กระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการประมูลว่าอาจมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในการผิด พ.ร.บ.ฮั้ว

'กสทช.'รับรองประมูล3จี3บริษัทแล้ว

กสทช.มติ4ต่อ1รับรองผลประมูล3จี3บริษัท เผยยังไม่ได้รับหนังสือ ก.คลังท้วงติงอาจส่อผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ศาลปค.ไม่รับฟ้องคดีระงับคลื่นฮัลโหล3จีอีก2คดี


18ต.ค.2555 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้แก่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. และรองประธานกสทช. นายสุทธิพล ทวีชัยการ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ได้ประชุมวาระพิเศษเมื่อเวลา 11.30 น. วันเดียวกัน เพื่อรับรองผลการประมูลใบอนุญาต (ไลเซนส์) 3จี ในย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่สิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาถกเถียงกันอย่างหนักกว่า 3 ชั่วโมง

นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการ กสทช.แถลงผลการประชุมว่า บอร์ด กทค.ได้ลงมติ 4 ต่อ 1 รับรองผลการประมูล 3จี โดยในวันที่ 19 ต.ค. จะส่งหนังสือไปยังผู้ที่เข้าประมูลว่าเป็นผู้ชนะการประมูลอย่างเป็นทางการ และจะถือเป็นการสิ้นสุดช่วงเวลาไซเลนท์ พีเรียด ซึ่งสำนักงาน กสทช.จะส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้เข้าร่วมประมูลภายใน 7 วัน หลังจากตรวจสอบเอกสารแล้วเสร็จ จากนั้นกระบวนการให้ใบอนุญาตจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน ซึ่งผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 50% ของราคาใบอนุญาต และยื่นหนังสือรับรองทางการเงิน (แบงก์การันตี) ส่วนงวดที่เหลือให้ชำระในปีที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

นายประเสริฐระบุว่า การลงมติของบอร์ด กทค.ถือเป็นอำนาจและสิทธิ์ของ กทค.ตามมาตร 27 วรรคสี่ ของพ.ร.บ.กสทช. พ.ศ.2553 ก่อนส่งผลการรับรองต่อไปยัง กสทช.รับทราบต่อไป ส่วนการส่งเงินค่าใบอนุญาตที่ได้จากการประมูลนี้ (เอดับเบิลยูเอ็น ประมูลในราคา 14,625 ล้านบาท ชำระ 50% อยู่ที่ 7,312 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เรียล ฟิวเจอร์ และดีแทค เนควอร์ค ชำระงวดแรกเท่ากันที่ 6,750 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) จะส่งให้รัฐบาลอย่างเร็วที่สุดทันทีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระเงินในงวดแรก และหักค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดการประมูลราว 20 ล้านบาท

"กสทช.ยังไม่ได้รับหนังสือจากกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการประมูลว่าอาจมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในการผิด พ.ร.บ.ฮั้วแต่อย่างใด แต่หากสอบถามมาเราก็พร้อมให้ฝ่ายกฎหมายชี้แจงไป เพราะใน พ.ร.บ.ดังกล่าวการดำเนินตามความผิดที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการคัดค้านหรือกีดกั้นไม่มีการแข่งขันไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล แต่ในการประมูลที่ผ่านมามีผู้ประมูลด้วยความสมัครใจ ไม่มีการกีดกั้นแต่อย่างใด ซึ่งใน พ.ร.บ.ฮั้วไม่ได้มีถ้อยคำกำหนดว่าจะต้องมีการเคาะราคากี่ครั้ง และราคาประมูลที่ได้ต้องเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเท่าไร" กรรมการ กสทช.ชี้แจง

ศาลปค.ไม่รับฟ้องคดีระงับคลื่นฮัลโหล3จีอีก2คดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันนายศรัณยู โพธิรัชตางกูร ตุลาการเจ้าของสำนวนและองค์คณะ มีคำพิพากษาไม่รับฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 2644/2555 ที่สมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค กับพวกรวม 2 ราย ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. เพื่อให้พิกถอนประกาศ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เรื่องรายชื่อผู้เข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประกาศให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด(AWN) บริษัทในเครือของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟว์ เซอร์วิส (AIS) , บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เข้าร่วมประมูลในนามของบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าร่วมประมูลในนามของบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด มีสิทธิเข้าร่วมประมูล 3 จี พร้อมทั้งขอให้ศาลพิจาณาไต่สวนฉุกเฉินและมีคำสั่งระงับเปิดการประมูลตามประกาศของ กสทช.และสำนักงาน กสทช. เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะนี้สมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภคกับพวก ไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 อีกทั้งมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีตามที่สมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภคกับพวก กล่าวอ้างอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ในอนาคต หากในอนาคตเหตุการณ์เป็นไปตามที่สมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภคกับพวกกล่าวอ้าง ก็ยังมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลได้ภายหลัง ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
นอกจากนี้นายศรัณยูและองค์คณะ ยังมีคำพิพากษาไม่รับฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2656/2555 อีกคดีหนึ่งด้วย ซึ่ง พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ กับพวกรวม 3 ราย ยื่นฟ้อง กสทช. ว่า ออกหลักเกณฑ์และจัดการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต โดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เพราะการเรียกเก็บเงินประมูลขั้นต่ำ 4,500 ล้านบาท จากเอกชนผู้เข้าประมูล อาจทำให้ กสทช.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้ตามกฎหมาย
โดยศาลได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เงินที่ได้จากการประมูลหลังหักค่าใช้จ่ายย่อมตกเป็นของแผ่นดิน กสทช.จึงหาได้เป็นเจ้าหนี้ของผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ และหากมีกรณีที่ กสทช.จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้เงินประมูลคลื่นความถี่หรือหนี้อื่นใด ก็เป็นเพียงการดำเนินการแทนรัฐเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีกรณีที่ กสทช.จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ได้รับใบอนุญาตอันเป็นผลเนื่องมาจากการออกประกาศของ กสทช. ตามที่พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ กับพวก กล่าวอ้าง ดังนั้นในกรณีนี้จึงหาได้มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นแก่ประโยชน์สาธารณะตามที่พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ กับพวก เข้าใจแต่อย่างใด พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ กับพวกจึงไม่อาจอาศัยเหตุดังกล่าวนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจาสารบบความ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ