มหาเถรสมาคมนั้นทำทีเป็น "ปากว่าตาขยิบ"ถือหางธรรมกาย ?
วิเคราะห์ข้อสังเกต 7 ประการ
ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต่อการจัดตั้งพุทธสภาของกรมการศาสนา
วันที่
10
กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 นายอำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
เกี่ยวกับการจัดตั้งพุทธสภาของกรมการศาสนา ซึ่งนายอำนาจได้แสดงข้อขัดแย้งเป็นจำนวน
7 ข้อ ด้วยกัน
ได้แก่
ในฐานะที่ ผู้เขียน ได้ติดตามข่าวสารงานของคณะสงฆ์มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา
10 ปี
เป็นอย่างน้อย และได้เห็นทั้งสิ่งที่เป็นปรกติและผิดปรกติในพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
ได้นำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเสนอโดยตลอด
จึงขอแสดงความเห็นต่อข้อสังเกตของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติข้างต้นนั้นไว้ดังนี้
คำถามของสำนักพุทธฯ ข้อที่ 1
: เมื่อตั้งพุทธสภาเป็นองค์กรของภาคเอกชนส่งเสริมพระพุทธศาสนา
แต่กลับตั้งวัฒนธรรมจังหวัดเป็นเลขาธิการคณะกรรมการระดับจังหวัด และรองอธิบดี ศน.
เป็นเลขาธิการคณะกรรมการระดับชาติ ถือว่าผิดวัตถุประสงค์
เพราะองค์กรเอกชนต้องมีการเลือกเลขาธิการกันเอง
ไม่ใช่ให้ทางราชการเข้าไปกำหนด
มุมมองของพระมหานรินทร์ : ข้อแรกนี้ทางสำนักพุทธฯชี้ประเด็นว่า
"พุทธสภาเป็นองค์กรเอกชน
แต่ทำไมถึงเอาข้าราชการมาเป็นเลขาธิการทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ" คำตอบก็น่าจะเป็นกรณีเดียวกับมหาเถรสมาคม
ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ขึ้นต่อรัฐบาลไทย
แต่ถึงอย่างไรก็ต้องอาศัยอำนาจของรัฐในการอุปถัมภ์และคุ้มครอง ดังนั้น
จึงกำหนดให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง
และเมื่อมีการตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาขึ้นมาแล้วมีการโอนงานของกรมการศาสนามาเป็นของสำนักพุทธฯ
ก็ต้องเปลี่ยนให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง
ส่วนอธิบดีกรมการศาสนาก็เป็นเพียงอธิบดีกรมการศาสนา คือมีเพียงชื่อว่าทำงานศาสนา
แต่เนื้องานหลักๆ
เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้นถูกโอนมาไว้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจนเกลี้ยง
เหลือเพียงงานพระราชพิธี งานศาสนพิธี พอเป็นกระสายเท่านั้น
แต่ตรงนี้ถ้าจะพูดแล้วก็ต้องว่ากันไปถึงกระบวนการการเกิดขึ้นของสำนักพุทธฯ
รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการจัดตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นมาอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำนักพุทธฯถามก็คือว่า เมื่อเป็นองค์กรเอกชน
แล้วเหตุไฉนจึงเอารองอธิบดีกรมการศาสนาและวัฒนธรรมจังหวัดมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพุทธสภา
ตรงนี้ก็จะเห็นได้ว่า
ทางกรมการศาสนาจัดตั้งพุทธสภาขึ้นมา
โดยเลียนแบบการจัดตั้งมหาเถรสมาคมนั่นเอง คือมหาเถรสมาคมมีธรรมนูญปกครองตนเองที่เรียกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ถ้าจะกำหนดให้มีเลขาธิการเป็นพระสงฆ์หรือเป็นเอกชนก็ทำได้
แต่ถามว่าทำไมต้องเอาอธิบดีกรมการศาสนาซึ่งเป็นข้าราชการกินเบี้ยเลี้ยงเงินเดือนมาเป็นเลขาธิการ
แม้แต่เลขาธิการในปัจจุบันคือ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น
ก็หาใช่เอกชนไม่ หากแต่เป็นข้าราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้น
คำถามนี้จึงมีความหมายว่า พุทธสภาที่จัดตั้งขึ้นนั้นเป็นองค์กรใหญ่ที่จะมาทำงานแข่งกับมหาเถรสมาคม แต่นั่นยังมิสำคัญเท่ากับว่า
มีการแย่งเอาบุคคลากรที่ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของมหาเถรสมาคมไปเป็นของพุทธสภา
เพราะถ้าพิจารณาพุทธบริษัท 9 กลุ่ม ที่เรียกว่า "นวภาคี"
ที่ทางกรมการศาสนาประกาศดึงตัวไปร่วมงานสร้างพุทธสภาด้วยกัน อันได้แก่
1.
ภาคีเครือข่ายภาคพระสงฆ์
2. สตรี
3.
องค์กรการกุศล
4. ชุมชน
5.
ภาคธุรกิจ
6.
ภาควิชาการและวิชาชีพ
7.
สื่อมวลชน
8.
ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และ
9.
เด็กและเยาวชน เพื่อส่งเสริมงานด้านพระพุทธศาสนา
ก็จะเห็นได้ว่า "ครอบจักรวาล"
แถมยังกว้างไกลไปถึงต่างประเทศหรือทุกมุมโลก เพราะปัจจุบันนั้น
กรมการศาสนามีสมาชิกวิสามัญอยู่มากมายหลายประเทศ สมาชิกที่ว่านั้นได้แก่
พระสงฆ์และคฤหัสถ์ผู้ได้รับรางวัลเสมาธรรมจักรทองคำ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา
ประมาณว่ามีถึง 3,000 รูป/คน และจะเพิ่มมากขึ้นถึงเกือบ 200
รูป/คน ในทุกปี
บุคคลเหล่านี้เป็นระดับหัวหน้าของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศและทั่วโลก
เมื่อถูกดึงมาเป็นภาคีของพุทธสภา ย่อมจะมีพลังทั้งทางด้านสติปัญญาและการเงิน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีพระสงฆ์หลายรูปที่เรียกได้ว่า "เป็นพระนอกมหาเถร" คือถึงแม้จะอยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคม แต่ไม่มีตำแหน่งในทางการสงฆ์
หากแต่มีบทบาทในการทำงานเป็นการส่วนตัวจนโดดเด่น ดังนั้น
ถึงแม้จะมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางในสังคม แต่ไม่มีพื้นที่ทำงานในมหาเถรสมาคม
เพราะมหาเถรสมาคมจะพิจารณายศถาบรรดาศักดิ์ให้ก็ต่อเมื่อต้องเป็นผู้ช่วยหรือเจ้าอาวาสพระอารามหลวง
เป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการ
ทั้งนี้ต้องมีทีท่าว่าพินอบพิเทาเข้าไปสนองงานคณะสงฆ์ผ่านเจ้าคณะผู้ปกครองในระดับสูงของมหาเถรสมาคมด้วย
จึงจะถือว่ามีคุณสมบัติเป็นเบื้องต้นในการพิจารณาให้สมณศักดิ์ของมหาเถรสมาคม
กลุ่มพระสงฆ์เหล่านั้นจะเรียกว่าบุคคลชายขอบก็ใช่ที่ เพราะทำงานพระศาสนาเหมือนกัน
อาจจะได้ผลไม่ด้อยหรืออาจจะมากกว่าพระสงฆ์ในสังกัดของมหาเถรสมาคมด้วยซ้ำไป
แต่เพราะมหาเถรสมาคมได้วางนโยบายโดยพฤตินัยว่า "จะต้องยินยอมเป็นข้ารับใช้และไม่มีปากมีเสียงใดๆ
จึงจะพิจารณาสมณศักดิ์ให้"
เรื่องนี้มิได้มีในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แต่ว่ามหาเถรสมาคมได้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นเอง
เพราะถือว่าตัวเองมีอำนาจในการบริหารกิจการพระศาสนา
โดยมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นใบเบิกทางของการใช้อำนาจอย่างฟุ่มเฟือยในปัจจุบัน
ในอดีตนั้นเคยมีการตั้งองค์กรขึ้นมาแข่งกับมหาเถรสมาคม (คณะสงฆ์เดิม)
เช่น
1. การตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่
4
ตอนนั้นมีการต่อต้านจากพระในนิกายเดิม (สยามวงศ์) ไม่ยอมให้มีนิกายใหม่
แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงใช้พระราชอำนาจพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง
พระสงฆ์นิกายเดิมจึงไม่สามารถจะต้านทานได้
พระสงฆ์ราชาคณะที่มีอุดมการณ์ต่างทยอยสึกกันไปเป็นจำนวนมาก
จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชโองการ
"ห้ามพระราชาคณะสึก" ในปี พ.ศ.2397 มีความว่า
นี่คือการใช้พระราชอำนาจบีบให้พระสงฆ์นิกายเดิมต้องยินยอมรับการเกิดขึ้นของคณะธรรมยุติกนิกาย
และในรัชกาลต่อมา (ร.5)
เมื่อทรงประกาศใช้กฎหมายคณะสงฆ์ที่เรียกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ร.ศ.121
จึงมีการเพิ่มเติมคณะธรรมยุติกนิกายเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมหาเถรสมาคม
แน่นอนว่าคณะธรรมยุตเกิดก่อนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121
ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกได้ว่า "นิกายเถื่อน"
แต่สมัยนั้นใครจะกล้าเรียกเช่นนั้น เพราะแค่ลาสิกขาก็ยังต้องติดคุกติดตะราง สรุปว่า
ธรรมยุตแจ้งเกิดสำเร็จ แถมยังสามารถขี่มหานิกายได้อีก
เพราะอาศัยพระราชอัธยาศัยทรงเลือกให้พระสงฆ์นิกายธรรมยุตขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องนานถึง
80 ปี
จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม มหานิกาย
จึงมีโอกาสได้ขึ้นครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นครั้งแรกในปี
พ.ศ.2481
2.
การประกาศแยกตัวของคณะสงฆ์สันติอโศก ในปี พ.ศ.2532
ตอนนั้น
มหาเถรสมาคมประกอบด้วยมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย
ได้รวมกันทำประกาสนียกรรมและปัพพาชนียกรรมขับไล่สันติอโศกซึ่งมี "พระโพธิรักษ์" เป็นหัวหน้า ว่ามิใช่พระในคณะสงฆ์ไทยอีกต่อไป
ส่งผลให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามหาเถรสมาคมมีอำนาจในการสั่งสึกพระโพธิรักษ์ได้
พระโพธิรักษ์จึงต้องเปลี่ยนสีจีวรให้เป็นสีดำพร้อมกับเปลี่ยนคำนำหน้าว่า
"สมณะ"
เพื่อจะเลี่ยงผิดกฎหมายว่าด้วยการแต่งกายเลียนแบบพระภิกษุสงฆ์
ตอนนั้นสันติอโศกไม่สามารถแยกนิกายใหม่ได้สำเร็จ
ทั้งนี้เพราะมิได้มีอำนาจมากระดับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหนุนหลัง
แม้ว่าจะมี พลตรีจำลอง ศรีเมือง
และพรรคพลังธรรม เป็นกองกำลังทางด้านการเมืองก็ตาม
แต่เมื่อมาชนกับมหาเถรสมาคมอันมีพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคุ้มครองแล้วก็พ่ายแพ้ไป
อย่างไรก็ตาม
ถึงปัจจุบันสันติอโศกก็หาได้หยุดความเคลื่อนไหวในการสถาปนาลัทธินิกายใหม่แต่อย่างใดไม่
เห็นได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย
ซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยประมาณ หลังสุดก็ยังเป็นกองเสบียงให้แก่ม็อบของพลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธฯอ้าย
ซึ่งประกาศจะโค่นล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ให้ได้ภายในหนึ่งวัน แม้จะไม่สำเร็จ
แต่พลพรรคสันติอโศกก็กลับไปพักพลเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เรื่องนี้ผู้คนอาจจะมองเห็นว่า สันติอโศกไม่มีพิษสงอะไร เพราะทำการล้มเหลว
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่า สันติอโศกมีแต่ได้กับได้
เพราะได้ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองระดับ "เป็นกบฎล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ" โดยที่ไม่มีใครกล้าจับ
เพราะถ้าล้มล้างรัฐบาลสำเร็จก็จะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการจัดตั้งรัฐบาล
ทำนองคนเสื้อแดงทวงบุญคุณรัฐบาลปัจจุบันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่แม้จะไม่สำเร็จ
ก็ยังสามารถแสดงแสนยานุภาพให้คนได้เห็นว่า "กูแน่"
เพราะนึกอยากจะไล่รัฐบาลเมื่อไหร่ก็มากันง่ายๆ
เหมือนนึกหิวขึ้นมาก็วิ่งไปเซเว่นอีเลฟเว่นฉะนั้น ที่สำคัญก็คือ
เป็นการประกาศให้ชาว กทม. ได้รับรู้รับทราบว่า กลุ่มสันติอโศกยังอยู่
มิได้ล้มตายหายไปไหน หนำซ้ำเมื่อมีการชูสโลแกน "รักในหลวง-ต่อต้านคนที่คิดทำลายสถาบัน" มาเป็นนโยบายในการต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งปี
2549
ส่งผลให้สันติอโศกได้รับการยอมรับจากชาวกรุงเทพฯมากขึ้น
ถึงกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยหลายคนเกิดความเห็นว่า "พระสงฆ์ในสังกัดมหาเถรสมาคมใช้ไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นพระจีวรแดง
สนับสนุนทักษิณและพรรคเพื่อไทย
ซึ่งเป็นพรรคที่มีพฤติกรรมทำลายสถาบัน" ดังนั้นจึงหันไปสนับสนุนกลุ่มสันติอโศกแทน
ก้าวย่างของโพธิรักษ์ในการนำพลพรรคสันติอโศกเข้าสู่สมรภูมิทางการเมืองในระยะ
10
ปีที่ผ่านมาจึงนับว่าแหลมคม และมีแต่ได้กับได้ ไม่เคยเสียอะไรเลย
เพียงแต่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดคือยึดกุมอำนาจรัฐไว้ในมือเท่านั้น
หากว่าวันใดสันติอโศกสามารถเป็นสมองและกองกำลังล้มล้างรัฐบาลคนเสื้อแดงลงได้
วันนั้นก็เชื่อได้ว่า "เกิดนิกายสงฆ์ใหม่ขึ้นในประเทศไทย" แน่นอน คอนเฟิร์ม !
3.
การสยายอำนาจของวัดพระธรรมกาย
ซึ่งถูกคณะสงฆ์ไทยดำเนินการสอบสวนเอาผิดว่าด้วยการสอนวิปริตผิดไปจากพระบาลีเดิมว่า
"พระนิพพานเป็นอัตตา" ในปี พ.ศ.2542 ตอนนั้นวัดพระธรรมกายใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส
ปรับบทบาทจากการแข่งขันมาเป็นผู้สนับสนุนงานของมหาเถรสมาคม
โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ
เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และกรรมการมหาเถรสมาคม องค์อุปัชฌาย์ของพระธัมมชโยเป็นตัวเชื่อม
สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมนักธรรม-บาลี จนมีสถิติสอบได้ "สูงสุด" ในบรรดาสำนักเรียนวัดต่างๆ ในประเทศไทย
ต่อมาเมื่อไฟใต้ลาม ธรรมกายก็สร้างนโยบายคล้ายๆ "วัดช่วยวัด" ออกโครงการบิณฑบาตพระหนึ่งพันรูป
นำเอาข้าวสารอาหารแห้งลงไปช่วยวัดในสามจังหวัดภาคใต้
และเมื่อโครงการนี้จุดติดเพราะไม่มีใครติดใจ
ก็ขยายเป็นโครงการบิณฑบาตพระหนึ่งหมื่นรูป สามหมื่นรูป จนถึงหนึ่งแสนและล้านรูป
ข้าวสารอาหารแห้งที่ประชาชนสนใจในวัตถุประสงค์ "ช่วยพระภาคใต้"
นำมาใส่บาตรนั้นมากเกินไป วัดในสามจังหวัดภาคใต้รับไม่ไหว
ธรรมกายก็เผื่อแผ่เอาไปแจกแก่ชาวบ้านร้านตลาด รวมทั้งทหารตำรวจอย่างต่อเนื่อง
แหมขนาดหมาได้กินข้าวยังรู้บุญคุณคน แล้วนี่คนกินข้าวคน
ถ้าไม่รู้คุณคนก็จะถูกตราหน้าว่า "เนรคุณ" บุญคุณของธรรมกายนั้นแผ่ไพศาลไปทั่วสามจังหวัดภาคใต้
ขนาดว่าถ้าเอาเสาไฟลงสมัครรับเลือกตั้งในนามธรรมกาย
รับรองว่านอนมากว่าประชาธิปัตย์อีก หรือถ้าจะมองอีกมุมหนึ่งก็คือว่า
เวลานี้ฐานเสียงในสามจังหวัดภาคใต้นั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัดพระธรรมกายไปแล้ว
พรรคการเมืองใดต้องการคะแนนเสียงในพื้นที่ดังกล่าวต้องวิ่งไปวัดพระธรรมกาย
หรืออีกนัยหนึ่ง
พรรคเพื่อไทยอาศัยวัดพระธรรมกายเป็นกองหน้าเข้าไปหาคะแนนเสียงในสามจังหวัดภาคใต้
โดยมีโครงการบิณฑบาตเป็นตัวเปิดทาง
เมื่อคุมชาวพุทธในสามจังหวัดภาคใต้ได้โดยอาศัยความไม่เอาถ่านของมหาเถรสมาคมแล้ว
ธรรมกายก็หันมาหาตลาดเมืองหลวง
เนื่องเพราะกรุงเทพมหานครนั้นเป็นจุดศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศไทย
เห็นว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา
สันติอโศกได้พลิกบทบาทจากผู้รับมาเป็นผู้รุก
เข้าร่วมเป็นภาคีทางการเมืองกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างออกหน้าแต่ว่าไม่ผิด
เพราะถูกกีดกันว่ามิใช่พระภิกษุสงฆ์ ดังนั้นจะอ้างเอาพระธรรมวินัย กฎหมายคณะสงฆ์
มาเป็นตัวบทลงโทษสันติอโศกก็ไม่ได้
ปล่อยให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายและศีลธรรมขนาดใหญ่
ให้โพธิรักษ์ทำงานการเมืองได้อย่างเจ้าพ่อเรียกพี่
ธรรมกายเห็นว่าถ้าไม่เข้ากรุงเทพมหานครเสียแต่ตอนนี้ ก็อาจจะเสียทีแก่สันติอโศกได้
ดังนั้นจึงหันเข็มทิศโครงการตักบาตรพระล้านรูปเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร
และต่อยอดเป็นโครงการธุดงค์ธรรมชัย ทั้งนี้เพื่อชิงพื้นที่ใน กทม. อันเป็นเมืองหลวง
ไม่ให้สันติอโศกจัดคอนเสิร์ตมอมเมาชาวเมืองหลวงแต่เพียงวงเดียว
ถามว่าการมาของธรรมกายในโครงการต่างๆ เหล่านั้น
มหาเถรสมาคมรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ ?
คำตอบก็คือ
โครงการของธรรมกายไม่เคยผ่านการเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
แต่..แต่ก็มีกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต
รวมทั้งเจ้าคณะพระสังฆาธิการทั่วประเทศไปร่วมด้วยช่วยกันอย่างพร้อมเพรียงเรียงหน้า
ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีมติมหาเถรสมาคมรองรับกิจกรรมของธรรมกาย
แต่การที่พระสังฆาธิการตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับกรรมการมหาเถรสมาคมไปร่วมงานธรรมกายนั้น
ก็แสดงให้เห็นว่า มหาเถรสมาคมสนับสนุนวัดพระธรรมกายโดยพฤตินัย ถ้าเรียกเป็นภาษาวัยรุ่นสมัยนี้ก็ว่า
"เนียน" เพราะปล่อยเสรีให้พระในสังกัดมหาเถรสมาคมไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างครึกโครม
อีกด้านหนึ่งนั้น
มีกระแสข่าวว่า
วัดพระธรรมกายได้เดินเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัว ทั้งนี้นับแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
ได้เดินทางไปปาฐกถาที่สภาธรรมกายสากลในวัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่
18 กรกฎาคม
พ.ศ.2549 ต่อจากนั้น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกคณะ คมช.
ปฏิวัติในวันที่ 19 กันยายน 2549
ส่งผลให้กลับประเทศไทยไม่ได้อีกจนบัดนี้ แต่เวลาที่อยู่ในเมืองนอกนั้น ปรากฏภาพของ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา และบุตรสาวบุตรชาย ชวนกันเข้าวัดพระธรรมกายเป็นหลายครั้ง
ในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมานั้น
มีข่าวว่า "พ่อใหญ่"
แห่งสำนักจานบิน ได้ส่งอาณัติสัญญาณไปยังกัลยาณมิตรทั่วโลก
ให้ระดมกำลังกันช่วยให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเพื่อจะได้ตั้งรัฐบาล
พ่อใหญ่ยังได้ส่ง "น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล" อดีตรองนางสาวไทย ในฐานะอัครสาวิกาของธรรมกาย
ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งด้วย โดยนัยยะก็คือว่า
วัดพระธรรมกายมีตัวแทนในพรรคเพื่อไทยแล้ว นั่นคือ ลีลาวดี วัชโรบล
ความเป็นเอกภาพ-เอกีภาพ ระหว่างพรรคเพื่อไทย
(ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) กับวัดพระธรรมกาย (ธัมมชโย-ทัตตชีโว และลีลาวดี) นั้น ส่งผลอย่างทันตาเห็น เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรี
ไปร่วมงานตักบาตรพระล้านรูปของวัดพระธรรมกาย ปูพรมทั่วกรุงเทพฯถึง
6 จุดด้วยกัน
ระหว่างวันที่ 10 มี.ค. -25 มี.ค.
2555 เบื้องหน้านั้นผู้เขียนเล่าไปแล้ว
แต่เบื้องหลังการจัดงานนั้นน่าสนใจว่าใครเป็นคนประสานงาน ถ้าไม่ใช่
"ลีลาวดี"
และใครเป็นคนบงการ ถ้าไม่ใช่ "ทักษิณ ชินวัตร" แถมยังมีการสร้างโครงการธุดงค์ธรรมชัย ปิดถนน ปูพรม โรยดอกไม้
ให้พระธุดงค์เดินผ่านกรุงเทพฯ โดยประกาศว่าจะทำทุกปีเพื่อให้เป็นประเพณีไทยสมัยใหม่
เรื่องแบบนี้ถ้ารัฐบาลไม่เป็นใจจะจัดได้หรือ ?
สรุปตรงนี้ว่า มีการแย่งชิงพื้นที่เมืองหลวงระหว่างนักบวช 2 สำนักใหญ่ๆ ได้แก่
สันติอโศกและธรรมกาย
ซึ่งต่างก็มีภาคีอันได้แก่กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นแรงหนุน
และมองให้เห็นว่า มหาเถรสมาคมเจ้าของพื้นที่เดิมนั้น ได้แต่มองตาปริบๆ
ปล่อยปละละเลยให้นักเลงโตสองก๊กยกพลเข้าห้ำหั่นกันกลางกรุง
โดยมหาเถรสมาคมนั้นทำทีเป็น "ปากว่าตาขยิบ"
ถือหางธรรมกายให้ซัดกับสันติอโศก เพราะหานักมวยฝีมือระดับเดียวกันได้ยาก
ธรรมกายเลยพลิกบทบาทจาก "ผู้ร้าย" กลายเป็น "พระเอก" ในบัดดล
ดังกรณีที่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์
(ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้รับการเสนอจากมหาเถรสมาคมให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น "พระเทพมหาญาณมุนี" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม
พ.ศ.2554
ที่ผ่านมา
แต่..เชื่อหรือว่า ถ้าชนะศึกจนได้เป็นนายพลแล้ว ธัมมชโย จะยอมกดค่าตัวเป็นเพียงแค่ "เบี้ย" หรือ
"ม้าใช้" ให้แก่มหาเถรสมาคมอีกต่อไป เห็นเสือหมอบก็นึกว่าเสือไหว้
จะเข้าใจอย่างนั้นนะหรือ
?
เพราะในมติมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา
ปรากฏว่ามีรายงานความคืบหน้าของการสร้างพระไตรปิฎกฉบับวัดพระธรรมกายต่อมหาเถรสมาคมด้วย
โดยมิทราบว่าทางมหาเถรสมาคมได้แต่งตั้งกรรมการควบคุมดูและและตรวจสอบโครงการนี้แต่อย่างใด
ได้ยินก็เพียงเสียงคำรามของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม
ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง
ได้ออกมากล่าวเมื่อมีข่าวว่าวัดพระธรรมกายดำเนินการจัดทำพระไตรปิฎกเป็นของตนเองว่า
"ห้ามสอนว่าพระนิพพานเป็นอัตตา" แล้วเสียงนั้นก็ลอยหายไปกับสายลม
มันหมายถึงอะไร ? อ๋อก็หมายถึงว่า
วัดพระธรรมกายมีพระไตรปิฎกเป็นของตนเองแล้ว เป็นวัดแรกในโลกด้วยซี
ขนาดคณะสงฆ์ไทยตั้งกันมานมนานนับพันปี ยังไม่มีวัดไหนทำได้เลย
นั่นก็คือปัญหาทางด้านการบริหารการปกครองของคณะสงฆ์ไทย
รวมทั้งบทบาทของมหาเถรสมาคมต่อพุทธศาสนิกชนชาวไทย
ทีนี้ว่า การเกิดขึ้นของสภาพุทธในคราวนี้มีนัยยะที่แปลกออกไป
คือมีการชูหลักการหรูๆ ให้ดูสวยงามจำนวน 4 ข้อใหญ่
ได้แก่
1. เพื่อเป็นพุทธานุสรณ์ ฉลองพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
2.
ร่วมรณรงค์ให้มีการรวมพลังชาวพุทธ สร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมของชาติ
ร่วมเป็นเครือข่ายสมาชิกพุทธสภา
3.
ร่วมเป็นกำลังสนับสนุนให้เกิดพุทธสภาอย่างมีประสิทธิภาพ และ
4. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพุทธสภาที่จะส่งเสริมให้ชาวพุทธในชุมชนดำรงความดี
และสร้างความมั่นคงบทบาทชาวพุทธให้เกิดความรู้รักสามัคคี
หลักการทั้งสี่เหล่านี้มองดูแล้วแทบไม่มีอะไรให้จับต้องได้เลย
มันเหมือนกับคำขวัญวันเด็กเท่านั้น
แต่สำหรับพุทธสภาที่จะตั้งขึ้นนี้มิได้มีสถานะเช่นนั้น
หากแต่จะเป็นองค์กรทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ระดับมหาเถรสมาคมและรัฐบาลต้องเกรงใจ
และจะอยู่ได้นาน
เพราะมีงบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรมอุดหนุนเป็นจำนวนมหาศาล
ที่ว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของมหาเถรสมาคมนั้น
เพราะสาเหตุว่า
สรุปว่า
ถ้าตั้งพุทธสภาขึ้นมาได้ ก็จะดึงเอามวลชนชาวพุทธทุกระดับไปไว้ที่พุทธสภาหมด
และเมื่อนั้นบทบาทของพุทธสภาก็จะล้ำหน้ามหาเถรสมาคม เพราะพุทธสภามี "สื่อมวลชน" เข้าไปเป็นภาคีหนึ่ง
ซึ่งจะเป็นกระบอกเสียงให้แก่พุทธสภาทางสื่อทุกช่องทาง
ขณะที่มหาเถรสมาคมไม่มีภาคีที่ว่านี้
ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้นเขียนไว้ตกยุคแล้ว
อีกภาคีที่น่ากลัวก็คือ "สตรี"
ซึ่งมีวลีว่า "สตรีคือศัตรูของพรหมจรรย์" จึงเข้าใกล้พระใกล้เจ้าได้ยาก
มีการเรียกร้องให้พระสงฆ์ไทยสามารถบวชพระภิกษุณีและสามเณรีให้แก่สตรีไทย
แต่มหาเถรสมาคมก็ยึดมั่นในพระธรรมวินัยของเถรวาท ยืนกรานไม่ยอมบวชให้
แถมสมเด็จพระสังฆราชยังได้ออกคำสั่งทำนองเป็นกฎหมายอีกด้วยว่า
นั่นคือปมด้อยของสตรีไทยในพระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่า
คนที่ทำบุญสุนทานทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามากที่สุดนั้นก็คือ "สตรี" มิใช่ "บุรุษ"
ที่ว่านี้มีสถิติทั้งคนเข้าวัดและบริจาคทำบุญ กล่าวให้ชัดเลยก็ได้ว่า
สตรีคือกำลังของพระพุทธศาสนาที่มากและมั่นคงที่สุด
แต่น่าจะได้รับการส่งเสริมมากที่สุดกลับได้รับการกีดกันมากที่สุด
เป็นเรื่องมหัศจรรย์ วันนี้ เมื่อมีเวทีเปิด คือพุทธสภา
เชื่อแน่ว่าสตรีไทยมากมายคงจะเข้าไปเป็นสมาชิก เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อพระพุทธศาสนา
ที่ไม่เคยหาได้ในประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา
เราอาจจะได้เห็นดาวสภาเป็นสุภาพสตรี มีบทบาททำงานทั้งในและต่างประเทศ
และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ พุทธสภาจึงน่าจะเป็น "คำตอบดีที่สุด" ของสตรีไทยในสมัยปัจจุบัน และถ้าพุทธสภามีอำนาจมากขึ้น
สตรีไทยก็อาจจะใช้มติของพุทธสภานี่แหละ
บีบรัฐบาลให้ออกกฎหมายเปิดช่องให้สตรีไทยสามารถบวชเป็นภิกษุณีและสามเณรีได้โดยไม่ผิดกฎหมายคณะสงฆ์
แน่นอนว่าถ้าทำได้ก็ไม่ต้องแคร์มหาเถรสมาคมอีกต่อไป
อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นในโลกใบนี้ ขอเพียงมีโอกาส
ภาพรวมที่ผู้เขียนนำเสนอมานี้ก็สรุปอยู่ที่ว่า
พุทธสภาจะมีบทบาทโดดเด่นและกว้างขวางกว่ามหาเถรสมาคมแน่นอน
เพราะดึงเอาทั้งพระสงฆ์สามเณรทั่วสังฆมณฑลไปเป็นแนวร่วม รวมทั้งภาคีอื่นๆ
ซึ่งล้วนแต่มีกำลังระดับพรรคการเมืองทั้งนั้น
ทีนี้ว่า เมื่อทราบว่าพุทธสภาจะมาเป็นคู่แข่งของมหาเถรสมาคม
โดยที่คนของมหาเถรสมาคมก็ไปสนับสนุนส่งเสริมหรือถูกดึงไปร่วมงานพุทธสภาด้วยนั้น
ถามว่ามหาเถรสมาคมจะทำอย่างไร
จะห้ามไม่ให้เปิดพุทธสภาได้ไหม
ถ้าว่าห้ามไม่ได้ แต่จะห้ามพระสงฆ์สามเณรไม่ให้ไปร่วมงานกับพุทธสภา
เพื่อให้พุทธสภาขาดภาคีสำคัญไป ได้หรือไม่ ?
คำตอบก็คือว่า คงยาก
เพราะว่าพุทธสภาก่อตั้งโดยหน่วยงานของรัฐ คือกรมการศาสนา
และกรมการศาสนานั้นสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม อันขึ้นตรงต่อรัฐบาลไทย
ทั้งบุคคลากรที่จะมาสนองงานพุทธสภาและงบประมาณสนับสนุนนั้นก็ตัดมาจากงบประมาณกระทรวงวัฒนธรรม
ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลไทยจะเป็นผู้ตัดสินใจ "ให้มาก-ให้น้อย"
เป็นด่านสุดท้าย
หมายถึงว่าพุทธสภาจะเป็นหน่วยงานใหม่ที่รัฐบาลไทยสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
เพราะอย่าลืมว่า
แม้แต่มหาเถรสมาคมเองก็ต้องพึ่งพารัฐบาลไทยในแทบทุกด้าน
เมื่อรัฐบาลจะเปิดเวทีพุทธขึ้นมาเป็นพุทธสภา ถ้ามหาเถรสมาคมบอยคอต
ก็จะเป็นการประกาศสงครามกับรัฐบาล ซึ่งถ้าการบอยคอตของมหาเถรสมาคมมีผล
ก็อาจจะส่งผลให้รัฐบาลล้ม แต่ถ้าการบอยคอตของมหาเถรสมาคมไม่มีผล
มหาเถรสมาคมก็จะถูกรัฐบาลดองเค็ม ไม่สนับสนุนส่งเสริม
หรือหันไปส่งเสริมพุทธสภาให้มีบทบาทล้ำหน้ามหาเถรสมาคม เมื่อนั้นก็จะไปกันใหญ่
ดังนั้น มหาเถรสมาคมจะทำอะไรก็ต้องคิดให้ดี ผลีผลามไม่ได้ นัยยะนี้ก็หมายถึงว่า
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ซึ่งยังต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาลผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทุกสมัย
แม้จะไม่เห็นด้วยกับการเกิดขึ้นรวมทั้งบทบาทของพุทธสภา แต่ก็ไม่น่าจะทำอะไรได้
และดูเหมือนว่า ด้วยความเกรงว่าการแสดงออกจะประเจิดประเจ้อมากเกินไป นายนพรัตน์
เบญจวัฒนานันท์ ซึ่งถูกยกขึ้นไปเป็นที่ปรึกษาพุทธสภา ที่เรียกว่าเทกระโถนนั้น
ได้แอบหลบอยู่หลังม่าน ยุให้นายอำนาจ บัวศิริ รอง ผอ.สำนักพุทธฯ ไปประชุมแทน
และออกมาให้ข่าวทำนองไม่เห็นด้วยกับการตั้งพุทธสภาขึ้นมา
ถือว่าเล่นเป็น
คำถามของสำนักพุทธฯ ข้อที่ 2
: มีการตั้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นที่ปรึกษาพุทธสภาในระดับจังหวัด
ผอ.พศ. เป็นที่ปรึกษาพุทธสภาระดับชาติ
หากจังหวัดไม่ได้รับความร่วมมือเป็นที่ปรึกษาให้ ทาง ศน.
จะทำอย่างไร
มุมมองของพระมหานรินทร์ : ถามแบบนี้เขาเรียกว่า ตีปลาหน้าไซ หรือไม่ก็ร้อนตัวก่อนไข้
อะไรทำนองนั้น เพราะเหตุการณ์นั้นมันยังไม่เกิด จริงอยู่ ทางสำนักพุทธฯมีสิทธิ์ถาม
แต่ทางกรมการศาสนาจะให้คำตอบได้อย่างไรในเมื่อเหตุการณ์มันยังไม่เกิด
อาจจะจำลองเหตุการณ์บางอย่างในอดีตมาตอบก็ได้ว่า ถ้าว่าเป็นจริง
คือไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่แต่งตั้ง ซึ่งอาจจะไม่ทั้งหมด
หมายถึงว่ามีบางคนที่ไม่ยอมทำหน้าที่ เมื่อนั้นก็ต้องละเว้นไว้ก่อน
หรืออาจจะมีมาตรการกำราบให้เชื่อง แต่ถ้าสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกจังหวัด
รวมทั้งสำนักพุทธฯส่วนกลาง พากันบอยคอตพุทธสภาของกรมการศาสนากันหมด
เมื่อนั้นทางพุทธสภาแต่เพียงลงมติ "ปลด"
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสาขาในต่างจังหวัดทั้งหมดจากที่ปรึกษา
ก็หมดปัญหาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทางกรมการศาสนาคงจะมองเห็นแล้วว่า
องค์กรสำคัญที่มีบทบาททางศาสนาสามารถจะถ่วงพุทธสภาให้แท๊งค์ได้ในขณะยังไม่เกิดนั้นก็เห็นจะมีเพียง "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" เพียงหนึ่งเดียว
จึงชิงประกาศตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดให้เป็นที่ปรึกษาพุทธสภาจังหวัด
และยกตำแหน่งที่ปรึกษาพุทธสภากรุงเทพฯอันเป็นศูนย์กลางให้แก่ "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" แต่ถึงกระนั้น
นกรู้ระดับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหรือจะพอใจกับตำแหน่ง "เทกระโถน" ดังกล่าว เพราะตำแหน่งที่ปรึกษามันก็มิได้มีอิทธิพลอะไรเลย
หนำซ้ำถ้ายอมรับตำแหน่งนี้ก็เท่ากับยอมรับว่า "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นภาคีอันดับที่
10 ของพุทธสภา" แม้ว่าจะไม่ได้ใส่ชื่อไว้ในลิสต์ของภาคี
แต่ก็ซ่อนไว้ในรูปแบบของการยกให้เป็นที่ปรึกษาดังกล่าวแล้ว หรือมองภาพให้เห็นง่ายๆ
ว่า ตามโครงสร้างของพุทธสภาที่ว่านี้ มีการดึงเอาทั้งมหาเถรสมาคม
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าไปเป็นภาคี รวมกับอีก 9 ภาคีที่ออกนาม
ทีนี้ว่าถ้าตั้งสำเร็จ พุทธสภาก็จะเป็นองค์กรทางศาสนาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เพราะรวบเอาทั้งมหาเถรสมาคมและสำนักพุทธฯมาเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา
แนบข้างไว้ไม่ให้ดิ้นไปไหน จะจูบก็ไม่ให้จูบ จะถีบก็ไม่ให้ถีบ บีบรัดกันไปจนหมดแรง
เกมนี้ก็ต้องยอมรับว่า ดร.ปรีชา มาเหนือเมฆ ยกตำแหน่งให้แก่ศัตรูคู่สถาบัน
แต่พอเปิดดูในใบตราตั้งนั้นกลับยกให้เป็นเพียง "เทกระโถน" ก็สมแล้วที่ทางสำนักพุทธฯจะรีบตั้งคำถาม ว่าถ้าไม่ยอมรับตำแหน่งที่ปรึกษาจะมีปัญหาหรือไม่ แหมถามแค่นี้ก็มีปัญหาแล้วล่ะค่ะ
คำถามของสำนักพุทธฯ ข้อที่ 3
: การประกาศจัดตั้งพุทธสภาอาศัยกฎหมายอะไรรองรับ
ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ
มุมมองของพระมหานรินทร์ : แหมข้อนี้มันก็เหมือนการกำเนิดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้นแหละ
มันต้องมีกระบวนการจีบบ่าวจีบสาว ถ้าตกลงปลงใจจะอยู่กินเป็นผัวเป็นเมียกันแล้ว
จึงค่อยยกขันหมากไปหมั้นหมายให้ผู้ใหญ่รับรู้ ทีนี้ว่าถ้าเด็กรักกันแล้ว
กีดกันอย่างไรก็ไม่มีผล ทำนองเดียวกัน
เมื่อมีมวลชนเป็นฐานสนับสนุนอย่างเป็นกอบเป็นกำแล้ว
ทางกรมการศาสนาก็จะนำไปเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณา "อนุมัติ"
จากนั้นก็จะเริ่มกระบวนการทางกฎหมาย ของพวกนี้ไม่ยากหรอก
ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายมีถมไป
คำถามของสำนักพุทธฯ ข้อที่ 4
: การดำเนินงานของ พศ. กับ
ศน.
มีความทับซ้อนกันอยู่ในรูปแบบพัฒนากิจการด้านพระพุทธศาสนา
และยังไม่มีการแบ่งแยกให้ชัดเจนเลย
แต่ก็มีการจัดตั้งพุทธสภาขึ้นมาทำหน้าที่เดียวกันนี้อีก ต่อไปหากมีกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างมหาเถรสมาคม (มส.) พศ.
และพุทธสภา อะไรจะเกิดขึ้น
มุมมองของพระมหานรินทร์ : ข้อขัดแย้งกับมหาเถรสมาคมนี้มีแน่นอน เพราะความแตกต่างกันทั้งด้านเป้าหมายและวิธีการระหว่างมหาเถรสมาคม
(รวมทั้งสำนักพุทธฯ) กับพุทธสภา (ของกรมการศาสนา)
เพราะพุทธสภานั้นจะกลายเป็นเวทีเปิดให้ใครก็ได้ที่เป็นพุทธฯ
สามารถเข้าไปใช้บริการในด้านต่างๆ ตั้งแต่เสนอ สนอง เรียกร้อง ต้องการ ฯลฯ
ทำนองรัฐสภาไทย เรียกได้ว่าครอบจักรวาล แค่ข่าวสดๆ หรือข่าวลือ
ก็สามารถยื่นกระทู้ถามได้ในพุทธสภา
เพียงแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น
หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับศาสนาอื่นๆ เช่นกรณีปัญหาไฟใต้ เป็นต้น
หนึ่งในนั้นย่อมจะหนีไม่พ้น "บทบาทของมหาเถรสมาคม" ที่จะนำมาวิจารณ์กันสนุกปาก
ถ้ามหาเถรสมาคมอ้างว่าไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการปัญหานั้นๆ ได้
ทางพุทธสภาก็อาจจะฉวยโอกาสตั้งกรรมการเข้าไปศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไข
แล้วส่งมอบให้มหาเถรสมาคมหรือรัฐบาลไทยแก้ไขกันต่อไป
นั่นหมายถึงว่ามหาเถรสมาคมจะกลายเป็นเพียง "ลูกไล่"
ของพุทธสภา
ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
เพราะว่าบทบาทของพุทธสภาจะครอบงำมหาเถรสมาคมจนมิด ปัจจุบันนี้ยังเป็นแค่แดนสนธยา
ต่อไปก็อาจจะกลายเป็นเวทีมิดไนท์ก็เป็นได้
นี่เพียงแค่ยกตัวอย่างเท่านั้น
คำถามของสำนักพุทธฯ ข้อที่ 5
: การทำงานพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยพุทธบริษัท 4 คือ พระสงฆ์ ภิกษุ
อุบาสก อุบาสิกา แต่การจัดตั้งพุทธสภาเป็นองค์กรเอกชน เป็นการทำงานของอุบาสก
อุบาสิกา ส่วนการทำงานของพระสงฆ์มี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และ มส. อีกส่วนหนึ่ง
เหมือนเป็นการแยกพุทธบริษัท 4 ออกจากกัน
มุมมองของพระมหานรินทร์ : ข้อนี้ดูเหมือนว่าทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเข้าใจอะไรผิด
เพราะเคยชินกับระบบเก่าๆ มานาน
การทำงานของพระพุทธศาสนาที่ว่าต้องประกอบด้วยพุทธบริษัททั้ง 4
เหล่านั้นก็ถูก แต่วิธีการที่ผ่านมานั้น มหาเถรสมาคมใช้วิธีสั่งงานผ่านคณะสงฆ์
แล้วให้คณะสงฆ์เป็นผู้นำเอาพุทธบริษัทอีก 2 หรือ
3 เหล่าเข้ามาร่วม แบบว่าเดินนำหน้า
ถ้าไม่เดินหรือไม่อยากเดินก็อ้างว่าไม่มีอำนาจ ไม่ใช่ธุระ หรือไม่ว่าง ก็ว่ากันไป
แต่สำหรับพุทธสภานั้นเปิดเวทีให้พุทธบริษัททั้ง 4
เหล่าได้เข้ามาทำงานในลักษณะเป็นภาคีมีสัดส่วนชัดเจน
และให้มีบทบาทในรูปแบบที่เรียกว่าแนวร่วม
ซึ่งยังไม่รู้เลยว่าพระสงฆ์จะมีบทบาทสู้ฆราวาสได้หรือเปล่า เพราะอย่าลืมว่า
แม้ว่าจะเป็นสภา แต่ถ้าพระสงฆ์จะแอ๊คชั่นเกินสมณสารูปก็อาจจะเสียภาพพจน์ได้
เพราะผ้าเหลือนั้นเป็นต้นทุนทางสังคมของพระสงฆ์อยู่แล้ว
เถียงผ้าลายเมื่อใดเป็นเสียหายทันที นี่คือภาพรวม
ประเด็นตรงนี้เห็นจะมีเพียงจุดเดียวคือว่า การแบ่งภาคีในพุทธสภาออกเป็น
9 สาย หนึ่งในนั้นมีพระสงฆ์ได้รับเกียรติให้เป็นภาคีหนึ่งด้วย
แม้ว่าจะยกให้เป็นภาคีอันดับที่ 1 ดูแล้วตัวเลขน่ะสวย
แต่ในเวลาเข้าสู่พุทธสภาแล้ว เขามิได้นับตัวเลข หากแต่นับกันที่บทบาท
อดีตนั้นพระสงฆ์เป็นองค์เทศน์และโยมเป็นคนยกมือไหว้ฟัง แต่ในพุทธสภาบทบาทอาจจะพลิก
คืออาจจะมีคนเถียงพระ หรือพระต้องนั่งฟังโยมสอน
แน่นอนว่าเป็นการลดบทบาทของพระสงฆ์ในมหาเถรสมาคมซึ่งเคยเป็นปูชนียบุคคลให้เหลือเพียง
"ภาคีสมาชิก" ในพุทธสภา แบบนี้ก็น่าน้อยใจ เพราะถ้าเถียงแพ้โยมในพุทธสภา
จะกลับไปขึ้นธรรมาสน์เทศน์ในวัดก็คงยากแล้วล่ะ เผลอๆ
อาจจะมีพระผูกคอตายเพราะอายโยมก็เป็นได้ เพราะในสมัยที่มีสังฆสภานั้น
ก็เกิดกรณีลูกศิษย์เถียงอาจารย์ แต่อาจารย์เถียงสู้ลูกศิษย์ไม่ได้
สุดท้ายต้องยุบสังฆสภาให้กลายเป็นมหาเถรสมาคมถึงปัจจุบัน
คำถามของสำนักพุทธฯ ข้อที่ 6
: การจัดตั้งพุทธสภาจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการแล้วในเดือน
ก.พ.-มี.ค.นี้ และมีการให้พระสงฆ์เป็นรองประธานพุทธสภา แต่ มส. ซึ่งดูแลพระสงฆ์ยังไม่ได้รับทราบ พิจารณาหรือเห็นชอบด้วย จะดำเนินการต่อไปได้อย่างไร
พระสงฆ์จะกล้ามาร่วมทำงานด้วยหรือไม่
มุมมองของพระมหานรินทร์ : เรื่องทราบหรือไม่ทราบ
คือเรื่องรายงานมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับการตั้งพุทธสภาขึ้นมานี้ ดูไปก็ไม่มีอะไร
เพราะทางกรมการศาสนาคงเห็นตัวอย่างแล้วว่า
มีหลายงานของทางวัดพระธรรมกายซึ่งอ้างว่าคณะสงฆ์ไทยและมหาเถรสมาคมรับรอง
แต่ก็ไม่เห็นมีมติมหาเถรสมาคมออกมาอย่างเป็นทางการ
หนำซ้ำทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมยังประกาศตัวตนว่าเป็นภาคีของวัดพระธรรมกายด้วยซ้ำไป
ขนาดสำนักพุทธฯซึ่งเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งยังแบ่งภาคไปทำงานกับวัดพระธรรมกายได้
การตั้งพุทธสภาขึ้นมาโดยที่ไม่ผ่านมหาเถรสมาคมก็มิใช่เรื่องประหลาดอันใด
นายปรีชาเองก็ประกาศแล้วว่า จะรีบรายงานให้มหาเถรสมาคมรับทราบ แต่ถ้าจะถามถึงว่า
พระสงฆ์ในสังกัดมหาเถรสมาคมจะกล้ามาร่วมงานกับพุทธสภาหรือไม่
แหมก็ดูตัวอย่างวัดพระธรรมกายสิ มีเงินจ้าง เอ๊ย ถวายซะอย่าง
พระไทยวัดไหนมั่งไม่มา
คำถามของสำนักพุทธฯ ข้อที่ 7
: ถ้ามีการตั้งวัฒนธรรมจังหวัดเป็นเลขาธิการคณะกรรมการระดับจังหวัด
และรองอธิบดี ศน. เป็นเลขาธิการ คณะกรรมการระดับชาติโดยตำแหน่ง
หากวัฒนธรรมจังหวัดหรือรองอธิบดี ศน. นับถือศาสนาอื่น
โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคใต้จะทำอย่างไร
มุมมองของพระมหานรินทร์ : เรื่องคนศาสนาอื่นได้รับแต่งตั้งให้เป็นวัฒนธรรมจังหวัดนั้นก็อาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจ
ในอดีตตอนที่ยังไม่มีสำนักพุทธฯ และกรมการศาสนายังเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมอยู่นั้น
ก็เคยปรากฏว่ามีชาวมุสลิมได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ตรงนี้ก็อาจจะนำเอากรณีในอดีตนั้นมาเป็นตัวอย่างสำหรับแก้ไข
และคงมิใช่แก้แค่สามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น หากแต่จังหวัดอื่นๆ
ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นชาวพุทธทั้งหมดหรือไม่
เห็นได้ว่า การก่อตัวและเกิดขึ้นของพุทธสภาในเวลานี้
ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ในรอบ
2500 ปี
อาจจะพลิกบทบาทให้พระพุทธศาสนาพุ่งทะยานไปสู่ความเจริญและมั่นคงยิ่งขึ้น
หรืออาจจะกลายเป็นเวทีสร้างความแตกแยกให้แก่พุทธบริษัททั้งสี่ก็ไม่มีใครรู้
เพราะเหตุปัจจัยในภายหน้านั้นยากนักที่จะหยั่งถึง
เช่นกรณีที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนพุทธสภาผ่านกรมการศาสนา
โดยเป็นผู้กำหนดงบประมาณ
ถ้ารัฐบาลเข้ามาก้าวก่ายพระพุทธศาสนาโดยใช้พุทธสภาเป็นเครื่องมือ
ถ้ารัฐบาลนั้นนิยมส่งเสริมมหาเถรสมาคมก็ถือว่าโชคดีไป
แต่ถ้ารัฐบาลนั้นไม่นิยมส่งเสริมมหาเถรสมาคม แบบนี้ก็ถือว่าอันตราย
เพราะการเมืองไทยมิได้มีเพียงพรรคเดียว เหมือนกรณีเสื้อเหลือง-เสื้อแดงในปัจจุบันวันนี้
นี่ยังมินับถึงว่า ผู้มีอิทธิพลอื่นๆ เช่น ธรรมกาย สันติอโศก มจร. มมร. หรือเครือข่ายอื่นใด
จะวางแผนเข้ายึดครองพุทธสภาเพื่อให้เป็นปากเป็นเสียงแทนตนเอง
ทำนองสร้างเผด็จการรัฐสภาขึ้นมา นั่นก็เท่ากับว่าเอาพุทธสภาไปเป็นสภาการเมือง
เป็นเรื่องของผลประโยชน์ไปเสียแล้ว
พวกนี้น่าห่วงกว่าเรื่องความซ้ำซ้อนของงานกับมหาเถรสมาคมเป็นไหนๆ
จึงขอเรียนต่อท่านผู้อ่านว่า
เพราะว่ามหาเถรสมาคมไม่สามารถจะทำงานเกินขอบเขตและจารีตประเพณีที่เคยทำมาได้
ส่งผลให้กิจการคณะสงฆ์ถดถอย มีผู้มีอิทธิพลสร้างกองกำลังของตนเองขึ้นมา
แล้วสามารถเข้าไปแย่งชิงพุทธศาสนิกชนได้เป็นกอบเป็นกำ ดังเช่นธรรมกายและสันติอโศก
หากปล่อยไว้เช่นนี้ เชื่อว่าไม่เกิน 20 ปีจากนี้ไป
ไม่ธรรมกายก็สันติอโศกจะเข้ามาเป็นองค์กรทางศาสนาทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศไทย
เมื่อนั้นมหาเถรสมาคมก็หมดบทบาทไปโดยปริยาย ดังนั้น การเกิดขึ้นของพุทธสภาในวันนี้
จึงเป็นจังหวะดีที่ชาวพุทธส่วนใหญ่อยากเห็น เป็นเรื่องที่เกินกำลังจะฉุดดึงเสียแล้ว
อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด จะเปิดตลาดให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรี หรือว่าจะปิดตลาดไว้
แล้วยกให้ธรรมกายหรือสันติอโศกครอบครองแต่เพียงผู้เดียว
ก็เลือกเอา
| |||||||||
1.ควรแล้วหรือที่จะสวมเสื้อการเมืองให้ "พระพุทธศาสนา"
ตอบลบ2.คนคิดทำ ได้อะไร... และคิดว่า "เราจะอยู่ดูแลได้ตลอดนั้นหรือ"
3.มรดก สืบทอดมากว่า 2,500 ปี "เราเก่งเหนือกว่า ศาสดาผู้ก่อตั้งใช่ไหม่"
4.และที่สำคัญ ศาสนาทุกศาสนา ไม่ก้าวก่าย ก้าวล่วง
5.เราตั้งองค์กร องค์การ กฎ เกณฑ์ มิได้กำหนดไว้ในศาสนบัญญัติ และมีผลในการบั่นทอนความเชื่อ ความศรัทธาต่อพุทธศาสนิกชน "เข้าข่ายทำลายล้างหรือปล่าวนี่"
6.หลักการดี ๆ อย่างนี้ "น่าจะตั้งลัทธิหรือศาสนาใหม่ จะได้มีองค์ศาสดาและสาวก ตามท่านอยากได้เนาะ"
7.ทำแล้วดี...เห็นด้วยครับ... แต่หากว่าทำแล้ว "ทำลายเสาหลัก หักธงนำ" ผู้ทำก็อาจจะได้รับผล ดั่งวงล้อธรรมจักร เพราะท่านนำ คนหลัง ๆ ก็มีสิทธิ์ทำตามอย่าง 5 5 5
ปล. เราเรียนรู้ตัวเองก่อน ที่จะเรียนรู้ผู้อื่น
อาหารจะถูกปาก ต้องชิมก่อนเติมเครื่องปรุง
เราอยากให้หมู่บ้านของเรา น่าอยู่อาศัย อนามัยสิ่งแวดล้อมดี
ก็ต้องเริ่มที่บ้านของเราทุกคน ผลที่ได้ทั้งหมู่บ้าน โดยไม่ต้องออกกฎเกณฑ์ ที่เป็น ก.ม. มาบังคับ ให้รู้สึกอึดอัด
ทั้งนี้ ด้วยความห่วงใยและความปารถนาดี
ขอบพระคุณทุกท่านที่อ่านครับ