สมเด็จพระมหามุนีวงศ์


ประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) 


วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 



๏ อัตโนประวัติ 

เมื่อครั้งที่ “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)” เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ละสังขารอย่างสงบเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ยังความเศร้าโศกสลดอาลัยแก่คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นยิ่งนัก ครั้งนั้น “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร)” เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่มีลำดับอาวุโสสูงสุดในวัด ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส

ต่อมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมาด้วยความเรียบร้อย และมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการ สมควรได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) มีนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ หมู่บ้าน ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี โยมบิดา-มารดาชื่อ นายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ปัจจุบันสิริอายุได้ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑ (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔-๑๕ (ธรรมยุต) และกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

ในช่วงวัยเยาว์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ ๔ ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔

Image
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) 

Image
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) 


๏ การบรรพชาและการอุปสมบท 

ต่อมาเข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ได้ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยความมุ่งมั่น พ.ศ. ๒๔๘๓ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. ๒๔๘๔ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ. ๒๔๘๖ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๘๘ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค

กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดย “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)” เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร)

ครั้นต่อมา สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ โดยมี ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ภายหลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ. ๒๔๙๑ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค และ พ.ศ. ๒๔๙๓ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค

ต่อมา ท่านได้สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นนักศึกษารุ่นที่ ๕ จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีพระขันติมาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น


๏ งานด้านการศึกษา 

- เป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร

- เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี

- เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นต้น


(มีต่อ)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2089

ตอบตอบเมื่อ: 04 เม.ย.2011, 6:15 pmตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
ขณะรับบิณฑบาต ในงานทอดผ้าป่าสามัคคีเนื่องในวโรกาส ๑๐๘ ปีชาตกาลหลวงปู่ฝั้น
ณ วัดป่าอุดมสมพร บ้านบะทอง ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 


Image
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ
ในงานทอดผ้าป่าสามัคคีเนื่องในวโรกาส ๑๐๘ ปีชาตกาลหลวงปู่ฝั้น อาจาโร 



๏ งานด้านสาธารณูปการ 

- เป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต พระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

- เป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นต้น


๏ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา 

- เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๒ ผู้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไปเผยแผ่ในประเทศออสเตรเลีย

- เป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)


๏ งานด้านการศึกษาสงเคราะห์ 

- ได้มอบทุนสงเคราะห์แก่ผู้เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

- เป็นรองประธานกองทุนวัดช่วยวัดของมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยแล้ง นำเงินบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยนั้นๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


๏ งานปกครองคณะสงฆ์ 

- ดำรงตำแหน่งมากมาย อาทิ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔-๑๕ (ธรรมยุต), กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.), กรรมการคณะธรรมยุต, พระอุปัชฌาย์ และกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น


๏ ลำดับสมณศักดิ์ 

พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี

พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี

พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์

พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์

พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ฝ่ายธรรมยุต ที่“สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี”

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เอาใจใส่ในกิจการงานของพระอารามหลวงด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่รับภารธุระอยู่ ทุกประการล้วนต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พร้อมทั้งความตั้งใจจริงอย่างดียิ่ง ได้ทำหน้าที่ในฐานะแห่งนักปกครองที่เอาใจใส่ดูแลความเป็นไปของวัดและคนในวัดอย่างดียิ่ง รวมทั้งท่านยังได้สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย

Image
เหนือฐานพระมหาเจดีย์ใหญ่ มีซุ้มคูหากระจกประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ
และพระรูปหล่อของอดีตสมเด็จพระสังฆราชที่เคยทรงครองวัดนี้ ๒ พระองค์ อยู่โดยรอบ
จากภาพ : ซุ้มคูหากลางคือซุ้มพระรูปหล่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชุมพูนุท สิริวฑฺฒโน)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 


Image
ปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถานภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 



.............................................................

♥ รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก :: 
หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด
วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6758
♥ ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง
 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ