกมา โดยเฉพาะศัพท์บัญญัติใหม่ “ต้นธาตุต้นธรรม” “ที่สุดแห่งธรรม” แล้วก็มี “พระพุทธเจ้าภาคโปรด-ภาคปราบ” มีหลายๆ เรื่องที่เอามาเล่าใหม่โดยใช้เทคนิคทำให้ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ทำให้คุ้นชิน ในขณะที่ฝั่งกระแสพระสงฆ์ฝั่งรักษาพระธรรมวินัยจะไม่ค่อยได้ออกสื่อ คนเลยไม่ค่อยได้ยินศัพท์เดิม พอนานวันเข้าคนก็จะหลงคิดไปว่าความเชื่อแบบนี้คือพุทธปกติแล้วต่อไปฝ่ายเดิมอย่างพวกเราที่รักษาพระธรรมวินัยจะกลายเป็นพวกเปลี่ยนใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่จะไม่ได้ยินของเดิม
(ผู้ปฏิบัติตัดพ้อ ขอความเห็นใจ)
ถามว่าทำไมคนที่จบมหาวิทยาลัยแล้วไปอุทิศชีวิตที่วัดพระธรรมกายเยอะแยะ รุ่นน้องรุ่นพี่ของพระอาจารย์เองก็ไปเป็นประธานที่ใหญ่โตอยู่ในนั้น แล้วก็มีหลายคนที่บวชและสึกออกไปแล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ก็เพราะว่าเขาเป็นศาสนาแบบ“Believe Based Religion” เป็นศาสนาตระกูลที่ใช้ศรัทธาหรือความเชื่อเป็นฐาน ทำให้คนที่นับถือมีความเชื่อ
ถึงขั้นที่ว่าเอาชีวิตเข้าแลกก็ยอมได้ ซึ่งต่างจากพุทธเราที่จะไม่เคยรู้สึกอย่างนั้นมาก่อน มันไม่ใช่สภาวะแบบพุทธ ถ้าเริ่มมีตัวตน มันจะเป็นตระกูลศาสนาที่อาศัยความเชื่อเป็นฐานแล้ว
นิพพานในทางพุทธปกติแล้วก็มี เรียกว่าเป็น “นิพพานอนัตตา” แต่นิพพานของธรรมกายจะถูกปลูกฝังว่าอยู่สูงกว่านั้น เป็น “อายตนนิพพาน” เขาจะใช้เทคนิคเหล่านี้ทำให้ผู้ปฏิบัติเชื่อไปว่าแบบธรรมกายเหนือกว่าพุทธธรรมดา เหนือกว่ายังไง? คลิปคำสอนเหล่านี้ยังมีอยู่ใน Youtube อยู่เลยเป็นการเล่าแบบมีข้อเท็จจริงเดิมอยู่ครึ่งนึงแล้วก็เพิ่มเติมเข้าไปเองอีก
ตอนพระพุทธเจ้าบรรลุธรรม เขาอ้างว่าเรามี “ปางสะดุ้งมาร” บอกว่าเห็นมั้ย ขนาดพระพุทธเจ้าเห็นมารยังสะดุ้งเลย ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ จาบจ้วงมาก เพราะชื่อปางสะดุ้งมันเป็นสำนวนไทย แต่ชื่อเดิมจริงๆ คือ “ปางมารวิชัย” แปลว่าชนะมารแต่การชนะมารในความหมายเดิมของพุทธเราไม่ได้หมายถึงการไปฆ่ามารหรือกำจัดดวงจิตนั้นให้แตกสลาย แต่หมายถึงการเปลี่ยนเขาจากมิจฉาทิฏฐิเป็นสัมมาทิฏฐิ
ถ้าเห็นคนนี้เป็นศัตรู ถ้าคิดแบบธรรมกายก็คือต้องฆ่า กำจัดดวงจิตนี้ให้แตกสลายไป แต่ถ้าคิดแบบพุทธเราคือทำยังไงให้คนนั้นได้เห็นโทษของเดิม เห็นข้อดีใหม่ และเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็จะไม่เป็นมารอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น เขาก็จะเริ่มแทรกแนวคิดว่าพระพุทธเจ้ามี “ภาคปราบ” คือเหนือกว่า “ภาคโปรด” ที่กลัวมาร ปราบมารไม่ได้ อันนี้เป็นแนวคิดลัทธิของเขา มันก็เป็นคนละความหมายกันแล้ว
เขาเอาคำว่า “พระพุทธเจ้า” ไปใช้ แต่ไปใช้เรียกอะไรสักอย่างที่เป็นของเขา พอเป็นพระพุทธเจ้าภาคโปรด ก็จะถือว่าบรรลุนิพพาน แต่เป็น “นิพพานอนัตตา” ซึ่งเขาบัญญัติศัพท์ใหม่และบอกเล่านิทานใหม่ว่า นิพพานนี้มีขนาดเท่าไหร่กี่โยชน์ๆ ก็ว่าไป พระพุทธเจ้าก็จะอยู่ในอายตนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในดวงนิพพานเป็นแสนๆ ล้านๆ ดวง และเป็นที่มาที่ต้องทำบุญประจำเดือน ให้คนมากันเยอะๆ เพราะต้องมาช่วยส่งพลังให้เขาเข้าไปปราบมาร สำเร็จเมื่อไหร่ปุ๊บ เราจะเข้านิพพานตอนเป็นๆ แต่วันนั้นยังมาไม่ถึง เพราะฉะนั้น เวลาทำบุญอะไร บอกเลยว่าลูกๆ ก็ต้องอธิษฐานนะ เพราะถ้าไม่อธิษฐาน บุญก็จะไม่มีพลัง อธิษฐานให้ตามหลวงพ่อไปเกิดทุกๆ ชาติจนถึงที่สุดแห่งธรรม
เคยคุยกับพระเนปาลที่อยู่ธรรมกาย ถามท่านว่าธรรมกายมีความเชื่อว่ามีอะไรที่สูงกว่านิพพานจริงหรือเปล่า ท่านยืนยันว่ามีจริง มันคือนิพพานที่เขาบอกว่าสูงกว่านิพพานธรรมดาของเรา ถามพระเนปาลท่านนั้นว่าเชื่อมั้ย ท่านก็บอกว่าไม่เชื่อหรอกแต่ก็ยังยินดีที่จะร่วมกันเพราะยังมีการอุปถัมภ์ทางการเงินกันอยู่ มีหลายวัดที่เข้าไปร่วมเขาก็รู้อยู่แต่ไม่ขัดเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ และทางเราก็ยืนยันว่าเราไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกับเขา และเราก็ไม่ได้เกลียดชัง เพียงแต่อยากให้เขาหลุดออกมาจากความหลงผิด”
หยุด! กระบวนการยักยอก ฟอกเงินผ่านศาสนา
ประเด็นหลักที่ละทิ้งไม่ได้อีกประเด็นคือข้อสังเกตที่ว่าเงินจำนวนมากมายเหล่านั้นที่เทให้แก่ลัทธินี้เอาไปใช้ทำอะไร และมีที่มาที่ไปโปร่งใสแค่ไหน ยกตัวอย่างคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ที่ผู้ต้องหาคือลูกศิษย์รายใหญ่ของวัดพระธรรมกาย โอนเงินหลายพันล้านบาทจากสหกรณ์ไปสนับสนุนลัทธินี้ จนทำให้ข้าราชการเดือดร้อนไปทั่ว
“หลักฐานชัดเจนมีเช็คที่เผยแพร่โดยทั่วไปว่ามีการสั่งจ่ายโดยนายศุภชัย สั่งจากในนามสหกรณ์คลองจั่นไปให้พระอาจารย์ ซึ่งทรงสมณศักดิ์เป็นของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แต่ก็มีการพยายามทำให้เรื่องเงียบๆ ไม่ค่อยเป็นข่าว ตอนนี้ก็มีการสร้างเจดีย์องค์ใหม่ของวัดพระธรรมกาย อยู่ที่กาญจนบุรี ริมแม่น้ำแคว พื้นที่สวยมาก คนที่กว้านซื้อคือนายศุภชัยอีก ผู้บริหารที่ยักยอกเงินไป
ที่ดินนี้ยักยอกไปให้วัดพระธรรมกาย ยังไม่ทันสร้าง เผอิญมาเกิดข่าวดำเนินคดี ทรัพย์สินจึงถูกอายัด ทางธรรมกายจึงพยายามขอซื้อจากสหกรณ์ ศาลก็บอกว่าถ้าต้องมีการซื้อขายเพื่อให้ไปโปะเงินให้สหกรณ์ ก็ให้สหกรณ์ตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อมโยงกันที่เห็นได้ชัด ทำให้ภาพทั้งหมดมากระทบกับพระและพระพุทธศาสนาด้วยว่าได้เป็นแหล่งฟอกหรือเปล่า และจะทำยังไงไม่ให้เอาศาสนามาเป็นเครื่องมือรับใช้สิ่งเหล่านี้”
แค่พึ่งพลังจากภาครัฐตรวจสอบคงไม่พอ แต่ต้องอาศัยพลังชาวพุทธด้วย อย่าลืมว่านี่แหละคือมวลพลังที่สำคัญที่สุด “จริงๆ สถาบันศาสนาเรามีหุ้นส่วนสำคัญอยู่ที่ “อุบาสก-อุบาสิกา” ด้วย และมีอายุเก่าแก่มา 2,600 กว่าปีมาเช่นกัน พุทธศาสนาภาคฆราวาสเติบโตมากนะ เพราะฉะนั้น อย่าไปดูหมิ่นพลังของตัวเองและเน้นให้ไปศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญา เราก็จะเป็นกำลังที่เข้มแข็งช่วยขับเคลื่อนพระศาสนา เพราะถ้าฝากความหวังไว้กับพระสงฆ์อย่างเดียว ถ้าวันหนึ่งพระสงฆ์มีปัญหาภายใน จบเลยนะ
ในเนปาล ยุคหนึ่งกษัตริย์ประหารชีวิตพระ เนรเทศพระ พระศาสนารอดมาได้เพราะเกิดนิกายเถรวาทแบบหนึ่งที่อยู่ช่วยรักษาศาสนาในช่วงไม่มีพระ ดังนั้น ระบบสำรองสำคัญมากคืออุบาสก-อุบาสิกา อย่าได้ดูถูกตัวเอง”
เสวนา "กึ่งพุทธกาลกับมารศาสนา ลัทธิสัทธรรมปฏิรูป ตรรกวิบัติของธรรมกาย")
อี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมาดา คืออีกหนึ่งพลังที่พร้อมใจมาประกาศการกลายพันธุ์ของศาสนาพุทธในครั้งนี้ เขาบอกว่า “ถ้าเรายอมรับก็เหมือนกับกลองใบหนึ่งที่ถูกปะนิดปะหน่อยด้วยหนังอื่นๆ จากเดิมเป็นหนังควายชนิดเดียวกัน ก็เปลี่ยนไปหมดจนไม่เหลือหนังเดิมอยู่แล้ว ตอนนี้ศาสนาเรามีลักษณะคล้ายๆ กันอยู่ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถตอบง่ายๆ จากการเสวนาครั้งเดียว ถึงแม้จะตั้งองค์กรมาเพื่อปฏิรูปความมั่นคง ก็ต้องยอมรับว่าก็ต้องมีคนของธรรมกายแทรกซึมอยู่ ด้วยอำนาจทุนที่มากมาย
แนวเชื่อหรือลัทธิแบบนี้แพร่ขยายได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง เมื่อแทรกซึมเข้าไปในระบบการเมือง มีอำนาจสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์แล้ว เราก็อาจจะไม่สามารถทำอะไรได้ นอกเสียจากจะมีการปฏิรูปในคณะสงฆ์
เจตนาที่แฝงลึกของเขาคือต้องการอะไร มีเพื่อนที่อังกฤษ และต่างประเทศก็บอกว่ามีหลายสาขา ถ้ามองในแง่บวกก็อาจจะคิดว่าก็ดี ช่วยกันเผยแผ่พุทธศาสนา แต่เท่าที่รู้มาจากวิธีการสอนทั้งหมด รู้สึกว่าไม่น่าใจใช่พุทธศาสนาแล้ว ถ้าอิงจากหลักที่เขาพยายามเผยแผ่อยู่ เรียกว่าเป็นนิกายใหม่ไปเลยก็อาจจะเหมาะกว่า อาจจะเป็นมหายานที่หยิบจับเอาความเป็นเถรวาทไปใช้ประโยชน์ แต่ถ้าเป็นมหายาน ทางมหายานจะเน้นไปที่การให้อย่างสุดหัวใจ แต่ลักษณะนี้กลับดูเหมือนเป็นการกอบโกยเข้ามามากกว่า จะบอกว่าจะไปในแก่นเถรวาทหรือมหายานก็ไม่ไปทางใดทางหนึ่ง
(ผู้มาร่วมฟังจำนวนไม่น้อย)
ดังนั้น จึงอยากให้มีการปฏิรูปในองค์การทางศาสนา ไม่ใช่แค่กรณีธรรมกายอย่างเดียว เราต้องไม่เพิกเฉย ไม่ละทิ้งว่าศาสนาถึงจุดที่ต้องการความอนุเคราะห์เกื้อกูลกัน เราจะสามารถรวมตัวกันได้มากน้อยแค่ไหน สังคมจมกับการทุจริตมานาน แต่ครั้งนี้หนักกว่านั้นอีก เป็นการทุจริตในเรื่องบุญกุศล ผมมาร่วมงานนี้ก็มีแต่คนเตือนว่าไม่คุ้มหรอก ต้องกระทบกับคนมากมาย แต่เราก็คิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไรบ้างเลย เราจะยืนหยัดมีหน้าเป็นชาวพุทธอยู่ได้ยังไง”
พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าถึงแม้การรวมกลุ่มชาว “พุทธธรรมดา” จะยังไม่ยิ่งใหญ่เท่า “พุทธธรรมกาย” แต่เชื่อว่าถ้าเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะไม่พ่ายแพ้ต่อสิ่งเลวร้ายในที่สุด
“ปริมาณน้อยไม่มีปัญหาเพราะตามประวัติศาสตร์บอกเลยว่า พระฝ่ายเถรวาทเป็นพระกลุ่มน้อยมาโดยตลอด แล้วก็มีสตางค์น้อยโดยตลอด มีอำนาจรัฐน้อยโดยตลอด แต่เรารอดมา 2,600 ปี น่าอัศจรรย์นะ
กฎแห่งกรรม กรรมที่กระทำต่อพระรัตนตรัยเป็นของละเอียด แม้จะสร้างบุญเยอะเพื่อจะหนียังไงก็แล้วแต่ ถึงวันหนึ่งจะเป็นเหมือนยักษ์ตัวใหญ่ที่สะดุดล้มแน่นอน”
และหนึ่งในการแสดงพลังเหล่านั้นก็คือ กระบวนการล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อตรวจสอบวัดพระธรรมกาย และเพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนาที่ทางเครือข่ายเตรียมตัวขับเคลื่อนให้สังคมได้เห็นผลกันสักทีว่า ยังมีชาวพุทธอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการให้“ธรรมก(ล)าย” มาทำให้ธรรมะในความหมายที่แท้ของพระพุทธศาสนาต้องกลายพันธุ์
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ