ร้อนฉ่าวงการศาสนาในประเทศไทยขึ้นมาทันที ?



ตั้งพุทธสภาสังกัด “ศน.” ดูด “พศ.” เป็นที่ปรึกษา

ร้อนฉ่าวงการศาสนาในประเทศไทยขึ้นมาทันที เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรมการศาสนาได้นิมนต์พระสงฆ์ทั่วประเทศ และพุทธศาสนิกชนอย่างหลากหลาย เรียกเป็นภาษาเทคนิกว่า “ภาคี” ไปร่วมประชุมที่วัดสามพระยา โดยมีหัวข้อของการประชุมสั้นๆ ง่ายๆ เพียง “เพื่อจัดตั้งพุทธสภา”
จากนั้นก็ได้มติจากที่ประชุม ออกเป็นปฏิญญาสามพระยา เห็นพ้องต้องกันและร่วมกันจัดตั้ง “พุทธสภา” ขึ้นมาในประเทศไทย โดยนายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา เมื่อได้มติจากที่ประชุมแล้ว ก็ประกาศทางสื่อว่า “จะดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเจ็ดวัน”
แต่ยังไม่ถึงเจ็ดวัน ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ส่งนายอำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการ ออกมาให้ข่าวแก่สื่อใหญ่ไทยรัฐ ว่า “สำนักพุทธฯไม่เห็นด้วย” แล้วแจกแจงรายละเอียดในการไม่เห็นด้วยนั้นนับได้ถึง 7 ข้อ 7 ประเด็นด้วยกัน
แต่ทั้งหมดรวมอยู่ในประเด็นเดียวก็คือ “ประเด็นไม่เห็นด้วย” ไอ้ไม่เห็นด้วยนี้แหละที่เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาดังว่า
เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่า สององค์กรใหญ่ในประเทศไทยที่มีบทบาทและหน้าที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้หันหน้ามาชนกันแล้วอย่างแรง
การชนกันของสำนักพุทธฯและกรมการศาสนาในครั้งนี้ บางท่านอาจจะมองว่าเป็น “อุบัติเหตุ” หรือเรื่องบังเอิญ แต่ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากแต่เป็นเรื่องที่มีเชื้อไฟสุมรุมมานาน เพิ่งจะมาคุกรุ่นในสมัยนี้ ตอนที่กรมการศาสนามีอธิบดีชื่อว่า“ปรีชา กันธิยะ” เท่านั้น
มูลเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างกรมการศาสนากับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ไม่มีอะไรมาก มีเพียงเรื่องเดียวก็คือ “แย่งงาน”
เรื่องมีอยู่ว่า นับตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2325 เป็นต้นมานั้น ก็มีหน่วยงานสนองงานคณะสงฆ์อยู่เพียงหน่วยเดียว เปลี่ยนแต่เพียงชื่อเท่านั้น ได้แก่ กรมธรรมการ กรมสังฆการี และกรมการศาสนา
แต่พอถึง พ.ศ.2544 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตอนนั้นรัฐบาลเกิดไอเดียยุบรวมหน่วยงานที่มีเนื้องานซ้ำซ้อนกันให้เข้าเป็นหน่วยงานเดียว ภายใต้สโลแกน One Stop Service เช่นกระทรวงศึกษาธิการกับทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งทำหน้าที่ในการให้การศึกษาแก่ประชาชนในชาติเช่นกัน ทางรัฐบาลเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีทบวงมหาวิทยาลัยอีกต่อไป แต่ให้ยุบรวมเข้าไปอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการเสีย ก็เสร็จไปสองราย
ทีนี้ว่า ช่วงที่กำลังมีการยุบรวมของหน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวงอยู่นั้น เกิดการเรียกร้องจากพระสงฆ์ นำโดยศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้แยกงานพระพุทธศาสนาออกมาจากศาสนาอื่นๆ โดยอ้างว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาใหญ่ เป็นศาสนาประจำชาติไทย จะให้ไปสังกัด "กระทรวงศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม" และมีที่นั่งเพียง “หนึ่งที่” เท่ากับศาสนาอื่นๆ คือ คริสต์ อิสลาม ซิกซ์ และฮินดู มันดูต่ำต้อยด้อยค่า “พวกเราไม่ยอม” ว่างั้น
สมัยนั้นพระสงฆ์ปลุกระดมญาติโยมให้ออกมาเดินขบวนเคลื่อนไหวเรียกร้องต้องการหลายประเด็น เช่น บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ไล่ไปจนถึงการเรียกร้องให้ตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาขึ้นมารองรับกับกิจการของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ส่วนศาสนาอื่นๆ นั้นพวกเราไม่สนใจ แบบว่าจะเป็นจะตายก็ชั่งหัวมึงว่างั้น
พอกระแสเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ โดยมิมีทีท่าว่าจะอ่อนลง ทางรัฐบาลก็เดินเกม “เจรจาต่อรอง” ก็มาถึงข้อต่อรองที่ว่า ตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องเอิกเกริกเกินไป มันไม่เคยมี เอางี้ ตั้งให้เป็นหน่วยงานอิสระสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำนองทบวงมหาวิทยาลัย จะเอาไหม
พระสงฆ์และญาติโยมที่เรียกร้องก็ยิ้มในใจว่า “สำเร็จ” เพราะถึงไม่ได้กระทรวง แต่ได้หน่วยงานอิสระใหญ่กว่ากรมการศาสนา แม้ไม่ใหญ่เท่ากับเป็นกระทรวง ก็คงเทียบเท่า “ทบวง” เพราะเราเคยได้ยินมาก่อนว่า หน่วยงานใหญ่ๆ ของราชการไทยเรานั้นลดหลั่นกันไป ได้แก่ กระทรวง ทบวง และกรม ส่วน “กอง” นั้นเป็นลูกน้องของกรม
และนั่นก็คือการถือกำเนิดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นมาในปี พ.ศ.2545 ส่วนว่ากรมการศาสนานั้นก็ให้ย้ายไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ก่อนหน้านั้นขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ
ทีนี้ว่า เมื่อตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นมานั้น ถามว่ากรมการศาสนาจะทำอย่างไร จะเปลี่ยนให้เป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาไปทั้งกรมเลยหรือ หรือว่าจะไม่เปลี่ยน
จุดเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนนี้ก็อยู่ที่เนื้องานของกรมการศาสนา ซึ่งมิได้มีเพียงแค่ “พระพุทธศาสนา” เท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่ในการดูแลงานของอีก 4 ศาสนา ซึ่งได้รับการรับรองให้เผยแผ่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง คือ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ (ฮินดู) และซิกซ์ แน่นอนว่าคงไม่สามารถจะเอาศาสนาทั้งสี่เหล่านี้ไปอยู่ในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ ทีนี้ว่า ถ้าเปลี่ยนให้กรมการศาสนาเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แล้วอีกสี่ศาสนาเหล่านี้ล่ะจะเอาไปไว้ที่ไหน ในเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็จำกัดให้เป็นของพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวเท่านั้น
เรื่องก็เลยมาถึงว่า “ก็ให้ศาสนาเหล่านั้นอยู่กับกรมการศาสนานั่นแหละ แต่สำหรับพระพุทธศาสนาให้มาสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ”
ก็ตกลงว่า แยกงานในส่วนพระพุทธศาสนาออกมาจากกรมการศาสนา
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลไทยอย่างชัดเจน ที่จะให้ยุบรวมองค์กรต่างๆ ที่มีเนื้องานซ้ำซ้อนกันให้รวมเป็นหนึ่ง แต่สำหรับงานศาสนาในประเทศไทยเรานั้นน่าจะรวม กลับแยกออกเป็นสองไปซะอีก
เอ้าแยกก็แยก แต่การแยกนั้นมิได้แยกแค่ชื่อ หากแต่ต้องแยกเนื้องานออกมาด้วย โดยงานเกี่ยวกับศาสนาที่กรมการศาสนาเคยมีมาแต่เดิมนั้น เมื่อนำมาจำแนกแยกแยะแล้ว ก็ปรากฏว่า มีงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอยู่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนงานของศาสนาอื่นๆ นั้นมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์
ทีนี้ว่าถ้าโอนงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไปให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหมด กรมการศาสนาก็จะมีเนื้องานเกี่ยวกับศาสนาเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น มันก็กระจอกกว่ากรมกร๊วกอีกละซี นี่แหละคือปัญหา
ก็มีการเจรจาว่าด้วยการแบ่งงาน ว่าของานไว้ให้กรมการศาสนาซัก 40 เปอร์เซ็นต์ได้ไหม รวมกับศาสนาอื่นๆ อีก 10 เปอร์เซ็นต์ก็เป็น 50 ส่วนอีก 50 นั้นยกให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไป เรียกตามภาษาพ่อค้าว่าวิน-วิน
แต่ทางสำนักพุทธฯก็อ้างว่า “ได้ไง ในเมื่องานต่างๆ นั้นมันเกี่ยวข้องกัน จะแบ่งไว้ให้กรมการศาสนามันก็ไม่ถูกหลักการบริหาร เอางี้ ที่พอจะแบ่งได้นั้นมีเพียงงานศาสนพิธีที่ท้องสนามหลวง และแถมให้เป็นพิเศษก็คืองานพระราชพิธี จะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ” ว่าแล้วก็รวบงานจากกรมการศาสนาไปไว้ที่สำนักพุทธฯหมด ส่งผลให้ตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนาไร้ค่าขึ้นมาในบัดดล จนกระทั่ง นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา ถึงกับต้องวิ่งไปสมัครเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่เขาไม่เลือก ก็เลยกลับมาอยู่กรมการศาสนาเหมียนเดิม
สรุปเลยนะว่า มีปัญหาว่าด้วยการแบ่งงานระหว่างกรมการศาสนากับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จากพ.ศ.2545 ถึง พ.ศ.2556 ก็ตก 11 ปี มานี่แล้ว ยังปีนเกลียวกันไม่เสร็จ
เพราะสำนักพุทธฯก็อ้างว่า “มีความชอบธรรม เพราะวัตถุประสงค์ของการตั้งสำนักพุทธฯขึ้นมาก็เพื่อสนองงานพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ”
ทางกรมการศาสนาก็เถียงว่า “อ้าว ก็เป็นงานเก่าของกรมการศาสนา จะเอาไปทำหมด แล้วจะให้กรมการศาสนากินอะไร เอ๊ย ทำอะไร ไม่ไหว ไอ้แบบนี้มันไม่ใช่แบ่งแล้ว แต่เล่นกินรวบหมดนี่หว่า”
สำนักพุทธฯก็ยืนกรานว่า “ช่วยไม่ได้ ทีใครทีมัน หางานทำเองก็แล้วกัน”
นั่นเองที่ส่งให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีบทบาทสูงส่งกว่าตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา ถึงกับอธิบดีกรมการศาสนาอยากจะมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา เพราะว่าตลาดพระเครื่อง เอ๊ย พระศาสนาในประเทศไทยเรานี้ พระพุทธศาสนายึดครองอยู่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน มองในแง่พ่อค้าก็ต้องบอกว่า “มันน่าลงทุน”

เปรียบเทียบเนื้องานและงบประมาณ
ระหว่างกรมการศาสนากับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
 
กรมการศาสนา
 
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
หน่วยงานในสังกัด
  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองศาสนูปถัมภ์
  • สำนักพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม

 
หน่วยงานในสังกัด
  • กลุ่มงานพัฒนาระบบบริหาร
  • กลุ่มงานตรวจสอบภายใน
  • กองกลาง
  • กองพุทธศาสนศึกษา
  • กองพุทธศาสนสถาน
  • สำนักงานพุทธมณฑล
  • สำนักงานศาสนสมบัติ
  • สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
  • กองพุทธสารนิเทศ
  • สถาบันพัฒนาพระสังฆาธิการ
  • สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด 75 จังหวัด
งบประมาณ (พ.ศ.2556)
365 ล้านบาท
งบประมาณ (พ.ศ.2556)
4,329 ล้านบาท

เห็นได้ชัดเจนว่า งานและงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้นต่างจากกรมการศาสนาราวฟ้ากับเหว เพราะได้รับเงินบริหารมากกว่ากรมการศาสนาถึง พันล้านบาท !

กรมการศาสนามีงานที่ชูหน้าชูตาอยู่โครงการหนึ่ง ซึ่งยังดึงไว้ได้ นั่นคือ การมอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า รางวัลเสมาธรรมจักร จะมอบให้ในงานสัปดาห์พระพุทธศาสนา ช่วงเทศกาลวิสาขบูชาของทุกปี รางวัลที่ว่านี้เริ่มมอบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีจะเสด็จทรงมอบรางวัลทุกปีที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง มีบางปีที่ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์เป็นผู้มอบแทน
รางวัลที่มอบให้นั้น แต่เดิมมีเพียงไม่กี่ตัว แต่ตอนหลังทางกรมการศาสนาเห็นว่าคนนิยม เพราะมีผู้ได้รับรางวัลเป็นถึงระดับนักปราชญ์ราชบัณฑิตก็ติดใจ อยากจะได้รางวัลกับเขามั่ง ทางกรมการศาสนาจึงขยายตลาด เพิ่มจำนวนรางวัลขึ้นเป็นถึงปีละเกือบ 200 ตัว ปัจจุบันแจกรางวัลไปแล้วร่วมๆ 3000 ตัว ผู้ได้รับรางวัลนั้นมีทั้งพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกทั้งในและต่างประเทศ
แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอต่อเนื้องานที่สูญเสียไป นายปรีชา กันธิยะ นั้นนับว่าเป็นคนมีหัว ได้เริ่มโครงการพาพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไปแสวงบุญนมัสการสังเวชียสถานในประเทศอินเดีย แรกๆ ก็จัดเพียงปีละรุ่น แต่ปีนี้ยอดผู้เข้าร่วมท่วมท้น เลยขยายออกไปถึง 4 รุ่น นั่นหมายถึงว่ามีการเพิ่มเงินงบประมาณรัฐบาลให้แก่โครงการนี้เป็น 4 เท่าอีกด้วย โครงการนี้ก็คงจะก็อปปี้มาจากการแสวงบุญในพิธีฮัจของชาวมุสลิมที่นครเมกกะประเทศซาอุดิอาระเบีย
และทีนี้ว่าเมื่อโครงการหนึ่งเวิร์ค ความคิดของปรีชาก็แล่น เพิ่มโครงการโน่นโครงการนี่ไปเรื่อยๆ และแล้วก็มาสะดุดตรงโครงการ “พุทธสภา” ซึ่งจุดกระแสขึ้นในปลายปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา ทั้งนี้กรมการศาสนาได้มีหนังสือนิมนต์พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาและขอความเห็นชอบตั้งพุทธสภาในวันที่ 31 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร
แรกนั้นปรีชาก็คงไม่คิดว่าโครงการนี้จะจุดติดเร็วและแรงปานนั้น แต่เมื่อถูกนำเสนอผ่านสื่อ ก็ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมใหญ่ที่วัดสามพระยาจนแทบว่าล้นห้องประชุม
คนที่ตกใจไม่แพ้กันก็คือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ คู่แข่งบารมีของนายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา ซึ่งแย่งงานกันมาอย่างยาวนานนั่นเอง เพราะเมื่ออ่านดูในหนังสือเชิญชวนตั้งพุทธสภาของกรมการศาสนาแล้ว ก็พบว่ามีการตั้งเป้าเพื่อดึงเอาพุทธศาสนิกชนทั้ง 4 เหล่าเข้าไปเป็นภาคีสมาชิกอย่างหลากหลาย นับได้ถึง 9 สาขา เรียกว่า นวภาคี
มีทั้งพระสงฆ์ในมหาเถรสมาคมและนอกมหาเถรสมาคม กลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนา (ได้รับรางวัลเสมาธรรมจักร) ภาคราชการและเอกชน สถาบันการศึกษาทุกระดับนับตั้งแต่โรงเรียนประถมไปจนถึงอุดมศึกษาซึ่งก็คือวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ สตรี (รวมทั้งแม่ชี) เด็กและเยาวชน สื่อมวลชน นักวิชาการ วงการบันเทิงซึ่งก็คือดาราทั้งนักร้องนักแสดงและตลก มูลนิธิ สมาคม ชมรมต่างๆ ฯลฯ จาระไนไม่หวาดไม่ไหว คิดง่ายๆ ว่าแค่เอาเข้ามากลุ่มละ 10-20  คน ก็จะล้นห้องประชุมแล้ว ซึ่งแต่ละบุคคลที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกระดับหัวหน้าในพุทธสภานั้นก็ต้องมีเพาเวอร์ระดับชักจูงคนมาเข้าเป็นสมาชิกสามัญอีกมากมาย ไม่น้อยไปกว่ายุทธวิธีดาวกระจายของแอมเวย์ซึ่งธรรมกายลอกแบบไปใช้
ทั้งนี้พุทธสภาที่ว่านั้นปรีชากำหนดให้ “อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง” แบบว่านั่งเก้าอี้เดียว แต่สามารถแจกลูกบอลไปให้ได้ถึง 9 สาย ก็ใหญ่น้องๆ นายกรัฐมนตรีนะสิคะ
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า บรรดาพระสังฆาธิการระดับสูงซึ่งถือว่าสังกัดมหาเถรสมาคม ก็ถูกดึงไปด้วย แถมสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ยังถูก “ดึงดูด” ให้เข้าไปเป็นภาคีสมาชิก แต่ถูกยกขึ้นหิ้งให้เป็นเพียง “ที่ปรึกษา” ซึ่งที่ปรึกษานั้น มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านแปลว่า เทกระโถน
อา..เป็นสมภารชี้นิ้วสั่งพระเณรอยู่ดีๆ จู่ๆ ก็มีเหตุผกผันให้กลายเป็นเณรน้อยคอยเทกระโถน ใครกันจะทนได้ "ศรีทนได้ก็เรื่องของศรี แต่นี่พี่นพรัตน์ทนไม่ได้"
ดังนั้น จึงปรากฏว่า นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ทำเป็น “ไม่ว่าง” สำหรับการไปร่วมประชุมที่วัดสามพระยา แต่ได้ส่งตัวแทนคือนายอำนาจ บัวศิริ รอง ผอ.สำนักพุทธฯ ไปประชุมแทน
แต่ใครจะมาไม่มาปรีชาไม่สนใจแล้ว พอพบหน้า ดร.อำนาจ ดร.ปรีชาก็ชวนร้องเพลง “นกเขาคูรัก” แต่นพรัตน์ไม่เล่นด้วย โดยกดปุ่มสั่งอำนาจให้ร้องเพลง “พ่อแง่แม่งอน” แทน นับจังหวะแง่งอนของสำนักพุทธฯที่นายอำนาจร้องเป็นเพลงออกมานั้นได้ถึง 7 แง่ด้วยกัน ได้แก่
1.เมื่อตั้งพุทธสภาเป็นองค์กรของภาคเอกชนส่งเสริมพระพุทธศาสนา แต่กลับตั้งวัฒนธรรมจังหวัดเป็นเลขาธิการคณะกรรมการระดับจังหวัด และรองอธิบดี ศน. เป็นเลขาธิการคณะกรรมการระดับชาติ ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ เพราะองค์กรเอกชนต้องมีการเลือกเลขาธิการกันเอง ไม่ใช่ให้ทางราชการเข้าไปกำหนด

2.มีการตั้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นที่ปรึกษาพุทธสภาในระดับจังหวัด ผอ.พศ. เป็นที่ปรึกษาพุทธสภาระดับชาติ หากจังหวัดไม่ได้รับความร่วมมือเป็นที่ปรึกษาให้ ทาง ศน. จะทำอย่างไร

3.การประกาศจัดตั้งพุทธสภาอาศัยกฎหมายอะไรรองรับ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ

4.การดำเนินงานของ พศ. กับ ศน. มีความทับซ้อนกันอยู่ในรูปแบบพัฒนากิจการด้านพระพุทธศาสนา และยังไม่มีการแบ่งแยกให้ชัดเจนเลย แต่ก็มีการจัดตั้งพุทธสภาขึ้นมาทำหน้าที่เดียวกันนี้อีก ต่อไปหากมีกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างมหาเถรสมาคม (มส.) พศ. และพุทธสภา อะไรจะเกิดขึ้น

5.การทำงานพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยพุทธบริษัท 4 คือ พระสงฆ์ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา แต่การจัดตั้งพุทธสภาเป็นองค์กรเอกชน เป็นการทำงานของอุบาสก อุบาสิกา ส่วนการทำงานของพระสงฆ์มี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และ มส. อีกส่วนหนึ่ง เหมือนเป็นการแยกพุทธบริษัท 4 ออกจากกัน

6.การจัดตั้งพุทธสภาจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการแล้วในเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ และมีการให้พระสงฆ์เป็นรองประธานพุทธสภา แต่ มส. ซึ่งดูแลพระสงฆ์ยังไม่ได้รับทราบ พิจารณาหรือเห็นชอบด้วย จะดำเนินการต่อไปได้อย่างไร พระสงฆ์จะกล้ามาร่วมทำงานด้วยหรือไม่

7. ถ้ามีการตั้งวัฒนธรรมจังหวัดเป็นเลขาธิการคณะกรรมการระดับจังหวัด และรองอธิบดี ศน. เป็นเลขาธิการ คณะกรรมการระดับชาติโดยตำแหน่ง หากวัฒนธรรมจังหวัดหรือรองอธิบดี ศน. นับถือศาสนาอื่น โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคใต้จะทำอย่างไร

อ่านดูรวมๆ แล้วก็จะเห็นว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตั้งข้อสังเกตต่อกรมการศาสนาแบบครอบจักรวาล ตั้งแต่เรื่องอำนาจหน้าที่ ภาระหน้าที่ บทบาทที่จะคาบเกี่ยวกับมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถมยังถามลามไปถึงเรื่องอิสลามในสามจังหวัดภาคใต้ คิดบัญชีแบบนี้ถ้าหนีพ้นก็คงยิ่งกว่านกอินทรีย์
นี่คือปฏิกิริยาจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต่อการจัดตั้งพุทธสภาของกรมการศาสนา ซึ่งก็ต้องเรียกว่า“แรง”
เรื่องรวมหรือไม่รวมนี้ ในอดีตก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว ก็เรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 นั่นไง ที่กำหนดให้มีการรวมนิกายธรรมยุตและมหานิกายเข้าเป็นหนึ่งเดียวภายใน 8 ปี ปรากฏว่าคณะธรรมยุต “ทำใจไม่ได้” เพราะตนเองเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราช ครองอำนาจในสังฆมณฑลมาร่วม 100 ปี จู่ๆ คณะราษฎรก็เขียนกฎหมายบังคับให้รวมนิกาย ถ้าเอามหานิกายมารวมกับธรรมยุตมันก็พอฟัง แต่จำนวนพระสงฆ์ในเมืองไทยเรานั้น มหานิกายมีมากกว่าธรรมยุตถึง 10 เท่า ถ้ารวมกันแล้วจะถือว่าเป็นการรวมระหว่างใครกับใคร ธรรมยุตมองว่ากลุ่มของตัวเองมีน้อยกว่า การรวมกับมหานิกายก็เท่ากับว่าธรรมยุตถูกดูดเข้าไปเป็นมหานิกายตามเดิม ตามสมการว่าด้วยดาวดวงใหญ่ดูดดาวดวงน้อยให้เป็นบริวารฉะนั้น
ดังนั้น พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตจึงตีรวน ให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุต) ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยให้ทบทวนการรวมนิกายสงฆ์ โดยอ้างเหตุผลว่า “พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 จัดรูปเป็นการเมือง และให้ขึ้นแก่ตำแหน่งการเมือง มุ่งเปลี่ยนแปลงการพระศาสนา ตั้งต้นแต่ให้รวมลัทธินิกายด้วยวิธีการอันไม่เป็นไปตามครรลองคลองธรรม ผิดหลักพระธรรมวินัยและศาสนประเพณีนิยม ขัดความประสงค์ของรัฐธรรมนูญ ก่อความระส่ำระสายร้าวรานในระหว่างนิกายคณะสงฆ์ ทำให้การพระศาสนาเสื่อมลง ฝ่ายบ้านเมืองผู้มุ่งอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาจึงสมควรพิจารณายกเลิก พรบ.นี้เสีย”
ก็สรุปว่า ธรรมยุตไม่ยอมรวมกับมหานิกาย และทำสำเร็จ โดยการล้มพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484แล้วออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาใช้แทน และยังคงใช้ถึงในปัจจุบันวันนี้
ทีนี้ก็จะนำมาเปรียบเทียบกับกรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติถูกดึงเข้าไปรวมกับพุทธสภา
เรามาดูบทบาทหน้าที่กันก่อนนะ
เช่นว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีข้อบังคับผูกพันว่า “ต้องดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาเถรสมาคม” อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย โดยทั้งนี้หมายถึงว่า งานที่เกี่ยวข้องกับมหาเถรสมาคมทุกอย่างต้องมาทำที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหมด ไม่ว่าจะเป็นขาเข้าหรือขาออก
ทีนี้ว่า เมื่อตั้งพุทธสภาขึ้นมานั้น ก็มีการวางแผนไว้ก่อนแล้วว่า “ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง” หมายถึงว่างานของพุทธสภาทั้งหมดก็จะตกเป็นของ “กรมการศาสนา” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ขึ้นต่อกรมการศาสนา อันมีอธิบดีกรมการศาสนานั่งเป็นผู้บัญชาการใหญ่ในตำแหน่ง “เลขาธิการ” อยู่
เมื่อดูขนาดของพุทธสภาแล้วก็เห็นว่าน่าตกใจ เพราะใหญ่กว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเหมือนช้างกับแมว แถมยังกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นที่ปรึกษาให้แก่พุทธสภา ซึ่งก็คือกรมการศาสนานั่นเองอีกต่างหาก
ถ้าย้อนมองดูดีกรีหรือศักดิ์ศรีดังนำเสนอมาแล้ว ก็จะเห็นว่า “ตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธฯ ใหญ่กว่าอธิบดีกรมการศาสนา” แต่ถ้าตั้งพุทธสภาขึ้นมาตามแผนงานที่ว่าได้สำเร็จ ตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธฯก็แทบไม่มีค่าอะไรเลยเมื่อเทียบกับตำแหน่ง“เลขาธิการพุทธสภา” ซึ่งก็คืออธิบดีกรมการศาสนานั่นเอง
ถามว่าถ้าเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติท่านจะยอมหรือ ? ศรีปราชญ์ยังประกาศเลยว่า “เราก็ศิษย์มีครู หนึ่งบ้าง” ดังนั้น เรื่องไรจะปล่อยให้ตั้งกันง่ายๆ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ จึงส่งเพชฌฆาตหน้าหยก“ดร.อำนาจ บัวศิริ” ออกมาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันเข้าประจัญบานกับกรมการศาสนาในบัดดล
อย่างที่เล่าให้ฟังว่า เมื่อแยกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาจากกรมการศาสนานั้น ทางฝ่ายนี้เหลืองานไว้ให้กรมการศาสนาทำเพียงนิดหน่อย แต่พอนานไปกลับกลายเป็นว่า งานที่สำนักงานพระพุทธศาสนารับโอนมาจากกรมการศาสนานั้น เป็นงานประจำ (Routine Work) ทั้งเรื่องงานเลขานุการมหาเถรสมาคม งานเข้างานออกรายงานเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์ งานหลวง เช่น พิธีตั้งพระราชาคณะ พระเปรียญ พระครูสัญญาบัตร งานประชุมของคณะสงฆ์พระสังฆาธิการ และงานเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งจัดกันตลอดทั้งปี ทางสำนักพุทธฯต้องเข้าไปสนองงานทุกระดับประทับใจ แต่ถึงอย่างไรก็ซ้ำซาก ไม่มีอะไรใหม่ เลยกลายเป็นว่าถูกงานประจำรัดตัว ขณะที่กรมการศาสนาแรกนั้นก็น้อยใจว่า “ไม่มีอะไรทำ” แต่ตอนหลังก็นึกขึ้นได้ว่า เอ..มันไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ให้ทำ แต่เราก็สามารถทำงานศาสนาได้ เพราะไม่มีข้อห้ามอันใด โดยเฉพาะก็คือการสร้างงานใหม่ๆ ให้เป็นโครงการๆ ไป กรมการศาสนาจึงเริ่มคิดโครงการใหม่ๆ ซึ่งก็มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ โครงการไหนไม่สำเร็จก็เก็บไว้ โครงการไหนใช้ได้หรือไปได้สวยก็เสริมสวย เหมือนโครงการพาพระไทยไปเที่ยวอินเดีย แรกนั้นงบประมาณไม่กี่ล้าน เดี๋ยวนี้ปั่นหุ้นเกินร้อยล้านบาทต่อปีแล้ว
อา.แบบนี้ก็สบายกว่ากันเยอะสิ เพราะไม่มีหน้าที่ต้องไปรายงานตัวต่อพระในมหาเถรสมาคม แต่จะไปไหว้ก็ได้ไม่มีใครห้าม แถมยังเลือกไหว้ได้อีกด้วย ขณะที่สำนักพุทธฯเองนั้นตำแหน่งบังคับ ไม่ไปก็ไม่ได้ จะเลือกไปก็ไม่ได้อีก ยิ่งงานวันเกิดของเจ้าประคุณสมเด็จ-รองสมเด็จฯทั้งหลาย ก็ต้องตื่นแต่ไก่โห่
ณ วันนี้ ทางกรมการศาสนาคงไม่อยากได้งานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้วล่ะ เชิญนอนเฝ้าภูเขาทองไปคนเดียวเถอะ สู้เปิดโครงการใหม่ไฉไลกว่าเป็นไหนๆ อาศัยกองศาสนูปถัมภ์นั่นแหละเป็นตัวสร้างงาน ดูอย่างวัดพระธรรมกายก็คล้ายกัน ไม่มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม แต่สามารถคิดโครงการอันใดก็ได้ไม่ติดขัด อันไหนไม่อยากคิดหรือไม่อยากทำก็เก็บไว้ในลิ้นชัก อันไหนอยากทำก็ทำ ทำสำเร็จหรือล้มเหลวก็ไม่มีใครว่ากล่าวหรือตรวจสอบ เพราะเป็นการทำงานโดยสมัครใจ แต่คนที่จะคิดและทำได้ดังธรรมกายและกรมการศาสนาดังที่เห็นนี้ ก็ต้องเป็นระดับศาสตราจารย์หรือปรมาจารย์ผู้เยี่ยมยุทธและมากบารมี มิเช่นนั้นก็คงได้แค่ฝัน
ในอดีตนั้นเราเคยได้ยินแต่ยุทธวิธีทางการเมืองเพียง 2 วิธี คือ 1.แบ่งแยกแล้วปกครอง 2.กล่อมและกลืน แต่ตามยุทธวิธีที่กรมการศาสนาประกาศโครงการจัดตั้งพุทธสภาให้เสร็จเพียงไม่กี่วัน โดยการรวบเอาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปเป็นที่ปรึกษาด้วยนั้น จะจัดเข้าในวิธีทั้งสองคงไม่ได้แล้วล่ะ แต่ต้องจัดให้เป็นประเภทใหม่ในชื่อว่า “ดูดกลืน” เพราะมาไวเหลือเกิน
เชื่อแน่เหลือเกินว่า ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคงไม่ยอมหยุดหรือปล่อยให้กรมการศาสนาเดินหน้าตั้งพุทธสภาสำเร็จ เพราะถ้าตั้งได้ ก็เท่ากับสนับสนุนให้กรมการศาสนาปฏิบัติการ “ยึดอำนาจกิจการพระพุทธศาสนา” ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
บอกแล้วไงว่า แค่กรมการศาสนาขอแบ่งงาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ยังไม่ยอม แล้วนี่จะรวบเอาสำนักพุทธฯไปรวมกับกรมการศาสนาอย่างนั้นหรือ ไม่มีทาง
เห็นไหม นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ นั้น เปิดเพลง “หนูไม่เอา” ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ดังลั่นสำนักพุทธฯเชียว !

เห็นข่าวแล้วพูดได้คำเดียวว่า มันส์พ่ะย่ะค่ะ
มันส์แบบโก๋แก่เรียกพี่ทีเดียวเชียวล่ะ อิอิ

เมื่อมหาเถรทำในเรื่องไร้คุณธรรมและจริยธรรม ข้อมูลที่1 http://www.alittlebuddha.com/News%202011/April%202011/11%20April%202011.html

เมื่อองค์กรหลักด้านคุณธรรม กระทำสิ่งไร้คุณธรรม ข้อมูลที่๒ http://www.alittlebuddha.com/News%202011/April%202011/12%20April%202011.html

ศึกษาข้อมูล วิทยานิพนธ์ด้านความมั่นคงสถาบันพระศาสนา ในประวัติศาสตร์ ได้ที่https://docs.google.com/file/d/0B_nOh0gPsWNSUkVWRG9aQ3pkbmc/edit
ช่วยแบ่งปันได้เพื่อสร้างบุญบารมี ถวายสมเด็จพระสังฆราช ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง