การแต่งตั้งสมณศักดิ์


สมณศักดิ์ 2551




 
    มีคนเมล์เข้ามายุผู้เขียนให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทย ในปี พ.ศ.2551 ว่าจะมีพระสงฆ์เถรานุเถระ (แปลว่าพระผู้ใหญ่ผู้น้อย) รูปใดในปัถพี ที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นเจ้าคุณใหม่ หรือไม่ก็ได้เลื่อนยศสูงขึ้นไป หรือมีเหตุผลกลใดที่ไม่สามารถจะเลื่อนได้ ฯลฯ "เขาอยากรู้" ผู้เขียนซึ่งมีนิสัยแบบว่า "ยุไม่ได้" คือถ้ามีกองเชียร์ละก็ถึงไหนถึงกัน ดังนั้น วันนี้จึงต้องร่ายกาพย์กลอนสุนทรภู่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่านี้กันเสียหน่อย
     ถามว่า สาเหตุใดจึงต้องเขียนเรื่อง "สมณศักดิ์" ในช่วงนี้ ?
     คำตอบก็คือว่า เพราะสาเหตุว่า คณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทยถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันมหามงคล คือเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะยกขึ้นเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ก็ต้องทำอะไรให้เหมาะสมกับวันสำคัญ และหนึ่งในนั้นก็คือ การตั้งพระราชาคณะ หรือตั้งเจ้าคุณ ซึ่งพระภิกษุที่ได้รับการแต่งตั้งหรือเลื่อนขั้นก็จะได้รับอาราธนานิมนต์จากสำนักพระราชวัง ให้เข้าไปรับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคุณในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี นี่คือคำตอบ
     เมื่อคำตอบออกมาเช่นนี้ ก็เหมือนโผทหารซึ่งจะทำการโยกย้ายกันในราวเดือนตุลาคมของทุกปี ดังนั้น พอถึงช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี ก็จะมีความเคลื่อนไหวกันคึกคัก มีการเก็งหรือคาดหมายว่านายพลคนใดจะขึ้นไปคุมบังเหียนในระดับ 5 เสือกองทัพบก ถ้าเป็นภาษานักมวยก็ต้องเรียกว่า "ใครจะอยู่ ใครจะไป" เรื่องนี้สำคัญนะจะบอกให้ และการคาดหมายว่าใครจะได้เป็นอะไรดังว่ามานี้ ก็เหมือนๆ เกจิอาจารย์ทางมวยหรือทางฟุตบอล ย่อมจะมองเห็นว่า นักมวยคนไหนกำลังมาแรงจะแซงทางโค้ง ถ้าไม่อ่อนซ้อมหรือล้มมวยก็น่าจะไม่พลาด หรือฟุตบอลทีมไหนในบรรดาทีมแนวหน้าของโลก เช่น เยอรมันนี อังกฤษ อาเจนติน่า บราซิล หรืออุรุกวัย เป็นต้น ทีมพวกนี้โผล่ขึ้นเป็นเต็งหามทุกปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก จะเรียกว่าเป็นทีมยืนก็คงว่าได้ ดังนั้น เซียนๆ ก็ต้องให้เครดิตแก่ทีมเหล่านี้ก่อน ก่อนจะชม้ายชายตาไปยังทีมม้ามืดกันต่อไป ฯลฯ เห็นไหมล่ะ จะว่าเรื่องยศช้างขุนนางพระ ดันผ่าปี่ผ่ากลองไปพูดเรื่องมวยเรื่องบอลซะไกล เป็นพระเป็นเจ้ารู้อะไรกับเขาด้วยล่ะ เฮ้อ !
      แต่ทีนี้ว่า การวิจารณ์นั้นแม้ว่าจะทำได้ แต่ก็มีข้อขัดข้องอยู่หลายประการ เพราะมวยยังไม่ได้ขึ้นเวที จะให้เซียนชี้ว่าต่อยังไงรองยังไง มันก็ยังไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น เวลาชกกันจริงๆ นั่นแหละ เขาถึงต่อรองกันแบบว่า ยกต่อยก เบรกต่อเบรก ใครที่คิดแทงมวยกันที่หน้าประตูสนามนั้นยังถือว่าอ่อนหัด ดังนั้น การวิจารณ์ในวันนี้ดูทีจะเป็น "การคาดการ" เสียมากกว่า เพราะในเมื่อเรายังไม่เห็นโผเจ้าคุณว่ามีใครบ้าง เส้นไหนสายไหนได้เป็นใหญ่เป็นรอง มันก็ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการผิดพลาด เหมือนๆ กับการดูดวงนั่นแหละ ท่านว่ามีอยู่ 2 แบบ คือดูดวงในระบบราศีจักรซึ่งแบ่งออกเป็น 12 ราศี ไล่ตั้งแต่ เมษ พฤษภ มิถุน กรกฏ สิงห์ กันย์ ตุลย์ พิจิก ธนู มกร กุมภ์ และมีน ซึ่งในวงการโหรศาสตร์จะเรียกว่า ดูดวงอีแปะ แถมยังถือว่าเป็นการดูดวงชั้นนอก ไม่ได้ลึกซึ้งถึงขั้นเป็นขั้นตาย ส่วนอีกระบบหนึ่งนั้นคือการดูดวงในระบบนวางค์จักร ซึ่งซอยราศีจักรให้ละเอียดลงไปอีกถึง 9 นวางค์ต่อ 1 ราศี เมื่อแบ่งดวงราศีออกเป็นเช่นนี้ ก็จะมีคำทำนายรายละเอียดเพิ่มจาก 12 คำ เป็น 108 คำ เห็นไหมว่าละเอียดขนาดไหน
     ดังนั้น เมื่อยังไม่เห็นโผเจ้าคุณดังว่ามา ก็จึงยังไม่สามารถจะวิจารณ์ได้อย่างละเอียดแบบว่า "ทุกตำแหน่ง" ก็ยกตัวอย่างการวิจารณ์ทีมฟุตบอลนั่นแหละ ตราบใดที่ทางผู้จัดการทีมยังไม่ประกาศรายชื่อนักเตะครบทั้ง 11 ตำแหน่ง (รวมทั้งผู้เล่นสำรอง) ก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่า จริงๆ แล้วทีมไหนดีจริงหรือดีไม่จริง เรื่องโผเจ้าคุณก็ฉันนั้น
      ทีนี้ วันนี้ ที่เขียนหัวข้อไว้ว่า "เปิดโผว่าที่สมเด็จใหม่ ปี 2551" นั้น ก็เพราะมีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์หรือตัวบุคคลผู้เข้ากฎเข้าเกณฑ์ เมื่อข้อมูลค่อนข้างชัดก็หมายถึงว่า ความมั่วย่อมจะลดน้อยลงไปด้วย ส่งผลไปถึงว่า ความผิดพลาดก็ย่อมน้อยตามลงไปในอีกชั้นหนึ่ง จึงตั้งชื่อเรื่องในวันนี้ไว้ดังกล่าว
     ชัดๆ เลยก็คือว่า ข้อเขียนวันนี้จะชี้เป้าไปยังตำแหน่ง "สมเด็จพระราชาคณะ" ซึ่งถือว่า "สูงสุด" ในบรรดาสมณศักดิ์ทุกชั้นของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งตำแหน่งหรือสมณศักดิ์ชั้นนี้ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 กำหนดอัตราระหว่างนิกายไว้ที่ "4/4" คือ เมืองไทยเรามีพระสงฆ์ที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายอยู่เพียง 2 นิกาย คือ มหานิกายกับธรรมยุต อัตรา 4-4 จึงแบ่งให้มหานิกายไป 4 ให้ธรรมยุตไป 4 รวมเป็น 8 และให้มีตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช" เป็นกรณีพิเศษ "ทรงดำรงตำแหน่งประธานมหาเถรสมาคม" อีกหนึ่งตำแหน่ง จึงรวมว่า สมเด็จพระราชาคณะในเมืองไทย มีทั้งสิ้น 9 ตำแหน่ง ส่วนถ้าพระสงฆ์นิกายไหนได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชก็หมายถึงว่า นิกายนั้นจะมีอัตราสมเด็จพระราชาคณะอยู่ที่ 5 ต่อ 4 เช่น สมัยปัจจุบันนี้ สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งวัดบวรนิเวศนั้นเป็นวัดในสังกัดธรรมยุต ทำให้คณะธรรมยุตมีสมเด็จพระราชาคณะรวมทั้งสิ้น 5 ส่วนมหานิกายได้เพียง 4 ดังนั้น อัตราจริงๆ ก็คือ 5 ต่อ 4 ไม่ใช่ 4-4 ดังที่เข้าใจ เมืองไทยเราก็มีอะไรที่ต้องอธิบายกันหลายชั้นดังนี้แหละ
     ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่จะชี้ในวันนี้นั้น เมื่อแยกพรรค 2 พรรคออกจากกัน คือ พรรคมหานิกาย ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ (พรรคนี้มีสมาชิกพระสงฆ์ประมาณ 300,000 รูป) และ พรรคธรรมยุติกนิกาย ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยของประเทศ (พรรคนี้มีสมาชิกพระสงฆ์ประมาณ 30,000 รูป) เราก็จะพบว่า ตำแหน่งสมเด็จที่จะวิจารณ์ในวันนี้มีอยู่เฉพาะใน "พรรคธรรมยุต" เท่านั้น
   ที่ว่าดังนั้นก็เพราะว่า ในปี พ.ศ.2551 นี้ มีพระสมเด็จฯในฝ่ายธรรมยุต มรณภาพไปถึง 2 รูป คือ
     1. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม แขวงบางขุนพรมเขตพระนคร มรณภาพไปในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2551
     2. สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร ป.ธ.6) วัดราชบพิสถิตมหาสีมาราม แขวงวัดราชบพิธเขตพระนคร มรณภาพไปในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2551
     ซึ่งตามกฎหมายคณะสงฆ์นั้นระบุว่า "สมเด็จพระราชาคณะดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง" คือหมายถึงว่า ถ้าพระภิกษุรูปใดได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จฯ ก็จะได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยอัตโนมัติ โดยไม่มีการถอดถอน นอกจากจะถูกถอดยศหรือมรณภาพไปเท่านั้น จะลาออกเองก็ยังไม่ได้เลย และก็ไม่เคยมีสมเด็จฯรูปไหนลาออกเลยในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย
     ทีนี้เมื่อกฎหมายบังคับไว้เช่นนี้ ก็มีปัญหาในภาคปฏิบัติ คือว่า ถ้าพระสมเด็จรูปใดรูปหนึ่งมรณภาพลงไป กรรมการมหาเถรสมาคมหรือสมเด็จพระสังฆราช จะลงมติแต่งตั้งพระสงฆ์รูปนั้นรูปนี้ขึ้นเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมแทนสมเด็จฯ รูปนั้น หาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะไม่มีมาตราใดในกฎหมายเปิดช่องไว้ให้
    ช่องทางเดียวเท่านั้นที่ทำได้ก็คือ "มหาเถรสมาคมลงมติให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใหม่แทนรูปที่มรณภาพไป" เพราะถ้าทำการสถาปนาสมเด็จใหม่แทนรูปเก่าได้ ก็เท่ากับว่าได้แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (โดยตำแหน่ง) ที่ขาดหายไปนั้น ให้เต็มอย่างถูกต้องตามกระบวนการอันชอบธรรม ย้ำ !
     ที่พูดไปนั้นยังเป็นแค่ "หลักการและวิธีการ" เท่านั้น ส่วนว่าใครจะได้เป็นตามหลักการและวิธีการนั้นยังต้องพูดกันในขั้นตอนต่อไป
      ถามว่า จำเป็นด้วยหรือที่ต้องรีบตั้งสมเด็จพระราชาคณะให้เต็มอัตราหรือเต็มโควต้าของฝ่ายธรรมยุต
      ตอบว่า จำเป็นสิครับ จำเป็นอย่างสูงสุดด้วย
     ทั้งนี้ก็เพราะว่า กฎหมายกำหนดไว้ว่า สมเด็จพระราชาคณะดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง คือจะแต่งตั้งทดแทนกันเองแบบคณะรัฐมนตรีนั้นหาได้ไม่ ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้สถาปนาสมเด็จองค์ใหม่แทนองค์เท่าเก่าที่ตาย เอ๊ย มรณภาพไป เก้าอี้หรือตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมก็ยังต้อง "ว่าง" อยู่ต่อไป
    แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า ณ เวลานี้ กรรมการมหาเถรสมาคมระดับสมเด็จฯ ในฝ่ายธรรมยุตนั้น กะปลกกะเปลี้ยเต็มทน เพราะ
    1. มรณภาพไปแล้ว 2 รูป ทำให้เหลือพระสมเด็จในฝ่ายธรรมยุตเพียง 3 รูป
    2. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ก็ทรงพระชราภาพมาก พระชนมายุยืนนานถึง 97 ปี ไม่สามารถจะทรงงานได้ ต้องเสด็จไปประทับที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นเวลา 5 ปีกว่ามาแล้ว ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชถูกรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศ ให้ขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนมาตั้งแต่ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547 ซึ่งกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในเวลาต่อมาอีกด้วย โดยนัยยะนั้นหมายถึงว่า อำนาจของสมเด็จพระสังฆราชถูกโอนไปให้แก่สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ มานานแล้วถึง 5 ปี เป็น 5 ปีที่สมเด็จพระญาณสังวร ทรงมีแต่เพียงตำแหน่ง แต่ทรงไร้พระอำนาจในการบัญชาการคณะสงฆ์
   ถ้าพูดแบบตัวเล่นในกีฬาฟุตบอลก็คือว่า ผู้เล่นหลักในฝ่ายธรรมยุตนั้นถูกไล่ออกนอกสนามไปแล้ว 2 ที่เหลืออีก 3 ก็บาดเจ็บ แม้แต่สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ.9) วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งถือว่าแข็งแรงที่สุดในฝ่ายธรรมยุตนั้น ปัจจุบันวันนี้ก็มีชนมายุย่างเข้า 92 ปีแล้ว อีกรูปหนึ่งคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ.9) วัดสัมพันธวงศาราม ก็มีอายุยืนนานถึง 91 เข้ามานี่แล้ว
   ภาพที่ปรากฏในปัจจุบันจึงกลายเป็นว่า อำนาจในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทยแทบทั้งหมด ตกอยู่ในกำมือของคณะมหานิกาย ภายใต้การนำของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศ ทั้งสิ้น !
     จริงอยู่ แม้ว่าพระสมเด็จฯในฝ่ายมหานิกายบางรูปก็ชราภาพ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ สุวฑฺฒโน ป.ธ.7) วัดสุวรรณาราม แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ นั้น ปัจจุบัน พระคุณท่านเจริญชนมายุยืนนานถึง102 ปี เพราะเกิดวันที่ 11 เดือนมีนาคม พ.ศ.2450 ถ้าถึงวันที่ 11 มีนาคม 2552 นี้เมื่อไหร่ ท่านก็จะมีอายุย่างเข้า103 ปีทีเดียว
    แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้น ท่านมิได้มีอำนาจในการบัญชาการคณะสงฆ์แต่อย่างใดเลย คือไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งผิดปรกติของสมเด็จพระราชาคณะทั่วไป สมเด็จฯวัดทองจึงได้เป็นเพียง "กรรมการมหาเถรสมาคม" ลอยๆ เพียงตำแหน่งเดียว ถ้าเปรียบกับรัฐมนตรี สมเด็จฯวัดทองก็เท่ากับ "รัฐมนตรีประจำสำนักนายก" ซึ่งสมัยเก่านั้นเขาเรียกว่า "รัฐมนตรีลอย" เพราะไม่มีเก้าอี้ในกระทรวงให้บัญชาการนั่นเอง งานของสมเด็จฯ วัดทองจึงออกไปทางงานสังคม เช่น นั่งปรกปลุกเสกพระเครื่อง หรือรับนิมนต์ไปเปิดงานวัดต่างๆ ทำให้ท่านน่ารักไปอีกแบบหนึ่ง
      ความถดถอยของคณะธรรมยุตในยุคนี้เป็นไปถึงขนาดว่า เวลาจะแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่ อันเป็นอำนาจของสมเด็จพระญาณสังวรมาแต่เดิมนั้น ก็ยังต้องให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ไปรับตราตั้งจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถ้าใครเคยอ่านประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ซึ่งแต่เดิมนั้น พวกพระธรรมยุตผู้เกิดสองหน คือบวชซ้ำบวชแปลงเหมือนคนแปลงเพศ จะหยามหมิ่นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายว่า "มีศักดิ์เพียงสามเณรถือศีล 10 เท่านั้น" แต่ปัจจุบันวันนี้ พระธรรมยุตผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งกว่าพระอรหันต์นั้น กลับยอมก้มหัวไปรับตราตั้งแต่งตั้งจากเจ้าจั๋วหรือสามเณรน้อย เห็นแล้วอยากร้องไห้แทน "พระภิกษุวชิรญาณ" ผู้ก่อตั้งธรรมยุตขึ้นมาเสียจริงเชียว !
     นี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้คณะธรรมยุต "ต้องรีบ" แต่งตั้งพรรคพวก เอ๊ย พระสงฆ์ในสังกัดพรรคของตนเองขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะให้ได้ภายในเร็ววัน ทั้งนี้เพื่อจะเติมเก้าอี้ในมหาเถรสมาคมอันเป็นรัฐบาลคณะสงฆ์ไทยให้เต็ม เพื่อจะได้มีสิทธิ์มีเสียงทัดเทียมกัน แม้ว่าจะช้าหรือสายไปนิด แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา จริงมะ
     เอาละ ต่อไปก็จะวิจารณ์ตัวบุคคลที่จะได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง "สมเด็จพระราชาคณะ" ที่ว่างอยู่ของฝ่ายธรรมยุต
   ถามว่า เขาพิจารณากันจากอะไร ? ก็ตอบว่า ก็เหมือนทหารหรือตำรวจนั่นแหละ ต้องพิจารณาจาก 1.ตำแหน่ง 2.ความอาวุโส และ 3.เส้นสาย ใครมี 3 ประการนี้พร้อมกว่าเพื่อน ก็ย่อมมีสิทธิ์รับพัดยศสมเด็จพระราชาคณะจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน ดังนั้น เราก็จะเอากฎเกณฑ์ที่เขาตั้งๆ ไว้ทั้งสามข้อเหล่านี้มาพิจารณากัน ว่าพระรูปไหนจะได้เป็นสมเด็จฯ ในปีนี้
     1. ตำแหน่ง หมายถึงว่า ดำรงตำแหน่งอะไร คุมกำลังหรือมีอิทธิพลมากขนาดไหนในวงการคณะสงฆ์ ซึ่งตำแหน่งสูงสุดในคณะธรรมยุตนั้นก็คือ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต โดยแต่เดิมนั้นตำแหน่งนี้เป็นของสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งภายหลังทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอีกด้วย แต่หลังจากมีการแต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแล้ว ต่อมาก็มีการแต่งตั้ง "ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต" ขึ้นมาแทนอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ความหมายก็คือว่า สมเด็จพระญาณสังวร ทรงถูกยึดอำนาจไปแล้วถึง 2 อำนาจด้วยกัน คือ อำนาจในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และอำนาจในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
   พระมหาเถระรูปที่ได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้ดำรงตำแหน่ง "ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต" รูปแรกนั้น ได้แก่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) วัดมกุฏกษัตริยาราม ซึ่งต่อมาไม่รู้ว่าจะถูกครหานินทาหรือถูกกดดันทางใดทางหนึ่ง ทำให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ถอดใจ ยอมยกตำแหน่งนี้ "คืนให้" แก่วัดบวรนิเวศวิหาร ส่งผลให้พระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหมฺคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศ ซึ่งเป็นเพียงชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง "ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต" เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2550 ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว พระเถระผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในฝ่ายธรรมยุตยุคปัจจุบันก็คือ พระพรหมมุนี แม้ว่าจะมียศเพียงรองสมเด็จ แต่มีอำนาจมากกว่าสมเด็จเสียอีก
     2. ความอาวุโส เรื่องความอาวุโสนี้ก็มีความสำคัญ แต่มันยังมีอีกหลายความหมาย เช่น กฎเกณฑ์การเลื่อนสมณศักดิ์ในยุคหลังๆ มานี้ มีการตั้งเวลาเอาไว้ว่า "พระที่จะได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์นั้น ต้องได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งเดิมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี" แต่ก็มีข้อยกเว้นอีกจนได้ นั่นใช้สำหรับพระที่มีสมณศักดิ์ในระดับล่างๆ คือตั้งแต่ชั้นธรรมลงไป ส่วนชั้นรองสมเด็จที่จะขึ้นเป็นสมเด็จนี้ กฎเกณฑ์ที่ว่านี้นำมาใช้บังคับไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะมันเป็นเหตุผลพิเศษ
     ที่ว่าเป็นเหตุผลพิเศษนั้นก็เพราะว่า ถ้ามีสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งมรณภาพ ส่วนรองสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นๆ ก็เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง คือหมายถึงว่ายังมีอายุพรรษาในตำแหน่งใหม่ไม่ครบ 4 ปี แล้วจะรอให้มีอาวุโสครบ 4 ปีเสี่ยก่อนจึงค่อยเสนอขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะนั้น ยังงี้ไม่ไหว เพราะนอกจากจะเสียเปรียบนิกายอื่นแล้ว ก็ยังทำให้เสียอะไรหลายๆ อย่าง เพราะอย่าลืมว่า ถ้าเบื้องบนไม่ขยับ เบื้องล่างจะเขยื้อนได้อย่างไร การที่มีพระมหาเถระเลื่อนขึ้นไปในระดับสูง ย่อมส่งผลให้มีการเลื่อนตำแหน่งในระดับล่างๆ อีกนับสิบตำแหน่ง เลือดลมก็จะหมุนเวียนทำให้ร่างกายสดชื่น จิตใจก็จะแจ่มใส รูปที่รอเลื่อนก็ยิ่งแจ่มใส เหมือนไฟแดงเปลี่ยนเป็นไฟเขียว คล้ายๆ การจราจรนั่นแหละ ถ้ารถคันหน้าไม่ขยับ คันหลังจะเขยื้อนได้อย่างไร ใครไม่เชื่อก็ไปถามตำรวจ สน.พลับพลาชัยดูสิ ว่ามหานรินทร์พูดจริงไหม ดังนั้น ตามกฎจราจร ถ้ามีรถติด เขาต้องไปดูที่รถคันหน้าว่าติดเพราะอะไร ทำไมไม่ไป และจะทำอย่างไรให้คันหน้าไปได้ก่อน จึงค่อยพิจารณาถึงคันหลังๆ ไม่มีตำรวจคนไหนไล่รถคันหลังก่อนคันหน้า เพราะรถไม่ใช่ควายจะได้ไล่จากข้างหลัง ส่วนใครไล่ควายจากด้านหน้าก็แสดงว่าเซ่อซ่าสุดๆ นอกจากจะไล่ควายไม่ไปไหนแล้วก็อาจจะโดนควายขวิดเอาอีกด้วย เรื่องนี้ขอร้องว่าอย่าเถียง เพราะมหานรินทร์เคยเป็นเด็กเลี้ยงควายมาก่อนจึงรู้เรื่องไล่ควายดีไม่น้อยกว่าวงดนตรีคาราบาวแน่นอน ข่มเขาควายให้กินหญ้าก็เคยทำมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ สู้ "สหายสนธิ" ไม่ได้ กำลังจะข่มคนไทยให้กินประชาธิปไตยกึ่งคอมมิวนิสต์ จนสติแตกอยู่เห็นๆ กูละเบื่อ
      แต่แม้ว่าจะตัดปัญหาเรื่องอาวุโสออกไป ก็ยังต้องติดเรื่องอาวุโสในลำดับของรองสมเด็จพระราชาคณะแต่ละรูปแต่ละองค์อีก คือว่า ถ้านับในลำดับพระเถระที่ขึ้นดำรงตำแหน่งรองสมเด็จพระราชาคณะแล้ว พระเถระรูปใดได้เป็นรองสมเด็จก่อน ก็ย่อมจะมีสิทธิ์อ้างเอาความอาวุโสเป็นเหตุผลต่อรองขึ้นเป็นสมเด็จก่อนรูปอื่นๆ ที่มาทีหลัง แต่ทั้งนี้แหละทั้งนั้นมันก็บ่แน่ดอกนาย เพราะหลายๆ ครั้งในอดีตก็มีบทเรียนให้เห็นว่า "มีการข้ามอาวุโส" มาแล้ว จนร่ำๆ จะมีการประท้วงกันด้วยซ้ำไป ที่ไม่ได้ดั่งใจก็ให้ลูกศิษย์เขียนหนังสือด่าโดยไม่กล้าใส่ชื่อจริง นี่ขนาดว่าคนไม่มีกิเลสตัณหานะ ถ้ามีนิดๆ จะขนาดไหน ดังนั้น อย่าแปลกใจเลยว่า สาเหตุใดนักการเมืองเขาถึงแย่งกันจะเป็นจะตาย ก็ขนาดพระสงฆ์บางรูปพอไม่ได้เป็นยังเสียอกเสียใจร้องไห้ฟูมฟายน่ะ จะให้บอกหรือไม่ล่ะว่าชื่ออะไร ? แหมพูดเล่นไม่มีใครเขาพูดความจริงกันหรอก เรื่องพรรค์อย่างนี้น่ะ เอาไว้คุยกันหลังไมค์ดีกว่านะ หุหุ...
      เอาละ จะเอาพระราชาคณะชั้นหิรัณยบัฎหรือชั้นรองสมเด็จฯ ผู้มีสิทธิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะในฝ่ายธรรมยุตมาเปิดเผยกันตรงนี้เลย ได้แก่...

พระศาสนโสภณ
(อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6)

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร

     1. พระศาสนโสภณ (อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แขวงราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เกิดวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 ปัจจุบันอายุ 82 ปี วัดราชบพิธนั้นเป็นวัดที่บรรจุพระอัฐิของราชวงศ์จักรีเป็นส่วนใหญ่ (พระอัฐิรัชกาลที่ 2-3-4-5-7 พระอัฐิสมเด็จย่าและคุณพุ่ม เจนเซน) แถมยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 วัดนี้จึงผูกพันกับในรั้วในวังไม่ด้อยไปกว่าวัดบวรนิเวศวิหาร ถือว่าเป็นวัดหลักของธรรมยุตอีกวัดหนึ่งก็ว่าได้ วัดนี้จึงมีสมเด็จพระราชาคณะไม่เคยว่างเว้น รูปไวๆ นี้ก็คือ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร ป.ธ.6) เพิ่งมรณภาพไปในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ที่ผ่านมานี่เอง แถมพระศาสนโสภณยังมีอาวุโสในสายธรรมยุตสูงสุดกว่าเพื่อน ก็ย่อมมีสิทธิ์ได้เป็นสมเด็จอย่างค่อนข้างที่เรียกว่า "ร้อยเปอร์เซ็นต์"


พระพรหมเมธี
(สมชาย วรชาโย ป.ธ.8)
วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
 
    
     2. พระพรหมเมธี (สมชาย วรชาโย ป.ธ.8) วัดเทพศิรินทราวาส แขวงเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2490 ปัจจุบันอายุ 61 ปี ได้เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2543
    เจ้าคุณสมชายนั้น นับว่าเป็นพระหนุ่มไฟแรงแห่งยุค ร้อนพอๆ กับพระพรหมสุธี หรือท่านเจ้าคุณเสนาะแห่งวัดสระเกศ ขึ้นเป็นรองสมเด็จแบบพรวดพราด เลยมาติดไฟแดงในเรื่องของ "โควต้า" เนื่องเพราะว่า สมเด็จพระราชาคณะนั้นเป็นเรื่องของบุญญาวาสนาอันสูงส่งสุดยอด วัดใดวัดหนึ่งไม่ว่าจะใหญ่ระดับไหน จะมีสมเด็จพระราชาคณะซ้ำซ้อนกันถึง 2 รูปนั้น เป็นการเกินไป เรื่องไม่ไกลในอดีตก็เกิดขึ้นในวัดเทพศิรินทราวาสแห่งนี้แหละ ตอนนั้นในวัดเทพศิรินทร์มีสมเด็จอยู่แล้ว 1 รูป คือ สมเด็จพระวันรัต (นิรันด์ นิรนฺตโร) เจ้าอาวาส ส่วนรองเจ้าอาวาสวัดคือพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ.9) ก็เป็นรองสมเด็จอาวุโสสูงสุดในสายธรรมยุต ครั้นเมื่อมีตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะว่าง การจะขยับพระญาณวโรดมขึ้นเป็นสมเด็จรูปที่สองในวัดเทพศิรินทร์จึงทำไม่ได้ ส่งผลให้พระรองสมเด็จวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นรุ่นน้องของพระญาณวโรดมได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อน แบบว่าแซงอาวุโส แต่ถ้ามองในเรื่องของวาสนาบารมีก็คงพอจะทำใจได้ พระญาณวโรดมต้องรอแล้วรอเล่า กว่าสมเด็จพระวันรัตจะมรณภาพ พระญาณวโรดมก็ถูกรุ่นน้องแซงเข้ารับพัดยศสมเด็จไปแล้วถึง 2 องค์ซ้อน
     มาครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้ว่าเจ้าคุณสมชาย-พระพรหมเมธี จะมีอาวุโส แต่ก็ติดที่ว่า ในวัดเทพศิรินทร์นั้นยังมีสมเด็จพระญาณวโรดมอยู่แล้วรูปหนึ่ง ถ้าสมเด็จพระญาณวโรดมยังไม่มรณภาพ ก็เป็นไปไม่ได้ที่พระพรเมธีจะได้ขึ้นเป็นสมเด็จเป็นรูปที่สอง งานนี้เห็นทีต้องรอคิวยาว เพราะสมเด็จพระญาณวโรดมยังคงแข็งแรงออกการออกงานได้ สงสัยจะอยู่ไปอีกเกือบๆ 10 ปีโน่นแหละ ถึงตอนนั้นเจ้าคุณสมชายก็อายุแค่ 71 ปีเอง สบายๆ



พระพรหมเมธาจารย์(คณิสร์ เขมวํโส ป.ธ.9)
วัดบูรณศิริมาตยาราม กรุงเทพมหานคร

 
   
      3. พระพรหมเมธาจารย์ (คณิสร์ เขมวํโส ป.ธ.9) วัดบูรณศิริมาตยาราม แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เกิดวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2471 ถึงปัจจุบันอายุ 80 ปี ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นรองสมเด็จพระราชาคณะในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2547
   เจ้าคุณคณิสร์นั้นนับว่าเป็นพระมาแรงแห่งยุค เอาแค่ชื่อวัดผู้คนก็แทบไม่รู้จักแล้ว ทั้งๆ ที่อยู่ติดกับสนามหลวงด้านทิศตะวันออก เป็นวัดเล็กๆ เงียบๆ แต่ต่อไปจะไม่เงียบ เพราะถ้าพระพรหมเมธาจารย์ได้เป็นสมเด็จก็รับรองว่ารถติดแน่
     สาเหตุที่พระพรหมเมธาจารย์จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งในสองรูปในปีนี้นั้น ก็เพราะเจ้าคุณสมชายติดคิวในวัดเทพศิรินทร์ ส่วนวัดราชบพิธนั้นพระศาสนโสภณท่านจองพัดสมเด็จด้ามแรกไปแล้ว จึงเหลือเพียงด้ามที่สองเท่านั้นที่จะต้องแข่งบารมีกันกับรูปอื่นๆ ซึ่งถ้าเป็นไปดังว่ามานี้ก็คงจะลงตัว ยกเว้นแต่มีผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกรูปหนึ่ง ซึ่งก็ได้แก่


พระพรหมมุนี
(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9)
วัดบวรนิเวศรา
วรมหาวิหาร
รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
    
     
  
   4. พระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นรองเจ้าอาวาสของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคุณจุนฑ์เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2479 ปัจจุบันอายุ 72 ปี แต่มีอำนาจวาสนาได้ดำรงตำแหน่ง "รักษาการเจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุต" แทนสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ทำให้อำนาจในการบัญชาการคณะธรรมยุตทั้งหมดตกอยู่ในมือของพระพรหมมุนี แถมพระพรหมมุนียังดำรงตำแหน่งแม่กองธรรมสนามหลวงอีกต่างหากด้วย จะกล่าวว่า ปัจจุบันนี้พระพรหมมุนีมีบทบาทสูงสุดในบรรดาพระสงฆ์ธรรมยุตด้วยกันก็คงว่าได้ไม่ผิด
     ถ้าไม่ติดเรื่องโควต้าว่า "ในวัดบวรนิเวศวิหารจะมีสมเด็จพระราชาคณะ 2 รูป ไม่ได้" ด้วยอำนาจและอิทธิพลของวัดบวรนิเวศ วัดหลักของคณะธรรมยุต ก็อาจจะมีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ให้พระพรหมมุนี ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในวันที่ 5 ธันวาคม ศกนี้ ทั้งนี้เพราะสามารถจะอธิบายได้ว่า ตำแหน่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช นั้น เป็นตำแหน่งพิเศษ มิใช่สมเด็จพระราชาคณะทั่วไป ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แต่ปัจจุบันทรงชราภาพ เสด็จไปพักรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาเป็นเวลา 5 ปีกว่าแล้ว การสถาปนาพระพรหมมุนีขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะก็คงไม่น่าจะน่าเกลียดอะไร ถ้าเป็นเช่นนี้ พระพรหมมุนีก็มีสิทธิ์เป็นสมเด็จองค์ใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้พระพรหมเมธาจารย์ต้องชวดไป

    รูปอื่นใดในปัถพีที่จะเข้าเบียดแซงสุพรรณบัฎในปีนี้เห็นทีจะไม่มีแล้ว
 ส่วนในด้านมหานิกายนั้น เนื่องเพราะสมเด็จพระราชาคณะยังไม่ว่าง ทุกรูปทุกองค์ยังพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ก็จึงไม่มีตำแหน่งที่น่าสนใจ ถ้าจะมีก็เพียงตำแหน่ง "เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา" เท่านั้น เพราะวัดที่ว่ารวยที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้ มีการรักษาการโดยพระพรหมสุธี หรือท่านเจ้าคุณเสนาะ วัดสระเกศ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 หลังจากการปลด "พระราชมงคลวุฒาจารย์" ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด บัดนี้ก็ร่วม 5 ปีแล้ว วัดใหญ่มีผลประโยชน์มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยแห่งนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ หรือว่าจะให้ท่านเจ้าคณะเสนาะรักษาการไปจนเรื่อยๆ เช่นนี้ ถามว่า เพราะสาเหตุใด ?



เปิดโผเจ้าคุณ ปี 51

ธรรมยุตงดเสนอตั้ง 2 สมเด็จฯ
ขณะที่มหานิกายก็ไม่มีอะไรหวือหวา


นื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี มหาเถรสมาคมจะมีการประกาศรายนามพระเถรานุเถระที่ทำคุณประโยชน์แก่ชาติ บ้านเมืองและพระพุทธศาสนาให้ได้รับการเสนอชื่อเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ โดยการเลื่อน และตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ประจำปี 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 75 รูป แบ่งเป็นฝ่ายมหานิกาย จำนวน 56 รูป ฝ่ายธรรมยุต จำนวน 19 รูป

     ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ว่า สำหรับโควตาสมณศักดิ์ในปีนี้ ประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ จำนวน 2 รูป รองสมเด็จพระราชาคณะ จำนวน 3 รูป พระราชาคณะชั้นธรรม จำนวน 3 รูป พระราชาคณะชั้นเทพ จำนวน 6 รูป พระราชาคณะชั้นราช จำนวน 15 รูป และพระราชาคณะหรือเจ้าคุณใหม่ จำนวน 48 รูป


คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย จำนวน 56 รูป ที่ได้เลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ ได้แก่

พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ มี 2 รูป คือ
1. พระธรรมวิมลโมลี วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา เป็น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
2. พระธรรมปริยัติโมลี วัดทินกรนิมิต จ.นนทบุรี เป็น พระธรรมวโรดม

พระราชาคณะชั้นธรรม 2 รูป คือ

1. พระเทพวิสุทธิเมธี วัดระฆังโฆสิตาราม กทม. เป็น พระธรรมธีรราชมหามุนี
2. พระเทพคุณาภรณ์ วัดสังเวชวิศยาราม กทม. เป็น พระธรรมสิทธิเวที

พระราชาคณะชั้นเทพ 4 รูป คือ

1. พระราชปริยัติสุธี วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี เป็น พระเทพสุวรรณโมลี
2. พระราชพัชราภรณ์ วัดมหาธาตุ จ.เพชรบูรณ์ เป็น พระเทพรัตนกวี
3. พระราชวรเมธี วัด เทพธิดาราม กทม. เป็น พระเทพวิสุทธิเมธี
4. พระราชสุธี วัดเทวราชกุญชร กทม. เป็น พระเทพคุณาภรณ์


พระราชาคณะชั้นราช 12 รูป คือ

1. พระเมธีรัตโนดม วัดคลองเกตุ จ.ลพบุรี เป็น พระราชปริยัติสุธี
2. พระสรภาณโกศล วัดกาญจนสิงหาสน์ กทม.เป็น พระราชสุทธิญาณ
3. พระปิฎกคุณาภรณ์ วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน เป็น พระราชปัญญาโมลี
4. พระโสภณพุทธิธาดา วัดหลวงอรัญญ์ จ.สระแก้ว เป็น พระราชธรรมภาณี
5. พระวิกรมมุนี วัดคีรีวงศ์ จ.นครสวรรค์ เป็น พระราชพรหมาจารย์
6. พระศรีรัตนมุนี วัดโพธินิมิตสถิตมหาสีมาราม กทม. เป็น พระราชสุธี
7. พระเมธีกิตยาภรณ์ วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง เป็น พระราชปริยัติมุนี
8. พระเมธีวราภรณ์ วัดเขาวัง จ.เพชรบุรี เป็น พระราชวรเมธี
9. พระสุนทรปริยัติเมธี วัดศรีสระแก้ว จ.หนองบัวลำภู เป็น พระราชรัตโนบล
10. พระสุขุมวาทวาที วัดป่าพุทธมงคล จ.กาฬสินธุ์ เป็น พระราชศีลโสภิต
11. พระพิศาลพัฒโนดม วัดยาง กทม.เป็น พระราชพัฒโนดม และ
12. พระสุนทรธรรมสมาจาร วัดไพชยนต์พลเสพย์ จ.สมุทรปราการ เป็น พระราชมงคลมุนี


สำหรับพระราชาคณะชั้นสามัญ 36 รูป ประกอบด้วย

1. พระมหาขวัญรัก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก เป็น พระศรีรัตนมุนี
2. พระมหาชำนาญ วัดกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็น พระรัตนเวที
3. พระครูมงคลเขมคุณ วัดศรีสุมังคล์ จ.หนองคาย เป็น พระสุนทรธรรมธาดา
4. พระครูสุมนวุฒิธรรม จ.เลย เป็น พระไพโรจน์ธรรมาภรณ์
5. พระครูวิชานวรวุฒิ วัดสังฆาราม จ.สุโขทัย เป็น พระสุขวโรทัย
6. พระครูอนุศาสน์ธรรมกิจ จ.แม่ฮ่องสอน เป็น พระญาณวีรากร
7. พระครูกุมภวาปีคณารักษ์ วัดศรีนคราราม จ.อุดรธานี เป็น พระโสภณพุทธิธาดา
8. พระครูอุดมธรรมโชติ วัดทองดีประชาราม จ.นราธิวาส เป็น พระโสภณคุณาธาร
9. พระครูวิจารณ์ธรรมคุณ วัดบางบ่อ จ.สมุทรปราการ เป็น พระมงคลวรากร
10. พระมหาบุญทัน วัดทุ่งสว่าง จ.ศรีสะเกษ เป็น พระศรีธรรมาภรณ์
11. พระมหาวิสูติ วัดโค้งสนามเป้า จ.จันทบุรี เป็น พระศรีศาสนโมลี
12. พระมหาสวี วัดมงคลทับคล้อ จ.พิจิตร เป็น พระปิฎกคุณาภรณ์
13. พระครูศรีปริยัติธำรง วัดหนองเป็ด จ.อุบลราชธานี เป็น พระสุนทรปริยัติเมธี
14. พระครูศรีปริยัติสาทร วัดโพธิ์ชัยศรี จ.อุดรธานี เป็น พระภาวนาวิมล
15. พระครูสุธีปริยัตโยดม วัดชัยศรี จ.ขอนแก่น เป็น พระอุดมปัญญาภรณ์
16. พระครูประสิทธิ์รัตนคุณ วัดชุมพลนิกายาราม จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น พระญาณรังสี
17. พระครูไพศาลคณารักษ์ วัดไร่ขิง จ.นครปฐม เป็น พระพิมลสมณคุณ
18. พระครูสิริชัยคุณ วัดสะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็น พระศีลวัตรวิมล
19. พระครูสุนันท์คุณาภรณ์ วัดหนองโว้ง จ.สุโขทัย เป็น พระพิศาลพัฒโนดม
20. พระครูไพศาลพัฒนายุต วัดมหาธาตุวชิรมงคล จ.กระบี่ เป็น พระวิสิฐพัฒนวิธาน
21. พระครูนนทสารวิสิทธิ์ วัดภคินีนาถ กทม. เป็น พระมงคลสิทธิญาณ
22. พระครูภัทรกิจโสภณ วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น พระพุทไธศวรรย์วรคุณ
23. พระครูปริยัติกิตติคุณ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา เป็น พระสุนทรกิตตคุณ
24. พระมหาสมจินต์ วัดปากน้ำ กทม. เป็น พระศรีคัมภีรญาณ
25. พระมหาชอล วัดชนะสงคราม กทม. เป็น พระสุธีปริยัติธาดา
26. พระมหาสุทัศน์ วัดโมลีโลกยาราม กทม. เป็น พระเมธีวราภรณ์
27. พระมหาขวัญชัย วัดหนัง กทม. เป็น พระวิเชียรโมลี
28. พระมหาบุญเทียม วัดพิชยญาติการาม กทม. เป็น พระศรีสุธรรมมุนี
29. พระมหาวันชัย วัดบึง จ.นครราชสีมา เป็น พระเมธีรัตโนดม
30. พระมหาทองคำ วัดเบญจมบพิตรฯ กทม. เป็น พระปริยัติธรรมธาดา
31. พระครูปลัดสุวัฒนพรหมวุฒิคุณ วัดไตรมิตรวิทยาราม กทม. เป็น พระสรภาณโกศล
32. พระครูปลัดสุวัฒนสมาธิคุณ วัดมหาธาตุ กทม. เป็น พระสิทธินิติธาดา
33. พระมหาชวลิต วัดราชสิงขร กทม. เป็น พระปริยัติธรรมสุนทร
34. พระครูสีลวัฒนาภิรม วัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี เป็น พระปัญญานันทมุนี
35. พระ ครูอดุลพิทยาภรณ์ วัดบางประทุนนอก กทม. เป็น พระมงคลวราภรณ์ และ
36. พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ วัดพิพิธประสาทสุนทร จ.ฉะเชิงเทรา เป็น พระพุทธรังษี


      ส่วนการสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะซึ่งสังกัด คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ที่ว่างลง 2 ตำแหน่ง เนื่องจากการมรณภาพของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี วัดราชบพิธฯนั้น ปรากฏว่าคณะกรรมการฝ่ายบริหารฝ่ายธรรมยุต ที่มีพระพรหมมุนีผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธาน ไม่ได้มีการเสนอรายนามรองสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะแทนโควตาที่ว่าง ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่ได้มีการกำหนดพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระราชาคณะ 2 รูป ที่ได้มรณภาพลง ดังนั้นจึงไม่มีการนำเสนอรายชื่อรองสมเด็จพระราชาคณะขึ้นเป็นสมเด็จพระราชา คณะให้กับคณะกรรมการมหาเถรสมาคมพิจารณา จึงมีเพียงการเลื่อนและตั้งรองสมเด็จพระราชาคณะลงไปจนถึงพระราชาคณะ จำนวน 19 รูปเท่านั้น ดังนี้

คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต จำนวน 19 รูป ที่ได้เลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ มีพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ 1 รูป คือ

1. พระธรรมธัชมุนี วัดธรรมบูชา จ.สุราษฎร์ธานี เป็น พระสุธรรมาธิบดี

พระราชาคณะชั้นธรรม 1 รูป คือ

1. พระเทพปัญญามุนี วัดปทุมวนาราม กทม. เป็นพระธรรมธัชมุนี

พระราชาคณะชั้นเทพ 2 รูป คือ

1. พระราชสารเวที วัดพระศรีมหาธาตุ กทม. เป็นพระเทพวราลังการ
2. พระราชสังวรญาณ วัดอนาลโยทิพยาราม จ.พะเยา เป็นพระเทพวิสุทธิญาณ (วิ.)

พระราชาคณะชั้นราช 3 รูป คือ

1. พระปัญญาวิสุทธิโมลี วัดโสมนัส ราชวรวิหาร กทม. เป็นพระราชศีลโสภณ
2. พระอุดมศีลคุณ วัดบุปผาราม กทม. เป็นพระราชวรญาณ
3. พระสุทธิสารเมธี วัดสัมพันธวงศ์ เป็นพระราชสารเวที

พระราชาคณะชั้นสามัญ 12 รูป ประกอบด้วย

1. พระครูอดุลธรรมาภิวัฒน์ วัดราษฎร์โยธี จ.พังงา เป็น พระปัญญาวิสุทธิคุณ
2. พระครูจิตรการโกวิท วัดสุวรรณจินดา จ.ปทุมธานี เป็น พระวิมลญาณเถร
3. พระมหาสมเกียรติ วัดกลาง จ.ลพบุรี เป็น พระกิตติญาณเมธี
4. พระครูวินิวรกิจพิมล วัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี เป็น พระวิบูลธรรมาภรณ์
5. พระมหาอาชว์ วัดตรีทศเทพ กทม. เป็น พระชินวงศเวที
6. พระครูปลัดสุวัฒนปัญญาคุณ วัดราชผาติการาม กทม.เป็น พระปริยัติสารเมธี
7. พระครูโสภณศาสนกิจ วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. เป็น พระสุทธิสารเมธี
8. พระครูสุภัทรวิหารกิจ วัดบรมนิวาส กทม.เป็น พระปริยัติสารคุณ
9. พระครูปลัดสุวัฒนเมธาคุณ วัดบุรณศิริมาตยาราม กทม.เป็น พระพิศิษฏ์ธรรมภาณ
10. พระครูปลัดวราวุฒิ วัดสัมมาชัญญาวาส กทม. เป็น พระวิบูลธรรมาภาณ
11. พระ ครูบวรกิจโกศล วัดชายนา จ.เพชรบุรี เป็น พระพุทธวิริยากร
12. พระครูปลัดสุวัฒนเมตตาคุณ วัดป่ามัชฌิมาวาส จ.กาฬสินธุ์ เป็น พระโพธิญาณมุนี
    

     เปิดตัว "ว่าที่สมเด็จพระราชาคณะ" แล้วปิดไฟเข้านอนไปได้ไม่กี่ชั่วโมง แฟนพันธุ์แท้ก็ส่งเมล์เข้ามาปลุกกลางดึกว่า "โผเจ้าคุณปี 51 ออกมาแล้ว" แถมแนบรายชื่อมาให้ดูทั้งกระบิ และย้ำว่า"กรุณาวิจารณ์ให้ที" ว่ามีทีเด็ดอะไรในโผที่ว่านี้  ผู้เขียนต้องยอมรับว่า "ตกข่าว" เพราะว่าช่วงระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น เดินทางไปร่วมงานกฐินที่ต่างรัฐ ทำให้พลาดข่าวสารสำคัญของคณะสงฆ์ไทยในปีนี้ ดังนั้น ต้องขอขอบคุณท่านที่ชี้แนะเป็นอย่างยิ่ง อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ สามารถนำเสนอข่าวสารได้อย่างค่อนข้างทันสมัยก็เพราะมีกัลยาณมิตรช่วยชี้แนะ ดังท่านผู้ชี้นำในเรื่องนี้เป็นต้น

    เอาละ ไม่พูดพล่ามละ เพราะเขาให้มาพูดเรื่อง "สมณศักดิ์ 2551" คือให้วิจารณ์ให้ชัดเจน ว่าโผที่ออกมานี้มีอะไรน่าสนใจ ซึ่งผู้เขียนต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า "ด้วยสมรรถนะส่วนตัวของผู้เขียน ไม่สามารถจะรู้แจ้งเห็นจริงได้ทั้งหมดทั้งสิ้น" ดังนั้น ที่นำเสนอในข้อเขียนนี้ก็ทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่จะระดับไหนนั้นขอให้ท่านผู้อ่านช่วยกันวิจารณ์กันต่อไป
     ก่อนอื่นก็ต้องขอยืนยันทัศนะที่เสนอไปข้างต้นว่า "ปีนี้ น่าจะมีการสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะใหม่ในฝ่ายธรรมยุต ทดแทนสมเด็จฯที่มรณภาพไป" แต่เมื่อข่าวออกมาว่า "คณะธรรมยุตมีมติงดเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะใหม่" ดังโผข้างต้น ผู้เขียนก็ขอวิจารณ์ "นอกโผ" ต่อไปอีกว่า "แสดงว่ามีการเล่นกำลังภายในในฝ่ายธรรมยุตเข้าแล้ว"
     เคยคุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นธรรมยุต โดยเราเริ่มเกริ่นว่า "เห็นเขาว่าพระธรรมยุตเขารักกันดี มีแต่เอื้ออาทร พระเณรไม่เคยเดือดร้อน เพราะไม่เห็นโวยวายเหมือนมหานิกาย" เพื่อนจ้องหน้าบอกว่า "หารู้ไม่ ธรรมยุตนี่แหละตัวดี นิสัยขี้อิจฉาริษยาล่ะเป็นที่หนึ่ง" "เหรอ.." ผู้เขียนสงสัยและว่า "เขาเปรียบมหานิกายเป็นตำรวจ เปรียบธรรมยุตเป็นทหาร คือตำรวจนั้นแต่งตั้งให้ยศถาบรรดาศักดิ์แล้วก็ปล่อยให้รีดไถหากินกันเอง ส่วนทหารนั้นเขามีสวัสดิการเพียบพร้อม จึงไม่ค่อยมีใครแตกแถว" เพื่อนธรรมยุตส่ายหน้ากล่าวว่า "ถ้ามันเป็นอย่างที่โฆษณาก็ดีสิ แต่นี่..อย่าให้พูดเลย" เราก็เลยได้แค่ "เอ๋อ..เหรอ" เท่านั้น
    เรื่องสมเด็จใหม่นี่ก็เช่นกัน มันเป็นเรื่องผิดปรกติ นี่ผู้เขียนมิได้ตั้งใจด่าพระธรรมยุตนะ แต่เพราะเห็นว่ามีอะไรผิดสังเกต จุดที่ว่านั้นก็คือข้ออ้างที่ว่า "เพราะว่าศพสมเด็จพระราชาคณะทั้งสองรูปยังไม่ได้รับพระราชทานเพลิง จึงยังไม่สามารถตั้งสมเด็จใหม่แทนได้" ซึ่งความจริงก็ถูกต้อง ธรรมเนียมเดิมเขาถือกันมาเนิ่นนานว่า "ถ้าอดีตเจ้าอาวาสหรือพระผู้ครองสมณศักดิ์เก่ายังไม่ได้เผาผีจี่ศพ ก็จะไม่มีการแต่งตั้งสมณศักดิ์ทดแทน เพราะถือว่าเป็นการวัดรอยเท้าครูบาอาจารย์"
   แต่..แต่เมื่อไม่นานมานี้ ก็เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2546 คือ 5 ปีที่ผ่านมา ยังจำกันได้ไหม ในคราวนั้น มีการสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะองค์ใหม่แทนสมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรนฺตโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ผู้มรณภาพไปในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 โดยพระภิกษุผู้ได้รับการสถาปนาในครั้งนั้นก็คือ พระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ.9) รองเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส วัดเดียวกับสมเด็จพระวันรัตนั่นเอง !
      ถามว่า ในวันที่ 5 ธันวาคม 2546 นั้น สมเด็จพระวันรัตมรณภาพไปได้กี่วัน ?
     คำตอบก็คือ 15 วัน !
     ถามเป็นข้อที่สองว่า ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2546 นั้น ผ่านงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระวันรัต ไปแล้วหรือยัง ?
     คำตอบก็คือ ยัง ! ศพสมเด็จพระวันรัตยังคงตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาส
   และถามเป็นคำถามที่สามว่า "แล้วธรรมเนียมอันดีงามที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแต่กาลก่อน ซึ่งถือว่า ตราบใดยังไม่ได้เผาศพสมเด็จพระราชาคณะ ก็จะไม่มีการตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใหม่แทนองค์เดิม" นั้น ยังยึดถือกันดีอยู่หรือ โดยเฉพาะในหมู่พระสงฆ์คณะธรรมยุต ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งกว่าฝ่ายมหานิกาย
    คำตอบก็คือ I Don't Know แปลว่า ผมไม่ทราบ ! อยากรู้ก็ดูที่สุพรรณบัฏของสมเด็จพระญาณวโรดมเอาเองว่าได้เป็นสมเด็จตั้งแต่เมื่อไหร่ !
     ที่เท้าความหลังกันในวันนี้ มิใช่เพื่อจะกระแนะกระแหนสมเด็จพระญาณวโรดม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนก็เคารพท่าน แต่เพื่อนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่า "ข้ออ้างต่างๆ ที่คณะธรรมยุตนำมาบอกกล่าวแก่สาธารณชนนั้น มันสมเหตุสมผลหรือไม่"
    ถ้าธรรมเนียมเคารพครูบาอาจารย์อดีตเจ้าอาวาสหรือพระผู้ครองสมณศักดิ์ระดับสมเด็จพระราชาคณะดังที่ว่านี้ ยังยึดถือกันดีอยู่ในหมู่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย เราก็ต้องถามว่า เพราะสาเหตุใดจึงมีการสถาปนาสมเด็จพระญาณวโรดมขึ้น ในขณะที่ยังไม่ทันได้เผาศพสมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสของพระญาณวโรดมเลย ?
     แต่เอาละ เรื่องเก่าเราจะผ่านไป เพราะโบราณว่า "ห่มผ้าลายมักถูกหมาเห่า พูดค้นเรื่องเก่ามักจะทะเลาะกัน" ดังนั้น วันนี้จะพูดเฉพาะในประเด็นที่ว่า "ทำไมคณะธรรมยุตจึงไม่ยอมตั้งสมเด็จพระราชาคณะกันในปีนี้"
   คำถามในประเด็นข้างต้นนี้มีสาขาออกไปอีก เช่น ไม่มีคนอยากเป็นหรือไร หรือว่ามีคนอยากเป็นมากเกินไป ทำให้ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะให้ใครดี ???
     นี่ไง ที่น่าสนใจกว่าข้ออ้างที่ว่า "ด้วยเคารพครูบาอาจารย์ ถ้าศพไม่ได้รับพระราชทานเพลิงก็จะยังไม่ตั้งสมเด็จใหม่"
     ขอให้ท่านผู้อ่าน-อ่านทบทวนรายนาม "ว่าที่สมเด็จพระราชาคณะ" ข้างต้นดูให้ดี ว่ามีอยู่ 4 รูป ได้แก่ 1.พระศาสนโสภณ วัดราชบพิธ 2.พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศ 3.พระพรหมเมธาจารย์ วัดบูรณศิริมาตยาราม และ 4.พระพรหมเมธี วัดเทพศิรินทราวาส
     พระพรหมเมธี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทร์ นั้น ตัดออกไปก่อน เพราะยังละอ่อน แถมติดโควต้าสมเด็จพระญาณวโรดมในวัดเทพศิรินทราวาสอยู่อีกด้วย ก็เหลือเพียง 3 รูป ที่จะถูกนำมาพิจารณาว่า "ควรได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฎ หรือสมเด็จพระราชาคณะ" ซึ่งว่างเพียง 2 ตำแหน่ง
     ทีนี้ เมื่อตรวจดูคุณสมบัติรวมทั้งความเหมาะสมแล้ว พัดยศสมเด็จด้ามแรกนั้นต้องยกให้แก่พระศาสนโสภณ(อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธ ไปอย่างไม่มีใครทักท้วง มาติดก็แต่พัดด้ามที่สองนี่สิ ว่าจะให้ใครดี ระหว่างพระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร กับ พระพรหมเมธาจารย์ วัดบูรณศิริมาตยาราม
     1. ดูเรื่องวัดก่อน วัดบูรณศิริมาตยาราม นั้น เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ คือว่าเป็นเพียงวัดธรรมดาๆ ไม่โอ่อ่าหรูหราเหมือนวัดธรรมยุตอื่นๆ ดังนั้น ต่างกันกับวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามที่ใหญ่โตรโหฐาน เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 เป็นวัดหลัก (เมืองหลวง) ของคณะสงฆ์ธรรมยุตทั้งหมด เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชเป็นพระภิกษุวชิรญาณ ได้เสด็จมาประทับที่วัดนี้ ทั้งนี้ต้องขอย้ำว่า "พระภิกษุวชิรญาณคือองค์ปฐมผู้ให้กำเนิดคณะธรรมยุตขึ้นมา" จึงถือกันว่า วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดหลักของคณะธรรมยุต
      2. เรื่องอำนาจวาสนา ระหว่าง พระพรหมมุนี กับ พระพรหมเมธาจารย์ ข้อนี้ก็ชี้ได้ว่า ต่างกันลิบลับ เพราะปัจจุบันวันนี้ พระพรหมมุนีมีหน้าที่การงานใหญ่โตสูงสุดในฝ่ายธรรมยุต คือเป็นทั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ในตำแหน่ง "เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย" ซึ่งหมายถึงเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารอีกด้วย แถมพระพรหมมุนียังดำรงตำแหน่งแม่กองธรรมสนามหลวง เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม มรณภาพลงในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2551 ที่ผ่านมานั้น พระพรหมมุนียังได้รับการแต่งตั้งให้รั้งตำแหน่ง "รักษาการเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม" อีกด้วย
      ก็พูดง่ายๆ ว่า พระพรหมเมธาจารย์เป็นลูกน้องของพระพรหมมุนี แล้วทีนี้จะให้ลูกพี่ลดตัวลงเป็นลูกน้องนั้นมันเป็นไปได้อย่างไร ? ที่สำคัญก็คือว่า โผเจ้าคุณทั้งหมดทั้งสิ้น (รวมทั้งตำแหน่งสมเด็จใหม่ทั้ง 2 รูป นั้น จะต้องผ่านการ "เซ็นรับรอง" ของพระพรหมมุนี ในฐานะเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เพราะถ้าพระพรหมมุนีไม่ได้เซ็นก็แปลว่า "โผปลอม" บอกแล้วไงว่า เวลานี้พระพรหมมุนีใหญ่ที่สุดในนิกายธรรมยุต
      แต่ถ้าพูดเรื่องความอาวุโสแล้ว พระพรหมเมธาจารย์มีอายุอานามถึง 80 ปี แก่กว่าพระพรหมมุนีไปตั้ง 8 ปี แต่กฎเกณฑ์เรื่องอายุนั้นดูจะไม่สำคัญเท่ากับว่า "ใครดำรงตำแหน่งอะไร" หรือ "ใครมีเพาเวอร์มากกว่าใคร" ไม่งั้นก็คงต้องนับอายุพรรษาพิจารณาพระสมเด็จกัน
    ท่านผู้อ่านชาวบ้านคงไม่รู้หรอกว่า พระเจ้าคุณนั้น เวลาเข้าวังจะไม่นั่งกันตามลำดับอายุพรรษาดังที่เคยเห็นตามงานบุญทั่วไป แต่จะนั่งตามลำดับของ "ยศ" ซึ่งยศนั้นจะมีพัดยศเป็นเครื่องหมาย ดังนั้น พระราชาคณะเมื่อได้รับอาราธนาเข้าวัง หรือมีงานพระราชพิธี ก็จะต้องนำเอาพัดยศไปด้วยทุกครั้ง แล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่จัดอันดับที่นั่งให้ตามความสูงต่ำของยศ
    ใครบังอาจนั่งสูงกว่ายศก็จะถูกปลดจากพระราชาคณะ !
     อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพระพรหมมุนีจะได้เปรียบพระพรหมเมธาจารย์กี่ชั้นก็ตาม แต่พระพรหมมุนีก็ยังมีความเสียเปรียบในหลายด้าน โดยเฉพาะข้อที่ว่า "อยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงสุพรรณบัฏอยู่แล้ว" และการตั้งสมเด็จพระราชาคณะซ้อนภายในวัดเดียวกัน ยังไม่เคยมีประเพณีปฏิบัติ !
    จริงอยู่ เรื่องประเพณีนั้นย่อมขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ ดังเช่น ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จทอดพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพน แต่ขณะนั้นสมเด็จพระพนรัต เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน มรณภาพ ทำให้วัดพระเชตุพนขาดเจ้าอาวาส และในวันเสด็จทอดผ้าพระกฐินนั้น พระภิกษุพระองค์เจ้าวาสุกรี พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงผนวชจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพน ได้เพียง 3 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดจะให้พระภิกษุพระองค์เจ้าวาสุกรี ผู้มีพรรษาเพียง 3 ปีนั้นเป็นองค์ครองกฐิน แต่พระภิกษุพระองค์เจ้าวาสุกรีทูลว่า "มิได้เตรียมท่องอปโลกน์มาก่อน" พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงตรัสว่า "ไม่เป็นไร ให้องค์รองเป็นผู้อุปโลกน์ก็ได้" นับตั้งแต่นั้นมา พระผู้จะครองกฐินก็ไม่ต้องท่องอุปโลกน์อีกต่อไป ธรรมเนียมนี้ยังใช้กันมาถึงปัจจุบัน ก็สรุปว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นองค์ปฐมผู้ให้กำเนิดธรรมเนียม "ผู้ครองไม่ต้องท่องอุปโลกน์" เปลี่ยนจากสมัยก่อนหน้านั้นโดยสิ้นเชิง แหมก็เจ้าจะเอาอย่างนี้ ก็ต้องตามพระทัยจะทรงโปรดสิ
     ดังนั้น เรื่องนี้ถ้าจะเอาพระพรหมมุนีเป็นสมเด็จให้จงได้ก็คงไม่มีปัญหา คือว่าถ้าเป็น "พระประสงค์" ก็คงอ้างได้ แต่ถ้ามิใช่พระประสงค์ แต่เป็น "พระพรหมมุนีประสงค์" ก็คงยาก เพราะอย่าลืมว่า บนเก้าอี้อันทรงอำนาจภายในวัดบวรนิเวศวิหารนั้น พรหมมุนีก็มีศัตรูอยู่รอบทิศเหมือนกัน !
     เริ่มจาก ก่อนจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในต้นปี พ.ศ.2547 นั้น ก็มีข่าวความขัดแย้งในมูลนิธิมหามกุฏฯ วัดบวรนิเวศ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มีเงินมากที่สุดในประเทศไทย เรื่องก็คือมีการสอดไส้แต่งตั้งประธานมูลนิธิคนใหม่โดยที่คนเก่าไม่รู้เรื่อง เรื่องนี้บานปลายกลายเป็นความแตกแยกอย่างที่เรียกว่า "เย็บไม่ติด"ภายในคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารเอง
     ยกนี้ฝ่ายหนึ่ง (ไม่ออกชื่อ) เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต้องยอมกลืนเลือด แต่ก็โดนหมัดตามตามสำนวนของนักธรณีวิทยาว่าด้วยแผ่นดินไหวว่า "อาฟเตอร์ช็อค" คือ มีการรุกเร้าเข้าไปในฝ่ายห้องกระจก ว่าด้วยพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งแต่งตั้งพระราชรัตนมงคล (มนตรี อภิมนฺติโก ประโยค 1-2) เข้าไปเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ส่งผลให้ถูกชยันโตไปทั้งวัด และท้ายที่สุด พระราชรัตนมงคลจำยอมต้องขอถอนตัวออกจากตำแหน่งดังกล่าว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นก็ยืนยันนอนยันมั่นเหมาะว่า "เป็นพระประสงค์ขององค์สมเด็จพระสังฆราช อาตมาหาได้ปรารถนาตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมแต่อย่างใดไม่" แต่ใครจะเชื่อ !
      มีการเข้าตรวจสอบและตั้งข้อหาให้แก่ทางฝ่ายห้องกระจก ว่าปลอมพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช จนปัจจุบันก็ยังเรื้อรังอยู่ ดูไม่ออกว่าจะออกหัวหรือออกก้อย แต่ถ้ามองให้เป็นก็จะเห็นว่า "เป็นการดึงเกมเพื่อสร้างชะนักให้ติดหลังฝ่ายหนึ่งเอาไว้ หากหือรือขึ้นวันไหนในข้างหน้าก็จะรื้อคดีเก่าเล่นงานให้หนัก"
      และครั้นถึง วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547 ก็มีประกาศแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชออกมาจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยหนึ่งใน 5 ของพระมหาเถระผู้ได้รับการแต่งตั้งครั้งนั้นก็คือ พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร  แสดงว่า พระพรหมมุนีไปซูเอี๋ยกับวัดสระเกศ ยินยอมให้รัฐบาลทักษิณตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ยึดอำนาจสมเด็จพระญาณสังวร (ตามคำโจทย์ของหลวงตาบัว)
    งานนี้ห้องกระจกหันไปยื่นมือออกนอกวัด สัมผัสมือเข้ากับนายทองก้อนและคณะศิษย์ของหลวงตาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาด อุดรธานี โจมตีรัฐบาลทักษิณว่า "ล่วงละเมิดพระราชอำนาจ" ความหมายก็คือ ใช้วิธีเดียวกับที่สหายสนธิกำลังเล่นงานทักษิณอยู่ในเวลานี้นี่แหละ และข้อหานี้ก็เข้าทางของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งต้องการโค่นรัฐบาลทักษิณอยู่ด้วย ห้องกระจก + วัดป่าบ้านตาด + สื่อผู้จัดการ จึงเป็น 3 ประสาน เพื่อเล่นงานรัฐบาลทักษิณ รวมทั้งกลุ่มที่ปล้นชิงอำนาจไปจากสมเด็จพระสังฆราชด้วย ซึ่งกลุ่มนี้ก็คือ
1. พระสงฆ์สมเด็จในฝ่ายธรรมยุต และคณาจารย์ในมหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งหมด
2. พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศ ผู้ได้รับตำแหน่งในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชด้วย
3. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศ ในฐานะประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถือว่าได้รับอำนาจสูงสุดทีเดียว
     "เตะหมูเข้าปากหมา" เป็นภาษาหยาบคายหน่อย แปลว่า ยกผลประโยชน์ให้แก่ฝ่ายตรงกันข้าม เป็นข้อหาที่พระพรหมมุนีโดนศิษย์ร่วมสำนักวัดบวรโจทย์ฟ้องเป็นการภายใน
     ยังไม่พอ เรื่องแสบเข้าไส้กว่านั้นก็คือว่า ต่อมามีการตั้งรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตเพิ่มเข้าไปด้วย โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (มหานิกาย) ในฐานะประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ลงนามแต่งตั้งให้ "สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นผู้รักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย" ก็แปลว่า สมเด็จพระญาณสังวร สัมเด็จพระสังฆราช ทรงหมดอำนาจโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในมหาเถรสมาคม หรือแม้แต่ในคณะธรรมยุติกนิกาย แถมวัดบวรนิเวศวิหารก็ยังถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยพระพรหมมุนีอีกด้วย
     ทีนี้ ฝ่ายตรงข้ามกับพระพรหมมุนี เมื่อเล่นเป็นการภายในวัดบวรไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเล่นจากข้างนอก เกมโค่นเก้าอี้พระพรหมมุนีนั้นระเบิดออกมาเป็นระยะๆ เริ่มจาก

ปลอมพระกริ่งปรวเรศ ปี 30
     ข่าวนี้ดังขึ้นในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2549 เนื้อหาของข่าวมุ่งโจมตีคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่มูลนิธิมหามกุฏ ว่า "ปลอมแปลง" พระกริ่งปวเรศ รุ่นที่ 2 ของวัดบวร ซึ่งจัดสร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ.2530 ในองค์พระมีวัสดุสำคัญประดิษฐานอยู่ คือเส้นพระเจ้าหรือเกศาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชทานเป็นการเฉพาะ ก็เป็นข้อหาเดียวกับที่ทักษิณโดนสนธิโจท์ฟ้องทางเอเอสทีวีอยู่นี่แหละ คือใช้ข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" มาเล่นงานกรรมการมูลนิธิมหามกุฏฯ ถ้าจับมั่นคั้นตายก็หมายถึงว่า พระมหาเถระในวัดบวรนิเวศนอกจากจะถูกถอดยศปลดจากตำแหน่งแล้ว อาจจะต้องเข้าคุกเข้าตะราง เหมือนอดีตเจ้าคุณอุดมแห่งวัดเทพศิรินทร์ที่ถูกข้อหา "ปลอมแปลงเอกสารขอเครื่องราชย์" ในสมัยรัฐบาลเปรมนั่นแหละ ตัวอย่างเคยมีมาแล้ว รุนแรงนะ ไวๆ นี้ก็นายสิทธิกร บุญฉิม ที่สร้าง"พระสมเด็จเหนือหัว" นั่นไง ข่าวว่ายังอยู่ในคุก ข้อหาอะไรในประเทศไทยจะร้ายแรงยิ่งกว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ยังหาไม่พบเลย ดู "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นตัวอย่างสิ ดังนั้น ใครที่โดนข้อหานี้ก็ต้องนับว่าบรมซวยโดยแท้ แม้แค่กล่าวหาก็ตามเถอะ
     ข่าวนี้ตีมหามกุฏฯเสียจนซวนเซ อีกหลายเดือนถัดมา เมื่อผู้เขียนเดินทางกลับเมืองไทย แล้วไปที่สำนักงานมูลนิธิมหามกุฏฯ หน้าวัดบวร เพื่อหาซื้อหนังสือ แต่ฉุกคิดว่า "เอ..ก่อนหน้านี้ที่เราเคยมา จะมีแผงพระเครื่องอยู่บนชั้นที่สอง" จึงลองเดินขึ้นไปดู แต่ไม่เห็นมีอะไรเลย นอกจากโต๊ะและตั่ง จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ และทราบว่า "ปิดแล้วค่ะ ศูนย์จำหน่ายพระปิดอย่างถาวรแล้ว" ก็จบเกม แม้ว่าข้อหานี้จะลากกรรมการมหามกุฏฯให้เข้าคุกเขาตะรางไม่ได้ก็ตาม แต่ก็สามารถทำลายหม้อข้าวหม้อแกงหรือกองเสบียงของฝ่ายตรงข้ามให้ย่อยยับอัปราไปอย่างสมอกสมใจใครบางคน ก็ในเมื่อกูไม่ได้กิน มึงก็อย่าหวังจะได้กินก็แล้วกัน !

     ครั้นพอจบเกมพระสมเด็จปวเรศแล้ว ก็มีการเปิดเกมใหม่ เล่นเกมเร็ว แบบว่าไม่ให้ได้หายใจหายคอกันเลย

ข้อสอบนักธรรมรั่ว !
    ข่าวนี้ประทุขึ้นในปลายปี 2549 วันที่ 10 พฤศจิกายน ศกนั้น พระพรหมมุนี ในฐานะแม่กองธรรมสนามหลวง ได้ออกคำสั่ง "ยกเลิกการสอบนักธรรมชั้นโทและเอก" และ "ให้มีการสอบใหม่ทั่วราชอาณาจักร" เหตุผลที่อ้างในคำสั่งนั้นก็คือ "น้ำท่วม" ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่ง คือช่วงนั้นน้ำท่วมในภาคกลางของประเทศ ส่วนในภาคอื่นๆ นั้นน้ำแห้ง แต่ทำไมจึงสั่งยกเลิกสอบทั้งประเทศ จำเป็นอะไรที่พวกน้ำไม่ท่วมต้องไปสอบใหม่รวมกับพวกน้ำท่วม ? คำถามนี้ไม่มีคำตอบจากพระพรหมมุนี แต่ที่รู้ๆ กันฉาวโฉ่ก็คือว่า ข้อสอบรั่ว !
      เรื่องรั่วและเรื่องสอบใหม่เราเอาไว้ก่อน สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไปก็คือว่า รั่วเพราะเหตุใด ใครทำรั่ว ?
    คำถามนี้ ถ้าตอบเพียงผิวเผินก็อาจะเห็นเป็นเพียง "มีกรรมการคุมข้อสอบบางรูปกิเลสหนาปัญญาเบา อยากได้เงินได้ทอง จึงเอาข้อสอบนักธรรมไปแกะซองขาย"
    แต่ถ้าพิศกันให้ลึกซึ้งแล้วก็จะได้คำตอบที่แตกต่างกันอย่างมากมายว่า "จริงเหรอ" ข้อสอบนักธรรมน่ะขายได้หรือ ? เพราะอย่าลืมว่า นักธรรมนั้นแทบไม่มีคุณค่าในสายตาของนักเรียน ที่เรียนกันทุกวันนี้ก็เพื่อให้มันผ่านๆ ไป คนที่เรียนจบนักธรรมก็ไม่ได้มีวิทยฐานะสูงส่งอะไรไปกว่าเด็กประถมเรียนจบ ป.6 มันต่างจากการเรียนภาษาบาลีที่มีศักดิ์และสิทธิ์สูงส่ง และถ้าคิดจะขายกันจริงๆ ทำไมไม่ไปโจรกรรมข้อสอบบาลีออกขายล่ะ รับรองว่าขายได้จริงๆ ดังนั้น จะว่าคนทำโง่กระนั้นหรือ ?
     คำตอบก็คือ เขาไม่ได้โง่หรอก และไม่ได้ต้องการเงินด้วย แต่เขาต้องการเลื่อยเก้าอี้แม่กองนักธรรมของพระพรหมมุนีเท่านั้น เพราะมันสำคัญกว่าเงินค่าขายข้อสอบ แต่เขาจะได้ค่าขายหน้าของพระพรหมมุนีประเมินค่ามิได้ ซึ่งถ้าว่าฐานะตรงนั้นเซแล้ว ก็สามารถจะโค่นล้มต่อไปจนถึงตำแหน่งอื่นๆ ในวัดบวรนิเวศด้วย
    กล่าวให้ชัดก็คือว่า มีขบวนการทำลายพระพรหมมุนีอยู่ทั้งในและนอกวัด !
    เรื่องนี้ใครอย่าเชื่อมหานรินทร์นะ อ่านเล่นๆ เอามันเท่านั้นพอ ขืนเชื่อแล้วเป็นได้ฟ้องหมิ่นประมาทกันแน่ ข้อหาที่เตรียมจะฟ้องก็คือ "ใส่ร้ายว่ามหานรินทร์มีตาทิพย์เห็นแก๊งค์ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร"
     แต่งานนี้ พระพรหมมุนีใช้บารมีแม่กองธรรมสยบความเคลื่อนไหวลงได้ พอแผนนี้ผ่าน ฝ่ายตรงข้ามก็เดินแผนสามเข้าเพื่อประชิดต้นคอพระพรหมมุนีแบบที่ว่า "จี้จุดเป็นเล่นจุดตาย" กันเลยทีเดียว

พระลูกวัดมกุฏฯฟ้องรักษาการเจ้าอาวาสข้อหาปาราชิก !
     เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามนั้น รูปเดิมก็คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายแทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช อีกด้วย ก็แปลว่า สมเด็จประจวบเป็นทีมเดียวกันกับพระพรหมมุนี ซี้ปึ๊ก !
    เมื่อซี้กันอย่างนี้ มีหรือที่จะรอดจากการจองล้างจองผลาญ ดังนั้น ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 ก็มีข่าวฉาวโฉ่ออกมาจากวัดมกุฏฯว่า "มีการฉ้อฉลทุจริตเงินวัดมกุฏฯ โดยกลุ่มลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดเจ้าอาวาส คือสมเด็จพระพุทธชินวงศ์" เรื่องราวสาวไส้กันจนกาในอเมริกานี่ยังรู้ข่าว เรื่องนี้ก็อีหรอบเดิม คือเอาเรื่องเจ้าอาวาสไม่ได้ ก็เล่นงานกลุ่มลูกศิษย์ เข้าตำรา "ตีวัวกระทบคราด" และเรื่องนี้น่าจะเป็นมูลเหตุให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์อาพาธหนักจนถึงแก่มรณภาพในเวลาต่อมา ก็แปลว่า สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ตกเป็นเหยื่อของความอำมหิตไปก่อนใครเพื่อน !
     ทีนี้ ช่วงที่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ล้มป่วย ก็มีการปรารภถึงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย ว่าเห็นควรจะให้ใครรักษาการต่อไป สุดท้ายมหาเถรสมาคมก็ลงมติ (ตามที่ธรรมยุตเสนอ) ว่า เห็นควรให้พระพรหมมุนีเป็นผู้รักษาการ โดยมีการปล่อยข่าวเอาหน้าด้วยว่า "เป็นการคืนอำนาจให้แก่วัดบวรนิเวศวิหาร" ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย พระพรหมมุนีจึงได้เป็น "ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2550"
     แถมเมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์มรณภาพลงในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2551 ก็เป็นพระพรหมมุนีอีกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "รักษาการเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม" ซึ่งวัดนี้มีเงินมหาศาลที่ยังแย่งกันบริหารอยู่ภายในวัด เมื่อพรหมมุนีย่างเท้าเข้าแดนเสือจะเหลือหรือ ด้งนั้น..
    วันที่  10 เมษายน พ.ศ.2551 หน้าปกหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้เสนอทั้งรูปทั้งข่าวว่า "พระลุกวัดมกุฏฯ จำนวน 3 รูป พร้อมด้วยทนาย ได้เข้ายื่นฟ้องร้องต่อศาลอาญา ให้พิจารณาสอบสวนอธิกรของพระพรหมมุนี รักษาการเจ้าอาวาสวัดมกุฏฯ และพระผู้ใหญ่ในวัดอีก 4 รูป คือ พระพิศาลมุนี พระราชวินัยโสภณ พระครูสิทธิธรรมงคล และพระกรกฤษณ์ กมลสุทฺโธ ในข้อหาปาราชิก มาตราที่ 2 ว่าด้วยอทินนาทาน ยักยอกเงินรายได้ในการสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพและพระสมเด็จชินบัญชร" ศาลอาญารับไว้พิจารณา
     คดีนี้ ถ้ามีมูลความจริง จะส่งผลให้ผ้าเหลืองของพระพรหมมุนีปลิวออกจากร่างทันที นี่คือฝีมือในระดับที่เรียกว่า"อำมหิตสุดยอด" ฆ่าในวัดบวรนิเวศวิหารไม่ได้ ก็ย้ายที่สังหาร ตำแหน่ง "รักษาการเจ้าอาวาสวัดมกุฏ" ฟังดูก็ตลกดี มีหรือ แค่รักษาการก็จะเล่นงานกันถึงเป็นถึงตาย ดังนั้น ถ้าพิศให้ลึกซึ้งก็จะเห็นว่า ทีมล่าสังหารพระพรหมมุนีเปลี่ยนสถานที่จากวัดบวรไปเป็นวัดมกุฏฯแล้ว และมันมีผลด้วย
    ที่ว่าทีมนี้อำมหิตก็เพราะว่า เป็นไปได้หรือ ที่พระลูกวัดมกุฏฯ กระจอกๆ เพียง 3 รูป คือ  1. พระสกล จิรวํโส 2. พระนเรศ คุณากโร 3.พระวทัญญู อธิมนฺติโก จะอาจหาญถึงขนาดฟ้องร้องเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย แถมยังรักษาการเจ้าอาวาสวัดมกุฏฯอีกด้วย แหล่งข่าวจึงมองว่า "พระสามรูปเหล่านี้เป็นเพียงบ๋อยหรือเบี้ยที่ถูกใช้ให้ออกชนกับขุนคือพระพรหมมุนี งานนี้ถ้าทำสำเร็จก็ยิ่งกว่ากระเบื้องแลกทอง" พระทั้งสามรูปนี้ ถ้าไม่ได้รับการปูนบำเหน็จอย่างถึงขนาดก็ระวังตัวเอาไว้ให้ดีก็แล้วกัน จะมีการตามล่าตามตำราหมาล่าเนื้อที่ว่า"เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" นะ ขอเตือนว่า จะฉันเช้าฉันเพลก็พิจารณาให้มากสักหน่อย ด้วยความหวังดี
     คนที่คิดใช้อาวุธกระจอกๆ เข้าต่อกรกับสุดยอดวิชาระดับพระพรหมมุนีนั้น ย่อมไม่ใช่ระดับโจรกระจอกแน่นอน !
     ความไม่กระจอกที่ว่านี้ต้องชี้ไปที่กระบวนการเล่นงาน นั่นคือว่า พระลูกวัดมกุฏฯทั้ง 3 รูป เหล่านั้น เดินตามก้นทนายความไปยื่นเรื่องร้องฟ้องที่ศาลฎีกา หาได้แจ้งความที่สถานีตำรวจแต่อย่างใดไม่ หมายถึงว่า "ปิดทางแห่งการวิ่งเต้น-เจรจารอมชอม" ออกไป เอากันให้ตายไปข้าง  นี่ไงที่ว่าไม่ใช่กระจอก
     เชื่อแน่ว่า ปัจจุบันวันนี้ หรือตราบใดที่พระพรหมมุนียังไม่ได้ครองอำนาจในวัดบวรนิเวศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือล้มหายตายจากไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ขบวนการที่ว่านี้ก็ยังคงเดินหน้าทำลายล้างอย่างเต็มกำลัง ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่า มือที่มองไม่เห็นนั้นมันของผู้ใด และเหตุใดจึงจองล้างจองผลาญกันอย่างรุนแรงเยี่ยงนี้ หรือบางทีก็ต้องเรียนถามพระพรหมมุนีเสียเองนั่นแหละ ว่าท่านไปก่อกรรมใดกับใครเอาไว้ จึงถูกตามทวงหนี้อย่างไม่ยอมลดรา
     มาจนถึงวันนี้ วันที่มีข่าวออกมาว่า "คณะธรรมยุตมีมติไม่ส่งรายนามพระมหาเถระเพื่อเข้ารับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปใหม่ที่ว่างลง 2 ตำแหน่ง" ถ้าใครได้อ่านเกมการเมืองเรื่องอำนาจในวงการคณะสงฆ์ธรรมยุตมาแต่ต้นดังนำเสนอนี้ ก็ย่อมจะไม่แปลกใจว่า "ทำไมจึงไม่ตั้งสมเด็จใหม่" และหรือ "ทำไมจึงอ้างเอาความกตัญญูกตเวทีต่ออดีตสมเด็จผู้ล่วงลับมาเป็นข้ออ้างไม่ตั้งสมเด็จใหม่"
     ไม่ใช่ไม่อยากตั้งหรือไม่อยากเป็น แต่มีผู้ไม่อยากให้เป็น !

    การไม่ส่งรายชื่อซึ่งน่าจะดูว่า "สถานการณ์ราบรื่น" เพราะอ้างเหตุผลเรื่องความกตัญญู แต่เมื่อพิศดูให้ลึกซึ้งแล้วก็จะเห็นว่า เพราะไม่ส่งนั่นแหละ คือตัวปัญหาที่ประทุออกมาให้เห็นว่า "คณะสงฆ์ธรรมยุตในบัดนี้นั้น เล่นกันรุนแรง"
    ว่าแต่ ข้ออ้างที่ทางฝ่ายพระธรรมยุตยกขึ้นมาเป็นสาเหตุไม่สถาปนาสมเด็จใหม่ในปีนี้นั้น แม้ว่าจะดูงามหรู แต่ดูอีกที ก็เหมือนการสาดโคลนเข้าใส่ "สมเด็จพระญาณวโรดม" วัดเทพศิรินทราวาส ให้เปรอะเปื้อน เพราะว่า ก่อนหน้านี้นั้น พระญาณวโรดมเคยได้รับการสถาปนาโดยมิได้ผ่านงานพระราชทานเพลิงศพอดีตเจ้าอาวาสมาแล้ว อย่างช่วยไม่ได้ !

เขียนถึงตรงนี้ ผู้เขียนชักจะเชื่อแล้วสิว่า "พระธรรมยุตนั้น ไม่ธรรมดา ..."

   และด้วยสาเหตุนี้กระมัง ทำให้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จไปประทับที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลานานมาถึง 5 ปีนี่แล้ว สงสัยจะทรงระอาพระทัยในบรรดากลุ่มลูกศิษย์ภายในวัดบวรที่แตกกันเป็น 2 ก๊ก ทำร้ายทำลายกันเอง อย่างไม่มีใครยอมใคร

ไม่ต่างไปจากกรณีพันธมิตรและ นปช. ในปัจจุบัน
มันเป็นกรรมของประเทศชาติและพระศาสนาโดยแท้

เอาไว้แค่นี้ก่อนนะ



พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
3 พฤศจิกายน 2551
9
:00 A.M. Pacific Time.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง