ผิดวัตถุประสงค์ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การวิ่งเต้นและการซื้อตำแหน่งในวงการสงฆ์


หมายเหตุอะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ
กรณีพระน้ำฝน-วัดไผ่ล้อม นครปฐม





ก็ต้องถือว่า "เป็นกรณีศึกษา" เกี่ยวกับการจัดงานทำบุญอายุ (ที่พยายามยกย่องว่าอายุวัฒนมงคล) ของ "พระครูปลัดสิทธิวัฒน์" (น้ำฝน กิตฺติจิตฺโต) ซึ่งได้จัดงานวันเกิดอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องในโอกาสที่ตนเองมีอายุครบ 40 ปี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ลงทุนทำข่าวและนำเสนอในเว็บไซต์ของสำนักพุทธฯเอง

ที่ควรศึกษาก็คือว่า ในการจัดงานครั้งนี้ มีการอ้างเอา "พระบัญชา" ของ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ว่าโปรดเมตตาให้ "พระพรหมสุธี" หรือท่านเจ้าคุณเสนาะ ปญฺญาวชิโร วัดสระเกศ ไปปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งประธานฝ่ายสงฆ์ให้แก่พระครูน้ำฝน โดยมี นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รับตำแหน่งประธานฝ่ายฆราวาสในงานนี้ด้วย

"ทำไมต้องมีพระบัญชาไปในงานวันเกิด" นี่เป็นคำถามที่ควรฉุกคิด เพราะการรับกิจนิมนต์ไปในงานทำบุญวันเกิดนั้น ถือว่าเป็น "กิจธุระส่วนตัว" ไม่เกี่ยวกับงานราชการใดๆ ถ้าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ก็คงเป็นไปในทำนอง "เป็นการส่วนพระองค์"คือไม่เป็นทางการ เช่น การเสด็จประพาสต้น การเสด็จถวายพระกฐินต้น เป็นต้น แต่งานวันเกิดของพระครูน้ำฝนในครั้งนี้เห็นว่ามีความหมายผิดไปจากข้างต้น เนื่องเพราะมี "พระบัญชา" ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ "สั่งการ" ให้เจ้าคุณเสนาะไปเป็นประธานงานวัดเกิดของพระครูน้ำฝน

ดูผิวเผินก็คงไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ถ้ามองดูให้ลึกซึ้งแล้วก็เห็นว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีเบี้องหลังของการจัดงานดังนี้

1. พระน้ำฝน เป็นพระในเขตจังหวัดนครปฐม และจังหวัดนครปฐมนั้นอยู่ในเขตการปกครองของภาค 14 แต่ทีนี้ว่า พระน้ำฝนกลับได้รับการแต่งตั้งจาก พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.6) เจ้าคณะภาค 12 ให้เป็นพระฐานานุกรม จะว่าตั้งฐานาข้ามเขตหรือข้ามภาคก็คงว่าได้ เพราะในธรรมเนียมแต่โบราณนั้น การที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจให้พระราชาคณะหรือเจ้าคณะผู้ปกครองสามารถแต่งตั้ง "ฐานานุกรม" นั้น วัตถุประสงค์ก็คือ "เพื่อให้เป็นการประดับยศของพระราชาคณะรูปนั้นๆ" แบบว่าให้ไปทั้งยศทั้งเครื่องประดับ มิใช่ให้ไปแบบตัวเปล่าเล่าเปลือย ดังนั้น ถ้าพระราชาคณะรูปนั้นทราบถึงพระราชประสงค์ข้อนี้ได้ดี ก็ย่อมจะต้องแต่งตั้ง "พระภิกษุภายในวัดของตนหรือในเขตการปกครองของตน" ให้เป็นพระฐานานุกรม เอาไว้รับใช้และประดับยศของตนเองให้ต้องตามพระราชประสงค์ แต่การแต่งตั้งพระครูน้ำฝนเป็นถานานุกรมของท่านเจ้าคุณพระพรหมสุธีในครั้งนี้ ไม่ทราบว่ามีวัตถุประสงค์สิ่งใด ? แน่นอนว่า เมื่อพระน้ำฝนได้เป็นพระครูโดยพระพรหมสุธี ซึ่งอยู่นอกเขตการปกครองของเจ้าคณะพระสังฆาธิการในภาค 15 ก็ย่อมจะมีพฤติกรรม "ขึ้นตรง" ต่อพระผู้ใหญ่นอกจังหวัดนครปฐม ซึ่งนั่นคือ "จุดเริ่มต้น" ของความไร้เอกภาพในการบริหารการปกครองของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เห็นดื่นไป

2. เมื่อมีการแต่งตั้งพระถานานอกวัดและข้ามเขตข้ามภาค โดยผู้มีบารมีเหนือเจ้าคณะภาคของพระน้ำฝน คือท่านเจ้าคุณพระพรหมสุธี ทั้งนี้เพราะท่านเจ้าคุณพระพรหมสุธีนั้น นอกจากจะเป็นเจ้าคณะภาค 12 ควบคุมดูแลวัดในเขต ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว แล้ว ก็ยังเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม แถมยังเป็นเลขานุการในสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งก็คือประธานกรรมการมหาเถรสมาคมในปัจจุบันอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น การแต่งตั้งพระน้ำฝนให้เป็นพระครูปลัดของพระพรหมสุธีจึงถือว่า "เป็นการเบ่งบารมีข้ามเขตการปกครองของตนเอง" โดยที่ "พระพรหมดิลก" (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9) วัดสามพระยา ในฐานะเจ้าคณะภาค 14 ซึ่งปกครองจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และสมุทรสาคร ก็ต้องเกรงใจไม่กล้าห้าม

3. นอกจากพระน้ำฝนจะอยู่ในเขตการปกครองของพระพรหมดิลก วัดสามพระยาแล้ว ก็ยังมีผู้มีบารมีอีกรูปหนึ่งในจังหวัดนครปฐม คือ พระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะภาค 15 ปกครองคณะสงฆ์ในเขตจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ นั่นหมายถึงว่า พระธรรมปริยัติเวทีมีวัดอยู่ในจังหวัดนครปฐม แต่ไม่ได้ปกครองจังหวัดนครปฐม แต่กลับไพล่ไปปกครองจังหวัดอื่นแทน ในทางกลับกัน พระพรหมดิลก ซึ่งมีวัดอยู่ในกรุงเทพมหานคร กลับไปมีอำนาจปกครองวัดในเขตจังหวัดนครปฐม ซึ่งถ้ามองดู "ตำแหน่ง" ระหว่างพระพรหมดิลกและพระธรรมปริยัติเวทีแล้ว ก็มีค่าเท่ากับ เพราะเป็นตำแหน่งเจ้าคณะภาคเหมือนกัน แม้ว่าพระพรหมดิลกจะมีตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย แต่ก็ได้รับแต่งตั้งภายหลังจากเป็นเจ้าคณะภาค 14 ตั้งหลายปี

4. ทีนี้ว่า เมื่อ "พระพรหมดิลก" มีสำนักอยู่ในกรุงเทพฯ แต่มีอำนาจปกครองวัดในจังหวัดนครปฐม จึงมีอำนาจบังคับบัญชาเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม (รวมทั้งมีสิทธิ์ที่จะไปร่วมงานได้ทุกวัดในจังหวัดนครปฐม) แต่สำหรับ "พระธรรมปริยัติเวที" ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครปฐมแท้ๆ กลับต้องมองพระพรหมดิลกเดินเพ่นพ่านอยู่ในจังหวัดนครปฐมอันเป็นเหย้าเรือนของตนเอง มันก็ต้องรู้สึกกระอักกระอ่วนใจกระไรอยู่

5. "พระพรหมดิลก" นั้นมีตำแหน่งเป็นตัวเปิดทางให้เข้าไปทำการ (ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม) ในเขตจังหวัดนครปฐมได้ ก็ถือเป็นความชอบธรรม แต่สำหรับการมาของ "พระพรหมสุธี" ซึ่งไม่มีตำแหน่งในทางการปกครองในเขตจังหวัดนครปฐมเลยนั้น จะอ้างอะไร และนี่ไง จึงต้องอาศัย "ใบเบิกทาง" เป็น "พระบัญชา" ของ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อป้องกันข้อครหาที่จะเกิดแก่เจ้าคุณพระพรหมสุธี ว่าหากินข้ามเขต ข้ามหน้าข้ามตา หรือข้ามหัวเจ้าถิ่น เพราะอย่าลืมว่า ว่ากันเรื่องอาฆาตมาดร้ายแล้ว พระสงฆ์ไทยไม่เคยเป็นสองรองใคร

6. เปรียบเทียบกับการปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระอุปัชฌาย์ข้ามเขต ซึ่งมีกฎมหาเถรสมาคมบังคับไว้ว่า "พระอุปัชฌาย์จะให้บรรพชาอุปสมบทนอกเขตของตนได้ ก็ต่อเมื่อเจ้าของเขตขอร้อง หรือได้ขออนุญาตเจ้าของเขตตามฐานานุรูป เป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นครั้งคราว" การออกกฎมหาเถรสมาคมข้อนี้ออกมา ก็เพื่อป้องกันการปฏิบัติหน้าที่ข้ามเขตของตนเอง โดยว่าถ้าจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ในเขตปกครองของพระรูปอื่น ก็ต้องได้รับการร้องขอ หรือตนเองต้องขอร้อง แจ้ง หรือบอกให้แก่พระอุปัชฌาย์เจ้าของท้องที่นั้นทราบก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าถิ่น แต่สำหรับการปฏิบัติศาสนกิจเป็นประธานงานวันเกิดข้ามเขตของพระพรหมสุธีในครั้งนี้ ไม่ได้มีกฎมหาเถรสมาคมวางแนวปฏิบัติเอาไว้ เจ้าคุณเสนาะซึ่งชำนาญการข้อกฎหมาย เพราะเป็นถึงเลขานุการประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จะไปแบบไร้ใบเบิกทางก็คงจะไม่เท่ห์ เผลอๆ จะโดนด่าเอาด้วยซ้ำ จึงต้องหาใบเบิกทางเป็น "พระบัญชา" ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ดังที่ทราบ

7. การได้สมณศักดิ์ที่ "พระครูปลัดสิทธิวัฒน์" ของพระน้ำฝนนั้น ถือได้ว่าเป็นการแต่งตั้งพระครูฐานานุกรม "ผิดวัตถุประสงค์ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" แต่สมัยปัจจุบันไม่มีใครสนใจในพระราชประสงค์กันแล้ว มีเสียงนินทาถึงขนาดว่า เดี๋ยวนี้พระในต่างจังหวัดที่มีเงินมาก ก็วิ่งเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอตำแหน่งพระครูฐานานุกรมจากพระผู้ใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และมีการสมนาคุณในอัตราที่สูงมาก จะว่าเป็นทั้งการวิ่งเต้นและการซื้อตำแหน่งในวงการสงฆ์ก็ว่าได้

8. การที่พระพรหมดิลกได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค 14 ซึ่งมีจังหวัดนครปฐมอยู่ในเขตปกครองด้วย และการที่พระธรรมปริยัติเวที ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ แต่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 15 ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ปกครองจังหวัดนครปฐมซึ่งตนเองจำพรรษาอยู่แล้ว ก็ยังต้องไปปกครองวัดในจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปอีกด้วย การแต่งตั้งเจ้าคณะพระสังฆาธิการ "นอกเขต" หรือ "ข้ามเขต" เช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า "มหาเถรสมาคมไม่ได้มีกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ในการแต่งตั้ง"คือสักแต่ว่า พอมีตำแหน่งที่ไหนว่างก็ยัดคนของตนเองลงไปในพื้นที่ โดยไม่สนใจว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งนั้นจะมีความรู้ความเข้าใจในพื้นที่การปกครองไม่ว่าจะเป็นด้านอุปนิสัยใจคอของพระสงฆ์องค์เณรในพื้นที่ รวมทั้งศิลปะวัฒนธรรมต่างถิ่นซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมากอีกด้วย

9. เมื่อพระผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งเช่นนี้ แม้ว่าจะไม่เหมาะสม แต่พระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่ถูกสอนให้เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ยกบ้านยกเมืองให้ผู้หลักผู้ใหญ่ (โดยตำแหน่ง) จึงไม่กล้าคัดค้านหรือท้วงติง จะมีบ้างก็นานที แต่ผู้ที่กล้าคัดค้านหรือท้วงติงนั้นก็ "แป๊ก" ทุกรายไป คือไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระผู้ใหญ่ เพราะถูกมองเป็นฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายตรงกันข้ามไปในทันทีที่อ้าปากพูด แต่ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของพระผู้ใหญ่ (ที่ไร้การคัดค้านหรือท้วงติง) นั้น ถ้าจะเอามาสังคายนากันแล้วก็มากมายไม่รู้จบ แม้กระทั่งพระระดับสมเด็จพระสังฆราชในอดีตบางพระองค์ยังทรงพระเมตตาอนุญาตไว้ว่า "ข้ารู้ว่าข้าวินิจฉัยผิด แต่ถ้าจะแก้ก็ให้ข้าตายไปก่อน"

10. กรณีพระน้ำฝน นิมนต์พระพรหมสุธี ให้ไปเป็นประธานในงานวันเกิดของตนเองในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีพระบัญชาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นยันต์กันผีคอยกำกับการไปของพระพรหมสุธี ก็ดี การนิมนต์พระพรหมดิลก เจ้าคณะภาค 14 ไปเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ด้วย ก็ดี ถือว่าเป็นความพยายามรักษาหน้าของทั้งพระพรหมดิลกและพระธรรมปริยัติเวทีไม่ให้มีปฏิกิริยาต่อพระพรหมสุธี แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังมีเงื่อนงำให้ตั้งข้อสงสัยและศึกษาอย่างมากมาย ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการของคณะสงฆ์ไทย และการแต่งตั้งพระถานานุกรมของพระราชาคณะ ว่าผิดฝาผิดตัวอย่างไร และอะไรหรือคือเบื้องหลังแห่งการแต่งตั้งอย่างไร้หลักการดังกล่าว เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา พระราชปัญญารังษี (วีระเวส สุวีโร ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดชิโนรสาราม เคยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "บทบาทที่คาดหวังและที่เป็นจริงของพระสงฆ์ไทย" เสนอต่อมหาวิทยาลัยปทุมธานี จนได้รับปริญญาเอก แต่นั่นก็เป็นเพียงการนำเอาพฤติกรรมส่วนบุคคลมาศึกษา แต่กรณีพระครูน้ำฝนในวันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างทางด้านอำนาจในวงการสงฆ์ ซึ่งยังไม่มีพระนิสิตรูปใดจากมหาวิทยาลัยไหนคิดเสนอทำวิทยานิพนธ์เลย เชื่อว่าถ้ามีการทำวิทยานิพนธ์ออกมาซักครั้ง ก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อวงการพระศาสนา มากกว่าวิทยานิพนธ์ของพระราชปัญญารังษีเสียอีก หรือพระราชปัญญารังษีจะแก้มือ ขอเขียนวิทยานิพนธ์ใหม่อีกซักเล่ม ก็น่าสนับสนุน


เอกสารประกอบข้อความ


อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม16 มิถุนายน 2555

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง