พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ คมช. กำลังจะกลายเป็นระเบิดเวลา


พ.ร.บ.ปรองดอง ระเบิดเวลา ประเทศไทย ความขัดแย้งครั้ง ใหม่ ที่ ใหญ่ กว่าเก่า

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2555 เวลา 00:00 น.
การเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติพ.ศ......ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.พรรคมาตุภูมิ อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ คมช. กำลังจะกลายเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองลูกใหญ่

ที่ต้องบอกเช่นนั้น เพราะการเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติในลักษณะเช่นนี้จะนำมาซึ่งความปรองดองในสังคมไทยซึ่งมีความขัดแย้งกันมากว่า 6 ปี มีความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า จะสร้างความปรองดองได้จริงหรือ หรือจะส่งผลให้เกิดความ “ขัดแย้ง” ทางการเมือง “รอบใหม่” ที่ “ใหญ่” กว่าที่เคยผ่าน ๆ มา 

แม้ความพยายามทางการเมืองครั้งสำคัญครั้งนี้ จะไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม แต่ย่อมหนีไม่พ้นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ระยะหลังถูก “กัน” ออกจากความขัดแย้งทางการเมืองจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้พ้น

เพราะ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คือรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การ “ชี้นำ” ทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นพี่ชาย

ว่ากันว่าในทางการเมือง “นโยบาย” เร่งด่วนที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะทำมีอยู่ “เรื่องเดียว” เท่านั้นนั่นคือ การพา พ.ต.ท.ทักษิณ “กลับบ้าน” โดยไม่มีความผิดติดตัว จะเห็นว่าที่ผ่านมามีความพยายามออกกฎหมายเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษซึ่งภายหลังถูกยกเลิกไป เรื่อยมาจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยอ้างว่ามี “ที่มา” ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้ง ๆ ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ และเรื่องสุดท้ายคือ การออก พ.ร.บ.ปรองดอง ที่แม้ “ฉากหน้า” จะถูกอธิบายว่า เพื่อให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ความสงบ แต่ “ฉากหลัง” กลับถูกมองว่ามีเป้าหมายอยู่ที่คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่ถูกตัดสินไปแล้วและทั้งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.

ที่ผ่านมาตลอด 8 เดือนของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แนวทางการสร้างความปรองดอง ดูเหมือนกลายเป็น “หินถามทาง” ที่ถูกโยนออกมาก่อนหน้านี้เป็นระยะ ๆ ทั้งจากข้อเสนอของแกนนำพรรคเพื่อไทย ทั้งจากแกนนำคนเสื้อแดงที่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ การตั้งคณะกรรมาธิการปรองดองฯ สภาผู้แทนราษฎรที่มี พล.อ.สนธิ เป็นประธานโดยใช้แนวทางของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเริ่มขึ้นเสียอีก

ข้อเสนอเพื่อนำไปสู่ความปรองดองที่ว่านั้น งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่าต้องใช้เวลาและต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง จากนั้นถึงจะมีการออก พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติขึ้นมา แต่วันนี้ กระบวนการต่าง ๆ เหล่านั้น นอกจากจะไม่ได้เดินหน้า ยังถูก “รวบรัด” จากฝ่ายการเมืองด้วยการเสนอกฎหมายเช่นนี้เข้ามาอีก   

“คำถาม” สำคัญ ที่สังคมไทยต้องร่วมกันหา “คำตอบ” คือทำไมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องเร่งรัดด้วยการออกกฎหมายและการเร่งรัดครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่

เหตุที่ต้อง “เร่งรัด” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คงไม่ใช่ “การคิดสั้น” อย่างที่บางฝ่ายเข้าใจ แต่น่าจะมาจากการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองอย่างรอบด้านแล้วว่า ถึงเวลาอันเหมาะสมแล้ว มีหลายเหตุผลประกอบกัน

ประการแรก เป็นความพยายามเพื่อทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านในปีนี้ ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ลั่นวาจาไว้ในช่วงสงกรานต์ที่ประเทศกัมพูชาที่ผ่านมา

ประการต่อมา ชัยชนะจากการได้เสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จ ในสภาผู้แทนราษฎร ผนวกกับเสียงส่วนหนึ่งในวุฒิสภา ทำให้ “ศูนย์รวมอำนาจ” มองว่า หากใช้กลไกของระบอบรัฐสภาซึ่งเป็นไปตามกติกาสากลสามารถอธิบายได้ว่าเป็นเรื่อง “เสียงส่วนใหญ่”

ที่สำคัญการมี พล.อ.สนธิ ในฐานะที่เป็นผู้นำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 เป็นหัวหอก ย่อมเป็นการตอบสังคมได้ว่า ในเมื่อผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารยังหันมา สนับสนุน การปรองดองครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องของผู้ที่ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว

อีกประการ “ศูนย์การนำ” ในพรรคเพื่อไทยมองว่า การปล่อยเวลาเนิ่นนานไปกว่านี้ จะยิ่งเกิดแรงเสียดทานมากขึ้นเป็นเงาตามตัวจากการไม่มี “ผลงาน” ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะธรรมชาติของความเป็นรัฐบาลย่อมต้องมีข้อตำหนิติติง ยิ่งองค์ประกอบของรัฐบาลซึ่งถูกปรามาสว่าเป็น “ทีมซี” ยิ่งสุ่มเสี่ยงที่ถูกวิจารณ์อย่างมาก

ประการสำคัญ “ศูนย์การนำ” ในพรรคเพื่อไทย คงประเมินแล้วว่า ฝ่ายต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มต่าง ๆ คงไม่มีกำลังเพียงพอ เพราะการแตกกันทางการเมืองที่ผ่านมา เมื่อไม่มีความเป็นเอกภาพ พลังของการคัดค้านก็จะไม่มี

ขณะที่ฝ่ายตัวเอง นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้สูญเสียในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเดือน พ.ค. 53 ที่ผ่านมา ยังมี “ของเล่นใหม่” อย่างสมาชิกพรรคไทยรักไทยบ้านเลขที่ 111 ที่ร่วมสังฆกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ถูกยุบพรรคอีกประมาณ 50 คน ซึ่งคนเหล่านี้จะเพิ่มน้ำหนักจาก 5 ปี ที่ถูกกระทำเพื่อทำให้เกิดกระแสความปรองดอง เมื่อรวมกับมวลชนที่แกนนำคนเสื้อแดง “ชี้นำ” และมีอิทธิพลทางความคิดซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยก็น่าจะเป็นพลังผลักดันที่สำคัญ

นอกจากนี้ บทบาทของกองทัพที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล รวมทั้งกระแสที่ถูก “ปู” ออกมาว่า มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ จะเป็น “แรงหนุน” อีกแรงที่สำคัญ

หากไปมองใน “เนื้อหา” ที่อยู่ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติที่มีเสนอและถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมจะพบว่า แม้จะมี 8 มาตรา แต่ละมาตราล้วนทำให้เกิดปัญหาและข้อถกเถียงทั้งสิ้นโดยเฉพาะมาตรา 4 ที่ระบุว่า

“เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ผู้มีอำนาจสอบสวนระงับการสอบสวนนั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น”

ตามร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ระบุว่า ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 15 ก.ย. 48 ถึงวันที่ 10 พ.ค. 54

ซึ่งก็คือ เหตุการณ์ทั้งคนเสื้อเหลือง ทั้งคนเสื้อแดง ทั้งทหาร ทั้งประชาชนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และทั้งคดีความของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย. 49 เป็นอัน “ยกเลิก”

นอกจากคดีที่ติดตัวจะหมดไป คดีที่อยู่ในกระบวนการก็ต้องยุติ ทรัพย์สินที่ถูกยึดไปรวมทั้งดอกเบี้ยทั้งหมดก็ถือว่า ไม่เคยเกิดขึ้น

แค่นี้ ก็จะนำมาซึ่งการถกเถียง และจะกลายเป็นความเห็นที่แตกต่างจนเกิดการแบ่งฝ่ายและอาจจะมีโอกาส “ปะทะ” กันทั้งทางความคิดและกำลังอย่างสูงยิ่ง

ทั้งหมดยังเป็นการ “คาดเดา” ก็จริง แต่มีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะนำมาซึ่งปัญหาครั้งใหม่ที่ใหญ่และอาจจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของบ้านเมืองก็เป็นได้

ไม่ใช่การเติมฟืนในกองไฟ ไม่ใช่การราดน้ำมันบนกองเพลิง แต่เป็นการตั้งระเบิดเวลาเพื่อรอให้เกิดการระเบิด

ที่คิด ๆ กันว่า จะไม่มี จะไม่เกิด เพราะมีบทเรียน มีประสบการณ์ เมื่อเห็นสถานการณ์เป็นเช่นนี้ “คิดกันใหม่” ได้แล้ว พ่อแม่พี่น้อง.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ