คำคมทรราชย์ในผ้าเหลืองขอให้จบเรื่อง?

มึน !

สมเด็จวัดปากน้ำขอให้จบเรื่อง

ยกคำคม

"ไฟจะดับได้เมื่อไม่เติมเชื้อ"

 

อืม ! มันก็ดูดีนะครับพระเดชพระคุณ แต่มีปัญหาว่า เรื่องอะไรที่หลวงพ่อใหญ่อยากให้จบเพราะเห็นมีหลายเรื่องหลายราวเหลือเกิน ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว ก็คิดว่าน่าจะขอให้จบได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนรวม เกี่ยวพันกับพระธรรมวินัยและพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ แบบนี้คงจบยากครับ แถมหลวงพ่อมีตำแหน่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการบริหารกิจการพระพุทธศาสนา ให้ก้าวหน้าหรือเจริญรุ่งเรือง แต่เมื่อเกิดเรื่องเสียหาย ก็ต้องมีหน้าที่ในการชำระสะสางให้สะอาด มิเช่นนั้นก็เท่ากับซุกขยะเอาไว้ใต้พรมหรือซื้อเวลาไปเป็นวันๆ เรื่องแบบนี้คงไม่สามารถให้จบแบบ "ขอกันกิน" ได้ ทำนองคดีอาญา ดังนั้น ก็ขอความชัดเจนด้วยนะครับ ว่าอยากจะให้เรื่องอะไรมันจบ

 

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

 

พระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และกรรมการ มส.กล่าวว่า กรณีพระราชวิจิตรปฏิภาณ หรือ "เจ้าคุณพิพิธ" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิรูปวงการสงฆ์ในขณะนี้ น่าจะมีกระบวนการเบื้องหลัง และคดีธรรมกายเป็นแค่ประเด็นที่ถูกนำมาฟาดฟันไม่ให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยอ้างว่าเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโยนั้น ไฟจะดับได้เมื่อไม่เติมเชื้อ ในกรณีที่เจ้าคุณพิพิธให้สัมภาษณ์นั้น บางประเด็นพูดด้วยความเห็นใจ "อาตมาเป็นคนของวัดปากน้ำ จะพูดอะไรบางแง่บางมุมจะดูไม่เหมาะสม เหมือนเป็นโจทก์จำเลย หรือคู่กรณีต่อกัน ถ้าพูดไปอาจมีหลายมุมมองที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ส่วนตัวท่านเป็นพระที่มัธยัสถ์ รักความสงบเรียบร้อย เรื่องไหนที่จบได้ก็ขอให้จบ ไม่ประสงค์ให้ปัญหายืดเยื้อ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีสาเหตุ เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ก็ไม่สร้างปัญหาเพิ่ม ถ้าอยู่ในฐานะที่แก้ได้ก็พร้อมที่จะแก้ พระพุทธศาสนาอยู่ได้เพราะพระ และโยม ยกย่องเชิดชู ถ้าเอาความเห็นส่วนบุคคลเป็นใหญ่ หลักธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าก็คงจะไม่เกิด เพราะถูกลบล้างด้วยความเห็นส่วนตัว" พระพรหมโมลีกล่าว

 

ข่าว : มติชน
25 กุมภาพันธ์ 2558

 

แก้มือ !

วิษณุรีเทิร์นแก้โจทย์เก่า

สมัยเป็นรองนายกฯของทักษิณ

เซ็นตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่พระสังฆราชกับมือ

 

ดร.วิษณุ เครืองาม

รอง 2 นายก

รองนายกทักษิณ และ รองนายกประยุทธ์

ผู้กำลังรีเทิร์นกลับมาแก้ปัญหาเก่าๆ นั่นคือปัญหาว่าศาสนา ซึ่งกำลังตั้งเป้าขวางสมเด็จวัดปากน้ำไม่ให้เป็นพระสังฆราชอยู่ในเวลานี้ ถึงขนาดพุทธะอิสระนึกฮึกเหิม ยกกำลังพลไปทำพิธี "ตัดไม้ข่มนาม"ถึงกลางวัดปากน้ำมาแล้ว คำสั่ง "ตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" ซึ่งลงนามโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ.2547 นั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งอย่างรุนแรงในระหว่างพุทธศาสนิกชน และเรื้อรังมาจนกระทั่งบัดนี้ กรณีธรรมกายถือว่าเป็นเพียง "ชนวน" ให้เกิดความขัดแย้ง เพราะเนื่องด้วยพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช รุงรังพันเตไปหมด ลากยาวมาจนกระทั่ง สปช. ตั้งกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในวันนี้ วันที่ คุณวิษณุ ต้องรีเทิร์นกลับมาแก้ปัญหาเก่าๆ ในสมัยที่ตนเองเคยเป็นรองนายกฯและได้ผูกปมปัญหาเอาไว้ในครั้งกระนั้น

เมื่อมองดูตัวบุคคลที่ทางรัฐบาลส่งเข้ามาคุมปัญหาพระพุทธศาสนาในเวลานี้ ที่มี ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน (แทนนายกรัฐมนตรี) ก็เชื่อได้ว่า น่าจะไม่รุนแรง เพราะคุณวิษณุเคยเป็นรองนายกฯของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาก่อน ย่อมจะรู้ปัญหาดีที่สุดคนหนึ่ง ฝ่ายธรรมกาย ฝ่ายมหาเถรสมาคม หรือฝ่ายเสื้อแดง ย่อมจะใจชื้นได้ว่า ไม่เล่นกันถึงตาย เพราะคุณวิษณุก็เคยเป็นหนึ่งในทีมงาน "ทักษิณ" มาก่อน มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างปัญหามาอย่างชัดเจน ดังนั้น เพียงได้ยินคุณวิษณุพูดว่า "รัฐบาลชี้โทษธัมมชโยไม่ได้" ก็หมายถึงว่าเป็นอำนาจของมหาเถรสมาคมเต็มๆ แค่นี้ฝ่ายมหาเถรสมาคมก็ถูกรางวัลเลขท้ายเห็นๆ แล้ว แต่อีกฝ่ายก็อาจจะคลางแคลงใจว่า คุณวิษณุเป็นพันธุ์แตงโมหรือเปล่า ?

อย่างไรก็ตาม การกลับมาครั้งนี้จึงเท่ากับมาแก้ปัญหาเก่าที่คั่งค้าง ซึ่งก็คงจะออกมาในแนวทาง"กลางๆ" เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ การพุ่งเป้า "ล้มกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนา" ของกลุ่มอาจารย์ มจร. ก็คงเพลาๆ ลง เพราะเห็นแต้มต่อในตัวคุณวิษณุอยู่แล้ว ที่เจ้าคุณประสารและมหาโชว์ออกมาโชว์ตัวยื่นยุบ กก.ปฏิรูปนั้น ก็สร้างราคาไปเท่านั้นเอง เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการรื้อ พรบ.คณะสงฆ์ทั้งระบบ ก็คงปลุกกระแสพระเณรทั่วประเทศไทยได้ยาก ช่วงนี้จึงเหมือนเวลา "คืนกำไรให้พระบ้านนอก" เพราะพระในกรุงถูกรุกราน ต้องอาศัยกำลังเสริมมาจากต่างจังหวัด ดังนั้น จะขอจะต่อรองอะไรกับวัดปากน้ำก็ต้องรีบๆ ทำกันในเวลานี้ วัดปากน้ำยินดี "สละสมบัติ" อันล้นกุฏิ เพื่อรักษาสถานภาพอันสูงส่งเอาไว้ เข้าใจตรงกันนะ อิอิ !

 

 

เปิดคำสั่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
เซ็นโดย..วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปี 47

 

 

ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
เรื่อง แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

 

ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวรหลายระบบ และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ต้นปี 2545 นั้น คณะแพทย์ได้ถวายการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องมาตลอดจนพระอาการบางระบบดีขึ้น สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาลไป ทรงปฏิบัติศาสนกิจได้เป็นครั้งคราว แต่โดยเหตุที่ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ จึงมีพระภารกิจหลายอย่างที่รัฐบาลและคณะสงฆ์ จำเป็นต้องถวายเพื่อทรงบัญชาการ ทรงตราพระบัญชา ทรงวินิจฉัยสั่งการและทรงลงพระนาม รวมทั้งการที่ต้องทรงปฏิบัติศาสนกิจในพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีต่างๆ นอกจากนั้นยังต้องทรงปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และพระอารามอื่นๆ เช่น วัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี และประธานกรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งงานในภาระหน้าที่เหล่านี้ หากถวายเพื่อทรงปฏิบัติหรือวินิจฉัยสั่งการทุกเรื่องก็จะเป็นการกระทบกระเทือนต่อพระสุขภาพ ประกอบกับทรงมีพระชนมายุสูงถึง 90 พรรษา ครั้นมิได้ถวายให้ทรงลงงาน หรือการดำเนินการล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ ก็อาจกระทบต่อการปกครองคณะสงฆ์ เป็นเหตุให้มีผู้กล่าวอ้างยกขึ้นมาวิจารณ์ อันอาจกระทบต่อพระเกียรติยศได้ เหตุทั้งนี้ เนื่องจากยังมิได้มีการแต่งตั้งผู้ใดให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช
 

รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า โดยที่สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นรัตตัญญูมหาเถระ เป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชนชาวไทยอย่างสูง แม้แต่ชาวต่างประเทศและศาสนิกอื่นก็ยกย่องว่า ทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างของผู้รอบรู้ด้านปริยัติและปฏิบัติ เป็นปราชญ์ของพระศาสนาและชาติ แต่โดยที่พระสุขภาพทรุดโทรมลงตามพระวัสสายุกาล สมควรจัดให้ประทับพักผ่อนเพื่อรับการถวายดูแลรักษาโดยคณะแพทย์อย่างเต็มที่และต่อเนื่องไม่มีภาระงานใดๆ มารบกวน จนก่อให้เกิดความตรากตรำหรือความกังวลพระทัย อีกทั้งเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการบริหารพระศาสนามิให้ต้องสะดุด เพราะขาดผู้รับผิดชอบวินิจฉัย สั่งการหรือบังคับบัญชา ประการสำคัญคือ เพื่อเป็นการรักษาพระเกียรติยศ มิให้มีผู้อ้างพระสุขภาพหรือพระอาการประชวร กระทำการใด อันอาจก่อความเสียหายหรือแอบอ้างนำพระบัญชา พระลิขิต หรือพระนามไปแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น

อาศัยมาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลจึงได้ขอความเห็นจากคณะแพทย์และคณะกรรมการวัดบวรวิหารมีพระเทพสารเวที ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน แล้วนำความเห็นดังกล่าวประกอบกับความเห็นของพุทธศาสนิกชนที่ห่วงใย เสนอที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2547 ซึ่งที่ประชุมมีมติตามมาตรา10 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 อนุโมทนาสนองข้อเสนอดังกล่าว โดยให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นการชั่วคราว และโดยที่สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี วัดราชบพิตร สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์มีอายุถึง 96 พรรษา อีกทั้งยังอาพาธ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่อันต้องตรากตรำได้เช่นกัน จึงเห็นสมควรให้สมเด็จพระราชาคณะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ลำดับถัดไป ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ซึ่งพระราชาทรงไว้วางพระทัย มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของประธานที่ประชุมมหาเถรสมาคมและปฏิบัติศาสนกิจบางเรื่องแทนพระองค์อยู่แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชไปพลางก่อน โดยมีสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะอื่นอีก 5 รูป เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่ เป็นคณะร่วมกัน เพื่อช่วยกันในการกลั่นกรองงานและรักษาความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ ดังนี้

1. สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

2. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

3. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

4. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

5. สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

6. พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

ให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในรูปขององค์คณะ มีการประชุมหารือและใช้มติร่วมกัน โดยมีผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เว้นแต่เป็นการปฏิบัติศาสนกิจในพระนามสมเด็จพระสังฆราช หรือการอันจำเป็นเร่งด่วนก็ให้ดำเนินการไปได้ โดยให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมทำรายงานกราบทูลการปฏิบัติงานต่อสมเด็จพระสังฆราชทุก 30 วัน ในกรณีมีปัญหาสำคัญ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอาจพิจารณากราบทูลหารือสมเด็จพระสังฆราชได้ ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชมีพระประสงค์โปรดมีพระบัญชาเรื่องใดตามที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เชิญมาแจ้ง ตามระบบการกลั่นกรองงานที่กำหนดขึ้นอย่างรอบคอบรัดกุม ให้คณะปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชดำเนินการสนองพระบัญชานั้น ทั้งนี้ให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมีกำหนดเวลาหกเดือน เว้นแต่คณะแพทย์มีความเห็นก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระอาการดีขึ้นสามารถเสด็จกลับไปทรงงานได้เป็นปกติโดยไม่กระทบพระสุขภาพ หรือมหาเถรสมาคมมีมติเป็นประการอื่น
 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และมาตรา 160 แห่งพระราชกฎษฏีกา ทบวง กรม พ.ศ.2545นายกรัฐมนตรีจึงขอประกาศนามผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและคณะดังกล่าว

ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย และพระกุศลกรรมสัมมาปฏิบัติที่สมเด็จพระสังฆราชทรงกระทำบำเพ็ญมาแล้วอย่างยั่งยืนมั่นคง จงอภิบาลรักษาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ให้ทรงพระเกษมสำราญ มีพระสุขภาพพลานมัยดีโดยเร็ววัน เพื่อเป็นร่มโพธิ์ ร่มไทรแก่บรรดาคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดกาลนาน

 

ประกาศ ณ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547

ลายมือชื่อ  วิษณุ เครืองาม
(นายวิษณุ เครืองาม)

รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี

 

‘วิษณุ’ เชิญ พศ. ถกย้ำ รบ.ชี้โทษ ‘ธัมมชโย’ ไม่ได้ เผยนำเข้าที่ประชุม มส. อีกครั้งคราวต่อไป พศ.แจงพระลิขิต ‘สังฆราช’ ไม่ใช่พระบัญชา

เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 24 ก.พ.2558 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)และผู้เกี่ยวข้องหารือวงเล็กเกี่ยวกับผลประชุมของมหาเถรสมาคม(มส.)เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยนายวิษณุ เปิดเผยหลังการหารือว่า ทาง พศ.นำเอกสารต่างๆพร้อมเล่าที่มาของเรื่องดังกล่าวให้ทราบข้อมูล โดยการประชุมของมหาเถรสมาคมมื่อวันที่ 20 ก.พ.นั้น ที่ประชุมไม่ได้มีมติเกี่ยวกับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย ซึ่งต่างจากที่ปรากฎเป็นข่าวและการประชุมดังกล่าวเนื่องจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)เชิญผู้แทนสำนักพุทธฯไปชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องวัดธรรมกาย และนำเรื่องกลับมารายงานให้มหาเถรสมาคมรับทราบว่าสปช.ถามอะไรและได้ตอบอะไรไปบ้าง ตนเดาว่าอาจมีกรรมการบางคนอภิปรายว่ามีความผิดหรือไม่มีก็เป็นได้ แต่ที่ประชุมมีมติเพียงรับทราบการรายงานต่อสปช.และการตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบและรวบรวมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและนำกลับมารายงานให้มหาเถรสมาคมทราบเท่านั้น

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนที่มีข่าวว่ามติมหาเถรระบุว่าไม่มีความผิดนั้น ตนได้สอบถามแล้วว่าพบว่าไม่มีคำว่าปาราชิกหรือไม่ปาราชิกปรากฏในมติของมส. จึงแนะนำให้ปรึกษากันในกรรมการมหาเถรสมาคมว่าจะชี้แจงอย่างไร โดยทราบว่าในการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมครั้งต่อไปจะมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมเพื่อให้รับรองมติ จากนั้นจึงแถลงให้ทราบต่อไป รัฐบาลขอย้ำว่าเรื่องใดที่กล่าวหาว่าผิดพระธรรมวินัยอาบัติปาราชิกหรือไม่เป็นเรื่องของคณะสงฆ์จัดการกันเอง ถ้าเรื่องใดถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายทางโลก เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะเข้าไปจัดการในจุดนั้นๆ

“วันนี้ต้องแยกให้ออก แต่เราเอาทุกเรื่องมาปนกันทำให้มหาเถรสมาคมถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีโอกาสออกมาแก้ตัวตอนนี้ แต่ต่อไปจะชี้แจงอย่างไรก็ว่ากันไป วันนี้เอาทุกอย่างมารวมกันตั้งแต่เรื่องที่ดิน การต้องอาบัติปาราชิกเรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เรื่องยกเครื่องมหาเถรสมาคทจนถึงการยุบกรรมการปฏิรูปศาสนาต้องแยกเป็นเรื่องๆ ส่วนเรื่องที่ดินเป็นเรื่องก้ำกึ่งระหว่างบ้านเมืองกับพระธรรมวินัยต้องแยกจากกัน และได้มอบให้ไปดูว่าถวายใครบ้าง เพราะความผิดในแต่ละเรื่องโทษก็หนักเบาไม่เหมือนกันทั้งทางบ้านเมืองและในทางพระ มีลำดับโทษไม่เหมือนกัน ทั้งผมและรัฐบาลวินิจฉัยไม่ได้ว่าการกระทำนั้นผิดพระธรรมวินัย หากผิดว่าเข้าข่ายไหน คนที่วินิจฉัยคือพระ”นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวระหว่างพระลิขิตกับพระบัญชา นายวิษณุ กล่าวว่า ตนได้เห็นพระลิขิตทั้ง 5 ฉบับ และมีคำตอบแล้วแต่ไม่อยากพูดอะไรในตอนนี้ ขอตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน

 

ข่าว : คมชัดลึก
25 กุมภาพันธ์ 2558

 

NOTHING !

เผย มส. ยังไม่เคยทำอะไรธัมมชโย

 

ไม่พิจารณา  ไม่โหวต ไม่ลงมติ

เพียงแต่ไปนั่งฟังเฉยๆ

 

อา..ถ้างั้นก็ไม่ทราบว่าจะประชุมหาพระแสงอะไร ในเมื่อมีปัญหาบ้านเมือง และมีอำนาจ แต่ไม่ไม่ทำหน้าที่ แบบนี้ก็มีด้วย แต่..ที่เจ้าคุณจำนงค์ออกมาแถลงข่าวเสียงเจ้ยแจ้วนั้นล่ะ มันเรื่องอะไร "เรื่องเก่าแล้ว ไม่อยากให้รื้อฟื้น บ้านเมืองกำลังต้องการความสามัคคี ฯลฯ" ถามว่านี่เป็นมติมหาเถรสมาคมหรือไม่ ถ้าไม่, เจ้าคุณจำนงค์ออกมาพูดทำไม ?

 

เจ้าคุณจำนงค์
โฆษก มส. หรือโฆษกธรรมกาย ?

 

“พนม” ย้ำ มส. ไม่ได้มีมติชี้คดีธัมมชโย ระบุตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหาพุทธมีฝ่ายมหานิกาย - ธรรมยุต ผู้ทรงคุณวุฒิติดตามสถานการณ์พุทธ แก้ปัญหาให้ทันท่วงที ด้านพระสงฆ์ส่วนภูมิภาค เตรียมเคลื่อนไหวออกแถลงการณ์ค้านฆราวาสก้าวล่วงงานของคณะสงฆ์
       
วันนี้ (24 ก.พ.)นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) กล่าวว่า ตนในฐานะเลขาธิการ มส. ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการประชุม มส. ในวันที่ 20 ก.พ. ว่า มส. ไม่ได้มีมติเกี่ยวกับพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือ หลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ รวมทั้ง มส. ยังไม่ได้พิจารณาด้วยว่าปาราชิก หรือไม่ปาราชิก มีแต่เพียงการรายงานผลการชี้แจงที่ นายสมเกียรติ ธงศรี ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ที่นำมติ มส. ปี 2549 เกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกายที่นำไปชี้แจงยังคณะกรรมการปฏิรูปแนวทาง และมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา มารายงานให้ มส. ได้รับทราบเท่านั้น จึงขอเน้นย้ำว่า มส. ไม่ได้มีมติชี้เรื่องดังกล่าวออกมาแต่อย่างใด รวมทั้งในการประชุม มส. วันที่ 20 ก.พ. กรรมการ มส. ก็ไม่ได้มีการโหวตว่า พระเทพญาณมหามุนี ปาราชิกหรือไม่ ขอยืนยันว่าการประชุม มส. ในวันดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดโหวต อีกทั้งไม่มีแบ่งฝ่ายว่าเป็นฝ่ายมหานิกาย หรือ ธรรมยุต ซึ่งคณะสงฆ์มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน
       
นายพนม กล่าวว่า ที่ประชุม มส. เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ได้มีมติตั้ง คณะทำงานรวบรวมข้อมูลและศึกษาสถานการณ์ทางพระพุทธศาสนาขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งประกอบด้วย กรรมการ มส. ทั้งฝ่ายธรรมยุต และมหานิกาย 4 รูป และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน ได้แก่ พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) พระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม พระพรหมสิทธิ รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พระธรรมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก นายจำนง สวมประคำ อดีตเลขาธิการวุฒิสภา และ นายพิสิฐ เจริญสุข อดีตข้าราชการกรมการศาสนา เพื่อทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลทางพระพุทธศาสนาโดยภาพรวม ในการนำรายงานต่อ มส. ได้รับทราบและมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ทันทวงที โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้
       
“มส. ได้ตั้ง พระธรรมบัณฑิต ขึ้นมาเป็นหนึ่งในคณะทำงาน เนื่องจากท่านเคยเป็นคณะทำงานถวายงานสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในยุคนั้น ก็จะสามารถประสานข้อมูลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ในเร็วนี้ คณะทำงานชุดดังกล่าวจะมีการประชุมวางกรอบแนวทางการทำงานที่ชัดเจนอีกครั้ง” นายพนม กล่าว

ข่าว : ผู้จัดการ
25 กุมภาพันธ์ 2558

ความคิดเห็น

  1. อธรรมเหิมเกริมทำไป...รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ...เหมือนปกป้องอลัชชี...แล้วจะยุติเรื่องนี้อย่างไร

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ