“ศูนย์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการของกระทรวงกลาโหม”


ภายหลังจากที่“คณะรักษาความสงบแห่งชาติ”(คสช.) ออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 122/2557 แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ คสช.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้เเต่งตั้ง คสช.เพิ่มอีก 9 คน ทำให้วันนี้ คสช.มีสมาชิก 15 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. 2.พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร 3.พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย4.พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และ 5.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ยังคงเป็นรองหัวหน้า คสช. แต่เพิ่ม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นรองหัวหน้า คสช.อันดับ 1 อีก 1 ตำแหน่งขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ว่าที่ผู้บัญชาการทหารบก ยังคงเป็นเลขาธิการ คสช.เหมือนเดิม

ส่วนที่เข้ามาเป็นสมาชิก คสช. เพิ่มเติมอีก 8 คน ประกอบด้วย 6 ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และ 2 พลเรือน คือ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม , พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ว่าที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด , พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ว่าที่รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ รมว.ยุติธรรม , พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ว่าที่ผู้บัญชาการทหารเรือ , พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ว่าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ , พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง

คำสั่งดังกล่าวทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการเพิ่มจำนวนสมาชิก คสช.คราวนี้ หัวหน้า คสช.มุ่งหวังสิ่งใด เเละเหตุใดจึงต้องทำเช่นนี้ เพราะดูจะขัดแย้งกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดมาตลอดว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ คสช.จะลดบทบาทลงไป และจะปรับโครงสร้างให้เล็กลง????

ความมุ่งหวังให้การปฏิบัติหน้าที่ของ คสช.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ ตามเหตุผลในประกาศ คสช.ฉบับที่ 122/2557 คงไม่ใช่เพียงเหตุผลเดียวที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการ แต่น่าจะมีเรื่องความมั่นคงของรัฐบาลเป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าหลังวันที่ 30 กันยายน นี้ บรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพที่มีอำนาจควบคุมกำลังหลักในกองทัพของคณะ คสช.เดิม ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์(ผู้บัญชาการทหารบก) , พล.อ.ธนะศักดิ์(ผู้บัญชากาทหารสูงสุด) , พล.ร.อ.ณรงค์(ผู้บัญชาการทหารเรือ) , พล.อ.อ.ประจิน(ผู้บัญชาการทหารอากาศ) และ พล.ต.อ.อดุลย์(ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) จะ “เกษียณอายุราชการ”เว้นแต่ พล.อ.อุดมเดช ที่ขยับตำแหน่งขึ้นไปเป็นผู้บัญชาการทหารบก

ในจุดนี้จะส่งผลให้คณะ คสช.เดิม เกือบทุกคนอยู่ในสภาวะ “เท้าลอย” ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทั้งต่อ คสช. และรัฐบาล นั่นเพราะความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านที่ถูก “กฎอัยการศึก” สะกดเอาไว้ จะอาศัยช่วง“หัวเลี้ยวหัวต่อ” ครั้งนี้ “ลุกฮือ” ขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้นการตั้งรัฐมนตรีกลาโหม , ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. เข้าไปเป็น คสช.ชุดใหม่ จึงน่าจะ “สกัด” ความเคลื่อนไหวที่รอก่อหวอดขึ้นมาได้

อีกทั้งยังถือเป็นการ “เสริมทัพ” เพื่อเข้ามาช่วยกันประคับประคองดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ตามโรดแมปที่ คสช.กำหนด เพราะผู้ที่เข้ามาใหม่ทั้งหมดถือเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการสั่งการ และควบคุมกำลังในกองทัพอย่างแท้จริง เพราะผู้บัญชาการเหล่าทัพที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนนี้ จะกลายเป็นแค่“เสือที่ไม่มีเขี้ยวเล็บ” ที่ทหารในกองทัพเพียงให้ความเคารพ แต่จะให้ไปสั่ง “ซ้ายหัน ขวาหัน” เหมือนเดิมคงไม่ได้

นอกจากนี้การได้ “พี่ใหญ่แห่ง 3 ป.บูรพาพยัคฆ์” อย่าง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ศิริชัย ว่าที่ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล “ศูนย์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการของกระทรวงกลาโหม” ที่ตั้งขึ้นแบบสดๆร้อนๆ เพื่อวิเคราะห์ เสนอแนะการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในระดับนโยบายภายใต้แผน “แอ็คชันแพลน” ก็น่าจะช่วยให้การกำกับดูแลงานด้านความมั่นคงที่ คสช.เป็นห่วง ราบรื่นมากขึ้น และยังช่วยให้ คสช.ทำงานควบคู่กับรัฐบาลได้ง่ายขึ้น เพราะ พล.อ.ประวิตร จะมีอำนาจสั่งการทั้งในฐานะรัฐมนตรี และในฐานะรองหัวหน้า คสช. 

ส่วนพลเรือน 2 คนที่เข้ามาเป็น คสช.ชุดใหม่ คนหนึ่งเป็น “มือกฎหมายชั้นครู” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และคนหนึ่งเป็น “มือเศรษฐกิจชั้นเซียน” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม้ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่ก็มีบทบาทในการทำงานร่วมกับรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อม น่าจะถูกดึงตัวเข้ามารับภาระหน้าที่ในการดูแลงานหลักในด้านอื่นๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าความมั่นคงของประเทศ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านการทหารอย่างเดียว แต่ยังมีในเรื่องความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ สภาพสังคม วัฒนธรรม ก็อยู่ในมิติของความมั่นคงทั้งสิ้นสำหรับนายมีชัย จะเข้ามาดูแลนโยบายด้านกฎหมายของ คสช. ความต้องการของประชาชนในสังคม มุมมองภาพลักษณ์ของ คสช. ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธา และความไว้วางใจของประชาชนที่จะให้ คสช.บริหารประเทศต่อไป โดยจะเข้ามาทำงานควบคู่ และเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ที่ต้องเข้ามาสานต่องานด้านกฎหมาย เพื่อให้สำเร็จเป็นรูปธรรมและเป็นสากลมากที่สุด

ส่วนนายสมคิด เดิมเป็นที่ปรึกษาให้กับ คสช. และเป็นที่ไว้วางใจของหัวหน้า คสช.เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีนโยบายด้านเศรษฐกิจ และมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับกลุ่มนักธุรกิจในประเทศแถบเอเชีย  โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ที่ยอมรับในชื่อชั้นของนายสมคิดเป็นอย่างมาก จึงถูกดึงมาช่วยงานอย่างเต็มรูปแบบ โดยรับผิดชอบเรื่องของเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของ คสช.และรัฐบาล รวมถึงยังมีอำนาจกำกับดูแลคนของตนที่อยู่ใน ครม. ทั้งเป็นรัฐมนตรี เลขานุการ รมต. ที่ปรึกษา รมต. และในบอร์ดต่างๆด้วย

เมื่อได้ทั้ง “มือกฎหมาย” และ “มือเศรษฐกิจ” เข้ามาช่วยงานน่าจะช่วยให้ คสช.และรัฐบาล เกิดความมั่นคงมากขึ้น โดยมีมิติด้วยกฎหมายและเศรษฐกิจรวมอยู่ด้วย เมื่อผนวกรวมเข้ากับการที่ คสช.มีกองทัพทุกเหล่าทัพเป็นสมาชิก อำนาจของ คสช.ที่จะดูแลความมั่นคงของชาติก็จะทำได้โดยสะดวก คสช.เองก็มั่นคง รัฐบาลก็มั่นคง ไม่มีอะไรให้ต้องระวังหลัง

การหลบมาอยู่หลังฉากของ คสช. จึงเป็นเพียงการลดบทบาทงานด้านบริหาร แต่“แอบ” เสริมความแข็งแกร่งความมั่นคงในทุกด้าน เพื่อหวังสยบ “คลื่นใต้น้ำ” ให้ราบคาบ พร้อมเสริมกลยุทธ์ สร้างภาพลักษณ์ให้ประชาชนไว้วางใจการบริหารประเทศของ คสช. และรัฐบาล

ถ้าทำได้ตามเป้าก็เท่ากับว่า คสช.ที่มี “บิ๊กตู่” คุมอำนาจ จะมีความมั่นคง แข็งแกร่งมากขึ้น และกลายเป็นดั่ง “กระดองเสริมใยเหล็ก” ที่คอยคุ้มกันรัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ให้สั่นคลอน!!!

http://www.naewna.com/scoop/122772

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ