สมเด็จพระสังฆราช ตรัสชัดพระต้องถือธรรมะเป็นใหญ่ ไม่ยึดติดกับอำนาจ เงินทอง สมณศักดิ์ ยอมสละชีวิตรักษาธรรมะได้
ตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ปฏิบัติการคาบลูกคาบดอกของรัฐบาลไทย
ปฏิบัติการคาบลูกคาบดอกของรัฐบาลไทย
คำสั่ง "แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" ของรัฐบาลไทย ที่ลงนามโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 ที่ผ่านมานั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหลายวง ทั้งวงหมากรุก วงน้ำชา วงกาแฟ วงก๋วยเตี๋ยว ส่วนวงไก่ชนนั้นติดไข้หวัดไก่ยังไม่มีเวลาวิจารณ์
หลายท่านที่เป็นแฟนเวปไซด์ อะลิตเติ้ล บุ๊ดด่ะ ดอทคอม คงอยากทราบว่า คำสั่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมจู่ ๆ รัฐบาลก็ประกาศแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเอาดื้อ ๆ โดยที่แม้แต่องค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชเองก็ยังไม่รู้พระองค์ แสดงว่าsomething wrong ใช่หรือไม่ ?
คำตอบข้อนี้เห็นทีจะต้องเฉลยกันยาววววว ? ยิ่งกว่าวลี "รูปนี้ต้องขยาย" เสียอีก ขอเริ่มเลยนะว่า อะแฮ่ม...
แต่เดิมมานั้น เกิดเรื่องราวอะไรในวัด เป็นที่เสีย ๆ หาย ๆ คนไทยก็มักจะใช้สูตร "ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์" คือปล่อยให้พระสงฆ์แก้ไขกันเอง ซึ่งแก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถ้าเป็นคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น หลวงตาแย่งอาหารบิณฑบาตกัน ก็เรียกมาอบรม ถ้ารุนแรงก็จับสึก ก็เสร็จไป
แต่ในประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมานี้ เกิดกรณีใหญ่ ๆ ขึ้นในสังฆมณฑลไทย ไล่ตั้งแต่ กรณีพระนิกร กรณีพระยันตระ กรณีภาวนาพุทโธ กรณีสันติอโศก (พ.ศ.2531) กรณีมีบัญชีแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์โดยไม่ผ่านมหาเถรสมาคม (พ.ศ. 2535) กรณีธรรมกาย(พ.ศ. 2542) เป็นต้น
ปัญหาทางการคณะสงฆ์เหล่านี้ ถึงจะเป็นเรื่องภายในวัดก็จริง แต่ก็ลามออกนอกกำแพงวัดจนไปกระทบกับระบบราชการเข้า นั่นเพราะว่า
1. ถ้าเป็นคดีส่วนบุคคล พระภิกษุที่ถูกอธิกรณ์ หรือต้องคดี มีปัญหา ปัญหานั้นเกิดเพราะ พระรูปนั้นมีพุทธศาสนิกชนศรัทธาเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหาทางมวลชนขึ้น บางรูปแก้ได้ตามกลไกของกฎหมายที่มีอยู่ เช่น พระนิกร ยอมสึก ก็นับว่าละมุนละม่อมไป
แต่ว่าบางรูปกลับดื้อ เช่น พระยันตระ ประกาศไม่ยอมอยู่ท่าเดียว ทั้ง ๆ ที่บ้านเมืองร้อนเป็นไฟ จะรอให้กระบวนการนิคคหกรรมดำเนินการเสร็จสิ้นก็จะเข้าตำรา "ถั่วสุก งาไหม้" ไปเป็นแน่ มหาเถรสมาคมจึงระดมกำลังกันคิดแก้ปัญหา ก็หาทางออกได้ด้วยการ ออกกฎมหาเถรสมาคมด่วน เรียกว่า ม.21 มีเนื้อหาหลัก ๆ ก็คือ
"ในกรณีที่พระภิกษุถูกฟ้อง และคดีกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของศาลสงฆ์ ไม่ว่าจะระดับต้นหรือระดับอุทธรณ์หรือฎีกา หากว่า มหาเถรสมาคมพิจารณาแล้ว เห็นว่า หากยังให้พระภิกษุรูปนั้นครองเพศเป็นบรรพชิตอยู่ต่อไป ก็อาจจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนาได้ มหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ ทั้งนี้ คำสั่งนั้นไม่ถือว่าเป็นการกระทบต่อการพิจารณาในกระบวนการนิคคหกรรมที่กำลังทำอยู่"
กฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ออกเมื่อวันที่ 22 กรกฎมาคม 2538 ออกมาเพื่อ "เชือดพระยันตระ" เป็นการเฉพาะ ปัจจุบันพระยันตระยังเหยียบเมืองไทยไม่ได้ เพราะอิทธิฤทธิ์กฎมหาเถรสมาคมที่ชื่อ ม.21 นี่แหละ
นั่นเป็นความอัจฉริยะทางด้านกฎหมายของมหาเถรสมาคม แต่อย่าถามว่าถูกธรรมถูกวินัยถูกครรลองประเพณีที่ใช้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะว่า การออกคำสั่ง "ลงโทษ" ว่าด้วย ม.21 ฉบับนี้ ถ้าตีความกันแล้ว ก็เห็นจะขัดกับรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2540 มาตราที่ 33 ซึ่งมีข้อความว่า
มาตรา 33 ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
เห็นไหม ขนาดคดีอาญา ผู้ต้องหายังได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น การออกมาตราที่ 21ของมหาเถรสมาคมออกมานั้น ก็ถือได้ว่า เป็นการตั้งศาลซ้อนศาล แม้ในกฎ ม.21 ฉบับนี้ จะระบุว่าทั้งนี้ คำสั่งนั้นไม่ถือว่าเป็นการกระทบต่อการพิจารณาในกระบวนการนิคคหกรรมที่กำลังทำอยู่ ดังนี้ก็ตาม ก็ถามว่า แล้วจะมีศาลสงฆ์ไว้ให้เหนื่อยทำไม มีปัญหาอะไร มหาเถรสมาคมก็งัดมาตรา 21 ออกมาฟัน ก็หมดปัญหาแล้ว โดยไม่ต้องมีการพิจารณาไต่ส่วนอะไรทั้งสิ้น ผิด-ถูก เอาไปว่ากันทีหลัง
2. กรณีที่ผู้กระทำความผิดนั้นมีบารมีทางการเมืองอยู่ด้วย เช่น พระโพธิรักษ์ แห่งสันติอโศก พระราชภาวนาวิสุทธิ์ แห่งวัดพระธรรมกาย เป็นต้น คนพวกนี้มีเพาเวอร์และหัวหมอมาก มหาเถรสมาคมก็มหาเถรสมาคมเถอะ โดนแผนตีประกบเสียหน่อยเดียวก็เดี้ยงจนหาทางกลับวัดไม่เจอเหมือนกัน
ดังนั้น ปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย จึงยังไม่มีสัญญาณอะไรออกมาจากศาลสงฆ์ โดยพระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9 Ph.D) เจ้าคณะภาค 1 ซึ่งรับเรื่องไว้หลายปีแล้ว คงรอให้โลกแตกเสียก่อน ค่อยไปตัดสินกันวันพบพระเจ้าแบบชาวคริสต์เขา เห็นเช่นนี้เราก็พอจะเข้าใจได้ว่า กระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางศาลหรืออำนาจทางการปกครองของคณะสงฆ์ไทยนั้น "อ่อนล้า-ล้มเหลียว" และตัวบทกฎหมายก็ "เก่าแก่ คร่ำครึ หลงยุค ฯลฯ" ต้องมีการสังคายนาทั้งระบบจึงจะทันโลกทันเหตุการณ์ ขนาดทางโลกยังมีตำรวจเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ทั้งๆ ที่สมัยก่อนก็ไม่มี แต่ว่าการแก้ปัญหาของคณะสงฆ์นั้นทำกันแบบ "วัวหายจึงค่อยล้อมคอก" ผู้คนจึงมองว่า "อืออาดยืดยาด ไม่ทันโลกทันเหตุการณ์"
ทีนี้ก็จะมาถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นประเด็นหลักในคอลัมน์วันนี้ แต่ก็จะขอย้อนศรกลับไปหาเรื่องราวเก่า ๆ นำมาพิจารณาเปรียบเทียบอีกเคสหนึ่ง ซึ่งผู้คนคงจะลืมเลือนกันไปหรือแทบไม่มีใครรู้จักกันแล้ว นั่นคือ บัญชีเลื่อนสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งออกมาในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อมีพระบรมราชโองการออกมานั้น หนังสือพิมพ์ตีข่าวกันทั่วประเทศ แต่กรรมการมหาเถรสมาคมตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา กลับไม่มีใครรู้เรื่องราวเลย ทั้ง ๆ ที่ตามระเบียบแล้ว การพิจารณาแต่งตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทยล้วนต้อง "ผ่าน" การพิจารณาของมหาเถรสมาคม แต่ในเมื่อมีพระบรมราชโองการออกมาแล้ว ก็ถือว่าเป็นพระบรมราชวินิจฉัย ไม่มีใครบังอาจไม่ยอมรับ และถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ไม่มีบัญชีเสริมออกมาอีกในภายหลัง (ทั้งๆ ที่มีความพยายามอีกหลายครั้ง) เรื่องจึงเงียบไป
ครั้นมา 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เกิดกรณีคล้ายกับบัญชีเลื่อนสมณศักดิ์ เกิดขึ้น นั่นคือ พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช เริ่มออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กรณีธรรมกาย การประท้วงรัฐบาลของพระนิสิตมหาจุฬาเพื่อขอให้มีกระทรวงพระพุทธศาสนา และมาจนกระทั่ง คำสั่งแต่งตั้งพระราชรัตนมงคล วัดบวรนิเวศวิหาร ประโยค 1-2 เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546 ที่ผ่านมา
พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชนั้น ว่ากันตามอำนาจแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
มาตรา 8 สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม
ก็แปลว่า คำสั่งของสมเด็จพระสังฆราชนั้น "มีผลทางกฎหมาย" เหมือนๆ กับมติคณะรัฐมนตรี ที่เป็นเช่นนี้ เพราะต้องการให้พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งสังฆราช มีอำนาจในการบัญชา แต่ในมาตรานี้ก็ยังไม่ปล่อยให้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์อย่างเต็มที่ เพราะยังมีมหาเถรสมาคมเป็นตัว "ถ่วงดุล" อำนาจอยู่ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชที่ออกมาขัดกับมติมหาเถรสมาคมก็ไม่มีผล
ในทางกลับกัน เมื่อดูอำนาจและหน้าที่ของมหาเถรสมาคมแล้ว ก็จะพบว่า "เหนือกว่า"อำนาจและหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช ดูข้อความต่อไปนี้
มาตรา 15 ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
(2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
(3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษา สงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
(4) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น
เพื่อการนี้ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 19 เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้
จะเห็นได้ว่า อำนาจแหละหน้าที่ของมหาเถรสมาคมมีมากหรือสูงกว่าของสมเด็จพระสังฆราช เพราะสมเด็จพระสังฆราชจะออกพระบัญชาขัดแย้งกับมหาเถรสมาคม "ไม่ได้" แต่มหาเถรสมาคมสามารถจะออกมติที่ขัดแย้งกับพระสังฆราชบัญชา "ได้"
แต่ในกรณีที่มหาเถรสมาคมยังไม่มีมติอะไรออกมา แล้วมีพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชออกมาก่อน อย่างนี้ก็ถือว่า "ไม่ขัดแย้ง" หากแต่ถ้ามหาเถรสมาคมขอให้นำเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อ "รับรอง" ก่อน และถ้าหากมหาเถรสมาคมไม่ยอมปฏิบัติตามพระบัญชานั้น ก็ถือว่า "ไม่ขัด" หรือ "ไม่ผิด" กรณีธรรมกายเป็นหนังตัวอย่างในเรื่องนี้
ย้อนประวัติศาสตร์ไป ในปี พ.ศ.2503 ตอนนั้น สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก และทรงกระทำผิด เมื่อทรงมีพระบัญชาให้พระพิมลธรรมสึก และหายตัวไปจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ นับเป็น "ตราบาป"ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชไทยได้เคยทำไว้ให้เป็นบทเรียน ดังนั้น อำนาจและหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชจึงถูก "คุม" โดยมหาเถรสมาคมอีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันเหลิงอำนาจ
ทีนี้เมื่อมีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเป็นการส่วนพระองค์ออกมา เกี่ยวกับกรณีธรรมกาย ไล่ไปจนถึงการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของพระคณาจารย์และพระนิสิตในมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ชื่อยาวเหลือเกินนะ น่าจะตัดทิ้งเสียมั่ง นี่กระมังที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่ค่อยดัง เพราะจำชื่อยาก) จึงมีคำถามออกมาอีก 2ประเด็นว่า
1. เป็นพระลิขิตที่ทรงพระดำริเองหรือเปล่า แปลว่า พระลิขิตนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรไหม ทำไมสมเด็จพระสังฆราชเสด็จลงมาเล่นเอง หรือว่านี่เป็นการชงของคนในห้องกระจก
2. พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้น ส่วนใหญ่กล่าวไว้ลอยๆ ไม่ได้ออกเป็นคำสั่งว่า"ต้อง" ดังนั้น จะถือว่าเป็น "พระบัญชา" หรือ "คำสั่ง" ได้หรือไม่ ถ้าเป็นพระบัญชาจริง ก็ต้องมีการปฏิบัติตาม ไม่งั้นก็ผิดกฎหมาย หากแต่ว่า ถ้าไม่ใช่พระบัญชา ก็ถือว่าเป็นพระดำริส่วนพระองค์ อาจจะทรงเขียนเป็นพระโอวาทในยามว่าง ยกเว้นแต่คำสั่งแต่งตั้งพระราชรัตนมงคลเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชที่ออกมาหลายฉบับนั้น แรกๆ ก็ยังคงไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล หากแต่ในกรณีประท้วงเอากระทรวงพระพุทธศาสนาของพระนิสิตมหาจุฬาฯ นั้น รัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร โดนพระสงฆ์สวดชะยันโตเนื้อ ๆ แถมยังมีพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชมาโชว์สนับสนุนอีก นายกรัฐมนตรีทักษิณออกมาให้ความเห็นว่า "สมเด็จพระสังฆราชยังทรงประชวรอยู่ มีพระลิขิตออกมาได้อย่างไร" งานนั้นสร้างความเสื่อมเสียในเรื่อง "ปากไว" ให้แก่นายกรัฐมนตรีเป็นอันมาก สรุปว่า รัฐบาลยอมถอยในตอนนั้น แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีข่าวกระดำกระด่างอะไรออกมาเกี่ยวกับวัดบวรนิเวศ ห้องกระจก หรือกระทบพระเกียรติยศสมเด็จพระสังฆราช รัฐบาลก็ยังคง "เงียบ"
ครั้นวันที่ 8 ธันวาคม ก่อนสิ้นปี 2546 ก็ปรากฏว่า มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชออกมาอีกฉบับหนึ่งซึ่งฮือฮามาก เพราะว่าเป็นคำสั่งแต่งตั้ง พระราชรัตนมงคล (มนตรี อภิมนิติโก น.ธ.เอก ประโยค 1-2) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม งานนี้มีพระเถระหลายรูปออกมาวิจารณ์ในทาง "ไม่เหมาะสม" ทำให้พระราชรัตนมงคลจำต้องแสดงสปิริต "ขอลาออกเอง" เพื่อปกป้องสมเด็จพระสังฆราช
แต่ในทางลับแล้ว ทั้งรัฐบาลและมหาเถรสมาคม ซึ่งคงจะ "อึดอัด" กับพระลิขิตและพระบัญชาที่ออกมาเหมือนอัตโนมัติ แต่ผิดฝาผิดตัวอยู่บ่อยๆ โดยที่รัฐบาลก็ไม่กล้าละลาบละล้วงเข้าไปสอบสวนพระองค์ท่าน ทั้งนี้เพราะทรงดำรงตำแหน่งสูงส่ง แถมยังทรงพระประชวรด้วย
ดังนั้น ครั้นถึงวันที่ 13 มกราคม 2547 คำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจึงออกมา โดยไม่มีการขอคำปรึกษาหารือจากสมเด็จพระสังฆราช ไม่นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ เป็นการดำเนินการของรัฐบาลอย่างอาจหาญยิ่ง ทำให้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องเพราะคำสั่งนี้สมเด็จพระสังฆราชไม่ทรงรับทราบ รัฐบาลดำเนินการไปฝ่ายเดียว แปลให้เป็นเด่นชัดก็คือว่า "รัฐบาลยึดอำนาจสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลา 6 เดือน โทษฐานทรงปล่อยให้มีพระลิขิตออกมาบ่อยเกินไป"
ไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหนอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม มันก็เลี่ยงบาลีหนีไม่พ้นอยู่ดี ทั้งนี้ที่กรณีนี้ดังมาก ก็เพราะไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์การปกครองของคณะสงฆ์ไทย แต่รัฐบาลไทยของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก็ทำไปแล้ว ผิด-ถูก ค่อยไปว่ากันอีกที แต่ตอนนี้ขอ "ตัดตอน" ผลงานของห้องกระจกและศิษยานุศิษย์ใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็แล้วกัน และนั่นคือ "ทั้งปวงของปฏิบัติการคาบลูกคาบดอก" ของรัฐบาลไทยในเวลานี้
พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
14 กุมภาพันธ์ 2547
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
14 กุมภาพันธ์ 2547
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ