พฤติกรรมบั่นทอนความศรัทธาพุทธศาสนาของวัดธรรมกาย กรณีจัดทำสารคดีชื่อ ‘Where is Steve Jobs’
ทำเอาหลายคนอดรนทนไม่ไหวกับพฤติกรรมบั่นทอนความศรัทธาพุทธศาสนาของวัดธรรมกาย กรณีจัดทำสารคดีชื่อ ‘Where is Steve Jobs’ เสนอเรื่องราวชีวิตหลังความตายของบุคคลระดับโลก ‘สตีฟ จ็อบส์’ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ที่ได้พล็อตเรื่องมาจากการใช้ญาณตรวจสอบภพภูมิโดย พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสฯ
สารคดีชุด Where is Steve Jobs ได้เริ่มเผยแพร่ตั้งตั้งวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมาทางสถานีโทรทัศน์ DMC ของวัดพระธรรมกาย ต่อมาวันที่ 20 ส.ค. มีเว็บไซต์ blognone ได้สรุปเนื้อหาคร่าวๆ ว่าทางรายการนั้นอ้างว่า โทนี่ ซวง วิศวกรคนหนึ่งของแอปเปิลได้ขอให้ พระธัมมชโย ใช้ญาณตรวจสอบภพภูมิของ สตีฟ จ็อบส์ จึงเป็นจุดเริ่มเรื่องกังขาทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแม้ว่าชีวิตของของ สตีฟ จ็อบส์ จะถูกพรากไปด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน เมื่อ 5 ต.ค. 54 แต่ชื่อเสียงที่เขาได้จารึกไว้บนโลกยังมีมูลค่าอย่างมหาศาล ยิ่งนำมาผูกโยงกับความเชื่อบางอย่างยิ่งชักจูงได้โดยง่าย
ความศรัทธาในพุทธศาสนาทำให้ สตีฟ จ็อบส์ ละทิ้งความเป็นคริสเตียน และหันมาเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างเต็มตัว ก็ไม่รู้ว่าด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่การจากไปของเขาถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดของวัดดังที่ขึ้นบัญชีดำเป็นแหล่งพุทธพาณิชย์ขนาดใหญ่ของโลก
ถึงแม้คณะผู้จัดสารคดี Where is Steve Jobs จะกล่าวอ้างว่าสร้างสารดคีนี้ขึ้นเพื่อเป็นกรณีศึกษาในเรื่องกฎแห่งกรรม ตามเจตนารมณ์ของพระธัมมชโย แต่! ดูเหมือนนัยผ่านแอนิเมชั่นที่เผยแพร่ออกมานั้นเป็นการปลุกเร้าให้สาวกผู้งมงายเร่งสร้างบุญด้วยวิธีการบริจาคทรัพย์สินเงินทอง หลงงมงายกับบารมีจากการสร้างองค์พระธรรมกาย
สร้างวิมานหลังความตายชวนเชื่อในเรื่องวัตถุนิยมซึ่งดูจะขัดกับแก่นแท้ของคำสอนในพุทธศาสนา ไม่รู้เหมือนกันว่าการเข้าญาณของ พระธัมมชโย แล้วได้เห็นเรื่องราวของ สตีฟ จ็อบส์ ในอีกภพภูมิกลายเป็น ‘เทพบุตรภุมมะเทวา ระดับกลางสายวิทยาธรกึ่งยักษ์’ เป็นเรื่องจริงเท็จเพียงใด งานนี้คงต้องตัดสินด้วยวิจารณญาณส่วนบุคคล
ปูมธัมมชโย ปมธรรมกาย
ข้อมูลจากหนังสือเรื่อง แฟ้มคดีธรรมกาย ได้เปิดเผยข้อมูลกรณีพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดธรรมกายและบุคคลใกล้ชิดถูกกล่าวหา คดียักยอกทรัพย์สินของวัน จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อสมบัติส่วนตัว ที่ดิน 400 แปลง เนื้อที่กว่า 2 พันไร่ ใน จังหวัดพิจิตร และเชียงใหม่
ตามข้อมูลพระธัมมชโย ยังตกเป็นผู้ต้องหาฐานฉ้อโกงอีก 5 คดี รวมเป็นเงินกว่า 35 ล้านบาท ซึ่งโจทก์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเป็นอดีตทนายความวัดพระธรรมกาย และประชาชนผู้เคยศรัทธาวัดดังนั้นเอง การพิจารณาคดีล่วงเลยกว่า 7 ปี แต่ท้ายที่สุดศาลกลับยกฟ้อง
นอกจากนี้ ทางคณะผู้จัดทำหนังสือแฟ้มคดีธรรมกาย ยังลงพื้นที่ตรวจสอบหลักฐานและพบข้อเท็จจริงของวัดธรรมกายอีกหลายประการ อาทิ
เมื่อปี 2532 หน่วยงานความมั่นคงและการข่าวของรัฐ เสนอรายงานเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย ในหลายกรณี ทั้งการทำธุรกิจในทางลับ, การมรณภาพของพระชิตชัย มหาชิโต, พฤติการณ์ส่วนตัวของพระธัมมชโยที่ไม่ชอบมาพากล ฯลฯ ต่อมาวัดแห่งนี้เข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ถูกขึ้นบัญชีดำ ของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ แต่ด้วยความไม่ลงตัวของหน่วยงานจึงไม่มีการดำเนินการแก้ไข ส่งผลให้ในปีถัดมา ปัญหาขยายตัววัดพระธรรมกายสร้างเครือข่ายองค์กรใหญ่โต มีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
หรือปั้นเรื่องโกหกจำหน่ายพระมหาสิริราชธาตุ อ้างว่าถูกเก็บโดยพญานาคมาหลายร้อยล้านปี แต่จากการตรวจสอบของคณะทำงานฯ พบเป็นเพียงวัตถุธาตุที่นำเข้ามาจากประเทศพม่า และประเทศในยุโรปไม่เป็นจริงอย่างอวดอ้าง ฯลฯ
จัดว่าได้รับการกล่าวขานถึงอย่างต่อเนื่อง ย้อนกลับมาที่สารคดีหลังความตายของ สตีฟ จ็อบส์ จากน้ำคำของพระธัมมชโย ซึ่งจะมีข้อเท็จจริงอย่างไร มีฟีคแบ็คลบอย่างไร ก็ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมโซเซียลเน็ตเวิร์ค ทำให้วัดธรรมกายเป็นที่โจษจันอีกครั้ง หลังจากถูกด่าทอเพราะทำให้การจราจรติดขัดจากกรณีขบวนพระธุดงค์ธรรมชัย 1,500 รูป เมื่อช่วงต้นปี
บิดเบือนแก่นพุทธศาสนา
“ใช้คำว่า บุญ มาใช้ในลักษณะชักจูงประชาชนให้วนเวียนจมอยู่กับการบริจาคทรัพย์ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ชนิดที่ส่งเสริมความยึดมั่นถือในตัวตนและตัวบุคคล อันอาจกลายเป็นแนวโน้มบ่อนรอนสังคมไทยในระยะยาว พร้อมทั้งทำพระธรรมวินัยให้ลางเลือนไปด้วย พฤติการณ์ของสำนักวัดธรรมกายอย่างนี้ เป็นการจาบจ้วง ลบหลู่ ย่ำยีพระธรรมวินัย สร้างความสับสนไขว้เขวและหลงผิดแก่ประชาชน” ข้อความส่วนหนึ่งจาก วิทยานิพนธ์เรื่องบทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย ของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
แน่นอนในเนื้อหาของสารคดี Where is Steve Jobs ก็มีทั้งภาพและข้อความบรรยายที่เชิญชวนให้คนร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์เพื่อไปสู่ภพภูมิที่ดี ซึ่งเนื้อหาก็มีแฝงถึงการทำบุญสร้างองค์พระธรรมกายเพื่อเกิดความเบิกบานใจแก่ผู้ที่จากไปด้วย
ในส่วนนี้ พระมหาวุฒิชัยฯ ยังมีข้อคิดเห็นไว้ว่า วิธีของวัดแห่งนี้เป็นพฤติการณ์ที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับพระพุทธศาสนาเถรวาทที่เน้นความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติชนิดที่ปราศจาการจัดตั้งหรือการจัดการ และไม่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม (รวมทั้งวัตถุนิยม) อย่างสิ้นเชิง
ความศรัทธาหมดอายุ
ต้องยอมว่าศาสนาในบ้านเรากำลังเข้าสู่พุทธพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ มีทั้งเงินมีทั้งผลประโยชน์บนกระแสแห่งความศรัทธา หากลองวิเคราะห์ในแง่ของการตลาดแล้วการที่วัดธรรมกายนำบุรุษชื่อก้องโลกสตีฟ จ็อบส์ มาสร้างเรื่องอิงความเชื่อทางศาสนา ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารตรา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงทัศนะว่าศาสนานั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยิ่งนำเอาบุคคลมีชื่อเสียงแบบนี้ มากล่าวอ้างถึงเรื่องราวหลังความตายคงไม่ใช่เรื่องเหมาะสมเท่าใดนัก
ในส่วนเนื้อหาที่ทางวัดธรรมกายนำเสนอออกมาก็ต้องมาวิเคราะห์กันด้วยข้อมูลที่เป็นกลาง ไม่ใช่เชื่อไปเสียหมดทุกอย่าง เพราะหากได้ชมสารคดีชุดนี้แล้วก็จะเห็นว่ามีการสอดแทรกความเชื่อจำเพาะของทางวัด
อย่างเช่นเนื้อหาตอนท้ายๆ ความว่า “ใจของเขาบังเกิดความสว่างไสวขึ้นมา แหล่งกำเนิดแสงสว่างมาจาก คนกลุ่มหนึ่งที่ได้สร้างองค์พระธรรมกายประจำตัวให้กับตัวเขา” ก็มีนัยแฝงอย่างชัดเจน
ถ้าพิจารณาแล้วการสร้างสารคดีหลังความตายของวัดธรรมกายก็เหมือนเป็นการสร้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์กรทางศาสนานั้นเอง
“สตีฟ จ็อบส์ ถ้ามองในแง่สินค้าก็เป็นแบรนด์บุคคลเป็นที่รู้จัก คนระดับที่นับถือวัดแห่งนี้เขาก็จะค่อนข้างเป็นที่มีความรู้มีการศึกษาดังนั้นมันก็จะเป็นจุดเชื่อมโยงว่าคนๆ นี้เขามีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับในระดับโลก
“แน่นอนแบรนด์ที่เขาปั้นมาคือแบรนด์แอปเปิลก็เป็นที่ยอมรับ ทุกคนก็ใช้ เพราะฉะนั้นการเอา สตีฟ จ็อบส์ ก็คือหลักพื้นฐานที่เราใช้พรีเซ็นเตอร์มาโฆษณาจูงใจคนที่ใช้โปรดักส์นั้น เช่นกันกรณีนี้เอาตัวของสตีฟ จ็อบส์มาสร้างเป็นเรื่องราวเพื่อสร้างแรงจูงใจเหมือนกัน” ผศ. เสริมยศ กล่าว
อย่างไรก็ตามนักการตลาดท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า ในการสื่อสารการตลาดสิ่งที่จะพยายามไม่แตะต้องคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แน่นอนสารคดีของวัดธรรมกาย กลายๆ ว่าเป็นการตลาดที่หยิบเอาบุคคลในกระแสและศาสนามาเล่นเต็มๆ
ในส่วนของข้อเท็จของตัวสารคดีที่เล่าโดยพระธัมมชโย หากอยากรู้ข้อเท็จจริงคงต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่การนำเสนอเรื่องราวออกมาเป็นสารคดีหลังความตายของอดีตซีอีโอแอปเปิลที่มีหลักศาสนาของวัดธรรมกายเข้ามาเกี่ยว นั้นสร้างความสนใจแก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
“จุดที่สังเกตง่ายๆ คือเขาเอาประเด็นสตีฟ จ็อบส์ มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา พอเอามาลิงค์กันปุ๊บ คนดูจะรู้สึกว่ามันแปลก พอประเด็นพวกนี้เกิดขึ้นเข้าไปอยู่ในโซเซียลมีเดีย มันก็เลยกระจายต่อต้องไปตามดูว่าเขาฟีดแบ็คอย่างไร
“แต่เดี๋ยวนี้มันมีการตลาดแบบหนึ่งที่เขาไม่ได้คำนึงถึงภาพลักษณ์ ไม่ได้คำนึงถึงเชิงบวก แต่ขอให้ดัง จะเห็นว่าบางประเด็นบางสินค้าใช้วิธีสร้างกระแส คืออาศัยความดังเข้าว่าต้องพูดถึงเป็นทอร์คออฟเดอะทาวว์ ยิ่งประเด็นอะไรที่ไม่คาดคิดไม่น่าจะเกี่ยวเนื่องกันยิ่งสร้างความสนใจ”
…......................................
ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าวัดธรรมกายจะถือเป็นศูนย์กลางความศรัทธาของพุทธศาสนานิกชน หรือเป็นศูนย์กลางการฟอกเงินเชิงพุทธพาณิชย์แหล่งใหญ่ เพราะหลายกรณีที่เราๆ ท่านๆ ได้สัมผัสช่างบิดเบือนไปจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียจริง
พฤติกรรมบั่นทอนความศรัทธาพุทธศาสนาของวัดธรรมกาย กรณีจัดทำสารคดีชื่อ ‘Where is Steve Jobs’
http://www.manager.co.th/daily/viewnews.aspx?NewsID=9550000103042
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ