ประวัติศาสตร์ อาจารย์ ถวัลย์


Ning iUrbanhttp://iUrban.in.thPost on 3 Sep 2014

3 กันยายน พ.ศ. 2557
เช้าวันนี้ได้รับข่าวการจากไปของศิลปินแห่งชาติ ถวัลย์ ดัชนี
iUrban ขอแสดงความไว้อาลัยในการจากไปของศิลปิน ผู้เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับแวดวงศิลปะไทยร่วมสมัยอย่างมาก …ถวัลย์ ดัชนี… “ช่างวาดรูป” ผู้มีพุทธิปัญญาที่นำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างสรรค์ งานศิลปะไทยร่วมสมัยอันทรงพลังลุ่มลึกและแกร่งกร้าว งดงาม มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน

“งานเขียนของผม”

“ผมเขียนรูป เหมือนลมหายใจรินผ่านความงามของสุนทรียภาพ
ความล้ำลึกสุดหยั่งของจินตนาการ พลังขลังเร้นลับเร้าสัมผัส
อิ่มเอิบไปด้วยความรู้สึกทุกสภาวะอารมณ์ของมนุษย์และสัตว์
ปลอบประโลมด้วย ความหวัง หว่านศรัทธา ปลั่งปิติ และ
ขมขื่นชื่นหวาน ดุดันดุจเสียงอสุนีบาต อ่อนโยนเหมือนปุยเมฆ
ยามอรุญรุ่ง ร้อนแรงเหมือนเพลิงนรการต์ ฉ่ำชุ่มเย็น เหมือน
น้ำพุบนภูเขาสูง ซื่อใส่ประดุจหยาดน้ำค้างแรกบนแก้มกาลเวลา
มวลสารปริมาตรของเส้น สำแดงชีวิตโลดแล่นบนท้องทุ่งมโนทัศน์
เริงแจรง ด้วยจิตวิญญาณ สงบระงับ สันโดษสมถะด้วยสมาธิจิต
จากพุทธปรัชญาประจักษ์”

ถวัลย์ ดัชนี

ประวัติ ถวัลย์ ดัชนี
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
นายถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 ที่จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ได้แก่ พ.ต.สว่าง ดัชนี (ถึงแก่กรรม) นายสมจิตต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) และนายวสันต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) สมรสกับนางมากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุ๊ค มีบุตร 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี

ประวัติการศึกษา

พ.ศ. 2485 – 2491 ศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2492 – 2498 ศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2498 – 2500 ศึกษาระดับครูประถมการช่าง (ปปช.) จากโรงเรียนเพาะช่าง

พ.ศ. 2500 – 2505 ศึกษาปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะจิตรกรรมประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

พ.ศ. 2506 – 2412 ศึกษาระดับปริญญาโท ทางด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ (RIJKS AKADEMIE VAN BEELDEN DE KUNSTEN AMSTERDAM NEDERLAND)


ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
นับแต่เรียนสำเร็จชั้นมัธยมที่จังหวัดเชียงราย ถวัลย์ได้เข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว ภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียวประเทศญี่ปุ่นและแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย

เมื่อจบจากโรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ. 2500 ถวัลย์ได้เดินตามแนวทางของดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากลำปาง ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ปฏิมากรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้ถวัลย์พัฒนางานจากภาพวาดเหมือนจริงไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressionism) แบบไทย แล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างถวัลย์ ดัชนี กับ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขาเป็นอย่างยิ่ง

ถวัลย์ ดัชนี จัดเป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้นที่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าไม่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นแท้จริงแล้วจะได้เพียงอนุปริญญา และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ด้วยการสนับสนุนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น ถวัลย์ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อ
ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นเวลา 5 ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์

ระหว่างที่ศึกษาศิลปะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลงานการสร้างสรรค์ของถวัลย์โดดเด่นเป็นที่นิยมชมชอบของวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง จึงได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาทางศิลปะระดับนานาชาติอยู่เสมอ ทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศิลปะให้จัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Man Show และแสดงกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายถวัลย์ ดัชนี ได้รับรางวัลทางศิลปะ ดังนี้

พ.ศ. 2503 รางวัลที่ 2 การประกวดศิลปกรรม ณ วังสวนผักกาด

พ.ศ. 2505 รางวัลที่ 1 การประกวดศิลปกรรม จัดโดย องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพ

พ.ศ. 2528 ได้รับรางวัลเกียรติยศเหรียญทองจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในฐานะจิตรกรผู้สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย

พ.ศ. 2540 ได้รับเลือกจากองค์การสหประชาชาติ ให้เป็นผู้แทนวัฒนธรรมทางศิลปะภาคตะวันออกไปแสดงผลงานที่นิวยอร์ค ปารีส โรม ลิสบอน แคนเบอร่า และโตเกียว ตามลำดับ

พ.ศ. 2544 ได้รับคัดเลือกจาก FUKUOKA ASIAN CULTURE PRIZE COMMITTEE ให้รับรางวัล Arts and Culture Prize ค.ศ. 2001

ภาพถ่ายขณะอ.ถวัลย์ ดัชนี วาดภาพฝีแปรง ในงานครบรอบ 74 ปี พ.ศ. 2556 — @ Siam Paragon

ภาพลักษณ์ของถวัลย์ ดัชนี
ภาพลักษณ์ของถวัลย์ ดัชนี ที่ปรากฏต่อสาธารณชนคือ ชายร่างใหญ่ ค่อนข้างเจ้าเนื้อ มีเคราสีขาว แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเหนือสีครามเข้ม หรือสีกรัก มีเขี้ยวเล็บ กระดูกสัตว์ป่าเป็นเครื่องประดับ นับตั้งแต่อายุ 55 ปี ไม่เคยใส่เครื่องประดับกายชนิดใดเลย รูปลักษณ์ที่ปรากฎแก่คนทั่วไปเช่นนี้เป็นจุดยืนอันเด่นชัดของ ถวัลย์ ดัชนี ที่ไม่ยอมรับแฟชั่นหรือกระแสวัฒนธรรมทางวัตถุใดๆ ชีวิตส่วนตัวเป็นคนสมถะ กินน้อย นอนน้อย ทำงานมาก มีงานวาดรูปเป็นกิจนิสัย ตลอดชีวิตไม่เคยข้องแวะกับอบายมุขหรือสิ่งเสพย์ติดใดๆ เป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ถวัลย์ศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินดี ปฏิบัติสมาธิด้วยการทำงานวาดรูป จึงสามารถนำปรัชญาธรรมในพุทธศาสนามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะจนได้ชื่อว่าเป็นสื่อกลางเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าหากันในยุคปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ. เชียงราย โดย อ.ถวัลย์ ดัชนี

การทำประโยชน์เพื่อสังคม
ถวัลย์ ดัชนี มีโภคทรัพย์อันเกิดจากการวาดรูปค่อนข้างมากในความรู้สึกของคนทั่วไป แต่สำหรับถวัลย์แล้ว เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด เงินไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ มากนัก เขายังคงเป็นถวัลย์ ดัชนี ผู้มีชีวิตเรียบง่าย นอบน้อมถ่อมตน ยังคงกินน้อย นอนน้อย ทำงานวาดรูปมากสม่ำเสมออยู่เช่นเดิม ถวัลย์ผันเงินส่วนใหญ่ไปทำประโยชน์แก่วงการศิลปะ ทั้งวงการศึกษาและการสร้างสรรค์ เขายังหวังอยู่ว่าวันหนึ่งสังคมไทยจะให้ความสำคัญแก่ศิลปะและการสร้างสุนทรียรสให้แก่ผู้ตน เขาทุ่มเทเวลาส่วนมากฟูมฟักศิลปสถาน ที่ชาวบ้านเรียกว่าบ้านดำ นางแล ที่จังหวัดเชียงรายบ้านเกิดให้กลายเป็นสถานที่ทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาติด้วยการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะในเนื้อที่กว่าร้อยไร่ ประกอบด้วยอาคารแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือกว่า 40 หลัง และอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์หลายหลังสำหรับจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art) ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนวัตถุสะสมจากหลาหลายวัฒนธรรมทั่วโลก มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ถวัลย์ ดัชนีใช้เวลารวบรวมด้วยความตั้งใจมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมบ้างแล้ว

ตลอดระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ถวัลย์ ดัชนี อยู่เบื้องหลังการรวมตัวของช่างผู้รังสรรค์ศิลปะ ทั้งช่างในท้องถิ่นและภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เพื่อเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม มีผลงานศิลปะหลากหลายออกสู่สายตาสาธารณชนซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก และยังได้บริจาคเงิน 12 ล้านบาท จัดตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ด้วยการใช้ดอกผลจากกองทุนนี้สนับสนุนการศึกษาของสถาบันที่ถวัลย์เคยเกี่ยวข้องได้แก่ โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม โรงเรียนสามัคคีวิทยา จังหวัดเชียงราย วิทยาเขตเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์สถาบันละ 10 ทุน ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทุนสนับสนุนสอนศิลปะไทย โดย ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ทุนวิจัยแก่มูลนิธิ ม.ล.มานิจ ชุมสาย ณ อยุธยา ทุนมูลนิธิบ้านอาจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎเชียงราย บูรณปฏิสังขรณ์ วังพญาไทกรุงเทพฯ

จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว แสดงถึงความเป็นศิลปินของนายถวัลย์ ดัชนี “ช่างวาดรูป” ผู้มีพุทธิปัญญาที่นำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างสรรค์ งานศิลปะไทยร่วมสมัยอันทรงพลังลุ่มลึกและแกร่งกร้าวด้วยปัจเจกภาพส่วนตน มีเนื้อหาสาระและท่วงทีที่มีชีวิตวิญญาณของความเป็นไทยให้เห็นเกือบทุกชิ้นงานเป็นผู้นำศิลปะไทยเสนอต่อสายตาชาวโลกด้วยวิธีการที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทั้งยังได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะ เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ นายถวัลย์ ดัชนี เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม ) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2544

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ จาก.facebook :Thawan Duchanee




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง