ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ประวัติศาสตร์ และกฏแห่งกรรม การเมืองยุ่งศาสนาหรือศาสนายุ่งการเมือง ?

\



ตั้งพระพายัพ ชินวัตร เป็นพระครูปลัดสมเด็จฯ
การเมืองยุ่งศาสนาหรือศาสนายุ่งการเมือง





01


คณะสงฆ์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา

คณะสงฆ์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ท่านว่าแบ่งออกเป็น 3 คณะนิกาย ได้แก่
คณะเหนือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คณะคามวาสีฝ่ายซ้าย มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นเจ้าคณะ
คณะใต้ (คณะคามวาสีฝ่ายขวา) มีสมเด็จพระพุทธาจารย์ เป็นเจ้าคณะ
คณะอรัญวาสี (ต่อมาได้เป็นคณะกลาง) มีสมเด็จพระวันรัต เป็นเจ้าคณะ
แคนดิเดทสมเด็จพระสังฆราชนั้นท่านว่ามาจาก 2 ตำแหน่งหลัก คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นสมณศักดิ์เอกอุของพระสงฆ์ผู้คงแก่เรียนพระปริยัติธรรม หมายถึงว่าเก่งภาษาบาลี และสมเด็จพระวันรัต ซึ่งชำนาญในทางวิปัสสนากรรมฐาน พระสงฆ์ไทยสมัยโบราณที่จะได้ขึ้นครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชต้องมาจาก 2 ตำแหน่งนี้เท่านั้น หมายถึงว่าถ้าพระภิกษุรูปใดได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" และหรือ "สมเด็จพระวันรัต" แล้ว ก็หมายถึงว่าเข้าไลน์เป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งพระนครศรีอยุธยา ถ้าไม่มรณภาพลงไปเสียก่อน หรือว่าอ่อนอาวุโสให้แก่อีกรูปหนึ่ง การตั้งสมเด็จพระราชาคณะไทยในสมัยโบราณจึงถือว่ามีความหมาย แค่ได้รับทราบว่าพระราชาคณะรองสมเด็จฯรูปใดได้รับการจารึกในพระสุพรรณบัฏให้เป็นอะไร คนเขาก็เข้าใจแล้วว่าต่อไปจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็นอะไร โดยที่ไม่ต้องให้หมอดูมาทำนาย ทีนี้ว่าเมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็จะได้รับการประกาศราชทินนามใหม่ว่า "สมเด็จพระอริยวงศาญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นแต่งเติมเป็น "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ"
กรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.2310 คณะสงฆ์ไทยทั้งสามนิกายก็แตกกระจัดพรัดพรายไป หนีภัยไปอยู่ทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี เป็นต้น บ้าง ลงไปอยู่ภาคใต้ในหัวเมืองใหญ่นครศรีธรรมราชซึ่งการสงครามลงไปไม่ถึงบ้าง ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้กรุงศรีอยุธยาคืนมาได้แล้ว ก็ทรงได้พระสงฆ์จากสองภาคเหล่านี้เข้ามาช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในกรุงธนบุรี ส่วนคณะสงฆ์ฝ่ายเหนือซึ่งตกอยู่ภายใต้ของพม่านั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่าเป็นพระนอกรีต โดยเฉพาะเจ้าพระฝาง แห่งเมืองสวางคบุรี ที่ต้นตนเป็นกษัตริย์ในผ้าเหลือง ออกนำหน้ากองทัพต่อสู้กับพม่าและแข็งเมือง ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อกรุงธนบุรี เมื่อพระเจ้าตากสินทรงตีเมืองฝางได้นั้น เจ้าพระฝางหนีเข้ากลีบเมฆไปจนป่านนี้ก็ยังไม่รู้ว่าอยู่ไหน แต่บรรดาพระสงฆ์ลูกน้องเจ้าพระฝางนั้นถูกจับพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยการดำน้ำแข่งกับเวลา ปรากฏว่าสึกมากกว่าอยู่ ส่วนที่เหลืออยู่นั้นก็ทรงโปรดให้พระสงฆ์จากกรุงธนบุรีขึ้นไปทำพิธีบวชให้เสียใหม่ บางส่วนก็ได้ย้ายลงมาอยู่ในกรุงธนบุรีด้วย
ก็สรุปได้เลยว่า บัดนี้ ในกรุงธนบุรีมีพระสงฆ์ 3 กลุ่มใหญ่มาอยู่ด้วยกัน คือ กลุ่มภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) กลุ่มภาคใต้ (นครศรีธรรมราช) และกลุ่มภาคเหนือ (พิษณุโลก อุตรดิตถ์)
ทีนี้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีพระสงฆ์อยู่ นิกาย พอกรุงศรีอยุธยาแตกนิกายก็แตก เพราะหนีตายไปอยู่ต่างเมือง พอได้กรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระสงฆ์สามนิกายเหล่านั้นก็กลับเข้ามาใหม่ โดยไม่ได้ตั้งเป็นนิกายขึ้นมาอีก สงครามกับพม่าคราวเสียกรุงศรีอยุธยานั้น ยังมีความหมายในทางพระพุทธศาสนาว่า เป็นการสลายนิกายคณะสงฆ์ไทยลงไปอีกด้วย
แต่..แต่แม้ว่าสงครามจะทำลายรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ไทยลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่ในความเป็นลัทธินิกายของพระสงฆ์สามฝ่ายในกรุงธนบุรีนั้นยังคงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แหมก็มันแค่ไม่กี่ปีนี่เอง เพิ่งหนีจากอยุธยามาอยู่ธนบุรี จะให้ลืมกำพืดเก่ามันก็เกินไป ลัทธินิกายที่ว่านี้ก็นับตั้งแต่ รูปแบบการครองผ้า วัตรปฏิบัติ การสวดมนต์ รวมถึงการนับถือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ในนิกายของตน สรุปว่า พระสงฆ์อยุธยา 3 นิกาย ได้กลายเป็นพระสงฆ์แห่งกรุงธนบุรี แม้ไม่มีการประกาศว่าเป็นนิกายไหน แต่พระสงฆ์ไทยเหล่านั้นก็รู้ตัวเองดีว่ามีนิกาย เพราะนิกายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่บวช



02

พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระสติฟั่นเฟือน
ความเป็นลัทธินิกายของพระสงฆ์ไทยในกรุงธนบุรีแสดงออกอย่างชัดเจน เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปฏิบัติพระกรรมฐานอย่างเคร่งครัด จนสำคัญพระองค์ว่าทรงได้บรรลุพระโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว จากนั้นก็ทรงมีพระดำรัสถามพระราชาคณะทุกหมู่เหล่าว่า "ระหว่างฆราวาสผู้ได้บรรลุธรรม กับพระสงฆ์สามเณรที่ไม่ได้บรรลุธรรม ใครมีคุณธรรมสูงกว่ากัน"
พระราชาคณะก็ถวายวิสัชนาไปว่า "ถ้าพูดเรื่องคุณธรรมก็ต้องยอมรับว่าฆราวาสเหนือกว่าพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์ยังไม่ได้บรรลุธรรม"
"ถ้างั้น พระสงฆ์ที่ยังไม่บรรลุธรรมก็ต้องกราบไหว้ฆราวาสผู้บรรลุธรรมละสิ เพราะมีคุณธรรมต่ำกว่า" พระเจ้าตากสินทรงมีพระราชปุจฉาต่อ
คราวนั้นท่านว่า พระสงฆ์ในกรุงธนบุรีเสียงแตกเป็น 3 ฝ่าย
ฝ่ายแรกบอกว่า "ไหว้ได้" ฝ่ายนี้มี พระพุทธโฆษาจารย์ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) เป็นหัวหน้า และมี พระโพธิวงศ์ (ชื่น) พระรัตนมุนี วัดหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม) เป็นแนวร่วม
ฝ่ายที่สองบอกว่า "ไหว้ไม่ได้" ฝ่ายนี้มี สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) เป็นหัวหน้า มีพระพุทธาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์) เป็นผู้สนับสนุน
ฝ่ายสุดท้ายบอกว่า "ไหว้ก็ได้ ไม่ไหว้ก็ได้ จะเอาแบบไหนก็ได้" ฝ่ายนี้ไม่มีชื่อ เพราะไม่ได้ลงชื่อ สมัยนั้นเขาจดชื่อไว้เฉพาะฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านเท่านั้น ส่วนพลังเงียบนั้นจะแสดงพลังในตอนท้าย
ก่อนหน้านั้นชาวไทยเคยได้ยินการพูดเปรียบเทียบประเพณีไว้ของคนไทยเอาไว้ว่า "ไหว้พระไหว้ผี" บ้าง "ไหว้พระไหว้เจ้า"บ้าง ซึ่งคำว่าผีนั้นก็คือผีบรรพบุรุษ รวมทั้งเทวดาพระอินทร์รวมทั้งท้าวเทวราชทั้งสี่ที่เชื่อกันว่ามีฤทธิ์อำนาจให้คุณให้โทษแก่เราได้ ส่วนเจ้านั้นน่าจะเป็นเทพเจ้าของชาวจีน ได้แก่ เจ้าแม่กวนอิน เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ฮกลกซิ่ว เป็นต้น ซึ่งเจ้าของจีนนั้นจะอยู่ในศาลเรียกว่า ศาลเจ้า ซึ่งศาลเจ้านี้ภาษาบาลีว่า "เทวาลัย" อันได้แก่ศาลเทพเจ้าของชาวอินเดีย ซึ่งก็นับถือพระอินทร์เช่นกัน
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่า สมเด็จพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการกราบไหว้ฆราวาสผู้ทรงคุณธรรมสูงกว่าก็พิโรธ มีพระบรมราชโองการ "ถอด" สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ออกจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชลงเป็นพระอนุจร หมายถึงว่าเป็นพระธรรมดา ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ และไม่มีตำแหน่งใดๆ ในวัดด้วย จากนั้นจึงโปรดสถาปนา"พระโพธิวงศ์ (ชื่น)" เจ้าอาวาสวัดหงส์ ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แถมยังทรงลงพระอาญาเอากับอดีตสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) และคณะ โดยทรงโปรดให้นำตัวไปลงโทษที่วัดหงส์ โดย 2 วิธี คือ 1.โบยหลังรูปละ 500 ที และ 2.ขนอาจม (ขี้) ของพระสงฆ์วัดหงส์ ท่านประมาณว่าพระสงฆ์ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในการกราบไหว้นั้นมีถึง 500 รูป ญาติโยมผู้เห็นใจในชะตากรรมต่างก็ร้องไห้ระงมเมือง บ้างถึงกับขออาสาเอาหลังรับไม้เรียวและขนอาจมแทนท่านก็มี ส่วนที่ได้ดีนั้น นอกจากพระโพธิวงศ์แล้ว พระพุทธโฆษาจารย์ วัดระฆังโฆสิตาราม พระลูกวัดของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ซึ่งหักหลังเจ้าอาวาสของตนเองนั้น ได้เลื่อนชั้นเป็น "สมเด็จพระวันรัต"
และประวัติศาสตร์ก็ระบุว่า นี่เป็นเหตุแห่งการตั้งข้อกล่าวหาต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาบุรุษผู้กู้ชาติไทยว่า "ทรงมีพระสัญญาวิปลาศ" และต่อมาก็ถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหึมา (เจ้าพระยาจักรี-ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) สองพี่น้องทำการยึดอำนาจ ตั้งราชวงศ์จักรีขึ้นมาในปี พ.ศ.2325
เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 แล้ว ก็ทรงโปรดให้ "ถอดยศ" สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ ลงเป็น พระธรรมธีรราชมหามุนี ทั้งนี้ทรงมีพระปรารภว่า "มีความรู้มาก เสียดายแต่ว่ามีสันดานสอพลอ" จากนั้นก็โปรดสถาปนาพระอาจารย์ศรี วัดระฆังโฆสิตาราม ขึ้นดำรงสมณฐานันดรศักดิ์ที่ "สมเด็จพระสังฆราช" อีกคำรบหนึ่ง จึงเป็นว่า พระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง ได้เป็นสังฆราชสองหน พระพุทธาจารย์และพระพิมลธรรมนั้น ก็ทรงโปรดให้คืนครองสมณศักดิ์และตำแหน่งดังเดิม และโปรดให้กลับครองวัดเก่าที่เคยสถิต ทั้งยังทรงโปรดให้รื้อตำหนักของสมเด็จพระเจ้าตากสินไปสร้างเป็นกุฎิที่ประทับถวายสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ไว้ที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) อีกด้วย โดยนัยยะว่าเป็นการขอขมาต่อสมเด็จพระสังฆราชศรีที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงลงโทษอย่างโหดร้าย
บทบาทของอดีตสมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ ยังไม่จบลงแต่เพียงเท่านั้น แต่ท่านว่า ภายหลังมา พระธรรมธีรราชมหามุนี (อดีตพระสังฆราชชื่น) สามารถกล่อม พระพุทธาจารย์ (อยู่) วัดบางหว้าน้อย เข้าเป็นพวกได้สำเร็จ ให้เป็นหัวหน้านำเสนอให้รวมพัทธสีมาระหว่างวัดนาคกับวัดกลางเข้าด้วยกันเพราะอยู่ใกล้กัน ครั้นนำเข้าสู่ที่ประชุมปรากฏว่า "โหวตแพ้"ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพิโรธว่า "พระพุทธาจารย์รูปนี้ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง อวดรู้กว่าผู้ใหญ่" จึงทรงโปรดให้ถอดยศออกเหลือเพียงชื่อว่า "พระมหาอยู่" และต่อมาก็ได้รับฉายา "มหาอกตัญญู" จากสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์แรกในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมามหาอยู่ก็ดั้นด้นเอาดีจนได้ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น"พระธรรมกิติ" เจ้าอาวาสวัดนาค ซึ่งปัจจุบันได้รวมกับวัดกลางกลายเป็น "วัดนาคกลาง" ไปแล้ว ส่วนพระธรรมธีราชมหามุนี (อดีตพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ นั้น ถูกลดยศลงอีกขั้นเป็น "พระธรรมไตรโลก" แบบว่าถูกลด 2 ครั้ง 2 ขั้นด้วยกัน
"อนึ่ง พระราชาคณะทั้งปวงนั้นก็ว่าตามกันไปด้วยกลัวพระราชอาญา ทรงพระกรุณายกโทษเสียสิ้น"
นั้นเป็นการนิรโทษกรรมต่อพระสงฆ์ไทยครั้งใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระพวกนี้ก็คือกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด กลุ่มเป็นกลาง หรือกลุ่มพลังเงียบ กลุ่มนกแล กลุ่มจิ้งจกตุ๊กแก พวกนี้อยู่ได้ตลอด ดังสำนวนว่า "ชั่วไม่มี ดีไม่ปรากฏ" แต่ก็อยู่รอดปลอดภัย เพราะเป็นกลุ่มใหญ่และไม่เล่นเกมเสี่ยง พวกนี้มีมากที่สุดไม่ว่าในประชากรพระสงฆ์หรือประชากรประชาชนคนไทย ใช่มีแต่สมัยนี้เท่านั้น




03

กำเนิดคณะธรรมยุติกนิกาย
การบริหารการปกครองของคณะสงฆ์ไทยที่เรียกว่า กิจการพระศาสนา ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏเรื่องใหญ่อยู่เพียงเท่านี้ เพราะว่าคลื่นใหญ่ย่อมนานๆ มาที มาแรงๆ ระดับสึนามิยิ่งต้องเป็นร้อยปีถึงมาครั้งหนึ่ง จึงปรากฏว่าหลังจากนั้นกิจการพระศาสนาก็ราบเรียบมาโดยตลอด จนกระทั่ง เจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงออกผนวชตามโบราณราชประเพณีที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน พ.ศ.2367 ได้รับฉายาว่า "วชิรญาโณ" ประทับที่วัดมหาธาตุฯ ซึ่งมีพระราชอุปัธยาจารย์คือ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ประทับอยู่ แต่ครั้นทรงผนวชได้เพียง 15 วัน พระราชบิดาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็เสด็จสวรรคต ขณะนั้นพระเชษฐาต่างพระมารดา คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มีอำนาจควบคุมกิจการทหารและพลเรือนไว้ในพระหัตถ์ พระภิกษุวชิรญาณจึงนำความไปกราบทูลถาม พระภิกษุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี วัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นพระญาติผู้ใหญ่ ก็ได้รับคำแนะนำว่า "อย่าเพิ่งสนใจในราชสมบัติ ขอให้ผนวชหาวิชาความรู้ต่อไป" พระภิกษุวชิรญาณจึงแจ้งแก่เสนาบดีผู้ใหญ่ว่า "ไม่ขอรับราชสมบัติ" เล่ามาถึงตอนนี้ก็เป็นสมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว แต่โบราณท่านเรียกว่า แผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องมอญไว้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ.2357 มอญในเมืองเมาะตะมะ ไม่พอใจพม่าที่เกณฑ์ชาวมอญไปสร้างพระเจดีย์โดยไม่มีสวัสดิการ จึงชวนกันหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นแม่กอง พร้อมด้วยกรมหลวงพิทักษ์มนตรี นำทัพออกไปรับชาวมอญถึงชายแดน แล้วโปรดให้ชาวมอญเหล่านั้นไปตั้งถิ่นฐานทำกินอยู่ในท้องที่เมืองสามโคก (ปทุมธานี) ปากเกร็ด (นนทบุรี) และนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง-สมุทรปราการ) นั่นคือบันทึกพงศาวดารที่ระบุถึงสัมพันธภาพระหว่างชาวมอญกับเจ้าฟ้ามงกุฏ ซึ่งต่อมาก็จะกลายเป็นความผูกพันทางศาสนาด้วย
ท่านเล่าว่า เมื่อทรงผนวชแล้ว พระภิกษุวชิรญาณหรือเจ้าฟ้ามงกุฏ ทรงประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ เพื่อทำวัตรต่อองค์พระอุปัชฌาย์ คือสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นจึงเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย ซึ่งพระราชบิดา คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อทรงผนวชก็ได้เสด็จมาประทับ ณ วัดแห่งนี้ ทั้งนี้เพื่อทรงศึกษาพระกรรมฐาน
ต่อมาพระภิกษุวชิรญาณได้พบกับพระซาย หรือพระสมชาย พุทฺธวํโส วัดบวรมงคล (วัดลิงขบ) ได้เกิดความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติตามแบบพระมอญ จึงทรงทำการอุปสมบทซ้ำที่แพหน้าวัดสมอราย มีพระสมชาย พุทฺธวํโส เป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์อันดับจำนวน 18 รูป ปีนั้นนับเป็น พ.ศ.2372 เมื่อทำการอุปสมบทใหม่แล้ว ก็ทรงประกาศลัทธิใหม่ขึ้นในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า ธรรมยุต
วัดบวรมงคลนั้นจะเป็นวัดมอญมาแต่เดิมหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ แต่มีประวัติว่า ในสมัยรัชกาลที่ 2 กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงเป็นแม่ทัพไปรบพม่า ซึ่งก็น่าจะเกิดปัญหาเรื่องมอญนี่แหละ แถมยังทรงโปรดให้เป็นแม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้นมาที่หน้าด่านทะเล และเมื่อเจ้าฟ้ามหามงกุฎทรงยกทัพไปรับมอญมาจากเมืองเมาะตะมะ ส่วนหนึ่งก็โปรดให้มาอาศัยอยู่ในเมืองนครเขื่อนขันธ์นั่นเอง ปัจจุบันก็คือมอญพระประแดง
และยังมีประวัติอีกด้วยว่า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งทรงโปรดให้ดำรงตำแหน่งมหาอุปราชในสมัยรัชกาลที่ 2นั้น ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดเก่าให้เป็นวัดใหม่ จำนวน 2 วัดคือ วัดลิงขบ พระราชทานชื่อว่า วัดบวรมงคล และวัดเสาประโคนพระราชทานชื่อว่า วัดดุสิตาราม กับทรงสร้างวัดทรงธรรมขึ้นอีกวัดหนึ่ง
เหตุผลในการปฏิสังขรณ์วัดวัดเสาประโคนนั้นท่านว่า "เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ" ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งมีพระสถูปบรรจุพระอัฐิอยู่ที่วัดแห่งนี้ ส่วนเหตุผลในการปฏิสังขรณ์วัดลิงขบนั้นท่านมิได้ระบุไว้ แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นวัดร้าง และเมื่อทรงปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ก็ทรงนิมนต์พระสงฆ์มอญมาจำพรรษา และเข้าใจว่าน่าจะเป็นมอญพระประแดงนั่นเอง
นั่นก็เรื่องของมอญ พระมอญ และคณะสงฆ์มอญ ซึ่งมาเกี่ยวข้องกับพระภิกษุวชิรญาณ จนกลายมาเป็น "ธรรมยุติกนิกาย" ในปัจจุบัน
ต่อมาก็มาถึง "วัดบวรนิเวศวิหาร" ซึ่งวัดนี้มีตำนานว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยผู้สร้างคือ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ โดยทรงรวมเอาวัดรังษีสุทธาวาสเข้ามาไว้ในเขตเดียวกัน ตั้งชื่อว่า วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ยังมิทันแล้วเสร็จก็สิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน (สิ้นพระชนม์ 1 พฤษฎาคม พ.ศ.2375) และต่อมา เมื่อมีเสียงเล่าลือว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหามงกุฎ ซึ่งบัดนี้ทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอรายนั้น ได้ทรงทำการอุปสมบทใหม่ในนิกายพระมอญ มีผู้คนสนใจไปกราบไหว้เป็นจำนวนมาก เกรงว่าจะกระด้างกระเดื่อง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดแก้ไขหลายอย่าง อาทิเช่น เรื่องการครองผ้า ทรงโปรดมีพระดำรัสปรึกษากับสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร (ผู้รวบรวมและแต่งโครงโลกนิติ) ว่าทรงเห็นพระไทยไปห่มอย่างมอญแล้วเสียธรรมเนียม เพราะมอญเป็นเมืองขึ้น จึงทรงโปรดให้นำเอาผ้าไตรไปถวายแก่พระภิกษุวชิรญาณ ซึ่งก็ทรงยอมรับว่า "แต่ก่อนนั้นนึกถึงแต่วินัยสิกขา มิได้คำนึงถึงเกียรติยศราชการงานแผ่นดิน ถ้านึกได้ก็คงไม่ประพฤติมาดั่งนี้" แล้วก็ทรงกลับมาครองผ้าพันลูกบวบเข้าด้านในดังเดิม
(แต่เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงปริวัตรเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 แล้ว พระธรรมยุตก็เข้าชื่อกันร้องเรียนเรื่องห่มผ้า ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งว่า "เป็นเรื่องของสงฆ์ พระองค์ไม่ยุ่งเกี่ยว" ก็แปลว่าทรงปล่อยเสรี พระสงฆ์ธรรมยุตจึงได้ทีกลับไปห่มแบบมอญตามเดิม)
อีกทางหนึ่งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ก่อสร้างวัดบวรนิเวศให้แล้วเสร็จ จากนั้นจึงโปรดให้อาราธนาพระภิกษุเจ้าฟ้ามหามงกุฎพร้อมด้วยพระสงฆ์วัดราชาธิวาสเข้ามาอยู่ประจำ พร้อมทั้งโปรดตั้งพระภิกษุวชิรญาณขึ้นเป็นพระราชาคณะอีกด้วย

พระภิกษุวชิรญาณจึงทรงเป็นปฐมเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

วัดที่อยู่ใกล้วัดบวรนิเวศวิหารและเป็นวัดสำคัญคือ "วัดชนะสงคราม" นั้น เดิมมีชื่อว่า วัดตองปุ และมีสถานะเป็นวัดมอญเช่นกัน วัดแห่งนี้ก็มีดีกรีไม่เบา เพราะปรากฏว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระหนุ่มเณรน้อยจากหัวเมืองเหนือลงมาศึกษาพระธรรมวินัยในกรุงเทพมหานคร เมื่อกลับไปแล้วมีชื่อเสียงเกรียงไกรมาก เช่น หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิต หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท เป็นต้น นั่นแสดงถึงว่า วัดมอญเช่นวัดชนะสงคราม วัดบวรมงคล ล้วนแต่มีบทบาททางด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบมอญมาอย่างเข้มข้นในตอนต้นและตอนกลางกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะกลายเป็นวัดไทยไปในปัจจุบัน
ซึ่งความเด่นของวัดชนะสงครามคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (อดีตพระภิกษุวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร) โดยมีประวัติว่า ทรงเสด็จทอดถวายผ้าพระกฐินวัดชนะสงคราม บางคราวพระวัดชนะสงครามมีน้อย ก็โปรดให้นิมนต์พระจากวัดบวรมงคลมาอยู่เสริม บางคราวพระวัดบวรมงคลขาดแคลนก็ทรงโปรดให้พระวัดชนะสงครามไปครองวัดบวรมงคล และทรงส่งพระจากวัดชนะสงครามไปประจำอยู่ที่วัดกวิศราราม เมืองลพบุรี ซึ่งเป็นวัดมอญเช่นกัน เมื่อได้รับการอุปถัมภ์อย่างใกล้ชิดจากพระเจ้าแผ่นดินเช่นนี้ จึงส่งผลให้วัดชนะสงครามกลายเป็นสำนักเรียนมีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 5 มีลูกศิษย์ลูกหาเด่นดังหลายรูปดังกล่าว กล่าวให้ชัดก็คือว่า วัดชนะสงครามซึ่งเป็นวัดมอญนั้น ได้กลายเป็นพันธมิตรของวัดบวรนิเวศวิหารอย่างแนบแน่น เพราะเป็นมอญเหมือนกัน แถมยังเป็นโมเดลบอกใบ้ให้พระมหานิกายได้รับทราบว่า ถ้าโอนอ่อนผ่อนตามคณะธรรมยุตก็จะได้ดิบได้ดีเหมือนพระวัดชนะสงคราม
ครั้นเมื่อพระภิกษุวชิรญาณ ทรงปริวัตรลาผนวชขึ้นครองราชย์ เป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ.2394 นั้น วัดบวรนิเวศวิหารก็ได้เจ้าอาวาสรูปใหม่ได้แก่ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ที่ 8 ต่อจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน โดยทรงมีราชทินนามว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์



04

พระไทยนิกายเก่าต่อต้านการกำเนิดของธรรมยุต

แน่นอนว่าพระสงฆ์ฝ่ายนิกายเดิม ซึ่งภายหลังเรียกว่ามหานิกาย ก็ได้แสดงออกทางการเมืองการปกครองมากมายหลายทาง เพื่อต่อต้านการยึดครองอำนาจในคณะสงฆ์ไทยของพระธรรมยุตวัดบวรนิเวศวิหาร อาทิเช่น
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ชาวจังหวัดเพชรบุรี มีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดท้ายตลาด หรือวัดโมลีโลกยาราม เรียนจบประโยค 9 และเป็นกรรมการสนามหลวงสอบบาลี เคยนั่งเป็นกรรมการตรวจข้อสอบร่วมกับพระภิกษุวชิรญาณหรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมมหาราชวังด้วย โดยครั้งนั้นท่านว่ามีนักเรียนชื่อว่า พระมหาผ่อง วัดกัลยาณมิตรได้เข้าแปลพระธรรมบท แปลได้ 4 ประโยคแล้ว กำลังจะขึ้นประโยค 5 ก็ปรากฏว่าเมื่อแปลมาถึงคำว่า ตุมฺเห ท่านทั้งหลาย นิสีทถ จงนั่ง อาสเน... (ตัวนี้เป็นสัตตมีวิภัต มีคำแปลมากมายถึง 7 อย่าง คือ ใน ใกล้ ที่ ครั้นเมื่อ ในเพราะ เหนือ บน แล้วแต่ความเหมาะสมของสถานการณ์)
ท่านเล่าว่า พระมหาผ่อง แปลว่า "นั่งในอาสนะ"
ครานั้นท่านว่า พระภิกษุวชิรญาณวินิจฉัยว่า "ไม่ถูก" ต้องแปลใหม่ พระมหาผ่องจึงแปลใหม่ว่า "นั่งเหนืออาสนะ"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ก็ทักท้วงว่า "แปลอย่างครั้งแรกน่ะถูกแล้ว จะเปลี่ยนทำไม ไม่ต้องเปลี่ยน"
พระมหาผ่องก็กะจะเปลี่ยนใหม่ แต่พระภิกษุวชิรญาณได้ถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ว่า ถ้าว่านั่งในอาสนะนั้นนั่งยังไง ฉีกอาสนะเข้านั่งอย่างนั้นหรือ หรือจะเอาอาสนะขึ้นคลุมหัว ?
ปรากฏว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ไม่พอใจที่ถูกพระภิกษุวชิรญาณ ประโยค 5 เถียงต่อหน้าธารกำนัน จึงบันดาลโทสะว่า "ทุกวันนี้เพราะคิดถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าแผ่นดินดอก จึงได้มาไล่หนังสือ ถ้าหาไม่ก็ไม่ปรารถนาเดินมาให้เจ็บหัวแม่ตีน"
ครั้นเมื่อ พระภิกษุวชิรญาณทรงลาผนวชเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ก็ร้อนกุฏิ รีบเก็บข้าวของหนีไปอยู่เพชรบุรีบ้านเกิด แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จึงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณฯ ได้แต่งคาถาบาลีถวายบทหนึ่ง
กล่าวทางพระมหาผ่องนั้น ภายหลังท่านว่าเข้าสอบอีก 2 ครั้ง ได้เป็นเปรียญ และเป็นพระราชาคณะที่ "พระธรรมภาณพิลาศ"  ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหญ่ 3 วัด คือ วัดจันทาราม วัดราชบุรณะ และวัดประยุรวงศาวาส เป็นอาวาสสุดท้าย มรณภาพในปี พ.ศ.2432 สิริอายุ 80 ปี พอดี
รูปต่อมาก็คือ พระมหาสอน พุทฺธสโร ชาวพัทลุง มาเรียนหนังสือที่วัดหนัง เขตบางขุนเทียน ได้เปรียญ 9 ประโยค มีความคุ้นเคยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มาก จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคุณพระราชาคณะที่ พระอุดมปิฎกโปรดให้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม ท่านได้เห็นเหตุการณ์ก่อตัวของคณะธรรมยุตมาตลอด แน่นอนว่าพระอุดมปิฎกย่อมจะต่อต้านการแยกนิกายของคณะธรรมยุตอย่างแรงกล้ามาแต่สมัยที่พระภิกษุวชิรญาณยังอยู่ในผ้าเหลือง ครั้นเมื่อพระภิกษุวชิรญาณปริวัตรออกมาครองราชย์นั้น พระอุดมปิฎกก็เห็นเป็นภัยร้ายแรง จึงชิงลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามแล้วเดินทางกลับไปอยู่ที่พัทลุงบ้านเกิด ไม่ยอมเข้ากรุงเทพมหานครอีกเลย ครั้นถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาในปีหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอนุสรณ์ถึงพระมหาสอนหรือเจ้าคุณอุดมปิฎก ก็ทรงทราบว่าหนีกลับไปอยู่พัทลุงแล้ว จึงทรงโปรดให้กรมการเมืองสืบถามดูก็ทราบว่า พระอุดมปิฎกจำพรรษาอยู่ที่วัดสุนทราวาส จึงโปรดให้นิมนต์ท่านมาให้ทันงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
เมื่อทรงพบกับพระอุดมปิฎกนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทักทายด้วยไมตรีว่า "พระคุณเจ้าเดินทางมาแต่ไกล นานๆ ถึงได้พบกัน ขอจงให้พรโยมให้ชื่นใจทีเถิด"

ได้รับอาราธนาเช่นนั้น พระอุดมปิฎกก็จึงตั้งพัดยศขึ้นถวายพระพรเป็นภาษาบาลีว่า

อติเรกวสฺสสตํ ชีว, อติเรกวสฺสสตํ ชีว, อติเรกวสฺสสตํ ชีว,
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ, ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ, สุขิโต โหตุ ปรมินฺทมหาราชา,

สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ, ปรมินฺทมหาราชวรสฺส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สดับดังนั้นก็ทรงโปรดปรานมาก ถึงกับรับสั่งคณะสงฆ์ให้นำไปใช้ในการพระราชพิธีในตอนท้าย ที่เรียกว่า "ถวายอดิเรก" ก่อนจะเสร็จสิ้นพิธีหลวง และเนื่องจากผู้ถวายอดิเรกรูปแรกนั้นเป็นพระราชาคณะ (เจ้าคุณ) จึงมีกำหนดว่า "ผู้จะถวายอดิเรกได้นั้นต้องเป็นพระราชาคณะเท่านั้น"
เรื่องการถวายอดิเรกนั้นจึงมาจากการเมืองเรื่องคณะสงฆ์ล้วนๆ ดังนำเสนอมาฉะนี้ เป็นการสานสัมพันธไมตรีในลักษณะประนีประนอมระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์ประมุขของธรรมยุติกนิกาย กับพระสงฆ์ผู้นำในฝ่ายมหานิกาย ผลที่ออกมาก็คือ ดอกไม้ช่องาม เป็นความงดงามที่เกิดจากความถ้อยทีถ้อยอาศัยของทั้งฝ่ายผู้มีอำนาจและฝ่ายต่อต้าน และน่าจะเป็นตำราสมานฉันท์ฉบับแรกในวงการเมืองไทยเราด้วย
 
อีกรูปหนึ่งคือ หลวงปู่รอด วัดโคนอน เดิมนั้นท่านว่าหลวงปู่รอดเป็นเจ้าอาวาสนางนอง เขตบางขุนเทียน เป็นพระที่ชำนาญในการวิปัสสนามาก ได้รับการยกย่องให้เป็นพระราชาคณะในราชทินนาม "พระภาวนาโกศล" ท่านมีลูกศิษย์ที่โด่งดังระดับสุดยอดพระเกจิเมืองไทยคือ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นมาแล้วนั้น จากนั้นทรงปริวัตรลาสิกขาขึ้นครองราชสมบัติ และเสด็จไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดนางนอง อันมีหลวงปู่รอดเป็นเจ้าอาวาส และตอนนั้นเริ่มพิธีถวายอดิเรกแล้ว
ปรากฏว่า เมื่อถึงเวลาแห่งการถวายอดิเรกตามพระราชพิธีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงรอรับการถวายอดิเรกจากประธานสงฆ์ คือพระภาวนาโกศล แต่จนแล้วจนเล่า พระภาวนาโกศลก็ไม่ยอมตั้งพัดยศถวายพระพร จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าพระภาวนาโกศลไม่ยอมถวายพระพรเป็นที่แน่นอนแล้ว จึงผุดลุกจากพระที่นั่งเสด็จออกมานอกพระอุโบสถตรัสดังๆ ให้ข้าราชบริพารได้ยินว่า "เขาถอดยศเรา" และเสด็จกลับ นั่นหมายถึงว่าหลวงปู่รอดไม่ยอมรับความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยอมรับแต่ความเป็นพุทธมามกะ จึงยอมรับการถวายผ้าพระกฐิน แต่ไม่ยอมถวายอดิเรกตามธรรมเนียมราชสำนัก จากนั้นไม่กี่วันก็มีรับสั่งให้ "ถอดยศ" ปลดพระภาวนาโกศลลงเป็นภิกษุสามัญ แต่กระนั้น หลวงปู่รอดก็มิได้แสดงความอาลัยในยศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่ง
แต่ท่านว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นก็ยังทรง "หวั่นเกรง" เมื่อเล่นกับของจริงระดับหลวงปู่รอด ซึ่งเป็นพระมหาเถระผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการวิปัสสนาอย่างที่เรียกว่าหาตัวจับได้ยากในสมัยนั้น ดังนั้น จึงทรงโปรดให้สังฆการีนำพัดยศพระภาวนาโกศลกลับคืนมาถวายหลวงปู่รอดเช่นเดิม แต่ท่านว่าหลวงปู่รอดนั้นตัดสินใจเด็ดเดี่ยวแล้ว ไม่ขอเป็นพระราชาคณะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกต่อไป ท่านเลือกที่จะเป็นเพียง "สาวกของพระพุทธเจ้า" เท่านั้น จึงปฏิเสธไม่ยอมรับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนางนองและพระภาวนาโกศลมหาเถระอีกต่อไป
เหลือเชื่อว่า ราชอำนาจนั้นอาจจะบังคับใครก็ได้ในปัถพีให้ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข หากปฏิเสธก็ถึงตาย แต่สำหรับพระภิกษุผู้ทรงสีลาธิคุณในบวรพระพุทธศาสนานั้น ขนาดระดับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นอัจฉริยะมหาบุรุษพระองค์หนึ่งในบรรดาพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ก็ยังไม่สามารถจะหักหาญได้
นับแต่นี้ต่อไป พระภาวนาโกศลกลายเป็นหลวงตารอด พระภิกษุสามัญชน มีเพียงผ้าสามผืนติดร่างกาย เดินเท้าเปล่าออกจากวัดนางนองมุ่งหน้าไปจำพรรษาที่วัดโคนอนจนมรณภาพที่วัดนั้น ส่วนหลวงปู่เอี่ยมนั้นก็ติดตามไปปรนนิบัติหลวงปู่รอดด้วยความเคารพรักในครูบาอาจารย์ ตำนานหลวงปู่รอดนี่จึงเป็นปฏิกิริยาต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงก่อตั้งคณะธรรมยุตขึ้นมาอย่างที่เรียกว่า "แรงที่สุด" กรณีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกยาราม ก็ดี พระอุดมปิฎก (สอน) วัดหนัง ก็ดี จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้วิธี "ยกย่อง" ผู้ที่เห็นต่าง จนสามารถเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตร แถมยังร่วมรับใช้ชาติบ้านเมืองจนวันตาย แต่สำหรับพระภาวนาโกศล (รอด) วัดนางนองนั้น ถือว่าทำกันแบบไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม จนยากจะยอมรับได้ จึงทรงโปรดให้ถอดยศปลดตำแหน่ง แถมเมื่อทรงโปรดคืนสมณศักดิ์และตำแหน่งให้แล้วก็ยังถูกหลวงปู่รอดปัดไมตรีเสียอีก แต่ถึงกระนั้น ศีลาธิคุณ สมาธิคุณ ภาวนาธิคุณ ของหลวงปู่รอด ก็สามารถคุ้มครองป้องกันราชภัยไว้ได้ ถ้าเป็นข้าราชการในทางบ้านเมืองแล้ว ก็คงถูกประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตรไปแล้ว
เมื่อสิ้นหลวงปู่รอดไปแล้ว หลวงปู่เอี่ยมก็ได้ครองวัดโคนอนสืบแทน และได้รับอาราธนาให้มาครองวัดหนังในปี พ.ศ.2441จนถึงปีรุ่งขึ้นจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดแต่งตั้งเป็น "พระภาวนาโกศล" อันเป็นสมณศักดิ์ที่หลวงปู่รอดองค์อาจารย์เคยได้รับมาก่อน และเล่ากันว่า เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จเยือนยุโรป ในปี พ.ศ.2440 นั้น ทรงได้รับคำทำนายจากหลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง ว่าจะเกิดการลองดี และหลวงปู่เอี่ยมได้มอบพระคาถา "อิติปิโสเรือนเตี้ย" ถวายแก่สมเด็จพระปิยมหาราช ทำให้สามารถผ่านวิกฤตการณ์ในยุโรปมาได้
ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงเห็นว่า "หลวงปู่เอี่ยม" ซึ่งเป็นศิษย์ "หลวงปู่รอด" นั้นจะอยู่ในฝ่ายต่อต้านราชสำนัก กลับกันทรงยกย่องหลวงปู่เอี่ยมในตำแหน่งเดิมของพระอาจารย์ การพระศาสนาซึ่งเคยแตกร้าวระดับที่หลวงปู่รอดเดินเท้าหนีจากวัดนางนองไปอยู่วัดโคนอนนั้น ก็กลับสู่สภาพเดิมในสมัยหลวงปู่เอี่ยม เพราะเมื่อไม่คิดบัญชีเก่า ความเก่าก็หาย ความใหม่ก็ไม่เกิด
ใช่แต่พระราชาคณะผู้ใหญ่ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติสามรูปเหล่านี้ที่ไม่เอากับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ในตอนต้นรัชกาลที่ 4 นั้น ปรากฏว่าคณะสงฆ์นิกายเดิมได้ยินยอมพร้อมใจกัน "สละสมณศักดิ์" ไม่เอากับพระจอมเกล้าที่ตั้งธรรมยุตขึ้นมาใหม่ โดยมีหลักฐานเป็นพระบรมราชโองการว่า

มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่ง กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ให้มีหมายประกาศไปแก่พระราชาคณะ เปรียญ ทั้งปวงให้รับรู้ว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระราชาคณะพระเปรียญสึกน้อย ไม่มากนัก ในเดี๋ยวนี้ พระราชาคณะเปรียญสึกมาก มีบาญชีได้ถึง 60 เศษ แปลกกว่าแต่ก่อน
ตั้งแต่นี้ต่อไป ถ้าพระราชาคณะ-เปรียญสึกออก จะโปรดฯให้เป็นไพร่หลวงโรงพิมพ์แล้วจะได้จำไว้กว่าจะได้นายประกัน เมื่อได้นายประกันแล้ว จะให้เข้าเดือนทำการพิมพ์ ถ้าไปเดินกับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยตำแหน่งใดๆ ให้มากราบทูล ก็มิได้พระราชทานเลย แล้วจะลงพระราชอาญาแก่ผู้ที่ไปเดิน 50 ที ขอพระราชาคณะ-เปรียญทั้งปวง จงได้รู้ดังคำประกาศนี้ทั่วทุกๆ องค์ตามรับสั่ง

นั่นคือคำสั่ง "ห้ามพระสึก" ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงเผยว่ามีพระราชาคณะและพระเปรียญสึกมากมายถึง 60 กว่ารูป ซึ่งพระราชาคณะและพระเปรียญเหล่านั้นล้วนแต่ครองวัดอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งสิ้น มิได้มีพระหัวเมืองไกลๆ เช่นเชียงใหม่ โคราช หรือนครศรีธรรมราชเข้ามาเกี่ยวข้องเลย การลาสิกขา "โดยนัดหมาย" ครั้งนี้ถือว่าเป็นการรวมพลังครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของพระราชาคณะไทยในรอบสองพันปีทีเดียว เพราะเดิมพันทั้งยศถาบรรดาศักดิ์และผ้าเหลืองเรียกว่ากล้าเอาชีวิตเข้าแลกเลยทีเดียว  จากพระบรมราชโองการดังกล่าวนี้จึงเป็นปฐมเหตุว่า "ถ้าพระราชาคณะ พระเปรียญเอก (ป.ธ.7-8-9) จะลาสิกขา ต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน หากมิได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วก็ถือว่ามีโทษ"
ตรงนี้น่าจะเป็นเกมการต้านอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นขบวนการและแรงที่สุด ทำให้สมเด็จพระจอมเกล้าต้องยอมผ่อนปรน แม้ว่าจะทรงมุ่งหมายให้กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ซึ่งเป็นศิษย์เอกของพระองค์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศแทนนั้นได้ขึ้นชั้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่เมื่อเจอการลาสิกขาของพระราชาคณะ "ทั้งแผ่นดิน" เข้าเช่นนั้น ก็ทรงต้องยินยอม "เข้าเกียร์ว่าง" ปล่อยให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช "ว่าง" ไว้นานถึง 15 ปี จนผลัดแผ่นดิน พระราชโอรสคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตั้งกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอย่างเป็นทางการ หากจะกล่าวว่า "กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชยาวนานที่สุด" ก็ว่าได้



05

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121
จริงอยู่ แม้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ จะทรงเป็นเจ้าคณะธรรมยุตองค์แรกอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็ยังมิได้มีตัวบทกฎหมายอะไรรองรับ จนกระทั่ง พ.ศ.2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ขึ้นเป็นฉบับแรกของสยาม เรียกชื่อว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 เนื้อหาสาระก็คือ ยกพระสงฆ์มอญวัดบวรนิเวศวิหารและบริวารให้เป็นคณะหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย เรียกชื่อว่า คณะธรรมยุติกนิกาย ส่วนพระสงฆ์คณะเก่านั้นก็แบ่งออกเป็น 3 คณะ ได้แก่ คณะเหนือ คณะใต้ และคณะกลาง เมื่อรวมกับคณะธรรมยุตแล้วก็มี 4 คณะด้วยกัน

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไทย พ.ศ.2484
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ใช้ปกครองพระสงฆ์แบบ "ยกธรรมยุต กดมหานิกาย" เรื่อยมา จนกระทั่งถึงวันที่ 24มิถุนายน พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เรียกว่า อภิวัฒน์ คณะราษฎรนำโดย นายปรีดี พนมยงค์ และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เข้ายึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระราชทานธรรมนูญปกครองประเทศเป็นฉบับแรก ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 เรียกว่าฉบับชั่วคราว และทรงพระราชทานฉบับจริงหรือฉบับถาวรในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475
ในรัชกาลที่ 5-6 และ สถานการณ์เรื่องนิกายระหว่างมหานิกายกับธรรมยุตก็ยังไม่ได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ยังมีการแก่งแย่งแข่งดีกันอย่างรุนแรง แต่พระมหานิกายจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องเพราะพระในนิกายธรรมยุตนั้นยึดครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไว้ได้อย่างต่อเนื่องและแน่นเหนียว โดยเฉพาะสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหารนั้น ทรงเป็นนักปราชญ์และมีอำนาจสูงสุดกำกับไว้ในมือ จึงทรงสร้างความเกรียงไกรให้แก่คณะธรรมยุติกนิกายแบบไม่เคยปรากฏมาก่อน ครั้นถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 แล้ว พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายจึงได้โอกาสเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกจากความเป็นทาสทางศาสนา นั่นคือที่มาของ "คณะปฏิสังขรณ์" และ "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484"



06

คณะปฏิสังขรณ์
คณะปฏิสังขรณ์นั้น เป็นชี่อของคณะพระสงฆ์ในฝ่ายมหานิกาย นับจำนวนได้มากมายถึง 300 กว่ารูป เป็นพระสังกัดวัดพระอารามหลวงใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นต้น ได้รวมตัวกันไปประชุมที่บ้าน "ภัทรวิธม" ของคฤหบดีท่านหนึ่ง ในคืนวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2477 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 ปี ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตกลงกันเคลื่อนไหวให้เกิดความเป็นธรรมในสังฆมณฑล
ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า คณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยในปี พ.ศ.2475 นั้น มิได้ศึกษาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการพระศาสนาเลย ขนาดว่าล้มล้างการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนได้ระบอบประชาธิปไตยที่ให้พระมหากษัตริย์ยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาแล้ว แต่ไม่ยอมยกเลิกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ซึ่งยังให้อำนาจพระมหากษัตริย์ในการปกครองคณะสงฆ์ไทยอยู่ ปล่อยเวลามาเนิ่นนานถึง 3 ปีจึงเกิดมีคณะปฏิสังขรณ์ขึ้น คณะปฏิสังขรณ์จึงเป็นเหมือนคณะราษฎรในฝ่ายสงฆ์ เป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในทางพระศาสนามาเป็นประชาธิปไตยในหมู่สงฆ์

มูลเหตุแห่งการเคลื่อนไหว
ก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากคำว่า "ไม่ได้รับความเป็นธรรม" คือว่า หลังจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์ลงไปในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2396 แล้วนั้น แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงหมายมั่นให้ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และเจ้าคณะธรรมยุติกนิกาย ขึ้นครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แต่ก็ถูกต่อต้านจากพระราชาคณะฝ่ายมหานิกายทั้งรวมตัวกันลาออกบ้าง กลับบ้านนอกบ้าน และที่มากที่สุดก็คือ"ลาสิกขา" จนเป็นที่มาของพระบรมราชโองการ "ห้ามพระสึก" ดังกล่าวแล้ว
โดนแรงต้านหนักๆ เข้าเช่นนั้น อัจฉริยภาพระดับสมเด็จพระจอมเกล้าก็ทรงประเมินแล้วว่า ถ้าขืนยกกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ราชบัลลังก์ก็อาจล้มครืนลงได้ จึงทรงไม่ยอมแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยจนตลอดรัชกาล
แต่กระนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรส ได้ครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 5 แล้ว ก็ทรงยกกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระองค์เมื่อทรงผนวช ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจนได้ และเมื่อสิ้นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์แล้ว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงโปรดสถาปนาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว ป.ธ.9) หรือมหาสา 18 ประโยค เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และเจ้าคณะธรรมยุติกนิกาย ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และสืบต่อด้วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นรูปที่ 3 ต่อด้วยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตเช่นกันเป็นลำดับที่ 4 นับเวลาสืบทอดอำนาจกันนานถึง 80 ปี
เป็น 80 ปีที่พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายไม่มีโอกาสได้แตะเก้าอี้สมเด็จพระสังฆราชเลย ทั้งๆ ที่ในปี พ.ศ.2477 นั้น มีวัดของพระมหานิกายประมาณ 17,000 วัด ขณะที่ฝ่ายธรรมยุตมีวัดเพียง 260 วัดเท่านั้น จำนวนพระสงฆ์นั้นยิ่งไม่ต้องนับ พระมหานิกายมีหลักแสน แต่พระธรรมยุตมีแค่หลักพัน แต่ราชอำนาจก็ทำได้ทุกอย่าง เพียงเพื่อจะยกย่องคณะธรรมยุตให้เป็นใหญ่ในแผ่นดินประการเดียว
ใช่แต่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้นที่เป็นแรงบีบคั้นให้เกิดคณะปฏิสังขรณ์ แต่ทว่าฝ่ายธรรมยุตได้รุกเข้ามากินพื้นที่การปกครองในฝ่ายมหานิกายในระดับล่างด้วย โดยแรกนั้นพระสาสนโสภณ (สา) วัดราชประดิษฐ์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็น "เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ" อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ดังที่กล่าวเอาไว้แล้วว่า เมื่อเริ่ม พรบ.คณะสงฆ์ ร.ศ.121 ในสมัย ร.5 นั้น ตอนนั้นแบ่งนิกายกันดังนี้
คณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเจ้าคณะ
คณะใหญ่หนกลาง (มหานิกาย)
คณะใหญ่หนเหนือ (มหานิกาย)
คณะใหญ่หนใต้ (มหานิกาย)
ครั้นสมณศักดิ์และตำแหน่ง "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์-เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ" ในฝ่ายมหานิกายว่างลง กลับทรงโปรดแต่งตั้งให้พระสาสนโสภณ วัดราชประดิษฐ์ (ธรรมยุต) ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ควบกับตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เมื่อนั้น อัตราหรือสัดส่วนตำแหน่งระหว่างนิกายก็เลยกลายเป็น 2/2 ดังนี้
คณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเจ้าคณะ (ธรรมยุต)
คณะใหญ่หนกลาง (มหานิกาย)
คณะใหญ่หนเหนือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุต)
คณะใหญ่หนใต้ (มหานิกาย)
พระคณะมหานิกายก็คิดว่า คงจะดำรงตำแหน่งเพียงองค์เดียว แบบว่าถ้าได้เลื่อนตำแหน่งหรือมรณภาพลงไปแล้ว ก็คงจะมีการ"คืนตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ" ให้แก่ฝ่ายมหานิกาย ที่ไหนได้ เมื่อต่อมาปรากฏว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในปี พ.ศ.2436 ซึ่งพระฝ่ายมหานิกายก็คาดหมายว่า สมเด็จพระสังฆราช (สา) คงจะย้ายไปครองตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายตามธรรมเนียมด้วย (และคงจะคืนตำแหน่งมาให้มหานิกาย) แต่ว่าคาดผิด เพราะนอกจากจะไม่ยอมย้ายไปจากหนเหนือแล้ว สมเด็จพระสังฆราชสายังทรงแต่งตั้งให้สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้มีพรรษาเพียง 15 พรรษา (ทรงผนวช พ.ศ.2422) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย เรียกเป็นภาษาสมัยนี้ว่า "มาเหนือเมฆ" เพราะใครจะเชื่อว่ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสอายุพรรษาเพียง 35 ปี จะได้เป็นถึงเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ซึ่งเทียบกับระดับสมเด็จพระสังฆราชนั่นเลยทีเดียว
ทีนี้ เมื่อเทียบกับกรณี สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี) ซึ่งทรงผนวชได้เพียง 3พรรษา ประทับ ณ วัดพระเชตุพน ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสภาลัย (ร.2) เสด็จทอดพระกฐินวัดพระเชตุพน ซึ่งในกลางพรรษาที่ผ่านมานั้น สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนได้ถึงแก่มรณภาพลงไป ส่งผลให้วัดพระเชตุพนว่างเจ้าอาวาสในวันทอดกฐินหลวง ท่านเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสภาลัยทรงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าวาสุกรี ผู้มีอายุพรรษาเพียง 3 ปี เป็นผู้ครองผ้ากฐิน แต่พระองค์เจ้าวาสุกรีถวายพระพรว่า "พรรษายังไม่พ้นห้า" ในหลวงก็ตรัสว่า "ไม่เป็นไร" พระองค์เจ้าวาสุกรีก็ยังเลี่ยงบาลีอีกว่า "มิได้เตรียมท่องอุปโลกน์มา" หมายถึงว่า ก่อนหน้านั้น พระที่จะครองผ้ากฐินจะต้องเป็นผู้ตั้งอุปโลกน์เป็นอันดับแรก แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ทรงวินิจฉัยต่อไปว่า "ไม่เป็นไร ให้องค์ที่สองอุปโลกน์แทนก็ได้" ก็ตกลงว่า "เจ้าจะเอาเสียอย่าง" พระองค์เจ้าวาสุกรีจึงเป็นต้นธรรมเนียมที่ว่า "พระผู้ครองผ้ากฐินไม่ต้องตั้งอุปโลกน์" มาตั้งแต่นั้น คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2457 และนี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งของคำว่า "พระราชาเป็นต้นขนบธรรมเนียมประเพณี" ทั้งนี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีอีกด้วย พระองค์เจ้าวาสุกรีจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ขณะมีอายุพรรษาเพียง 3 พรรษาเท่านั้น และวัดพระเชตุพนในสมัยนั้นถือว่าเป็นวัดหลวงอันดับหนึ่งของเมืองไทย พระเจ้าอาวาสได้รับการยกย่องเป็นถึง "อธิบดีสงฆ์" แต่ตรงนั้นคณะธรรมยุตยังไม่เกิด พระสงฆ์ไทยมีเพียงนิกายเดียว เรื่องพระองค์เจ้าวาสุกรีครองผ้ากฐินก็ดี ได้เป็นเจ้าอาวาสขณะอายุพรรษา 3 ปีก็ดี จึงไม่มีใครติดใจ แถมยังยกย่องออกหน้าว่าเป็นอัจฉริยภาพสำหรับอัจฉริยบุคคลเป็นงั้นไป
ถ้ายึดมั่นในหลักพระธรรมวินัยแล้ว เชื่อแน่นอนว่า กรณี 3 พรรษารับกฐินพร้อมกับรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระอารามหลวงวัดพระเชตุพนและตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส คงไม่เกิด หรือเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เพราะกิจการพระศาสนาในเมืองไทยเรานี้มีอะไรมากมายที่วิปริตผิดประเวณี แต่ไม่มีใครกล้าทักท้วงหรือต่อต้าน ซึ่งถ้าจะหาสาเหตุก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ "อคติทั้งสี่" ไปได้ ยกเว้นแต่หลวงสมเด็จพระสังฆราชศรีวัดระฆังและหลวงปู่รอดวัดโคนอนเท่านั้น
และนั่นก็เท่ากับว่า อัตราเจ้าคณะใหญ่ระหว่างนิกายก็ยังคงเป็น 2/2 เช่นเดิม
และถ้ามองรูปการณ์ต่อไปอีกก็น่าจะเป็นว่า ถ้าคณะธรรมยุตสามารถตั้งพระในฝ่ายของตนไปปกครองคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายโดยไม่มีแรงต่อต้านแล้ว ก็คงจะขยายผลจากสองรูปเป็นสามรูป จนสุดท้ายก็ครบทั้ง 4 คณะ และเมื่อนั้นคณะสงฆ์ไทยทั้งประเทศก็จะกลายเป็น "ธรรมยุติกนิกาย" ไปโดยปริยาย
นั่นคือที่มาของวลีว่า "พระมหานิกายเป็นลูกเมียน้อย" และ "พระธรรมยุตสูงกว่าพระมหานิกาย เพราะสามารถปกครองมหานิกายได้" ซึ่งแรกเมื่อตั้งธรรมยุตขึ้นมาและถูกต่อต้านนั้น ฝ่ายธรรมยุตทั้งพระทั้งโยมก็อ้างว่า "เป็นความชอบธรรมในการตั้งคณะใหม่ มิใช่สังฆเภท" แต่ในการตั้งพระธรรมยุตมาปกครองพระมหานิกายนี้ ถามทีเถิดว่า "เป็นความชอบธรรมอันใด" ใช้หลักธรรมวินัยหรือความชอบธรรมฉบับใดในโลกมาเป็นหลักเกณฑ์วินิจฉัย ?
ความชอบธรรมของคณะธรรมยุตมิได้หยุดอยู่เพียงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เท่านั้น ต่อมาอีกคณะธรรมยุตได้รุกลงมาในระดับล่าง คือมีการแต่งตั้งพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุตเข้าไปกินตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลทั้ง 10 ทั่วประเทศ อันเป็นอัตราเดิมของฝ่ายมหานิกาย ได้แก่
คณะมณฑลเจ้าคณะวัด/นิกาย
กรุงเทพฯสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์บวรนิเวศวิหาร/ธรรมยุติกนิกาย
อยุธยาพระพิมลธรรม (เฮง เขมจารี)มหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์/มหานิกาย
ราชบุรีพระธรรมปิฎก (เผื่อน ติสฺสทตฺโต)พระเชตุพน/มหานิกาย
ปราจีนบุรีพระราชกวี (จั่น วิจญฺจโล)เทพศิรินทราวาส/ธรรมยุติกนิกาย
พิษณุโลกพระธรรมภาณพิลาส (เพิ่ม ปุญฺญวฑฺฒโน)ประยุรวงศาวาส/ มหานิกาย
พายัพพระธรรมโกศาจารย์ (ปลด กิตฺติโสภโณ)เบญจมบพิตร/มหานิกาย
นครราชสีมาพระพรหมมุนี (อ้วน ติสฺโส)บรมนิวาส/ธรรมยุติกนิกาย
อุดรธานีพระเทพกวี (จูม พนฺธุโล)โพธิสมภรณ์/ธรรมยุติกนิกาย
นครศรีธรรมราชพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม)ราชาธิวาส/ธรรมยุติกนิกาย
ภูเก็ตพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม)ราชาธิวาส/ธรรมยุติกนิกาย
เห็นได้ว่า เจ้าคณะมณฑลซึ่งเทียบกับเจ้าคณะจังหวัดสมัยนี้นั้น ถูกธรรมยุตรุกเข้ายึดครองมากมายถึงอัตรา ต่อ 4 ทั้งๆ ที่พระนิกายธรรมยุตนั้นมีเพียงนิดเดียว แต่มีอำนาจปกครองพระมหานิกายทั่วฟ้าเมืองไทย แถมบางรูปยังควบ 2 เก้าอี้อีกต่างหาก ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า คณะธรรมยุตปฏิบัติการรุกทั้งข้างบนข้างล่าง หวังจะรวบรัดยึดครองสังฆมณฑลทั้งประเทศไทยให้กลายเป็น"ธรรมยุต" เพียงนิกายเดียว นับว่าเล็งผลเลิศมิใช่เล่น เพราะถ้าตรงนี้ต้านไม่อยู่แล้ว ปฏิบัติการขั้นต่อไปก็คงยึดทั้งประเทศไทยอย่างแน่นอน
ยังมีเทคนิกทางการปกครองอีกด้วยว่า ถ้าเป็นพระมหานิกายแล้ว อยู่ในมณฑลใดหรือคณะใหญ่หนใด ก็ต้องขึ้นต่อเจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนิกายไหน หมายถึงว่า ถ้าเป็นพระมหานิกาย แล้วมีเจ้าคณะใหญ่เป็นธรรมยุติกนิกาย ก็ต้องขึ้นต่อเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต แต่ถ้าหากว่าเป็นธรรมยุติกนิกายแล้ว ถ้ามีเจ้าคณะเป็นพระมหานิกาย (คืออยู่ในเขตการปกครองของพระมหานิกาย) ก็ไม่ต้องขึ้นต่อเจ้าคณะรูปนั้น หากแต่ให้ขึ้นตรงต่อเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตที่กรุงเทพฯ เป็นกรณีพิเศษ
วิธีการปกครองแบบนี้ใช่มีแต่ยุคธรรมยุตขี่มหานิกายเท่านั้น แต่ในสมัย ร.4 ร.5 นั้น ประเทศไทย (สยาม) ถูกภัยคุกคามจากมหาอำนาจชาติตะวันตก ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งมหาอำนาจเหล่านั้นได้ใช้อำนาจบีบบังคับให้พระมหากษัตริย์ไทยต้องยอมรับสิทธิพิเศษ เป็นการตั้งศาลพิเศษขึ้นในราชอาณาจักรไทย เรียกว่ากงสุล ทั้งนี้มีข้อความตามสนธิสัญญาเบาริ่ง ซึ่งลงนามในปี พ.ศ.2398 ดังนี้

1. ไทยกับอังกฤษจะมีสันติภาพและมิตรภาพกัน ชั่วนิรันดร์ บรรดาคนในบังคับของฝ่ายหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในอาณาเขตอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะต้องได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือเป็นอันดีและอนุญาตให้ทำการค้าได้โดยสะดวก ปราศจากการกดขี่ข่มแหงใด ๆ
2. ฝ่ายไทยยอมให้อังกฤษตั้งกงสุลเข้ามาประจำอยู่ในกรุงเทพฯ และให้กงสุลอังกฤษ มีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีความต่าง ๆ ซึ่งคนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลยทั้งคดีแพ่งและอาญา ส่วนคดีที่คนในบังคับของอังกฤษเป็นโจทก์ คนไทยเป็นจำเลยนั้นให้ขึ้นศาลไทยและในการนี้ถ้าหากว่า กงสุลอังกฤษจะเข้าไปนั่ง ฟังการพิจารณาคดีอยู่ด้วยก็ได้

3. อนุญาตให้คนในบังคับอังกฤษอยู่อาศัยเป็นการประจำและถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยภายในอาณาเขตอันจำกัดได้ คือภายในกรุงเทพฯ และภายในเขตที่ห่างกำแพงพระนครออกไป 200 เส้น ( ไม่เกิน 4 ไมล์อังกฤษ )ภายในเขตดังกล่าวนี้อนุญาตให้คนในบังคับอังกฤษเช่าได ้แต่ซื้อไม่ได้ เว้นแต่จะเข้ามาอยู่นานถึง 10 ปี หรือ ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยแล้ว จึงซื้อได้ ส่วนที่ห่างกำแพงพระนครเกิน 200 เส้นออกไป ในรัศมีที่เรือแจวจะไปถึงได้ภายใน 24 ชั่วโมงนั้น อนุญาตให้คนในบังคับอังกฤษ ซื้อหรือเช่าได้ แต่ที่ภายนอกบริเวณดังกล่าวนี้ออกไปนั้น คนในบังคับอังกฤษจะซื้อหรือเช่าไม่ได้

4. ภาษีเบิกร่องหรือค่าปากเรือที่เคยเก็บมาก่อนนั้น เป็นอันยกเลิกและให้เก็บภาษีขาเข้าแทน โดยกำหนดให้รัฐบาลไทยเก็บได้เพียงร้อยละ 3 ของราคาสินค้าเท่านั้น ส่วนสินค้าขาออกให้เก็บภาษีได้เพียงครั้งเดียวตามอัตราที่กำหนดไว้ในภาคผนวกต่อท้ายสนธิสัญญา

5. ให้คนในบังคับอังกฤษมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาโดยเต็มที่

6. คนในบังคับของอังกฤษที่ประสงค์จะเข้าอยู่ในประเทศไทยจะต้องไปจดชื่อลงทะเบียนไว้ ณ สถานกงสุลอังกฤษ ที่กรุงเทพฯ

7. สิทธิพิเศษต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลไทยได้อนุมัติให่แก่ประเทศอื่นอย่างใด จะต้องให้แก่รัฐบาลอังกฤษอย่างเดียวกันนั้นด้วย

8. สนธิสัญญานี้จะบอกเลิกไม่ได้ คือไม่มีกำหนดอายุเวลาและจะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมพร้อมกัน

สนธิสัญญาฉบับนี้พ่นพิษแรงที่สุดก็ในปี พ.ศ.2417 เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) ว่าด้วยเรื่องการเงิน (ทำนองเดียวกับกรณีวิกฤตในสมัยรัชกาลที่ 1 ระหว่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทหรือวังหน้า) ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงหนีไปอยู่ในอารักขาของกงสุลอังกฤษ ต้องเจรจาความกันนานเหตุการณ์จึงคลี่คลายในปลายปี พ.ศ.2418
กรณีนี้นักกฎหมายและนักการปกครองของไทยถือว่าเป็นแผลเป็นในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่แม้จะอวดว่าไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ก็สูญเสียอำนาจการปกครองถึงกับยินยอมให้มหาอำนาจเข้ามาตั้ง "รัฐอิสระ" ขึ้นในเมืองไทย และต่อมารัฐบาลไทยก็ได้ทำการแก้ไขจนกระทั่งได้รับสิทธิทางศาลกลับคืนมาโดยสมบูรณ์
เมื่อนำมาเทียบกับการปกครองของคณะสงฆ์ไทย ที่ทางฝ่ายบ้านเมืองหนุนหลังให้คณะธรรมยุตกระทำการข่มขี่พระมหานิกายอย่างต่อเนื่องยาวนานร่วมๆ 200 ปี ในทำนองการตั้งรัฐอิสระขึ้นในคณะมหานิกายนั้น กลับไม่ปรากฏว่ามีนักกฎหมายไทยคนใดสนใจนำมากล่าวถึงหรือพิเคราะห์พิจารณ์
คนต่างชาติทำกับคนไทย เราคนไทยทนไม่ได้
แต่คนไทยทำกับคนไทยเราเอง เรากลับทนได้
ประชาชนทั่วไปเอารัดเอาเปรียบกัน ท่านก็ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวแล้ว
แต่พระสงฆ์สามเณรเอาเปรียบกันเอง จะให้เปรียบเทียบว่ากระไร ?
ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริง และที่น่าแปลกใจยิ่งก็คือว่าในบรรดาสีลาธิคุณ สมาธิคุณ ภาวนาธิคุณ หรือมหากรุณาธิคุณอะไรก็ตามแต่ ซึ่งคณะสงฆ์ไทยเราพยายามอธิบายยกย่องหลักการทางพระพุทธศาสนาว่า "พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เปิดเสรีในการปกครองเป็นพระองค์แรกในโลก โดยทรงยกเลิกหลักวรรณะทั้ง 4 ของพราหมณ์ หากแต่ทรงให้หันมาใช้หลักกรรมข้อที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แทน" แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคณะสงฆ์ไทยนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงปัจจุบันวันนี้ มองมุมไหนก็ไม่มีทางจะนำไปอธิบายหลักการทางพระพุทธศาสนาได้เลย พูดง่ายๆ ก็คือว่า เราอยู่กันอย่างโกหกต่อแหลมาโดยตลอด พระธรรมยุตก็เห็นแก่ตัว พระมหานิกายก็หลอกตัวเอง เพราะถ้าไม่หลอกตัวเองก็คงไม่ยอมเป็นลูกเมียน้อยมาร่วมสองร้อยปีหรอก
สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นมายาคติหลอกหลอนคนไทยทั้งชาติก็คือว่า ต้องแสวงหาวิมุตติสุข คือพระนิพพาน อันเป็นการดับเชื้อสิ้นกิเลส ไม่ต้องมาเกิดอีกต่อไป เพราะเป็นการหมดสิ้นเคราะห์กรรม ตามความเชื่อที่ว่า พระนิพพานคือการดับสูญ และเป็นบรมสุข แต่ชีวิตที่ระทมด้วยทุกข์ในปัจจุบันนั้นกลับไม่มีพระรูปไหนสอนให้แก้ไข โดยเฉพาะก็คือ การใช้กลไกทางกฎหมายหรือสังคมทำการยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น เหมือนรัฐบาลปัจจุบันสั่งยกเลิกการนั่งส้วมโบราณให้มาใช้ชักโครกทั่วประเทศ ดังนั้น คนยิ่งจนก็ยิ่งทำบุญ เพราะคิดว่าความจนเกิดจากการไม่ทำบุญ หรือเกิดจากพันธุกรรมที่ติดมาแต่ชาติก่อน พระสงฆ์ไทยใช้หลักของพระพุทธโฆษาจารย์อธิบายปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธเจ้าว่าคาบเกี่ยว 3 ภพ 3 ภูมิ คือ อดีตเป็นเหตุของปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นผลของอดีตและเป็นเหตุของอนาคต (อดีตเหตุ ปัจจุบันผล ปัจจุบันเหตุ อนาคตผล) พุทธทาสภิกขุเป็นรูปแรกที่บอกว่า "สอนแบบนั้นมันไม่เห็นผลอะไร เพราะถ้าไม่เกิดตายถึงสามชาติก็คงไม่ได้เห็นปฏิจสมุปบาท มันนานเกินไป" (แล้วพุทธทาสก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์) หลักธรรมคำสอนเถรวาทแบบไทยๆ เหล่านี้ ถูกสั่งสอนจนฝังหัวคนไทยไม่ให้โงขึ้น มองไม่เห็นถึงผลของความพยายามยกระดับสังคมให้สูงขึ้น "ในแนวราบ" หากแต่ชื่นชมรูปทรงของสังคมไทย "ในแนวดิ่ง" คือมีพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่บนยอดด้วยพระบุญญาธิการอันเป็นกุศลสมภารที่ติดมาแต่ชาติก่อน เหมือนพระเวสสันดรมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ตรงกลางนั้นเป็นบรรดาข้าราชบริพารที่ติดตามพระมหากษัตริย์มาเกิด ส่วนฐานเขาพระสุเมรุเบื้องล่างนั้นก็คือ พวกทาสแผ่นดิน เป็นพวกมีกรรมหนัก จักต้องยอมรับชะตากรรมโดยไม่มีข้อแม้ แน่นอนว่า คำสอนของพระพุทธศาสนาแบบไทยๆ ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมานั้น มันได้ร่วมกดขี่สังคมไทยให้ดักดานกันอย่างไรบ้าง ถ้าหากไม่มีนักเรียนนอกจากต่างประเทศเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจากผู้มีอำนาจเลย เพราะเขาคิดและสรุปเอาเองว่า "ประชาชนเป็นคนโง่" แล้วก็ปล่อยให้โง่ มิได้สอนให้ฉลาด เพราะเชื่อด้วยว่า "คนโง่ปกครองง่ายกว่าคนฉลาด" แล้วเรื่องอะไรจะสอนให้ฉลาด ให้มันมาเถียงหรือรู้ทัน
ถ้าไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ก็คงจะโกรธและเกลียดพวกมหาอำนาจชาติตะวันตกกันมาก แต่พอได้อ่านประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยเราแล้ว รู้สึกว่าสาแก่ใจดีเหมือนกัน เพราะพี่น้องท้องเดียวกันยังดูถูกเหยียบย่ำกันเหมือนไม่ใช่คน โดนคนชาติอื่นเขาทำเอาบ้างผู้เขียนว่ามันน้อยไปด้วยซ้ำ (แสดงว่าไม่รักชาติแน่เลย)

มาว่ากันถึงบทบาทของคณะปฏิสังขรณ์กันต่อ

พอตั้งคณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมา ข่าวก็ไปเข้าหูฝ่ายธรรมยุต ซึ่งเวลานั้น (พ.ศ.2477สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรณ์สิริวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย ได้ครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช (ได้รับสถาปนาในปี พ.ศ.2464) เรียกได้ว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงการปกครองของเมืองไทย
แต่ถึงแม้ว่า ในปี พ.ศ.2477 นั้น ประเทศไทยจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบแล้ว แต่อิทธิพลทางการเมืองก็ยังเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว ท่านจึงระบุว่า คณะปฏิสังขรณ์ถูกบีบคั้นอย่างหนักจากพระธรรมยุต
คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนามีหัวหน้าจากการเลือกตั้งได้แก่
1พระวิสุทธิสมโพธิ (เจีย เขมโก ป.ธ.9) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธาน
2พระมหาทองสุก สุทสฺโส ป.ธ.6 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นรองประธานรูปที่ 1
3พระมหาสนิธ เขมจารี ป.ธ.7 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นรองประธานรูปที่ 2 (หลังสุดสอบได้ ป.ธ.9 และได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ)
และมีคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่
ชุดที่ 1
1. พระมหาแย้ม ป.ธ.8 วัดภคินีนาถ
2. พระมหาสมบูรณ์ ป.ธ. 6 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
3. พระมหาหีต ป.ธ.5 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
4. พระมหาเคลือบ ป.ธ.3 วัดเทวราชกุญชร
5. พระมหาประหยัด ป.ธ.5 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
6. พระมหาปุ่น ป.ธ.3 วัดสุทัศนเทพวราราม
7. พระมหาจันทร์ สุวีโร วัดสุทัศนเทพวราราม
8. พระสะอาด น.ธ.โท วัดเทวราชกุญชร
ชุดที่ 2
1. พระมหาศรี ป.ธ.5 วัดวิเศษการ
2. พระมหาแย้ม ป.ธ.8 วัดภคินีนาถ
3. พระมหาสนธิ์ ป.ธ.3 วัดสุทัศนเทพวราราม
4. พระมหาปุ่น ป.ธ.6 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
5. พระมหาเกษม ป.ธ.5 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
6. พระมหากลีบ ป.ธ.5 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
7. พระมหาสำเภา ป.ธ.3 วัดแคสามเสน
8. พระบุญช่วย น.ธ.โท วัดยานนาวา
ผลปรากฏว่า พระวิสุทธิสมโพธิ ประธานคณะปฏิสังขรณ์ ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งประธาน แบบว่ายอมยกธงขาวตั้งแต่ยกแรก โดยพระวิสุทธิสมโพธิได้เขียนแถลงการณ์ไปถึงหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯว่า ตนเองมิได้ปรารถนาจะเป็นประธาน หากแต่ถูกยัดเยียดให้เป็น และสารภาพว่า "การกระทำดังกล่าวมิใช่กิจของบรรพชิตและขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ" แปลว่า พระวิสุทธิสมโพธิลอยแพคณะปฏิสังขรณ์
เมื่อถูกประธานลอยแพเช่นนั้น บรรดาพลพรรคที่เหลือก็เข้าตำรา "แพแตก" ถูกกดดันทั้งจากทางพระสงฆ์ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ต้องหนีกระเซอะกระเซิงไปหลบซ่อนอยู่ อาทิเช่น
พระมหาสนิธ เขมจารี วัดพระเชตุพน หนีไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
พระมหาทองสุก สุทสฺโส วัดมหาธาตุ หนีไปจำพรรษาอยู่ที่วัดปากเพรียว อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี
พระมหาสมบูรณ์ จนฺทโก วัดมหาธาตุ หนีไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอุดมธานี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
พระในคณะปฏิสังขรณ์ระดับแนวหน้าเหล่านี้ ต้องหนีภัยไปอยู่ในต่างจังหวัด เพื่อรอเวลาฟ้าเปิดจึงค่อยกลับมาสานต่องานที่ยังคั่งค้างอยู่ให้สัมฤทธิ์ผล



07

บทบาทของสองมหาวิทยาลัยสงฆ์

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อันเป็นมหาวิทยาลัยในฝ่ายมหานิกายนั้น ก่อตั้งและตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ท่าพระจันทร์ ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฟากตะวันตกเป็นตลาดท่าพระจันทร์และมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ถัดไป ด้านหน้าทางทิศตะวันออกนั้นเป็นท้องสนามหลวง ส่วนด้านใต้เป็นพระบรมมหาราชวัง ด้านเหนือเป็นพระราชวังบวรหรือวังหน้า ถ้าดูจากรายชื่อคณะกรรมการคณะปฏิสังขรณ์แล้ว ก็จะพบว่ามีพระคณาจารย์ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเข้าร่วมในขบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์เสมอภาคของพระมหานิกายหลายรูป นั่นแสดงว่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เข้าไปเป็นฝ่ายบุ๋นในศึกครั้งนี้ด้วย
กล่าวทางมหามกุฏราชวิทยาลัย อันก่อตั้งและตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารบางลำพูนั้น ตั้งอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช อันเป็นฐานที่มั่นของคณะธรรมยุตมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เมื่อเห็นทางมหาจุฬาฯนำเอามหาวิทยาลัยสงฆ์เข้าไปเป็นฝ่ายทางการเมืองเช่นนั้นก็เอามั่ง พระสุพจน์มุนี หัวหน้ากองบำรุงพระศาสนา มหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ประสานงานไปยังพระราชกวี เจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี (แต่อยู่วัดเทพศิรินทราวาส) และเจ้าคณะจังหวัดต่างๆ ในฝ่ายธรรมยุต ระบุว่า "ห้ามมิให้ยกย่องพระในคณะปฏิสังขรณ์ทั้งในด้านตำแหน่งเจ้าอาวาส ตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ และสมณศักดิ์ทุกระดับ"
ท่านกล่าวว่า คณะธรรมยุตใช้กระทรวงธรรมการเป็นเครื่องมือสอบสวนพระคณะปฏิสังขรณ์ของมหานิกาย โดยมีมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) วัดบวรนิเวศ เป็นมันสมอง พระมหานิกายมากมายถูกนิมนต์สอบสวนเป็นกรณีพิเศษ มีทั้งข่มขู่ด้วยวาจา บางรายถึงกับอดข้าวอดน้ำ และไร้เสรีภาพ ซึ่งช่วงนั้น "พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต" ก็กำลังเผยแผ่พระพุทธศาสนาว่าด้วยกรรมฐาน นำพระสงฆ์ไทยไปสวรรค์นิพพานอยู่ทางฝั่งอีสานและภาคเหนือ ท่านเมตตาการุณมาก ถึงกับยอมให้ "หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง" ได้ฝากตัวเป็นศิษย์โดยไม่ต้องญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย
แต่คณะปฏิสังขรณ์ในเวลานั้นได้เห็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วว่า ถ้าเอาจริงก็สำเร็จ ดังนั้นจึงไม่ถอย ตายหนึ่ง เสริมสอง ตายสอง เสริมสาม จนพระมหานิกายกระจายข่าวสารไปทั้งบ้านทั้งเมือง และสุดท้ายก็สำเร็จ เมื่อ นายทองม้วน ถัตถากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ (ของสภาผู้แทนราษฎร) ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478 ส่วน นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี ได้นำเอาร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ของคณะปฏิสังขรณ์ยื่นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 28ธันวาคม พ.ศ.2478 หมายถึงว่า เวลานี้มีพระร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วถึง 2ฉบับ โดยทางสภาผู้แทนราษฎรอาจจะเลือกเอาฉบับใดฉบับหนึ่งมาเป็นต้นร่าง หรืออาจจะรวมสองร่างเข้าด้วยกัน
ซึ่งในขั้นตอนการพิจารณานั้น สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการฝ่ายสงฆ์ขึ้นมาจำนวน 5 รูป ได้แก่
1. พระธรรมโกศาจารย์ (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (มหานิกาย)
2. พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ช้อย ฐานทตฺโต) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (มหานิกาย)
3. พระราชสุธี (วิจิตร อาภากโร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (มหานิกาย)
4. พระราชเวที (จวน อุฏฺฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม (ธรรมยุติกนิกาย)
5. พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ วัดมกุฏกษัตริยาราม (ธรรมยุติกนิกาย)
เห็นได้ว่า เป็นอัตราส่วน 3/2 ซึ่งทางฝ่ายมหานิกายมีพระผู้ใหญ่ระดับพระธรรมโกศาจารย์ วัดเบญจมบพิตร (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9) ซึ่งเป็นเณรนาคหลวงองค์แรกในสมัยรัชกาลที่ 5 มาเป็นหัวหน้า นั่นแสดงว่ามหานิกายเริ่มได้เปรียบทั้งด้านสัดส่วนและคุณสมบัติของตัวกรรมาธิการ สองรูปในคณะกรรมาธิการนี้ภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช คือรูปที่ กับรูปที่ 4
ภาพที่ปรากฏจึงเป็นว่า บัดนี้ คณะปฏิสังขรณ์สามารถทำให้คณะราษฎรรับทราบถึงปัญหาในด้านการปกครองของคณะสงฆ์ไทยได้แล้ว แถมยังได้ตำแหน่งและสัดส่วนที่ดีและมากกว่าในคณะกรรมาธิการ ก็กล่าวได้ว่า "ได้เปรียบ" อำนาจในการพิจารณากฎหมายปกครองคณะสงฆ์ไทยตกอยู่ในเงื้อมมือพระฝ่ายมหานิกายแล้ว เป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปีทีเดียว
ผลก็คือ สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไทยฉบับใหม่ โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จำนวน 2 ใน 3ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พล.อ.พิชเยนทรโยธิน ได้ลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2484 ทั้งนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติฉบับนั้นมีชื่อว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484
เป็นกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับแรกและฉบับเดียวที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในยุคประชาธิปไตยเต็มใบ
เนื้อหาสาระของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้เด่นๆ ก็คือ
1. ยกสมเด็จพระสังฆราชขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ ทำนองพระมหากษัตริย์มิต้องบริหารประเทศด้วยพระองค์เอง และมิต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากการบริหาร
2. แบ่งอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็น 3 ฝ่ายได้แก่
2.1 ฝ่ายบริหาร กำหนดให้มีตำแหน่งสังฆนายก เทียบได้กับนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ทำนองเป็นรัฐบาลแห่งคณะสงฆ์ไทย และให้มีคณะสังฆมนตรี ทำนองคณะรัฐมนตรีของคณะสงฆ์อีกจำนวนไม่เกิน รูป
2.2 ฝ่ายนิติบัญญัติ กำหนดให้มีสังฆสภา เป็นสภาสำหรับพิจารณากฎหมายคณะสงฆ์ ทำนองสภาผู้แทนราษฎร และกำหนดให้มีสมาชิกสังฆสภาไม่เกิน 25 รูป และต้องมีคุณสมบัติในระดับพระราชาคณะชั้นธรรม พระเปรียญเอก และพระคณาจารย์เอก ประธานสังฆสภาและรองประธานสภามาจากการเลือกตั้งของสมาชิก และสมเด็จพระสังฆราชทรงลงพระนามแต่งตั้ง
2.3 ฝ่ายตุลาการ กำหนดให้มีคณะพระวินัยธร ทำนองคณะตุลาการศาลยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีความหรืออธิกรณ์ฝ่ายสงฆ์
โดยพระราชบัญญัติระบุว่า
มาตรา 7 สมเด็จพระสังฆราช ทรงบัญญัติสังฆาณัติโดยคำแนะนำของสังฆสภา
มาตรา 8 สมเด็จพระสังฆราชทรงบริหารการคณะสงฆ์ ทางคณะสังฆมนตรี
มาตรา 9 สมเด็จพระสังฆราชทรงวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร
นั่นแหละคือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ที่มาพร้อมๆ กับคณะราษฎรและประชาธิปไตย
มีกรณีพิเศษก็คือ บทเฉพาะกาลที่ระบุว่า "มาตรา 60 ก่อนที่จะได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้ครบถ้วน แต่อย่างช้าต้องไม่เกิดแปดปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ออกสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ พระบัญชา สมเด็จพระสังฆราช กฎกระทรวง หรือระเบียบใด ที่จะบังคับให้ต้องเปลี่ยนลัทธิอันได้นิยมนับถือและปฏิบัติกันมาเป็นเวลา ช้านานแล้ว"
มาตรานี้มีความหมายว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกร่วมระหว่างสองนิกาย จากนั้นก็จะดำเนินการให้พระสงฆ์ไทยรวมนิกายเป็นหนึ่งเดียว ภายในเวลา ปี ซึ่งใครเลยจะรู้ว่า เวลาที่กำหนดไว้นั้นจะกลายเป็นชนวนระเบิดทำลายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้จนไม่เหลือซาก
เหตุการณ์ที่เป็นใจให้เกิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ขึ้นมาก็คือว่า วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2480 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ ได้สิ้นพระชนม์ลง ส่งผลให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง และทางคณะผู้ปฏิบัติสำเร็จราชการแทน ได้สถาปนา สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นองค์แรกในรอบ 80 ปีที่ธรรมยุตถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ก็ผ่านสภาผู้แทนราษฎรในสมัยของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้



08


แย่งตำแหน่งสังฆนายก
ถ้าประมวลเหตุการณ์แห่งการได้มาซึ่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายนั้นเพลี่ยงพล้ำ จำต้องยอมกล้ำกลืนยอมรับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ แต่อย่าลืมว่า เวลานั้นคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายยังคงดำรงตำแหน่ง "ประมุข" หรือสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังให้อำนาจสมเด็จพระสังฆราชไว้ว่า "สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งสังฆมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยสังฆนายกรูปหนึ่ง และสังฆมนตรีอีกไม่เกินเก้ารูป"
ตำแหน่งสังฆนายกรูปแรกในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ก็คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส (ธรรมยุติกนิกาย)
ตำแหน่งประธานคณะพระวินัยธรรูปแรกก็คือ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย)
ส่วนตำแหน่งประธานสังฆสภารูปแรกก็คือ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (มหานิกาย)
ซึ่งท่านผู้อ่านถ้าย้อนกลับไปดูการเรียกร้องของคณะปฏิสังขรณ์จนได้พระราชบัญญัติฉบับประชาธิปไตยในหมู่สงฆ์มา ถือได้ว่ามหานิกายได้เปรียบ และทั้งๆ ที่ปี พ.ศ.2484 นั้น ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็เป็นของฝ่ายมหานิกาย แต่ตำแหน่งผู้นำอำนาจสามฝ่ายนั้น กลับตกเป็นของธรรมยุตในอัตรา 2 ต่อ 1 แถมธรรมยุตยังครองอำนาจสำคัญไว้ในมือหมด ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งสังฆนายกอันเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร และตำแหน่งประธานคณะพระวินัยธร อันเป็นตำแหน่งตัดสินคดีความในระดับประธานศาลฎีกา ส่วนพระมหานิกายได้เป็นประธานรัฐสภามีหน้าที่นั่งหลับฟัง ส.ส.พระพูด จะบอกว่าพระมหานิกายเล่นการเมืองไม่เป็นก็คงว่าได้ แหมพูดไปก็น่าอาย ผู้เขียนได้แต่คิดในใจ "โง่ฉิบหาย มากมายเสียเปล่า ต่อสู้เอารัฐธรรมนูญคณะสงฆ์มาได้ แต่ไม่สามารถเอาแต่ตำแหน่งสังฆนายกไว้ได้"
ความเสียเปรียบของคณะมหานิกายยังมิได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ครั้นวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2486 สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ประธานสังฆสภา ได้ถึงแก่มรณภาพลง ผลปรากฏต่อมาว่า สังฆสภาได้ลงมติเลือกให้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นว่า อำนาจสามฝ่ายตกเป็นของธรรมยุตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ครั้นวันที่6 พฤศจิกายน พ.ศ.2487 สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ ก็สิ้นพระชนม์ และสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ชื่น สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช หมายถึงว่าอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ไทยตกอยู่ภายใต้จีวรของพระธรรมยุตแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่งแล้ว พระมหานิกายมีโอกาสไขว่คว้าเพียงแว๊บๆ แค่ 6 ปีเท่านั้น พระมหานิกายเพิ่งเรียนจบ ป.6 ส่วนพระธรรมยุตเข้าเส้นชัยในระดับศาสตราจารย์ไปแล้ว
สาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ในการชิงตำแหน่งจากธรรมยุตมาเป็นของมหานิกายนั้น ท่านว่าก็มาจากความแตกแยกภายในมหานิกายนั่นเอง โดยท่านว่า มหานิกายนอกจากจะแบ่งออกเป็นหลายภาคของประเทศแล้ว วัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหานครเองก็แตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย เรียกว่ามหานิกายเดิมกับมหานิกายแปลง
มหานิกายเดิม คือกลุ่มวัดที่ยังคงห่มจีวรพันลูกบวชเข้าด้านในแล้วบีบไว้ที่ใต้วงแขนหรือซอกรักแร้ เรียกว่าห่มพาดมังกร และนิยมใช้สีเหลืองทอง
มหานิกายแปลง ได้แก่ พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่ไปรับเอาการห่มผ้าแบบธรรมยุตหรือแบบมอญมาใช้ และใช้จีวรสีกรัก
ความจริงปัญหาเรื่องการห่มผ้านั้น แต่แรกเป็นปัญหาของฝ่ายธรรมยุตดังเล่ามาแล้ว ว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตำหนิพระภิกษุวชิรญาณว่าไปเอาแบบมอญมาเป็นของไทย แต่พอถึงสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสนั้น กลับปรากฏว่าพระฝ่ายมหานิกายเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะว่ามีหลายวัดไปรับเอาการห่มแบบพระธรรมยุตมาเป็นของมหานิกาย หมายถึงว่าหนักกว่าธรรมยุตห่มแบบมอญอีก เพราะธรรมยุตเกิดจากมอญ ส่วนพระมหานิกายนั้นมิได้เกิดจากมอญ ยกเว้นมอญซ่อนผ้า
เรื่องนี้ถูกนำเข้าไปวินิจฉัยในที่ประชุมสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2457 มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นประธาน ครั้งนั้นพระสงฆ์มหานิกายแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกมี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น ชอบจะห่มตามแบบธรรมยุต เพราะเห็นว่าได้ห่มมานานแล้ว จะเปลี่ยนไปห่มแบบเก่าก็ไม่ถนัด ส่วนอีกฝ่ายมี วัดระฆังโฆสิตาราม วัดสระเกศ เป็นต้น เห็นว่าต้องรักษาของเก่าเอาไว้ จนสุดท้ายต้องให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสซึ่งเป็นธรรมยุตนั้นวางระเบียบให้ ฝ่ายแรกนั้นถูกเรียกว่าเป็นมหานิกายแปลง ฝ่ายหลังก็คือมหานิกายเดิม (ภายหลังวัดสุทัศน์ก็กลับมาห่มแบบมหานิกายเดิม คงเหลือเฉพาะวัดมหาธาตุเท่านั้นที่ยังเอาแบบธรรมยุต)
พระมหานิกายเดิมกับมหานิกายแปลงนั้นไม่มีรายละเอียดว่าเป็นวัดใดบ้าง แต่ในคราวเลือกกรรมการสังฆสภาชุดแรกนั้น (พ.ศ.2485) ท่านระบุอัตราส่วนของแต่ละนิกายไว้ดังนี้

คณะจำนวน/รูป
ธรรมยุติกนิกาย15
มหานิกายเดิม12
มหานิกายแปลง14
พระมอญ1

นั่นคืออัตราส่วนในสภาผู้แทนราษฎรของคณะสงฆ์ไทยสมัย พ.ศ.2484 ทีนี้ก็จะเห็นได้ว่า มีการแบ่งออกเป็น 4 นิกาย แต่ถ้าดูที่ไปที่มาแล้ว ธรรมยุติกนิกายก็มาจากมอญนิกาย หรือนิกายพระมอญ เมื่อพระมอญมีเพียง 1 เสียง ก็เท่ากับว่าเป็นเสียงของฝ่ายธรรมยุติกนิกายด้วย ความหมายว่าธรรมยุตมี 14+1 เสียง เป็น 15 ขณะที่มหานิกายนั้นแตกออกเป็น 2 ก๊ก ก๊กแรกมี 12 เสียงอีกก๊กมี 14 เสียง ถ้าเอาเสียงมารวมกันก็ต้องชนะขาด แต่นี่กลับเอามาทำลายกัน ทำนองชิงความได้เปรียบเสียเปรียบในนิกายเดียวกัน เพราะถ้ามีความสมัครสมานกันจริงแล้วจะแยกออกเป็นมหานิกายเดิมกับมหานิกายแปลงไปทำไม หรืออีกนัยหนึ่ง พระมหานิกายในสมัยนั้นไม่มีพระมหาเถระผู้มีบารมีพอที่จะรวบรวมพลพรรคมหานิกายให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวได้ หนำซ้ำพระที่พอจะมีบารมีกลับกลายเป็นฝักฝ่ายเสียเองอีก มันก็เลยไปกันใหญ่ ส่งผลให้คณะธรรมยุตที่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปแล้ว กลับฟื้นคืนกำลังขึ้นมาใหม่



09


ปัญหาวัดพิชยญาติการาม
ในปี พ.ศ.2482 ได้เกิดเหตุการณ์ทิ่มแทงระหว่าง 2 นิกายขึ้นเรื่องหนึ่ง คือเรื่องพระเมธาธรรมรส เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม นำเอาคณะสงฆ์วัดพิชยญาติการาม อันเป็นธรรมยุติกนิกายมาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายมหานิกาย เรื่องมีอยู่ว่า
วัดพิชยญาติการามจะเป็นธรรมยุติกนิกายมาแต่สมัยใดก็ไม่ปรากฏ แต่คงไม่เกิน พ.ศ.2367 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าฟ้ามงกุฏเสด็จออกผนวช พอถึง พ.ศ.2482 นั้น ก็มีการขอย้ายสังกัดมาอยู่กับมหานิกาย โดยทางพระเมธาธรรมรส เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เป็นหัวหน้า บอกกล่าวแก่คณะสงฆ์มหานิกายว่า ทางคณะธรรมยุตตั้งกรรมการสอบสวนอธิกรณ์กับพระเมธาธรรมรส แล้วเกิดมีปากเสียงกันค่อนข้างแรง ทางฝ่ายเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตรับไม่ได้ จึงวินิจฉัยให้ "ออกจากคณะ" เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อเปหิ แปลว่า ตะเพิด นั่นเอง
แต่ว่าพระสงฆ์ทั้งวัดจะไล่ไปอยู่ไหน พระเมธาธรรมรสเมื่อถูกไล่ออกจากธรรมยุตก็หันหัวเรือมาทางมหานิกาย โดยใน พ.ศ.2482 นั้น สมเด็จพระสังฆราช (แพ) เป็นประมุขสงฆ์ หมายถึงว่ามียศและอำนาจเหนือกว่าฝ่ายธรรมยุต การบ่ายหน้ามาหาฝ่ายมหานิกายจึงเป็นการไปหาผู้ใหญ่กว่าเป็นที่พึ่ง ซึ่งทางฝ่ายมหานิกายก็ตั้งคณะทำงานพิจารณากรณีนี้ และได้มีวินิจฉัยว่า "ให้พระเมธาธรรมรสไปขอขมาพระผู้ใหญ่ในฝ่ายธรรมยุตและขอให้ฝ่ายธรรมยุตรับพระเมธาธรรมรสเข้าไว้ในปกครองดังเดิม"
แต่ปรากฏว่าฝ่ายธรรมยุตไม่ยอมรับมติ ทั้งยังประกาศตัดวัดพิชยญาติการามออกจากการปกครองของธรรมยุต พระเมธาธรรมรสจึงอาศัยจังหวะนั้นทำหนังสือ "ขอเข้าสังกัดมหานิกาย" โดยแนบจำนวนพระภิกษุ 27 รูป และสามเณรอีก 13 รูป รวมเป็น 40รูปมาด้วย
คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายมีสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ได้เปิดประชุมใหญ่ขึ้นที่วัดสุทัศนเทพวราราม ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2482 เวลา 15.05 น. เพื่อพิจารณากรณีวัดพิชยญาติการามเป็นการเฉพาะ สุดท้ายนั้นที่ประชุมตกลงยินยอมรับเอาวัดพิชยญาติการามมาอยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย โดยมีอรรถาธิบายว่า การเข้าสู่มหานิกายของธรรมยุตนั้นก็เป็นการกลับคืนนิกายเดิมนั้นเอง เพราะธรรมยุตแตกออกไปจากมหานิกาย แต่พระธรรมยุตที่เหลือนั้นจะคิดเช่นนี้หรือไม่ก็ไม่รู้สินะ
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดพิชยญาติการามก็เลยกลายเป็นมหานิกาย ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดนี้ได้ดิบได้ดีเป็นถึงเจ้าคณะใหญ่หนกลาง คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ. 9 Ph.D)



10


สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน
ก็ตามที่กล่าวแล้วว่า ในบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 นั้น กำหนดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกและรวมนิกายให้เสร็จสิ้นภายใน 8 ปี ถ้านับจากปี พ.ศ.2484 ก็ตีซะว่า ไม่เกิน พ.ศ.2492 เราจะได้เห็นพระสงฆ์ไทยหล่อหลอมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่ความฝันหรือจะกลายเป็นจริง เพราะอย่าว่าแต่มหานิกายจะรวมกับธรรมยุตเลย แม้แต่มหานิกายเองก็ยังแบ่งออกเป็นมหานิกายเดิมกับมหานิกายแปลง แล้วอย่างนี้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะเป็นจริงได้หรือ
อย่าลืมว่าปลายปี พ.ศ.2487 นั้น สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ ได้สิ้นพระชนม์ลง ส่งผลให้กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ในปี พ.ศ.2488 และถ้านับตามปฏิทินในบทเฉพาะกาลข้างต้นนั้นก็หมายถึงว่า ทางคณะราษฎรมีเวลาเหลือเพียง 4 ปี ในการทำสังคายนาและรวมนิกายสงฆ์ไทยให้เป็นหนึ่งเดียว
ทั้งนี้ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดำเนินการสร้างวัดใหม่ขึ้นมาที่ตำบลบางเขน มีเนื้อที่กว้างขวางถึง 200 ไร่ ก่อสร้างเสร็จและยกขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2484 และต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2485 มีผู้อำนวยการสร้างคือหลวงวิจิตรวาทการ และมีพิธีเปิดวัดอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2485 ในการนี้ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พิธีเปิดวัดใหม่นี้ท่านเรียกว่า "รัฐพิธี" โดยในงานนี้ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร ได้ยินยอมพร้อมใจออกบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในสีมาวัดประชาธิปไตยด้วย
จากนั้นก็มีการนิมนต์พระสงฆ์สองฝ่าย คือฝ่ายมหานิกายกับธรรมยุติกนิกายให้ไปจำพรรษาร่วมกันในวัดประชาธิปไตย ในทำนองว่า "อยู่ก่อนแต่ง" ซึ่งแต่ละนิกายได้ส่งพระสงฆ์ไปดังนี้

ธรรมยุติกนิกายมหานิกาย
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาสพระมหาเหมือน ป.ธ.7 วัดสระเกศ
พระญาณดิลก วัดสุทธจินดา นครราชสีมาพระมหาโกศล ป.ธ.6 วัดมหรรณพาราม
พระมหาเขียน ป.ธ.9 วัดบวรนิเวศวิหารพระมหาแสวง ป.ธ.5 วัดทองนพคุณ
พระมหาสนั่น ป.ธ.8 วัดบรมนิวาสพระมหาบุญมา ป.ธ.5 วัดจักรวรรดิราชาวาส
พระมหาผุย ป.ธ.8 วัดปทุมวนารามพระมหาละห้อย ป.ธ.5 วัดประยุรวงศาวาส
พระมหาเยี่ยม ป.ธ.7 วัดบรมนิวาสพระมหาพร ป.ธ.5 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
พระมหาสาย ป.ธ.7 วัดบวรมงคลพระมหาสมพร ป.ธ.5 วัดอนงคาราม
พระมหาเส็ง ป.ธ.6 วัดบรมนิวาสพระมหาจิตร ป.ธ.5 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
พระมหาสำรอง ป.ธ.5 วัดบรมนิวาสพระมหาคม ป.ธ.5 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
พระมหาปรีชา ป.ธ.5 วัดบรมนิวาสพระมหาเยี่ยม ป.ธ.4 วัดราชบุรณะ
พระมหาสมบูรณ์ ป.ธ.3 วัดบรมนิวาสพระมหาทัศนัย ป.ธ.4 วัดสามพระยา
พระมหาแสวง ป.ธ.3 วัดบรมนิวาสพระมหาจันดี ป.ธ.3 วัดสุทัศนเทพวราราม

โครงสร้างทางด้านบุคคลากรของวัดประชาธิปไตยที่รัฐบาลสมัยประชาธิปไตยวางไว้แต่แรกนั้น เมื่อมาเห็นภาคีพระสงฆ์สองฝ่ายที่เข้าไปในโครงการสมานฉันท์รวมนิกายครั้งนี้แล้ว ก็เริ่มเห็นวี่แววแห่งความล้มเหลว เพราะในฝ่ายมหานิกายไม่มีการส่งพระผู้ใหญ่ระดับใดไปเลย มีเพียงพระเด็กๆ ป.3 ป.4 สูงสุดก็แค่ ป.7 ไปอยู่ร่วม ส่วนธรรมยุติกนิกายนั้นก็ทำทีว่าให้ความร่วมมืออย่างสุดใจ ด้วยการที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส ซึ่งมีสมณศักดิ์สูงสุดในทางสงฆ์ อาสาไปอยู่วัดประชาธิปไตยเอง ติดตามด้วยพระราชาคณะและพระเปรียญสูงๆ ทุกระดับอีกต่างหาก งานนี้จึงไม่ทราบว่าใครวางยาใคร
เพราะถ้าว่ากันตามหลักการแล้ว ก่อนจะจัดพระสงฆ์ก็ต้องมีการตกลงในหลักการว่าจะเอาใครไป และใครควรจะเป็นอะไร แต่ในเมื่อรูปการณ์ออกมาเช่นนี้ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า ไม่สมน้ำสมเนื้อ ฝ่ายธรรมยุตก็มามากเกินไป ถ้าฝ่ายมหานิกายจะมาแบบเกทับก็ต้องทูลนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชไปประทับเองเท่านั้น ส่วนพระมหานิกายก็มาน้อยเกินไป ส่งไปแบบว่าเสียไม่ได้ เหมือนไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริง


11


ล้ม พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484
ตามสถิตินั้น ในปี พ.ศ.2484 มีพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายอยู่ในหลักเกือบๆ แสนรูป และมีวัดในสังกัดประมาณ 17,000 วัด ขณะที่ฝ่ายธรรมยุตมีพระสงฆ์ทั้งประเทศประมาณไม่เกิน 3,000 รูป และมีวัดประมาณ 260 วัดเท่านั้น
มองในแง่สรีรศาสตร์ก็คือว่า มหานิกายตัวใหญ่เท่าช้าง ส่วนธรรมยุตนั้นตัวเล็กเท่ามูสิก แต่รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะรวมสองนิกายเข้าด้วยกัน มันก็เท่ากับ "เอาเนื้อหนูไปแปะเนื้อช้าง" เพราะช้างตัวใหญ่กว่า และในกรณีวัดพิชัยญาตินั้น ทางคณะมหานิกายก็ได้ให้คำนิยามไว้แล้วว่า "เป็นการกลับคืนสู่นิกายเดิม" เท่านั้น นั่นหมายถึงว่า ถ้าธรรมยุตกับมหานิกายรวมกัน ก็เท่ากับว่าธรรมยุตรวมเข้าในมหานิกายอันเป็นนิกายเดิม แล้วคิดดูสิว่า ตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมานั้น ฝ่ายธรรมยุตได้เป็นพระสังฆราชปกครองมหานิกายให้เคารพนบนอบหมอบกราบหมอบไหว้มาโดยตลอด แล้วจู่ๆ จะดูดธรรมยุตเข้าไปไว้ในมหานิกายให้เคารพซึ่งกันและกันด้วยอายุพรรษาเหมือนตอนเริ่มตั้งพระพุทธศาสนาใหม่ๆ ใครกันจะทนได้
คณะธรรมยุตจึงใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบในการดึงดันไม่ยอมรวมกับคณะมหานิกาย แรกนั้นเมื่อเริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ธรรมยุตก็ทำทีเป็นเห็นด้วย โดยเข้าร่วมเป็นสังฆมนตรี สมาชิกสังฆสภา และคณะพระวินัยธร ซึ่งก็เป็นบัญญัติในพระราชบัญญัติฉบับนี้ทั้งสิ้น แบบว่าเอาตำแหน่งไว้ก่อน แต่ครั้นการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มอ่อนแอ คณะธรรมยุตซึ่งอิงอยู่กับราชาธิปไตยมาตลอดจึงเริ่มตีรวน "ล้มพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484"
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2490 หลังจากกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแล้ว 2ปี คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตจึงเดินเกมกดดันรัฐบาล เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปี ก็จะครบกำหนดรวมนิกายสงฆ์ไทยให้เป็นหนึ่งเดียวแล้ว ดังนั้นถ้าไม่ยอมรวมก็ต้องคว่ำพระราชบัญญัติฉบับนี้ทิ้งไปให้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงปรากฏว่ามีพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตจำนวน 22 รูป ได้แก่

ชื่อ-วัด
ภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) 
วัดเทพศิรินทราวาส
 
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
วัด
ประชาธิปไตย/พระศรีมหาธาตุ บางเขน
 
พระศาสนโสภณ (จวน อุฏฺฐายี) วัดมกุฏกษัตริยารามสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 16
พระธรรมโกศาจารย์ (ปลอด อตฺถการี) วัดราชาธิวาสพระศาสนโสภณ
พระธรรมปาโมกข์ (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหารพระพรหมมุนี เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รูปที่ 4
พระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 18
พระเทพกวี (จั่น วิจญฺจโล) วัดเทพศิรินทราวาส 
พระอมราภิรักขิต (ทองคำ ป.ธ.7) วัดบรมนิวาส 
พระราชกวี (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุสมเด็จพระมหาวีรวงศ์
พระราชเมธี (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการามสมเด็จพระมหาวีรวงศ์
พระปริยัติเวที (ผุย คตญาโณ) วัดปทุมวนาราม 
พระญาณรักขิต (สุดใจ ป.ธ.6) วัดบรมนิวาส 
พระรัชชมงคลมุนี (เทศ นิทฺเทสโก) วัดสัมพันธวงศ์ 
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ป.ธ.6) วัดพระศรีมหาธาตุ 
พระศรีวิสุทธิวงศ์ (เอื้อน ชินทตฺโต) วัดเทพศิรินทราวาส 
พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม) วัดโสมนัสวิหารสมเด็จพระวันรัต
พระนิรันตรญาณมุนี (นิรันด์ นิรนฺตโร) วัดเทพศิรินทราวาสสมเด็จพระวันรัต
พระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) วัดราชบพิธสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี
พระอมรเวที (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) วัดนรนาถสุนทริการามสมเด็จพระมหามุนีวงศ์
พระสุมงคลมุนี (ผิว ป.ธ.7) วัดบวรมงคลพระราชเมธาจารย์
พระโศภณคณาภรณ์ (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหารสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19
พระศรีวิสุทธิญาณ (สุชีพ สุชีโว) วัดกันตมาตุยาราม(ลาสิกขา) อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพอธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)

พระผู้ใหญ่ในฝ่ายธรรมยุตทั้งหมดนี้ ได้ลงชื่อในบัญชีหางว่าวกราบเรียนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศ อ้างเหตุเช่นว่า
1พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 มีบทบัญญัติและวัตถุประสงค์ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยในเรื่องของคณะนิกาย เป็นการบังคับขืนใจให้ยินยอมต้องรวมนิกายโดยมิได้สมัครใจ
2พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 มีเนื้อหาสาระขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยประชาธิปไตย จึงไม่ถือว่ามีผลบังคับใช้
ฯลฯ
ปีนั้นเป็นรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์แล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ จึงทรงส่งหนังสือร้องทุกข์ของพระสงฆ์นิกายธรรมยุตฉบับนั้นไปยังรัฐบาลไทยเพื่อพิจารณา พร้อมกับทำสำเนาส่งถึงผู้แทนพระองค์อีกฉบับหนึ่งด้วย



12


มหานิกายแตก

เป็นเรื่องของคนไทยที่ถูกเรียกว่า "คนลาว" อันได้แก่คนอีสานและภาคเหนือ ซึ่งชาวภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพฯนิยมเรียกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทั้งนี้มีคำสั่ง "ห้ามเล่นลาว" ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหลักฐานยืนยัน
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์นั้น เคยเป็นสำนักงานกลางของคณะสงฆ์ไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ นับจากรัชกาลที่ 1-3 โดยสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ ไม่ว่าจะประทับอยู่ ณ วัดไหน เมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็จะเสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีประเพณีแห่สมเด็จพระสังฆราชเป็นที่ครึกครื้นมาก วัดมหาธาตุฯจึงไม่มีเจ้าอาวาสเป็นการถาวร เพราะเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น
แต่ครั้นวัดบวรนิเวศวิหารก่อกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับคณะธรรมยุติกนิกายในปี พ.ศ.2380 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระประสงค์จะยกย่อง กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารและเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ไม่สำเร็จ เพราะพระมหานิกายยอมตายโดยการลาสิกขาเกือบเกลี้ยงเมืองหลวง แผนการถูกระงับไว้นานจนสิ้นรัชกาล ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสานต่อพระดำริของพระราชบิดา โดยทรงสถาปนากรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ในปี พ.ศ.2416 และต่อจากนั้น คณะธรรมยุตก็เข้าแถวขึ้นครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชติดต่อกันถึง 4 รุ่น 4 พระองค์ด้วยกัน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2480 สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ฝ่ายมหานิกาย จึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์แรก แต่ก็เป็นเวลาสั้นๆ เพียง 6 ปีเท่านั้น ครั้น พ.ศ.2488 สมเด็จพระสังฆราชแพก็สิ้นพระชนม์ โอกาสเป็นของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้ง
แต่ถ้านับดูบทบาทของวัดมหาธาตุฯในฐานะศูนย์กลางทางการปกครองของคณะสงฆ์ไทยแล้ว ก็จะเห็นว่า หายไปเลย นับตั้งแต่ พ.ศ.2380 จนถึงบัดนี้ เป็นเวลานานถึง 176 ปีเข้ามานี่แล้ว
แต่กรุงศรีอยุธยาใช่ว่าจะสิ้นคนดี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ก็เช่นเดียวกัน หลังจากสูญเสียอำนาจไปแบบไร้แรงต่อรองแล้ว ในปี พ.ศ.2464 มีสามเณรชาวขอนแก่นชื่อว่า คำตา ดวงมาลา ได้มาขออาศัยอยู่ในสำนักของพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เฮง เขมจารี) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และต่อมาพระธรรมไตรโลกาจารย์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระวันรัต ส่วนสามเณรคำตานั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น สามเณรอาจ ดวงมาลา  ศึกษาจนได้เปรียญธรรม 8 ประโยค อุปสมบทเป็นพระมหาอาจ อาสโภ  จากนั้นในปี พ.ศ.2476 ก็ถูกโยกไปเป็นรองเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามพร้อมกับตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เป็นรองเจ้าคณะมณฑลอยุธยา เป็นเจ้าคณะผู้ตรวจการภาค 4 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง ในส่วนของสมณศักดิ์นั้น เริ่มในปี พ.ศ.2477 ได้เป็นพระศรีสุธรรมมุนี และเลื่อนเป็นชั้นราชในราชทินนามเดิม ก่อนจะเพิ่มยศเป็นพระเทพเวที พระธรรมไตรโลกาจารย์ ตามลำดับ
เมื่อพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ถึงแก่มรณภาพลงในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2491 นั้น วัดมหาธาตุฯขาดผู้นำ คณะสงฆ์ได้ลงความเห็นว่า "ควรนิมนต์พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) จากวัดสุวรรณาดาราราม อยุธยา มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ" และเมื่อพระธรรมไตรโลกาจารย์เดินทางเข้าสู่วัดมหาธาตุอันเป็นถิ่นเก่านั้น ก็พบว่ามีทั้งผู้ยินดีต้อนรับและผู้ไม่ยินดีต้อนรับ
ผู้ยินดีต้อนรับก็มีมากอยู่ แต่ผู้ไม่ยินดีต้อนรับก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะพระปริยัติโศภณ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) วัดสามพระยา ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในวัดมหาธาตุ พอพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ อาสโภ ป.ธ.8) เดินทางจากอยุธยาเข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุพร้อมกับนายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ทำให้พระปริยัติโศภณซึ่งมีดีกรีเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยคน้อยใจ
ชาว อย.หรืออยุธยานั้น ถือว่าเป็นเมืองหลวงเก่า กรุงเทพฯถึงเป็นเมืองหลวงใหม่แต่ก็อาศัยกรุงศรีอยุธยามาเป็นแม่แบบสร้างเมืองขึ้นมาเหมือนครั้ง "ในยุคบ้านเมืองดี" ทีนี้ว่า ชาวกรุงศรีอยุธยานั้นมองชาวอีสานและชาวเหนือว่าเป็น "ลาวเมืองขึ้น"มาแต่โบราณ การที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ซึ่งเป็นชาวขอนแก่นไปได้ดีถึงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม อันเป็นวัดต้นราชวงศ์จักรี นี่พระสงฆ์อยุธยาก็ไม่ชอบใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า "เอาลาวบ้านนอกมาปกครองคนกรุงเก่า" พอพระธรรมไตรโลกาจารย์เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุอันเป็นวัดมีบทบาทอันดับหนึ่งของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เพราะเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทความรู้ระดับอุดมศึกษา ก็ทำให้พระปริยัติโศภณชาวอยุธยาไม่พอใจ แต่แรกนั้นก็ยังนิ่งไว้
ครั้นวันที่ กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 มีประกาศสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง (ทำนองกระทรวงมหาดไทย) ก็ปรากฏชื่อของ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ อาสโภ ป.ธ.8) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ขณะที่พระปริยัติโศภณ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) ได้เป็นเพียง "สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา" ทราบข่าวดังนั้น พระปริยัติโศภณ ก็ประกาศ "ไม่รับตำแหน่ง" แบบว่าไม่ทันได้เห็นตราตั้งเลย โดยได้ลั่นวาจาเอาไว้ว่า "ขอให้คิดว่าเลือดก้อนหนึ่งมันตกทะเลไปแล้ว" สมเด็จพระสังฆราชจึงทรงแต่งตั้ง พระชลธารมุนี (ชอบ อนุจารี) เข้ามาดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาแทน
กล่าวทางวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้บูรณะวัดแหลมหรือวัดไทรทองขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ.2441 ทั้งนี้ทรงโปรดให้ สมเด็จฯกรมพระยานริศนานุวัดติวงศ์ เป็นสถาปนิก และ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างใหญ่ ครั้นสร้างเสร็จแล้ว จึงทรงโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (จ่าย ปุณฺณทตฺโต ป.ธ.7) เป็นหัวหน้า มาครองวัดเบญจมบพิตร หมายถึงว่าวัดเบญจมบพิตรเป็นวัดลูกของวัดมหาธาตุฯ เพราะว่าพระสงฆ์ทั้งหมดไปจากวัดมหาธาตุฯ
ต่อมาวัดเบญจมบพิตรได้ช้างเผือกมาเชือกหนึ่ง คือมี สามเณรปลด เกตุทัด อายุเพียง 19 ปี ก็สามารถสอบบาลีประโยค 9 ได้ต่อหน้าพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องเล่าว่า ในหลวงทรงดีพระทัยถึงกับเสด็จเข้ามาทรงอุ้มสามเณรปลด และโปรดรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อุปสมบทเป็นนาคหลวงองค์แรกในสมัยรัชกาลที่ 5 และเล่าอีกว่า ก่อนหน้านั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยพบสามเณรปลดที่วัดพระเชตุพนมาแล้ว ทรงโปรดปรานถึงกับรับสั่งให้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดเบญจมบพิตร และครั้งหนึ่งเสด็จมางานวัดเบญจฯ ก่อนเสด็จกลับได้ตรัสกับสามเณรปลดว่า "ฝากวัดด้วยนะเณร" นับว่าเป็นเรื่องแปลก พระสงฆ์ทั้งวัดกลับทรงฝากฝังวัดไว้กับสามเณร ประวัติของสามเณรปลดจึงไม่ธรรมดา แบบว่าฟ้าส่งมาเกิดให้เป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่ทันสมัยที่สุดในยุค ร.5
ต่อมา พระมหาปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9 เจริญทางด้านยศศักดิ์และหน้าที่การงานตามลำดับ นับจากได้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในราชทินนาม "พระศรีวิสุทธิวงศ์" ในปี พ.ศ.2457 ขณะนั้นพระมหาปลดมีอายุเพียง 26 ปี บวชพระได้เพียง 6 พรรษาเท่านั้น อีก 9 ปีถัดมาจึงเลื่อนขึ้นเป็น "พระราชเวที" ตกปี พ.ศ.2469 ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น "พระเทพมุนี"
ครั้นปี พ.ศ.2471 พระเทพมุนี (ปลด) ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯเป็นรูปที่สอง ต่อจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (จ่าย) ซึ่งมรณภาพไป ในขณะนั้นพระเทพมุนีมีอายุเพียง 40 พรรษา 20 เท่านั้น และวัดเบญจมบพิตรนั้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร มีชื่อเต็มว่า "วัดราชบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร" ตกปีรุ่งขึ้นก็ได้เลื่อนเป็น "พระธรรมโกศาจารย์" และเลื่อนเป็น "พระพรหมมุนี" ที่รองสมเด็จพระราชาคณะ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะในราชทินนาม "สมเด็จพระวันรัต" ในปี พ.ศ.2490 ครั้นเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2501 สมเด็จพระวันรัต (ปลด) วัดเบญจมบพิตร จึงได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่ง "มหาสังฆปริณายก" พระองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ถ้ามองตามนี้ก็จะเห็นได้ว่า ในยุค 2500 นั้น คณะสงฆ์มหานิกายมีบุคคลากรระดับสุดยอดอยู่มากมาย ได้แก่
สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) ป.ธ.เณรนาคหลวง วัดเบญจมบพิตร
พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ป.ธ.8 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
พระเทพเวที (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) วัดสามพระยา
พระมหาแย้ม ธมฺมสิริ (แย้ม ประพัฒน์ทอง) ป.ธ.9 วัดภคินีนาถ
พระกวีวรญาณ (จำนงค์ ทองประเสริฐ) ป.ธ.9 พธ.บ. M.A. วัดสระเกศ
พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณฺณวณฺโณ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) ป.ธ.9 M.A. วัดทองนพคุณ
พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.9 พธ.บ. วัดพระพิเรนทร์
เป็นต้น
รวมทั้ง พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ วัดปทุมคงคา หรือพุทธทาสภิกขุ ซึ่งออกไปค้นคว้างานพระพุทธศาสนาอยู่ที่สำนักสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ.2475
กรุงศรีอยุธยาไม่เคยสิ้นคนดี แต่คนดีแห่งกรุงศรีอยุธยาบางทีอาจจะมีมากเกินไป จึงเกิดการแข่งดีกันขึ้น ผลแห่งการแข่งดีกันนั้น น่าจะเป็นการสร้างสรรค์กลับกลายเป็นทำลาย ทำนองสงครามระหว่างพี่น้องในมหาภารตยุทธหรือศึกสายเลือดของจีน
ศึกสายเลือดที่ว่านี้ก็คือสายเลือดใหญ่อันได้แก่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งแตกหน่อออกไปเป็นวัดเบญจมบพิตร ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2484 ถึง 2505 นั้น พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายมีปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการเมืองกับธรรมยุตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ปัญหาภายในระหว่าง "มหานิกายเดิม" กับ "มหานิกายแปลง" ก็รุนแรงไม่แพ้กัน อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นปัญหา "ชิงการนำในพรรคเดียวกัน" ก็ว่าได้ เนื่องเพราะพระมหานิกายนั้นมีมากมายนับแสนๆ รูป การดูแลจึงไม่ทั่วถึง อยู่กันไปตามยถากรรม ที่พอจะมีวาสนาบารมีก็ตั้งตัวเองเป็นใหญ่ เรียกได้ว่าสร้างก๊กขึ้นมาในมหานิกายซึ่งไม่รู้ว่าจุดเด่นคืออะไร ต่างกับธรรมยุตที่มีหัวเดียวคือวัดบวรนิเวศวิหารและขึ้นตรงต่อราชสำนักไทยในระยะใกล้ชิดที่สุด เพราะมีเชื้อพระวงศ์มาผนวชครองตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตอย่างต่อเนื่อง
เรื่องก็มาถึงว่า เมื่อเกิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ขึ้นมานั้น ก็มีพันธะว่าด้วยตำแหน่งสังฆนายก ในฐานะนายกรัฐมนตรีแห่งคณะสงฆ์ไทย ตำแหน่งนี้สำคัญที่สุด รองลงมาจากสมเด็จพระสังฆราช
วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2489 มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งสังฆมนตรี ดังนี้
1พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ ป.ธ.8) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็น สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
2. พระธรรมโกศาจารย์ (ปลอด อตฺถการี ป.ธ.9) วัดราชาธิวาส เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง
3สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา
4. พระราชสุธี (ชอบ อนุจารี ป.ธ.6) วัดราษฎร์บำรุง จังหวัดชลบุรี เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา
5. พระศาสนโสภณ (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.9) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
6. พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ ป.ธ.6) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่
7. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการ
8. พระธรรมปาโมกข์ (วาสน์ วาสโน ป.ธ.4) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ
9. พระธรรมดิลก (ปุ่น ปุณฺณสิริ ป.ธ.6) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นสังฆมนตรี
สัดส่วนระหว่างนิกายในโผสังฆมนตรีครั้งนี้อยู่ที่ 5/5 แต่ว่าฝ่ายมหานิกายได้ตำแหน่งสำคัญไว้ในกำมือ นั่นคือสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง องค์การศึกษา และองค์การสาธารณูปการ ส่วนธรรมยุตได้เพียงองค์การเผยแผ่ไปเพียงกระทรวงเดียว
แต่เมื่อมองไปเบื้องบนในอีก 2 ตำแหน่งใหญ่ ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช (วัดบวรนิเวศวิหาร) และสังฆนายก ก็ตกอยู่แก่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส
มหานิกายคุมกำลังเบื้องล่าง แต่เบื้องบนนั้นธรรมยุตคุมไว้ทั้งหมด แบบว่ามหานิกายเตะได้แค่ขา ส่วนธรรมยุตนั้นเตะถึงก้านคอ
ครั้นพอโผสังฆมนตรีชุดนี้ปรากฏออกมา ก็ปรากฏว่า สมเด็จพระวันรัต (ปลด) วัดเบญจมบพิตร น้อยใจ เพราะได้แค่ตำแหน่งสังฆมนตรีศึกษา ขณะที่พิมลธรรม (อาจ) วัดมหาธาตุนั้นได้ตำแหน่งใหญ่ เป็นถึงสังฆมนตรีว่าการปกครอง
เพราะถ้าเทียบดีกรีกันแล้ว สมเด็จพระวันรัต (ปลด) ย่อมจะมีดีกรีเหนือกว่าพระพิมลธรรมอย่างน้อยก็หนึ่งขั้น นั่นคือว่า เป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค แถมยังเป็นเณรนาคหลวงในรัชกาลที่ 5 ด้วย ขณะที่พระพิมลธรรมเป็นเปรียญธรรม 8 ประโยค สูงแต่ไม่สุด แต่เมื่อเทียบตำแหน่งเจ้าอาวาสกันแล้ว พระพิมลธรรมดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งเป็นวัดใหญ่ระดับต้นๆ ของประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. อยู่ในวัด พระพิมลธรรมดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย มจร. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
เรื่องก็เลยเป็นว่า สมเด็จพระวันรัต (ปลด) ไม่พอใจในตำแหน่งอันด้อยกว่าพระพิมลธรรม (อาจ)
ครั้งก่อน ตอนพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) ย้ายจากวัดสุวรรณดารารามมาครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุนั้น พระปริยัติโศภณ (ฟื้น) วัดสามพระยา ก็ไม่พอใจ เพราะเห็นว่าเกินหน้า
เทียบอายุพรรษาและวิทยฐานะ
สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตติโสภโณ) เกิด พ.ศ.2432 บวชพระ พ.ศ.2452 เรียนจบ ป.ธ. 9 อายุ 57 ปี
พระปริยัติโศภณ (ฟื้น ชุตินฺธโร) เกิด พ.ศ.2448 บวชพระ พ.ศ.2469 เรียนจบ ป.ธ. 9 อายุ 41 ปี
พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) เกิด พ.ศ.2446 บวชพระ พ.ศ.2466 เรียนจบ ป.ธ.8 อายุ 43 ปี

เรื่องการศึกษาและตำแหน่งแห่งหนนั้นคิดว่าทางสังคมคงคะเนออกได้ไม่ยาก แต่สิ่งหนึ่งซึ่งแฝงอยู่ในเหตุการณ์พิพาทกันของพระมหาเถระทั้งสามรูป (สองรุมหนึ่ง) ในครั้งนั้นก็คือ เรื่องวรรณะ
วรรณะนั้นแปลว่าสี และต้องเป็นสีที่ผิวหนังด้วย โดยแยกออกเป็นผิวขาว ผิวดำ ผิวเหลือง และผิวแดง ซึ่งการจัดวรรณะในสมัยโบราณนั้นจัดกันด้วยสายตา มองเห็นหน้าตาก็รู้ปั๊ปว่า "วรรณะไหน"
สมเด็จพระวันรัตนั้น เป็นชาวกรุงเทพมหานคร หรือชาวเมืองหลวง โดยกำเนิด พระปริยัติโศภณ (ฟื้น) นั้น เป็นชาวอำเภอนครหลวง พระนครศรีอยุธยาหรือเมืองหลวงเก่า โดยกำเนิด ส่วนพระพิมลธรรม (อาจ) นั้นเป็นชาวจังหวัดขอนแก่นแดนอีสานโดยกำเนิด และดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ชาวเมืองหลวงทั้งเก่าและใหม่ (กรุงเทพ-อยุธยา) ต่างเรียกคนเหนือและอีสานว่า"ลาว" และมองหัวเมืองเหล่านั้นว่าเป็นข้าขัณฑสีมาหรือเป็นเมืองขึ้นของทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพมหานครมาแต่เดิม แม้ว่าทั้งภาคเหนือและอีสานจะรวมเข้าเป็นประเทศไทยมาเนิ่นนานแล้ว คนทุกคนในทุกภาคของไทยนั้น ตามกฎหมายให้สิทธิเท่าเทียมกัน เรียกได้ว่า "ราษฎรเต็มขั้น" ไม่มีใครสูงกว่าใคร แต่ในใจของคนไทยภาคกลางแล้ว ยังคงมองชาวเหนือและอีสานเป็นคนบ้านนอกคอกนา เรียกเป็นภาษาปากว่า "ลาว" ซึ่งให้ความหมายหลายอย่าง ทั้งเปิ่น โง่ เซ่อซ่า ไร้พัฒนา และ"เป็นขี้ข้า" ส่วนว่าตนเองนั้นเป็น "เจ้านาย" ฯลฯ
เมื่อครั้งพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) ซึ่งเป็นชาวลาวได้ดิบได้ดีเป็นถึงเจ้าคณะมณฑลอยุธยากรุงเก่า ก็ทำให้พระกรุงเก่าคือพระปริยัติโศภณ (ฟื้น) ไม่พอใจแล้ว พอย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ก็มีอำนาจวาสนาสูงกว่าพระอยุธยาในระดับ "เจ้านาย" กับ "ลูกน้อง" แถมเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีก็ได้ตำแหน่งที่ดีกว่า นั่นคือสาเหตุที่พระปริยัติโศภณคนอยุธยา "ทำใจลำบาก" สุดท้ายจึงถอนสายบัวออกจากวงการเมืองเรื่องคณะสงฆ์ไทยไปพักหนึ่ง
และทีนี้ก็มาถึงสมเด็จพระวันรัต (ปลด) ซึ่งทรงเหนือกว่าพระพิมลธรรม (อาจ) ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะด้านอายุพรรษา วิทยฐานะ หรือฐานันดรศักดิ์ เพราะเป็นถึงสมเด็จฯ ขณะที่พระพิมลธรรมนั้นเป็นเพียงชั้นรองสมเด็จฯ แต่ทว่ารองสมเด็จกลับได้ตำแหน่งที่ดีกว่าในสังฆมนตรี ไม่รู้สินะว่านี่จะเป็นเกมเสี้ยมเขาให้ชนกันของอีกนิกายหนึ่งหรือเปล่า ?
สัมพันธภาพระหว่างสมเด็จพระวันรัต (ปลด) กับพระพิมลธรรม (อาจ) กระเตื้องขึ้นในช่วงหนึ่ง ในกรณี "โค่นสังฆนายก" คือว่า ในปี พ.ศ.2494 เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งดำรงตำแหน่งสังฆนายก มรณภาพลงในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2494 สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงแต่งตั้งให้ พระศาสนโสภณ (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.9) วัดมกุฏกษัตริยาราม ขึ้นดำรงตำแหน่งสังฆนายกแทน
ทีนี้ก็มีการนำเอาลำดับการดำรงตำแหน่งสังฆนายกนับตั้งแต่มีสังฆมนตรีตาม พรบ.คณะสงฆ์ 2484 เป็นต้นมา มาดู ก็พบว่า
รูปที่ 1 ได้แก่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส (ธรรมยุต)
รูปที่ 2 ได้แก่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุต)
รูปที่ 3 ได้แก่ พระศาสนโศภณ (จวน อุฏฺฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม (ธรรมยุต)
รวม 3 สมัย ร่วม 10 ปีแล้ว ที่ตำแหน่งสังฆนายกตกอยู่แก่ฝ่ายธรรมยุตแบบผูกขาด จึงเกิดปฏิกิริยาและคำถามขึ้นกับฝ่ายมหานิกายว่า ทำไมมหานิกายไม่ได้เป็น ?
ในการผูกขาดตำแหน่งสังฆนายกของฝ่ายธรรมยุตรูปแรกและรูปที่สองนั้นยังพอทำเนา เพราะเอาสมเด็จพระราชาคณะมาเป็น พระมหานิกายก็ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ แต่ครั้นมาถึงรูปที่ 3 ซึ่งคณะธรรมยุตได้ดันพระศาสนโสภณซึ่งเป็นเพียงรองสมเด็จฯขึ้นนั่งตำแหน่งใหญ่และใหญ่กว่าสมเด็จฯ นั่นเองจึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ขาดผึง พระมหานิกายทนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เป็นไงเป็นกัน
วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2494 หลังจากพระศาสนโสภณได้รับแต่งตั้งให้เป็นสังฆนายกได้เพียง 3 วัน มีพระราชาคณะฝ่ายมหานิกายจากหลายวัดในกรุงเทพฯ จำนวนกว่า 40 รูป ได้รวมตัวกันล่าลายเซ็นเพื่อจะประท้วงคำสั่งแต่งตั้งสังฆนายกของสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรนิเวศวิหาร
คณะทั้งหมดได้รายเซ็นเกือบเป็นที่พอใจแล้ว แต่เมื่อไปถึง "พระธรรมไตรโลกาจารย์" วัดอรุณราชวราราม เพื่อขอความสนับสนุน พระธรรมไตรโลกาจารย์ก็สนับสนุนอย่างแข็งขัน แต่ได้พูดเสริมขึ้นว่า "ถ้าว่าจะให้งานครั้งนี้สัมฤทธิ์ผลแบบชงัดแล้ว ท่านทั้งหลายต้องไปเอาลายเซ็นบุคคลสำคัญมาให้ได้ก่อน" เมื่อพระสงฆ์ทั้งปวงถามนามของบุคคลสำคัญที่ว่านั้น พระธรรมไตรโลกาจารย์ก็ระบุว่า "พระพิมลธรรม วัดมหาธาตุ" เนื่องเพราะในตอนนั้น พระพิมลธรรมดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง เป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีลูกศิษย์และอิทธิพลมาก หากได้พระพิมลธรรมมาร่วมลงชื่อในบัญชีแล้ว ก็เชื่อมั่นว่าจะโค่นสังฆนายกให้ตกเก้าอี้ได้ พระราชาคณะทั้งหมดก็ข้ามฟากจากวัดอรุณมายังวัดมหาธาตุเพื่อขอลายเซ็นกันกลางดึก
พระพิมลธรรม (อาจ) เมื่อได้รับทราบวัตถุประสงค์ของการมาในครั้งนั้น ก็ได้อรรถาธิบายว่า "กระผมเห็นด้วยในหลักการ แต่จะให้กระผมเซ็นในหนังสือด้วยนั้นเห็นว่าจะไม่เหมาะ" ท่านอธิบายต่อไปว่า เพราะว่าท่านเป็นหนึ่งในคณะสังฆมนตรี จะลงชื่อขับไล่สังฆนายกนั้นเกรงจะเป็นการเสียมารยาท แต่ถ้าหากว่าเรื่องนี้นำเสนอเข้าไปในที่ประชุมสังฆมนตรี กระผมก็ยินดีจะพูดสนับสนุนในสิ่งที่ท่านทั้งหลายได้ทักท้วง
แต่พระราชาคณะทั้งปวงกลับมองเห็นว่าพระพิมลธรรมรักตัวกลัวตายและรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวมเรื่องนิกาย จึงพยายามคาดคั้นให้ท่านลงลายเซ็นให้จงได้ พระพิมลธรรมก็ยืนยันเหตุผล พระเหล่านั้นก็ใช้ประชามติว่า "ต้องลงชื่อจึงจะถือว่ารักกันจริง" ครั้นเห็นพระพิมลธรรมนิ่งเฉย ก็เกิดมีมหาบุรุษรูปหนึ่งทะลึ่งยืนขึ้น เอามือชี้หน้าพระพิมลธรรม พร้อมกับตวาดปรามาสว่า "โธ่ไอ้ลาวตาขาว"
พระพิมลธรรมได้ฟังแล้วก็ถึงกับอึ้ง เพราะเล่นกันถึงเชื้อถึงชาติ จึงค่อยๆ เอ่ยวาจาถามหาหนังสือ และเมื่ออ่านแล้วก็ขอแก้ไขสำนวน พอคณะพระเจ้าคุณเหล่านั้นทราบว่าพระพิมลธรรมยินยอมลงชื่อแล้ว ก็ดีใจที่จะได้พระผู้ใหญ่มาคุ้มครองป้องกันภัย พร้อมกันประสานเสียงว่า "ได้ครับ สุดแล้วแต่พระเดชพระคุณฯ"
ในหนังสือประท้วงตั้งสังฆนายกฉบับนั้น มีเนื้อหาสาระคัดค้านการแต่งตั้ง พระศาสนโสภณ (จวน) วัดมกุฏฯ ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมยุต ขึ้นเป็นสังฆนายก และยังได้เสนอชื่อ สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และเมื่อทางฝ่ายธรรมยุตเห็นว่าพระมหานิกายเอาจริง สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ จึงทรงส่งสัญญาณให้พระศาสนโสภณ (จวน) ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 15 มิถุนายน ศกนั้น จากนั้นจึงทรงมีพระบัญชาแต่งตั้งให้สมเด็จพระวันรัต (ปลด) วัดเบญจมบพิตร ขึ้นดำรงตำแหน่งสังฆนายกเป็นรูปแรกของฝ่ายมหานิกาย ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2494 ทั้งนี้พระศาสนโศภณมีโอกาสได้นั่งเก้าอี้ใหญ่ "สังฆนายก" เพียง "5 วัน" เท่านั้น
เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นการเล่นเกมการเมืองเรื่องคณะสงฆ์อย่างแรงที่สุดนับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484เป็นต้นมา พระพิมลธรรมได้กลายเป็นคนโปรดของสมเด็จพระวันรัต (ปลด) มาตั้งแต่นั้น แต่พระพิมลธรรมก็ได้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตของพระศาสนโสภณ (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.9) วัดมกุฏกษัตริยาราม ซึ่งภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช
วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2501 สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร สิ้นพระชนม์
วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2503 สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
กล่าวถึงช่วงเวลานับตั้งแต่ พ.ศ.2495 มาจนถึง พ.ศ.2503 นั้น พระพิมลธรรม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ผลิตผลงานพระศาสนาออกมาอย่างต่อเนื่องและยิ่งใหญ่ ได้แก่
การศึกษา ในฐานะนายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ฝ่ายมหานิกายแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในด้านวิชาการอย่างเอกอุ มีพระนิสิตดีเด่น อาทิเช่น พระกวีวรญาณ (จำนงค์ ชุตินฺธโร ป.ธ.ต พธ.บ.) พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.9 พธ.บ.) พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.9) เป็นต้น พระพิมลธรรมได้สนับสนุนส่งเสริมพระสงฆ์ไทยเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศเป็นรุ่นแรก ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย พม่า โดยเฉพาะพม่านั้นท่านได้ส่งพระมหาโชดก ญาณสิทธิ ไปศึกษาวิชากรรมฐานแบบพม่า ที่เรียกว่า สายพองหนอ-ยุบหนอ พร้อมทั้งนิมนต์พระสงฆ์วิปัสสนาจารย์ชาวพม่ามาเปิดสอนเป็นสำนักวิปัสสนาขึ้นที่วัดมหาธาตุและกระจายออกไปทั่วประเทศไทย ก่อนหน้านั้นพระไทยส่วนใหญ่จะนิยมบริกรรมคำว่า "พุทโธ" ในการภาวนา เรียกง่ายๆ ว่า สายพุทโธ
การปกครอง พระพิมลธรรมดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง มาตั้งแต่ พ.ศ.2491-2503
การเผยแผ่และสาธารณูปการ พระพิมลธรรมทำได้ดีจนเรียกว่า ดีล้ำหน้า ล้ำทั้งทางโลกและทางธรรม
มีเหตุการณ์ "เตะตัดแข้งตัดขา" กันหลายครั้ง อาทิเช่น
เมื่อคราวพม่ากระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกในคราวพระพุทธศาสนามีอายุครบ 25 พุทธศตวรรษ ตรงกับปี พ.ศ.2499 ของไทย เพราะพม่านับ พ.ศ. เร็วกว่าไทยไปปีหนึ่ง รัฐบาลพม่าได้นิมนต์พระสงฆ์ไทยเข้าร่วมประชุมด้วย คณะสังฆมนตรีส่วนใหญ่เห็นว่า พม่าคิดการณ์ใหญ่เกินตัว เพราะเพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษมาได้ไม่นาน (รับเอกราชวันที่ มกราคม พ.ศ.2491) แค่7-8 ปีก็คิดการใหญ่ระดับสังคายนาพระธรรมวินัยอันเป็นงานระดับโลกแล้ว แต่พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) กลับเห็นว่า เมื่อพม่าซึ่งเป็นเอกราชได้เชื้อเชิญมา ในฐานะที่ประเทศไทยก็เป็นเมืองพุทธ จึงควรให้เกียรติส่งตัวแทนไปร่วมตามคำเชิญ เพราะไม่เห็นเสียหายอะไร เมื่อที่ประชุมได้ทราบเช่นนั้นจึงใช้วิธี "ประชด" เมื่อพระพิมลธรรมเห็นชอบก็ให้พระพิมลธรรมนำคณะไปเอง ความจริงแล้วเรื่องมียังมีปัญหาทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองของไทยในอดีตนับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยามาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์เป็นตัวหลอกหลอน เพราะตำราประวัติศาสตร์ทุกเล่มล้วนแต่เขียนให้ "พม่าเป็นชนชาติศัตรู" พระพิมลธรรมนั้นเคยส่งพระนิสิตไปศึกษาที่ประเทศพม่า ในความหมายว่า เอาศัตรูมาเป็นครูสอน แถมยังนิมนต์พระพม่าเข้ามาเปิดสำนักวิปัสสนาแบบพม่าอีกด้วย มองผิวเผินก็เห็นเป็นว่า พระพิมลธรรมมีความคิดวิปริตจากคณะสงฆ์ไทยผู้รักชาติ (รวมทั้งอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยรบกับพม่า) ถ้าปล่อยให้พระพิมลธรรมเป็นใหญ่เป็นโตถึงระดับสมเด็จพระสังฆราชแล้ว คงมิแคล้วนำเอาพระสงฆ์ไทยไปเป็นขี้ข้าพม่าโดยสมัครใจดอกหรือ นั่นคืออุปาทานหมู่ของคณะพระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่ในเวลานั้น
ครั้งหนึ่ง พระพิมลธรรม ได้พาพระนักศึกษาที่จะเดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ (รวมทั้งพม่า) เข้ากราบคารวะขอพรจากสมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร ซึ่งก็คงมุ่งหวังจะได้รับการประสิทธิ์ประสาทพรเป็นสิริมงคลในการเดินทางสร้างขวัญและกำลังใจให้ประสบผลสำเร็จในการศึกษา แต่สมเด็จพระสังฆราชกลับตรัสให้พรว่า "ท่านพิมลธรรมเอ๋ย ท่านจะเอาดีไปถึงไหน การพระศาสนาในเมืองไทยเราดีที่สุดอยู่แล้ว" พระพิมลธรรมและพระนิสิตทุกรูปได้สดับก็ถึงกับอึ้ง


พระพิมลธรรมกับคอมมิวนิสต์

ช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยสมัยนั้นได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันคนเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ.2493 และรัฐบาลไทยก็ได้ขอความร่วมมือจากทางคณะสงฆ์ในการรณรงค์ให้คนไทยไม่เป็นคอมมิวนิสต์ และได้คิดนโยบาย "ห้ามทำการบวชให้แก่คนที่มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์" พระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่เมื่อได้รับทราบก็อนุโมทนา แต่ว่าพระพิมลธรรมกลับแสดงทีท่าว่าไม่เห็นด้วย โดยเวลานั้นพระพิมลธรรมมีตำแหน่งเป็นถึงสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง อันเทียบได้กับกระทรวงมหาดไทย หรือ มท.1 อีกด้วย
วันหนึ่ง พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น ได้เดินทางไปถึงวัดมหาธาตุ เพื่อกราบนมัสการเรียนถามพระพิมลธรรมถึงสาเหตุว่า ทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับการออกกฎคณะสงฆ์ห้ามมิให้ผู้มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์บวช
พระพิมลธรรมได้ตอบว่า มิใช่ว่าท่านไม่เห็นด้วย แต่เกรงว่าจะเกิดปัญหาในเวลาปฏิบัติ
เมื่อถูกถามว่า "ปัญหาอะไร" พระพิมลธรรมก็อธิบายว่า "เพราะเราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าใครเป็นคอมมิวนิสต์ เนื่องเพราะความเป็นคอมมิวนิสต์นั้นอยู่ที่ใจ มิได้อยู่ที่ร่างกาย จึงไม่สามารถจะสังเกตเห็นได้"
พระพิมลธรรมถามต่อไปว่า "ถ้าหากว่าทางรัฐบาลสามารถออกบัตรรับรองความบริสุทธิ์ (ว่าไม่เป็นคอมมิวนิสต์) ให้แก่ประชาชนทุกคนได้ ทางคณะสงฆ์ก็พร้อมจะออกกฎห้ามมิให้บวชให้แก่ผู้มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้โดยถือเอาการรับรองของรัฐบาลเป็นบรรทัดฐาน"
ได้ฟังดังนั้น ท่านอธิบดีกรมตำรวจก็ส่ายหน้า กราบนมัสการว่า "ทางรัฐบาลคงไม่สามารถจะออกบัตรรับรองเช่นนั้นได้" ว่าแล้ว  พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ก็ก้มกราบลา และไม่ยอมกลับมาถามอีกเลย จนบัดนี้กฎหมายคณะสงฆ์ที่ว่านี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้ออก ทั้งนี้เพราะอัจฉริยภาพของพระพิมลธรรมเพียงครั้งเดียว
นั่นคือเงื่อนงำที่จะนำมาปรักปรำพระพิมลธรรมว่า "มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์" ในโอกาสข้างหน้า

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในราชอาณาจักรไทยแบบที่เรียกว่า พลิกแผ่นดิน อีกครั้งหนึ่ง เมื่อกำลังทหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มการปกครองประเทศไทยในระบอบ "เผด็จการทหาร"

คราวหนึ่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดขอนแก่น และพระพิมลธรรมก็ไปปฏิบัติศาสนกิจในจังหวัดเดียวกัน แต่คนละสถานที่ ปรากฏว่ามีประชาชนมารอต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรีกะหรอมกะแหรม จอมพลสฤษดิ์จึงถามว่า "ทำไมคนมาน้อยล่ะ" ก็ได้รับคำตอบว่า "เขาไปต้อนรับพระพิมลธรรมวัดมหาธาตุ"


สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ร่วมมือกับธรรมยุต กำจัดพระพิมลธรรม

ขอลำดับเหตุการณ์อีกนิดหนึ่งว่า
พ.ศ.2499 พระศาสนโศภณ (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.9) วัดมกุฏกษัตริยาราม ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์
วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2503 สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตตโสภโณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร
ก็ตามที่เห็นมาโดยตลอดว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์นั้นเป็น "คู่แข่งบารมี" ของสมเด็จพระวันรัตหรือสมเด็จพระพระสังฆราช (ปลด) ในตำแหน่งสังฆนายก แต่ถูกพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายนำโดย "พระพิมลธรรม-วัดมหาธาตุ" ต่อต้าน จึงยอมสละตำแหน่งโดยไม่เต็มใจ ปล่อยให้สมเด็จพระวันรัตขึ้นครองอำนาจแทน แต่พอสมเด็จพระวันรัต (ปลด) ได้เป็นพระสังฆราชแล้ว กลับปรากฏชื่อของ "สมเด็จพระมหาวีรวงศ์-จวน อุฏฺฐายี" เข้ามาดำรงตำแหน่งสังฆนายกอย่างผิดความคาดหมาย การแต่งตั้งครั้งนี้กระทำกันในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2503 ภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชของสมเด็จพระวันรัต (ปลด) เพียง 7 วันเท่านั้น
แถมด้วยในอีก 2 วันถัดมา คือวันที่ 12 พฤษภาคม 2503 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) องค์สังฆนายก ได้ลงนามแต่งตั้งคณะสังฆมนตรีชุดใหม่ จำนวน รูปด้วยกัน แต่กลับไม่ปรากฏชื่อของ "พระพิมลธรรม" อยู่ในจำนวนนั้นด้วย
ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ?
คำถามนี้ดังสนั่นวงการสงฆ์ไทยในสมัยนั้น จนกระทั่งคณะสังฆมนตรีเองยังทนฟังไม่ไหว ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงอย่างยืดยาว ในทำนองว่า สังมนตรีแต่ละรูปแต่ละชุดนั้นมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปีเท่านั้น เมื่อครบสี่ปีหรือมีเหตุให้สิ้นสุดก็ย่อมจะมีการแต่งตั้งคณะสังฆมนตรีชุดใหม่ จะตั้งเป็นคณะหรือรายบุคคลก็ตามแต่สถานการณ์ และที่สำคัญก็คือว่า ไม่มีข้อกำหนดใดๆ ที่ให้แต่งตั้งสังฆมนตรีองค์เก่าซ้ำๆ อาจจะซ้ำก็ได้ ไม่ซ้ำก็ได้ (เหมือนพระธรรมกิตติวงศ์อธิบายธุดงค์ธรรมชัยว่า ไม่ต้องไปเดินในป่า เดินในป่าคอนกรีตกลางกรุงเทพฯ ก็ชื่อว่าธุดงค์เหมือนกัน) มันแล้วแต่เหตุปัจจัยให้เป็นไป ฯลฯ
คำชี้แจงนี้ดูทีเป็นหลักการน่าเลื่อมใส แต่ในความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ว่า เหมือนการอ้างหลักการเพื่อกระทำการอย่างแนบเนียน เพราะใครๆ ก็รู้ว่า พระมหาเถระในฝ่ายมหานิกายผู้มีทั้งอำนาจวาสนาบารมีและมีผลงานดีเด่นกว่าใครในยุคนั้นมีเพียงหนึ่งเดียว ก็คือ พระพิมลธรรม (อาจ) วัดมหาธาตุ การที่ไม่มีชื่อพระพิมลธรรมติดโผสังฆมนตรีชุดใหม่นี้ ก็เพราะว่ามี "สมเด็จพระมหาวีรวงศ์-จวน อุฏฺฐายี" อดีตสังฆนายกที่พระพิมลธรรมเคยขับไล่เข้ามาดำรงตำแหน่งสังฆนายกอีกรอบหนึ่งใช่หรือไม่ ?
ที่น่าแปลกใจก็คือว่า ขณะนั้นสมเด็จพระวันรัต (ปลด) ที่เคยได้รับการช่วยเหลือจากพระพิมลธรรม (อาจ) ได้เป็นสังฆราชแล้ว แล้วทำไมไม่ช่วยให้พระพิมลธรรมได้เป็นสังมนตรี อย่างน้อยก็ในตำแหน่ง "ว่าการองค์การปกครอง" ที่พระพิมลธรรมดำรงตำแหน่งมาก่อน
เรื่องก็เลยกลายเป็นว่า สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) กลับมาจูบปากกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน) และหันหลังให้แก่พระพิมลธรรม (อาจ)
คำถามจึงมีต่อไปว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ?
อ่านประวัติศาสตร์ด้านหนึ่ง อาจจะเข้าใจแต่เพียงว่า "สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ทรงทรยศพระพิมลธรรม ที่เคยช่วยเหลือจนได้ดีมาก่อน" แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็อาจจะเกิดคำถามได้ว่า พระพิมลธรรมไปทำอะไรไว้ เป็นเหตุให้สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ถึงกับเคียดแค้นชิงชังและทำร้ายทำลายกันแบบให้ตายไปข้างหนึ่ง ?
เรื่องนี้ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็เห็นจะเป็นเรื่อง "ทิฐิพระ มานะกษัตริย์" เท่านั้น ใครไม่เคยเห็นความเลวร้ายของ "ทิฐิพระ"ก็ขอให้ดูเรื่องนี้ไว้เป็นตัวอย่าง
จุด (เสีย) จุดหนึ่งของพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ที่พระสงฆ์ในยุคเดียวกันกล่าวถึงก็คือ "ท่านเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง และชอบใช้อำนาจแบบเด็ดขาด หากพบเห็นสิ่งใดไม่ถูกต้องแล้ว เป็นต้องแสดงออกทันที"สมัยพระพิมลธรรมดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองนั้น ว่ากันว่าเวลาไปไหน ท่านจะมีสามเณรเดินตามไปด้วย 2องค์ องค์หนึ่งคอยถือย่าม อีกองค์หนึ่งคอยถือร่มกับรองเท้า ทั้งพระสังฆาธิการและข้าราชการ หากพบว่าทำไม่ถูกต้องแล้ว ก็จะถูกพระพิมลธรรมตำหนิต่อหน้าธารกำนัน ซึ่งก็เคยมีคนไปพูดเข้าหูพระพิมลธรรมเช่นกัน ท่านก็กล่าวว่า "อ้าว ตำหนิคนมันก็ต้องตำหนิต่อหน้าสิ ตำหนิลับหลังแล้วมันจะรู้ตัวหรือ ตำหนิลับหลังนั้นเขาเรียกว่านินทา ข้าไม่ใช่คนเช่นนั้น"
นี่คือคาแร๊กเตอร์ของพระพิมลธรรม ซึ่งผู้เขียน (พระมหานรินทร์ นรินฺโท) เคยเรียนถาม พระเทพกิตติโสภณ (สมบูรณ์ สมฺปุณฺโณ ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดวชิรธรรมปทีป นิวยอร์ค ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระมหาเถระสองรูปนั้น โดยที่สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระพิมลธรรม (อาจ) เป็นพระอาจารย์ เพราะพระเทพกิตติโสภณนั้นเป็นพระวัดเบญจมบพิตร แต่มาเรียนหนังสือที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ จนจบพุทธศาสตร์บัณฑิต (พธ.บ.) และต่อมาก็ได้เป็นผู้บริหารมหาจุฬาฯอีกด้วย ว่า "สาเหตุอันใดที่ทำให้สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) กับพระพิมลธรรม (อาจ) ต้องบาดหมางกัน"
พระเทพกิตติโสภณได้ให้ความเห็นว่า "ก็อุปัชฌาย์ของผม (สมเด็จพระสังฆราชปลด) ท่านเป็นคนหูเบา ใครเข้าหาก่อนท่านก็เชื่อคนนั้น ส่วนหลวงพ่อใหญ่ (พิมลธรรม-วัดมหาธาตุ) ท่านก็เป็นคนแข็ง ไม่ยอมเข้าหาสมเด็จพระสังฆราช ก็เลยหมางเมินกัน" ก็แสดงว่า ในสังคมสงฆ์ไทยเรานี้มีพวกปากหอยปากปู ชอบประจบสอพลอ จนทำให้พระผู้ใหญ่หวาดระแวงกัน
นั่นก็คือเรื่องราวจากปากของ "ศิษย์สองสำนัก" พระเทพกิตติโสภณ
ยังมีศิษย์สองสำนักอีกหลายรูปที่ไม่ยอมพูดเรื่องนี้ เช่น พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.9) ซึ่งสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ในขณะเป็นสามเณร จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯพระราชทานอุปถัมภ์การอุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนการศึกษานั้น พระพรหมคุณาภรณ์เรียน มจร. วัดมหาธาตุ และได้เป็นผู้บริหาร มจร. อย่างยาวนานเช่นกัน ถึงถามท่านๆ ก็คงไม่ตอบ เพราะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์
ทีนี้ เมื่อพระพิมลธรรมไม่ยอมไปพินอบพิเทาสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ที่วัดเบญจมบพิตร ก็เลยทำให้สัมพันธภาพระหว่างวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ (วัดแม่) กับวัดเบญจมพิตร (วัดลูก) ห่างเหินเหมือนมิใช่คนกันเองไปเสียแล้ว ถ้าเป็นคนละคณะนิกายก็คงไม่แปลกใจอันใด แต่นี่เป็นพี่น้องท้องเดียวกินข้าวหม้อเดียวกันมาแท้ๆ
โผคณะสังฆมนตรีชุดวันที่ 12 พฤษภาคม 2503 ยังมิได้มีทีเด็ดเพียงเท่านั้น คือว่านอกจากชื่อของพระพิมลธรรมจะหลุดหายไปอย่างไร้ร่องรอยแล้ว ก็ยังปรากฏชื่อของ "พระธรรมคุณาภรณ์" หรืออดีตพระปริยัติโศภณ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เข้ามาดำรงตำแหน่ง "สังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา" อีกรูปหนึ่งด้วย
โดยทั้งนี้ย่อมจะมองเห็นว่า สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร ทรงเลือกเอาพระธรรมคุณาภรณ์เข้ามาเป็นพรรคพวกแทนพระพิมลธรรม เพราะพระธรรมคุณาภรณ์นั้นสะบั้นสัมพันธ์กับพระพิมลธรรมอย่างชนิดที่เรียกว่า "ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ" มาแล้ว ดังกรณีมีชื่อพระพิมลธรรมเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง และพระปริยัติโศภณเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา พระปริยัติโศภณก็แสดงปฏิกิริยาไม่ยอมรับ โดยประกาศลาออกทันที ทั้งที่ยังมิได้เห็นตราตั้งด้วยซ้ำ
อีกทางหนึ่งนั้นก็ย่อมมองเห็นว่า ฝ่ายธรรมยุต (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์) คงจะรู้ถึงสัมพันธภาพระหว่างพระพิมลธรรมกับพระธรรมคุณาภรณ์ (ฟื้น) มาก่อนแล้ว จึงเมื่อคิดจะกดพระพิมลธรรมให้ต้อยต่ำลงไป ก็จึงดึงพระธรรมคุณาภรณ์ซึ่งเป็นปรปักษ์เข้ามาเป็นแทน
ความหมายง่ายๆ ก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากว่า บัดนี้ พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ ป.ธ.8) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีศัตรูอยู่รอบข้าง ทั้งจากคณะธรรมยุติกนิกายและในมหานิกายด้วยกันเอง เป็นเรื่องที่ต้องทำใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น
อย่าลืมด้วยว่า พระพิมลธรรมนั้นบุกเบิกงานคณะสงฆ์ไว้มาก มีกลไกกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ทั้งลูกน้องและลูกศิษย์ลูกหาก็มากมาย การที่ไม่มีชื่อของพระพิมลธรรมร่วมในคณะสังฆมนตรีชุดนี้นั้น นอกจากงานของพระพิมลธรรมจะสะดุดแล้ว บรรดาสรรพกำลังทั้งหมดของพระพิมลธรรมยังอาจจะแปรสภาพมาเป็นหอกทิ่มแทงใครก็ได้ที่ขัดขวางกิจการงานของสำนักวัดมหาธาตุฯ งานนี้จึงเหมือนชะตาฟ้าลิขิตให้เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นในแผ่นดินสยามยุคประชาธิปไตยบานเต็มใบ


ตั้งข้อหา "ปาราชิก" พระพิมลธรรม

30 สิงหาคม พ.ศ.2503 มีบุคคลสำคัญทางคณะสงฆ์ 3 รูป คือ
1. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.9) วัดมกุฏกษัตริยาราม ตำแหน่งสังฆนายก
2. พระธรรมรัตนากร (ทรัพย์ โฆสโก) วัดสังเวชวิศยาราม สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
3. พระธรรมคุณาภรณ์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) วัดสามพระยา สังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา
ทั้งสามท่านได้ไปประชุมร่วมกับตำรวจสันติบาล มี พ.ต.อ.ประสาธน์ สุวรรณสมบูรณ์ พ.ต.อ.เอื้อ เอมะปาน ร.ต.อ.สุพันธุ์ แรมวัลย์ เป็นต้น วาระการประชุมสำคัญก็คือ พลตำรวจเชาวลิต วงศ์เกตุกร และนายวีรยุทธ์ วัฒนานุสรณ์ ได้ร่วมกันเป็นโจทย์กล่าวหาว่า ถูกพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อดีตสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง กระทำชำเราทางเว็จมรรค (ทวารหนัก)
ดังที่ทราบว่า ตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 นั้น นอกจากจะกำหนดให้มีคณะสังฆมนตรีไว้คอยบริหารกิจการคณะสงฆ์ ผ่านองค์การสำคัญคือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ แล้ว ก็ยังกำหนดให้มี "คณะพระวินัยธร" เป็นศาลยุติธรรมสำหรับพระสงฆ์ เพื่อวินิจฉัยตัดสินคดีความต่างๆ ในทางพระศาสนาอีกด้วย
ดังนั้น ตามกระบวนการที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์แล้ว เมื่อเกิดการฟ้องร้องว่าพระพิมลธรรมกระทำชำเราเข้าข่ายปาราชิกขึ้นมา ไม่ว่าใครฟ้องหรือใครรับฟ้อง ก็ต้องส่งสำนวนฟ้องนั้นไปยังคณะพระวินัยธร เพื่อวินิจฉัยรับเรื่องและสอบสวนกระบวนความไปจนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม
แต่เรื่องของพระพิมลธรรมครั้งนี้กลับไม่มีการดำเนินการเช่นนั้น ครั้นประชุมเสร็จแล้ว สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) สังฆนายก ก็ได้ทำรายงานด่วนถึงสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดเบญจมบพิตร โดยระบุไว้ในวรรคสองของหนังสือฉบับนั้นว่า
"คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์เห็นว่า พระพิมลธรรมต้องศีลวิบัติ ขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้ว ไม่สมควรทรงเพศบรรพชิตในพระพุทธศาสนา และไม่ควรดำรงสมณศักดิ์ต่อไป จึงขอประทานเสนอใต้ฝ่าพระบาท เพื่อทรงจัดการในชั้นปกครอง"
หมายถึงว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พระธรรมรัตนากร และพระธรรมคุณาภรณ์ ซึ่งล้วนแต่มีตำแหน่งเป็นคณะสงฆ์มนตรี มีอำนาจเพียงบริหารกิจการคณะสงฆ์เท่านั้น มิได้มีอำนาจในทางศาลสงฆ์เลย แต่ทั้งสามรูปได้แอบอ้างว่าเป็น "คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์" แล้ววินิจฉัยให้ "พระพิมลธรรมขาดจากความเป็นพระสงฆ์" ทันทีที่ได้รับการโจทย์ฟ้อง แถมยังทำหนังสือแนะนำสมเด็จพระสังฆราชให้ใช้อำนาจของพระสังฆราชจัดการกับพระพิมลธรรมโดยมิต้องผ่านคณะพระวินัยธรอันเป็นศาลยุติธรรมของคณะสงฆ์อีกด้วย
ครั้นอ่านหนังสือจากสังฆนายกจบแล้ว สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ผู้เป็นอัจฉริยบุคคลในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็แสดงแสนยานุภาพแห่งความเป็นสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก โดยทรงมีพระบัญชาอันประกอบด้วยพระเมตตากรุณาธิคุณไปถึงพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ว่า "ขอให้ท่านพิจารณาตนด้วยตน ขอให้ท่านออกเสียจากสมณเพศ และหลบหายตัวไปเสียจะเป็นการดีกว่าที่จะปรากฏโดยประการอื่นๆ เพื่อรักษาตัวท่านเอง และเพื่อเห็นแก่วัดแก่พระศาสนา และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ ภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ปรากฏในลิขิตนี้"
วันที่ทรงลงพระลิขิตก็คือ 8 กันยายน พ.ศ.2503
วันที่ทรง "ขีดเส้นตาย" ให้สึกและหายตัวไปจากวัดมหาธาตุนั้น ก็คือวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2503
เป็น 15 วันแห่งการต่อสู้ทางด้านกฎหมายคณะสงฆ์ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยในรอบ 2,500 ปี
พระพิมลธรรมได้รับพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชแล้วก็คงหัวเราะในใจว่า "หึหึ ขอกันง่ายจังนะ ขอให้สึกและอันตรธานไปจากวงการสงฆ์ ทำยังกะเรามีฤทธิ์หายตัวได้" และบัดนั้น อัจฉริยภาพทางการศึกษาและการปกครองของพระพิมลธรรมก็ฉายแวว ท่านได้ทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) มีทั้งคำหวานและคำเปรี้ยว คำหวานก็คือ "รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างสูง ที่ได้แนะนำด้วยพระเมตตา" ส่วนคำเปรี้ยวนั้นก็คือว่า "ถ้าหากว่ายินยอมปฏิบัติตามที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแนะนำ (ให้สึกและให้หายตัวไป) เกล้ากระหม่อมกลับเห็นว่าไม่เป็นผลดีต่อพระศาสนาโดยส่วนรวมและโดยส่วนตัวแต่อย่างใด" สรุปได้แต่เพียงว่า พระพิมลธรรมสู้ !
อา..เขาหาทางออกให้ไปซะดีๆ แต่ไม่ยอมไป แบบนี้ก็มีปัญหาละสิ
แต่ก็อย่าลืมด้วยว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 นั้น กำหนดสถานภาพของสมเด็จพระสังฆราชไว้เสมือนพระมหากษัตริย์ไทย คือไม่ให้บริหารคณะสงฆ์โดยตรง แต่ให้บริหารผ่านอำนาจทั้งสามฝ่าย คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการเท่านั้น

ในหนังสือของพระพิมลธรรมนั้น ยังกล่าวถึงใบปลิวโจมตีตัวท่านและข้อกล่าวหาหนาหูว่า "พระพิมลธรรมเป็นคอมมิวนิสต์"อีกด้วย แต่จะมาจากใครก็ไม่รู้ล่ะ เพราะไม่มีใบปลิวใบไหนในโลกที่ลงชื่อผู้ทำอย่างเป็นทางการ
พอทำหนังสือ "ขอความเป็นธรรม" ถึงสมเด็จพระสังฆราชแล้ว พระพิมลธรรมก็ทำหนังสือ "ขอความอุปถัมภ์ให้มีโอกาสได้ปฏิบัติศาสนกิจ" ไปยัง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี จากนั้นก็นำเอาหนังสือนั้นไปแจ้งแก่ที่ประชุมสงฆ์วัดมหาธาตุให้ได้รับทราบ คณะสงฆ์วัดมหาธาตุเมื่อรับทราบแล้วก็ไม่เชื่อว่าพระพิมลธรรมมีพฤติกรรมเสียหายร้ายแรงดังกล่าว กลับมองเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันมากกว่า จึงได้ร่วมกันลงชื่อในบัญชีหางว่างกราบเรียนสมเด็จพระสังฆราชอีกฉบับหนึ่ง ยืนยันในความบริสุทธิ์ของพระพิมลธรรม
เมื่อคณะสงฆ์วัดมหาธาตุผนึกกำลังกันเป็นหนึ่งเดียวเช่นนั้น ทางฝ่ายสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) จึงเปลี่ยนแนวใหม่ สั่งการให้พระธรรมรัตนากร (ทรัพย์ โฆสโก) วัดสังเวชวิศยาราม สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ให้เดินเกมต่อ พระธรรมรัตนากรจึงทำหนังสือ "สั่ง" ให้พระพิมลธรรมทำคำแถลงแก้ข้อกล่าวหา "ภายใน 5 วัน" นับจากวันที่ 20-25 ตุลาคม พ.ศ.2503
พระพิมลธรรมได้รับหนังสือจากสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองอันเป็นตำแหน่งที่ตนเองเคยนั่งมานานนั้นแล้ว เห็นว่าเวลา 5วันนั้นน้อยไป เกรงจะแก้ข้อกล่าวหาได้ไม่สมบูรณ์ จึงทำหนังสือ "อุทธรณ์" ขอเลื่อนเวลาออกไปเป็นวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2503" รวมเวลาที่ขอไป 20 วัน
พระธรรมรัตนากรได้รับคำร้องแล้วก็อนุญาตให้เลื่อนเส้นตายออกไปได้ โดยได้มีหนังสือแจ้งให้พระพิมลธรรมรับทราบในวันที่25 ตุลาคม พ.ศ.2503
หนังสือของพระธรรมรัตนากรส่งมาถึงมือพระพิมลธรรมได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมง ก็มีหนังสืออีกฉบับหนึ่ง ส่งตรงมาจากสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดเบญจมบพิตร มีข้อความว่า

พระบัญชา

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงอาศัยอำนาจตามมาตรา 46 แห่งสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พุทธศักราช2486 มีพระบัญชาให้พระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ พระอารามหลวง จังหวัดพระนคร ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ เหตุประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2503 เป็นต้นไป
ผู้รับสนองพระบัญชา
พระธรรมรัตนากร
สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
25 ตุลาคม 2503

พระพิมลธรรมได้รับพระบัญชาให้ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุเช่นนั้นก็ทราบทันทีว่า "นี่คือกลวิธีตัดกำลัง" มิให้พระพิมลธรรมมีอำนาจในการบังคับบัญชาพระสงฆ์วัดมหาธาตุในฐานะเจ้าอาวาสอีกต่อไป คือให้มีฐานะเป็นเพียงพระลูกวัดเท่านั้น แต่ที่ยังทำไม่ได้ก็คือ "การถอดยศ" เพราะยศนั้นเป็นของพระราชทาน โดยเฉพาะพระพิมลธรรมนั้นเป็นยศศักดิ์ชั้นหิรัณยบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อต้องมีรัฐบาลนำความขึ้นกราบบังคมทูลแล้วจึงค่อยมีพระบรมราชโองการถอดยศเป็นลำดับ แต่แหม มวยระดับนี้แล้ว เป็นถึงเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ นายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผ่านงานระดับประเทศและต่างประเทศมามากมาย จะมาตายน้ำตื้นแค่คำสั่งพระสังฆราชเพียงฉบับเดียวนะหรือ ถ้าพระพิมลธรรมยอมจำนนก็แสดงว่าไร้ราคาจริงๆ พระพิมลธรรมจึงทำหนังสือถึงพระธรรมรัตนากร สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองว่า "ขอให้ใช้กระบวนการพิจารณาคดีตามสังฆาณัติ ว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์เท่านั้น จึงจะยอมรับคำวินิจฉัย" หมายถึงว่าพระพิมลธรรมไม่ยอมรับคำสั่งใดๆ ที่มิได้มาตามกระบวนการยุติธรรม
แต่พระพิมลธรรมหารู้ไม่ว่า การแสดงท่าทีไม่ยอมรับคำสั่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ถ้าหากจะมองว่าเป็นการต่อสู้ในแง่มุมกฎหมายที่แหลมคมระดับพญาอินทรีย์ที่ควรศึกษา แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำสั่งสมเด็จพระสังฆราชฉบับต้นนี้เป็นเพียงแผนลวงให้พระพิมลธรรมถลำตัวเองเข้าไปหาเหยื่อใหญ่อีกชิ้นหนึ่ง นั่นคือการ "ขัดพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช"
พระพิมลธรรมทำหนังสือโต้พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชไปในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2503 แล้วก็นอนรอฟังข่าวว่าทางฝ่ายโน้นจะทำอย่างไรต่อไป เหมือนตีลูกข้ามฟากไปแล้ว ก็ต้องรอการตอบโต้จากอีกฝ่าย ซึ่งเรื่องก็เงียบหายไปหลายวันจริง แต่แล้วในวันที่ 11 เดือนต่อมา ปัญหากลับบานปลายกลายเป็นเรื่องร้ายแรงเพิ่มขึ้น เมื่อมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาดังนี้

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ถอดพระสมณศักดิ์

     ด้วยพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชซึ่งคณะสังฆมนตรีได้พิจารณาแล้วมีมติว่า ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในสมณศักดิ์
     จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ถอด พระพิมลธรรม ออกเสียจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2503
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการจอมพล. ส.ธนะรัชต์นายกรัฐมนตรี

นั่นแหละที่ผู้เขียนว่า พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชที่ให้พระพิมลธรรมออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุนั้นเป็นเพียงเหยื่อล่อ เพราะเมื่อพระพิมลธรรมกระโดดเข้าหาเหยื่อชิ้นนั้น ตัวแร้วจริงๆ ก็คือพระบรมราชโองการถอดยศจึงถูกโยนออกมามัดเหยื่อให้สิ้นสุดสมณศักดิ์ หรือพูดง่ายๆ ว่า มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการปลดจากตำแหน่งและถอดยศพระพิมลธรรมมาตั้งแต่ต้น ผลก็คือ พระพิมลธรรมตั้งตัวไม่ติด แม้จะมีการออกอาวุธป้องกันตัวได้บ้าง แต่ก็เพียงประคองตัวก่อนโดนน็อกเท่านั้น เพราะฝ่ายตรงข้ามเล่นแรงและเร็วจนรับไม่ทันดังกล่าว
ถ้ามองสถานการณ์ตรงนี้จะเห็นผู้เกี่ยวข้องกับการรุมสกรัมพระพิมลธรรมเพียง 1.วัดเบญจมบพิตร (มหานิกาย) 2.วัดสังเวชวิศยาราม (มหานิกาย) 3.สำนักนายกรัฐมนตรี
ทีนี้ก็จะถามว่า แล้วสำนักสังฆนายกของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) ซึ่งมีส่วนร่วมวางแผนแต่เริ่มต้นนั้นหายไปไหน ? หรือนี่จะเป็นวิชานินจาที่ว่า เมื่อเสี้ยมให้ทางมหานิกายชนกันจนมั่นใจแล้ว ก็หลบฉาก เหมือนกับว่าตนเองไม่รู้ไม่เห็น แต่ประวัติศาสตร์นั้น "ลบไม่ได้" เพียงแค่ทบทวนความจำนิดหน่อย ความจริงก็ปรากฏแล้ว

13


จับพระอาจถอดผ้าเหลือง

พระพิมลธรรมคงคิดว่าเคราะห์หามยามร้ายคงจะหยุดอยู่เพียงเท่านั้น คือคิดว่าเมื่อถูกปลดจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุลงเป็นเพียง "พระลูกวัด" และถอดยศจากพระพิมลธรรมเป็นเพียง "พระอาจ อาสโภ" ทางฝ่ายตรงข้ามคงจะพอใจไม่เล่นต่อแล้ว แต่ที่ไหนได้ ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2505 เวลา 12.30 น. คณะนายตำรวจมี พ.ต.อ.เอื้อ เอมะปาน เป็นหัวหน้าได้เดินทางไปยังกุฏิหอปริยัติวัดมหาธาตุ แจ้งข้อหาแก่อดีตพระพิมลธรรม-อาจ ว่า "มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร"
พอ พระอาจ อาสโภ เดินทางไปถึงสันติบาลได้ไม่นาน ก็ปรากฏร่างของ พระธรรมคุณาภรณ์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) วัดสามพระยา ตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษาและเจ้าคณะจังหวัดพระนคร พร้อมด้วย พระธรรมมหาวีรานุวัตร (ไสว ฐิตวีโร ป.ธ.7) วัดไตรมิตรวิทยาราม ก็เดินทางมาถึง พร้อมกับคำสั่งจากสังฆนายก คือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ซึ่งการผ่านพระธรรมรัตนากรสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ว่าด้วยการจัดการ "สึกพระอาจ อาสโภ" เนื่องเพราะเป็นผู้ต้องหาคดีฉกรรจ์และถูกจับกุมคุมขัง จึงไม่สามารถจะดำเนินคดีได้ในผ้าเหลือง ต้องเปลื้องจีวรออกสถานเดียว

คำสั่งสึกพระพิมลธรรม
เรียน สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้จับ พระอาจ อาสโภ ในข้อหาร้ายแรง ดังที่ปรากฏข้างบนนี้ ทางการต้องการให้จัดการสึก เพื่อสะดวกแก่การสอบสวนดำเนินคดี จึงขอมอบอำนาจให้เจ้าคุณ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง จัดการให้ พระอาจ อาสโภ ให้สละสมณเพศบรรพชิตในค่ำวันนี้ เพื่อรักษาความปลอดภัยแห่งชาติและพระพุทธศาสนาไว้
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
สังฆนายก
20 เมษายน 2505


อา..เล่นกันมันหยดเลยนะพระสงฆ์ไทยสมัย 25 พุทธศตวรรษนี่ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังงานเฉลิมฉลองพุทธศตวรรษไปแบบที่เรียกว่า "ยังเก็บข้าวของไม่เสร็จ" ด้วยซ้ำ เราสร้างพุทธมณฑลขึ้นมาเพื่อว่าจะให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา พร้อมๆ กับความมุ่งหวังว่าคณะสงฆ์ไทยจะเป็นเอกภาพและนำพาพระพุทธศาสนาไปสู่ความเป็นศาสนาแนวหน้าของโลก แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เพราะพระสงฆ์ไทยนับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา ยังคงมองเห็นตัวเองสำคัญกว่าเรื่องพระพุทธศาสนา จึงพากันเข้าสู่สงครามอย่างมิลืมหูลืมตา
ท่านเล่าเหตุการณ์ตอนสึกพระอาจไว้ว่า เมื่อทราบว่าพระอาจ อาสโภ ไม่ยินยอมลาสิกขาด้วยตัวเองเป็นการแน่นอนเช่นนั้นแล้ว พระธรรมคุณาภรณ์และพระธรรมมหาวีรานุวัตร ก็ใช้กำลังเข้าดำเนินการในทันที ทั้งนี้พระธรรมคุณาภรณ์เป็นผู้เริ่มต้นเปลื้องผ้าสังฆาฏิออกจากร่างของพระอาจ ซึ่งนั่งนิ่งหลับตาบริกรรมคาถาอยู่ โดยพระธรรมคุณาภรณ์ถึงกับยกมือไหว้พระอาจ อาสโภ (อดีตพระพิมลธรรมเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์และนายกสภามหาวิทยาลัย มจร. ซึ่งเป็นเจ้านายเก่า) พูดเบาๆ ว่า "ผมขอผ้าเหลืองก็แล้วกัน" จากนั้นพระธรรมหาวีรานุวัตร ก็เดินเข้ามากราบที่ตักของพระอาจ (ตอนที่พระพิมลธรรมหรือพระธรรมไตรโลกาจารย์ย้ายมาจากวัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา เพื่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุนั้น พระธรรมมหาวีรานุวัตร (ไสว ฐิตวีโร) เป็นหัวหน้านิสิต มจร. ได้นำคณะนิสิตไปรอต้อนรับที่ท่าพระจันทร์ด้วย) เมื่อกราบเสร็จก็ช่วยพระธรรมคุณาภรณ์เปลื้องผ้าเหลืองออกจากร่างของอดีตพระพิมลธรรมจนหมด ก็เป็นอันเสร็จพิธี เพราะเมื่อผ้าเหลืองหลุดแล้ว เจ้าหน้าที่สันติบาลก็รับไม้ต่อ ดำเนินการนำเอากางเกงและเสื้อมาสวมให้
พระพิมลธรรมได้ลดสถานะลงอย่างตกต่ำที่สุดแล้ว จากรองสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯซึ่งเป็นวัดที่อดีตสมเด็จพระสังฆราชในต้นรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์เคยสถิต อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยสงฆ์อันดับหนึ่งของประเทศไทย อดีตสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ต้องถูกถอดยศ ปลดจากตำแหน่ง หนำซ้ำยังจับกุมคุมขัง สั่งให้ถอดผ้าเหลือง กลายเป็นนักโทษไปในทันที ชีวิตของไอ้ฟักในนวนิยายเรื่อง "คำพิพากษา" ของชาติ กอบจิตติ ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ.2525นั้น อ่านดูว่าน่าเศร้าน่าอดสูใจในชะตากรรมยิ่งแล้ว แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตจริงของพระพิมลธรรมแล้ว ต้องนับว่าห่างไกลกันราวฟ้ากับดิน ถ้าเป็นหนังชีวิตก็คงจะอยู่ในระดับ "น้ำเน่าเรียกพี่" เลยทีเดียว

อา..ความต้องการพิสูจน์ตัวเองผ่านกระบวนการยุติธรรมของพระพิมลธรรมนั้นสำเร็จสมประสงค์แล้ว เพียงแต่เป็นคนละกระบวนการเท่านั้น เพราะพระพิมลธรรมต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในทางสงฆ์ซึ่งเป็นองค์กรที่มีศีลธรรมคุณธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบรรทัดฐานอันสูงส่ง แต่กระบวนการที่ได้รับมานั้นกลับกลายเป็น "กระบวนการทางกฎหมายของบ้านเมือง" แทน


14


สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) สิ้นพระชนม์กะทันหัน

พระพิมลธรรมกลายเป็นเพียง "พระอาจ" นั่งสมาธิยุบหนอ พองหนอ อยู่ในคุกได้เพียงเดือนเศษ ครั้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีขาล จุลศักราช  ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 17 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2505 ก็เกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าสังฆมณฑลไทยขึ้น เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ได้ถึงแก่สิ้นพระชนม์กะทันหัน หลังจากเสด็จไปเสวยเพลที่ทำเนียบรัฐบาล
ตอนนั้นยังไม่มีใครปักใจเชื่อว่า นี่จะเป็นผลกรรมที่ทำกับพระพิมลธรรมเอาไว้ ? เพราะมิใช่อุบัติเหตุ
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 15 ตกอยู่แก่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย ป.ธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และเป็นช่วงที่กระบวนการทางศาลกำลังทำการสอบสวนคดีอดีตพระพิมลธรรมอยู่


15


ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484
สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาใช้แทน

ก็เป็นเรื่องไม่เกินความคาดหวัง เพราะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 นั้น มาจากคณะราษฎรอันเป็นฝ่ายประชาธิปไตย พอจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มสร้างเผด็จการทหารขึ้นมาแทน ก็ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ทั้งนี้ระบบของจอมพลผ้าขาวม้าแดงนั้นอยู่ภายใต้ประโยคว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"
เมืองไทยสมัยสฤษดิ์ครองเมืองนั้น สงบเรียบร้อย ไพร่ฟ้าประชาชนสงบเสงี่ยมพอๆ กับเด็กอนุบาล เพราะมีการกำราบปราบปรามบรรดาผู้มีอิทธิพล ไม่ว่าจะในผ้าเหลืองหรือว่าผ้าลาย ผ้าลายก็ได้แก่เจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ส่วนผ้าเหลืองก็คือบรรดาผีบุญต่างๆ ที่อ้างว่าเคยเป็นกษัตริย์กลับชาติมาเกิดบ้าง มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์บ้าง ต่างถูกสฤษดิ์กำจัดเรียบ สตรีไทยสมัยนั้นเดินทางไปไหนไม่ต้องกลัวโดนแต๊ะอั๋ง เพราะเคยมีคดีข่มขืนฆ่า เจ้าหน้าที่จับตัวคนร้ายได้ สฤษดิ์ก็สั่งเชือดไก่ให้ลิงดูโดยการ "สั่งยิงเป้าต่อหน้าธารกำนัน" โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นที่ถูกอกถูกใจคนไทยเรามาก เพราะหลังจากนั้นก็ไม่มีใครกล้าทำอะไรสุภาพสตรีอีกเลย ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ถึงทุกวันนี้ ผู้ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้นก็ยังคงหวลหาอาลัยในระบบของสฤษดิ์
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2505 อันเป็นวันเดียวกันกับการอวสานของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่นี้ ไม่มีสังฆนายก ไม่มีสังฆมนตรี ไม่มีสังฆสภา และไม่มีคณะพระวินัยธร แบบว่ายุบทิ้งให้หมด แล้วให้ตั้งผู้บริหารกิจการคณะสงฆ์ไทยขึ้นมาใหม่ในชื่อว่า "มหาเถรสมาคม" แบ่งโควต้าระหว่างธรรมยุตกับมหานิกายคนละครึ่ง เป็นรัฐบาลสองพรรค รวบอำนาจการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ทั้งด้านการบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

ธรรมยุตครองวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ก็ดังที่กล่าวแล้วว่า วัดพระศรีมหาธาตุฯบางเขนนั้น สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่รวมนิกายสงฆ์ เมื่อแรกเริ่มนั้นมีการนิมนต์ให้พระสงฆ์สองนิกายไปอยู่ร่วมกัน แต่ฝ่ายมหานิกายส่งพระเด็กๆ ไปอยู่ ขณะที่ฝ่ายธรรมยุตนั้นส่งพระผู้ใหญ่ระดับสมเด็จพระราชาคณะไปอยู่ ก็เลยเป็นว่า พระธรรมยุตเป็นหัวหน้าพระสงฆ์วัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดประชาธิปไตย
เมื่อสิ้นประชาธิปไตยในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2505 ลงไปนั้น โครงการต่างๆ ตามที่มีในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ก็สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎก การรวมนิกายคณะสงฆ์ และเมื่อไม่มีการรวมนิกายกันแล้ว ก็ปรากฏว่า วัดพระศรีมหาธาตุตกเป็นของฝ่ายธรรมยุต เนื่องเพราะสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นเจ้าอาวาส

สฤษดิ์อสัญกรรม
สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) วัดเบญจมบิตร สิ้นพระชนม์ในวันที่ 17 มิถุนายน 2505 ต่อมาไม่นาน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ก็ป่วยด้วยโรคไตพิการ และเรื้อรัง จนกระทั่งวันที่ ธันวาคม พ.ศ.2506 ก็ถึงแก่กรรม ขณะที่พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ยังคงนั่งสมาธิทำใจดีสู้เสืออยู่ในห้องขังของสันติบาล เพื่อรอเวลาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองต่อโลก

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้เป็นสังฆราช
ดังที่เล่ามา ระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 เป็นต้นมานั้น อดีตพระพิมลธรรมยังคงถูกจับสึกและคุมขังอยู่ที่สันติบาล เป็นการต่อสู้คดีที่ยืดเยื้อยาวนาน และยังมิรู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ถ้านับปีนี้เป็น พ.ศ.2508 สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) คู่ต่อสู้ของพระพิมลธรรมก็สิ้นพระชนม์ไปได้ 3 ปีแล้ว ประเทศไทยมีสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่อยู่วัดสระเกศ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เชื่อว่า คดีความของพระพิมลธรรมคงจะเดินไปในทิศทางที่ดีต่อพระพิมลธรรมเอง แต่ครั้น ณ วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2508สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ ได้เสด็จสิ้นพระชนม์ ส่งผลให้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.9) คู่ปรับของพระพิมลธรรม ผู้ออกคำสั่งให้สึกพระพิมลธรรม ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถ้าเป็นเช่นนั้นลู่ทางการสู้คดีคงจะไม่มีทางชนะ


16


ศาลทหารตัดสินคดีประวัติศาสตร์ของพระพิมลธรรม

"งานเลี้ยงย่อมมีเลิกรา" คำกล่าวนี้ฉันใด คดีความมาราธอนของพระพิมลธรรมก็ฉันนั้น วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2509 เวลา09.00 น. ศาลทหารได้ขึ้นนั่งบัลลังก์ ตัดสินคดีความประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย นั่นคือ อดีตพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ถูกโจทย์ฟ้องว่า "มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร"
ศาลลำดับเหตุการณ์ คำฟ้องของฝ่ายโจทย์ คำให้การของพยาน หลักฐานอ้างอิง และคำให้การของจำเลย ในทุกประเด็นแล้ว สรุปว่า

คำพิพากษาศาลทหารกรุงเทพ
คดีพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2509

ตามที่ศาลได้ประมวลวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้องและกล่าวหามาหลายข้อหลายประเด็นนี้ มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ เลย พอที่จะชี้ให้เห็นว่า จำเลยได้กระทำ หรือน่าจะกระทำผิด การจับกุมคุมขังจำเลยทั้งนี้ ย่อมเป็นที่เศร้าหมองและน่าสลดใจในวงการสงฆ์และพุทธศาสนิกชนมาก ท่านประธานศาลฎีกาก็ดี พระเถระผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยก็ดี ซึ่งเป็นพยาน ต่างก็กล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยนี้เป็นผู้ประกอบแต่กุศลกรรม กระทำกิจพระศาสนาแผ่ไพศาลไปทั้งในและนอกประเทศ ทั้งในทางปริยัติศาสนาและปฏิบัติศาสนา มีผลประจักษ์ชัดเป็นหลักฐานมาก ไม่เชื่อว่าได้กระทำผิด แต่กลับมาต้องถูกออกจากเจ้าอาวาส ถูกออกจากสมณศักดิ์ ถูกจับกุม ถูกบังคับให้สละเพศพรหมจรรย์ นับว่ารุนแรงที่สุด สำหรับพระเถระผู้ใหญ่ที่ปวงชนเคารพนับถือ พระธรรมโกศาจารย์ถึงกับกล่าวว่า คิดได้อย่างเดียวว่า เกิดขึ้นเพราะความอิจฉาริษยาในวงการสงฆ์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรรมเก่าของจำเลยเท่านั้นเอง
พันโทประเสริฐ สุดบรรทัด ผู้ฝักใฝ่ในธรรมผู้หนึ่งกล่าวว่า ตามที่จำเลยต้องคดีนี้ ได้สืบสวนด้วยตัวเอง ทราบเบื้องหลังโดยตลอด แต่จะเบิกความก็เกรงจะกระทบกระเทือนแก่วงการพระภิกษุสงฆ์และพระศาสนา ขอสรุปว่า มูลกรณีทั้งหลายตามที่ทราบความจริงมา จำเลยถูกกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรมจริงๆ ไม่ได้กระทำผิดตามกล่าวหา
ดังนั้น ศาลจึงขอให้จำเลยระลึกว่า เป็นคราวเคราะห์หรือกรรมเก่าของจำเลยเอง หรือมิฉะนั้นก็เป็นการสร้างบาปกรรมของคนมีกิเลส ไม่ใช่ความผิดของผู้ใด แต่เป็นความผิดของสังสารวัฎเอง
ศาลนี้รู้สึกสลดใจและเห็นใจจำเลย แต่เชื่อว่าจำเลยซึ่งอบรมอยู่ในพระศาสนามานาน คงจะทราบซึ้งดีในอุเบกขาญาณที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม ก็จะเป็นกรรมทายาทรับผลของกรรมนั้น และคงจะตั้งอยู่ในคุณธรรมอันเป็นลักษณะของบัณฑิตในพระพุทธศาสนาสืบไป
อาศัยเหตุผลและดุลยพินิจที่ได้วินิจฉัยมา จึงพร้อมกันพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป
ลงชื่อ พ.อ.ปาน จันทรานุต ประธานตุลาการ
ลงชื่อ พ.อ.มณีรัตน์ จารุจินดา ตุลาการพระธรรมนูญ
ลงชื่อ น.ท.โปร่ง ชื่นใจ ร.น.ตุลาการ
พันเอกมณีรัตน์ จารุจินดา เรียง
พันจ่าอากาศเอกขจาย ขจรเนติยุทธ์ พิมพ์-ทาน
30 สิงหาคม 2509
สำเนาถูกต้อง

วันนั้นไม่ทราบว่า บรรยากาศที่ วัดมกุฏกษัตริยาราม ของสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฺฐายี) วัดเบญจมบพิตร ของอดีตสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) วัดสามพระยา ของพระธรรมคุณาภรณ์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) เป็นอย่างไรบ้าง คิดว่าน่าจะนั่งลุ้นผลกันเหมือนวันหวยออก ส่วนที่ "วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์" ก็เหมือนมีงานปอยหลวง พระเถรเณรชีทั้งวัดไม่เป็นอันหลับอันนอน ส่วนหนึ่งยกขบวนไปเป็นกำลังใจถึงในศาลทหาร อีกส่วนหนึ่งก็ตั้งรับกับผลอยู่ที่วัดมหาธาตุ ครั้นทราบผลแล้ว กองกำลังทั้งสองฝ่ายก็ผนวกกันเข้าไปกองกำลังคุ้มครองป้องกันพระพิมลธรรม นั่นเท่ากับว่ามรสุมใหญ่ที่กดทับวัดมานานถึง 5ปี แตกกระจายพรัดพรายไปสิ้น แสงทองผ่องอำไพ ประกาศชัยชนะของผู้แพ้แต่ยังไม่ตาย "พระพิมลธรรม"



17

สังฆราชจวนถูกรถชนสิ้นพระชนม์

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 คิดง่ายๆ ว่าช่วงหนึ่งปีก่อนที่ศาลทหารจะตัดสินคดีความของพระพิมลธรรม (อาจ) สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) นั้นสิ้นพระชนม์ไปก่อนเพื่อน จอมพลสฤษดิ์ก็ตามไปติดๆ และในอีก 5 ปีต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์ช็อควงการพระศาสนาไทยในรอบพันปี  ในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2514 เวลา 10.05 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ประทับรถยนต์พระที่นั่ง ไปในกิจนิมนต์ถึงตำบลบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตรง ก.ม.ที่ 118 พลันนั้นก็ปรากฏรถยนต์บรรทุกวิ่งสวนทางเข้ามาประสานงากับรถยนต์พระที่นั่งเข้าอย่างเต็มแรง ส่งผลให้สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ทันที
อุบัติเหตุครั้งนี้ แม้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นแก่ทุกคนในโลกนี้ แต่..แต่สำหรับบุคคลผู้มีบุญญาวาสนาระดับสมเด็จพระสังฆราชนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญระดับ "กรรมเรียกพี่" ทั้งนี้เพราะมีประวัติศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้คอยชี้ทางกรรมอยู่ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ได้ทรงกระทำกรรมอันใดไว้บ้าง โดยเฉพาะการกลั่นแกล้งและสั่งให้จับสึก "พระพิมลธรรม" ถึงขนาดว่าศาลทหารยังอดสังเวชเวทนาไม่ได้ ต้องปลอบใจจำเลยว่า "ขอให้คิดเสียว่าเป็นกรรมเก่า"
การสิ้นพระชนม์ของ 2 สมเด็จพระสังฆราช และการอสัญกรรมของนายกรัฐมนตรีผู้มีบารมีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในระยะเวลาไล่ๆ กันนั้น จะมิให้พุทธศาสนิกชนคนไทยทั่วประเทศปักใจเชื่อได้อย่างไรว่า "เป็นเพราะผลกรรมที่ทำไว้กับพระพิมลธรรม" แม้ว่าพระพิมลธรรมจะอโหสิกรรมให้แก่ทุกคนที่โจทย์ฟ้องกลั่นแกล้ง แต่แรงกรรมนั้นมิได้อโหสิ ดังกรณีสมเด็จพระสังฆราชไทยถูกรถยนต์ชนจนสิ้นพระชนม์เป็นองค์แรกในประวัติศาสตร์
ก็จบประวัติศาสตร์อัปยศในวงการคณะสงฆ์ไทยสมัย 25 พุทธศตวรรษ
ส่วนอดีตพระพิมลธรรมนั้น ได้ครองผ้าเหลืองทันทีที่ถึงวัดมหาธาตุในวันที่ 30 สิงหาคม 2509 และต่อมาในปี พ.ศ.2518รัฐบาล มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ดำเนินการ "ขอพระราชทานยศ" คืนถวายแก่อดีตพระพิมลธรรม พร้อมกับทำพิธีขอขมาต่อพระพิมลธรรมแทนรัฐบาลไทยในอดีตที่ได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้กับท่าน วันนั้นเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2518
พ.ศ.2524 กลับดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
ธันวาคม 2528 ได้รับสถาปนาขึ้นดำรงสมณฐานันดรศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ "สมเด็จพระพุฒาจารย์"
พ.ศ.2531 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก
28 สิงหาคม 2531 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งก็ถือว่า พระพิมลธรรมได้กลับคืนสู่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเดิม และสูงส่งขึ้นในระดับ "สมเด็จพระสังฆราช" เพราะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งก็ตรงตามคำทำนายของสมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ที่ว่า "ต่อไปภายหน้า เมืองไทยจะมีสังฆราชขี้คุก"
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2532 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) สิ้นพระชนม์ สิริชนมายุได้ 86 พรรษา


18


เปิดศักราชวัดไทยในต่างประเทศ

ในคราวพระพุทธศาสนามีอายุครบ 2500 ปี ที่เรียกว่า 25 พุทธศตวรรษ นั้น ประเทศอินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา จึงได้จัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองเรียกว่า พุทธชยันตี และมีโครงการพิเศษ เปิดให้ประเทศต่างๆ ที่มีประชาชนเคารพนับถือพระพุทธศาสนา ได้เข้าไปสร้างวัดประจำชาติของตนไว้ที่บริเวณโดยรอบตำบลพุทธคยา อันเป็นตำบลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในรัฐพิหาร รัฐบาลไทยได้รับคำเชิญให้ไปสร้างวัดไว้ด้วย และได้จัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ซื้อที่ดินกว้าง 5 เอเคอร์ (12 ไร่) สร้างวัดขึ้นมา ตั้งชื่อว่า วัดไทยพุทธคยา
ครั้นสร้างวัดเสร็จแล้ว จึงมีการจัดส่งพระธรรมทูตไปจำพรรษาเป็นชุดแรกในปี พ.ศ.2502 มีพระธรรมธีรราชมหามุนี (ธีร์ ปุณฺณโก ป.ธ.9) วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นหัวหน้า (ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระธีรญาณมุนี) พร้อมด้วยพระธรรมทูตอีก 4 รวมเป็น 5 รูปด้วยกัน
นช่วงเดียวกัน (พ.ศ.2501) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งมีพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) เป็นเจ้าอาวาส ได้บุกเบิกสร้างวัดใหม่ในประเทศอังกฤษ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ได้จัดสรรงบประมาณซื้อที่ดินสร้างเป็นวัดขึ้นมาในมหานครลอนดอนประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ และทรงโปรดพระราชทานชื่อวัดว่า วัดพุทธปทีป และได้จัดส่งพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.9) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ไปเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ในปี พ.ศ.2507 จึงกล่าวได้ว่าวัดพุทธปทีปเป็นวัดไทยในต่างแดนอันดับที่ 2
ต่อมาในปี พ.ศ.2515 ได้มีชาวไทยในสหรัฐอเมริกา มีจิตศรัทธาสร้างวัดขึ้นมาเป็นแห่งแรกที่มหานครลอสแองเจลิส (แอลเอ) ตั้งชื่อว่า วัดไทยลอสแองเจลิส (วัดไทยแอลเอ) ทางคณะสงฆ์ไทยได้จัดส่งพระธรรมทูตรุ่นแรกมาจำพรรษา มีพระมหาโสบิน โสปาโก จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นหัวหน้า
อีกฟากหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในเวลาเดียวกัน มีการสร้างวัดขึ้นมา ชื่อว่า วัดยูเอสเอ แต่คนอ่านเป็นวัดอุษา เพราะอ่านwatusa ตามสำเนียงไทย และในปี พ.ศ.2517 มี พระมหาครุฑ จิรสฺสุโต และพระมหาเหล็ก ญาณวโร ซึ่งเป็นพระลาว เดินทางจากประเทศไทยมาปฏิบัติศาสนกิจที่วัดอุษา แต่เกิดมีปัญหากับทางประธานสมาคมซึ่งนิยมในพระธรรมยุต (พระสงฆ์ที่มาเวลานั้นเป็นมหานิกายจากวัดเบญจมบพิตร) พระครูวชิรธรรมโสภณหรือครูบาศรีนวลซึ่งเป็นอาจารย์ของพระมหาครุฑ จึงได้บินมานิวยอร์คเพื่อแก้ปัญหา สุดท้ายได้ตัดสินใจให้ตั้งวัดใหม่ขึ้น ชื่อว่า วัดวชิรธรรมปทีป ทั้งนี้มีพระมหาครุฑ จิรสฺสุโต (สมบัติใหม่) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก นิวยอร์คจึงมีสองวัดสองนิกายในเวลาไล่เรี่ยกัน


อินเดียก่อน พ.ศ.2540 ดินแดนแสนกันดาร
อินเดียก่อน พ.ศ.2530 นั้น ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยเราแล้วก็นรกกับสวรรค์ดีๆ ดีนี่เอง เพราะเป็นดินแดนแสนกันดาร พระสงฆ์ไทยที่ไปศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตที่วัดไทยพุทธคยานั้น ต้องอดอยากแร้นแค้น ต่างกับวัดไทยในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งสมัยนั้นกล่าวกันว่า "ไปขุดทอง" พระไทยที่อาสาไปอยู่อินเดีย รวมทั้งไปศึกษา ถ้าอยู่จนครบเทอมและเรียนจบกลับมาก็เชื่อได้แน่ว่า มีความอดทนเกินร้อย เอาไปปล่อยเอธิโอเปียก็ไม่อดตาย ผู้เขียนเคยเห็นพระนึกศึกษารุ่นพี่ที่ไปเรียนอินเดีย ต้องเอาข้าวสารอาหารแห้งทั้งข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ใส่กระเป๋าไปด้วยคราวละมากๆ ถามว่าเอาไปทำไม ท่านก็ตอบว่า "เอาไปกินสิท่าน เพราะที่นั่นมันไม่มี" ไอ้เราไม่เคยไปเมืองนอกเมืองนาก็งงว่า "ไอ้ของที่มีเกลื่อนเมืองไทยน่ะ เมืองนอกไม่มีหรือไง เป็นไปได้ไง ไม่น่าเชื่อ"
ด้วยสภาพการณ์ดังว่ามานี้ เมื่อเริ่มตั้งวัดไทยพุทธคยาขึ้นมาในปี พ.ศ.2500 นั้น จึงไม่มีท่าทีแห่งการแก่งแย่งตำแหน่งในวัดไทยพุทธคยาไม่ว่าจากฝ่ายไหน แม้ว่าจะเป็นงบประมาณของรัฐบาลไทย ต่างกับวัดไทยแอลเอและวัดไทยนิวยอร์ค ที่เริ่มทะเลาะแย่งวัดแย่งวากันระหว่างมหานิกายกับธรรมยุตตั้งแต่ยังมิได้ตั้งไข่ด้วยซ้ำ ใครที่รับอาสาไปเป็นพระธรรมทูตไทยในอินเดียรุ่นแรกๆ นั้นนับว่าเสียสละอย่างน่าสรรเสริญ
วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอนนั้น ถือได้ว่าวัดมหาธาตุได้เปรียบ เพราะผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงก่อตั้งขึ้นมานั้น เคยมาบวชพระที่วัดมหาธาตุ เป็นศิษย์ของพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) และพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ) จึงเจาะจงนิมนต์พระธรรมธีรราชมหามุนีไปเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ฝ่ายธรรมยุตจึงไม่มีสิทธิใดๆ ในการเรียกร้องส่วนแบ่ง ทั้งๆ ที่วัดพุทธปทีปนั้นใช้เงินหลวงจากรัฐบาลไทยไปสร้าง
และถ้ามองย้อนกลับไปในคดีพิพาทเรื่องวัดระหว่างสองมหานิกาย นับตั้งแต่ วัดพิชยญาติการาม คลองสาน วัดพระศรีมหาธาตุ (วัดประชาธิปไตย) บางเขน ไล่ไปจนถึงวัดไทยแอลเอ แคลิฟอร์เนีย วัดอุษา นิวยอร์ค แล้ว ก็จะเห็นว่า เกิดการแย่งชิงมวลชนรวมทั้งวัดวาอารามอย่างรุนแรงระหว่างพระมหานิกายกับธรรมยุติกนิกาย ทั้งนี้โดยมีพระผู้ใหญ่ในประเทศไทยหนุนหลัง
วัดไทยแอลเอนั้น ว่ากันว่าตระกูลผู้มีส่วนสำคัญในการสร้าง เป็นตระกูลสำคัญในสายธรรมยุต จึงต้องการให้พระธรรมยุตเข้ามาเป็นเจ้าอาวาสหรือได้ครอบครองวัด แต่เพราะพระผู้ใหญ่ในสายมหานิกายรู้ทัน จึงแก้เกมไว้ได้ทัน ส่วนวัดอุษาที่นิวยอร์คนั้น ฝ่ายมหานิกายเพลี่ยงพล้ำ จึงแก้เกมด้วยการ "ชิงมวลชน" นำคนออกไปสร้างวัดขึ้นมาใหม่
แต่ปัญหาของวัดไทยแอลเอยังมิได้สิ้นสุดเพียงเท่านั้น เนื่องเพราะมีพระสายธรรมยุตรูปหนึ่งเข้ามาขอส่วนแบ่งทางการตลาด


19

พระอาจารย์จิ๋ว
(พนมศักดิ์ พุทฺธญาโณ)

พระอาจารย์จิ๋วนั้น เป็นชื่อเล่นของ พระพนมศักดิ์ พุทฺธญาโณ เป็นศิษย์ของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ คู่กับหลวงตาจันทร์ (จันทร์ อาจหาญ) อดีตพระเทพสิทธิญาณรังษี วัดป่าชัยรังษี จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งหลวงปู่ดุลย์นั้นถือว่าเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อาจารย์ใหญ่ฝ่ายกรรมฐานในภาคอีสานของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
คณะธรรมยุตในสหรัฐอเมริกานั้นมีประวัติว่า เริ่มตั้งในปี พ.ศ.2524 ที่รัฐเทนเนสซี่ อันเป็นรัฐเล็กๆ ทางตะวันออกกลางของประเทศ ก่อนจะกระจายเข้ามามีวัดในรัฐเท็กซัสมากที่สุด
ในปี พ.ศ.2527 พระมหาสมพร สมวโร และพระพนมศักดิ์ พุทธญาโณ (พระอาจารย์จิ๋ว) ได้เดินทางจากรัฐเท็กซัส มายังรัฐแคลิฟอร์เนีย วัตถุประสงค์ "เพื่อหาลู่ทางสร้างวัดของคณะธรรมยุตขึ้นมา" และวัดป่าธรรมชาติ เมืองลาพวนเต้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากพระทั้งสองรูปนี้
บทบาทของวัดป่าธรรมชาติในแอลเอนั้นต้องถือว่าเป็นคู่แข่งของวัดไทยแอลเอมาแบบชิงพริบชิงเหลี่ยมมาโดยตลอด วัดไทยแอลเอมีอะไร วัดป่าธรรมชาติก็ต้องมีสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกฐินพระราชทาน เปิดสอบนักธรรม เปิดสอนพุทธศาสนาและภาษาไทย รวมทั้งดนตรีไทย เปิดโครงการประจัญบานกันแบบว่าใครดีใครอยู่ ดังเช่นครั้งหนึ่ง คุณครูใหญ่ของวัดไทยแอลเอเกิดปัญหากับทางนี้จึงตัดสินใจลาออก ครั้นพออีกวัดหนึ่งทราบจึงประกาศแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทันที
พระอาจารย์จิ๋วนั้นมีชื่อเสียงเป็นที่คุ้นเคยของชาวแอลเอเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นพระที่มากบารมี แต่ก็มีปัญหาด้วยว่ามีคนโจทย์ฟ้องท่านในหลายเรื่อง สุดท้ายท่านจึงเดินทางกลับเมืองไทย ไม่เอากับอเมริกาอีกต่อไปแล้ว แต่บทบาทการต่อกรกับมหานิกายสมัยยังอยู่ที่แอลเอนั้น ชาววัดป่าธรรมชาติก็ยังคิดถึงอาจารย์จิ๋วกันไม่หาย


อาจารย์จิ๋วกับพายัพ ชินวัตร
สัมพันธภาพระหว่างพระอาจารย์จิ๋วกับพายัพ ชินวัตร นั้น ท่านก็เล่าให้หนังสือพิมพ์ฟังว่า เริ่มรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยที่ท่านเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่รัฐเท็กซัส ขณะนั้นพายัพเดินทางไปศึกษาที่นั่น แรกนั้นก็เหมือนไม่ถูกชาตากัน แต่สุดท้ายคนใจนักเลงอย่างพายัพ เมื่อเจอพระอาจารย์จิ๋วผู้มีฤทธิ์กำราบ จึงยอมสยบราบหมอบราบคาบแก้วปวารณาตัวลงเป็น "ศิษย์ก้นกุฏิ" และเมื่อพระอาจารย์จิ๋วเดินทางกลับมาเมืองไทย พายัพก็กลับเมืองไทย สัมพันธภาพหรือคอนเน็กชั่นจากเท็กซัสจึงยาวไกลไปถึงไทยแลนด์




20

การบินไทยเปิดสาย สุวรรณภูมิ-พุทธคยา-พาราณสี

นปี พ.ศ.2549 การบินไทยได้เปิดเส้นทางสายพุทธภูมิ สุวรรณภูมิ-พุทธคยา-พาราณสี เป้าหมายเพื่อพาพุทธศาสนิกชนชาวไทยและประเทศใกล้เคียงเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย ซึ่งจุดใหญ่ที่สุดนั้นอยู่ที่ "พุทธคยา" อันมีพระมหาเจดีย์พุทธคยา หลวงพ่อเมตตา และพระศรีมหาโพธิ์
สาเหตุแห่งการเปิดเส้นทางบินไปพุทธคยานั้นก็เพราะว่า อินเดียบูมมาก ชาวพุทธจากทั่วทุกมุมโลกหลั่งไหลไปแสวงบุญ ในจุดใหญ่ๆ ได้แก่ สถานที่ประสูติ (ลุมพินี-เนปาล) ตรัสรู้ (พุทธคยา-อินเดีย) แสดงปฐมเทศนา (พาราณสี-อินเดีย) และปรินิพพาน (กุสินารา-อินเดีย) แต่พุทธคยาเป็นจุดสำคัญที่สุด
ก่อนหน้านั้น การจะเดินทางไปพุทธคยาต้องบินเข้าเดลลีหรือกัลกัตตา ถ้าเดลลีก็ต่อเครื่องบินไปลงที่ปัฏนะ แล้วต่อรถไปพุทธคยา ส่วนกัลกัตตานั้นต่อรถไฟหรือรถยนต์ไปพุทธคยา ซึ่งถือว่าค่อนข้างลำบาก แต่รัฐบาลอินเดียก็พยายามปรับปรุงเส้นทางและอำนวยความสะดวกอย่างจริงจัง และสุดท้ายถึงกับยอมให้เปิดเส้นทางการบินเข้าพุทธคยาโดยตรง ทั้งๆ ที่เป็นสนามบินเล็กๆ
ปัญหาการเมืองเรื่องแย่งวัดระหว่างมหานิกายกับธรรมยุต นับตั้งแต่ภายในประเทศไปจนถึงต่างประเทศดังนำเสนอมาฉะนี้นั้น ขอสรุปภาพให้เห็นว่า
ที่สหรัฐอเมริกา มีวัดป่าธรรมชาติและวัดภูริทัตตวนารามเป็นฐานที่มั่นของคณะธรรมยุตแล้ว ก็ถือว่าใช้ได้ เพราะเมืองใหญ่ไม่ต้องเบียดเสียดกันอยู่
ที่สหราชอาณาจักร ประเทศนี้สายวัดมหาธาตุยึดครองอำนาจไว้หมด พระธรรมทูตที่จะเข้าไปปฏิบัติศาสนกิจต้องได้รับการรับรองจากเจ้าอาวาสวัดพุทธปทีป ในฐานะหัวหน้าพระธรรมทูตสายนี้ และนับตั้งแต่ก่อตั้งวัดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็มีการสืบทอดอำนาจอยู่เฉพาะสายวัดมหาธาตุเท่านั้น ขนาดวัดอื่นๆ ในมหานิกายยังไม่มีสิทธิ์แหยม แล้วธรรมยุตจะอาจเอื้อมหรือ ธรรมยุตไปได้ฐานที่มั่นในยุโรปอยู่ที่ฝรั่งเศส โดย พระมหาเกรียงไกร ธีรรํสิโก ป.ธ.9 วัดป่าชัยรังษี ไปสร้างวัดไทยขึ้นที่กรุงปารีสชื่อว่า วัดธรรมปทีป และเป็นวัดสังกัดธรรมยุตใหญ่ที่สุดในยุโรปด้วย
หันไปดูที่อินเดีย เมื่อได้ครองวัดไทยพุทธคยาแล้ว พระสงฆ์สายวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ก็สยายปีกส่งพระธรรมทูตกระจายออกไปตั้งสาขาขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นจุดสำคัญในทางพุทธประวัติ เช่น วัดไทยนาลันทา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์  วัดไทยไพศาลี วัดไทยพาราณสี วัดไทยสิริราชคฤห์ เป็นต้น ทางด้านเนปาลอันเป็นบ้านเกิดของพระพุทธเจ้านั้น เมื่อรัฐบาลเนปาลใช้นโยบายเดียวกับทางอินเดีย คือเปิดพื้นที่รอบสวนลุมพินีให้ประเทศต่างๆ จากทั่วโลกเข้ามาสร้างวัดประจำชาติของตน แรกนั้นพระเทพกิตติปัญญาคุณหรือกิตติวุฑโฒ วัดมหาธาตุ และเจ้าสำนักจิตตภาวัน ผู้มีวิสัยทัศน์อันยาวไกล ได้เข้าไปตั้งโครงการสร้างวัดไทยลุมพินีขึ้นมา ต่อมาเมื่อไปไม่ไหว ได้โอนโครงการมาให้แก่ พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีรยุทฺโธ) วัดไทยพุทธคยา ซึ่งออกไปสร้างอาณาจักรอยู่ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
เจ้าคุณวีรยุทธนั้นได้รับการยกย่องว่า เป็นเซียนอินเดียระดับแขกยังต้องซูฮก ช่วงที่พระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล ป.ธ.9) จากวัดมหาธาตุ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาและหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดียอยู่นั้น พ.ศ.2537เจ้าคุณวีรยุทธได้ไปสร้างวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ขึ้นมาใกล้กับมหาปรินิพพานสถูป และทำได้ดีกว่าวัดไทยพุทธคยา เพราะว่าหลวงพ่อทองยอดท่านเป็นพระสมถะ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ได้ผู้ช่วยดีเป็นอดีตทูตไทยในอินเดีย คือ นายธวัชชัย ทวีศรี
พระราชรัตนรังษี เมื่อสร้างวัดไทยกุสินาราขึ้นมาแล้ว ก็ดำเนินการสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นมาองค์หนึ่ง แล้วได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ในพระธาตุเจดีย์ที่วัดไทยกุสินารา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งระบุว่า เป็นชุดเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้รับมอบถวายมาจากรัฐบาลประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ.2442 ซึ่งส่วนหนึ่งได้นำขึ้นไปประดิษฐานไว้บนยอดบรมบรรพตวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แต่ยังเหลือเก็บไว้ในพระบรมมหาราชวังอีกส่วนหนึ่ง พร้อมกันนั้น ได้ทรงพระราชทาน "เส้นพระเจ้า" หรือพระเกศา ของพระองค์เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ให้ประชาชนทั่วไปได้สักการบูชาอีกด้วย ครั้นต่อมา ในปี พ.ศ.2555 วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการจำลองพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขนาดเท่าพระองค์จริง เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ในวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย เป็นครั้งแรกอีกด้วย
นั่นหมายถึงว่า วัดไทยกุสินารามเฉลิมราชย์ ของพระราชรัตนรังษี เป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างสมบูรณ์แบบ
"วัดในพระบรมราชูปถัมภ์" คำๆ นี้ วัดไหนๆ ก็อยากจะได้หรืออยากจะเป็น เพราะจะเป็นที่มาของทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจวาสนาบรรดาศักดิ์ รวมทั้งเงินทองที่จะไหลมาเทมาอย่างเนืองนอง เพราะคนไทยเรานั้นมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อยากจะร่วมบุญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นทั้งเกียรติยศและกุศลผลบุญยิ่งกว่าสิ่งใด ดังมีคำกล่าวว่า "ขายพระหรือจะสู้ขายเจ้า ถ้าขายรวมได้ทั้งพระทั้งเจ้าจะเอาเมืองทั้งเมืองก็ยังได้"
ในการก่อสร้างสิ่งใดๆ ของวัดในประเทศไทยเรานั้น หากจะให้สำเร็จสมปรารถนาเหมือนว่าเนรมิตแล้ว ถ้าพระเจ้าอาวาสไม่มีฤทธิ์เช่นหลวงพ่อคูณเป็นต้น ก็ต้องได้รับการอุปถัมภ์จากผู้มีทรัพย์ระดับคฤหบดี แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่เท่ากับการได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ ดังนั้น จึงมีการทูลขอพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อสร้างอาคารถาวรวัตถุรวมทั้งพระพุทธรูปต่างๆ โดยได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตนำเอาตรา "ภปร.-สก-มวก-สธ" ไปประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถ ผ้าทิพย์พระพุทธรูปเป็นต้น ซึ่งนอกจากจะได้รับความสนับสนุนจากส่วนราชการและพ่อค้าประชาชนอย่างล้นหลามแล้ว ก็ยังเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากทางราชการบ้านเมืองหรือทางการคณะสงฆ์ได้อีกด้วย อาทิเช่น มหาเถรสมาคมได้ออกมติห้ามมิให้พระภิกษุรูปใดสร้างรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ใหญ่กว่าพระพุทธรูป แต่ก็มีบางวัดได้ไปขอรับพระบรมราชูปถัมภ์และได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำเอาพระปรมาภิไธยของพระบรมวงศานุวงศ์ไปประดิษฐานไว้ที่ผ้าทิพย์ ก็ปรากฏว่าเจ้าคณะพระสังฆาธิการและมหาเถรสมาคมไม่กล้าดำเนินการจัดการในทางการปกครอง เมื่อเห็นวัดหนึ่งสามารถทำได้โดยมิได้ผิดกฎระเบียบมหาเถรสมาคมที่ออกมา วัดอื่นๆ ก็เอาอย่างบ้าง เพราะเห็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จดังกล่าวแล้ว และนั่นเองที่เป็นเหตุให้พระสงฆ์วัดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ พยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าไปให้ถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีข่าวเมื่อหลายปีก่อนว่า มหาเถรสมาคมได้ปรารภเหตุที่พระสงฆ์พยายามจะขอเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อทูลขอรับพระบรมราชูปถัมภ์มากเกินไป จึงได้ออกระเบียบแห่งการขอเข้าเฝ้าของพระสงฆ์ขึ้นมา
เมื่อมีการเดินทางไปแสวงบุญของชาวพุทธเพิ่มมากขึ้นนับพันนับหมื่นคนต่อปี นับตั้งแต่การบินไทยเปิดบินตรงไปพุทธคยาเป็นต้นมานั้น นอกจากพุทธศาสนิกชนทั่วไปจะเดินทางไปไหว้พระที่อินเดียแล้ว ก็ยังมีพระสงฆ์ไทยทั้งสายมหานิกายและธรรมยุตเดินทางไปอย่างต่อเนื่อง แต่..แต่ว่าวัดที่จะไปพักพาอาศัยในอินเดียนั้น ส่วนใหญ่เป็นของมหานิกาย ความจริงแล้วก็มิใช่วัดของมหานิกาย หากแต่เป็นวัดของรัฐบาลไทย แต่ว่ามีเจ้าอาวาสเป็นมหานิกาย จริงอยู่ วัดไทยพุทธคยามิได้ปิดประตูไม่ต้อนรับพระในนิกายธรรมยุต แต่การต้อนรับนั้นก็เป็นไปแบบ "พิธีการ" คือไม่เป็นกันเอง เพราะเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยานั้นเป็นพระวัดมหาธาตุ
เมื่อทางรัฐบาลไทยได้มีมติให้สร้างวัดไทยลุมพินีขึ้นที่ประเทศเนปาลโดยวิธีการเดียวกับวัดไทยพุทธคยาแล้ว ตอนนั้นก็มีการเจรจาต่อรองระหว่างธรรมยุตและมหานิกายว่า ในอินเดียนั้นวัดไทยพุทธคยามหานิกายก็ได้ไปแล้ว จะขอวัดไทยลุมพินีที่เนปาลให้เป็นของคณะธรรมยุตจะได้หรือไม่ ปรากฏว่ามหานิกายไม่ยอม เพราะว่าฝ่ายที่เข้าไปบุกเบิกรุ่นแรกนั้นเป็นพระวัดมหาธาตุอีกแล้ว
ทั้งอินเดียและเนปาลจึงเป็นประเทศปิดสำหรับคณะธรรมยุต ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราช แต่ก็ไม่มีอำนาจอะไรในการจะเข้าไปทำกิจกรรมทางพระศาสนาที่แดนพุทธภูมิ
แต่.. แต่ก็ดังที่บอกไว้แล้วไงว่า ตลาดชาวพุทธไทยในอินเดียนั้นบูมมาก คนไทยไปอินเดีย ได้รับบอกกล่าวเล่าถึงพุทธประวัติ ว่าตรงนี้พระบรมศาสดาประสูติ ตรงนี้ประทับนั่งตรัสรู้ ตรงนี้เสด็จโปรดพระเบญจวัคคีย์แสดงพระธรรมจักรที่เราสวดกันไปถึงสวรรค์ชั้นฟ้าเทวดามารพรหมรวมถึง 16 ชั้น และสถานที่ตรงนี้เป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสงฆ์ไทยที่เป็นไกด์นำญาติโยมไปแสวงบุญที่อินเดียต่างก็งัดกลยุทธ์ปลุกเสกความขลังกันอย่างยกใหญ่ ว่ากันว่าบรรดาพระที่รับงานเป็นไกด์นำคนไทยไปแสวงบุญในอินเดียนั้นล่ำซำระดับอาเสีย ขณะที่พระไทยในสหรัฐอเมริกาและยุโรปนั้น เกิดภาวะ "อิ่ม" หรือชลอตัว เนื่องเพราะมีวัดมากเกินไป เศรษฐกิจก็ตกต่ำ งานก็ไม่มี เงินดอลล่าร์หายาก จะกลับเมืองไทยในแต่ละครั้งก็ต้องมองหน้าญาติโยมให้ดี ขืนไปบ่อยๆ อาจจะถูกนิมนต์ให้ "ไปไม่กลับ" ก็เป็นได้ ยุคที่ว่า "พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก" นั้น เห็นจะผ่านมาเสียแล้ว
ขณะที่พระสายธรรมยุตกำลังมองหาช่องทางเพื่อจะสร้างวัดขึ้นมาเป็นของตนเองในอินเดียและเนปาลนั้น พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายก็กระจายกำลังกันยกใหญ่ สร้างวัดไว้ตามหัวเมืองสำคัญๆ ในทางพระพุทธศาสนา ไล่ตั้งแต่พุทธคยา ราชคฤห์ นาลันทา กุสินารา ไพศาลี สาวัตถี และลุมพินี
ในอดีตนั้น เมื่อมีการตั้งคณะธรรมยุตขึ้นมา โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยยังทรงผนวช และเมื่อเสด็จปริวัตรออกมาครองราชย์แล้ว ก็ทรงอุปถัมภ์คณะธรรมยุตให้ล้ำหน้ามหานิกาย และต่อมาในทุกรัชกาลก็ดำเนินตามพระบรมราชประเพณี ทีนี้ว่า เมื่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชศรัทธาในคณะธรรมยุต บรรดาเสนาอำมาตย์ข้าราชบริพารก็นิยมยกย่องตามไปด้วย ทั้งนี้โดยหวังว่าเมื่อได้ร่วมทำบุญในวัดที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงอุปถัมภ์ ก็จะเป็นสะพานเชื่อมให้เกิดความใกล้ชิดกับทางพระบรมมหาราชวัง อันจะส่งผลดีต่อหน้าที่การงาน เป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัย ร.4
ทีนี้ถ้าว่ากันตามที่เห็นในบรรดาคณะสงฆ์ 2 นิกายในประเทศไทยเรานั้น ก็ใช่ว่าจะมีแต่พระธรรมยุตเท่านั้นที่เข้าวังได้ พระมหานิกายมากมายหลายรูปก็เคยเข้าและอาจจะเข้ามากกว่าธรรมยุตด้วยซ้ำไป ดังนั้นจะกล่าวว่าทางราชสำนักลำเอียงก็คงว่าไม่ได้ มันอยู่ที่ความสามารถต่างหาก ดังกรณี พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีรยุทฺโธ) วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ โชว์ศักยภาพให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว มันเป็นเรื่องของฝีมือต่างหาก



21


อาจารย์จิ๋วสร้างวัดป่าพุทธคยา

ก็ดังที่เล่ามาแล้วว่า คณะธรรมยุตนั้นมุ่งมั่นที่จะเข้าไปขยายฐานและยึดครองจิตใจพุทธศาสนิกชนในทุกภูมิภาคของโลกที่มีคนไทยอยู่ แม้ว่าที่ตรงนั้นจะมีวัดในฝ่ายมหานิกายอยู่ก่อนแล้วก็ตาม การสร้างวัดประกบวัดตามหัวเมืองใหญ่ๆ จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นแฟชั่น แต่ครั้นมองไปในประเทศอินเดียซึ่งบัดนี้กลายเป็นตลาดทางพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก คณะธรรมยุตก็พบว่า"ยังไม่มีที่ทางสำหรับการหยั่งรากฐานในดินแดนพุทธภูมิเลย" ทั้งนี้เพราะพระผู้ใหญ่สายธรรมยุตในอดีตนั้นยังมัวแต่เล่มเกมศาสนารักษาฐานอยู่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น ขณะที่พระพิมลธรรมวัดมหาธาตุและวัดอื่นๆ นั้นเขากระจายกำลังออกไปตั้งฐานสำรองไว้เผื่ออนาคตแล้ว ซึ่งวันนี้ ผลงานของพระพิมลธรรม (สมเด็จพระพุฒจารย์ อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุก็ประกาศศักดา ไม่ว่าวัดไทยในสหรัฐอเมริกา วัดไทยในอังกฤษ และวัดไทยในอินเดีย ล้วนแต่ถูกพระในสังกัดวัดมหาธาตุฯเข้ายึดครองอำนาจไว้หมดสิ้น รวมทั้งพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายวัดอื่นๆ เช่น วัดสุทัศน์ วัดสระเกศ วัดเบญจฯ วัดปากน้ำ เป็นต้น
คณธรรมยุตพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะตั้งวัดในสังกัดขึ้นมาที่พุทธคยาแต่ว่าล้มเหลว จนกระทั่งถึงการมาของอาจารย์จิ๋ว ความฝันจึงเป็นจริง
ตามประวัตินั้นท่านเล่าว่า พระครูพุทธบาลหรือพระอาจารย์จิ๋ว (พระพนมศักดิ์ พุทธญาโณ) เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมชาติ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียในปี พ.ศ.2537 ได้ดำเนินการก่อตั้งสมาคมพุทธไทย-ภารตะขึ้นมา เพื่อเป็นฐานของการสร้างวัด และวัดแห่งนั้นมีชื่อว่า "วัดป่าพุทธคยา" เป็นวัดที่อยู่ใกล้กับพระมหาเจดีย์พุทธคยาและพระศรีมหาโพธิ์มากที่สุดในโลก เพราะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของพระมหาเจดีย์พุทธคยาและพระศรีมหาโพธิ์แบบว่าข้ามถนนก็เป็นเขตวัดป่าพุทธคยาแล้ว เคยมีปัญหาถูกฟ้องร้องเรื่องสร้างวัดบดบังทัศนียภาพพระเจดีย์พุทธคยา แต่ว่าก็สามารถฟันฝ่ามาได้
การสร้างวัดป่าพุทธคยาของพระอาจารย์จิ๋วนั้น แรกนั้นก็ทำด้วยตัวเอง แต่พระอาจารย์จิ๋วนั้นจิ๋วแต่ชื่อ ส่วนศักยภาพนั้นหาจิ๋วไปตามชื่อไม่ อย่าลืมว่าท่านเคยสร้างวัดป่าธรรมชาติที่แคลิฟอร์เนียยกระดับเป็นคู่แข่งของวัดไทยแอลเอมาแล้ว ประสบการณ์จึงเหลือเฟือ อีกด้านหนึ่งนั้นที่มองข้ามไปไม่ได้เด็ดขาดก็คือ สายสัมพันธ์กับบรรดาผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์จิ๋วมีศิษย์ก้นกุฏิที่ติดสอยห้อยตามมาจากเท็กซัสด้วยคนหนึ่ง เขามีชื่อว่า พายัพ ชินวัตร
ได้พายัพเป็นกำลังสำคัญ ทำให้งานสร้างวัดป่าพุทธคยารุดหน้าอย่างรวดเร็ว พายัพทุ่มแรงทุ่มใจหมดเงินไปหลายร้อยล้าน จนวัดป่าพุทธคยาได้รับการกล่าวขานว่า "เป็นวัดไทยใหญ่ที่สุดในอินเดีย" และนั่นยังหมายถึงว่า "บัดนี้ คณะธรรมยุตตั้งฐานที่มั่นในดินแดนพุทธภูมิสำเร็จแล้ว" ชิตัง เม..
ผลงานการสร้างวัดป่าพุทธคยาขึ้นมาของพระครูพุทธบาลอาจารย์จิ๋วนั้น ส่งผลให้ท่านได้รับความโปรดปรานจากพระผู้ใหญ่ในฝ่ายธรรมยุต สนับสนุนให้เจริญในยศถาบรดาศักดิ์ จาก "พระครูพุทธบาล" ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น "พระครูปลัดสุวัฒนเมตตาคุณ" จากนั้นในปี พ.ศ.2544 ก็พาสชั้นขึ้นเป็นเจ้าคุณในราชทินนาม "พระโพธินันทมุนี" นี่คือของจริง

กระแสเสื้อเหลืองเสื้อแดงแรงฤทธิ์

ทีนี้ว่า ในปี พ.ศ.2549 เกิดปฏิวัติรัฐประหารของคณะทหารสามเหล่าทัพกำจัดรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง และจากนั้นก็เกิดกระบวนการ "เสื้อเหลือง เสื้อแดง" ขึ้นมาในสมรภูมิทางการเมืองไทย
เสื้อเหลืองก็คือฝ่ายที่เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความจงรักภักดี และตราหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ว่าไม่จงรักภักดี คิดแข่งบารมีพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ
เสื้อแดงก็คือประชาชนที่นิยมใน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย และได้รับผลบวกจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล
คำว่า "ประชาชน" ในที่นี้ ท่านว่ารวมทั้งประชาชนที่อยู่ในวัดคือบรรดาพระสงฆ์สามเณรทั่วประเทศด้วย มีการแบ่งค่ายกันว่า องค์นั้นสีเหลือง องค์นี้สีแดง องค์โน้นสายโน้น องค์นี้สายนี้ ซึ่งการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนี้ก็มีทั้งเรื่องอุดมการณ์ เรื่องผลประโยชน์ รวมทั้งสายสัมพันธ์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออก
ก็ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า กระแสความนิยมไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดียของชาวไทยนั้นบูมมาก จึงมีการจัดทัวร์ไปนมัสการสังเวชียสถานเพิ่มมากขึ้นทุกปี คณะที่ไปก็มีทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง รวมทั้งเสื้อหลากสี
ทีนี้ว่า ถ้ารู้ว่าวัดไหนสีไหน คนต่างสีก็ไม่ยินดีจะเข้าวัดนั้น เช่นวัดไทยไพสาลีของ ดร.พระมหาฉลอง จนฺทสิริ นั้น คนก็ว่าเป็นวัดสีแดง ส่วนวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ของเจ้าคุณวีรยุทธ์นั้น แม้ไม่ประกาศว่าเป็นสีไหน แต่พลพรรคพันธมิตรเสื้อเหลืองเมื่อได้เห็นโครงการเกี่ยวเนื่องกับทางสำนักพระราชวังในวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์แล้ว ก็เฮโลกันเข้า เพราะเข้าใจว่า "พระวัดนี้สีจีวรเหลือง" เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โบสถ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ในปี พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา ครั้งนั้น สหายสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของสื่อในเครือผู้จัดการและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่ทักษิณ เป็นคนเดียวกับ"ทิดสนธิ" ศิษย์เอกวัดป่าบ้านตาดอุดรธานีของ "หลวงตามหาบัว" พระผู้ใหญ่ในสายธรรมยุต เจ้าของโครงการบิณฑบาตทองคำช่วยชาติ ถึงกับลงทุน "ออกประกาศทางเอเอสทีวี" ระดมสรรพกำลังจากพลพรรคพันธมิตรไปช่วยซ่อมโบสถ์ให้ท่านเจ้าคุณวีรยุทธ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าได้เงินไปเท่าไหร่ ?



22


เปลี่ยนเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา

ต่อมาในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2554 พระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล ป.ธ.9เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาและหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล ได้ถึงแก่มรณภาพลง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาและหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล ว่างลงพร้อมๆ กัน ตอนนั้นมีกระแสต้านไม่ให้เจ้าคุณวีรยุทธขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา แต่มหาเถรสมาคม (โดยเฉพาะฝ่ายมหานิกาย) ได้พิจารณาเห็นแล้วว่า เวลานี้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตไทยในอินเดียและเนปาลนั้น ก็เห็นจะมีเพียง "พระราชรัตนรังษี" เท่านั้น นอกนั้นยังมือไม่ถึง คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายจึงเล่นเกมเร็ว รับลูกการรายงานและเสนอจากเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์เข้ามหาเถรสมาคมแล้ว วันที่ 20 มิถุนายน 2554 ออกมติตั้งควบสองตำแหน่ง "ให้พระราชรัตนรังษีเป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาควบตำแหน่งหัวหน้าพระธรรมทูตไทยในอินเดีย-เนปาล" แบบว่ายิงนัดเดียวได้นกสองตัว แต่จริงๆ แล้วได้ตัวใหญ่ตัวเดียวก็คุ้ม ตัวนั้นก็คือ "ได้กีดกันพระธรรมยุตไม่ให้ใหญ่ในแดนพุทธภูมิ"


เจ๊หน่อยเข้าวัดไทยลุมพินี
เจ้าคุณวีรยุทธนั้นนับว่าเยี่ยมยุทธสมชื่อจริง เพราะนอกจากจะเป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาและวัดอื่นๆ ในอินเดียอีกตั้ง 3 วัด รวมเป็น 4 ด้วยด้วยกันแล้ว ท่านก็ยังเป็นเจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินีสถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย
ที่พุทธคยาและกุสินารานั้นสร้างไว้ดีอยู่แล้ว แต่ที่ลุมพินียังไม่มีคนจอง และต่อมาเมื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ก็ต้องพุทธมนต์ของเจ้าคุณวีรยุทธ ยกย่องและเชื้อเชิญให้เข้ามารับตำแหน่ง "มหาอุบาสิกาหัวหน้าบูรณะลุมพินีสถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" นั่นเท่ากับว่า เวลานี้เจ้าคุณวีรยุทธมีสัมพันธ์ลึกล้ำทั้งในวังและฝ่ายทักษิณ ซึ่งเจ๊หน่อยนั้นเป็นนักการเมืองพรรคพลังธรรมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ยุ่งการเมืองในนามกลุ่มบ้านเลขที่ 111 แต่ถึงกระนั้นก็ยังสังกัดพรรคเพื่อไทยของทักษิณอยู่โดยพฤตินัย
บรรยากาศการเมืองเรื่องผ้าเหลือง-ผ้าแดงนั้น มองในเมืองไทยก็ว่าดุเดือดแล้ว แต่ที่อินเดียก็เลือดพล่านไม่แพ้กัน เพราะพลพรรคพันธมิตรของสหายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้เกณฑ์กำลังเข้าช่วยกู้โบสถ์วัดไทยกุสินาราของเจ้าคุณวีรยุทธอย่างเต็มกำลัง แต่เมื่อมองไปทางวัดไทยลุมพินีของเจ้าคุณวีรยุทธอีกวัดหนึ่ง กลับเห็นภาพเจ๊หน่อย-คนสนิททักษิณ เข้ามามีบทบาทเป็นแม่พระของวัดโน้น วัดนี้ วัดเดียวกัน มันก็คันในหัวใจสิฮะ เกิดคำถามเซ็งแซ่ว่า "เจ้าคุณวีรยุทธเป็นพระสีอะไรกันแน่"
นอกจาก "คุณหญิงหน่อย" จะออกหน้ารณรงค์เชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยร่วมใจกันบูรณะบริเวณสวนลุมพินีผ่านบัญชีของวัดไทยลุมพินีแล้ว ทางวัดไทยพุทธคยาก็ได้รับอานิสงส์ขนาดซุปเปอร์ล็อตโต้ เพราะเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2556ที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้อนุมัติงบประมาณจำนวนถึง 100 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้บูรณะวัดไทยพุทธคยาประเทศอินเดียของเจ้าคุณวีรยุทธ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าขอโดยตรงหรือขอผ่านเจ๊หน่อย แต่ก็มีผู้รู้ไม่จริงได้อ้างอิงว่า นายกรัฐมนตรีใช้ภาษีของประชาชนไปบูรณะวัดที่พี่ชายคือพระพายัพจำพรรษาอยู่ ความจริงก็คือ "วัดไทยพุทธคยา" เป็นวัดของรัฐบาลไทย แต่"วัดป่าพุทธคยา" นั้นรัฐบาลไทยมิได้สร้าง และเงินงบประมาณก็มิได้นำไปให้วัดป่าพุทธคยาแต่อย่างใด



23


สมเด็จสมชาย วัดเทพศิรินทร์
การก้าวขึ้นกุมอำนาจพุทธสถานไทยในอินเดียและเนปาลของเจ้าคุณวีรยุทธนั้นย่อมทำให้ฝ่ายธรรมยุตเกรงขาม เพราะนอกจากจะเข้าในรั้วในวังได้ทะลุปรุโปร่งแล้ว สายสัมพันธ์กับพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมทั้งวัดสระเกศและอื่นๆ เจ้าคุณวีรยุทธก็กินขาด และที่สำคัญก็คือ พระราชรัตนรังษีได้เปิดโครงการใหญ่ในชื่อว่า โครงการบรรพชาอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2552 โครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 14 เดือนพฤศจิกายน ซึ่งพระมหานรินทร์บังเอิญว่าเดินทางไปอินเดียในช่วงเดียวกันและมีโอกาสห้อยรถคณะพระนวกะไปด้วย
ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ในปีแรกนั้นมีชื่อว่า คณะ บยส. ย่อมาจากคำว่า "บริหารยุติธรรมระดับสูง" ซึ่งก็สูงจริงๆ เพราะประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ ท่านประธานศาลฎีกา เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกมากมาย คณะที่ไปบวชครั้งนั้นถือว่าเป็นผู้กุมอำนาจทางด้านยุติธรรมทั้งประเทศไทยได้เลยทีเดียว
อา.. นั่นหมายถึงว่า บัดนี้ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายโดยพระราชรัตนรังษี สามารถเข้าไปมีอิทธิพลในระดับสูงของประเทศไทยได้แล้ว ได้แก่สำนักพระราชวังและคณะบริหารยุติธรรมระดับสูง สูงถึงขั้นศาลฎีกา ขณะที่ฝ่ายธรรมยุตนั้นได้แต่นั่งมองตาปริบๆ เพราะปัจจุบันประธานกรรมการมหาเถรสมาคมซี่งกุมอำนาจสูงสุดในวงการสงฆ์ไทยก็คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ โดนเบียดทั้งบนทั้งล่างย่อมส่งผลให้คณะธรรมยุตร้อนๆ หนาวๆ แบบไม่เป็นเวลา
ถ้านับตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่มีการตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ยกสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ไปแล้วนั้น จากนั้นมาอำนาจทางการคณะสงฆ์ก็ตกอยู่แก่ฝ่ายมหานิกาย ฝ่ายธรรมยุตจึงตกอยู่ในภาวะถดถอย แต่ธรรมยุตนั้นไม่ยอมถอย ได้วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งธรรมยุติกนิกายขึ้นมาใหม่ ดันพระรุ่นใหม่ให้เข้ามาดำเนินงานกู้วิกฤติ ได้แก่ พระพรหมมุนี (จุณฑ์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9วัดบวรนิเวศวิหาร ให้ขึ้นเป็นสมเด็จพระวันรัตพระพรหมเมธี (สมชาย วรชาโย ป.ธ.8วัดเทพศิรินทราวาส ขึ้นเป็นสมเด็จพระธีรญาณมุนี พร้อมๆ กับดึงพระในระดับรองขึ้นมาเสริมตำแหน่งอีก 2 รูป ได้แก่ พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) วัดสัมพันธวงศ์ พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ให้ขึ้นมากุมบังเหียนเพื่อรองรับกับสถานการณ์คลื่นลมแรงอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะอย่าลืมว่าคณะธรรมยุตก็ต้องกินต้องใช้ ทำงานก็ต้องมีปัจจัยใช้สอย มิเช่นนั้นจะออกพระเครื่องให้คนบูชาทุกปีหรือ



24


พายัพ-ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์
ก็ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า นายพายัพ ชินวัตร ศิษย์เอกอาจารย์จิ๋วนั้นมิใช่ลูกโทน หากแต่มีพี่มีน้อง พี่นั้นมีทั้งพี่สาวและพี่ชาย พี่ชายก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริงเสียงจริง พี่สาวก็คือ นางเยาวเรศ ชินวัตร อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ และนางเยาวภา ชินวัตร (เจ๊แดง) ภรรยาของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนน้องสาวก็คือ นาง (สาว) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
ความจริงแล้ว ตระกูลชินวัตรนั้นผูกพันกับคณะธรรมยุตมานาน นับตั้งแต่ "วัดโรงธรรมสามัคคี" ที่อำเภอสันกำแพง ซึ่งตระกูลชินวัตรตั้งถิ่นฐานที่นั่น วัดนั้นสังกัดธรรมยุต เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจออกบวชตามประเพณี ก็ได้เข้ารับการบรรพชา-อุปสมบท ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ มีพระพุทธวจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เป็นพระอุปัชฌาย์
แต่ทางฝ่ายภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ คือคุณหญิงอ้อ (พจมาน ดามาพงศ์) นั้น มีสายสัมพันธ์อยู่กับวัดสระเกศ อันเป็นฝ่ายมหานิกาย
อย่างไรก็ตาม เรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวของนายพายัพกับพระอาจารย์จิ๋วก็เข้ามาเชื่อมความสัมพันธ์กับพระธรรมยุตในภาคอีสาน ก่อนจะขยายกลายเป็นความสัมพันธ์กับพระธรรมยุตภาคกลางหรือทั้งประเทศในวันนี้
ก็หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกปฏิวัติและกลับเข้าประเทศไทยไม่ได้อีกนับแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมานั้น ส่งผลให้
1. ความสัมพันธ์กับพระเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระมหานิกายกระจายอยู่ทั่วประเทศแน่นแฟ้น
2. ความสัมพันธ์กับพระธรรมยุตค่อนข้างห่างเหิน เพราะเกิดปัญหากระทบกระทั่งไม่เข้าใจกันกับพระธรรมวิสุทธิมงคลหรือหลวงตามหาบัว พระอาจารย์ใหญ่ในสายกรรมฐานซึ่งเคยอุ้มสม พ.ต.ท.ทักษิณ และซ้ำเติมพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ถึงกับหลวงตามหาบัวเปรียบ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นดุจเทวทัต กรณีตั้งสมเด็จเกี่ยวเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแทนสมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นสหายของหลวงตาบัว
ถ้าเราดูบทบาทการสัญจรในต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงหลังก็จะพบว่า
1. เข้าเป็นสาวกของวัดพระธรรมกายลอนดอนอย่างเต็มตัว
2. เข้าร่วมงานกับพระในคณะมหานิกายในต่างประเทศทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งปรากฏว่ามีพระฝ่ายมหานิกายเท่านั้นที่กล้าแสดงตัวว่าเป็นพระจีวรแดงและไปต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณ
จึงเป็นอันว่า เส้นสายที่จะเข้าถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของคณะธรรมยุตในประเทศไทย ในยุโรป และอเมริกา นั้น ถูกปิดลงแทบสิ้นเชิงแล้ว เหลือก็แต่ ก็แต่..สายอินเดีย ระหว่างพายัพกับพระอาจารย์จิ๋วแห่งวัดป่าพุทธคยาเท่านั้น
และนั่นเองที่เป็นมูลเหตุว่า ทำไมพระอาจารย์จิ๋วจึงได้รับการส่งเสริมจากพระผู้ใหญ่ในสายธรรมยุตให้ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่ "พระโพธินันทมุนี" เมื่อปีกลาย แบบมาแรงแซงทางโค้ง
ลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันระหว่างวัดป่าพุทธคยากับตระกูลชินวัตร
4 พฤศจิกายน 2554 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานทอดกฐินพระราชทาน ณ วัดป่าพุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทูลขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน
20 ธันวาคม 2555 นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางไปเยือนอินเดียเพื่อร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน โดยได้บินตรงไปยังสนามบินคยา จากนั้นจึงเข้ากราบบูชาพระพุทธเมตตาในพระเจดีย์พุทธคยา และพระศรีมหาโพธิ์ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมวัดไทยพุทธคยาที่รัฐบาลไทยได้ไปสร้างไว้แต่เมื่อ พ.ศ.2500 ด้วย โดยไม่ลืมที่จะไปเยี่ยมวัดป่าพุทธคยา สถานที่ที่ตนเองได้ขอพระราชทานผ้าพระกฐินจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งไปมอบให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย ได้เป็นผู้แทนถวายเมื่อปีก่อน และพบด้วยว่า พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) วัดสัมพันธวงศ์ ก็เดินทางไปรอต้อนรับนายกรัฐมนตรีที่วัดป่าพุทธคยาด้วย โดยบังเอิญยิ่ง

และดังที่เล่าเอาไว้ด้วยว่า พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ) นั้น ได้เริ่มโครงการบรรพชาอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ดึงเอาคณะ บยส. ซึ่งเป็นบุคคลากรมีอิทธิพลระดับสูงในประเทศไทยไปร่วมโครงการ ซึ่งก็คือการเข้าไปเป็นศิษย์ในฝ่ายมหานิกายนั่นเอง ถามว่าธรรมยุตซึ่งชั่วชีวิตที่เกิดมาก็ผูกพันธ์หมั้นหมายอยู่กับ 2 หลัก คือ สำนักพระราชวังกับสายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่บัดนี้เสาหลักทั้งสองกำลังถูกมหานิกายดูดกลืนเข้าไปในอัตราเร่ง แถมซ้ำ ผู้มีอำนาจทางการเมืองตัวจริงเสียงจริงในปัจจุบัน คือพี่ใหญ่และน้องเล็กในตระกูลชินวัตรนั้น (ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์) ก็ถูกมหานิกายเข้าตีสนิทแล้วทุกทิศทาง ถามว่าธรรมยุตจะทำอย่างไรไม่ให้ถูกทิ้งจนต้องยืนต้นตาย และนั่นเองจึงเป็นที่มาของ "การอุปสมบทหมู่ ณ ดินแดนพุทธภูมิจึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2554 และต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 3 ดังมีกรอบข่าวจากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดังนี้


เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 17.00 น. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธีอุปสมบทถวายเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก โดยมี 
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
ต่อมา นายนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถวายรายงานโดยสรุป ดังนี้  “การอุปสมบทหมู่ ณ ดินแดนพุทธภูมิ เป็นโครงการที่เจ้าประคุณ สมเด็จพระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เลขาธิการกรรมการบริหารคณะธรรมยุต เป็นผู้ดำริริเริ่ม โดยมีคณะศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสนับสนุนดำเนินงานติดต่อกันมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 3 ด้วยเกิดกุศลปรารภว่าการบรรพชาอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนานั้น เป็นเนกขัมมจริยาสำคัญอันก่อให้เกิดกุศลมหาศาล แม้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง หากได้เพียรศึกษาและปฏิบัติครองตนอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นการสืบทอดพระศาสนา ทั้งยังเป็นคูณปการแก่สังคมประเทศชาติที่จะได้พลเมืองผู้มีธรรมจรรยา ผ่านการอบรมบ่มจิตใจในทางธรรมมาแล้วโดยได้นำนาคในโครงการเดินทางไปบรรพชาที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดป่าพุทธคยา เมืองพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย จากนั้นจะได้จาริกไปศึกษาพระพุทธประวัติและกระทำสักการบูชา ณ สังเวชนียสถานและสถานที่อันเนื่องในพระพุทธประวัติ อันนับเป็นทัสนานุตริยะที่สามารถโน้มนำน้ำใจผู้บรรพชาอุปสมบท ให้บังเกิดศรัทธาปสาทะ และสามารถเข้าใจและซาบซึ้งถึงเรื่องราวพระพุทธประวัติ และพระพุทธธรรมแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้โดยง่ายด้วยตาและด้วยใจตนเอง ในเวลาอันรวดเร็ว
การดำเนินโครงการในสองปีที่ผ่านมาได้บังเกิดสัมฤทธิผล เป็นที่น่าอนุโมทนายิ่ง ปรากฏว่าในพุทธศักราช 2554 มีผู้อุปสมบทจำนวน 24 รูป และในปีที่ผ่านมามีจำนวนมากขึ้น 81 รูป สำหรับในปีนี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทจำนวน 85 ราย ซึ่งทั้งหมดจะได้เดินทางไปบรรพชาและอุปสมบท ณ สาธารณรัฐอินเดีย และจาริกสักการบูชาสังเวชนียสถานศึกษาปฎิบัติพระธรรมวินัย ตั้งแต่วันที่ 12 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 ทั้งนี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กับทั้งถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงพระราชวิริยอุตสาหะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติ พระบวรพุทธศาสนา และประชาชนเป็นอเนกปริยาย อีกทั้งยังเพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่เจ้าพระคุณ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ในวาระที่จะทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม ศกนี้ ด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อทุกพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ”
ต่อมา สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กล่าวสัมโมทนียกถา ณ บริเวณพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

ประธานของโครงการนี้คือ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นสมเด็จ "หนุ่มแน่นที่สุด" ในฝ่ายธรรมยุตนั่นเอง
สถานที่บวช คือ วัดเทพศิรินทราวาส
สถานที่ไปปฏิบัติศาสนกิจ คือ วัดป่าพุทธคยา ของพระอาจารย์จิ๋ว
นอกนั้นก็มีกรรมวิธีเหมือนโครงการของเจ้าคุณวีรยุทธทุกอย่าง คือบวชแล้วก็นำไปนมัสการสังเวชนียสถาน เป็นเวลา 10 วันก็เสร็จสิ้นโครงการ คือลาสิกขา
แต่ทีนี้ว่าถ้ามองดูให้ดีก็จะพบว่า โครงการนี้นอกจากจะเลียนแบบของวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์แล้ว ก็ยังมีการดึงเอาข้าราชการระดับสูงไปร่วมโครงการ นั่นแสดงว่าเป็นโครงการหยุดการกลืนข้าราชการระดับสูงของฝ่ายมหานิกาย มิให้ดูดกลืนข้าราชการระดับสูงไปแต่ฝ่ายเดียว
พระเอกในโครงการนี้ นอกจากสมเด็จพระธีรญาณมุนีแล้ว ก็ยังมีพระอาจารย์และศิษย์อีกคู่หนึ่ง คือ พระโพธินันทมุนีหรือพระอาจารย์จิ๋ว กับนายพายัพ ชินวัตร มหาอุบาสกของวัดป่าพุทธคยานั่นเอง แต่เพื่อให้เนียนหน่อย สมเด็จพระธีรญาณมุนีจึงทำทีนิมนต์ให้ "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" วัดปากน้ำภาษีเจริญ ไปเป็นประธานการบวชที่วัดเทพศิรินทร์ ในวันที่ 11กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทีนี้พอบวชเสร็จก็เสร็จเลย คือกิจกรรมนับตั้งแต่หลังบวชไปจนถึงลาสิกขานั้น ถูกวางโปรแกรมไว้โดยคณะพระธรรมยุตทั้งสิ้น
ก็ดังที่กล่าวมาโดยตลอดว่า เมื่อมีคณะพระธรรมยุตเกิดขึ้นในเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมานั้น ทั้งสองนิกายได้ทำสงครามขับเคี่ยวแก่งแย่งแข่งดีกันทั้งด้านศาสนิกชนด้านยศถาบรรดาศักดิ์และอำนาจการปกครองในคณะสงฆ์ไทย
ในยุคที่พระราชาเป็นใหญ่ คือในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระสงฆ์ไทยสมัยกรุงธนบุรีก็แสดงวีรกรรม "กราบพระเจ้าแผ่นดิน" ให้เป็นเกียรติประวัติแก่ผ้าเหลืองมาแล้ว
เมื่อเปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย ก็อ้างเอากฎหมายรัฐธรรมนูญว่าใหญ่กว่าพระธรรมวินัย ถึงกับจับพระพิมลธรรมเข้าคุกตะราง เกิดเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยมาแล้ว
เมื่ออำนาจในมือยุคปัจจุบันตกอยู่แก่ตระกูลชินวัตร จึงมิแปลกใจอันใดที่จะมีข่าวว่า สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ในฝ่ายธรรมยุต ได้มอบสมณฐานันดรศักดิ์ที่ "พระครูปลัดสัมพิพัฒนญาณาจารย์" ให้แก่ พระพายัพ ชินวัตร พี่ชายนายกรัฐมนตรี ทันทีที่บวชเสร็จ
บางคนอาจจะมองเห็นว่า เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า สมเด็จพระธีรญาณมุนีมอบให้พระพายัพเพื่อปูนบำเหน็จความชอบต่อการช่วยสร้างวัดป่าพุทธคยาตามคำขอของอาจารย์จิ๋ว นั่นก็ถูก แต่ถูกนิดเดียว เพราะในความเป็นจริงแล้ว การมอบตำแหน่งพระครูปลัดฯให้แก่พระพายัพในครั้งนี้ มีเบื้องหลังมากกว่านั้น มันเป็นทั้งเกมแห่งเงินตราและอำนาจในคณะสงฆ์ไทย และด้วยคำถามที่ว่า "พระพายัพจะบวชแค่เดือนเดียว แต่ทำไมสมเด็จพระธีรญาณมุนีจึงมอบตำแหน่งให้แก่พระใหม่" ซึ่งถ้าใครได้เคยศึกษาวิธีการมอบตำแหน่งพระครูฐานานุกรมแล้วก็จะพบว่า "เมื่อพระครูฐานารูปนั้นลาสิกขาออกไป ก็ถือว่าฐานันดรนั้นว่างลง สมเด็จพระราชาคณะรูปนั้นก็สามารถจะตั้งพระภิกษุรูปใหม่ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนได้" การบวชแค่ 30วันสึกของพระพายัพนั้น มองแล้วก็เป็นเงื่อนไขที่ดีสำหรับสมเด็จพระธีรญาณมุนี เพราะมองเห็นกรอบแล้วว่า "มอบให้เพียง30 วันก็ต้องคืนให้โดยไม่ต้องปลด" ส่วนข่าวสารด้านลบที่โจมตีพระครูปลัดพายัพก็ดี สมเด็จพระธีรญาณมุนีก็ดี ล้วนแต่เป็นผลดีต่อสมเด็จพระธีรญาณมุนีและคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะเมื่อโดนตีหนักๆ ตระกูลชินวัตรก็จะยิ่งเพิ่มความเห็นใจและเลื่อมในศรัทธาในคณะธรรมยุติกนิกาย ก็บรรลุเป้าหมายในโครงการ"การอุปสมบทหมู่ ณ ดินแดนพุทธภูมิของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตแล้ว สุดยอดจริงๆ
ปัจจุบัน ทางคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตก็ได้รับการอุปถัมภ์จากตระกูลชินวัตรอยู่แล้ว
อนาคตก็ยังจะได้รับการอุปถัมภ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะได้เห็นใจกันตั้งแต่ในวันนี้แล้ว
อ้า..ว่าแต่คุณครูไม่ใหญ่ว่ายังไงฮะ จัดรายการปรโลกนิวส์เสร็จหรือยังฮะ อย่าลืมดูฐานเสียงที่เคยหว่านเอาไว้ในตระกูลชินวัตรด้วยล่ะ ประเดี๋ยวกลับมาพบว่า "แม้วหาย" ก็บรรลัยกัน
และตามคำถามที่ผู้เขียนได้ตั้งคำถามไว้แต่ต้นว่า
ตั้งพระพายัพ ชินวัตร เป็นพระครูปลัดสมเด็จฯ
การเมืองยุ่งศาสนาหรือศาสนายุ่งการเมือง
ความจริงก็อยากจะให้ท่านผู้อ่านได้ตอบเองบ้างว่าใครยุ่งกับใคร แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว รอคำตอบอาจจะไม่ทันใจ ผู้เขียนจึงขอตอบเสียเองเลยว่า "มันก็ยุ่งด้วยกันทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ"
และตราบใดที่พระสงฆ์เมืองไทยยังมีนิกาย เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นหมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่สิ้นสุดดุจสังสารวัฏ ต่างกันก็เพียงแต่เหตุและปัจจัยทำให้เป็นไปเท่านั้น
เมื่อเริ่มตั้งคณะธรรมยุตขึ้นมานั้น คนไทยที่ใกล้ชิดสถาบัน โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ไม่เห็นมีใครต่อต้าน ต่างนิยมชมชอบไปด้วยซ้ำ
เมื่อธรรมยุตขัดขวางการรวมนิกายของคณะราษฎรจนล้ม พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ได้สำเร็จนั้น ก็ไม่เห็นคนไทยคนไหนออกมาปกป้อง พรบ.คณะสงฆ์ ฉบับเก่า และต่อต้านฉบับใหม่ (ยกเว้นกรณีตั้งมหานิกายเป็นใหญ่กว่าธรรมยุต ชาวกรุงเทพฯก็ออกมาต่อต้าน แต่ถ้าตั้งให้ธรรมยุตใหญ่กว่ามหานิกายกลับไม่เห็นมีใครต่อต้านเลย)
แล้ววันนี้ วันที่พระธรรมยุตผู้บริสุทธิ์กว่ามหานิกายอวยยศให้คนในตระกูลชินวัตร ก็อยากจะถามว่า "จะโวยวายไปทำไม"เพราะธรรมยุตนั้นเป็นนิกายของเจ้า มีความจงรักภักดีต่อสถาบันโดยไม่ต้องพูดอยู่แล้ว ใครบังอาจวิพากษณ์วิจารณ์เจ้าก็ถือว่าไม่จงรักภักดีอยู่แล้ว ทำนองเดียวกัน ใครที่บังอาจวิพากษ์วิจารณ์ "คณะสงฆ์ของเจ้า" นั่นก็เท่ากับว่า "ไม่จงรักภักดีต่อเจ้า"เช่นกันมิใช่หรือ ?

มันเป็นสุดยอดของการเพลย์เกมแห่งอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม
พัดยศพระครูปลัดสัมพิพัฒนญาณาจารย์นั้น ก็เป็นเพียงแค่ฐานานุกรมของสมเด็จพระธีรญาณมุนี แต่เมื่อเอาไปวางไว้ในมือของพระพายัพ ชินวัตร แล้ว กลับกลายเป็นอาวุธทรงพลังมหาศาล เรียกให้พหลพลนิกายต่างๆ ในทุกภาคส่วนของประเทศไทยต้องกระโจนเข้าใส่กลายเป็นเรื่องใหญ่ภายในพริบตา

ใครที่คิด และทำเช่นนี้ได้ ก็ต้องขอน้อมคารวะว่า

"สุดยอด"

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา24 กุมภาพันธ์ 2556
0
3:00 P.M. Pacific Time.


จากผู้บันทึก ขอสาปแช่งผู้มาบวชเป็นอาชีพ ไม่เป็นประโยชน์แก่ทวยเทพและมนุษย์ และได้ทำกรรมไว้กับบวรพระศาสนา จงรับกรรมนั้น ขอให้มีอันเป็นไปทุกคน จาก สมเกียรติ กาญจนชาติ 27 กุมภาพันธ์ 2556

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ