วิธีฝึกโคจรลมปราณแบบต่างๆ (๗ วิธี)
วิธีฝึกโคจรลมปราณแบบต่างๆ (๗ วิธี)
วิธีฝึกโคจรลมปราณ
การฝึกลมปราณไม่ใช่การจดจำท่าแล้วทำตามแต่ภายนอกเท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุด จิตของผู้ฝึกต้องมีการฝึกด้วย จิตต้องเป็นส่วนที่ควบคุมลมปราณ แล้วให้ลมปราณนำทางร่างกายไป จิตเฝ้าระวังมีสติประคองตลอด ปรับสภาวะของตนตามธรรมชาติ รักษาสมดุลธรรมชาติในตน แล้วคู่ปะทะที่ขาดการดูแลสมดุลธรรมชาติ จะถึงแก่การพ่ายแพ้เอง การฝึกลมปราณที่ดี เมื่อได้ปลุกลมปราณแล้ว ทะลวงลมปราณแล้ว ขั้นต่อไปคือการฝึกโคจรลมปราณ ควรทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพราะการโคจรลมปราณ ช่วยชำระล้างภายในร่างกายของเราให้บริสุทธิ์ สุขภาพของผู้ฝึกจะดีขึ้นมาก การฝึกโคจรลมปราณ มักใช้ควบคู่กับท่าร่ายรำต่างๆ อย่างสอดคล้องต่อเนื่องกลมกลืนดุจการร่ายรำ มีวิธีฝึกดังนี้
พื้นฐานก่อนเข้าสู่การฝึกโคจรลมปราณ
กำลังภายใน
เป็นพลังชีวิตอยู่ภายในร่างกายมนุษย์และสัตว์ ในทางวิทยาศาสตร์สามารถตรวจวัดได้ด้วยการวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในร่างกายมนุษย์ และสามารถถ่ายและแปลงค่าความถี่ออกมาในรูปภาพได้ ที่เรียกว่า “ออร่า” (Aura) หรือพลังชีวิต หรือพลังคลื่นแม่เหล็กของสิ่งมีชีวิตก็ได้ พลังเหล่านี้ เป็นสิ่งธรรมดาของร่างกาย ที่ร่างกายมนุษย์จะเผาผลาญอาหารแล้วเกิดพลังงานขึ้น หรือมีกระแสประสาทสื่อสารภายในร่างกายขึ้น หรือมีระบบพลังงานในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งอยู่อย่างไม่ใช่แบบสุ่ม แต่มีระบบอย่างสมดุล มีรูปแบบที่สามารถอธิบายได้ในรูปแบบต่างๆ ทำให้สามารถคาดการณ์และพยากรณ์ได้ว่าร่างกายมีสภาวะอย่างไร โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ของออร่าและสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่สถิติ พลังเหล่านี้ควบคุมสมดุลต่างๆ ในร่างกาย สัมพันธ์กับการทำงานของร่างกายทั้งในเชิง สารเคมีและในเชิงชีวภาพ ทำให้สามารถฝึกเพื่อควรคุมและปรับสภาวะร่างกายได้
กำลังภายนอก
เป็นพลังชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายมนุษย์และสัตว์ อุปมาเหมือนน้ำในร่างกายของสิ่งมีชีวิตย่อมระเหยออกสู่ภายนอก และน้ำภายนอกนั้น ก็มีประโยชน์ต่อภายในของสิ่งมีชีวิต พลังชีวิตภายนอกสิ่งมีชีวิตนี้ สิ่งมีชีวิตสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้ โดยหาได้จากแหล่งต่างๆ และนำมาใช้ในลักษณะที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างแหล่งพลังชีวิตภายนอกร่างกายประเภทต่างๆ
๑) ลมปราณ ฟ้า-ดิน คือ ลมปราณภายนอกร่างกาย จากฟ้าและดิน
๒) ลมปราณ หยิน-หยาง คือ ลมปราณภายนอกร่างกาย จากหญิงและชาย
๓) ลมปราณ อิม-เอี๊ยง คือ ลมปราณภายนอกร่างกาย จากการตายและการเกิด
๔) ลมปราณ จักรวาล คือ ลมปราณภายนอกร่างกาย จากจักรวาลทุกชนิด
๕) ลมปราณ อาทิตย์-จันทร์ คือ ลมปราณจากดวงอาทิตย์ยามเช้า, จันทร์เต็มดวง
๖) ลมปราณ อื่นๆ เช่น ลมปราณจากต้นไม้, ลมปราณจากไฟ ฯลฯ
ความสัมพันธ์ระหว่างลมปราณภายในและภายนอก
การฝึกลมปราณจะเริ่มจากกำลังภายในก่อน จากนั้นจึงทะลวงลมปราณจากภายในออกภายนอก แล้วจึงประสานลมปราณภายนอกและในเป็นหนึ่งเดียวกัน หลอมรวมเราและสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือขั้นสูงสุดของการฝึกลมปราณ ซึ่งจะต้องเปิดจิตเปิดใจ เปิดทวารร่างกาย ในการเปิดรับและถ่ายออก หมุนเวียนลมปราณภายในและภายนอกเพื่อปรับให้ร่างกายให้สมดุล ซึ่งการฝึกมีหลายขั้น จำต้องศึกษาให้ถูกต้องเป็นขั้นๆ ไป
แหล่งกำลังภายในจากจักระทั้งเจ็ด (แหล่งสะสมพลังวัตร)
จักระทั้งเจ็ด เป็นแหล่งพลังวัตรที่สำคัญในร่างกาย และแหล่งสะสมพลังวัตรต่างๆ ดังนี้
๑) จักระที่หนึ่ง (บริเวณก้นกบ) เป็นแหล่งพลังกุณฑาริณี จะตื่นเมื่อกรณีเกี่ยวกับชีวิต เช่น ตกใจสุดขีด, มีเพศสัมพันธ์ถึงสุดยอด, หนาวถึงที่สุด ฯลฯ เป็นพลังที่มีปริมาณมาก และเกิดขึ้นชั่วระยะเวลาสั้นๆ ไม่ใช่พลังต่อเนื่องระยะยาวนัก
๒) จักระที่สอง (บริเวณท้องน้อย) เป็นแหล่งพลังสำคัญ แบบเส้าหลินมักฝึกกัน ปลุกให้ตื่นได้ง่ายกว่า เก็บง่าย และใช้ได้บ่อย ต่อเนื่อง แต่พลังจะไม่พุ่งทะยานในระยะเวลาสั้นๆ ปริมาณมากๆ แบบกุณฑาริณี ใช้ในการต่อสู้ส่งพลังทางขามาก
๓) จักระที่สาม (บริเวณใต้ลิ้นปี่) เป็นแหล่งพลังสำคัญ ที่ไม่ค่อยนิยมใช้ในการต่อสู้ อยู่ศูนย์กลางกาย สำหรับผู้ฝึกธรรมกาย จะใช้ในการสะสมพลังวัตร ที่เรียกว่าลูกแก้วธรรมกาย จนพร้อมเต็มที่ก็จะได้เป็น “ธรรมกาย” อยู่ในจักระนี้
๔) จักระที่สี่ (บริเวณหัวใจ) เป็นแหล่งพลังสำคัญ ใช้ในการต่อสู้ ส่งพลังทางแขนมาก สอดคล้องกับชีพจรทั่วร่าง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอัตราการเต้นของหัวใจ
๕) จักระที่ห้า (บริเวณลูกกระเดือก) เป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่มักไม่ได้ใช้ในการต่อสู้ ยกเว้นในกลุ่มที่ต่อสู้ด้วยเสียงจะใช้มาก นักร้องจะใช้พลังจากจักระนี้ด้วย ร่วมกับพลังจากจักระที่สอง (ท้องน้อย) เพื่อให้เสียงมีพลังกึกก้องกังวาน
๖) จักระที่หก (บริเวณตาที่สาม) เป็นแหล่งพลังงานสำคัญใช้ในการต่อสู้ เนื่องจากควบคุมการรับรู้และสติปัญญา เป็นทางเปิดตาทิพย์ เพื่อการรับรู้ที่เหนือปกติ
๗) จักระที่เจ็ด (บริเวณกระหม่อม) เป็นแหล่งรับพลังงานจากภายนอก เรียกว่าพลังจักรวาล หรือองค์เทพที่จะประทับทรง หรือมอบพลังให้ จะส่งผ่านมาทางจักระนี้
ตานเถียน จักระที่รวมแห่งพลังวัตรที่นิยมใช้ในการต่อสู้ (ผู้ฝึกกำลังภายใน)
๑) ตานเถียนบน คือ จักระที่ ๖ หรือตรงตำแหน่งตาที่สาม เวลาเราหลับตาแล้วยังไม่หลับไป เราเพ่งภาพขณะหลับตาอยู่ จะเสมือนมีตาเดียวตรงกลางดูภาพนั้นอยู่ หรือให้จินตนาการว่ามีลูกตาทั้งสองเปิดอยู่ตามปกติ แล้วเพ่งมารวมตรงกลางเป็นตาเดียว นั่นคือ ตำแหน่งของตานเถียนบน เป็นศูนย์กลางบริเวณหัว
๒) ตานเถียนกลาง คือ จักระที่ ๔ หรือตรงตำแหน่งหัวใจ เวลาหลับตาไม่ได้ลืมตามองกระจก หรือไม่ได้เอามือคลำดู จะกะประมาณตำแหน่งไม่ถูก ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น ตุ้บๆ เป็นตำแหน่งของหัวใจ เวลากำหนดจิต สามารถใช้อัตราการเต้นของหัวใจเป็นจังหวะในการเคลื่อนลมปราณได้ เป็นศูนย์รวมพลังวัตรร่างกายท่อนบน และแขนทั้งสองข้างเป็นสำคัญ จักระนี้ ฝึกเพ่งเสียงชีพจรได้ผลดี
๓) ตานเถียนล่าง คือ จักระที่ ๒ หรือตรงตำแหน่งท้องน้อย เวลาหลับตาไม่ได้ใช้มือคลำและดูกระจก กะระยะไม่ได้ ให้นั่งสมาธิหย่อนลำตัวท่อนบนลงมาหน่อย ท้องน้อยจะป่องขึ้นเล็กน้อย กะเอาบริเวณศูนย์กลางที่ท้องป่องเป็นตานเถียน (หากไม่มีทิพยจักษุ มองไม่เห็นอวัยวะในร่างกาย จึงต้องจับความรู้สึกแทน)
การปลุกพลังวัตรในตานเถียนให้เป็นลมปราณไหลเวียน
๑) นั่งสมาธิเพชรจะดี (หากทำไม่ได้ ให้ขัดสมาธิธรรมดาก็ได้) หลับตา ผ่อนคลายร่างกาย จิตใจทั่วร่าง ให้รู้สึกเบาสบาย ไม่อึดอัด โล่งโปร่ง สงบระงับ ละเอียดนิ่ง
๒) หายใจเข้า รวมจิตสู่ศูนย์กลางตานเถียน บน, กลาง หรือล่าง จุดใดจุดหนึ่งที่ต้องการปลุกพลังวัตรให้เคลื่อนไหวเป็นลมปราณ จากนั้นค่อยๆ จับความรู้สึกถึงลมปราณที่เคลื่อนตัวจากตานเถียนนั้นๆ ไปยังจุดต่างๆ ตามการโคจรแบบต่างๆ
๓) หายใจออก ขับเคลื่อนลมปราณออกจากตานเถียนนั้นๆ ไปตามเส้นทางการโคจรลมปราณแบบต่างๆ ตรวจดูแต่ละจุดในร่างกายด้วยความรู้สึกว่าตรงไหนติดขัด หากมีจุดที่ติดขัด ก็ใช้ลมปราณทะลวงจนลมปราณไหลเวียนผ่านได้สะดวก
๔) โคจรลมปราณเป็นวงจร ให้ครบรอบ จากตานเถียนที่สะสมพลังวัตร กลับยังตานเถียนที่สะสมพลังวัตรเดิม ไม่ควรทำขาดวงจร หรือไม่ครบรอบ จนรู้สึกสบาย
๕) เส้นทางโคจรลมปราณของแต่ละแบบแตกต่างกันไป ซึ่งจะแสดงรายละเอียดบางแบบต่อไป การโคจรลมปราณระยะแรก ควรสอดคล้องกับลมหายใจเข้าออกก่อน
๖) หากมีการปลุกลมปราณจากแหล่งไหนมา ควรเคลื่อนลมปราณให้ครบวงจรแล้วเก็บเข้าที่ ที่แหล่งนั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลมปราณตกค้างในอวัยวะต่างๆ
ในบางกรณีจะมีเคล็ดการหายใจเพื่อเคลื่อนลมปราณ แตกต่างจากนี้เล็กน้อยเช่น หายใจเข้าโคจรลมปราณครึ่งรอบ ไปไว้ตานเถียนบน จากนั้นหายใจออกขับจากตานเถียนบนมาล่าง แบบนี้ก็ได้เช่นกัน เมื่อชำนาญแต่ละแบบแล้วจะสามารถเลือกใช้ได้ตามเหมาะสม
การโคจรลมปราณแบบต่างๆ
๑) โคจรลมปราณพลังกุณฑาริณี (จักระหนึ่ง – จักระเจ็ด)
ให้กำหนดจิตรวมศูนย์ที่จักระที่หนึ่ง นั่งสมาธิแล้วปลุกลมปราณด้วยวิธีลับเฉพาะแบบกุณฑาริณี (ยังไม่ขอเผยแพร่ทางนี้) แล้วเคลื่อนลมปราณผ่านทุกจักระไล่ขึ้นไปสู่จักระที่เจ็ด ทะลวงทุกจักระที่มีลมปราณติดค้างหรือติดขัดให้โปร่งโล่งสบายทั่วร่าง
จากนั้น จึงเริ่มวงจรใหม่ ปกติมักทำได้ไม่มากครั้ง พลังก็จะลดลงจนสัมผัสไม่ได้ การเดินลมปราณนี้ ให้ผลดีทั้งในแง่สุขภาพ และเป็นพื้นฐานในการทะลวงชีพจรของกังฟู ข้อควรระวัง กุณฑาริณีที่ตื่นแล้วแต่ทะลวงออกจักระเจ็ดไม่ได้ จะดันศีรษะเหมือนงูไชหัว ทำให้ปวดหัวอย่างหนักคล้ายจะเป็นบ้า เหมือนคนกำลังจะประสาทเสียได้ ให้พึงระวังด้วย
๒) โคจรลมปราณพลังจักรวาล (จักระเจ็ด - จักระหก – จักระหนึ่ง)
ให้กำหนดจิตรวมศูนย์ที่จักระที่หนึ่ง นั่งสมาธิแล้วปลุกลมปราณจากจักระที่หนึ่งออกไปสู่จักระที่เจ็ด แล้วดึงจากจักระที่เจ็ดลงไปอาบทั่วร่าง จากจักระเจ็ดลงไปหนึ่ง หมุนเวียนให้ครบวงจร การโคจรพลังจักรวาล จำต้องผ่านการเดินลมปราณกุณฑาริณีให้ได้ก่อน เมื่อได้กุณฑาริณีแล้ว จึงอาศัยจังหวะที่ระบายกุณฑาริณีออก เพื่อเปิดรับพลังจักรวาลเข้ามาแทน แล้วควบคุมปราณจากจักรวาลให้อาบลงทั่วร่าง เรียกว่า “อาบน้ำทิพย์”บางท่านจะใช้หลักพลังพีรามิดมาช่วยในการฝึกลมปราณจักรวาล ด้วยการใช้พีรามิดวางไว้รอบตัวตามจุดต่างๆ กัน เพื่อเหนี่ยวนำพลังปราณจักรวาลเข้ามาขณะทำสมาธิ แล้วให้ปราณจักรวาลเข้าทางจักระเจ็ด ถ่ายลงอาบไปทั่วร่าง (แบบนี้ขอไม่แสดงรายละเอียด)
จากนั้น จึงเริ่มวงจรใหม่ ทำหลายๆ ครั้ง จนรู้สึกเบาสบายกายใจ กระชุ่มกระชวยดี การเดินลมปราณนี้ ให้ผลดีทั้งในแง่สุขภาพ และเป็นพื้นฐานการรับถ่ายพลังภายนอก ข้อควรระวังในการเปิดรับพลังจักรวาล คือ ต้องเลือกรับพลังเฉพาะที่ดีต่อร่างกาย เป็นพลังด้านบวกไม่ใช่พลังด้านลบ จิตผู้ฝึกพึงระวังให้มีแต่กุศลแต่ส่วนเดียว เพื่อป้องกันพลังด้านลบ
๓) โคจรลมปราณธรรมจักร (ได้ทุกจักระ โดยเฉพาะเจ็ด)
ให้กำหนดจิตรวมศูนย์ที่จักระใดจักระหนึ่งก็ได้ โดยปกติแล้วให้เริ่มฝึกจากจักระเจ็ด แล้วค่อยๆ หมุนลงไปยังจักระอื่นๆ ต่อไป หรือบางท่านจะเริ่มจากจักระหก ไปเจ็ด แล้วลงหนึ่ง เวลาฝึกให้ระลึกว่ามีอะไรบางอย่างหมุนวนรอบศูนย์กลางจักระนั้นๆ ให้ระลึกเป็นภาพเหมือนจักรจริงๆ ก็ได้ โดยหมุนเวียนขวาเท่านั้น (ซ้ายไปหน้า ขวาไปหลัง) ในการหมุนจักรสามารถใช้ท่า “กวนสมุทร” โดยเอาจุดศูนย์กลางคือท้องน้อยเป็นหลักได้
การนับวงจรเมื่อครบหนึ่งรอบนับ ๑ วงจร ทำจนรู้สึกสบายในแต่ละจักระ การเดินลมปราณนี้ ให้ผลดีในแง่สุขภาพร่างกาย ในจักระที่โคจรลมปราณ ซึ่งแต่ละจักระจะทำหน้าที่ดูแลร่างกายแตกต่างกันไป ข้อควรระวัง อย่าเดินลมปราณทวนทิศ ห้ามหมุนซ้าย
๔) โคจรลมปราณจักรวาลน้อยแบบเต๋า (ตานเถียนล่าง - ตานเถียนบน)
ให้กำหนดจิตรวมศูนย์ที่ตานเถียนล่าง เดินลมปราณไปสู่จักระหนึ่งทางด้านหน้า แล้ววนไปด้านหลัง จากจักระหนึ่ง ไปสอง ไปสาม ไปสี่ ไปห้า ไปหก ไปเจ็ด แล้ววนกลับมาด้านหน้าจากจักระเจ็ด ไปหก ไปห้า ไปสี่ ไปสาม ไปสอง ครบหนึ่งรอบ
จากนั้น จึงเริ่มวงจรใหม่ จากตานเถียนล่าง (จักระสอง) ในวงจรเดิม การเดินลมปราณนี้ ให้ผลดีในแง่สุขภาพร่างกาย ทั่วทุกระบบโดยรวม ข้อควรระวัง อย่าเดินลมปราณทวนทิศ เพราะจะเกิดผลร้ายต่อชีวิตร่างกายได้อย่างคาดไม่ถึง มีอาการที่ตรวจแล้วไม่รู้โรคได้
๕) โคจรลมปราณพลังสิงโตคำราม (ตานเถียนล่าง – จักระห้า - จักระเจ็ด)
ให้กำหนดจิตรวมศูนย์ที่ตานเถียนล่าง หายใจเข้าสั้นๆ แล้วผ่อนหายใจยาวๆ ไปสู่จักระห้า (กล่องเสียง) แล้วออกเป็นเสียง “โอม” ยาวๆ ให้คำว่า“โอม” เหมือนออกจากจักระที่เจ็ด แผ่ออกไร้ประมาณ เกิดคลื่นเสียงทั่วกระหม่อม สร้างพลังความสั่นสะเทือนให้มากที่สุด จนกระทั่งทุกสิ่งด้านหน้าสั่นตามคลื่นเสียงของเรา นับเป็นหนึ่งรอบโคจร
จากนั้น จึงเริ่มวงจรใหม่ ลองเปลี่ยนเป็นว่า “อา” หรือ ไล่เสียงตามตัวโน๊ตก็ได้ การเดินลมปราณนี้ ให้ผลดีในแง่พลังเสียง เหมาะสำหรับผู้ต้องใช้เสียงต่างๆ ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้พลังมากเกินไป เพราะจะทำลายกล่องเสียงได้ ควรฝึกในระดับที่พอดีในแต่ละครั้ง
๖) โคจรลมปราณฟ้าดิน – หยินหยาง (ฝ่ามือสองข้าง - จักระสี่)
ให้กำหนดจิตรวมศูนย์ที่จักระที่สี่ (หัวใจ) ยกฝ่ามือขึ้นขนานพื้น ฝ่ามือหงายขึ้นไว้ระดับหน้าอก หายใจเข้ารวมปราณที่ฝ่ามือและหัวใจ หายใจออกแผ่ปราณออกทางฝ่ามือสองข้าง พร้อมดันฝ่ามือข้างหนึ่งขึ้นบน ข้างหนึ่งลงล่าง สลับกันไปมา เมื่อยืดฝ่ามือไปสุดแล้ว ปลายนิ้วทั้งสิบจะพุ่งชี้ฟ้ากับชี้ลงดิน จังหวะหายใจเข้าให้ดึงลมปราณฟ้าและดิน (บนและล่าง) เข้ามารวมที่หัวใจ แล้วหมุนสลับดันลมปราณออก พร้อมสลับมือซ้ายขวา ดังนั้น จะมีวงจรพลังฟ้าดินสองวงจร คือ วงจรฝ่ามือซ้ายและขวา คือ เมื่อขวาขึ้นบนดึงด้านบน ขวาลงล่างปล่อยลงล่าง ซ้ายลงล่างดึงด้านล่าง ซ้ายขึ้นบนปล่อยขึ้นบน เวลาดึงลมปราณฟ้าดิน ดึงเข้ามาพร้อมกันทั้งสองฝ่ามือ มารวมตรงกลาง แล้วเวลาปล่อยก็ปล่อยพร้อมกันสองฝ่ามือ ออกจากกลางกายไปไกลสุดแสนไกลไร้ประมาณ
จากนั้น จึงเริ่มวงจรใหม่ ปกติมักทำได้ไม่ครั้ง ก็จะรู้สึกลมระบาย (ผายลม) ได้ทันที การเดินลมปราณนี้ ให้ผลดีทั้งในแง่สุขภาพ และในด้านการถ่ายปราณเข้าออกของกังฟู
๗) โคจรลมปราณเก้าอิม – เก้าเอี๊ยง (กงเล็บกระดูกขาว)
ให้กำหนดจิตรวมศูนย์ที่จักระที่สี่ (หัวใจ) ยกฝ่ามือขึ้นกางออกขนานพื้น กางกงเล็บออก ท่านี้ผู้หญิงสามารถฝึกเก้าอิมได้ แต่ผู้ชายให้ฝึกเก้าเอี๊ยง ในที่นี้จะเผยแพร่เฉพาะเก้าเอี๊ยง โดยก่อนโคจรพลังเก้าอี๊ยงให้โคจรพลังฟ้า-ดินก่อน เพื่อปรับสภาพและกระตุ้น หยินหยาง เราจะใช้พลังเก้าอิม สร้างเก้าเอี๊ยง โดยดูดพลังอิมเข้าทางกงเล็บ จนรู้สึกแขนเยือกเย็นแข็งทื่อ (จะรู้สึกปวดท่อนแขนนิดหน่อย เหมือนมีอะไรมาอัดแน่น) จากนั้น โคจรพลังเก้าอิมไม่นาน ผู้ชายจะเกิดพลังเก้าเอี๊ยงขึ้นเองโดยธรรมชาติ จะรู้สึกอุ่นๆ ที่กลางลำตัว เช่น ท้องน้อย แล้วจะกระชุ่มกระชวย ร่างกายจะเริ่มอบอุ่นหายหนาว ไม่หนาวไม่ร้อน เมื่อโคจรพลังด้วยการคว้าจับดึงดูดพลังเก้าอิมจากพื้นดินรอบตัวได้มาก เก้าเอี๊ยงก็ถูกกระตุ้นออกมามาก เมื่อพอสมควรแล้ว ให้ถ่ายเก้าอิมออกจากแขนสองข้างให้หมด จึงจะรู้สึกเบาแขน และหายปวดแขน เวลาถ่ายออกให้รำฝ่ามือแทน เพราะกงเล็บจะมีพลังดึงดูด ไม่ใช่พลังผลักดันออก โดยเพ่งกระแสปราณออกทางนิ้วทั้งสิบ
ให้ทดลองใช้กงเล็บกระดูกขาว ดูดพลังเอี๊ยงจากฟ้าในช่วงท้องฟ้ามืดครึ้มเหมือนฝนจะตก หากฝึกช่วงฟ้าแลบฟ้าร้องด้วยจะดี ด้วยการฝึกคล้ายเดิม แต่เปลี่ยนเป็นการดูดปราณจากฟ้า แทนที่จะดูดปราณจากดิน โดยเพ่งระลึกไปที่ประจุไฟฟ้าบนฟ้าแทน ข้อควรระวังในการฝึกเก้าอิม คือ ช่วงแรกกระดูกฝ่ามือจะมีอาการแปลกๆ และอาจกระทบต่อธาตุทั้งสี่ในร่างกายได้ ดังนั้น ผู้ชายจึงไม่ควรฝึกเก้าอิม ให้ฝึกเฉพาะเก้าเอี๊ยงเท่านั้น
การฝึกร่ายรำไทเก๊กแบบต่างๆ
๑) รำผ้าไหมไทเก๊ก
ผู้ฝึกจะใช้ผ้าที่มีความพลิ้วไหวและมีน้ำหนักพอเหมาะ ในการร่ายรำโดยใช้ “ผ้า” เพื่อเป็นเครื่องแสดงสภาวธรรม ความเปลี่ยนแปลงในผ้า เพื่อปรับท่าร่ายรำให้สอดคล้องกลมกลืนกับผ้านั้น จนราวกับผ้ามีชีวิต ชีวิตเราเป็นผ้า ผ้าและเราเป็นหนึ่งเดียวกัน
๒) รำปะคำสองมือประสาน
ผู้ฝึกจะใช้ปะคำคล้องสองมือไว้ด้วยกัน ในการร่ายรำโดยใช้ “ปะคำ” นี้เพื่อเป็นเครื่องแสดงสภาวธรรม ความเปลี่ยนแปลงในปะคำ โดยใช้สองมือประสานกันไป หากสองมือขาดการประสานที่ดี แยกไปคนละทาง จะดึงรั้งจนปะคำขาดกลางได้
๓) รำปะคำธรรมจักร (สองมือขัดแย้ง)
ผู้ฝึกจะใช้ปะคำหมุนอยู่ตลอดเวลาในแขนข้างใดข้างหนึ่ง มืออีกข้างจะร่ายรำไปคนละแบบ แบบนี้เป็นการฝึกสองมือขัดแย้ง โดยที่ต้องประคองให้ปะคำอีกข้าง ยังคงหมุนได้อย่างต่อเนื่อง (ฝึกปราณธรรมจักร) ปะคำจะเป็นเครื่องแสดงสภาวธรรม หากผู้รำขาดสติ จะถูกปะคำฟาดตัว หากขาดสมาธิปะคำจะหยุดหมุน จึงต้องมีสมาธิในการหมุนปะคำอยู่ตลอด และมีสติในการระวังปะคำที่หมุนนั้น ผู้ฝึกต้องฝึกจนคล่องให้ปะคำและตนประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ปะคำมีชีวิตหมุนไม่หยุดนิ่ง และคนไม่ขัดแย้งกับปะคำ
๔) รำไทเก๊กในพงหญ้าและเถาวัลย์
ผู้ฝึกจะเลือกสถานที่ฝึกในป่า แล้วหาพื้นที่ป่าที่มีไม้เถาวัลย์ขึ้นระโยงรยางค์บางส่วน ไม้เถาวัลย์มีความยืดหยุ่นและแข็งแรงในตัว ให้ผู้ฝึกหลับตาร่ายรำไทเก๊ก พร้อมกับเอาเถาวัลย์เป็นคู่ต่อสู้ ปรับสภาวะของตนตามเถาวัลย์ อาศัยความยืดหยุ่นของเถาวัลย์เป็นเครื่องสะท้อนแรงตนเอง เมื่อฝึกได้ดีแล้วให้ฝึกกับพงหญ้าต่อ อาศัยหญ้าที่ไม่มีอันตราย ใช้ไม้เป็นเครื่องสัมผัสกับหญ้า แล้วปรับสภาวะไม้กับหญ้าเป็นคู่ต่อสู้ประสานไปมา
๕) รำไทเก๊กคู่ปะทะ
ผู้ฝึกจะเลือกใช้ผู้ฝึกไทเก๊กด้วยกันเป็นคู่ซ้อม โดยให้ทั้งคู่เดินลมปราณแล้วหลับตาร่ายรำท่าไทเก๊ก ห้ามให้อีกฝ่ายตั้งท่ารอ เพื่อตนจะได้เลือกท่ารับ ให้ใช้จิตสัมผัสทั้งหมด ร่ายรำแบบมองไม่เห็นกัน แล้วปรับประสานสภาวะของตน พึงระวังไม่ให้ตนเองล้มลง
๖) รำไทเก๊กเสาหลักหยั่งดิน
ผู้ฝึกจะเลือกใช้ขาข้างใดข้างหนึ่งเสมือนถูกตอกลึกลงในพื้นดิน แล้วใช้ขาข้างที่เหลือ ในการเคลื่อนและหมุนไปรอบๆ ขณะที่มีการโคจรลมปราณและร่ายรำ สิ่งสำคัญคือห้ามเขยื้อนเท้าข้างที่เป็นเสมือนเสาหลักออกจากตำแหน่งเดิม ผู้ร่ายรำจะหมุนไปรอบๆ ด้วยท่าทางต่างๆ ตามกระบวนการโคจรลมปราณได้ตามปกติ (ขณะฝึกควรหลับตา)
๗) รำไทเก๊กสองเท้าสับสน (หมัดเมา)
ผู้ฝึกจะเลือกใช้ขาทั้งสองข้างในการร่ายรำเป็นหลัก กระบวนท่าทั้งหมด จะพัฒนาจาก “หมัดเมา” ให้สองมือเสมือนถือจอกเหล้า โคจรลมปราณไปสู่แขนสองข้างราวกับงูเลื้อยไปมา แล้วปรับร่างกายให้เคลื่อนไปตามพลังปราณที่เคลื่อนไปสู่แขนข้างใดข้างหนึ่ง ดังนั้น จึงถือเอาแขนนำ แล้วขาตาม โดยไม่สนใจว่าขาทั้งสองข้างจะก้าวอย่างไร ทั้งนี้ให้โคจรลมปราณธรรมจักร หมุนรอบขาสองข้าง เพื่อให้ขาทั้งสองมีสมดุลในตัว
๘) รำไทเก๊กเท้าพันชั่ง
ผู้ฝึกจะเลือกใช้ขาทั้งสองข้างในการร่ายรำเป็นสำคัญ สองมือจะใช้การร่ายรำฝ่ามือ โคจรลมปราณธรรมจักรลงเท้าทั้งสองข้าง ราวกับขาทั้งสองข้างคือสว่านที่เจาะลงดิน ในการก้าวแต่ละครั้ง จะเสมือนก้าวลงตอไม้ หากเก้าผิดก็ร่วงลงจากตอไม้ การก้าวแต่ละครั้งจะลงน้ำหนักแรง คือ กระทืบเท้าค่อนข้างแรง แต่จะก้าวเท้าค่อนข้างช้า ในการก้าวเท้าแต่ละครั้ง จะดึงเท้าขึ้นใกล้เอว จากนั้น จึงส่งแรงจากท้องน้อยลงปลายเท้าด้วย
๙) รำไทเก๊กฟันดาบ
ผู้ฝึกจะเลือกใช้ขาทั้งสองข้างในการสืบเท้าไปข้างหน้าและถอยหลัง มือทั้งสองข้างจะถือดาบญี่ปุ่น หรือสมมุติว่าถือดาบญี่ปุ่นอยู่ มีการก้าวสืบเท้าแล้วแทงสลับกับการฟัน ในการฝึกนี้จะช่วยให้ผู้ฝึกไทเก๊กเข้าใจวิธีการต่อสู้ในแบบของดาบญี่ปุ่นได้ เข้าใจจังหวะการเข้าและถอย ซึ่งในผู้ใช้ดาบนั้น เป็นตายเกิดขึ้นได้ในพริบตา ในดาบเดียวเท่านั้น
๑๐) รำไทเก๊กกระบี่ดรุณี
ผู้ฝึกจะเลือกใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางพุ่งออกเสมือนกระบี่ ในการร่ายรำ เท้าทั้งสองข้างค่อนข้างจะทื่อตรง แขนทั้งสองข้างหมุนเป็นวงกลมต่อเนื่อง ประกอบด้วยท่าแทงและปัดเป็นสำคัญ สำหรับผู้ใช้กระบี่แล้ว จะแทงเป็นหลัก จะปัดเพื่อปกป้อง เป็นจุดแตกต่างจากผู้ใช้ดาบ กระบี่ดรุณีจะร่ายรำอ่อนช้อยเหมือนนางงามร่ายรำ สองมือเสมือถือกระบี่คู่ ประสานกระบี่คู่อย่างสอดคล้องกัน กระบี่แรกนำ กระบี่สองต้องตามติด เป็นหนึ่งเดียว
๑๑) รำไทเก๊กกงเล็บมังกร
ผู้ฝึกจะเลือกใช้ท่ากงเล็บแบบเส้าหลินในการร่ายรำ แต่โคจรพลังธรรมจักร จึงมีความอ่อนพลิ้วไหวจากภายใน ท่ากงเล็บมังกรจะใช้พลังค่อนข้างมาก ผู้ฝึกจะรู้สึกเหนื่อยกว่าท่าอื่นๆ กงเล็บจะงองุ้มสามนิ้วสำคัญ คือ นิ้วโป้ง, ชี้, กลาง อีกสองนิ้วที่เหลือจะไม่ใช้นัก จุดนี้จะแตกต่างจากกงเล็บกระดูกขาว และเป้าหมายจู่โจมจะไม่พุ่งไปที่ศีรษะ แต่มุ่งไปที่จุดอ่อนต่างๆ ของร่างกายแทน เช่น ลูกตา, ลูกกระเดือก, ข้อมือ (กรณีรับและปัดป้อง)
รูปแบบการร่ายรำไทเก๊กแบบต่างๆ ได้รับการพัฒนามาจากพื้นฐานของมวยสายอื่นๆ มาก่อน ปรมาจารย์ “จางซานฟง” ในอดีตได้เคยฝึกมวยเส้าหลิน ทั้งยังได้ปะลองฝีมือกับคู่แข่งมากมายในยุคนั้น จึงพัฒนาและปรับปรุงมวยสายอื่นๆ ให้เป็นแบบไทเก๊กเพื่อลดจุดอ่อน พัฒนาเป็นจุดแข็ง และกลายเป็นมวยไทเก๊กในแบบเฉพาะของตนเอง สิ่งที่สำคัญของไทเก๊กจึงไม่ใช่กระบวนท่าภายนอก แต่เป็นความหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติจากภายใน ไม่ว่าจะอาศัยกระบวนท่าจากมวยสำนักไหน ก็สามารถปรับเป็นไทเก๊กได้ทั้งหมด และยังทำให้มวยสายนั้นๆ พัฒนาจุดแข็งมากขึ้น ลดจุดอ่อนลงได้อีกด้วย ในบทความฉบับนี้ขอแนะนำเพียงย่อ ที่เหลือแล้วแต่พรสวรรค์ของผู้อ่านจะพึงฝึกเองเถิด
เคล็ดลับการฝึกกำลังภายในให้ได้ผล
๑) การใช้คลื่นเสียงกระตุ้นกำลังภายใน
ในการฝึกแรกๆ ลมปราณยังตื่นไม่มาก ทำให้ยากต่อการจับการเคลื่อนไหวของลมปราณในร่างกาย ผู้ฝึกหากได้เครื่องช่วยกระตุ้นลมปราณ จะทำให้สามารถจับความเคลื่อนไหวของลมปราณได้ชัดเจนขึ้น เช่น ใช้ความเย็น, ใช้คลื่นเสียงกระตุ้น ในที่นี้ขอแนะนำให้ใช้เสียงเพลงสวดมนต์ พร้อมเคาะระฆังเป็นจังหวะสม่ำเสมอ
๒) การหลอมรวมเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ
การฝึกลมปราณในขั้นสุดท้าย จะต้องปลดปล่อยลมปราณภายในออกมาสู่ธรรมชาติ และดึงลมปราณบริสุทธิ์จากธรรมชาติเข้าไปภายใน หลอมรวมกายจิตวิญญาณเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไม่แยกจากกัน ทะลายเกราะร่างกายที่ปิดกั้นออกทั้งหมด จึงจะเปิดทะลวงชีพจรออกสู่ภายนอกได้ทั่วร่าง และรับพลังจากธรรมชาติได้สูงสุด
๓) การผ่อนคลายร่างกายจิตใจเป็นอิสระ
การฝึกลมปราณจะไม่ได้ผลเลย หรือได้ผลช้ามาก หากมีความอยากได้, จดจ่อให้เกิด, จงใจให้เกิด, บังคับ, เร่งเกินไป, เคร่งครัดเกินไป, เกร็ง ฯลฯ อาการเหล่านี้ล้วนบั่นทอนการฝึกให้ลดลงอย่างยิ่ง ผู้ฝึกจำต้องผ่อนคลายร่างกายจิตใจ ปลดปล่อยความรู้สึกให้ไปสุดประมาณ เพื่อปลดปล่อยลมปราณให้ไหลเวียนสะดวกที่สุด
๔) การรู้ความพอดีของกำลังภายในร่างกาย
ตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนลมปราณในร่างกาย จิตของผู้ฝึกต้องมีสติในการจับความเปลี่ยนแปลงของลมปราณแบบต่างๆ ในร่างกายตลอดเวลา พึงระวังว่าลมปราณที่มากเกินไปก็เป็นผลร้าย, คั่งค้างก็เป็นผลร้าย, ติดขัดก็เป็นผลร้าย ดังนั้น จำต้องรู้จักความพอดีของร่างกาย และลมปราณทั้งภายในและภายนอกที่หมุนเวียนเข้าออก
๕) การรู้ความเข้ากันได้ของกำลังภายนอก
ในการดึงลมปราณภายนอกเข้ามาภายใน และถ่ายลมปราณภายในออกภายนอกนั้น จะเป็นการชำระล้างลมปราณเสียๆ ภายในร่างกาย แต่การรับเข้าก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน หากสิ่งที่รับเข้ามานั้นไม่ดีต่อร่างกาย, เป็นของเสีย, หรือเกินขนาด ดังนั้น จำต้องให้จิตรับรู้จดจำได้ว่าลมปราณแบบใดที่ควรดึงเข้าและแบบใดควรนำออก
๖) ความว่างจากสิ่งเจือปนใดๆ ในจิตขณะฝึก
ในการฝึกลมปราณ ต้องไม่คิดเรื่องใดๆ ในหัวสมองต้องว่างโล่งโปร่งไปหมด ทิ้งหรือลืมเรื่องต่างๆ ไปชั่วคราว แล้วจดจ่ออยู่กับลมปราณขณะร่างกายเคลื่อนไหวเท่านั้น
๗) สมาธิจดจ่อความเคลื่อนไหวลมปราณในร่างกาย
ระหว่างการฝึกลมปราณ จิตต้องเพ่งอยู่กับลมปราณ ไม่ควรละสมาธิออกไปสู่เรื่องอื่น การปันสมาธิมีผลให้การฝึกไม่ได้อะไรเลยและการถูกรบกวนสมาธิทำให้ฝึกไม่ได้ผล
๘) สติเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของร่างกายทุกขณะ
การฝึกลมปราณจำต้องมีสติมาก ละเอียด และสูงกว่าการฝึกอย่างอื่น สติของคนเราจะสูงที่สุดเมื่อถูกจู่โจมหรือความตายมาเยือน ดังนั้น ระหว่างการฝึกจะขาดสติไม่ได้
๙) ปัญญาปรับสภาวะกาย-จิต-วิญญาณให้สมดุลกับธรรมชาติ
สิ่งนี้คือจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดของการฝึกลมปราณ หากฝึกลมปราณขัดแย้งกับธรรมชาติแล้ว เราจะถูกทำลายเอง พึงระลึกว่า “ธรรมะ ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
โดย physigmund_foid
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=227686
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ